ศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องจิตตนครของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน)

ศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องจิตตนครของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน)

ผู้วิจัย : นางสาวพารณี เจียรเกียรติ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องจิตในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถร-วาท (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดจิตตนครของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และ (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์คุณค่าเชิงจริยธรรมในพระนิพนธ์จิตตนครของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร โดยศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฏีกา วิสุทธิมรรค พระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก หนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ศ.ดร. ระวี ภาวิไล เป็นต้น

การวิจัยพบว่าแนวคิดเรื่องจิตในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทและในพระนิพนธ์จิตตนครเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ในพระนิพนธ์จิตตนครใช้ลักษณะการอธิบายแนวคิดเรื่องจิต โดยการอุปมาอุปมัยผ่าน บุคคลา-ธิษฐาน ทำให้เกิดความซาบซึ้งดื่มด่ำและเข้าใจธรรมของพุทธองค์ได้มากขึ้น ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณค่าเชิงจริยธรรม ซึ่งเข้าใจในลักษณะและธรรมชาติของจิต กระบวนการพัฒนาจิต และการส่งเสริมการปฏิบัติทางจิต

ในพระนิพนธ์จิตตนคร ได้กล่าวอุปมาอุปมัยไว้ว่าบ้านเมืองทั้งหลายถอดแบบจิตตนคร โดยมีลักษณะและธรรมชาติของจิตเดิมแท้ เป็นจิตประภัสสร มีความผุดผ่อง สว่าง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของเจ้าเมือง แต่เนื่องจากมีภัย คือ กิเลสจรเข้ามาทำให้จิตนั้นเศร้าหมอง หรือเป็นทุกข์ กิเลสที่จรเข้าหมายถึงสมุทัย (คู่หูของเจ้าเมือง) ซึ่งก็คือ เหตุแห่งทุกข์ โดยมีพรรคพวกมากมาย แต่จะแบ่งเป็นหัวหน้าใหญ่ของกิเลสอยู่ ๓ พวก คือ โลโภ (ความโลภ) โทโส (ความโกรธ) และโมโห (ความหลง) อีกทั้งหัวไม้อีก ๑๖ คน (อุปกิเลส ๑๖) สิ่งเหล่านี้ทำให้จิตตนครเกิดความสับสน วุ่นวาย ทำให้ชาวเมือง มีความสุขแบบจอมปลอม จิตตนครจะเจริญพัฒนารุ่งเรืองจะต้องมีคู่บารมี (กัลยาณมิตร) ที่คอยช่วยแก้ไข ป้องกัน และบริหารจิตตนคร โดยมีคู่บารมีต่อไปนี้เป็นบริวาร คือ ๑) ศีล ผู้มีหน้าที่พาชาวจิตตนครประพฤติงดเว้นสิ่งไม่ดี (ศีล ๕) ๒) อินทรียสังวร ผู้มีหน้าที่คอยเฝ้าระวังระบบสื่อสารทุกทวารของจิตตนคร ๓) สติสัมปชัญญะ ผู้มีหน้าที่คอยเป็นนครบาล คอยสอดส่องดูแลทุกกิจกรรมในจิตตนคร ๔) สันโดษ ผู้มีหน้าที่จัดสรรแบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้กับชาวจิตตนคร ให้แบบเหมาะสม ถ้วนทั่วจิตตนคร เป็นที่พอใจของทุกคน และ ๕) สมถวิปัสสนาเป็นวิธีการพัฒนาจิตตนคร ให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง

http://www.sksl.org/index.php?option=com_content&view=article&id=68:2013-01-25-04-19-23&catid=34:class-1&Itemid=48

. . . . . . .