ตอน หก อานาปานสติ ขั้นที่ สอง (การกำหนดลมหายใจสั้น)

ตอน หก อานาปานสติ ขั้นที่ สอง (การกำหนดลมหายใจสั้น)

อานาปานสติขั้นที่สองนี้ มีหัวข้อว่า “ภิกษุนั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าหายใจเข้าสั้น ดังนี้ ; เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าหายใจออกสั้น ดังนี้”. (บาลีว่า รสฺสํ วา อสฺสสนฺโต รสฺสํ อสฺสสิสฺสามีติ ปชานาติ ; รสฺสํ วา ปฺสสสนฺโต รสฺสํ ปสฺสสิสฺสามีติ ปชานาติ)
อานาปานสติข้อนี้ มีความหมายแตกต่างจากขั้นที่หนึ่ง เพียงที่กล่าวถึงลมหายใจที่สั้น. ลมหายใจสั้นในที่นี้ เป็นเพียงชั่วขณะ คือชั่วที่มีการฝึกให้หายใจสั้นแทรกแซงเข้ามา. เมื่อบุคคลผู้ปฏิบัติรู้ความที่ลมหายใจสั้นเป็นอย่างไรอย่างทั่วถึงแล้ว ระงับความสนใจต่ออาการแห่งการหายใจชนิดที่เรียกว่าสั้นนั้นเสีย ไปหายใจอยู่ด้วยลมหายใจที่เป็นปรกติ ซึ่งจะเรียกว่าสั้นหรือยาวก็ได้ แล้วแต่จะเอาหลักเกณฑ์อย่างใดเป็นประมาณ ปัญหาก็หมดไป ไม่มีสิ่งที่จะต้องอธิบายเป็นพิเศษ สำหรับกรณีที่มีการหายใจสั้น.

แต่ถ้าหากว่าบุคคลผู้นั้น มารู้สึกตัวว่า ตนเป็นผู้มีการหายใจสั้นกว่าคนธรรมดาอยู่เป็นปรกติวิสัย ก็พึงถือว่าระยะหายใจเพียงเท่านั้น ของบุคคลนั้นเป็นการหายใจที่เป็นปรกติอยู่แล้ว. และเมื่อได้ปรับปรุงการหายใจให้เป็นปรกติแล้ว ก็ถือเอาเป็นอัตราปรกติสำหรับทำการกำหนดในยะระเริ่มแรก เป็นลำดับไปจนกว่าจะเกิดฉันทะและปราโมทย์ ซึ่งมีความยาวแห่งลมหายใจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับๆ และมีกรรมวิธีต่าง ๆ ดำเนินไปจนครบทั้ง ๑๐ ขั้น ตามที่กล่าวมาแล้วในอานาปานสติขั้นที่หนึ่งอันว่าด้วยการหายใจยาว ฉันใดก็ฉันนั้น. ในกรณีที่มีการหายใจสั้นเป็นพิเศษ เพราะเหน็ดเหนื่อย การตกใจหรือโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนนั้น ย่อมมีการกำหนดให้รู้ว่าสั้นเพียงในขณะนั้นเท่านั้น เมื่อสิ่งเหล่านั้นผ่านไปแล้ว การหายใจก็เป็นปรกติ และดำเนินการปฏิบัติไปโดยนัยแห่งการหายใจปรกติ เพราะการหายใจสั้นชนิดนั้นได้ผ่านไปแล้วโดยไม่ต้องคำนึง.

ในกรณีที่มีการหายใจสั้นแทรกแซงเข้ามา เพราะอุบัติเหตุอย่างอื่นก็ตาม เพราะความสับสนแห่งการฝึกในขั้นที่ยังไม่ลงรูปลงรอยก็ตาม การหายใจสั้นเหล่านั้นถูกกำหนดรู้ว่าสั้น แล้วก็ผ่านไป ไม่กลับมาอีก ปัญหาก็หมดไป. ในกรณีที่เราฝึกให้ลมหายใจสั้น เพื่อการทดลองในการศึกษานั้น ย่อมหมดปัญหาไปในขณะที่การทดลองสิ้นสุดลง. สำหรับความมุ่งหมายอันแท้จริงแห่งการฝึกลมหายใจสั้นนั้น มีอยู่ว่า เมื่อฝึกจิตให้เป็นสมาธิได้ด้วยลมหายใจอย่างยาวแล้ว ก็ควรฝึกให้เป็นสมาธิด้วยลมหายใจสั้น ซึ่งเป็นของยากขึ้นไปกว่าให้ได้ด้วย เพื่อความสามารถและคล่องแคล่วถึงที่สุด ในการฝึกสมาธิด้วยลมหายใจทุกชนิดนั่นเอง.

สรุปความว่า การหายใจสั้นในอานาปานสติขั้นที่สองนี้ กล่าวไว้สำหรับการหายใจสั้นที่จะพึงมีแทรกแซงเข้ามาเอง เป็นครั้งคราว และที่เป็นในการฝึกเพื่อการสังเกตเปรียบเทียบให้เรารู้จักลักษณะแห่งการหายใจยาว – สั้น และมีอะไรแตกต่างกันอย่างไรตามธรรมชาติเท่านั้น. เมื่อได้กำหนดจนเข้าใจดีทั้งสองอย่างแล้ว การกำหนดก็ดำเนินไปในการหายใจที่เป็นไปตามปรกติหรือในอัตราที่เราถือว่าเป็นปรกติ และสามารถเป็นสมาธิอยู่ทั้งในขณะที่มีลมหายใจสั้นหรือยาว ไม่หวั่นไหว. การหายใจตามธรรมชาติ ย่อมเปลี่ยนไปตามอำนาจสิ่งแวดล้อม เช่นฉันทะเป็นต้น สั้นๆ ยาวๆ แทรกแซงกันบ้าง แต่ก็ไม่มากมายนัก ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขตามกรณีที่เกิดขึ้น เช่นเมื่อมีความหงุดหงิดเกิดขึ้น ก็สังเกตได้ด้วยลมหายใจที่สั้นเข้า แล้วก็แก้ไขด้วยการน้อมจิตไปสู่ความปราโมทย์ ซึ่งจะทำให้ลมหายใจกลับยาวไปตามเดิม. ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของบุคคลผู้ปฏิบัตินั่นเอง ทำให้กำหนดได้ทั้งลมหายใจที่ยาวและสั้น ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นสลับซับซ้อนอย่างไรและสามารถกำหนดให้เป็นสมาธิได้ ไม่ว่ามันจะอยู่ในสภาพที่เรียกกันว่ายาวหรือสั้น.

เมื่อการปฏิบัติได้ดำเนินมาถึงขั้นที่สองนี้แล้ว เราอาจจะเข้าใจหลักการปฏิบัติได้ด้วยการอุปมากับการไกวเปล : การไกวเปลในที่นี้ เป็นการไกวเปลของคนเลี้ยงเด็ก. เมื่อคนเลี้ยงเด็กจับเด็กใส่เปลลงไปใหม่ๆ เด็กก็ยังไม่หลับ และพยายามที่จะลงจากเปล ซึ่งอาจจะตกจากเปลเมื่อไรก็ได้ เขาจะต้องระวังด้วยการจับตาดู ไม่ว่าเปลนั้นจะแกว่งไปทางไหน จะแกว่งสั้นหรือแกว่งยาว จะแกว่งเร็วหรือแกว่งช้า ตามการต่อสู้ของเด็กก็ตาม, หรือการชักอันไม่สม่ำเสมอของตนเองก็ตาม, หมายความว่าเขาจะต้องจับตาดูอยู่ทุกครั้งที่แกว่ง และทุกทิศทางที่มันแกว่งไป. ครั้งไหนแกว่งไปสั้น ครั้งไหนแกว่งไปยาวอย่างไร เขาย่อมรู้ได้ดี การกำหนดลมหายใจในขั้นนี้ ก็มีอุปมัยฉันนั้น. ด้วยอำนาจที่สติหรือจิตก็ตาม กำหนดอยู่ที่ลมหายใจนั้น จึงทราบความที่ลมหายใจแล่นไปช้าหรือเร็ว สั้นหรือยาว ได้อยู่ตลอดเวลา เพราะความที่สติไม่ผละจากลมนั้น และดำเนินไปโดยทำนองนี้จนกว่าจะสม่ำเสมอเป็นระเบียบดี จึงเริ่มกำหนดในขั้นละเอียดยิ่งขึ้นไป คือในอานาปานสติขั้นที่สาม. กรรมวิธีแห่งการเกิดขึ้น ของฉันทะ ปราโมทย์ และอื่นๆ มีสติ ญาณและลมหายใจเป็นต้น ในการหายใจสั้นนี้ ย่อมเป็นไปโดยทำนองเดียวกันกับที่เกิดจากการหายใจยาว โดยประการทั้งปวง.

(จบอานาปานสติขั้นที่สอง อันว่าด้วยการกำหนดลมหายใจสั้น)

* * *
https://sites.google.com/site/smartdhamma/part6_anapanasati_buddhadhas

. . . . . . .