พุทธทาสภิกขุ อัจฉริยะผู้อยู่เหนือกาลเวลา

พุทธทาสภิกขุ อัจฉริยะผู้อยู่เหนือกาลเวลา

ประเทศไทยมีพระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่หลายรูป ทั้งพระป่าและพระเมือง

แต่เมื่อพระหลายรูปนั้นมรณภาพไป คำสอน แนวทางปฏิบัติของหลายๆ ท่านจะห่างหายลางเลือนไปจากจิตใจของลูกศิษย์ลูกหาด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ “หลวงปู่แหวน” 2 ปี หลังจากท่านละสังขาร วัดดอยแม่ปั๋ง ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ แทบกลายเป็นวัดร้าง

แต่สำหรับ “ท่านพุทธทาส” แม้วันนี้ท่านจากไปเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่คำสอน แนวปฏิบัติของท่าน กิจกรรมที่สวนโมกข์ ยังคงอยู่เป็นปกติ ทั้งยังมีเผยแพร่ออกมาอย่างกว้างขวาง เหมือนกับวันที่ท่านยังมีชีวิตอยู่

ในวาระชาตกาล 100 ปี (พ.ศ.2449-2549) ของท่านพุทธทาส ศาสนปราชญ์ผู้อยู่เหนือกาลเวลา นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคมนี้ จึงนำเสนอแนวคิดของท่านพุทธทาส ผ่านมุมมองของ ส. ศิวรักษ์, พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) และ พระไพศาลวิสาโล

เส้นทางในบวรพุทธศาสนาของท่านพุทธทาส เริ่มจากการบวชเป็นเณรและพระที่วัดใกล้บ้าน แม้กระนั้น การบวชและเรียนของท่านก็เป็นไปอย่างจริงจังก่อนจะกลับไปลงหลักปักฐาน บุกเบิกพุทธภารกิจ ที่ไม่ยึดติดกับพิธีกรรม รูปเคารพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่มุ่งหาความจริงของศาสนา ซึ่ง ส. ศิวรักษ์ กล่าวถึงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่นี้ว่า

“เมื่อพระมหาเงื่อม อินทปัญโญ ประกาศตนเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พร้อมกับการตั้งสวนโมกขพลารามขึ้นที่ไชยา ณ วันเพ็ญเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2475 นั้น ถือได้ว่านั่นคือการอภิวัตน์ในทางศาสนจักรครั้งสำคัญยิ่งของสยาม นับได้ว่ายิ่งใหญ่กว่าการตั้งคณะธรรมยุติกนิกายของเจ้าฟ้าพระมงกุฎ วชิรญาณภิกขุ ในรัชกาลที่ 3 เสียอีก…

แม้การตั้งคณะธรรมยุต จะเป็นการท้าทายโลกาภิวัตน์สมัยโบราณตามแบบไตรภูมิพระร่วง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าล้าสมัย ให้คำสอนของพระศาสนาหันเหไปในทางความทันสมัยของวิทยาศาสตร์ตะวันตก ซึ่งก็ให้ทั้งคุณและโทษ พร้อมกันนั้นการเคร่งครัดกับการทำวัตรเช้าค่ำ และการลงอุโบสถสังฆกรรมอย่างสม่ำเสมอทุกๆ ปักษ์ ย่อมถือว่าเป็นการรื้อฟื้นพุทธประเพณีที่ควรแก่การสรรเสริญและมีอิทธิพลต่อไปยังพระมหานิกาย ให้ปรับปรุงตนเองในทางสิกขาวินัยตามไปด้วย

แต่การที่คณะธรรมยุตเหยียดพระมหานิกายว่าเป็นเพียง “อนุปสัมบัน” นั้น แม้จะไม่ถือว่านี่คือสังฆเภท แต่ก็เป็นการกดขี่พระภิกษุศรีอยุธยาให้ต่ำต้อยกว่าพระนิกายใหม่

วชิรญาณภิกขุเป็นเจ้าฟ้า ซึ่งต่อมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และยังมีรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ต่อมาอีก 5 รัชกาล คณะธรรมยุติกนิกายจึงเผยแผ่อิทธิพลออกไปได้แทบทั่วราชอาณาจักร ทั้งยังเข้าไปตั้งสมณวงศ์ในกัมพูชาและลาว (เพียงแค่จัมปาสัก) แล้วก็ปลาสนาการไปพร้อมกับสิ้นเจ้านายทางฝ่ายนั้น

พุทธทาสภิกขุเป็นเพียงลูกชาวบ้าน ย่อมสร้างพุทธอาณาเช่นนั้นไม่ได้ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็ตรงที่ท่านไม่ประสงค์จะตั้งลัทธินิกายใหม่เอาเลยด้วยซ้ำ…”

ไม่เพียงแต่การมุ่งศึกษาแก่นแท้ของพุทธศาสนาเท่านั้น หากท่านพุทธทาสยังเปิดกว้างยอมรับความคิดของลัทธิ นิกาย และศาสนาต่างอีกด้วย
“สิ่งซึ่งพุทธทาสภิกขุสถาปนาขึ้นนั้น สำคัญยิ่งกว่าลัทธินิกาย หากไปพ้นลัทธินิกาย ไม่แต่ธรรมยุตกับมหานิกาย หากนำเอาหัวใจของมหายานและวัชรยาน มาประยุกต์เข้ากับพระธรรมวินัยอย่างแยบคาย

ภาพภวจักรอันเป็นหัวใจของการอธิบายของฝ่ายวัชรยานในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดตามสังสารวัฏจนเข้าถึงพระนิพพานนั้น มีปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกที่สวนโมกข์นี้เอง

แล้วยังจะมีใครกล่าวหาได้อีกละหรือว่าพุทธทาสภิกขุไม่เชื่อในเรื่องตายแล้วเกิด

ยิ่งทางฝ่ายมหายานด้วยแล้ว ใช่แต่พุทธทาสจะแปลถ้อยคำของท่านฉัฏฐมสังฆปริณายกของจีนออกเป็นไทยเท่านั้น

หากท่านยังยกย่องนักปฏิบัติธรรมชาวอเมริกัน ที่เน้นทางด้านซาเซน จนท่านเอารูปที่ท่านผู้นี้เขียน และถ้อยคำของเขา มาตราลงไว้ในโรงมหรสพทางวิญญาณอีกด้วย

ในทางเถรวาทเองนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นสดมภ์หลักของคณะธรรมยุติกนิกาย ได้ยกย่องพุทธทาสภิกขุเป็นอย่างยิ่ง…”

ปณิธาน : ทาสพุทธ (เจ้า)

ขณะที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) วิเคราะห์แนวคิดพื้นฐานของท่านอาจารย์พุทธทาสว่า “การมองแนวคิดของท่านพุทธทาส ถ้ามองขั้นที่ 1 เรามองที่เจตนาก่อน เจตนาของท่านเป็นอย่างไร อันนี้เห็นได้ค่อนข้างชัด แม้แต่ชื่อท่านเอง ท่านก็เรียกว่าพุทธทาส แปลว่าทาสของพระพุทธเจ้า ซึ่งถ้าพูดอย่างภาษาเราง่ายๆ ท่านมุ่งอุทิศชีวิตของท่านในการสนองงานของพระพุทธเจ้าอะไรล่ะ สนองงานที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้สำหรับพระสงฆ์ย้ำบ่อยมาก

ท่านมีเจตนาพื้นฐานเพื่อจะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชน ทำให้โลกอยู่ร่มเย็นเป็นสุข อันนี้จริงไหม…เมื่อเราได้เจตนาก็ได้ขั้นพื้นฐานเลยมันเป็นตัวนำจิต…มามองงานของท่านที่มีมากมาย เรื่องของแนวคิดของท่านที่เป็นไปตามเจตนานี้ มันก็เป็นไปในทิศทางที่จะทำให้โลกอยู่เย็นเป็นสุข พอมีแนวคิดพื้นฐานแบบนี้จะช่วยให้การแปลความหมายดีขึ้น…

อันนี้ถ้าเราดูพื้นจากที่เป็นมา อย่างที่อาตมาเล่า อาตมามองเริ่มจากหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ แล้วก็ต่อมาท่านพุทธทาสออกหนังสือกลุ่มจากพระโอษฐ์เยอะมาก ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์, อริยสัจจากพระโอษฐ์, ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์

ท่านมีหนังสือแบบนี้แสดงว่า ท่าทีหรือว่าทัศนะคติของท่านต่อพระไตรปิฎกเป็นอย่างไร อย่างน้อยท่านเอาจริงเอาจังมากกับพระไตรปิฎก ท่านอยู่กับพระไตรปิฎกมามากมาย และตั้งใจค้นคว้า ศึกษาจริง

เราจะเห็นข้อความที่ท่านใช้อ้าง แม้แต่ในเรื่องปฏิจจสมุปบาท เหมือนกับว่าด้านหนึ่งท่านเป็นผู้เอาจริงเอาจัง ซื่อสัตย์ต่อพระไตรปิฎก ไว้ใจพระไตรปิฎกมาก แต่พร้อมกันนั้นท่านก็มีท่าทีให้มีเหตุผลไม่เชื่อเรื่อยเปื่อย หรือเชื่องมงาย ว่าอะไรที่อยู่ในชุดที่เรียกว่าพระไตรปิฎก จะต้องเชื่อตามไปหมด อันนี้เป็นทัศนคติที่พอดีๆ ที่ศึกษาอย่างมีเหตุผล

อาตมาจะอ่านให้ฟังสักนิดเป็นการโควตท่านหน่อย ในหนังสือโอสาเรปนะธรรม หน้า 423 บอกว่า ดังนั้น ในการศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ต้องถือเอาบาลีเดิมเป็นหลัก นี้แสดงว่าท่านยึดพระไตรปิฎก คำว่า บาลี เป็นคำทางพระหมายถึงพระไตรปิฎก อย่ามอบตัวให้กับอถรรกถาอย่างไม่ลืมหูลืมตา…
เมื่อกี้พูดถึงว่าให้เอาบาลี หรือพระไตรปิฎกเป็นหลัก อย่าไปมอบตัวให้กับอรรถกถา ทีนี้บางทีท่านพูดถึงเรื่องอรรถกถาในหลายกรณีก็จะมีเรื่องพูดในแง่ที่ไม่ค่อยดี คล้ายๆ กับไม่น่าไว้ใจ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องอย่างนั้น แต่นี้บางคนไปถึงขนาดที่ว่าอรรถกานี้ไว้ใจไม่ได้

อาตมาอ่านหนังสือบางเล่มเขาดูถูกอรรถกถา ไม่เชื่ออรรถกถา ถ้าเราดูท่านพุทธทาส อาจจะถือเป็นความพอดีก็ได้ งานของท่านจะพูดถึงอรรถกถาเยอะแล้วท่านก็ใช้ประโยชน์จากอรรถกถา เรื่องราวต่างๆ ท่านก็เอาจากอรรถกถามา…

ที่เราบอกว่า พระไตรปิฎกนั้น คำแปลเขาอ้างจากอรรถกถานะ พระไตรปิฎกฉบับ 25 ศตวรรษพิมพ์ครบชุดครั้งแรกในประเทศไทย ฉบับ พ.ศ.2500 แล้วต่อมาก็กลายเป็นฉบับกรมการศาสนา ฉบับมหามกุฏฯ มหาจุฬาฯ คนแปลไม่ได้รู้ไปหมด ต้องค้นหากัน เวลาค้นๆ กันที่ไหน ก็ค้นจากอรรถกถา จากฎีกา แล้วก็แปลไปตามนั้น…

เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎกแปลไม่ได้แปลตรงไปตรงมาหรอก…บางทีรูปประโยคดูไม่ออกเลยว่าหมายความว่าอย่างไร การแปลจึงต้องหาอุปมาช่วย ก็ได้อรรถกถานี้แหละที่เก่ารองจากพระไตรปิฎก จึงไปเอาอรรถกถาว่าท่านอธิบายบาลีองค์นี้ไว้อย่างไร ถ้าอธิบายความแล้วยังไม่ชัด อยากจะได้ความที่ชัดยิ่งขึ้นก็ไปค้นคัมภีร์รุ่นต่อมา หรือฎีกา หรืออนุฎีกาต่างๆ มาพิจารณาประกอบ…

แต่บางคนก็อ้างพระไตรปิฎกโดยไม่รู้ว่าความจริงว่าแม้แต่คนแปลเขาก็อ้างอรรถกถา กลายเป็นว่าที่ตัวเอาๆ มาจากอรรถกถา อันนี้เป็นตัวอย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านศึกษามาก ต้องยอมรับว่าท่านบวชตั้งแต่เมื่อไร ท่านอุทิศชีวิตกับการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถา ฎีกาอะไรต่างๆ เวลาท่านอธิบายท่านก็ยกมาอ้าง เวลาท่านบอกไม่ให้เชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ให้เราเชื่อเรื่อยเปื่อยงมงายไป…”

มาตรฐานสังคม-มาตรฐานจริยธรรม

ขณะที่ พระไพศาล วิสาโล นำเสนอการมองอนาคตผ่านแนวคิดของท่านอาจารย์พุทธทาสว่า “อาตมาคิดว่าสิ่งที่เป็นฐานความคิดของท่านสำคัญมาก คือว่าแม้เราจะมองเห็นโลกอนาคตที่กำลังเชี่ยวกรากด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ อันเนื่องมาจากปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม ความวิบัติทางด้านบรรยากาศของโลก ความเสื่อมโทรมในด้านศีลธรรม การเอารัดเอาเปรียบกันขนานใหญ่ในนามตลาดเสรี ได้ตามแบบท่านอาจารย์พุทธทาส คือความมีสำนึกในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งทำอะไรก่อน

และยิ่งกว่านั้นสำนึกอันนี้เป็นของท่านพุทธทาส จุดชี้ขาดคือเรื่องของศีลธรรม เรื่องของจริยธรรม เรื่องของธรรมะ นี้เป็นจุดที่จะทัดทานโลกไม่ให้เสื่อมโทรมไป

ท่านพุทธทาสพูดอยู่เสมอว่าเราต้องระดมกำลังเพื่อเอาศีลธรรมกลับมา เพราะถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ

อาจารย์พุทธทาสท่านมองเห็นทั้งโลก…ปัญหาคือว่า การจะนำศีลธรรมกลับมาจะทำอย่างไร จะเอามาอย่างไร เราจะใช้วิธีเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปเรื่อยๆ ตามอย่างที่ทำอยู่ พูดให้มากขึ้นเผยแผ่ให้มากขึ้น แค่นั้นพอไหม

อาตมาเชื่อว่าไม่น่าเพียงพอ ปัญหาหนึ่งก็คือว่า ศีลธรรมทุกวันนี้ไม่สามารถจะวิ่งไล่ทันความชั่วร้ายของยุคสมัยได้

สิ่งชั่วร้ายไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย ความโลภ การคอร์รัปชั่น ความมักมากในกาม มันได้พัฒนาไปจนกระทั่งสามารถอำพรางตนเอง หรือพัฒนาจนเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย…อันนี้อาตมาคิดว่ามันเป็นสิ่งน่ากลัว มันแสดงให้เห็นว่าเรื่องของความชั่วร้ายนี้มันพัฒนาเป็นเรื่องธรรมดาได้ อาตมาคิดว่าความชอบธรรมและจริยธรรมจะต้องพัฒนาจนสามารถที่จะไปดัก หรือไปชี้ได้ว่า แค่ไหนถึงเรียกว่าผิดศีลธรรม

เราจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมใหม่ๆ ขึ้นมา ปัญหาการเรียกร้องของศาสนา รวมทั้งพุทธศาสนาไม่ได้ประสบความสำเร็จ ไม่ได้สนใจที่จะสร้างเกณฑ์ทางจริยธรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเลย การไม่ใช้โฟม, การไม่ทิ้งของเสียลงแม่น้ำ…การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง มันมาจากไหน มันไม่ได้มาจากพุทธศาสนา เวลานี้มันมีแหล่งความคิดที่ไปกำหนดจริยธรรมสมัยใหม่เยอะ…

นายทุนบอกว่า ถ้าคุณใช้ซีดีด้วยโปรแกรมที่ไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นการขโมย เป็นการผิดศีลธรรม ขณะที่เขาโกงค่าแรงคนงานกลับไม่เป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม ตรงนี้จุดอ่อนของศาสนา และพุทธศาสนาที่ไม่สามารถจะสร้างเกณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ตรงนี้เป็นเรื่องยาวที่จะต้องพูดกันต่อไป…

ถึงที่สุดแล้วมันต้องกลับมาที่ เรียกว่า “โลกุตรธรรม” แต่ว่าจะกลับมาอย่างไร…เราต้องถอนสมรภูมิทางจริยธรรมที่อยู่ที่ใจของเรา แล้วจะสู้กับโลกวิปริตได้ต้องสู้จากที่ตรงนี้ด้วย

อาจารย์พุทธทาสท่านตระหนักดีว่า ความเป็นไปของโลกนั้นร้ายแรง เพราะฉะนั้นท่านเห็นว่าต้องใช้โลกุตรธรรมไม่ใช่แค่ศีลธรรมพื้นๆ แค่ศีลห้า เราต้องเอาโลกุตรธรรมเข้าไปสู้เลย คือไฟยิ่งแรงเท่าไร ยิ่งต้องเอาน้ำที่แรงเท่า และโลกุตรธรรมคือน้ำที่จะสู้กับไฟได้

แม้ว่าโลกุตรธรรมจะสถิตอยู่ในใจของคนเพียงคนเดียว แต่ถ้าเป็นโลกุตรธรรมที่ไปพ้นที่เป็น…จากรูปธรรม จากความสำเร็จ ล้มเหลว ของชื่อเสียงเกียรติยศ

ถ้าโลกุตรธรรมไปถึงขั้นนี้มันสู้โลกที่วิปริตได้ ที่ว่าสำคัญมากที่เราจะต้อง…โลกุตรธรรมขึ้นมาเพื่อ…แล้วแผ่ออกไปอย่างเป็นเครือข่าย ขยายพื้นที่ของโลกุตรธรรมเข้าไปสู่สังคม เริ่มต้นจากการขยายมิติออกไปกว้างกว่านี้อีก อันนี้คือสิ่งสำคัญที่เราจะสู้กับสิ่งเหล่านี้ได้”

และนี่คืออัจฉริยภาพของท่านพุทธทาส คำสอน แนวปฏิบัติของท่านจึงคงไม่อ่อนล้าไปกับกาลเวลา หรือสภาพแวดล้อม เหมือนกลอนบทหนึ่งของท่านพุทธทาสชื่อ “พุทธทาสจักไม่ตาย” เขียนไว้ว่า

“พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง

ร่างกายเป็นร่างกายไปไม่ลำเอียง นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา…”

http://phaputtatad.tripod.com/Index.html

. . . . . . .