พุทธทาสรำลึก (๖)

พุทธทาสรำลึก (๖)

สวนโมกข์วันนี้

แม้สวนโมกข์จะก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ ๖๐ แห่งการก่อตั้ง
แต่ปณิธานแห่งการทำงานเพื่อรับใช้พระศาสนาและ
เพื่อนมนุษย์ ก็ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต กิจวัตร
ของคณะสงฆ์ยังคงดำเนินไปดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต
กิจวัตรของคณะสงฆ์ยังคงดำเนินไปดังเช่นที่เคยเป็นมา
ในอดีต เพื่อมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ แต่สิ่งที่จำต้อง
เปลี่ยนแปลงไปคือ การหมุนเวียนของพระเณรทั้งเก่าและ
ใหม่และกายสังขารของท่านอาจารย์ที่ล่วงเข้าสู่วัยชราตามเหตุปัจจัยแห่งธรรมชาติ

ท่านอาจารย์พุทธทาส อาพาธหนักครั้งแรก
เมื่อ ปี ๒๕๑๘ ขณะอายุได้ ๖๙ ปี โดยเข้า
รับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และ
อาพาธหนักอีกครั้งในปี ๒๕๒๘ เมื่ออายุ
ได้ ๗๙ ปี จนเมื่อปลายเดือนตุลาคม
๒๕๓๔ ขณะอายุได้ ๘๕ ปีเศษ หลังจาก
การแสดงธรรมติดต่อกันถึง ๖ วัน วันละ
๒ ชั่วโมง ท่านก็มีอาการอาพาธรุนแรง

อีกครั้งหนึ่ง การอาพาธในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับเมื่อ ปี ๒๕๒๘ คือท่านตัดสินใจ
ขอรับการรักษาตัวอยู่ที่สวนโมกข์ โดยขณะที่กำลังอาพาธหนัก มีอาการอันน่าวิตก
ว่า อาจจะดับขันธ์ได้ทุกเมื่อนั้น ท่านได้กล่าวแก่คณะสงฆ์และแพทย์ที่กราบ
อาราธนาท่านเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลว่า “ขอบใจ ขอบใจอย่างสูง
ขอให้การอาพาธครั้งนี้เป็นการศึกษาของอาตมาอย่างยิ่ง ขอรับการรักษา
อย่างธรรมชาติ อย่างครั้งพุทธกาลอยู่ที่วัด” (๒๘ ตุลาคม ๒๕๓๔)
ท่านอาจารย์เห็นว่า สาวกของพระพุทธเจ้าไม่ควรหอบสังขารหนีความตาย
(ดังที่การแพทย์สมัยใหม่มักใช้วิทยาการต่อชีวิตของผู้ป่วยอย่างผิดธรรมชาติ
ด้วยเครื่องมือและสายระโยงระยางจำนวนมากมาย) ท่านอาจารย์ได้แสดงออก
ซึ่งรูปธรรมของ “การเตรียมตัวตายอย่างมีสติ” ให้ผู้ใกล้ชิดได้เรียนรู้

และนี่คือสิ่งที่ “พุทธทาสภิกขุ” ได้ปฏิบัติมาตลอดชีวิต
แห่งการทำงานเป็นผู้รับใช้ของพระพุทธองค์ นั่นคือ
การศึกษาค้นคว้าธรรมะ และที่สำคัญคือ การพิสูจน์
ธรรมะแก่สาธุชนด้วยตัวของท่านเอง แม้ว่าการทดลอง
ศึกษาธรรมในครั้งนี้ จะต้องเผชิญกับภาวะอันเจ็บปวด
และทรมานอย่างที่คนทั่วไปยากจะทนได้ แม้เพียง
ขณะเดียว แต่ท่านได้ทนกับภาวะน้ำคั่งท่วมปอด จนไอ
มีเสมหะปนเลือด อาการคลื่นไส้ ปวดมวนในท้องอย่างรุนแรง หอบ มีไข้
หัวใจเต็นผิดจังหวะ ไม่สามารถจะพักผ่อนนอนราบ และฉันภัตตาหารไม่ได้
อยู่นานถึง ๔ วัน กว่าที่จะมีแพทย์มาถวายการรักษาอย่างเป็นทางการ เป็น
การอดทนที่อาศัยขันติอันผูกเนื่องด้วยสติและปัญญา ท่านจึงอาพาธอยู่ด้วย
อาการอันสงบดังปกติ และยังขอมิให้แพร่งพรายเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเกรง
ว่าจะทำให้เกิดความวิตกกังวลและตกใจกัน ที่สำคัญคือ ขันติธรรมอันแสดงออก
ในครั้งนี้ มิใช่มุ่งที่การอวดบารมีธรรม หรือแสวงหาคำสรรเสริญจากสาธารณชน

ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ที่จะศึกษาปฏิบัติธรรม
จากการอาพาธนี้ ท่านจึงอยู่รับการรักษาที่
สวนโมกข์ตามความเหมาะสม ไม่เกินความ
พอดีหรือฝืนธรรมชาติ นอกจากนี้ท่านยังได้
แสดงธรรมแก่คณะแพทย์ ในระหว่างถวาย
การรักษาอยู่เนืองๆ เช่น “ถือเป็นหลักแต่ไหน
แต่ไรมาแล้วที่ให้ธรรมชาติรักษา ธรรมะรักษา
คุณหมอช่วยพยุงชีวิตให้มันโมเมๆ ไปได้ อย่า
ให้ตายเสียก่อน แล้วธรรมชาติก็จะรักษาโรคต่างๆ ได้เอง ได้เท่าไรก็เอาเท่านั้น ไม่
ต้องการมากกว่านี้ ที่จริงไม่ควรจะมีอายุมากกว่าพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ต้อง
ศึกษา ปัญหามันก็มีว่า จะทำอย่างไรให้มีชีวิตมากกว่าพระพุทธเจ้า แต่ไม่มีปัญหา…

เราจะศึกษาตัวความเจ็บ ความตาย และความทุกข์ ให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น
ไม่สบายทุกที ก็ฉลาดทุกๆ ที เหมือนกัน (๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๔)

และเมื่ออาการอาพาธ ได้ทุเลาลงเป็นลำดับแล้ว ท่านได้แสดงธรรมว่า

“การป่วยเป็นเช่นนั้นเอง เป็นอิทัปปัจจยตา ตามเหตุปัจจัยปรุงแต่งไม่ต้องทุกข์ร้อน
รักษาก็เช่นนั้นเอง หายหรือไม่หายก็เช่นนั้นเอง (ตถตา) หายได้ ก็ไม่หายเจ็บต่อก็
ได้ ตายก็ได้ ไม่ทุกข์ใจ ทุกอย่างเป็นอิทัปปัจจยตาเสมอ เป็นเพียงกระแสแห่งการ
ปรุงแต่ง การรักษาเป็นเพียงปัจจัยปรุงแต่งให้ถูกต้องพอดี…

การเจ็บไข้นั้น คนเราไม่เคยหัดให้เข้าใจ ต้องให้คนเจ็บเห็นและไม่กลัวตาย แม้จะ
ในเวทนาก็สักแต่เวทนา เอาเวทนาเป็นอารมณ์ทางสมาธิ ต้องเป็นนักเลงธรรมะ
เอาเวทนาเป็นอารมณ์ของสมาธิ ข่มความเจ็บด้วยอำนาจสติปัญญา…”
(๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕)

ชีวิตอันอยู่กับการเผยแผ่ธรรมะทุกลมหายใจเช่นนี้
ทำให้เมื่อท่านอาจารย์มีอาการดีขึ้น ก็จะไม่ละโอกาส
ที่จะแสดงธรรมแก่สาธุชน ราวกับว่า ท่านตระหนักว่า
กำลังทำงานแข่งกับเวลาอันมีอยู่ไม่มากนักแล้ว ด้วย
เหตุนี้ ท่านจึงอาพาธอีกครั้ง ประมาณต้นเดือน
มีนาคม ๒๕๓๕

บทความ โดย อรศรี งามวิทยาพงศ์ จากหนังสืออนุทินภาพ ๖๐ ปี สวนโมกข์ : พฤษภาคม ๒๕๓๕
ลงตีพิมพ์ใหม่ในหนังสือ พุทธสาสนา ปีที่ ๖๘ เล่ม ๒ พุทธศักราช ๒๕๔๓

http://www.buddhadasa.com/history/budmem6.html

. . . . . . .