คำสอนพื้นฐานคือเรื่องกรรม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

คำสอนพื้นฐานคือเรื่องกรรม

“…ว่าถึงเรื่องกรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นั้น ก็มีอยู่หลายแห่งหลายพระสูตร

…ทรงแสดงไว้ว่า เจตนา คือ ความจงใจ เป็นตัว กรรม เพราะบุคคลมีเจตนา

คือความจงใจแล้ว จึงทำกรรมทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ดั่งนี้

กรรมที่ทำทางกาย ทางวาจา ทางใจนี้ ก็เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

เป็นสิ่งที่กระทำ สิ่งที่กระทำทางกายก็เป็นกายกรรม สิ่งที่กระทำทางวาจาก็เป็น

วจีกรรม สิ่งที่กระทำทางใจก็เป็นมโนกรรม เพราะฉะนั้น กรรมจึงหมายถึงสิ่งที่กระทำ

แต่บางทีเราก็แปลกันง่ายๆ ว่าการกระทำ ก็ต้องเข้าใจว่าคำว่าการกระทำในที่นี้

ที่เป็นตัวกรรมนั้น ก็หมายถึงสิ่งที่กระทำดังกล่าว และเมื่อได้ทราบว่า

สิ่งที่กระทำดั่งนี้แล้ว ก็ควรจะทราบอีกคำหนึ่งว่า กิริยา

คำว่า กิริยา นั้นแปลว่าการกระทำ หมายถึงกิริยาที่ทำ กิริยาคือ

การกระทำก็หมายถึงกิริยาที่กระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ที่เป็นกิริยาของกาย

ของวาจา ของใจในการกระทำนั้นๆ ดั่งนี้เรียกว่า กิริยา ส่วนสิ่งที่ทำนั้นเรียกว่ากรรม

และคำว่าสิ่งที่ทำจะใช้อีกคำหนึ่งว่า การงานที่ทำ หรือการที่ทำก็ได้ สิ่งที่ทำ

การงานที่ทำ หรือการที่ทำก็มุ่งถึงกรรมอย่างเดียวกัน ก็สุดแต่ว่าจะใช้คำใด

และก็จะต้องมีคำว่ากิริยาคือการกระทำ คือกิริยาที่ทำในกรรมทุกอย่าง

เมื่อมีกิริยาคือการกระทำในกรรมทุกอย่าง จึงจะเป็นกรรมขึ้นมา

ในข้อนี้ก็จะต้องยกตัวอย่างเทียบกรรมที่เป็นภายนอกก่อน ดังเช่นการสร้าง

บ้านขึ้นหลังหนึ่งก็เป็นกรรม คือเป็นการงานที่ทำ เป็นสิ่งที่ทำ เป็นการที่ทำ

และโดยปรกติก็ใช้กายสร้าง เพราะฉะนั้นในการสร้างบ้านนั้น ก็นับเป็นเรื่อง

ของกายกรรม กรรมทางกาย บ้านที่สร้างขึ้นมาโดยลำดับตั้งแต่ต้นก็เป็นการ

งานที่ทำ เป็นสิ่งที่ทำ ก็ปรากฏเป็นบ้านขึ้นมาทุกวัน และก็ต้องมีกิริยาคือการ

กระทำ คือการใช้ร่างกายขุดหลุมขุดดิน ฝังเสาเข็มเป็นต้น กิริยาที่ทำนี้ก็ตั้งต้น

ทำกันตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นก็เลิก กิริยาที่ทำนี้ก็เป็นอันว่าทำแล้วก็หยุดไปวันหนึ่งๆ

แต่กรรมคือการงานที่กระทำ คือบ้านที่สร้างนั้นก็ปรากฏเป็นบ้านขึ้นมาทุกวันจนเสร็จ

บ้านที่สำเร็จขึ้นมานี้คือตัวกรรม กรรมที่ยังมีอยู่คือบ้านสำเร็จขึ้นมา เป็นกรรมของ

มนุษย์ที่ยังมีอยู่ แต่กิริยาที่ทำหมดไป เลิกไปวันหนึ่งๆ ไม่มีเหลือ เพราะฉะนั้น

กรรมยังเหลือ แต่กิริยาไม่เหลือ…”

“…มักจะแปลคำว่า กรรม ว่าการกระทำ ถ้าแปลดั่งนี้ ดูไปก็คล้ายๆ กับคำแปล

ของคำว่ากิริยา ที่แปลว่าการกระทำ จึงคล้ายกับว่าทำไปแล้วก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่

แต่ถ้าแปลกรรมว่าการงานที่ทำ หรือสิ่งที่กระทำ หรือว่าการที่กระทำ ถ้าแปล

อย่างนี้แล้วก็จะเป็นการแปลถูกต้องตามศัพท์ตามความหมาย แล้วก็จะทำ

ให้รู้สึกว่ามีสิ่งที่เหลืออยู่ ดังเช่นการสร้างบ้าน…”

“…แม้ กรรมที่เป็นการกระทำทางจิตใจ ก็เป็นสิ่งที่เหลืออยู่ เพิ่มพูนขึ้นได้

เช่นเดียวกับกรรมที่เป็นวัตถุนั้น ให้ทำความเข้าใจให้เป็นพื้นฐานไว้ดั่งนี้ก่อนว่า

กรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่เหลืออยู่ และบุคคลก็ได้สิ่งที่กระทำนั้นๆ แม้จะมองไม่เห็น

เช่นกรรมคือการศึกษาเล่าเรียน…ได้อยู่ทุกวันที่เล่าเรียนศึกษาแล้วก็เพิ่มเติมขึ้น

อยู่เสมอทั้งที่มองไม่เห็น แม้ความประพฤติที่ประพฤติปฏิบัติออก ทางกายเป็น

กายกรรม ทางวาจาเป็นวจีกรรม ทางใจเป็นมโนกรรม ทั้งที่เป็นกุศลคือส่วนดี

และที่เป็นอกุศลคือส่วนชั่ว…”

“…คติทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้เป็นหลักคือ แม้กรรมคือ

การงานที่กระทำ การที่กระทำ หรือสิ่งที่บุคคลกระทำทางกาย ทางวาจา

ทางใจ ที่เป็นส่วนกุศลและอกุศลดังกล่าว เมื่อทำไปแล้วก็เป็นสิ่งที่เหลือ

อยู่ตั้งอยู่ …และก็มากขึ้นอยู่เสมอในเมื่อทำเพิ่มเติมตลอดเวลา…กรรมที่

บุคคลกระทำไว้ทั้งที่เป็นส่วนกุศล ทั้งที่เป็นส่วนอกุศลนั้นเป็นของตน

…บุคคลผู้ละโลกนี้ไปก็ถือเอาบุญและบาปที่กระทำทั้งสองอย่างไปด้วย

…คติทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้อย่างนี้…”

“…และที่ว่ากรรมดีกรรมชั่วให้ผลดีผลชั่วนั้นจะมีข้ออุปมาเปรียบเทียบได้อย่างไร

…ทำไมกรรมดีจึงให้ผลดี กรรมชั่วจึงให้ผลชั่ว เมื่อบุคคลสามารถทำกรรมแล้ว

จะสามารถเปลี่ยนผลของกรรมบ้างไม่ได้หรือ เปลี่ยนกรรมชั่วให้เป็นผลดีบ้าง

ไม่ได้หรือ ในข้อนี้ก็อาจให้อุปมาคือข้อเปรียบเทียบได้ดังข้อปลูกต้นไม้ คือว่า

บุคคลสามารถที่จะเลือกปลูกต้นไม้ได้ ดังชาวสวนปลูกต้นทุเรียนก็เป็นสวน

ทุเรียน ปลูกต้นมะม่วงก็เป็นสวนมะม่วง ปลูกลำไยก็เป็นสวนลำไยขึ้นมา

คนสามารถปลูกได้และก็ต้องทำการปลูกด้วย จึงจะเป็นสวนทุเรียนสวน

มะม่วงสวนลำไย เมื่อปลูกแล้วการให้ผลเป็นเรื่องของต้นไม้เองให้ผล

คือว่าต้นมะม่วงก็ให้ผลเป็นมะม่วง ต้นทุเรียนก็ให้ผลเป็นทุเรียน ต้นลำไยก็

ให้ผลลำไย จะไปบังคับว่าต้นมะม่วงให้ออกผลเป็นลำไย บังคับลำไยให้ออก

ผลเป็นทุเรียน ดั่งนี้ย่อมไม่ได้ เมื่อปลูกต้นไม้ชนิดใดก็ให้ผลชนิดนั้น

ฉันใดก็ดี บุคคลสามารถทำกรรมได้คือสามารถที่จะละอกุศล สามารถ

ที่จะทำกุศลอย่างนั้นกุศลอย่างนี้ได้ แม้ที่เป็นอกุศลก็เหมือนกัน คนก็สามารถ

ทำได้สามารถละได้ และเมื่อทำแล้วกรรมที่ทำก็ให้ผลไปตามประเภทของตน

คนจะไปบังคับกรรมให้แลกเปลี่ยนผลกันไม่ได้ …คราวนี้ก็จะควรจะต้องทำ

ความเข้าใจผลในกระแสที่เป็นปัจจุบันไว้ขั้นหนึ่งก่อนว่า เมื่อทำกรรมชั่วก็เป็น

คนชั่วขึ้นทันที ทำกรรมดีก็เป็นคนดีขึ้นทันที เป็นในปัจจุบันที่กระทำกรรมนั้นๆ

ให้เข้าใจข้อนี้ไว้เป็นพื้นฐาน ไม่ใช่หมายความว่าทำกรรมดีและเป็นคนดีในเมื่อ

ได้รับผลที่ดีตอบแทน ทำกรรมชั่วแล้วจะเป็นคนชั่วในเมื่อได้รับผลที่ชั่วตอบแทน

ต้องเข้าใจว่า เป็นคนชั่วหรือเป็นคนดีขึ้นทันที เมื่อทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว

…เหมือนดังชาวสวนที่ปลูกต้นทุเรียนก็เป็นทุเรียนทันที ปลูกมะม่วงก็เป็นมะม่วง

ทันที ไม่ใช่เป็นทุเรียนเป็นมะม่วงตอนออกผล

คราวนี้ในการปลูกต้นมะม่วงต้นทุเรียนนั้นจะออกผลก็ต้องใช้เวลานานตามกำหนด

สุดแต่ว่าต้นไม้นั้นๆ จะให้ผลเมื่ออายุกี่ปี ตอนที่ต้นมะม่วงต้นทุเรียนให้ผลเมื่อถึง

กำหนดเวลา จึงจะปรากฏให้มองเห็นเป็นผลมะม่วงผลทุเรียน นี้เรียกว่า วิบาก

แปลง่ายๆ ว่า ผล ดังเช่น วิบากกรรม หรือ กรรมวิบาก ผลของกรรม

แต่คำว่า ‘วิบาก’ นั้น หมายถึง ‘ผลที่สุกงอมที่จะหล่นจากขั้วได้’

เหมือนอย่างผลของมะม่วงผลของทุเรียนนั้นที่ปรากฏเป็นผลออกมา

เมื่อยังไม่สุกงอมที่จะนำมาบริโภคได้ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นวิบาก ต่อเมื่อสุกงอม

ถึงขนาดที่จะหล่นจากขั้วได้ แม้คนไม่ปลดไม่สอยผลมะม่วงผลทุเรียนนั้นก็

จะหล่นลงมาเอง เพราะเป็นผลที่สุกงอม ตอนนี้เรียกว่าวิบากซึ่งจะนำมาบริโภคได้

วิบากกรรมก็เป็นเช่นนั้น กรรมที่กระทำไว้วันหนึ่งๆ นั้น เมื่อถึงกำหนดที่จะให้ผลคือ

สุกงอม จึงจะปรากฏเป็นผลที่ทำให้บุคคลได้รับผล ที่ปรากฏเป็นความสุขบ้าง

เป็นความทุกข์บ้าง เป็นสมบัติบ้าง เป็นวิบัติต่างๆ บ้าง…”

คัดลอกและตัดตอน จาก หนังสือ “ธรรมดุษฎี”

พระนิพนธ์ของ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

http://www.watpanonvivek.com/index.php/section-table/2012-07-14-12-23-28/3262-2012-09-15-16-49-12

. . . . . . .