พุทธทาสรำลึก (๑)

พุทธทาสรำลึก (๑)

ก่อนกำเนิดสวนโมกข์
(พ.ศ. ๒๔๔๙-๒๔๗๔)

ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย หรือ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๔๙
บุตรชายคนหัวปีของครอบครัว นายเซี้ยง และ นางเคลื่อน พานิช ได้ถือกำเนิดขึ้น
ณ บ้านตลาด พุมเรียง จ.ไชยา (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น จ. สุราษฎร์ธานี) ไม่มีใคร
ในเวลานั้น จะคาดคิดไปถึงว่า เด็กชายที่เรียกชื่อในเวลาต่อมาว่า “เงื่อม” นั้น จะ
เติบโตกลายเป็นมหาเถระผู้สืบแสงเทียนธรรมแห่งพระศาสนา ที่กำลังอ่อนล้า
ให้มีพลังเจิดจ้าขึ้นอีกในยุคสมัยต่อมา ในนามของ “พุทธทาสภิกขุ”

เด็กชายเงื่อม มีน้องอีก ๒ คน คนรองเป็นชาย
ชื่อยี่เกย พานิช ซึ่งเติบใหญ่กลายเป็นคู่คิด ผู้ร่วม
อุดมคติแห่งการจรรโลงพระศาสนา ร่วมกับ
พี่ชายในนาม “ธรรมทาส” และน้องสุดท้อง
เป็นหญิงชื่อ กิมซ้อย พานิช (เหมะกุล) พี่น้อง
ทั้งสามคนใกล้ชิดสนิทสนม และเติบโตมาใน
ครอบครัวที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีวิถี
ชีวิตแบบชุมชนชนบททั่วไป ด.ช. เงื่อม เอง
ได้รับอิทธิพลชื่นชอบการแต่งบทกวีและงาน
ช่างไม้จากบิดา และได้รับการอบรมสั่งสอน
จากมารดาให้เป็นคนที่ทำอะไรจะต้องทำให้ดีที่สุด และประหยัดละเอียดรอบคอบ

เมื่ออายุได้ ๘ ปี พ่อแม่ได้นำไปฝากให้รับการศึกษาเบื้องต้นแบบโบราณ คือ
ไปใช้ชีวิตเป็นเด็กวัดอยู่ ๓ ปี ที่วัดพุมเรียง ที่นี่ ด.ช. เงื่อม ได้เรียนรู้เรื่อง
การแพทย์โบราณ การสวดมนต์ไหว้พระ การอุปัฎฐากพระ งานช่างไม้
ไปจนถึงการเริ่มหัดเรียนเขียนอ่าน ก.ข. ก กา จนเมื่ออายุได้ ๑๑ ปี จึงมา
เรียนชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนโพธิพิทยากร (วัดเหนือหรือวัดโพธาราม)
และต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเดียวกัน จนเมื่อบิดามเปิดร้านค้าอีกร้าน
ใน ต.ตลาด จึงย้ายมาเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสารภีอุทิศ

บันทึกของครูและครูใหญ่ ในสมุดพกชั้นประถมศึกษาของ ด.ช.เงื่อม บอก
กล่าวการเล่าเรียนและอุปนิสัยของ ด.ช.เงื่อม ไว้เมื่อแรกเริ่มว่า “ประพฤติเป็น
คนอยู่ปรกติไม่ค่อยได้ ท่าทางอยู่ข้างองอาจ ในเวลาทำการมักชักเพื่อนคุย
มารยาทพอใช้ ทำการงานสะอาด” และสรุปรวบยอดในปลายปีว่า
“๑. มีความหมั่นดี ทำการงานรวดเร็ว ๒. ไม่เคยประพฤติรังแกเพื่อน
และยังไม่เคยต้องบังคับให้มาเรียน ๓. นิสัยจำอะไรแม่น และชอบทำ
สิ่งที่เป็นจริง ๔. ปัญญาพออย่างธรรมดาคน”

ก่อนที่จะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา บิดาได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน ด้วยโรคลมปัจจุบัน
ในปี ๒๔๖๕ นายเงื่อมหนุ่มน้อยจึงต้องลาออกจากโรงเรียน มาเป็นผู้ดูแลร้านค้า
ในฐานะบุตรชายคนโต แม้กระนั้น ความเป็นผู้ใฝ่การเรียนรู้ ก็ทำให้นายเงื่อมยัง
คงเป็นนักอ่านหนังสือ และรักการถกเถียง
หาความรู้อยู่เนืองนิจ หนังสือต่างๆ โดย
เฉพาะหนังสือธรรมะ ที่ใช้ในการเรียน
นักธรรมตรี โท เอก ก็เสาะหามาอ่านจน
ปรุโปร่ง ร้านไชยาพานิช ของผู้จัดการ
หนุ่มนามเงื่อมผู้นี้ ก็เป็นเวทีอันคึกคักของ
ผู้ชอบการศึกษา ถกเถียง มาตั้งวงถกธรรมะ
กันอย่างได้รสชาติและความรู้ ตัวเจ้าของ
ร้านเอง ก็แสดงความสามารถในการแจกแจง
ข้อธรรมะได้อย่างชัดเจน จนใครต่อใคร
พากันยอมรับนับถือ การศึกษาพระธรรมในเวลาดังกล่าว ก่อให้เกิดความสนุก
สนานทางความคิดแก่พ่อค้าหนุ่มเป็นอย่างมากทีเดียว

บทความ โดย อรศรี งามวิทยาพงศ์ จากหนังสืออนุทินภาพ ๖๐ ปี สวนโมกข์ : พฤษภาคม ๒๕๓๕
ลงตีพิมพ์ใหม่ในหนังสือ พุทธสาสนา ปีที่ ๖๘ เล่ม ๒ พุทธศักราช ๒๕๔๓

http://www.buddhadasa.com/history/budmem1.html

. . . . . . .