วิมุตติจิต สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร

วิมุตติจิต

สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จิตนี้เป็นศูนย์กลางแห่งกรรม คือการงานที่กระทำทุกอย่าง และแห่งสุขและทุกข์ กับทั้งเป็นที่ตั้งแห่งทั้งส่วนดีอันเรียกว่า บารมี ทั้งส่วนชั่วอันเรียกว่า อาสวะ เป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่งในบุคคลทุกๆ คน เป็นที่เก็บแห่งสิ่งที่ประสบพบพานมาในอดีตทั้งหมด เพราะฉะนั้นจิตตภาวนาการอบรมจิตจึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นสิ่งสำคัญจะทำให้ปรากฏคุณค่าของจิตยิ่งขึ้นๆ สมาธิของพระพุทธเจ้า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะที่ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อความตรัสรู้ ก็ได้ทรงทำ จิตตภาวนา อบรมจิตนี้ให้เป็นสมาธิอันบริสุทธิ์ และวิธีที่ทรงได้สมาธิอันบริสุทธิ์นั้น ก็มิใช่ทรงได้จากคณาจารย์ที่ได้ทรงศึกษาโดยเฉพาะ
คือมิใช่ทรงได้จากท่านอาฬารดาบสกาลามโคตร ท่านอุทกดาบสรามบุตร แม้ว่าขั้นของสมาธิที่ทรงศึกษาได้ในสำนักของท่านอาจารย์ทั้งสองนั้น จะเป็นขั้นฌานสมาบัติก็ตาม
แต่ว่ามิใช่ฌานสมาบัติสำหรับที่จะให้ตรัสรู้พระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า แต่ว่าเป็นฌานสมาบัติเพื่อที่จะไปเกิดในพรหมโลกชั้นรูปพรหม อรูปพรหม แต่ว่าทรงได้หลักการปฏิบัติสมาธิอันบริสุทธิ์ เพื่อพระโพธิญาณนั้นจากเด็กๆ นั้นเอง และเด็กที่ได้สมาธิอันเป็นแบบให้ทรงถือเอามาปฏิบัติต่อนั้นก็มิใช่เด็กอื่นไกล แต่ว่าเป็นเด็กคือว่าพระองค์เองเมื่อเป็น
พระกุมาร ตามเสด็จพระราชบิดาไปในพิธีแรกนาขวัญ ในขณะที่พระบิดาทรงประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญนั้น พระองค์เองซึ่งเป็นพระราชกุมารเด็กก็ได้ประทับนั่ง ณ ภายใต้ร่มหว้า จิตของพระองค์รวมเข้ามากำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ทรงได้สมาธิที่บริสุทธิ์อันนับว่าเป็นขั้นปฐมฌาน
ที่ว่าเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์นั้นก็เพราะว่ารวมเข้ามาโดยที่มิได้มุ่งหวังอะไร

จิตรวมเข้ามาอย่างไม่มุ่งหวังอะไร จึงเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์ และการได้สมาธิที่บริสุทธิ์ของพระองค์เมื่อเป็นพระราชกุมารเด็กนั้น ก็ไม่มีวิธีปฏิบัติอย่างโน้นอย่างนี้อะไรมากมาย จิตรวมเข้ามากำหนดลมหายใจเข้าออกของพระองค์เอง เพราะว่าทุกคนก็ต้องหายใจเข้าหายใจออกอยู่ตลอดเวลา จะไปข้างไหนก็ต้องหายใจเข้าหายใจออก ไม่ว่าจะเดินยืนนั่งนอน
เพราะฉะนั้น เมื่อนั่งสงบอยู่เฉยๆ ลมหายใจเข้าออกก็ปรากฏเพราะว่าไม่ได้ไปนึกอะไรที่อื่น ก็จับลมหายใจเข้าออกที่ปรากฏนั้นกำหนด จิตกำหนดก็ได้สมาธิและจิตของเด็กนั้นยังไม่มีนิวรณ์อะไรมาก ยังไม่มีกามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะวิจิกิจฉาอะไรมากหรือเกือบจะไม่มี
และก็ไม่ได้มุ่งหวังอะไร ไม่ได้มุ่งจะไปเป็นเทวดาเป็นพรหม เป็นอะไรทั้งหมด ไม่มีตัณหาในกามในภพอะไรเข้ามาเจือปน จึงเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์ ก็เป็นอันว่าเหมือนอย่างทรงเรียนสมาธิได้จากแบบของเด็ก ซึ่งเป็นจิตที่บริสุทธิ์ไม่มีนิวรณ์ ก็ทรงจับเอาแบบสมาธิที่บริสุทธิ์นี้มาทรงปฏิบัติต่อ โดยทำจิตให้สงบกำหนดลมหายใจเข้าออก ไม่มุ่งหวังอะไร มุ่งให้จิตสงบเข้ามา จิตจึงสงบจากกาม จากอกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีนิวรณ์ก็เริ่มเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
และก็ทรงน้อมจิตที่บริสุทธิ์นี้เพื่อรู้ ท่านก็แสดงว่าทรงได้พระญาณคือความหยั่งรู้ระลึกชาติได้ ย้อนหลังไปชาติหนึ่ง สองชาติ สามชาติ สี่ชาติ ห้าชาติเป็นต้นไปมากมาย อันเรียกว่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ระลึกนิวาส ซึ่งในที่นี้แปลกันว่าขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในกาลก่อนได้
คำว่านิวาสนี้มาใช้เป็นชื่อของบ้าน เช่นใช้ในภาษาไทยว่าสวางคนิวาส แปลว่าสำหรับในพระญาณนี้มุ่งถึงขันธ์รูปขันธ์นามขันธ์ คือขันธ์ ๕ นี้ ได้ชื่อว่าเป็นนิวาส คือเป็นที่อาศัยอยู่ หรือเป็นบ้านของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ก็คือผู้ที่ยังมีความข้องอยู่ ยังต้องแล่นไปอยู่ตามอำนาจของตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากของจิตใจ
ชื่อว่าสัตว์ และก็เป็นโลกอย่างหนึ่งเรียกว่า สัตวโลก ก็หมายถึงสัตว์คือผู้ที่ยังมีความข้องอยู่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา มาร พรหม ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต อสุรกาย เมื่อยังมีความข้องอยู่ หรือกิเลสเป็นเครื่องข้องอยู่ ก็เรียกว่าเป็นสัตว์ทั้งนั้น คือสัตวโลก ตั้งอยู่ภายในจิตนี้เอง ก็มีนิวาสคือมีบ้านเป็นที่อาศัยอยู่ในชาตินั้นๆ ก็คือขันธ์ รูปขันธ์นามขันธ์นี้แหละ ก็ทรงระลึกถึงพระองค์เองซึ่งอาศัยอยู่ในนิวาส คือบ้านอันได้แก่ขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ดังกล่าว ย้อนหลังไปได้ ตลอดจนถึงรายละเอียดต่างๆ เช่นชื่อโคตรคือสกุล สุขทุกข์อะไรต่างๆ ในชาตินั้นๆ
ญาณที่เป็นอนุสสติ
อันความระลึกชาติหนหลังได้ดั่งนี้เรียกว่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณที่เป็นอนุสสติ คือระลึกย้อนหลังได้ถึงขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อน คราวนี้ก็ต้องพิจารณาว่าจิตนี้เองเก็บเรื่องที่ผ่านๆ ไป ซึ่งได้ประสบพบพานแล้วไว้ได้ทั้งหมด ไม่มีบกพร่อง และเมื่อได้สมาธิดีจนถึงฌานสมาบัติก็สามารถที่จะระลึกลงไปถึงจิตที่บริสุทธิ์นั้น อันยังเก็บเรื่องที่ผ่านไว้ได้ทั้งหมด เรื่องที่ผ่านไว้ได้ทั้งหมดจึงปรากฏขึ้นมาเป็นความรู้ ซึ่งเรียกว่าญาณรู้ที่ระลึกย้อนหลังไปได้
อาการที่ระลึกย้อนหลังไปได้นี้แหละเรียกว่าเป็นตัวสติ คืออนุสสติที่ใช้ในที่นี้ ก็เป็นความหมายเช่นเดียวกับสติคือความระลึกได้ที่เป็นธรรมะที่เป็นกำลังของทุกๆ คน ที่ท่านอธิบายว่าระลึกถึงการงานที่ทำคำที่พูดแล้วไว้แม้นานได้ ซึ่งเป็นสติในปัจจุบันชาตินี้
เมื่อใครมีสติดีก็ระลึกได้ถึงการงานที่ทำคำที่พูดไว้เมื่อวานนี้ได้ดี เมื่อวานซืนนี้ได้ดี เมื่อเดือนที่แล้วได้ดี เมื่อปีที่แล้วได้ดี ดั่งนี้เป็นต้นย้อนหลังไปได้ แต่ว่าเรื่องที่ระลึกนั้นก็มิใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นมาใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว ที่ยังเก็บไว้ในจิตส่วนที่บริสุทธิ์อย่างยิ่งนั้นเอง
จุตูปปาตญาณ
เพราะฉะนั้นเมื่อตั้งใจทำสมาธิให้ดี ได้สมาธิดีแล้วก็สามารถที่จะระลึกย้อนหลังไปได้ ตามสมควรแก่กำลังของสติ อันเกิดจากสมาธิที่ดิ่งลง เป็นความรู้ขึ้นมาทันที ซึ่งเป็นพระญาณข้อนี้ และต่อจากนั้นก็ทรงได้พระญาณที่หยั่งรู้ว่าสัตว์ทั้งหลาย ต้องเป็นไปตามกรรม ทำกรรมชั่วก็ต้องไปเกิดในชาติที่ชั่ว มีความทุกข์ต่างๆ ทำกรรมดีก็ให้ไปเกิดในชาติที่ดีมีความสุขต่างๆ เป็นไปตามกรรม (เริ่ม ๑๑/๒) ก็เป็นอันว่าทรงได้พระญาณคือความหยั่งรู้สูงขึ้นไปอีก
อันเรียกว่า จุตูปปาตญาณ ความหยั่งรู้ถึงจุติคือความเคลื่อน อุปบัติ คือความเข้าถึงในชาติภพนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ของพระองค์เองด้วย และของผู้อื่นอีกด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าได้ตรัสรู้เรื่องกรรม ตั้งแต่ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อันนับว่าเป็นพระญาณที่ ๒
อาสวักขยญาณ
และต่อจากนั้นก็ทรงจับได้ถึงต้นเหตุ ก็คืออาสวะกิเลส กิเลสที่ดองจิตสันดาน ตรัสรู้เข้าไปถึงอาสวะกิเลส กิเลสที่ดองจิตสันดาน อันทำให้ได้ทรงพบ อริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดาน เหตุเกิดอาสวะ ความดับอาสวะ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ ซึ่งพระญาณที่๓นี้เรียกว่าอาสวักขยญาณความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ
พุทธภาวะสัตตภาวะ
และเมื่อทรงพบต้นเหตุดั่งนี้แล้ว วิชชาความรู้แจ่มแจ้งตามเป็นจริงก็บังเกิดขึ้น อวิชชาคือความไม่รู้ก็ดับไปหมด อาสวะทั้งหลายก็ดับไปหมด เพราะฉะนั้นจึงทรงพบความดับทุกข์ เมื่อทรงได้พระญาณที่ ๓ นี้ จึงได้ทรงเป็นพุทโธ คือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว สัตตภาวะ ภาวะเป็นสัตว์คือผู้ข้องก็สิ้นไปหมดไป ปรากฏเป็น พุทธภาวะ ความเป็น
พระพุทธเจ้า คือเป็นผู้ตรัสรู้ ผู้รู้ ผู้พ้น พระพุทธเจ้า พระพุทธะ พระผู้ตรัสรู้นั้น กล่าวสั้นก็คือรู้พ้นไม่ใช่รู้ติดรู้ยึด รู้สิ่งใดยึดสิ่งนั้นติดสิ่งนั้น นั่นคือ สัตตะ ผู้ข้อง แต่ว่ารู้สิ่งใดพ้นสิ่งนั้นวางสิ่งนั้นก็เป็น พุทธะ คือเป็นผู้รู้ เป็นพระพุทธะคือเป็นพระผู้ตรัสรู้
เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ก็เนื่องมาจากจิตนี้เอง ทำจิตตภาวนา ฝึกจิตให้เป็นศีล ฝึกจิตให้เป็นสมาธิ และฝึกจิตให้เป็นปัญญาขึ้นมาเมื่อเป็นดั่งนี้ศีลก็ตั้งขึ้นที่จิต และเป็นจิต จิตก็เป็นศีล สมาธิก็ตั้งขึ้นที่จิต เป็นจิต จิตก็เป็นสมาธิ ปัญญาก็ตั้งขึ้นที่จิต จิตก็เป็นปัญญา เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา
เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญานี้ จึงเป็นวิมุตติจิต จิตที่พ้นแล้ว ทั้งหมดนี้ก็ต้องเกิดจากความที่เริ่มปฏิบัติมาโดยลำดับ อันเป็นจิตตภาวนาตั้งแต่ในเบื้องต้นต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

http://www.watpanonvivek.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1822:2010-03-22-07-59-20&catid=68:2012-03-31-07-37-30&Itemid=199

. . . . . . .