จิตที่มีศีล สมาธิ ปัญญา สมเด็จพระญาณสังวร

จิตที่มีศีล สมาธิ ปัญญา

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

บัดนี้ จักแสดงธรรมะ เป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงชี้ตรงเข้ามา ถึงจุดสำคัญแห่งการปฏิบัติธรรมะ คือจิต หรือจิตใจ ได้ตรัสไว้ในพระธรรมบทซึ่งแปลใจความว่า จิตดิ้นรนกวัดแกว่ง รักษายากห้ามยาก แต่ผู้ทรงปัญญาย่อมกระทำจิตให้ตรงได้ เหมือนอย่างช่างศรดัดไม้ที่จะทำเป็นลูกศรให้ตรงได้ ฉะนั้น ดั่งนี้ ทุกคนย่อมทราบจิตของตนเองว่าดิ้นรนกวัดแกว่งไปในอารมณ์ คือเรื่องทั้งหลายอยู่เป็นประจำ และหากว่าจะสังเกตดูเด็กเล็กๆ ที่หัดตั้งไข่ ยืนขึ้นได้ เดินได้ วิ่งได้ ก็จะเห็นว่าเด็กนั้นอยากจะร้องก็ร้อง อยากจะวิ่งเมื่อไรก็วิ่ง อยากจะเดินก็เดิน อยากจะนั่งก็นั่ง อยากจะนอนก็นอน ไม่เลือกเวลาสถานที่ อาการที่เด็กแสดงออกไปต่างๆ นั้น ก็แสดงถึงความดิ้นรนกวัดแกว่งแห่งจิตของเด็กนั้นเอง แต่เมื่อโตรู้เดียงสาขึ้นได้มีการฝึกหัดให้รู้จักรักษากิริยาวาจาเป็นต้น เด็กก็จะค่อยๆ สงบขึ้น ไม่วิ่ง ไม่เดิน ไม่นั่ง ไม่นอน ไม่ร้อง เป็นต้น เหมือนอย่างเมื่อยังเล็กๆ ทั้งนี้มิใช่ว่าจิตของเด็กนั้นจะสงบ ก็คงดิ้นรนกวัดแกว่งอยู่นั่นเอง แต่ว่าอาศัยการฝึกหัดกิริยาวาจาต่างๆ อันเนื่องเข้าไปถึงการฝึกหัดจิตใจ จึงทำให้เริ่มมีสติ เริ่มมีปัญญาที่จะควบคุมยับยั้งตัวเอง มาเป็นผู้ใหญ่ๆ ขึ้น ความที่มีสติปัญญาควบคุมยับยั้งตนเองก็มากขึ้น แต่ว่าจิตใจนั้นก็คงดิ้นรนกวัดแกว่งอยู่นั่นเอง แต่ว่ามีสติมีปัญญาที่จะควบคุมยิ่งขึ้น ถ้าหากว่าไม่มีสติปัญญาควบคุมให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว แม้ว่าเด็กเล็กๆ นั้นจะโตขึ้นจนถึงเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ก็คงจะต้องอยากวิ่งก็วิ่ง อยากเดินก็เดิน อยากนั่งก็นั่ง อยากพูดก็พูด อยากนอนก็นอน เหมือนอย่างเด็กเล็กๆ นั้นเอง เพราะจิตนี้ดิ้นรนกวัดแกว่งไปอย่างนั้นบ้าง ไปอย่างนี้บ้าง เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าสติและปัญญาของผู้ใหญ่มีน้อยเหมือนอย่างสติปัญญาของเด็กเล็กๆ แล้ว แม้จะเป็นผู้ใหญ่อายุเท่าไหร่ก็คงจะปฏิบัติเหมือนอย่างเด็กเล็กๆ นั้นเอง เพราะภาวะของจิตดิ้นรนกวัดแกว่งอยู่เช่นเดียวกัน

อันนี้แสดงให้เห็นอานุภาพของสติปัญญาที่ควบคุมจิตใจ อันได้รับการฝึกอบรมมาตั้งแต่เป็นเด็ก โดยที่มีมารดาบิดาเป็นต้นได้คอยเริ่มแนะนำ อบรมเรื่อยมา ตลอดจนถึงครูบาอาจารย์ในโรงเรียน ตลอดมาจนถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งทุกคนได้มาฝึกหัดปฏิบัติตามพระธรรมที่ทรงสั่งสอน จึงรู้จักที่จะมีสติมีปัญญาควบคุมจิตใจ ตลอดจนถึงกิริยาวาจาให้อยู่ในมรรยาท คือในขอบเขตที่งดงามเรียบร้อยเหมาะสม อันอาการที่แสดงออกเป็นกิริยามรรยาท อันเรียบร้อยงดงาม ไม่หลุกหลิกเหมือนอย่างเด็กเล็กๆ ดังที่กล่าวนั้น คือลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า ศีล ที่แปลตามศัพท์ว่า ความเป็นปรกติ ก็คือความเรียบร้อย แต่ว่ามักจะอธิบายศีลกันว่าคือความงดเว้นต่างๆ จากการแสดงกิริยาทางกายทางวาจา ที่ไม่เรียบร้อยดีงาม ตลอดจนถึงงดเว้นจากความประพฤติที่ไม่ดีไม่ชอบทางกายทางวาจา อันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ดังที่มีแสดงว่างดเว้นจากการฆ่าเขาบ้าง การลักของเขาบ้างเป็นต้น น้อยข้อบ้างมากข้อบ้าง ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ สำหรับบุคคลผู้ที่มีวัย มีอายุ และมีเจตนาต่างๆ กันจะพึงรับปฏิบัติ เช่นเมื่อเข้ามาบวช เมื่อเป็นเด็กๆ บวชเป็นเณรก็ปฏิบัติอยู่ในศีลของเณร อายุมากเข้าเป็นภิกษุก็ปฏิบัติอยู่ในศีลของภิกษุเป็นต้น ซึ่งเมื่อรวมความเข้ามาแล้วก็คือการที่รักษากิริยากายวาจาให้เป็นปรกติ ดังจะเห็นได้ว่า อันกิริยากายวาจาที่เป็นปรกตินั้น เมื่อเข้ามานั่งปฏิบัติเป็นสมาธิอยู่นี้ก็สำรวม ไม่เอนกายไปเอนกายมา ไม่ยกมือขึ้นไม่ยกมือลงไม่หันหน้าไปทางซ้ายไม่หันหน้าไปทางขวา ไม่พูดซุบซิบๆ คุยกัน เหล่านี้เป็น ซึ่งเป็นอาการกิริยากายวาจาที่เป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม ตลอดจนถึงไม่เล่นซุกซนอย่างเด็ก เพราะเมื่อเด็กตอนบวชก็ซุกซน แต่เมื่อเข้ามาบวชแล้วแม้จะเป็นเณรเล็กๆ ก็ต้องสำรวมกิริยากาย กิริยาวาจา ไม่เล่นต่างๆ ตลอดจนถึงเลิกสนุก หรือเล่นรังแกร่างกายชีวิตสัตว์เล็กๆ น้อยๆ เช่นบี้มดเล่น ตบยุง อะไรเหล่านี้เป็นต้น ต้องงดเว้นทั้งหมด ให้กิริยากายวาจาสงบเรียบร้อยดีงาม ดั่งนี้แหละคือศีล ซึ่งเป็นการควบคุมกายวาจานี้เอง และโดยตรงนั้นก็คือควบคุมจิตใจ โดยที่เริ่มรู้เดียงสา ความรู้เดียงสานั้นก็คือตัวสติตัวปัญญานั้นเองที่เริ่มบังเกิดขึ้นมา ในอันที่จะมีจิตอันประกอบด้วยสติ ประกอบด้วยปัญญา สำหรับที่จะควบคุมกิริยากายวาจาของตนเองให้เป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม อันนี้คือตัวศีล ซึ่งมีลักษณะเป็นอันเดียว

ถ้าหากว่าควบคุมกิริยากายวาจาโดยที่มีจิตใจรู้เดียงสา คือว่ามีตัวสติมีตัวปัญญาดังที่กล่าวนั้น ควบคุมจิตใจได้ ให้เป็นปรกติเรียบร้อยดีงามแล้ว กายวาจาก็ย่อมจะเป็นปรกติ และเมื่อกายวาจาตลอดจนถึงจิตใจเป็นปรกติเรียบร้อยดีงามแล้วก็เป็นอันว่าเป็นตัวศีล ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องนับข้อว่าเป็นศีลห้า เป็นศีลแปด เป็นศีลสิบ เป็นศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด เพราะศีลทั้งหมดนั้นรวมอยู่ในตัวความปรกติเรียบร้อยดีงามทั้งกาย ทั้งวาจา และทั้งจิตใจนี้เอง ฉะนั้นจึงต้องอาศัยจิตนี้เองที่จะต้องฝึก จะต้องดัด จะต้องอบรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ทรงปัญญาย่อมกระทำจิตให้ตรง คือไม่ให้ดิ้นรน ไม่ให้กวัดแกว่ง เหมือนอย่างช่างศรดัดไม้ที่จะทำเป็นลูกศรให้ตรง อันการดัดไม้นั้นต้องอาศัยความร้อน ลนไฟดัด และก็ด้วยมีภาษิตของไทยเรากล่าวไว้ว่า ไม้อ่อนดัดง่าย แต่ไม้แก่ดัดยาก ถ้าเทียบอย่างบุคคลดัดตั้งแต่เป็นเด็กๆ ย่อมดัดง่ายเพราะเด็กเหมือนอย่างไม้อ่อน แต่ผู้ใหญ่นั้นอาจจะดัดยากขึ้น

แต่อันที่จริงนั้นเมื่อมาถึงพระพุทธศาสนา อันแสดงถึงจิตเป็นส่วนสำคัญในการฝึกอบรม อันธรรมชาติของจิตนั้นจะเป็นของเด็กของผู้ใหญ่ ก็เป็นสิ่งที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือเป็นสิ่งที่ดัดได้ด้วยกันทั้งนั้น จิตของเด็กก็ดัดได้ จิตของผู้ใหญ่ก็ดัดได้ แต่ว่าอาจจะมียากกว่ากันตรงที่ว่า เป็นผู้ใหญ่นั้นได้มีความเคยชิน ในความประพฤติต่างๆมากขึ้น และมีทิฏฐิมานะของตัวเองมากขึ้น จึงทำให้บังเกิดความดื้อด้านในอันที่จะรับอบรมยากขึ้นเท่านั้น แต่ก็สามารถที่จะทำลายหรือกำจัดความดื้อด้าน ความประพฤติเคยชินต่างๆได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงดัดได้ทรงทรมานบุคคลต่างๆตามเรื่องที่ได้มีแสดงไว้ในที่ต่างๆ ดังเช่น เมื่อพระองค์เสด็จไปโปรดพวกบุราณชฎิล คือคณะฤษีโยคีคณะหนึ่ง ซึ่งนับถือการบูชาไฟ มีจำนวนหนึ่งพันรวมกัน โดยที่มีฤษีโยคีสามพี่น้องเป็นหัวหน้าแยกกันอยู่ พระพุทธองค์ต้องทรงใช้อิทธิปาฏิหาริย์ทำลายทิฏฐิมานะของท่านชฎิลเหล่านั้นเสียก่อน เพราะท่านชฎิลเหล่านั้นมีทิฏฐิมานะว่าตนเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นจึงไม่ยอมรับ ที่จะฟังคำสั่งสอนของพระองค์ เพราะถือตัวว่าเป็นพระอรหันต์ เป็นคณาจารย์ใหญ่ มีแต่ผู้อื่นมาฟังคำสั่งสอนของตน ตนไม่อยู่ในฐานะที่จะฟังคำสั่งสอนของใครเสียแล้ว จึงต้องทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ทำลายทิฏฐิมานะอันผิดของท่านเหล่านั้น และท่านก็มีแสดงไว้ว่า เมื่อทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ไปทีแรก ท่านชฏิลที่เป็นหัวหน้าท่านก็คิดว่า ท่านสมณะผู้นี้เก่งแต่ก็ยังสู้เราไม่ได้ เราเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ไปหลายอย่างหลายประการ จนท่านมีความสำนึกตนว่าท่านไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นอันว่าได้สงบ หรือละทิฏฐิมานะอันผิดของตน เมื่อเป็นดั่งนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมะสั่งสอน เพราะเมื่อท่านละทิฏฐิมานะเดิมได้แล้วก็เป็นอันว่าพร้อมที่จะฟัง เมื่อพร้อมที่จะฟังท่านจึงทรงสั่งสอน และเมื่อได้ทรงสั่งสอนจบลงแล้ว ท่านก็ได้ปัญญาเห็นธรรมะ ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น วิธีสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงมีแสดงไว้ว่าเป็นปาฏิหาริย์ ๓ อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการแสดงฤทธิ์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือทรงแสดงดักใจ เพราะทรงรู้ถึงอุปนิสัยวาสนาบารมีของผู้ที่จะทรงแสดงธรรมะสั่งสอน จึงทรงแสดงธรรมะสั่งสอนให้เหมาะสมแก่อัธยาศัย นิสัยบารมีของผู้ฟังได้ และ ๓ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คืออนุสาสนี คืออนุสาสน์สั่งสอนไปตามธรรมะที่ควรแสดงสั่งสอน สำหรับปาฏิหาริย์ทั้งสามนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงมีอยู่อย่างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นจึงทรงสามารถดัดบุคคลที่ควรดัดได้ ดังพระพุทธคุณบทว่า ปุริิสทัมสารถิ (ข้อความขาดหายเล็กน้อย)…ธรรมะที่จะทรงแสดงสั่งสอน ก็ไม่เข้าไปสู่จิตใจได้ เพราะจิตใจเต็มไปด้วยทิฏฐิมานะของตน

เพราะฉะนั้นจึงได้มีเรื่องเล่าในฝ่ายมหายานเรื่องหนึ่งว่า มีพระอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงได้เดินทางไปถึงเมืองหนึ่ง มหาอำมาตย์ของเมืองนั้นก็เข้าไปหา ขอให้ท่านแสดงธรรม ท่านจึงเอาน้ำมาเทลงไปในปั้นน้ำชา หรือในถ้วยน้ำชาซึ่งมีน้ำเต็มอยู่แล้ว แต่ท่านก็ยังเทน้ำลงไปในถ้วยน้ำชานั้นอยู่ต่อไป มหาอำมาตย์ผู้นั้นจึงได้ถามขึ้นว่า ทำไมท่านจึงทำอย่างนั้น ท่านก็ตอบว่า ก็เมื่อถ้วยนี้เต็มอยู่ด้วยน้ำแล้ว จะเอาน้ำอื่นมาเทใส่ลงไปน้ำก็คงไม่เข้าถ้วยนั้นอยู่นั่นเอง มหาอำมาตย์นั้นก็ได้สติ เพราะได้เข้าไปหาท่านด้วยจิตใจอันเต็มด้วยทิฏฐิมานะ ทำนองว่าจะลองภูมิหรืออะไรเป็นต้น เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงมีจิตที่อ่อนโยนลงพร้อมที่จะฟังพระพุทธเจ้า ท่านอาจารย์จึงได้แสดงธรรมสั่งสอนต่อไป

อันนี้ก็เป็นเครื่องแสดงว่า วิธีต่างๆ ที่จะเป็นการระงับทิฏฐิมานะของผู้ฟัง นี่แหละคืออิทธิปาฏิหาริย์ที่พระพุทธเจ้าจะต้องทรงกระทำก่อน ไม่ใช่ว่าจำเป็นจะต้องแสดงฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศอะไรต่างๆ นั่นคืออิทธิปาฏิหาริย์ ไม่ใช่หมายความอย่างนั้น หมายถึงทุกวิธี จะเป็นวิธีใดก็ตาม อันจะเป็นเครื่องที่ทำลายทิฏฐิมานะของผู้ฟังที่จะโปรด ให้ได้เสียก่อน และเมื่อผู้ที่จะโปรดนั้นมีจิตใจอ่อนโยนพร้อมที่จะรับฟังแล้ว จึงทรงแสดงธรรม คำว่ามีจิตใจอ่อนโยนพร้อมที่จะรับฟัง หมายถึงปราศจากทิฏฐิมานะ และก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเชื่อก่อนฟัง ไม่ใช่หมายความอย่างนั้น ไม่ต้องบังคับให้เชื่อก่อนฟัง เป็นแต่เพียงว่าพร้อมที่จะฟัง พร้อมที่จะพิจารณาธรรมะที่ฟังเท่านั้น ดั่งนี้ เรียกว่าพร้อมที่จะฟังคือตั้งใจฟัง ยังไม่ต้องเชื่อก่อน พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมะสั่งสอน และธรรมะที่ทรงแสดงสั่งสอนนั้น ก็เหมาะแก่อุปนิสัยวาสนาบารมีของบุคคลที่ได้อบรมมา เพราะพระพุทธเจ้ามีพระญาณหยั่งรู้ได้ เพราะฉะนั้น ข้อนี้จึงเรียกว่าเป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ดักใจได้เป็นอัศจรรย์ แล้วก็ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนซึ่งเป็นข้อธรรมปฏิบัติต่างๆ อันเหมาะแก่วาสนาบารมีของบุคคล ที่ได้อบรมมา ก็เป็นอนุสาสนีย์ปาฏิหาริย์ สั่งสอนเป็นอัศจรรย์ดั่งนี้

เพราะฉะนั้นจึงได้มีแสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนทุกครั้ง ผู้ฟังจะต้องได้รับผล แม้ว่าจะไม่มากคนก็ตาม เพราะในบางครั้งทรงมุ่งที่จะทรงสั่งสอนแก่บุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ก็มีผู้อื่นฟังอยู่ร่วมกันเป็นอันมาก ผู้ที่ทรงมุ่งทรงสั่งสอนนั้นได้ฟังธรรมะ ที่เหมาะสมแก่อัธยาศัยวาสนาบารมีของตน ก็มีความเข้าใจได้ดวงตาเห็นธรรม แต่ว่าผู้อื่นนั้นก็ฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ดังที่มีแสดงไว้เป็นอันมาก เพราะฉะนั้นความพร้อมที่จะฟัง โดยที่ละทิฏฐิมานะมีจิตใจอ่อนโยน ดั่งนี้ จึงเป็นประโยชน์ในการที่จะฟังธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แม้ที่ผู้อื่นนำมาแสดงอันจะเหมาะหรือไม่เหมาะแก่อุปนิสัยวาสนาบารมีของตนก็ตาม เพราะผู้ที่แสดงนั้นก็ย่อมจะไม่มีปาฏิหาริย์เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าได้ จึงต้องแสดงไปตามที่ทรงสั่งสอนไว้ ก็อาจจะเหมาะบ้างไม่เหมาะบ้างแก่อัธยาศัยวาสนาบารมีของทุกคน แต่ว่าเมื่อตั้งใจฟังแล้วก็ย่อมจะได้ประโยชน์ มากหรือน้อย เป็นการเพิ่มเดียงสาให้แก่จิตใจของตัวเอง คือเพิ่มสติปัญญาของตัวเองให้มากขึ้นไปโดยลำดับ อันความที่รู้เดียงสานี้มิใช่ว่าจำเพาะเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่เองถ้าหากว่าไม่มีสติปัญญา ที่จะควบคุมตัวเองได้อย่างเพียงพอแล้ว ก็ชื่อว่าไม่รู้เดียงสาตามสมควร เหมือนอย่างเด็กเช่นเดียวกัน เพราะความรู้เดียงสานั้นขึ้นอยู่แก่สติปัญญาที่ทุกคนจะต้องอบรมให้มีขึ้น สำหรับที่จะควบคุมตัวเอง จิตใจของตัวเองให้ดีขึ้นโดยลำดับ ตั้งต้นแต่กิริยามรรยาทต่างๆ ตลอดจนถึงจิตใจที่สามารถเว้นการที่ควรเว้น ประพฤติการที่ควรประพฤติ อันแสดงออกทางกายทางวาจาต่างๆ อันนับเข้าอยู่ในข้อศีล ดั่งที่กล่าวมาแล้ว แต่ว่าทั้งหมดนี้ก็ต้องเนื่องด้วยจิตใจ

เพราะฉะนั้นจึงต้องปฏิบัติในขั้นต่อไป คือหัดที่จะทำจิตใจให้สงบได้ สงบได้นั้นก็คือว่าสงบจากความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายนั้นเอง ศีลนั้นนับว่าเป็นข้อปฏิบัติอันทำให้จิตใจสงบได้ในขั้นแรก คือสงบได้จากเจตนาคือความจงใจที่จะกระทำอะไรต่างๆ อันไม่เป็นปรกติ ไม่เรียบร้อย ไม่ดีงาม ตั้งแต่ขั้นธรรมดา จนถึงขั้นที่เป็นโทษเป็นผิดอย่างแรง เป็นการผิดศีลโดยตรงที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ตั้งแต่ในขั้นศีลห้าเป็นต้น ดั่งที่กล่าวมาแล้ว จนถึงควบคุมกายวาจาจิตให้เป็นปรกติเรียบร้อยยิ่งขึ้น ก็เป็นอันว่าต้องอาศัยวิรัติ คือความตั้งใจงดเว้นเป็นหลักสำคัญของศีล ประกอบด้วยสติปัญญาอันเป็นความรู้เดียงสานี้ควบคุมกำกับให้มากขึ้น และในขั้นที่ถึงจิตใจโดยตรง คือทำจิตใจให้สงบในภายในมากขึ้นนั้น ก็คือขั้นสมาธิ คือความที่มารู้จักฝึกหัดทำจิตให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้ สงบจากความคิดต่างๆ ที่ฟุ้งซ่าน ที่คิดไปอย่างโน้นคิดไปอย่างนี้ อันเป็นความฟุ้งซ่านต่างๆ นับรวมเข้าก็คือเป็นไปด้วยอำนาจของความอยากบ้าง ความใคร่บ้าง ความโกรธบ้าง ความหลงบ้าง ซึ่งบังเกิดขึ้นในจิตใจ ในอารมณ์คือเรื่องทั้งหลาย เพราะฉะนั้นก็มาหัดทำจิตให้สงบจากอารมณ์ จากความคิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆเหล่านั้น หัดให้จิตรวมเข้ามาอยู่ในอารมณ์อันเดียว เหมือนอย่างว่าการที่จะฟังอะไรก็ตั้งใจฟังในเสียงที่แสดง จะเป็นวิทยาการ หรือจะเป็นธรรมสั่งสอนดังที่แสดงอบรมอยู่นี้ก็ตาม รวมใจเข้ามาฟังเสียงที่แสดงนี้ให้ได้ยินทุกคำ และก็พิจารณาให้เข้าใจ ถ้าจิตใจฟุ้งออกไปข้างนอก ไปคิดถึงเรื่องนั้นไปคิดถึงเรื่องนี้ต่างๆ แล้วหูก็ดับ เมื่อหูดับใจก็ดับ สติก็ดับปัญญาก็ดับ เพราะไม่ได้ยินถ้อยคำที่แสดงนั้น จะอ่านหนังสือก็ตามก็ต้องรวมใจเข้ามาอ่าน คือลูกตาที่ดูหนังสือกับใจ จะต้องอ่านหนังสือพร้อมกัน จะอ่านแต่ตา ใจไม่อ่านก็ย่อมไม่รู้เรื่อง อ่านไม่รู้เรื่อง หรือว่าจะหลับตาเสียไม่ดูตัวหนังสือ จะให้ใจอ่าน ก็มองไม่เห็นไม่รู้เรื่องเช่นเดียวกัน จึงต้องลืมตาดูหนังสือ แล้วใจก็ต้องตั้งฟัง และใจก็ต้องตั้งอ่าน ให้ตากับใจอ่านหนังสือไปพร้อมกัน เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว จึงจะอ่านหนังสือรู้เรื่อง ในการฟังก็ต้องให้หูก็ฟังใจก็ฟัง หูกับใจต้องฟังพร้อมกับหู จึงจะฟังรู้เรื่อง ใจที่ตั้งดั่งนี้คือใจที่เป็นสมาธิ เพราะฉะนั้นการหัดทำใจให้เป็นสมาธิได้ในสิ่งใด ย่อมจะได้ปัญญาคือความรู้ในสิ่งนั้น เมื่อมีสมาธิอยู่ในการอ่านหนังสือ ก็จะได้ปัญญาคือความรู้ในหนังสือที่อ่าน เมื่อมีสมาธิในการฟัง ก็ย่อมจะได้ปัญญาคือรู้เรื่องที่ฟัง และเมื่อมีสมาธิอยู่ในนามรูปอันเป็นที่ตั้งของปัญญา ก็ย่อมจะได้ปัญญาในนามรูป จะรู้ไตรลักษณ์คือความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาในนามรูปดั่งนี้ เพราะฉะนั้น ความควบคุมใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และโดยเฉพาะย่อมจะควบคุมกายวาจาให้เป็นศีลได้ และทำให้ได้สมาธิ ทำให้ได้ปัญญา

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบตั้งใจฟัง และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

https://sites.google.com/site/smartdhamma/part3_sangarat_anapa

. . . . . . .