พุทธทาสรำลึก (๔)

พุทธทาสรำลึก (๔)

ประยุกต์ธรรมนำยุคสมัย
(พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๒๔)

พร้อมๆ กับที่เวลาล่วงผ่านเข้าสู่ยุคหลังกึ่งพุทธกาล (พ.ศ. ๒๕๐๐) นั้น ประเทศไทย
ก็ได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาไปสู่ “ความทันสมัย” ตามแบบตะวันตกด้วยวิถีชีวิต
การศึกษา วัฒนธรรม การทำมาหากิน ต่างมุ่งจะไปสู่ความสมบูรณ์มั่งคั่งทางวัตถุ
ภายใต้คำขวัญของการพัฒนาที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ผู้คนใน
สังคมได้ถูกกระตุ้นให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของวัตถุยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด จนเกิด
การแสวงหาและแข่งขันกันสะสม ระหว่างบุคคลในสังคมโดยทั่วไป

ในโลกแห่งความทันสมัยนี้ พระพุทธศาสนาซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึง ๒,๕๐๐ ปี ได้ถูก
มองว่าเป็นสิ่งที่ล้าสมัย คร่ำครึไร้ประโยชน์ และไม่จำเป็นแก่การพัฒนาแบบนี้

ท่านอาจารย์พุทธทาสกลับมองตรงกันข้ามว่า
ในกระแสแห่งการพัฒนาเช่นนี้ ยิ่งมีความจำเป็น
ที่จะต้องนำ “แก่นพระพุทธศาสนา” ออกเผยแผ่
ให้มากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อมองการณ์ไกลไปถึง
อนาคต ท่านเห็นว่าการพัฒนาที่มุ่งแต่การ
ปรนเปรอชีวิตด้วยความสุขทางวัตถุนั้น จะ
นำไปสู่ความทุกข์ทั้งของปัจเจกชนและสังคม
โดยรวม เพราะเป็นการพัฒนาที่ขาดความ
สมดุล คือมองข้ามคุณค่าของการพัฒนาจิตใจ
มนุษย์จะตกเป็นทาสของวัตถุ จนเกิดการ
เบียดเบียน แย่งชิงและทำร้ายกัน ทั้งทางตรง
และทางอ้อม เพื่อจักให้ได้มาในสิ่งที่ตนต้อง
การศีลธรรมจะเสื่อมถอย ชีวิตและสังคมจะ
เต็มไปด้วยความเร่าร้อน ขาดความสงบสุขมากขึ้นทุกขณะ ท่านจึงเห็นความ
จำเป็นที่จะต้องนำแก่นพุทธศาสน์ มาสั่งสอนเพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีชีวิตอยู่
เหนือการเป็นทาสวัตถุมี “จิตสว่าง” ที่ปลอดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่นแห่งตน
รู้จักการแบ่งปัน และดำรงชีวิตโดยพอดี

โดยท่านมองว่า การเผยแผ่ธรรมดังกล่าวนี้ จะต้อง
คิดค้นและเลือกธรรมะมาประยุกต์ เพื่ออธิบายให้
เป็นเรื่องร่วมสมัย ที่เข้าใจได้สำหรับคนในสังคม
“ทันสมัย” รวมทั้งจะต้องพัฒนารูปแบบของการ
เผยแผ่ด้วย เพื่อจูงใจคนทั่วไปให้สนใจ จากความ
ใฝ่รู้ ในวิทยาการด้านต่างๆ ที่มีมาโดยตลอดของ
ท่านอาจารย์ ท่านจึงเริ่มพัฒนาสื่อการสอนธรรมะในสวนโมกข์ เพื่อให้ประโยชน์
แก่ผู้มาพักหรือแม้เพียงแวะผ่าน ให้ได้ธรรมะกลับไปเป็นข้อคิดบ้าง จึงเกิดการ
สร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ โรงปั้น
สระนาฬิเกร์ ฯลฯ ในช่วงเวลานี้ และใน
ขณะที่สอนธรรมะแก่ผู้อื่นนั้น การดำรง
ชีวิตภายในสวนโมกข์เอง ก็ได้แสดง
ธรรมให้เห็นทางอ้อมด้วยว่า การกิน
อยู่อย่างเรียบง่ายนั้น มิใช่ความทุกข์
หากสามารถสร้างความสุขแก่ชีวิตได้
ถ้าบุคคลมีธรรมะเป็นปัจจัยเกื้อหนุน
ความเป็นอยู่ของพระในสวนโมกข์
จึงถือคติว่า “กินอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง” และในขณะที่วัดวาอารามทั่วไป
กำลังเร่งแข่งขันสร้างวัตถุตามกระแสโลก ท่านอาจารย์พุทธทาสกลับมุ่งสร้าง
โบสถ์ และสถานที่ใช้สอยต่างๆ ที่อิงกับธรรมชาติ ให้ความสงบโดยไม่ต้อง
หรูหราหรือสิ้นเปลือง เหล่านี้คือการประยุกต์ธรรมะมานำทางให้แก่ยุคสมัย
ซึ่งกำลังเดินไปสู่ความทุกข์

แล้วในเวลาเพียงทศวรรษเศษๆ
การพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ก็นำ
สังคมไปสู่สภาพที่ท่านอาจารย์
พุทธทาสคาดการณ์ไว้ ยิ่งไปกว่า
นั้นคือ ช่องว่างระหว่างคนจน –
คนรวย ได้นำมาซึ่งความขัดแย้ง
ทางการเมืองระหว่างทุนนิยม
และคอมมิวนิสต์ ที่ทวีความ
รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึง
ขั้นทำลายล้างชีวิตกันและกันด้วย
โดยเฉพาะในช่วงปี ๒๕๑๖ – ๒๕๒๒ ท่านได้พยายามประยุกต์ธรรมมาอธิบาย
ให้สังคมได้มองเห็นว่า หากเผยแผ่ให้ประชาชนเข้าใจในหลักธรรมแห่งพระ
พุทธศาสนาโดยถูกต้องแล้ว สังคมอันพึงปรารถนาย่อมเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าในทาง
ประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยปราศจากความ
เกลียดชัง มุ่งร้ายกันและกันด้วย ท่านเห็นว่า พระพุทธศาสนาโดยหลักการแล้ว
เป็นสังคมนิยมในตัวเองเพราะมุ่งให้กินอยู่ตามจำเป็น ส่วนที่เหลือเผื่อแผ่ผู้อื่น
เป็นการสละให้ที่ไม่ต้องบังคับ และยังสร้างความสุขทั้งแก่ผู้ให้ผู้รับ ท่านชี้
ให้เห็นว่า ไม่ว่าการปกครองหรือลัทธิการเมืองใดก็ตาม หากจะมุ่งให้เกิดความ
สงบสุขอันแท้จริงแล้ว จะต้องอิงอยู่กับธรรมะ ท่านจึงเสนอแนวคิดสำคัญใน
ด้านการพัฒนาสังคม ตามแนวพุทธศาสนาว่า คือการพัฒนาแบบ
“ธรรมิกสังคมนิยม” คือเป็นสังคมนิยมชนิดที่มีธรรมะเป็นหลักการสำคัญ

ตลอด ๒ ทศวรรษ ที่สังคม
ไทยเผชิญกับปัญหาวิกฤตอัน
เนื่องมาจากการพัฒนา และ
ความขัดแย้งทางการเมืองนั้น
ท่านอาจารย์พุทธทาส ได้
พยายามที่จะประยุกต์พระ
ธรรมคำสอน มาอธิบายเพื่อ
ชี้ทางออกให้แก่ชีวิตและสังคม
ถึงแม้ว่า ภารกิจนี้จะทำให้ท่าน
ถูกโจมตีกล่าวหา ทั้งจากฝ่าย
ซ้ายและขวา หรือเรื่อง “จิตว่าง”
ของท่าน จะถูกคัดค้านและนำไปโจมตี ล้อเลียนโดยผู้ที่ไม่เห็นด้วย แต่เรื่องต่างๆ
เหล่านี้ก็มิได้ทำให้ท่านเกิดความท้อถอย หวั่นไหวแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม ท่านยัง
คงแน่วแน่ที่จะคิดค้นธรรม และทำงานหนักขึ้นอีก เพื่อนำธรรมะนั้นมาชี้นำสังคม
ตามปณิธานที่มุ่งมั่นแต่แรกตั้งสวนโมกข์

บทความ โดย อรศรี งามวิทยาพงศ์ จากหนังสืออนุทินภาพ ๖๐ ปี สวนโมกข์ : พฤษภาคม ๒๕๓๕
ลงตีพิมพ์ใหม่ในหนังสือ พุทธสาสนา ปีที่ ๖๘ เล่ม ๒ พุทธศักราช ๒๕๔๓

http://www.buddhadasa.com/history/budmem4.html

. . . . . . .