อายตนะภายในภายนอก สังโยชน์ เกิดดับ ››››สมเด็จพระญาณสังวร

อายตนะภายในภายนอก สังโยชน์ เกิดดับ

››››สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนให้ตั้งสติพิจารณาขันธ์ ๕ จากนั้นก็ตรัสสอนให้พิจารณาอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ซึ่งประจวบกัน การพิจารณาอายตนะนี้เป็นวิธีตั้งสติอย่างดียิ่ง และเป็นการตั้งสติจับปัจจุบันธรรม ธรรมะที่เป็นปัจจุบัน อันมีอยู่เป็นไปอยู่ที่ตนเอง

และอายตนะนี้ย่อมเป็นที่ตั้งต้นของขันธ์ ซึ่งเป็นปัจจุบันธรรม และเป็นที่อาศัยเกิดแห่งอกุศลธรรม และกุศลธรรมทั้งหลาย อีกด้วย เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่.อาศัยอายตนะ ตลอดจนถึงกุศลธรรม หรืออกุศลธรรมทั้งหลาย ที่อาศัยอายตนะบังเกิดขึ้นด้วย

อันอายตนะนั้นท่านแปลว่าที่ต่อ แบ่งเป็นอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ คู่กัน อายตนะภายในก็คือว่า จักขุหรือจักษุตา โสตะ หู ฆานะ จมูก ชิวหา ลิ้น กายะ ก็คือกาย และมโนหรือมนะ ก็คือใจ ส่วนภายนอกก็ได้แก่รูป ซึ่งเราก็ใช้เรียกว่ารูป สัทธะ คือเสียง คันธะ คือกลิ่น รสะ คือรส โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่ถูกต้อง และธรรมะในที่นี้คือเรื่องราว ตากับรูปนั้นก็คู่กันต่อกัน หูกับเสียงนั้นก็คู่กันต่อกัน จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง และมโนหรือมนะ คือใจกับธรรมะคือเรื่องราว ก็คู่กันต่อกัน เพราะเหตุที่ทั้ง ๒ ที่เป็นคู่กันต่างต่อกัน จึงเรียกว่าอายตนะ

สังโยชน์คือความผูก

และในข้อที่ว่าด้วยอายตนะนี้ พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนให้พิจารณา รวมความเข้าว่า ให้ตั้งสติกำหนดให้รู้จักตา ให้รู้จักรูป และให้รู้จักว่าตาและรูป อาศัยตาและรูปสังโยชน์คือความผูกแห่งใจย่อมเกิดขึ้น อาศัยหูกับเสียง อาศัยจมูกกับกลิ่น อาศัยลิ้นกับรส อาศัยกายและโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง อาศัยมโนคือใจและธรรมะคือเรื่องราว สังโยชน์คือความผูกแห่งใจก็เกิดขึ้น สังโยชน์จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ก็ให้รู้ประการนั้น สัญโญน์จะละเสียได้ด้วยประการใด ก็ให้รู้ประการนั้น สังโยชน์ที่ละแล้วจะไม่เกิดขึ้นได้ด้วยประการใด ก็ให้รู้ประการนั้น ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดให้รู้ดั่งนี้

ในทางปฏิบัตินั้น ก็ให้ตั้งสติอยู่ที่จิตนี้เอง อีกโวหารหนึ่งให้ตั้งสติรักษาอยู่ที่ทวารทั้ง ๖ ทวารก็แปลว่าประตู ทวารทั้ง ๖ ในที่นี้ก็หมายถึงจักขุทวารประตูตา อันเป็นที่เข้ามาของอารมณ์คือรูป โสตะ ทวารประตูหูอันเป็นที่เข้ามาของเสียง ของอารมณ์คือเสียง ฆานะ ทวารประตูจมูกอันเป็นที่เข้ามาของอารมณ์คือกลิ่น

ชิวหาทวารประตูลิ้นอันเป็นที่เข้ามาของอารมณ์คือรส กายทวารประตูกายอันเป็นที่เข้ามาของอารมณ์คือโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง มโนทวารประตูใจอันเป็นที่เข้ามาของอารมณ์คือธรรมะอันได้แก่เรื่องราว ให้มีสติเหมือนอย่างนายทวารบาญคือคนรักษาประตูบ้านประตูเมืองเป็นต้น และเมื่อกล่าวโดยตรงแล้วก็คือมีสติรักษาอยู่ที่จิตนี้เอง และเมื่อมีสติรักษาอยู่ที่จิตก็เป็นอันว่ามีสติรักษาอยู่ที่ทวารทั้ง ๖ นั้นด้วย ทวารทั้ง ๖ อันเป็นที่เข้ามาของอารมณ์ทั้ง ๖ นั้น ก็คือเข้ามาสู่จิต หรืออีกโวหารหนึ่งก็คือว่าจิตออกรับอารมณ์ทั้ง ๖ ทางทวารทั้ง ๖ นั้น

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติก็ให้หัดตั้งสติกำหนดอยู่ทุกขณะ ที่ตากับรูปประจวบกัน หูกับเสียงประจวบกัน เป็นต้น ตลอดจนถึงมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวประจวบกัน พูดง่ายๆ ก็คือว่ามีสติกำหนดอยู่ทุกขณะที่เห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้ทราบอะไร ได้คิดได้รู้อะไร โดยกำหนดจำแนกให้รู้จักว่าที่เห็นนั้นก็คือตากับรูป ที่ได้ยินนั้นก็คือเสียงกับหู ที่ได้ทราบนั้นก็คือกลิ่นกับจมูก ลิ้นกับรส สิ่งถูกต้องกับกาย และเรื่องราวกับใจ กำหนดจำแนกให้รู้จักดั่งนี้

และเมื่อเกิดสังโยชน์คือความผูกแห่งจิต อันหมายความว่าเกิดความยินดีขึ้นในรูปในเสียงนั้นก็ดี เกิดความยินร้ายไม่ชอบใจในรูปเสียงเป็นต้นนั้นก็ดี หรือว่าเกิดความหลงใหลในรูปเสียงเป็นต้นนั้นก็ดี ก็ให้รู้จักว่านี้คือสังโยชน์คือความผูก อันหมายความว่าจิตนี้ผูกพัน หรือว่ารูปเสียงเป็นต้นนั้นยังผูกพันอยู่ในจิต จึงปรากฏเป็นยินดีชอบใจ หรือยินร้ายไม่ชอบใจ หรือว่าหลงใหลสยบติดอยู่ ในรูปเสียงเป็นต้นเหล่านั้น ก็กำหนดดูให้รู้จักว่านี่เป็นตัวสังโยชน์คือความผูก เพราะจิตมีสังโยชน์คือความผูกพันอยู่นี้เอง จึงยินดีชอบใจ หรือยินร้ายไม่ชอบใจ หรือว่าหลงใหลสยบติดในรูปเสียงเป็นต้น ที่เห็นที่ได้ยินเป็นต้นทั้งหมดนั้น

กำหนดดูให้รู้จักดั่งนี้ว่านี่คือตัวสังโยชน์คือความผูก จิตผูกแล้ว สิ่งนั้นๆ ผูกพันอยู่ในจิตแล้ว หรือว่าจิตผูกพันอยู่ในสิ่งนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นก็ตั้งสติกำหนดให้รู้จักดั่งนี้

ความไม่รู้เกิดดับ

และก็กำหนดให้รู้จักต่อไปว่าที่ผูกพันนั้นเพราะอะไร ก็เพราะว่าไม่รู้ตามเป็นจริง ไม่รู้ตามเป็นจริงว่าอย่างไร ไม่รู้ตามเป็นจริงว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดดับไปแล้วคือผ่านไปแล้ว ที่ว่าผ่านไปแล้วนั้นคือว่าประสบแล้วก็ผ่าน ประสบก็เป็นเกิดผ่านก็เป็นดับ เหมือนอย่างเมื่อตากับรูปประจวบกัน คือเห็นอะไร ขณะที่ประสบกันนั้นก็เป็นเกิด แล้วก็ผ่าน เพราะว่าการเห็นนั้นเกิดขึ้นและก็ดับผ่านไปทันที จึงได้ประจวบกันเข้าใหม่ ก็เป็นการเห็นใหม่ การเห็นใหม่นั้นก็เกิดดับ จึงมีการเห็นใหม่ต่อไปอีก เพราะว่าอันสิ่งที่เห็นนั้นอยู่ภายนอก รูปที่เห็นก็อยู่ภายนอก ที่เป็นรูปจริงๆ ตาที่เห็นที่เป็นตาเนื้อถึงจะอยู่ในตัวเอง แต่ก็ชื่อว่าภายนอกอีกเหมือนกัน เพราะว่าการเห็นนั้นเห็นที่ตาเนื้อ

คราวนี้ส่วนที่เข้าไปตั้งในจิตนั้น รูปที่เห็นไม่ได้เข้าไปตั้งในจิต สิ่งที่เข้าไปตั้งในจิตนั้นก็คือว่าอารมณ์คือเรื่อง เรื่องของรูปนั้นเข้าไปตั้งอยู่ในจิต ซึ่งอารมณ์คือเรื่องนั้นไม่มีตัวไม่มีตนอะไร เป็นเรื่อง ส่วนที่เป็นรูปร่างที่เรียกว่าตัวตนนั้นตั้งอยู่ในภายนอก เห็นใคร คนที่เห็นนั้นเขาก็ยืนอยู่ข้างนอก ต้นไม้ที่เห็นนั้นก็อยู่ข้างนอก บ้านเรือนที่เห็นนั้นก็อยู่ข้างนอกทุกอย่าง ส่วนที่เข้าไปตั้งอยู่ในใจนั้นเป็นอารมณ์คือเรื่องเท่านั้น แล้วก็เป็นเรื่องของสิ่งที่เห็นไปแล้ว เพราะสิ่งที่เห็นทุกๆ คราวที่เห็นนั้น ก็ผ่านไป ผ่านไป ผ่านไป ดังที่ปรากฏแก่ทุกๆ คน ตากับรูปที่มาประจวบกันชั่วนาทีหนึ่ง ก็ไม่รู้ว่ากี่สิบกี่ร้อยรูป กี่สิบกี่ร้อยครั้ง แต่คราวนี้อารมณ์คือเรื่องของรูปที่เห็นนั้นตั้งอยู่ในจิตผูกพันอยู่ในจิต เป็นตัวสังโยชน์อยู่ในจิต จึงเหมือนอย่างว่า เป็นบุคคล เป็นต้นไม้ เป็นบ้านเป็นเรือน เป็นทุกๆ อย่างเข้าตั้งอยู่ในจิต เหมือนอย่างมีตัวมีตน

สังโยชน์เกิดเพราะไม่รู้ตามเป็นจริง

ความที่ปรากฏดั่งนี้ ก็ปรากฏเป็นเรื่องของขันธ์ เป็นตัวสัญญาคือความจำหมาย ซึ่งเป็นไปตามธรรมดาของขันธ์นั้นอย่างหนึ่ง และเป็นสังโยชน์คือความผูกพันอีกอย่างหนึ่ง คือมีความผูกพันอยู่ในอารมณ์ที่ปรากฏนั้น อันปรากฏเป็นความยินดี ความยินร้าย ความหลงใหลดังกล่าวนั้น นั้นเอง ดั่งนี้คือเรียกว่าเป็นสังโยชน์ คือความผูกพัน ชอบก็เพราะผูกพัน ถ้าไม่ผูกพันความชอบก็ไม่เกิดขึ้นตั้งอยู่ โกรธก็เพราะผูกพัน ถ้าไม่โกรธ ถ้าไม่ผูกพันความโกรธก็ไม่เกิดขึ้นตั้งอยู่ หลงใหลสยบติดก็เพราะผูกพัน ถ้าไม่ผูกพันก็ไม่หลงใหลสยบติด

เพราะฉะนั้น เพราะเหตุที่ไม่รู้ตามความเป็นจริง ว่าอันที่จริงนั้นสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่ได้ทราบ สิ่งที่ได้รู้ได้คิด ทุกอย่างเกิดดับไปแล้ว ไม่มีตัวตนอะไรตั้งอยู่ สิ่งที่ยังตั้งอยู่นั้นก็คือตัวสังโยชน์คือความผูกพัน ซึ่งเป็นตัวความปรุงความแต่งขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่มี ให้มีขึ้น หรือปรุงแต่งเงาที่ไม่มีตัวตนให้เป็นตัวตนขึ้นมา แต่อันที่จริงนั้นทุกอย่างเกิดดับไปแล้วทุกขณะ เพราะไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริงดั่งนี้ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้ เราพิจารณาดูว่าจริงไหมที่ท่านสอนไว้ ก็จะต้องรับว่าจริง เพราะไม่มีตัวตนอะไรตั้งอยู่จริงๆ เป็นความผูกพัน เป็นความปรุงแต่งของจิตทั้งนั้น สังโยชน์บังเกิดขึ้นก็เพราะไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริงดั่งนี้ และเมื่อรู้เมื่อเห็นตามเป็นจริงสังโยชน์ก็จะละได้ และถ้าหากว่าทำให้รู้เห็นตามเป็นจริงอยู่ได้ตลอดไป สังโยชน์ก็จะไม่เกิดขึ้นอีก

กำหนดทำความรู้เท่าทันไว้เพียงเท่านี้ก่อน และศึกษาปฏิบัติกำหนดให้สัจจะคือความจริงนี้ปรากฏชัดขึ้นทุกที เมื่อชัดขึ้นได้มากเท่าไรก็จะทำให้ละสังโยชน์ได้เท่านั้น และป้องกันสังโยชน์ได้เท่านั้น

การปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์

การที่จะปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงขึ้นได้ดั่งนี้ คือจะละสังโยชน์ได้ ก็จะต้องฝึกหัดตั้งสติ ขั้นต้นตั้งสติให้มีสติกำหนดอยู่ทุกขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้ทราบ ที่ได้คิดได้นึกอะไร แยกให้รู้จักว่านี่เป็นรูป นี่เป็นตา นี่เป็นเสียง นี่เป็นหู เป็นต้น และนี่เป็นสังโยชน์ ที่เป็นสังโยชน์ก็เพราะยังไม่รู้ตามเป็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ว่าไปยึดไปผูกพันในสิ่งที่ไม่มี ไปปรุงแต่งให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมาในจิต

ซึ่งความปรุงแต่งนั้นก็เป็นความปรุงแต่ง เหมือนอย่างว่าวาดภาพลงไปในแผ่นกระดาษ หรือในแผ่นผ้า ให้เป็นภาพคน เป็นภาพต้นไม้ เป็นภาพอะไรต่ออะไรตามต้องการ แล้วก็ ก็ไปยินดียินร้าย ไปหลงใหลอยู่ในภาพที่เขียนขึ้นนั้นว่าเป็นจริง เหมือนอย่างว่านี่เป็นต้นไม้จริง นี่เป็นคนจริง นี่เป็นสิ่งนั้นๆ จริง แต่อันที่จริงนั้นเป็นภาพทั้งนั้นไม่มีตัวจริงอยู่

หรือเหมือนอย่างดูพยับแดดที่ปรากฏเป็นภาพต่างๆ ดูเมฆที่ลอยไปในอากาศนึกว่าเป็นภาพสัตว์เป็นภาพคน เป็นภาพอะไร บางทีก็เห็นเป็นภาพนั้น เป็นภาพนั้น ก็เป็นภาพขึ้นในจิตใจทั้งนั้น ซึ่งอันที่จริงไม่มีอะไรอยู่ ทุกๆ อย่างนั้นเกิดดับไปหมดแล้ว แต่ยังผูกพันอยู่

หมั่นตั้งสติตรวจตราพิจารณาอยู่ดั่งนี้ สัจจะคือความจริงอย่างไรก็จะปรากฏขึ้นมา ก็จะป้องกันสังโยชน์ จะละสังโยชน์คือความผูกได้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ดั่งนี้ จึงเป็นการปฏิบัติหัดตั้งสติ ให้รู้เท่าทันปัจจุบันธรรมในตนเอง อันเป็นทางปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อดับทุกข์ร้อนทั้งหลาย

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดไปเล็กน้อย
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

http://www.watpanonvivek.com/index.php/section-table/2012-07-14-12-23-28/2977-2011-03-12-08-25-31

. . . . . . .