อรรถอันแท้จริงของคำว่าธรรมะ สมเด็จพระญาณสังวร

อรรถอันแท้จริงของคำว่าธรรมะ
สมเด็จพระญาณสังวร

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระ

ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจ

สำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ธรรมะหรือธรรมนั้นคือสัจจะคือความจริง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ทรงแสดงสั่งสอน แต่ธรรมะที่ทรงสั่งสอน

นั้นได้ทรงสั่งสอนเฉพาะที่ผู้ฟังซึ่งเป็นเนยยะ คือผู้ที่พึงทรงแนะนำได้ จะพึงรู้พึงเห็นได้ และมีเหตุที่ผู้ฟังอาจตรอง

ตามให้เห็นจริงได้ และอาจที่จะทำให้ผู้ฟังซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติบรรลุถึงผลได้จริงตามควรที่ปฏิบัติ อันเรียกว่ามีปาฏิหาริย์

คือทรงสั่งสอนได้จริง และปฏิบัติได้ผลจริง

ปาฏิหาริย์ในพุทธศาสนา

ฉะนั้น จึงพึงเข้าใจคำว่า ปาฏิหาริย์ ในพุทธศาสนา ว่าหมายถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนให้รู้ได้ให้เห็นได้

และปฏิบัติให้ได้รับผลสมจริงได้ คือได้รับผลที่เป็นประโยชน์เป็นสุข เป็นปัจจุบันบ้าง เป็นภายหน้าบ้าง เป็นผลอย่างยิ่งให้พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงบ้าง ลักษณะที่ตรัสสอนได้ดั่งนี้เรียกว่าเป็นปาฏิหาริย์ คือได้ผลสมจริงเป็นเหตุกำจัดข้าศึกคือกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงได้จริง

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะ

อันคำว่าธรรมหรือธรรมะนั้นแปลว่า ทรงไว้ คือทรงตนเอง หรือว่าทรงภาวะของตนไว้ได้ มีความหมายเป็นอธิบายที่พระอาจารย์ได้แสดงเพิ่มเติมไว้อีก ก็คือหมายถึงสภาพที่เป็นจริง ดังเช่นที่ได้มีตรัสแสดงไว้ว่า ธรรมะเป็นกุศลคือส่วนดี ธรรมะเป็นอกุศลคือส่วนชั่ว และธรรมะเป็นอัพยากฤตคือเป็นกลางๆ ไม่ว่าดี ไม่ว่าชั่ว ดั่งนี้ ก็หมายถึงสภาพคือมีความทรงอยู่ของตน ความดำรงอยู่ของตน ความมีความเป็นของตน ตามเป็นจริง และก็ใช้ในความหมายถึงลักษณะดังที่กล่าวมานี้ ในความหมายต่างๆ อีกเป็นอันมาก
ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างก็เรียกว่าธรรมะได้ทั้งนั้น ดังที่เรียกว่า รูปธรรม อรูปธรรม ธรรมะที่มีรูป ธรรมะที่ไม่มีรูป ทุกๆ สิ่งที่มีรูปร่าง และทุกๆ สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง บรรดาที่มีอยู่เป็นไปอยู่ในโลกทั้งหมด และบรรดาที่ปรากฏอยู่ในจิตใจทั้งหมด ก็เรียกว่าธรรม หรือธรรมะได้ทั้งนั้น เพราะทุกๆ สิ่งนั้นก็ทรงอยู่ หรือดำรงอยู่ ตามปัจจัยคือเหตุผลของตนๆ เร็วบ้างช้าบ้าง เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าธรรม หรือธรรมะได้ด้วยกันทั้งหมด

แต่เมื่อจะกล่าวรวมเข้ามาถึงความหมายอันสำคัญในพุทธศาสนา ซึ่งเรียกกันว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ก็ว่าตรัสรู้ธรรม หรือธรรมะ

ก็หมายถึงสัจจะที่เป็นของจริงของแท้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้สัจจะ หรือจะเรียกว่าสัจจะธรรมควบกันก็ได้ คือธรรมะ หรือสภาพ สภาวะที่เป็นของจริงของแท้ เพราะฉะนั้น ธรรมะจึงหมายถึงสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นสัจจะ คือของจริงของแท้

สัจจะธรรม ศาสนธรรมะ

และเมื่อกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ทรงสั่งสอนอะไร ก็กล่าวว่าทรงสั่งสอนธรรมะ อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ธรรมะที่ทรงสั่งสอนนี้จึงหมายถึงศาสนา คือคำสอน ก็เรียกว่าศาสนธรรม ธรรมะคือคำสอน หรือธรรมะคือคำสั่งสอน เพราะฉะนั้น เมื่อย่อเข้ามาแล้ว จึงย่อธรรมะได้เป็น ๒ คือ สัจจธรรม ธรรมะคือสัจจะที่เป็นของจริงของแท้ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และ ศาสนธรรม ธรรมะคือคำสอน หรือคำสั่งสอนของพระองค์ อันเรียกว่าศาสนา หรือพุทธศาสนา
อรรถะอันแท้จริงของคำว่าธรรมะ ก็คือของจริงของแท้ ซึ่งธรรมดาว่าของจริงของแท้นั้น ก็จะต้องมีความทรงตัวเอง หรือทรงภาวะของตน อยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าหากว่าเปลี่ยนแปลงไปได้ ก็ต้องไม่จริงไม่แท้ เหมือนดังวัตถุ ถ้าหากว่าเป็นของจริง เช่นเป็นทองจริงเนื้อบริสุทธิ์ ก็ต้องเป็นของจริง แต่หากว่าถ้าเป็นสิ่งที่มีเนื้อปลอม หรือว่าฉาบทาทองไว้ภายนอก ก็เรียกว่าเป็นของเทียม ไม่ใช่เป็นของจริง ไม่ใช่เป็นของแท้

ฉะนั้น แม้ที่เป็นวัตถุที่เป็นของจริงของแท้ เช่นทองจริงดังกล่าว ก็ต้องเป็นของจริงของแท้ เป็นทองจริงทองแท้ มีความทรงตัว ดำรงตัว คงตัวอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นของเทียมก็ตรงกันข้าม

เพราะฉะนั้น อรรถะคือความของคำว่าธรรมะ จึงหมายถึงของจริงของแท้ดังที่กล่าวมา และเมื่อจริงแท้อย่างไร ก็ย่อมคงตัวหรือทรงตัวอยู่อย่างนั้น

กุสลาธรรมา อกุสลาธรรมา อัพยากตาธรรมา

ฉะนั้น เมื่อกล่าวเป็นกลางๆ แล้วจึงคลุมไปได้ทั้งหมด ดังที่กล่าวมาข้างต้น กุสลาธรรมา ธรรมะที่เป็นกุศล คือส่วนดี ซึ่งเป็นส่วนดีจริงก็เป็นธรรม คือเป็นส่วนที่ดีจริง อกุสลาธรรมา ธรรมะที่เป็นอกุศล คือส่วนชั่ว ส่วนชั่วก็เป็นธรรมเหมือนกัน คือว่าคงเป็นส่วนชั่ว คงตัวเป็นส่วนชั่ว อัพยากตาธรรมา ธรรมะที่เป็นอัพยากฤต คือไม่ว่าดี ไม่ว่าชั่ว เป็นกลางๆ ก็คงตัวเป็นกลางๆ อยู่ตามสภาพ คือตามภาวะของตน เพราะฉะนั้น เมื่อว่าเป็นกลางๆ ดั่งนี้จึงคลุมไปได้ทั้งฝ่ายดี ทั้งฝ่ายชั่ว ทั้งฝ่ายกลางๆ
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คำสั่งสอนของพระองค์เรียกว่าศาสนา ก็เป็นธรรมะ เพราะว่าทรงสั่งสอนตามสัจจะคือความจริง ดีก็ตรัสว่าดี ชั่วก็ตรัสว่าชั่ว เป็นกลางๆ ก็ตรัสว่าเป็นกลางๆ เพราะฉะนั้น คำสั่งสอนของพระองค์ที่เป็นถ้อยคำออกมาจึงได้เรียกว่าธรรมะด้วย คือเรียกว่าศาสนธรรม หรือพุทธศาสนา และคำว่าศาสนานั้นแปลกันว่าคำสั่งสอน คำสั่งนั้นก็หมายถึงวินัย คือพระพุทธบัญญัติที่ตรัส ห้ามไม่ให้กระทำบ้าง อนุญาตให้กระทำบ้าง คำสอนก็คือพระธรรม อันเป็นคำสอนสำหรับที่จะขัดเกลาอัธยาศัยจิตใจ พร้อมทั้งความประพฤติ ให้ละความชั่ว กระทำความดี ให้ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส ต่างๆ

เดิมนั้นก็มีแต่คำสอนดังเช่นพระพุทธเจ้าได้ทรงสอน ตั้งแต่ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดพระเบ็ญจวัคคีย์เป็นต้นมา ยังมิได้ทรงบัญญัติพระวินัย คำว่าศาสนาก็แปลว่าคำสอนอย่างเดียว

แต่ในภายหลังเมื่อพุทธบริษัทมีมากขึ้น โดยเฉพาะภิกษุบริษัทมีมากขึ้น ก็มีผู้ประพฤติไม่สมควร จึงได้ทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อห้ามกันความประพฤติที่ไม่สมควรต่างๆ เพื่อให้ประพฤติอยู่ในข้อวัตรที่สมควรต่างๆ เพื่อให้หมู่เป็นหมู่ที่เป็นระเบียบเรียบร้อยดีงาม และปรับเป็นอาบัติแก่ผู้ละเมิด

เพราะฉะนั้น พระวินัยนี้จึงเรียกกันในภาษาไทยว่าคำสั่ง เมื่อมีพระวินัยขึ้นแล้วก็แปลคำว่าศาสนาว่าคำสั่งสอน โดยที่ให้มีความหมายคลุมถึงธรรมะที่ทรงแสดงสอน และวินัยที่ทรงบัญญัติศัพท์เป็นคำสั่ง นี้ก็เป็นศาสนธรรม ธรรมะคือคำสั่งสอน ก็รวมคำว่าธรรมะโดยย่อเข้าเป็น ๒ ดังที่กล่าวมานี้ คือสัจจะธรรม กับศาสนธรรม

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

อีกอย่างหนึ่ง รวมเข้าได้เป็น ๓ คือปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม และปฏิเวธธรรม ปริยัติธรรม ธรรมะที่พึงเล่าเรียน อันได้แก่ที่พึงตั้งใจสดับตรับฟัง ตั้งใจอ่าน ตั้งใจท่องบ่นจำทรง ตั้งใจพิจารณาขบเจาะด้วยทิฏฐิ คือทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ก็หมายถึงศาสนธรรม ธรรมะคือคำสั่งสอนนั้นเอง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนด้วยพระโอษฐ์ก็ตั้งใจสดับตรับฟัง ด้วยเงี่ยหูตั้งใจฟัง และต่อมาในปัจจุบันเมื่อมีหนังสือ ก็ตั้งใจอ่าน เมื่อฟังหรืออ่านก็ตั้งใจท่องบ่นจำทรง และก็ตั้งใจพิจารณาขบเจาะด้วยทิฏฐิคือทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ในพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้
เพราะฉะนั้นศาสนาธรรมคือพระธรรมวินัยที่ทรงสั่งสอน จึงเรียกว่าเป็นปริยัติธรรม ธรรมะที่เป็นปริยัติ คือที่พึงเล่าเรียน และเมื่อตั้งใจสดับตรับฟังแล้วก็นำมาประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา ทางใจ ให้เป็นธรรมเป็นวินัยขึ้นมาที่กายที่วาจาที่ใจ จึงเป็นปฏิบัติธรรม ตั้งขึ้นที่กายที่วาจาที่ใจ

ในขั้นนี้ก็พึงทำความเข้าใจว่าปริยัติธรรมนั้นตั้งอยู่ในความจำ ในความเข้าใจ ถ้าหากว่ายังเป็นพระธรรมที่เป็นตัวอักษรอยู่ในเล่มหนังสือ เช่นหนังสือพระธรรมที่วางอยู่ในตู้ จะเป็นพระไตรปิฎกก็ตาม เป็นตำราธรรมะต่างๆ ก็ตาม หรือวางอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง นั่นก็เป็นหนังสือพระธรรม ยังไม่เป็นปริยัติธรรมขึ้นที่ตนเอง จะเป็นปริยัติธรรมขึ้นที่ตนเองนั้น ก็จะต้องตั้งใจสดับตรับฟังอาจารย์สั่งสอน ตั้งใจอ่าน ตั้งใจท่องบ่นจำทรง ให้จำได้ ตั้งใจพิจารณาขบเจาะด้วยทิฏฐิความเห็น ก็คือทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ให้พระธรรมวินัยหรือพุทธศาสนาดังกล่าว มาตั้งอยู่ในความจำ หรือจะเรียกว่าตั้งอยู่ในสมองของตนก็ได้ และตั้งอยู่ในความเข้าใจ นี่จึงจะเป็นปริยัติธรรม

แต่ว่าเพียงจำได้และเข้าใจ ยังไม่เป็นปฏิบัติธรรม จะต้องนำมาปฏิบัติทางกายทางวาจาทางใจ ให้เป็นธรรมวินัยขึ้นที่กายที่วาจาที่ใจ หรือว่าให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นที่กายที่วาจาที่ใจ ให้กายวาจาใจเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ดั่งนี้จึงจะเป็นปฏิบัติธรรม เป็นอันว่าได้มีปฏิบัติธรรมตั้งขึ้นที่กายที่วาจาที่ใจ

และเมื่อปฏิบัติก็ย่อมจะได้รับผลของความปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้น เป็นการที่ยกตนให้พ้นจากโลกที่เป็นฝ่ายชั่ว หรือว่าให้พ้นจากความชั่ว ขึ้นมาสู่ความดีโดยลำดับ จนถึงบรรลุถึงโลกที่สูงขึ้นๆ คือเป็นส่วนที่ดีขึ้นๆ จนถึงพ้นโลก อันหมายถึงว่าพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ เพราะว่าโลกนั้นแม้จะเป็นโลกส่วนละเอียดส่วนสูง ก็ยังมีกิเลสมีกองทุกข์ และยังเป็นประโยชน์ปัจจุบันบ้าง ประโยชน์ภายหน้าบ้าง ต่อเมื่อได้ยกตนให้สูงขึ้นๆ จนพ้นกิเลสพ้นกองทุกข์ได้ ก็เรียกว่าพ้นโลก พ้นโลกในใจของตนเอง

ดั่งนี้ ก็เรียกรวบยอดว่า ปฏิเวธธรรม ธรรมะคือความรู้แจ้งแทงตลอด

อันหมายถึงว่ารู้แจ้งในสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นของจริงของแท้ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ทรงแสดงสั่งสอน และก็เจาะแทงกิเลสที่หุ้มห่อจิตใจอยู่ให้เบาบาง ให้หมดสิ้นไปโดยลำดับ จนถึงหมดสิ้นเชิง ก็รวมอยู่ในผลของการปฏิบัติ ซึ่งเมื่อปฏิบัติก็ย่อมจะได้รับผลทันที ตั้งแต่ขั้นต้นโดยลำดับขึ้นไป จนถึงที่สุดดังกล่าว ก็เรียกรวบยอดว่า ปฏิเวธธรรม ธรรมะคือความรู้แจ้งแทงตลอด รู้แจ้งก็คือรู้แจ้งสัจจะธรรม แทงตลอดก็คือว่ารู้แจ้งนั่นเองตลอด หรือปรุโปร่ง ตลอดจนถึงเจาะแทงกิเลสที่หุ้มห่อจิตอยู่นี้ให้เบาบาง ให้สิ้นไปหมดไป ให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง โดยลำดับขึ้นไป

ธรรมรัตนะ ๑๐ ประการ

เพราะฉะนั้น รวมเข้าก็เป็นปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม ทั้ง ๓ นี้คือธรรมะที่เป็นรัตนะที่ ๒ คือพระธรรมรัตนะ ซึ่งเราทั้งหลายได้สวดกันอยู่ว่า สวากขาโต ภควาตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเองอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูได้ โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้แจ้งพึงรู้เฉพาะตน ดั่งนี้
อนึ่ง พระธรรมในธรรมรัตนะอันเป็นรัตนะที่ ๒ นี้ พระอาจารย์ได้มีแสดงไว้ เจาะจงเอา มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ และปริยัติธรรมอีก ๑ เป็น ๑๐ ประการ สำหรับเพื่อเป็นที่กำหนดให้ชัดขึ้น แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปทั่วไปก็ได้แก่ ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม ดั่งที่กล่าวมานั้น

การปฏิบัติอบรมจิต

ในการปฏิบัติอบรมจิตนี้ก็มีวิธีปฏิบัติอันเรียกว่ากรรมฐาน
แปลว่าที่ตั้งของการงาน ก็คือที่ตั้งของการงานทางจิตใจ ซึ่งจำแนกออกเป็น ๒ คือสมถกรรมฐานที่ตั้งของการงานทางจิตใจคือสมถะ อันได้แก่วิธีที่ทำให้จิตสงบตั้งมั่น วิปัสสนากรรมฐานที่ตั้งของการงานทางจิตใจคือวิปัสสนา คือวิธีปฏิบัติให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง

สำหรับในวัดนี้ได้กำหนดปฏิบัติ ยกเอาสติปัฏฐานคือที่ตั้งของสติ ๔ ประการเป็นหลัก และมีการสวดมหาสติปัฏฐานสูตรเริ่มต้นในเทศกาลเข้าพรรษาเป็นประจำทุกปี เพราะว่าหลักปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้เป็นหลักสำคัญที่นับถือปฏิบัติกันทั่วไป ซึ่งจะได้เริ่มสวด และก็เริ่มปฏิบัติในมหาสติปัฏฐานสูตรตั้งแต่วันนี้

การหัดทำสมาธิ

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจฟัง ทำสมาธิในการฟัง คือว่ามีความสำรวมกายวาจาใจ ความสำรวมนี้เองเป็นตัวศีล กับทั้งเงี่ยหูที่จะฟังคำสวด กับทั้งตั้งใจฟังสวดด้วย เพราะว่าหูกับใจนั้นต้องเป็นไปพร้อมกัน เงี่ยหูที่จะฟัง แล้วก็ตั้งใจที่จะฟัง เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะฟังได้ยิน และเมื่อฟังได้ยิน ก็ตั้งใจพิจารณากำหนดตามไป ก็ย่อมจะได้ความเข้าใจ น้อยบ้างมากบ้าง
แต่ว่าอันความเข้าใจน้อยหรือมากนั้นซึ่งเป็นส่วนปัญญา ถึงจะน้อยหรือมากก็ไม่เป็นไร ข้อสำคัญให้ใจตั้งฟัง ให้ได้ยินให้ทุกคำ และกำหนดไปทุกคำ อาการที่กำหนดนี่แหละคือสติ และใจที่ตั้งฟังนี่แหละคือสมาธิ เมื่อมีสติมีสมาธิอยู่ในคำสวดได้ยินทุกคำ กำหนดได้ทุกคำดั่งนี้ ก็เป็นการหัดทำสติ หัดทำสมาธิ ความเข้าใจนั้นก็จะต้องได้ น้อยหรือมาก ความเข้าใจนั่นแหละเป็นตัวปัญญา ซึ่งได้ไปพร้อมกัน และเมื่อสวดจบแล้วก็นั่งกำหนดทำความสงบอยู่ในใจ กำหนดดูกายและใจอันนี้ กายของทุกๆ คน ของตนเองที่กำลังนั่งอยู่นี้

เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ นั่งอยู่ในอิริยาบถนี้ และเมื่อได้เห็นกายของตนด้วยใจนั่งอยู่ในอิริยาบถนี้ ก็ให้กำหนดอิริยาบถของใจไปด้วย ว่าใจคิดอะไร ใจจะคิดทบทวนถึงข้อที่ได้ฟังสวดมาก็ได้ หรือว่าจะไม่คิดทบทวนอย่างนั้น แต่กำหนดดูกายใจของตัวเอง ก็จะพบว่ากายของทุกๆ คนที่กำลังนั่งอยู่ในอิริยาบถนี้ ก็กำลังนั่งหายใจเข้าหายใจออกอยู่ ก็กำหนดดูลมหายใจที่เข้าที่ออก หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ รวมใจให้ตั้งกำหนดอยู่เพียงเท่านี้ ก็เป็นการหัดทำสมาธิ

สมาธิคือเอกัคคตา

เพราะสมาธินั้นได้แก่ เอกัคคตา คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว กำหนดอยู่เรื่องเดียวไม่ไปข้างไหน เมื่อกำหนดให้ใจรวมอยู่ในที่เดียวได้ เช่นอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก จะกำหนดว่าหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ ช่วย หรือหายใจเข้า ธัม หายใจออกโม ธัมโมช่วย หรือหายใจเข้า สัง หายใจออก โฆ สังโฆช่วย ไปด้วยดั่งนี้ก็ได้ หัดรวมใจให้อยู่ที่เดียว ให้มีอารมณ์เป็นอันเดียวดั่งนี้ ให้ตลอดเวลากำหนด ดั่งนี้ก็เป็นอันได้หัดปฏิบัติทำจิตตภาวนา คืออบรมจิต
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดดังที่กล่าว และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

ข้อความสมบูรณ์ ดีเยี่ยม กัณฑ์เริ่มต้นในพรรษากาล

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

http://www.watpanonvivek.com/index.php/section-table/2012-07-14-12-23-28/3008-2011-04-10-10-04-34

. . . . . . .