ประวัติหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ

ประวัติหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ

เกิด

เกิดวันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย หมู่บ้านกลาง
ตำบลพุมเรียง ที่ตั้งเดิมของจังหวัดไชยา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสุราษฎร์ธานี
เป็นบุตรชายคนโตของนายเซี้ยง และนางเคลื่อน พานิช มีชื่อเดิมว่า เงื่อม อายุห่างจากนายยี่เกย
ผู้เป็นน้องชายสองปี

เรียน

เมื่ออายุได้ ๘ ขวบ ก็เข้ารับการศึกษาแบบโบราณโดยบิดานำไปฝากเป็นเด็กวัด
ที่วัดพุมเรียงใกล้บ้าน เรียนได้สามปีก็กลับมาอยู่บ้าน
เข้าเรียนขั้นประถมที่โรงเรียนวัดโพธารามจนถึงชั้นมัธยมหนึ่ง
ก่อนจะย้ายเข้าไปเรียนที่โรงเรียนสารภีอุทิศ ตำบลตลาด อำเภอไชยา เพื่อไปอยู่กับบิดา
ซึ่งมาเปิดร้านค้าใหม่ที่นี่ แต่ต้องออกจากการศึกษากลางคัน
เนื่องจากบิดาถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน มาช่วยดำเนินกิจการค้ากับมารดา
ระหว่างนี้น้องชายบวชเป็นสามเณร และศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ตอนต้นปีนายยี่เกยเข้าเตรียมแพทย์จุฬา นายเงื่อมบวชตอนเข้าพรรษาเมื่อ
วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้ฉายา “อินทปัญโญ” ระหว่างนี้นายยี่เกย
ตอนปลายปีสอบได้นักธรรมตรี และมิได้ลาสิกขาบทตามกำหนด
ช่วงปิดเทอมปลายปีนายยี่เกยผู้เป็นน้องชายกลับมาบ้าน และไม่กลับไปเรียนต่อ
รับดำเนินกิจการทางบ้านต่อจากพี่ชาย เพื่อเปิดโอกาสให้อินทปัญโญภิกขุได้ศึกษาธรรมะต่อไป

พระเงื่อมสอบได้นักธรรมโทและนักธรรมเอกตามลำดับ ช่วงนั้นได้เข้าไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ
ที่วัดปทุมคงคา แต่อยู่ได้ ๒ เดือนก็กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพุมเรียง และได้เป็นครูสอนนักธรรม
ที่โรงเรียนนักธรรม วัดพระบรมธาตุไชยา นายยี่เกยก็ให้ความสนับสนุนทางธรรม
ด้วยการเปิดคณะธรรมทานขั้นต้น ทำหีบหนังสือธรรมะให้คนยืมอ่าน ที่ร้านไชยาพานิช
ตัวนายยี่เกยเองก็มีความสนใจในพุทธศาสนามาก เริ่มเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ
โดยใช้นามปากกาว่า “ธรรมทาส”

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เดินทางไปเรียนบาลีที่วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ เขียนบทความชิ้นแรกชื่อ
“ประโยชน์แห่งทาน” เพื่อตอบคำถามคนร่วมสมัย ว่าด้วยคุณค่าของการทำทาน
และเขียนบทความขนาดยาว “พระพุทธศาสนาขั้นปุถุชน” แสดงความคิดเห็นว่า มรรค ผล นิพพาน
เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในยุคปัจจุบัน ปลายปีก็สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค
เป็นพระมหาเงื่อม อินทปัญโญ

อย่างไรก็ดี ช่วงนี้มีความเบื่อหน่าย ศึกษาค้นคว้านอกตำรามากขึ้น
และสับสนถึงเป้าหมายของการบวช มองเห็นว่าชีวิตนักบวชในเมืองหลวง
ไม่อาจทำให้บรรลุเป้าหมายทางธรรมได้ เมื่อสอบไม่ผ่านเปรียญธรรมประโยค ๔
ก็เดินทางกลับมาอยู่พุมเรียง ที่วัดร้างตระพังจิก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสวนโมกขพลาราม
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พร้อมกับเริ่มคณะธรรมทานอย่างเป็นทางการ

งาน

นางเคลื่อน พานิช ทำพินัยกรรมมอบเงินเป็นทุนต้นตระกูลพานิช
ใช้ดอกผลในการทำนุบำรุงสวนโมกข์และคณะธรรมทาน

งานหลักของพระเงื่อมนั้น ประกอบด้วย การก่อตั้งสวนโมกขพลาราม คณะธรรมทาน
และการเผยแพร่พระพุทธศาสนา

สวนโมกขพลารามนั้น เป็นรูปแบบของวัดตามแบบพุทธกาล เน้นการอยู่กับธรรมชาติ
ปฏิเสธการสร้างถาวรวัตถุขนาดใหญ่ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ก็ได้ซื้อที่บริเวณวัดธารน้ำไหล
ถึงแม้จะมิได้สร้างอุโบสถหรือเจดีย์ แต่ก็สร้างเรือนพัก หอประชุม เพิ่มขึ้น
เนื่องจากมีผู้สนใจมาปฏิบัติธรรมมากขึ้น โรงมหรสพทางวิญญานก็เป็นที่รวมพุทธศิลป์
ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ตามแบบโบราณ ดังเช่นภาพพุทธประวัติจากหินสลัก หรือธรรมจักรของอินเดีย
และภาพปริศนาธรรมของทิเบตและจีน รูปแบบของสวนโมกข์นั้น
พุทธศาสนิกชนทางเชียงใหม่ก็นำไปจัดตั้งพุทธนิคม ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐

ตลอดเวลาที่อยู่สวนโมกขพลาราม ก็ทำงานศึกษาธรรมะ และเผยแพร่พุทธศาสนา
โดยปฏิเสธพิธีกรรม และวัตถุนิยม

เนื่องจากมีความสนใจหลายด้าน รวมถึงพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ได้นำหลักคำสอนเรื่อง
ความว่าง มาสอนในสังคมไทยเป็นคนแรก ๆ ทั้งยังยกเรื่องปฏิจจสมุปบาท
และอิทัปปจจยตา มาสอนอย่างจริงจัง ทั้งที่ครูบาอาจารย์โบราณไม่นิยมเทศนา
เพราะเห็นเป็นเรื่องยาก

ตีความเรื่องอิทัปปจจยตา ด้วยกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์
ทำให้ขัดแย้งกับครูอาจารย์รุ่นเก่าหลายท่าน ทั้งยังเขียนเรื่อง ธัมมิกสังคมนิยม
ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงหลักธรรมในศาสนาเข้ากับสังคม แต่ก็ทำให้ถูกจับตามอง
ว่าเป็นพวกหัวเอียงซ้าย

มีงานเขียนมาก ทั้งที่เป็นหนังสือ บทความ ซึ่งส่วนใหญ่รวบรวมและเรียบเรียงจากคำเทศนา
จัดระเบียบไว้เป็นหมวดหมู่ แม้กระทั่งจดหมายที่พิมพ์ติดต่อกับบุคคลร่วมสมัย
ก็มีสำเนาเก็บไว้ครบถ้วน วารสาร “พุทธสาสนา” รายสามเดือนก็เริ่มจัดทำต่อเนื่อง
มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ มีงานเขียนของทางมหายาน เซน กฤษณมูรติ
และปัญญาชนไทยร่วมสมัย มานำเสนออย่างสม่ำเสมอ

ผลงานทางพุทธศาสนาของท่านได้รับความสนใจมาก โดยเฉพาะจากปัญญาชนร่วมสมัย
และชาวตะวันตกที่มีความสนใจพุทธศาสนานิกายเถรวาท
ได้รับเชิญไปแสดงปาฐกถาหลายแห่ง ได้เลื่อนสมณศักดิ์ตำลำดับจนเป็นพระธรรมโกศาจารย์
แต่ก็ไม่เคยเปลี่ยนนามตนเองที่ตั้งไว้ว่า “พุทธทาส” เพื่อทำตามปณิธานที่ตั้งใจไว้
คือเป็นทาสรับใช้แห่งพระพุทธเจ้าตลอดชีวิต

มรณภาพเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ สิริรวมอายุได้ ๗๖ ปี

———————–
ที่มาจาก:-
อัตชีวประวัติ สิบปีในสวนโมกข์ อัตชีวประวัติในวัยหนุ่ม
เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา สัมภาษณ์โดย พระประชา ปสนฺนธมฺโม
http://www.geocities.com/siamintellect/intellects/buddhadasa/biography.htm

http://www.watphramahajanaka.org/web/?page_id=1844

. . . . . . .