การสวดมนต์ พระนิพนธ์.สมเด็จพระญาณ สังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

การสวดมนต์

พระนิพนธ์.สมเด็จพระญาณ สังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ธรรมจักษุ ปีที่ ๘๐ ฉบับที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๙

คำว่า “มนต์” นั้น ถ้าแปลตามศัพท์ที่ใช้เป็นภาษาพูดทั่วไป แปลว่าปรึกษาหารือ แต่ว่านำมาใช้เป็นบทสวด ก็หมายความว่า เป็นบทสวดที่บริสุทธิ์หรือที่ศักดิ์สิทธิ์ เราใช้กันในภาษาไทยเป็นที่เข้าใจกัน ธรรมเนียมสวดมนต์ของพระสงฆ์ได้มีธรรมเนียมสวดในเวลาเช้า กับในเวลาเย็นหรือ ค่ำ บทสวดนั้นที่เป็นบทสวดประจำก็เรียกว่าทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น หรือทำวัตรค่ำ สำหรับสวดมนต์ตอนเช้าหรือทำวัตรเช้านั้น ก็กำหนดเวลาต่าง ๆ กัน โบราณพระตื่นสวดมนต์กันตั้งแต่ตีสี่ และในบัดนี้ยังใช้สวดกันเช้ามืดตีสี่ก็มีแต่มีน้อย สวดเช้าก่อนออกบิณฑบาตก็มี บิณฑบาตกลับมาแล้วสวดมนต์ก่อนแล้วจึงฉันก็มี ฉันแล้วสวด เช่นว่าเวลาสองโมงเช้าอย่างวัดนี้ (วัดบวรนิเวศฯ) ก็มี สวดมนต์ตอนเย็นหรือตอนค่ำนั้นใช้สวดกันเวลาห้าโมงเย็นก็มี หกโมงเย็นก็มี ทุ่มหนึ่งก็มี สองทุ่มก็มีอย่างวัดนี้ แม้ว่าจะกำหนดเวลาต่างกัน ก็คงใช้ประชุมกันสวดมนต์เวลาเช้าเวลาหนึ่ง เวลาเย็นหรือค่ำอีกเวลาหนึ่ง? บทสวดมนต์ประจำทุกวันที่เรียกว่าทำวัตรคือทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำนั้น ก็เป็นธรรมเนียมที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระสงฆ์สาวกก็เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในเวลาเช้าก็ทำวัตร ทำวัตรก็คือทำการปฏิบัติ เช่น ถวายน้ำสำหรับที่จะบ้วนพระโอษฐ์ สรงพระพักตร์ อย่างที่ทุกคนก็ต้องมีการแปรงฟัน ล้างหน้า บ้วนปากและกิจอื่น ๆ ทำวัตรก็คือการปฏิบัติอย่างสัทธิวิหาริก ก็ทำอุปัชฌายวัตร อันเตวาสิก ก็ทำอาจาริยวัตร คือ ศิษย์ทำการปฏิบัติอุปัชฌาย์อาจารย์ ดังที่วัดนี้มีธรรมเนียมทำสักแต่ว่าเป็นประเพณี คือเมื่อพระภิกษุบวชใหม่แล้วก็นำเอาน้ำ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ ก็เป็นการไปแสดงทำอุปัชฌายวัตรคือทำการปฏิบัติพระอุปัชฌาย์ หรือว่าอาจาริยวัตรทำการปฏิบัติพระอาจารย์ อันที่จริงนั้นก็ไปทำกันทุกวัน แต่ว่าในวัดนี้เป็นธรรมเนียมที่ให้ทำเพียงครั้งเดียว แล้วอนุญาตว่าไม่ต้องไปทำอีก เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนกัน ?ในครั้งพุทธกาลนั้นพระภิกษุสงฆ์ก็มีธรรมเนียมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทำวัตรคือ ทำการปฏิบัติพระองค์ในเวลาเช้า แต่ว่าก็ปรากฏว่าได้มีพระภิกษุที่เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำพระองค์ มักจะองค์หนึ่ง แต่ว่าในตอนแรกนั้นก็คงจะมีการผลัดเปลี่ยนกัน ไม่มีองค์ไหนอยู่ประจำตลอดเวลานาน จนถึงท่านพระอานนท์เถระได้รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก คือพระภิกษุผู้บำรุงพระพุทธเจ้า พระอานนท์ท่านก็ได้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำพระองค์มาจนถึงเสด็จดับ ขันธปรินิพพานท่านก็ได้ทำการปฏิบัติบำรุงพระพุทธเจ้าเป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ พระองค์ตลอดมา

กิจของพระพุทธเจ้าท่านแสดงไว้ไนการบอกวัตรของโบราณ วันหนึ่ง ๆ ที่เป็นกิจประจำว่ามี ๕ อย่าง คือ
หนึ่ง???? เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต

สอง???? เวลาเย็นทรงแสดงธรรม ก็คือทรงแสดงธรรมแก่ประชาชนที่มาเฝ้าเป็นประจำทุกวัน

สาม??? เวลาย่ำค่ำประทานโอวาทแก่ภิกษุ

สี่???????? เวลาเที่ยงคืนทรงแสดงธรรมแก้ปัญหาเทวดาที่มาเฝ้า

ห้า?????? เวลาย่ำรุ่งทรงพิจารณาหมู่สัตว์ คือหมู่ของบุคคลที่สมควรและไม่สมควรที่จะเสด็จไปทรงแสดงธรรมโปรด

อันแสดง ว่ากิจ ๕ อย่างนี้ได้ทรงปฏิบัติอยู่เป็นประจำ และการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในเวลาเช้าทำวัตร คือทำการปฏิบัติอุปัฏฐากบำรุง จึงเป็นกิจของพระภิกษุสงฆ์ องค์หนึ่งบ้างหลายองค์บ้าง ที่ไปเฝ้าทำพุทธอุปัฏฐาก เมื่อมีพระภิกษุเป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ การที่พระภิกษุทั่วไปจะเข้าเฝ้าเป็นพุทธอุปัฏฐาก จึงเป็นอันไม่ต้องไปทำ แต่ก็ชื่อว่าเป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์อย่างน้อยก็องค์ใดองค์หนึ่งผลัด เปลี่ยนกันเข้าไปเฝ้าทำพุทธอุปัฏฐาก ?เพราะ ฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว จึงได้มีธรรมเนียมที่พระภิกษุที่อยู่ในวัดหนึ่ง ๆ ประชุมกันในอุโบสถคือในโบสถ์ในวิหาร คือในหอสวดมนต์ที่กำหนดขึ้น ทำการสักการบูชาพระพุทธปฏิมาซึ่งประดิษฐานอยู่ในที่นั้น แทนการที่เข้าไปเฝ้าอุปัฏฐากบำรุงพระพุทธเจ้าในเวลาเช้า จึงสวดมนต์ และบทสวดนั้นก็เป็นบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลัก จึงได้เรียกบทสวดมนต์นี้ว่า สวดทำวัตร แปลตามศัพท์ก็คือว่า สวดทำการปฏิบัติบำรุง แต่เมื่อไม่มีองค์พระพุทธเจ้าที่จะปฏิบัติบำรุง จึงสวดสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระธรรม พระสงฆ์แทน จึงได้เรียกว่า สวดทำวัตร?? ส่วนในเวลาเย็นนั้น ได้มีปรากฏอยู่ในพุทธกิจทั้ง ๕ ดังที่กล่าวมาแล้ว ว่าเวลาย่ำค่ำทรงแสดงโอวาทแก่ภิกษุ จึงได้มีธรรมเนียมที่พระภิกษุประชุมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในเวลาย่ำค่ำถัด จากเวลาเย็นที่ทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนทั่วไปเพราะฉะนั้น ในการเข้าเฝ้าในเวลาค่ำนั้น ก็จะมีธรรมเนียมการทำวัตรปฏิบัติอุปัฏฐากบำรุงพระพุทธเจ้า เช่นตั้งน้ำฉันน้ำใช้อะไรไว้ในกุฏิที่ทรงประทับเช่นเดียวกัน ก็เป็นหน้าที่ของพระภิกฬุงฆ์จะจัดสับเปลี่ยนกันไปหรือมีประจำแล้วก็ไปเข้า เฝ้าฟังพระพุทธโอวาท และเมื่อไม่มีพระองค์ที่จะปฏิบัติบำรุง การประชุมกันในเวลาค่ำหรือในเวลาเย็นจึงได้มีการสวดบทสรรเสริญคุณพระรัตน ตรัยจึงได้เรียกบทสวดแม้ในเวลาค่ำว่าสวดทำวัตร อันเป็นการแสดงถึงการทำวัตรปฏิบัติ

อนึ่ง ในเวลาเย็นเวลาค่ำนั้นเป็นเวลาที่ทรงแสดงธรรมด้วย ดังปรากฏในพระพุทธกิจประจำวันดังกล่าวมา เมื่อสวดบททำวัตรแล้ว จึงได้มีการสวดบทพระพุทธพจน์ อันเป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระสูตรหนึ่ง หรือบทใดบทหนึ่ง ต่อจากทำวัตรค่ำ เท่ากับว่าเป็นการฟังธรรมคำสั่งสอนที่ทรงแสดง หรือว่าฟังพระโอวาทของพระพุทธเจ้าในเวลาเย็น ในเวลาค่ำ ตามพุทธกิจที่ปรากฏนั้น การสวดมนต์ ก็คือสวดพระสูตรใดพระสูตรหนึ่งดังกล่าวนั้น จึงเท่ากับว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม หรือประทานพระโอวาทฟังกัน เพราะฉะนั้น หลังจากทำวัตรเย็นทำวัตรค่ำแล้วจึงมีการสวดมนต์ต่อ ก็เท่ากับว่าเป็นการฟังธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงหรือที่ทรงประทานเป็น พระพุทธโอวาท นี้เป็นธรรมเนียมการสวดมนต์ทำวัตรเช้าทำวัตรค่ำ และเมื่อทำวัตรค่ำแล้วก็มีธรรมเนียมสวดมนต์ คือสวดพระสูตรเป็นต้น อันเป็นคำสั่งสอนต่อไป เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติเนื่องมาจากครั้งพุทธกาลดังกล่าว สำหรับเรื่องการสวดมนต์นั้น ยังมีการสวดมนต์ในงานต่าง ๆ สืบไปอีก แต่วันนี้จะว่าเพียงเท่านี้ก่อน และก็จะแสดงอธิบายถึงบทสวดมนต์ที่ต้องใช้เป็นประจำเนืองนิตย์ในที่ทั้งปวงก็ คือ บทสวดนโม กับบทสวด พุทธัง

บทสวดนโม ก็คือ นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ๓ ครั้ง ก่อนที่จะสวดนโม พระเถระก็จะกล่าวคำชักชวนให้สวดด้วยบท หนฺท มยํ ดังที่พระเถระแนะนำชักชวนว่า หนฺท มยํ พุทธสฺส ภควโต ปุพฺพภาคนมการํ กโรมเส ที่แปลความว่า “ขอชักชวนให้เราทั้งหลายกล่าวคำแสดงการกระทำนอบน้อมอันเป็นบุพพภาค คือเป็นส่วนเบื้องต้นแด่พระพุทธเจ้า ผู้มีโชค หรือผู้จำแนกแจกธรรม” ดั่งนี้แล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงก็สวดนโม ๓ จบพร้อมกัน

คำว่า นโม ตสฺส เป็นต้น นี้แปลว่า นโม ขอนอบน้อมด้วยกายวาจาใจ ภควโต แด่พระผู้มีพระภาค คือพระองค์ผู้ซึ่งจำแนกแจกธรรม อรหโต ผู้เป็นพระอรหันต์คือผู้ไกลกิเลส สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ผู้ตรัสร้เองโดยชอบ ตสฺส พระองค์นั้น

ถือว่าเป็นบทสำคัญมาแต่โบราณกาล และก็ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้แต่งคำว่า นโม นี้ขึ้น เป็นแต่มีเล่าไว้ในพระคัมภีร์พระสูตรต่าง ๆ ว่า ได้มีเทพบ้าง มนุษย์บ้าง หลายท่านได้เกิดศรัทธาปสาทะในพระพุทธเจ้า ได้เปล่งวาจานี้ขึ้นว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ๓ ครั้ง ดั่งนี้ จึงเป็นอันทำให้สรุปว่า เป็นถ้อยคำที่บังเกิดขึ้นจากศรัทธาปสาทะในใจของบุคคลเอง จึงได้เปล่งออกมา แต่ได้แสดงว่า ผู้ที่เปล่งวาจาออกมานี้ ได้ซาบซึ้งในพระพุทธคุณของพระพุทธเป็นอย่างดี เพราะว่าบทนโมนี้ ประกอบด้วยบทพระพุทธคุณสำคัญอยู่ถึง ๓ บท

บทที่ ๑ ก็คือ ภควโต แด่พระผ้มีพระภาค แปลมาจากคำว่า ภควา เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้าในอรรถ คือความหมายยกย่องว่า เป็นผู้จำแนกแจกธรรมบ้าง ว่าเป็นผู้มีโชคบ้าง ว่าเป็นผู้หักกิเลสกองราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นบ้าง แต่ว่าในภาษาไทยเรานั้น คำนี้นิยมแปลในความหมายว่าพระผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน

คำว่า อร หโต มาจากคำว่า อรหํ หรือ อรหันต์ ที่มีความหมายว่า เป็นผู้ไกลกิเลส เป็นผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลส เป็นผู้หักซี่แห่งสังสารจักร เป็นผู้ควรไหว้ควรบูชา เป็นผู้ไม่มีที่ลี้ลับในอันที่จะกระทำความชั่วต่าง ๆ แต่ว่าในทางไทยเรานั้นนิยมคำแปลว่า เป็นผู้ไกลกิเลส

คำว่า สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส มาจากคำว่า สัมมา สัมพุทโธ หรือ สัมมาสัมพุทธ แปลว่า ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ สัมมา แปลว่า โดยชอบ สมฺ แปลว่า เอง พุทฺธ แปลว่าตรัสรู้ ซึ่งมีอธิบายโดยย่อว่า ตรัสรู้นั้นก็คือ ตรัสรู้อริยสัจทั้ง ๔ อันได้แก่ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คำว่า เอง นั้นก็คือ พระญาณที่ตรัสรู้ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ผุดขึ้นเอง คือผุดขึ้นในสัจจธรรมเหล่านี้ที่มิได้เคยทรงสดับมาก่อน คำว่า โดยชอบ นั้นก็คือโดยสัมมัตตะ คือความเป็นชอบ นับตั้งแต่โดยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลางที่พระองค์ได้ทรงค้นพบตั้งแต่เป็นพระโพธิสัตว์ ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ และก็ได้ทรงปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ นี้มาโดยสมบูรณ์ จึงได้ตรัสรู้อริยสัจทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น ความตรัสรู้เองนี้จึงมาจากสัมมัตตะ คือความเป็นชอบ อันได้แก่มรรคมีองค์ ๘ นี้ที่ทรงปฏิบัติมา และก็เป็นความตรัสรู้ที่ถูกต้องไม่ผิด จึงเรียกว่า สัมมา คือ ชอบ และก็มีความหมายว่า เมื่อได้ตรัสรู้แล้วก็ได้ทรงแสดงธรรมที่ได้ตรัสรู้นี้สั่งสอน ตั้งเป็นพุทธศาสนา ตั้งพุทธบริษัททั้ง ๔ ขึ้นอีกด้วย เพราะฉะนั้น จึงได้พระนามว่า สัมมาสัมพุทธ

และในข้อนี้ก็ได้มีอธิบายประกอบอีกว่า ท่านผู้ตรัสรู้เองนั้นถ้าตรัสรู้เองได้แล้วไม่ได้สั่งสอนใคร อันหมายความว่า ไม่ได้ตั้งพุทธศาสนา ไม่ได้ตั้งพุทธบริษัทขึ้น ก็เรียกว่าพระปัจเจกพุทธ แปลว่า พระพุทธผู้ตรัสรู้จำเพาะพระองค์ ต่อเมื่อได้สั่งสอนผู้อื่น ตั้งพุทธศาสนา ตั้งพุทธบริษัทขึ้น จึงเรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธ พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ฉะนั้น คำว่า สัมมาสัมพุทโธ นี้จึงมีความหมายว่า พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ดังกล่าวนี้ด้วย และก็มีความหมายว่า เป็นพระผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ แล้วได้ตั้งพุทธศาสนาและพุทธบริษัทขึ้นด้วย จึงมิใช่เป็นพระปัจเจกพุทธดังกล่าว และบรรดาหมู่ชนผู้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วได้ตรัสรู้ตาม ได้แก่หมู่แห่งพระสาวกซึ่งได้ตรัสรู้ตามเป็นพระอหันต์ทั้งหลายก็เรียกว่า พระอนุพุทธ แปลว่า พระผู้ตรัสรู้ตาม จึงได้มีพระพุทธเป็น๓ จำพวก คือ หนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธ สอง พระปัจเจกพุทธ สาม พระอนุพุทธ ดังนี้

บทสวดนโม ย่อมบรรจุพระพุทธคุณสำคัญทั้ง ๓ บทไว้ดั่งนี้ และพระพุทธคุณทั้ง ๓ บทก็ย่อมบรรจุอยู่ด้วยพระปัญญาคุณ คุณคือความรู้จริง พระวิสุทธิคุณ คุณคือความบริสุทธิ์จริง พระกรุณาคุณ คุณคือกรุณาจริง อันเป็นบทสรุปของพระพุทธคุณทั้งปวง แต่แม้เช่นนั้นความหมายของบทพระพุทธคุณทั้ง ๓ บทในบทสวดนโมนี้ ย่อมมีพระพุทธคุณบทใดบทหนึ่ง ที่เด่นอยู่กว่าพระพุทธคุณข้ออื่น ก็คือบทว่า ภควโต แด่พระผู้มีพระภาค อันเป็นบทที่ ๑ นั้น เด่นอยู่ด้วยพระกรุณาคุณ ในความหมายที่ใช้กันว่า พระผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน หมายถึง พระกรุณาคุณที่ทรงจำแนกแจกธรรม คือทรงแสดงธรรมสั่งสอน

บทว่าอร หโต เป็นพระอรหันต์ เด่นอยู่ด้วยพระวิสุทธิคุณ คุณค่าความบริสุทธิ์ในความหมายว่าเป็นผู้ไกลกิเลส เพราะความเป็นผู้ไกลกิเลสนั้น แสดงถึงความบริสุทธิ์ จึงเด่นด้วยพระวิสุทธิคุณ

บทว่า สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า เด่นด้วยพระปัญญาคุณ ดั่งนี้

เพราะ ฉะนั้น บทสวดนโมนั้นจึงเป็นบทที่ประกอบด้วยพระพุทธคุณสำคัญ ๓ บท สมบูรณ์ด้วยพระคุณทั้ง ๓ นำหน้าด้วยพระกรุณาคุณ และต่อไปด้วยพระวิสุทธิคุณ หนุนท้ายด้วยพระปัญญาคุณ

ในข้อนี้ก็น่าที่จะพิจารณาว่าทำไมท่านจึงเอาบท ภควโต นำหน้า อรหโต มาเป็นที่ ๒ สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส เป็นที่ ๓ เพราะเมื่อเรียงพระคุณโดยทั่วไป ย่อมเรียงพระปัญญาคุณไว้เป็นที่ ๑ พระวิสุทธิคุณเป็นที่ ๒ พระกรุณาคุณเป็นที่ ๓

สำหรับบทสวดที่แสดงพระคุณทั้ง ๓ นี้ด้วยเรียงพระปัญญาไว้หน้าก็มีอยู่ แต่ว่าจะกล่าวต่อไป สำหรับในที่นี้กลับกัน เอาพระกรุณาคุณไว้หน้า เอาพระปัญญาคุณไว้หลังก็น่าคิดว่า เพราะเหตุว่าบทสวด นโม นี้บังเกิดขึ้นจากจิตใจของเทพบ้างมนุษย์บ้าง ซึ่งเกิดศรัทธาปสาทะในพระพุทธเจ้าจึงได้เปล่งวาจานอบน้อมนมัสการขึ้น ซึ่งความรู้สึกสำนึกประกอบด้วยศรัทธาปสาทะจนถึงเปล่งวาจานี้ขึ้นนั้น ก็น่าคิดว่า เพราะได้มีความสำนึกในพระกรุณาคุณ คือได้รับพระกรุณาจากพระพุทธเจ้า ที่ทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอน จนได้ความรู้ความเข้าใจ จนถึงได้ดวงตาเห็นธรรมก็มีเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น จึงบังเกิดขึ้นจาก ความสำนึกในพระกรุณาคุณ ที่ตนได้รับจากพระพุทธเจ้า ได้รับความรู้ ความเห็นธรรม ความรู้ความเข้าใจในธรรม จึงได้ยกเอาบทที่แสดงพระกรุณา คือ ภควโต พระผู้มีพระภาคคือพระผู้จำแนกแจกธรรม ขึ้นเป็นบทที่ ๑ และก็มาถึงบทที่ ๒ อันแสดงถึงพระวิสุทธิคุณ เด่นด้วยพระวิสุทธิคุณ คือ อรหโต ก็เป็นธรรมดา บทนี้ก็เป็นที่ ๒ อยู่โดยปกติ และก็เกิดจากจิตใจของผู้ที่เปล่งถ้อยคำนี้ อันประกอบด้วยความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วทางจิต ตลอดจนถึงทางกายทางวาจาแล้ว จึงมาถึงปัญญาคุณหนุนท้าย อันส่องถึงว่า ก็เพราะพระองค์เป็นสัมมาสัมพุทธ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นหลัก เป็นแกนสำคัญ ดั่งนี้ พิจารณาดูจิตใจของผู้ที่เปล่งถ้อยคำนี้ออกมาก็น่าจะเป็นดั่งนี้ คือบังเกิดด้วยความสำนึกรู้อย่างลึกซึ้ง ในพระกรุณาคุณ ที่ได้รับจากพระพุทธเจ้า จึงได้ยกเอาพระพุทธคุณประกอบด้วยมหากรุณานี้เป็นบทที่ ๑ คือ ภควโต ก็คือผู้จำแนกแจกธรรม ดั่งนี้ ?เพราะ ฉะนั้น ผู้ที่เปล่งคำว่า นโม นี้ขึ้นมาจะต้องมีความรู้ซาบซึ้งในพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้ง แสดงว่าได้สดับตรับฟังธรรมที่ทรงแสดง มีความรู้ความเข้าใจ บังเกิดศรัทธาปสาทะ คือความรู้ความเลื่อมใส ได้ปัญญาจึงได้เปล่งขึ้นมา จับเอาพระพุทธคุณบทสำคัญขึ้นมา เพราะฉะนั้น จึงได้นับถือว่าเป็นบทสำคัญ ซึ่งจะสวดมนต์อะไร ก็จะต้องนำด้วย นโม จะประกอบพิธีสำคัญอะไร ก็จะต้องตั้ง นโม ขึ้นก่อนอยู่เป็นปกติ

และยังมีบทสวดที่สรุปพระพุทธคุณทั้ง ๓ ไว้อย่างสมบูรณ์ ที่เราทั้งหลายสวดอยู่ในเวลาที่ทำวัตรเช้าทุกวันก็คือ พุทฺโธ สุสุทฺโธ กรุณามหณฺณโว

บรรทัดแรกนี้บรรทัดเดียวก็บรรจุด้วยพระพุทธคุณทั้ง ๓ จำไว้เพียงบรรทัดเดียวก็จำพระพุทธคุณได้ทั้ง ๓

พุทฺโธ พระผู้ตรัสรู้ แสดงถึงพระปัญญาคุณ

สุสุทฺโธ พระผู้บริสุทธิ์ดีแสดงถึงพระวิสุทธิคุณ

กรุณา มหณฺณโว มีพระกรุณาดุจห้วงทะเลหลวง แสดงถึงพระกรุณาคุณ

เพราะฉะนั้นบรรทัดเดียวเท่านี้ พุทฺโธ สุสุทฺโธ กรุณามหณฺณโว ประกอบด้วยพระพุทธคุณอย่างสมบูรณ์ คือพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ พระกรุณาคุณ ฉะนั้น เมื่อเราทั้งหลายได้สวดบท นโม ตั้ง นโม ก็ขอให้ตั้งใจกำหนดในพระพุทธรูปทั้ง ๓ ให้รู้ในพระพุทธคุณทั้ง ๓ ไปด้วย และเมื่อสวด พุทฺโธ สุสุทฺโธ กรุณามหณฺณโว ก็ขอให้ทำความเข้าใจในพระพุทธคุณทั้ง ๓ ไปด้วยจะเป็นประโยชน์มาก

http://www.watpanonvivek.com/index.php/section-table/2012-07-14-12-23-28/2202-2010-05-15-18-23-41

. . . . . . .