อหิราชสูตรบรรยาย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

อหิราชสูตรบรรยาย
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๐
จะแสดงบทสวดมนต์ในเจ็ดตำนาน ได้แสดงมาแล้ว ๓ ตำนาน ถึงตำนานที่ ๔ บทสวดเป็นนิคมคาถา คือคาถาที่สุดท้ายของอหิราชสูตร ให้ราชสูตรนี้ได้แสดงว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวัน อันเป็นอารามของอนาถปิณฑิกคหบดีสร้างถวายในกรุงสาวัตถี โดยสมัยนั้นภิกษุรูปหนึ่งได้ถูกงูขบกัดถึงแก่มรณภาพ ภิกษุทั้งหลายเป็นอันมากจึงได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าภิกษุรูปหนึ่งแห่งกรุงสาวัตถีถูกงูกัดตาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นมิได้แผ่จิตมีเมตตาไปยังตระกูลแห่งพญางูทั้ง ๔ เป็นแน่ ก็ถ้าภิกษุนั้นพึงแผ่จิตมีเมตตาไปยังพญางูทั้ง ๔ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาลกิริยา ตระกูลพญางูทั้ง ๔ ก็คือ

ตระกูลพญางูชื่อว่าวิรูปักขะ ตระกูลแห่งพญางูเชื่อว่าเอราปถะ ตระกูลพญางูชื่อว่าฉัพยาปุตตะ ตระกูลพญางูชื่อว่ากันหาโคตมกะ ภิกษุนั้นมิได้แผ่จิตมีเมตตาไปยังพญางูทั้ง ๔ นี้แน่ ก็ถ้าเธอแผ่จิตมีเมตตาไปยังพญางูทั้ง ๔ เหล่านี้ เธอก็จะไม่พึงถูกงูกัดทำกาลกิริยา ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แผ่จิตอันมีเมตตาไปยังพญางูทั้ง ๔ เหล่านี้ เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน และต่อจากนี้ในพระสูตรได้มีแสดงนิคมคาถาคือคาถาลงท้ายซึ่งใช้เป็นบทสวดตั้งต้นว่า วิรูปกฺเขหิ เม เมตฺตํ เป็นต้น ที่แปลความว่า

ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับพญางูทั้งหลาย สกุลวิรูปักขะด้วย
ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับพญางูทั้งหลาย สกุลเอราปถะด้วย
ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับพญางูทั้งหลาย สกุลฉัพยาปุตตะด้วย
ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับพญางูทั้งหลาย สกุลกันหาโคตมกะด้วย
ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสัตว์ทั้งหลาย ที่ไม่มีเท้าด้วย
ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสัตว์ทั้งหลาย ที่มี ๒ เท้าด้วย
ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสัตว์ทั้งหลาย ที่มี ๔ เท้าด้วย
ความเป็นมิตรของเรา จงมีกับสัตว์ทั้งหลาย ที่มีเท้ามากด้วย
สัตว์ไม่มีเท้าอย่าเบียดเบียนเรา สัตว์ ๒ เท้าอย่าเบียดเบียนเรา
สัตว์ ๔ เท้าอย่าเบียดเบียนเรา สัตว์มากเท้าอย่าเบียดเบียนเรา
ขอสรรพสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย ที่เกิดมาทั้งหมดจนสิ้นเชิงด้วย
จงเห็นซึ่งความเจริญทั้งหลายทั้งปวงเถิด โทษ ลามกไร ๆ อย่าได้มาถึงแล้วแก่สัตว์เหล่านั้น
พระพุทธเจ้า ทรงพระคุณไม่มีประมาณ พระธรรม ทรงพระคุณไม่มีประมาณ
พระสงฆ์ ทรงพระคุณไม่มีประมาณ
สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คืองู แมลงป่อง
ตะเข็บ ตะขาบ แมลงมุม ตุ๊กแก หนู เหล่านี้
ล้วนมีประมาณ คือไม่มากเหมือนคุณพระรัตนตรัย
ความรักษา อันเรากระทำแล้ว ความป้องกัน อันเรากระทำแล้ว
หมู่สัตว์ทั้งหลาย จงหลีกไป เรานั้นกระทำการนอบน้อม
แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ ทำการนอบน้อม แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งหลาย ๗ พระองค์อยู่

นี้เป็นคำแปลในบทสวด วิรูปกฺเขหิ เม เมตฺตํ เป็นต้น และถ้ามีเวลาน้อยก็ร่นสวดแต่ตอนท้ายตั้งต้นว่า อปฺปมาโณ พุทฺโธ พระพุทธเจ้าทรงพระคุณไม่มีประมาณ
อนึ่ง ได้มีอีกพระปริตรหนึ่งเรียกว่า โมรปริตร พระปริตรเรื่องนกยูง สำหรับพระปริตรที่สวดอันเป็นตอนท้ายของอหิราชสูตรที่แสดงมานั้นเรียกชื่อว่า ขันธปริตร แปลว่าพระปริตรอันเป็นเครื่องป้องกันขันธ์ คือขันธ์อันหมายถึงเบญจขันธ์ ดังที่เรียกว่า สกนธกาย หมู่แห่งขันธ์คือขันธ์ ๕ นี้ คือหมายถึงว่าเป็นเครื่องป้องกันตนนั้นเองเรียกว่า ขันธปริตร ตัดเอามาตอนท้ายของอหิราชสูตรดังที่เล่ามา โมรปริตรในที่นี้จะไม่นับแยกออกไปอีกหนึ่ง แต่ว่ารวมเข้าในตำนานที่ ๔ นี้ด้วย พระปริตรอันเกี่ยวด้วยนกยูงนี้มีตำนานเล่าไว้ในอรรถกถาชาดก ที่เรียกว่าชาดกนั้นหมายความว่าเป็นเรื่องของพระพุทธเจ้าเมื่อทรงถือชาติกำเนิดในชาติที่เป็นอดีตต่าง ๆ ซึ่งทรงเกิดมาแล้วเป็นนั่นเป็นนี่บ้าง เช่นเรียกว่าทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าสืบต่อชาติกันมาเป็นอันมาก เรื่องที่เกิดแล้วในชาตินั้น ๆ ที่มีแสดงไว้ในพระไตรปิฎกที่เป็นคาถาซึ่งโดยมากเป็นคำสอน อันแสดงถึงธรรมที่พระโพธิสัตว์ผู้เกิดมาในชาตินั้น ๆ ทรงปฏิบัติมาแล้ว แต่ได้มีแสดงเรื่องราวเล่าไว้ในอรรถกถาซึ่งเป็นคำอธิบายสืบต่อมาที่ลังกา เพราะฉะนั้น เรื่องชาดกนี้ จึงเป็นแบบเดียวกับนิทานอีสป ที่เป็นหนังสืออ่านสำหรับเขียนในชั้นประถมเมื่อก่อนนี้ มีเรื่องที่สัตว์กับคนพูดสนทนากันได้บ้าง และมีเรื่องที่เป็นบุคคลต่อบุคคลบ้าง ฉะนั้น การอ่านเรื่องชาดกนั้น จึงต้องทำความเข้าใจว่า เรื่องทั้งหลายที่แสดงนั้นเป็นเรื่องเก่าแก่ที่เล่ากันมาช้านาน และความมุ่งหมายของการเล่าเรื่องเหล่านั้นสำหรับในทางศาสนา ก็เพื่อเป็นเรื่องที่แสดงการสอนประกอบไปด้วย คือแสดงการสอนธรรมนั้นเอง แต่เล่าเป็นเรื่องราวเป็นนิทาน ก็เป็นอุบายอันหนึ่งอันจะชักนำให้จดจำถึงคติธรรมที่จะพึงได้จากเรื่องนั้น ๆ และก็มีปรากฏอยู่หลายเรื่องที่โดนกันกับนิทานอีสป อันแสดงว่าเรื่องเหล่านี้จะต้องเป็นเรื่องที่เล่ากันมาเก่าแก่และแพร่หลายไปในหลายประเทศหลายถิ่น เพราะฉะนั้นจึงมาซ้ำกันเข้าได้ และก็มุ่งให้เป็นเรื่องทางคติธรรมสอนใจด้วยกัน เพราะฉะนั้น ก็ให้จับเอาความเพียงเท่านี้ก็ได้
สำหรับโมรปริตร คือเรื่องของนกยูง อันเป็นชาดกอันหนึ่งที่ติดมาในตำราชาดกทางพุทธศาสนานั้น ก็มีเล่าว่า มีนกยูงตัวหนึ่งเป็นนกยูงทอง เป็นนกยูงฉลาด ที่ได้เรียนมนต์สำหรับเป็นเครื่องป้องกันตนอันเรียกว่า พรหมมนต์ ได้เลือกหาที่อยู่ โดยข้ามเทือกภูเขาที่อยู่ไกลกับหมู่มนุษย์ออกไปถึง ๓ เทือก ไปอยู่ในเทือกสุดท้ายห่างไกลออกไป และเมื่อจะออกไปแสวงหาอาหารในเวลาเช้า ก็สาธยายพรหมมนต์และก็ออกไป ก็ไม่มีอันตราย แม้ว่าจะมีนายพรานมาวางแร้วเป็นต้น สำหรับดักและโปรยอาหารไว้ บรรดาเครื่องดักเหล่านั้น ก็ไม่ทำอันตรายได้ และเมื่อกลับมาถึงที่อยู่ในเวลาเย็นค่ำ จะนอนก็สาธยายพรหมมนต์ ฉะนั้น ในชาดกนี้จึงแสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพรหมมนต์ที่นกยูงนี้ได้สาธยายดังบทสวดว่า อุเทตยญฺจกฺขุมา เอกราชา เป็นต้น ที่แปลความว่า
พระอาทิตย์ เป็นดวงตาของโลก เป็นเอกราช มีสีเพียงดังสีแห่งทอง ยังพื้นปฐวีให้สว่างอุทัยขึ้นมา เพราะเหตุนั้น ข้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งมีสีเพียงดังสีแห่งทอง ยังพื้นปฐวีให้สว่าง
ข้าทั้งหลาย อันท่านปกครองแล้วใน วันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน
พราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด ผู้ถึงซึ่งเวทในธรรมทั้งปวง พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้า
อนึ่ง พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรักษาซึ่งข้า ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่พระโพธิญาณ ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่ท่านผู้พ้นแล้วทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่วิมุตติธรรม
นกยูงนั้นได้กระทำปริตรอันนี้แล้ว จึงเที่ยวไปเพื่ออันแสวงหา อาหาร
นี้เป็นบทสวดสำหรับตอนเช้าก่อนที่จะออกไปหาอาหาร คือสำหรับเพื่อความคุ้มครองในเวลากลางวัน ต่อจากนี้เป็นบทสวดสำหรับที่จะพักประกอบด้วยความคุ้มครองในเวลากลางคืนว่า
อเปตยญฺจกฺขุมา เอกราชา เป็นต้น ที่แปลความว่า
พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเอกราช มีสีเพียงดังสีแห่งทอง ยังพื้นปฐวีให้สว่าง ย่อมอัสดงคตไป คือพระอาทิตย์อัสดงคตไปก็เป็นเวลากลางคืน
แล้วต่อจากนั้นก็เหมือนกัน และตอนท้ายก็ว่า
นกยูงนั้น ได้กระทำปริตรอันนี้แล้ว จึงสำเร็จความอยู่แล
สำหรับโมรปริตนี้ทางวัดนี้มิได้สวด คงสวดแต่ขันธปริตรว่า วิรูปกฺเขหิ เม เมตฺตํ เป็นต้น

http://www.watpanonvivek.com/index.php/section-table/2012-07-14-12-23-28/2695-2010-09-21-12-14-16

. . . . . . .