ตอน แปด อานาปานสติ ขั้นที่ สี่ (การทำกายสังขาร ให้รำงับ) ส่วนที่สอง

ตอน แปด อานาปานสติ ขั้นที่ สี่ (การทำกายสังขาร ให้รำงับ)

ส่วนที่สอง

อุปสรรคของการเกิดปฏิภาคนิมิตและฌาน
ต่อไปนี้ จะได้วินิจฉัยกันถึงอุปสรรคหรืออันตราย ของการทำสมาธิในอานาปานสติขั้นที่สี่ โดยละเอียด. อุปสรรคเฉพาะตอนแรกดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า อานาปานสติขั้นที่สี่ มีใจความสำคัญอยู่ตรงที่การกำหนดลมหายใจที่ละเอียด หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ กายสังขารที่รำงับลงๆ จนถึงที่สุด. อุปสรรคอาจจะเกิดขึ้นได้ในตอนแรก คือจากการที่ลมหายใจละเอียดจนถึงกับกำหนดไม่ได้ หรือรู้สึกราวกะว่าหายไปเสียเฉยๆ .นี้ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความระส่ำระสายขึ้นในใจของผู้ปฏิบัติซึ่งประสบเข้าเป็นครั้งแรก. ในกรณีเช่นนี้ เขาอาจจะระงับความสงสัยหรือความกระวนกระวายใจนั้นเสียได้ โดย ๒ วิธี คือ :-

(๑) การเริ่มตั้งต้นหายใจเสียใหม่ให้รุนแรง แล้วตั้งต้นทำไปใหม่ตามลำดับตั้งแต่ต้นไปอีก ซึ่งถ้าหากสิ่งต่างๆ ได้ถูกปรับปรุงให้เป็นไปอย่างเหมาะสมกว่าคราวก่อน ก็จักผ่านอุปสรรคอันนี้ไปได้โดยอัตโนมัติ.

(๒) ถ้าหากว่าการทำอย่างนั้นยังไม่ได้ผลก็ดี หรือว่าผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติมาจนถึงขั้นที่ละเอียดเช่นนี้แล้ว ไม่อยากจะย้อนกลับไปสู่ขั้นปฏิบัติที่ยังหยาบอยู่ก็ดีเขาอาจจะผ่านอุปสรรคอันนี้ไปได้ โดยวิธีแห่ง การปลอบใจตัวเอง หรือชักนำจิตใจของตัวเอง ให้เกิดความแน่ใจหรือกำลังอย่างเพียงพอขึ้นมาใหม่ โอกาสก็จะอำนวยให้สำหรับการกำหนดได้โดยง่าย โดยลมหายใจนั้นค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้นมาใหม่โดยสมควรแก่การกระทำ ในการประคับประคองจิต หรือการชักนำจิตของตนไปในทางที่จะให้เกิดปฏิกิริยาต่อร่างกาย อย่างพอเพียงที่จะทำให้ลมหายใจค่อยๆ กลับปรากฏชัดเจนขึ้นมาใหม่. ตัวอย่าง เช่นเมื่อได้ทำมาจนถึงขั้นที่จะทำลมหายใจให้ละเอียดแล้วลมหายใจไม่ปรากฏ หรือมีอาการราวกะว่าแกล้งหายไปเสียเฉยๆ ดังนี้แล้ว เขาจะต้องถอนหายใจยาวๆ หลายครั้ง แล้วอธิษฐานจิตในการที่พิจารณาอย่างจริงจังว่าตนไม่ได้อยู่ในสภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ในพวกบุคคลผู้มีลมหายใจไม่ปรากฏแต่ประการใดเลย. เขาพิจารณาเพื่อให้เกิดความแน่ใจสืบไปว่า คนที่ไม่หายใจนั้นใครๆ ก็รู้ว่ามีอยู่ แต่คนเหล่านี้คือ คนที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา. คนที่กำลังดำน้ำ, พวกอสัญญีสัตว์, คนตายแล้ว, คนที่กำลังอยู่ในจตุตถฌาน, คนที่กำลังอยู่ในรูปสมาบัติหรืออรูปสมาบัติ, และคนที่กำลังอยู่ในนิโรธสมาบัติเท่านั้น ; ก็เรานี้มิได้อยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่งของบุคคลเหล่านั้นแล้ว ไฉนเราจึงต้องเป็นบุคคลที่มีลมหายใจไม่ปรากฏด้วยเล่า.

เมื่อเขาอธิษฐานจิตอย่างแน่วแน่ ในการที่จะต้องเป็นบุคคลที่ยังมีลมหายใจอยู่เช่นนั้น ลมหายใจก็ย่อมปรากฏแม้ในขั้นที่ละเอียดและในลักษณะที่ละเอียดได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่สูญเสียผลแห่งการปฏิบัติที่ได้ปฏิบัติมาแล้วจนถึงขั้นนี้. ญาณ คือความรู้ที่จะเกิดขึ้นแก่เขาว่า เพราะลมหายใจละเอียดเกินไปบ้าง, เพราะลมหายใจถูกแปรสภาพเป็นละเอียดเร็วเกินไปบ้าง, เพราะการกำหนดผุสนาไม่ถูกที่อันเหมาะสมบ้าง, หรือเพราะกำหนดฐปนาโดยอาการที่พรวดพราดผลุนผลันบ้าง, ลมหายใจจึงไม่ปรากฏเพื่อประโยชน์แก่การกำหนดนั้นๆ ข้อนี้เป็นทางแห่งการปรับปรุงขยับขยายสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกันให้เหมาะสมเสียใหม่ ลมหายใจก็จะกลับปรากฏในลักษณะที่เหมาะสมยิ่งขึ้นไปอีก. อุปสรรคเกี่ยวกับการที่ลมหายใจไม่ปรากฏก็จะหมดไป เขาจะสามารถกำหนดลมหายใจได้ดี ทั้งในขณะแห่งคณนา อนุพันธนา ผุสนาและฐปนา แล้วแต่ว่าอุปสรรคและปัญหาจะเกิดขึ้นระยะไหน. ตามปรกติทั่วไปในกรณีของอานาปานสติมักจะเป็นปัญหายุ่งยากข้อนี้ขึ้น ในขณะแห่งผุสนานั่นเอง. อุคคหนิมิตไม่ปรากฏเพราะไม่มีความรู้สึกว่าลมมากระทบที่ฐานแห่งผุสนา ทำให้กำหนดจุดๆ นั้นไม่ได้ ; นี่เรียกว่าลมหายใจหายไปในระยะแห่งผุสนา. เขาจะต้องแก้ไขด้วยอุบายดังที่กล่าวมาแล้ว. สำหรับในขณะแห่งปฏิภาคนิมิตนั้น สติกำหนดนิมิตที่เป็นมโนภาพที่ปรากฏขึ้นมาใหม่ ไม่เนื่องด้วยลมหายใจโดยตรงก็จริง แต่ก็ยังเนื่องกันอยู่โดยอ้อมคือถ้าลมหายใจไม่เป็นไปตามปรกติตามที่ต้องประสงค์ขั้นนี้ ปฏิภาคนิมิตก็ไม่อาจจะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วก็กลับล้มเหลวไป เพราะฐปนาไม่อาจเป็นไปด้วยดีนั่นเอง.

อีกประการหนึ่ง พึงทราบไว้อีกชั้นหนึ่งในที่นี้ว่า ปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเคลื่อนย้ายจากจุดที่ลมกระทบ คือจุดผุสนา ไปได้ตามการน้อมไปของจิต เช่น สามารถจะย้ายปฏิภาคนิมิตจากที่เคยตั้งอยู่ที่จะงอยจมูก ให้ออกไปภายนอกเช่นไปลอยอยู่ตรงหน้าห่างออกไปจากตัว หรือย้ายเข้าไปในภายใน ไปเด่นอยู่ที่ทรวงอกหรือที่สะดือก็ตาม แล้วแต่กรณี. เมื่อจุดแห่งผุสนาเป็นสิ่งที่เคลื่อนย้ายไปสู่ตำแหน่งใหม่ได้โดยมโนภาพ จุดแห่งฐปนาก็เป็นอันย้ายตามไปได้อย่างเดียวกัน. ในกรณีเช่นนี้ การกำหนดผุสนาและฐปนา จะต้องเป็นไปอย่างพลิกแพลงและละเอียดสุขุมยิ่งขึ้นไปตั้งแต่ต้น ลมหายใจก็จะต้องมีอยู่ได้เอง เป็นระเบียบอยู่ได้เองโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีความสำนึก มากขึ้นไปตามส่วน. นี้เองเป็นการแสดงว่า ลมหายใจมีอยู่ได้โดยไม่ทำความรู้สึกว่ามีแต่อย่างใด ; เพราะฉะนั้นการกำหนดลมหายใจจะต้องเป็นการกำหนดที่ชัดเจนที่สุด และเป็นระเบียบที่สุดและด้วยความแน่ใจปราศจากความสงสัยที่สุด ในการที่จะไปสงสัย และทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปว่าลมหายใจมิได้มีอยู่ ซึ่งที่แท้มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ได้โดยไม่ต้องมีความสำนึก และเป็นระเบียบสม่ำเสมออยู่ได้ โดยไม่ต้องมีเจตนาควบคุม เพราะผลแห่งการฝึกมาแล้วเป็นอย่างดี และอย่างเพียงพอนั่นเอง. สรุปความได้ว่าการหายไปแห่งลมหายใจจริงๆ นั้น ต้องไม่มีอย่างแน่นอน, ถ้ามีก็ต้องเป็นความสำคัญผิด ต้องขจัดให้หายไปด้วยอุบายดังที่กล่าวแล้ว ; ผู้นั้นจึงจะสามารถกำหนดลมหายใจ หรือกายสังขาร ในขั้นที่รำงับลงอย่างละเอียดที่สุดได้.นี้คืออุปสรรค และวิธีขจัดอุปสรรคชนิดที่มักเกิดในขั้นแรก แห่งอานาปานสติขั้นที่สี่นี้.

อุปสรรคทั่วไป

ส่วนอุปสรรคในขั้นต่อไปและมีได้ทั่วๆ ไปนั้น อาจมีได้แทบทุกระยะแห่งการปฏิบัติและการเลื่อนลำดับของการปฏิบัติ หากแต่ว่าเป็นปัญหาที่อาจจะเกิดเฉพาะคน เพราะอุปนิสัยแตกต่างกัน ดังที่ได้เคยกล่าวแล้วข้างต้น. ถ้าจะประมวลมาให้หมด หรือเผื่อไว้สำหรับทุกคน ก็จะได้เป็นหัวข้อดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ควรสำเนียกศึกษาไว้อย่างคล่องแคล่วและแม่นยำที่สุด.

ก. เมื่อสติกำหนดลมหายใจออก จิตฟุ้งอยู่ในภายใน. คือเมื่อบุคคลส่งจิตไปตามลมที่กำลังออกไปในขณะแห่งลมหายใจออก โดยจะกำหนดเป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด หรือไม่ก็ตาม เกิดความห่วงว่ามันจะหายใจกลับเข้าไปเมื่อไร หรือเกิดความกังวลว่า มันจะขาดตอน หรือมันจะหายไปเลยไม่กลับเข้า หรือเข้าไม่พอ หรือเข้าอย่างไม่มีระเบียบ ดังนี้แล้ว ย่อมเป็นอุปสรรคหรืออันตรายต่อความเป็นสมาธิ แม้ในชั้นหยาบ. เขาจะต้องมีหลักในการที่จะไม่ให้เกิดความระแวงหรือกลัวหรือห่วงเช่นนั้น. ความรู้สึกฟุ้งซ่านที่กล่าวนี้จะปรากฏแก่บุคคลผู้แรกฝึกเป็นธรรมดา. ถ้าไม่ได้รับการแนะนำล่วงหน้า ย่อมเกิดการเสียประโยชน์ หรือเสียเวลามากกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น.

ข. ในกรณีแห่งการหายใจเข้า. ก็มีอุปสรรคในทำนองเดียวกัน คือเมื่อสติกำหนดลมหายใจเข้าถึงที่สุดแล้ว จิตแล่นออกไปภายนอก คือไปห่วงอยู่ว่าเมื่อไรลมจะกลับออกไป เมื่อไรมันจะกระทบฐานที่กระทบสำหรับขาออก ดังนี้เป็นต้น. นี้เรียกว่า จิตฟุ้งออกไปภายนอก มีอาการกลับกันกับข้อ ก. เมื่อนำมาเข้าคู่กัน ก็อาจจะสรุปได้ว่า เมื่อกำหนดลมหายใจออก จิตฟุ้งไปข้างใน คือไปกังวลอยู่ข้างใน : เมื่อกำหนดลมหายใจเข้า จิตฟุ้งไปข้างนอก คือไปกังวลอยู่ข้างนอก. ทั้งนี้ เป็นกฎธรรมดาที่ว่า เมื่อสำเร็จเรื่องข้างนอกแล้ว ก็ไปห่วงข้างใน เมื่อสำเร็จเรื่องข้างในแล้วก็ไปห่วงข้างนอก. อาการเช่นนี้ จะเกิดขึ้นเองโดยอำนาจสัญชาตญาณอย่างหนึ่ง, และผู้ปฏิบัติมีความร้อนรน หรือมีความตั้งใจรุนแรงเกินไปในการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง. การศึกษามาแล้วอย่างเพียงพอ กับการสำรวจจิตอย่างประณีตสุขุม หรือพอเหมาะพอสม และการไม่คิดอะไรล่วงหน้าไว้มา ๆ เป็นต้น ย่อมแก้อุปสรรคคู่นี้ได้

อุปสรรคคู่ถัดไปก็คือ :

ค. ความหวังอยู่ก็ดี ความพอใจอยู่ก็ดี ความอยากก็ดี ซึ่งมีอยู่ในลมหายใจออก.

ง. ความหวังอยู่ก็ดี ความพอใจอยู่ก็ดี ความอยากก็ดี ซึ่งมีอยู่ในลมหายใจเข้า.

ทั้งคู่นี้ ล้วนแต่เป็นอันตรายต่อความเป็นสมาธิ. ความหวังในลมหายใจออกหรือเข้าก็ตาม เกิดมาแต่ความกลัวว่าลมจะหายไป ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติของตัวต้องชะงัก หรือไม่เป็นผลดีทันตามต้องการ. ผู้ที่ปฏิบัติด้วยตัณหาอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ในตัวการปฏิบัติเต็มที่ ยิ่งต้องรับเคราะห์กรรมข้อนี้มาก ส่วนผู้ที่ปฏิบัติด้วยปัญญา หรือสัมมาทิฏฐิ พร้อมด้วยคำแนะนำที่ดี ก็แทบจะไม่พบอุปสรรคอันนี้. ความพอใจในลมหายใจออกหรือเข้า ที่เกิดมาจากความรู้สึกสบายในขณะที่หายใจออกหรือเข้า หรือที่เกิดมาจากความรู้สึกที่เป็นการยึดมั่นถือมั่นก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งที่มีอำนาจมากเพียงพอ ที่จะให้เกิดความฟุ้งซ่านแห่งจิต หรือเกิดความหยาบแห่งลมหายใจ จนไม่มีทางที่จะระงับลงได้. มันจูงไปในทางแห่งความตื่นเต้นเสียตลอดเวลา จึงจัดเป็นอุปสรรคหรืออันตรายในปริยายหนึ่ง. ส่วนความอยากหรือความหวังนั้น เนื่องมาจากความพอใจจึงมีความกระหายต่อการหายใจเข้าหรือออกก็ตาม. แม้ข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้มีจิตหยาบ มีลมหายใจหยาบ ไม่อาจจะระงับลงได้ จึงถือว่าทั้งคู่เป็นอันตรายต่อความเป็นสมาธิ เช่นเดียวกับความฟุ้งแห่งจิต ที่กล่าวแล้วในข้อ ก. และ ข.

คู่ถัดไปอีก คือ :

จ. เมื่อลมหายใจออกครอบงำ เกิดการลืมต่อการหายใจเข้า.

ฉ. เมื่อลมหายใจเข้าครอบงำ เกิดการลืมต่อการหายใจออก.

ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นอันตรายแห่งการทำสมาธิ. คำว่า ถูกลมหายใจครอบงำ นั้น หมายความว่าเขาไปสนใจต่อลมหายใจนั้นรุนแรงเกินไปก็ดี ; หรือการหายใจออกมีอะไรที่ทำให้เกิดความสนใจมากโดยส่วนเดียว ส่วนขณะที่หายใจเข้าไม่มีอาการอย่างนั้น ดังนี้เป็นต้นก็ดี; หรือว่าอวัยวะเครื่องทำการหายใจไม่เป็นปรกติ สะดวกแต่การหายใจออก ไม่สะดวกในเมื่อหายใจเข้า, หรือสะดวกแต่เมื่อหายใจเข้า ไม่สะดวกในเมื่อหายใจออกก็ดี : ย่อมมีอาการที่เป็นอุปสรรคในข้อนี้เกิดขึ้น. โดยใจความก็คือได้มีอะไรมาทำให้เขาสนใจ หรือกำหนดลมหายใจได้แต่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะความไม่รู้เท่าถึงการณ์, ลักษณะที่เป็นได้ง่ายแก่ผู้ปฏิบัตินั้น ก็อยู่ตรงที่เขาไปสนใจอย่างรุนแรงและยืดยาว ในสิ่งซึ่งเป็นสิ่งแรกที่เขาประสบเข้า, และข้อถัดไปก็เนื่องมาจากอวัยวะซึ่งเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ได้เท่ากัน ในขณะหายใจเข้าและออก จนทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้น โดยที่ไม่สามารถจะใช้จุดๆ เดียวกัน ให้เป็นที่ตั้งของผุสนาได้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งเมื่อหายใจออกและหายใจเข้า คู่ถัดไปอีกคือ :

ช. เมื่อกำหนดนิมิต จิตในลมหายใจออกหวั่นไหว.

ซ. เมื่อกำหนดลมหายใจออก จิตในนิมิตหวั่นไหว.

ทั้งสองอย่างนี้ เป็นอันตรายต่อความเป็นสมาธิ. คำว่า นิมิต ในที่นี้ก็หมายถึงนิมิตในขั้นผุสนา หรืออุคคหนิมิต. เมื่อจิตไปกำหนดอยู่ที่อุคคหนิมิตคือฐานที่ลมกระทบ จิตที่กำหนดตัวลมก็หวั่นไหว หรือส่ายไป. อีกทางหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามก็คือ เมื่อกำหนดที่ตัวลมหายใจมากเกินไป หรือด้วยความตั้งใจเต็มที่ จิตที่จะกำหนดในนิมิต คือฐานที่ลมกระทบ หรือที่เรียกว่าผุสนานั้น ก็เป็นจิตหวั่นไหวหรือส่ายไป. อุปสรรคข้อนี้เกิดมาจากการกระทำที่สับสน หรือผิดลำดับ เพราะการศึกษาไม่เพียงพอ หรือทำไปตามความเข้าใจของตนเอง. เมื่อการปฏิบัติยังอยู่ในขั้นแรก อุปสรรคหรือปัญหานี้ยังไม่เกิด เพราะตัวลมหายใจนั้นเองเป็นตัวนิมิต. ถ้าปัญหาจะเกิด ก็เนื่องมาจากการที่ผู้นั้นได้ไปทำการกำหนดแบ่งแยกให้เป็นนิมิตอย่างหนึ่ง ให้ลมหายใจอย่างหนึ่ง แล้วเขาก็กำหนดในฐานะที่เป็นนิมิตนั้นอย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นลมหายใจนั้นอีกอย่างหนึ่ง ; เมื่อกำหนดอย่างใดมากไป จิตที่กำหนดทางอีกฝ่ายหนึ่งก็หวั่นไหว ดูๆ คล้ายกับว่าเป็นการรู้มาก ยากนาน. ถ้าหากกระทำแต่เพียงว่าสติกำหนดลมอย่างแน่วแน่แล้ว ถือเอาลมนั้นเป็นนิมิตพร้อมกันไปในตัว ก็ไม่มีทางที่จะกำหนดหนักไปในทางใดทางหนึ่ง อุปสรรคหรือปัญหาที่กล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น ในขั้นที่กำหนดลมหายใจให้เป็นนิมิต ทั้งนี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับลมหายใจออก. ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับลมหายใจเข้า ก็เป็นไปในทำนองอย่างเดียวกันคือ :

ฌ. เมื่อกำหนดนิมิต จิตในลมหายใจเข้าหวั่นไหว.

ญ. เมื่อกำหนดลมหายใจเข้า จิตในนิมิตหวั่นไหว.

ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นอันตรายต่อความเป็นสมาธิ. คำอธิบายและการแก้ไขอุปสรรคครั้งนี้ เป็นอย่างเดียวกับคู่ก่อน คือ ช. กับ ซ. จึงสามารถวินิจฉัยรวมกันไปในคราวเดียวกัน และอาจจะสรุปความประมวลเป็นใจความสำคัญ ที่ใช้ได้ทั่วไปทั้ง ๒ คู่ ว่า ในเมื่อยังใช้ลมหายใจเป็นนิมิต ก็ควรใช้อุบายในการกำหนดควบคู่ไปด้วยกัน คือไม่ทำในใจในทางที่จะแบ่งแยกกัน. ครั้นล่วงมาขณะแห่งอุคคหนิมิต ก็กำหนดเอาฐานที่ตั้งเป็นตัวนิมิต ไม่ใส่ใจถึงลมหายใจ ใส่ใจแต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่ตรงจุดนั้นเท่านั้น ซึ่งย่อมเป็นการกำหนดลมหายใจไปในตัว โดยไม่รู้สึกตัว ด้วยอุบายที่แยบคาย. ครั้นตกมาถึงระยะแห่งปฏิภาคนิมิต ซึ่งเป็นการถือเอาดวงแห่งมโนภาพที่เกิดขึ้นมาเป็นตัวนิมิต การกำหนดลมหายใจก็กลายเป็นสิ่งที่ระงับไปแล้วโดยสิ้นเชิง โดยถือว่าลมหายใจเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นระเบียบโดยไม่รู้สึก เมื่อการกำหนดปฏิภาคนิมิตยังเป็นไปได้ดีอยู่ คือปรกติอยู่ ก็เป็นอันถือว่าลมหายใจนั้นยังเป็นระเบียบอยู่โดยไร้สำนึกในขั้นนี้ จึงมีแต่การกำหนดนิมิตแต่ออย่างเดียวโดยตรง ไม่ต้องทำในใจให้เป็นห่วงถึงการกำหนดลมเลย. ทั้งหมดนี้อาจจะสรุปความสั้นๆ ได้อีกครั้งหนึ่งว่า :

(๑) ในขณะแห่งบริกรรมนิมิต กำหนดลมและนิมิตพร้อมกันไปในตัว

(๒) ในขณะแห่งอุคคหนิมิต กำหนดแต่นิมิตที่ตรงจุดแห่งผุสนา ให้การกำหนดลมเป็นแต่เพียงของฝาก หรือของพลอยได้ ซึ่งไม่ต้องสนใจเท่ากับการกำหนดนิมิต แต่ผุสนาย่อมเกิดขึ้น เมื่อลมกระทบเท่านั้น ฉะนั้นจึงเป็นการกำหนด ๒ อย่างพร้อมกันไปในตัวโดยอีกปริยายหนึ่ง.

(๓) ส่วนในขณะแห่งปฏิภาคนิมิต กำหนดแต่นิมิตโดยตรงเพียงอย่างเดียว ทิ้งลมหายใจไว้ในฐานะที่เป็นสิ่งดำเนินไปได้เอง โดยไม่ต้องมีการกำหนดแม้โดยปริยาย. อุปสรรคหรืออันตราย ๒ คู่นี้ย่อมหมดไปโดยอุบายอันแยบคาย แห่งการปฏิบัติอันถูกต้องในขณะแห่งนิมิต ๓ ระยะ ดังกล่าวนี้.

คู่ถัดไปอีก คือ :-

ด. เมื่อกำหนดลมหายใจออก จิตในลมหายใจเข้าหวั่นไหว.

ต. เมื่อกำหนดลมหายใจเข้า จิตในลมหายใจออกหวั่นไหว.

ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นอันตรายต่อความเป็นสมาธิ. อุปสรรคคู่นี้เป็นไปในระยะแรกๆ. ความหมายโดยตรงหมายถึงอาการของบุคคลที่ไม่ทำในใจโดยแยบคาย คือไม่มีการทำในใจมากพอ ถึงกับไม่สามารถทำของ ๒ อย่างนี้ให้สม่ำเสมอกันด้วยความรู้สึกที่เท่ากัน. ทั้งนี้เป็นเพราะความไม่รู้บ้าง เพราะความตั้งใจมากเกินไปบ้าง ผู้ปฏิบัติพึงสังเกตให้เห็นว่าอุปสรรคในคู่นี้ มีอาการคล้ายกันกับข้อ ก. และ ข. หากแต่ มีความมุ่งหมายแตกต่างกันบ้างในข้อที่ว่าในขั้นนี้ หมายถึงจิตที่ไม่ได้รับการกระทำที่สม่ำเสมอกันในคู่หนึ่งๆ มีอาการผิดปรกติเป็นพิเศษกว่า หรือเล็กน้อยกว่า หรือเฉพาะคนกว่า ยิ่งกว่าในขั้นต้นคือในข้อ ก. และ ข. ; และยังหมายถึงว่าจิตหวั่นไหวในระยะหลังนี้ อาจจะมีมูลเหตุมาจากทางอื่น โดยไม่เนื่องกับการหายใจที่คู่กันในระยะเดียวกันก็ได้ เพราะเหตุที่โยนิโสมนสิการในลมหายใจไม่เท่ากันทั้ง ๒ ระยะ. ผู้ประสบอุปสรรคข้อนี้จะต้องหาทางแก้ไขเฉพาะส่วนที่หวั่นไหว หรือเท่าที่เป็นมูลเหตุของความหวั่นไหวเฉพาะส่วน. นำมากล่าวไว้ในฐานะเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นเท่านั้น.

ส่วนคู่ต่อไปนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแทรกแซง คือ :

ถ. จิตแล่นไปตามอารมณ์ในอดีต เป็นจิตตกไปข้างกระสับกระส่าย (วิกเขปะ).

ท. จิตหวังอารมณ์ในอนาคต เกิดเป็นจิตหวั่นไหว (วิกัมปิตะ).

ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นอันตรายต่อการทำสมาธิ. ข้อที่ต้องสังเกตมีอยู่ว่าอารมณ์ในอดีตเป็นเหตุให้กระสับกระส่าย อารมณ์ในอนาคตเป็นเหตุให้หวั่นไหว; อาการทั้งสองนี้ มีความแตกต่างกันอย่างไร ? อาการกระสับกระส่ายหรือวิกเขปะนั้นหมายถึงมากเรื่อง หรือหลายทิศหลายทาง, ส่วนอาการหวั่นไหวหมายถึงเฉพาะเรื่อง และมีที่มุ่งหมายทางใดทางหนึ่ง. การแก้ไขอุปสรรคคู่นี้ มีอาการคล้ายกันในระยะแรก คือ ต้องละเว้นหรือรำงับจิตที่เป็นอย่างนั้นเสียก่อน แล้วจึง (๑) ทำการ “ตั้งจิตใหม่” ในอารมณ์หรือในฐานอันเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ผุสนา สำหรับจิตที่แล่นไปในอารมณ์อดีต ; และ (๒) ทำการ “น้อมจิตไป” ในอารมณ์หรือฐานอันเดียวอย่างเดียวกัน สำหรับจิตที่หวังอารมณ์ในอนาคต. ความแตกต่างระหว่างคำว่า “ตั้งจิตใหม่” (สำหรับข้อ ถ.) และคำว่า “น้อมจิตไป” (สำหรับข้อ ท.) มีอยู่อย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาดูอย่างละเอียด จึงจะเข้าใจและปฏิบัติไปจนแก้อุปสรรคนั้นได้. คำว่า “ตั้ง” หมายความว่า ตั้งขึ้นใหม่ สำหรับกรณีที่ไม่ได้ตั้งขึ้นมาก่อน หรือตั้งขึ้นไม่สำเร็จก็ตาม หรือว่าไม่รู้จะตั้งตรงไหนก็ตาม ; ฉะนั้น ต้องมีการตั้งหรือการกำหนดโดยเฉพาะขึ้นมาใหม่. ส่วนคำว่า“น้อม” จิตไปนั้น หมายถึงจิตไปตั้งอยู่ ผิดที่ หรือเป็นการตั้งแล้วอย่างผิดที่หรือกำหนดผิดที่ จะต้องน้อมไปให้ถูกที่ หรือดึงไปให้ถูกที่ อาการจึงต่างกัน. โดยหลักการอันนี้ ทำให้เห็นได้เองว่า ความกระสับกระส่ายหรือวิกเขปะนั้น ไม่มีที่ตั้งและอาศัยมูลเหตุมาจากอารมณ์ในอดีต ซึ่งมีอยู่มากมายด้วยกัน แต่ก็ล้วนแต่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความหวัง. ส่วนอาการที่เรียกว่าหวั่นไหว หรือวิกัมปิตะนั้นหมายถึงอาการตั้งอยู่แล้วในอารมณ์ที่มุ่งหวัง และเกี่ยวกับอารมณ์อนาคตโดยเฉพาะเท่านั้น. ถ้ารู้จักการตั้งและอาการน้อมไปทั้ง ๒ อย่างนี้ได้ดี ก็ย่อมจะแก้ปัญหาข้อนี้ได้.

เมื่อสังเกตความหมายของคำเหล่านี้ได้ถึงที่สุดแล้ว ย่อมได้ความรู้กว้างออกไป แม้ในทางจิตวิทยาล้วนๆ ว่า อารมณ์ในอดีตกับอารมณ์ในอนาคตนั้นนำให้เกิดปฏิกิริยาแก่จิตใจแตกต่างกันในแง่ที่ละเอียดอย่างนี้ ; ไม่ควรจะเหมาๆ เอาเสียว่าผิดกันแต่เป็นอดีตหรืออนาคต หรือโดยสักว่าชื่อ, ส่วนโดยผลหรือโดยปฏิกิริยานั้นเหมือนกัน ดังนี้เป็นต้น. อารมณ์ในอดีตตั้งอยู่ได้ด้วยอาศัยสัญญา ; อารมณ์ในอนาคตตั้งอยู่ได้ด้วยอาศัยเวทนาและวิตก แล้วมันจะเหมือนกันได้อย่างไร. อีกทางหนึ่งก็คือการศึกษาให้รู้เรื่องสัญญา เวทนาและวิตก นั่นเอง จะเป็นประโยชน์แก่การตั้งจิต และการน้อมจิตไป ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ได้ตามความประสงค์.

สำหรับคำว่า “ละเว้นจิตนั้นๆ เสีย” แล้วจึงตั้งใหม่ หรือน้อมไปใหม่นั้น มีทางที่จะละเว้นเสียด้วยการข่ม อย่างหนึ่ง ; และด้วยการพิจารณาอีกอย่างหนึ่ง ในเมื่อการข่มทำไปไม่สำเร็จ. อธิบายว่า เมื่อเราต้องการจะละสัญญาในอดีตเรื่องใดเสีย ด้วยการข่มใจไม่ให้ระลึกถึง โดยให้ไปกำหนดอยู่ในนิมิตของสมาธิ, แต่ทำอย่างไรๆ ก็ไม่สำเร็จ เพราะสัญญาในอดีตมีกำลังมากเกินไปจนไม่อาจจะข่มได้ จะต้องอาศัยการละด้วยพิจารณาด้วยปัญญา คือเพ่งพิจารณาดูถึงอารมณ์แห่งสัญญาในอดีต ว่าอารมณ์นั้นก็ดี สัญญานั้นก็ดี เป็นแต่เพียงสิ่งที่ถูกปรุงขึ้นมา และเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือปราศจากตัวตนโดยสิ้นเชิง. เมื่อเห็นชัดแจ้งดังนี้ การละเว้นจิตที่แล่นไปตามอารมณ์แห่งสัญญาในอดีต ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คือทำลายเสียได้. สำหรับอารมณ์ในอนาคต ก็มีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน หากแต่ว่าถ้าเป็นการพิจารณาจะต้องพิจารณาลงไปยังตัวเวทนาหรือวิตก : เวทนาคือเวทนาที่หวังจะได้มาเป็นความถูกอกถูกใจ เป็นต้น จากอารมณ์ในอนาคต. วิตกคือการตริตรึกไปสู่อารมณ์ในอนาคต. เมื่อทั้งเวทนาและวิตกเป็นเพียงมายา คือเป็นเพียงสิ่งที่ปรุงมันขึ้นในใจ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดังที่กล่าวแล้ว ก็ทำลายเวทนาและวิตกเสียได้ อารมณ์ในอนาคตก็ถูกทำลายไป นี้เรียกว่า “ละเว้นจิตนั้นๆ” เสียได้ แล้วตั้งจิตใหม่หรือน้อมจิตไปสู่อารมณ์ใหม่ คือไปสู่นิมิตของสมาธิระยะใดระยะหนึ่งนั่นเอง.

อุปสรรคคู่นี้อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือระยะเริ่มแรก ได้แก่ในขณะแห่งคณนาหรืออนุพันธนาของบริกรรมนิมิตโดยเฉพาะและอาจก้าวก่ายขึ้นไปถึงระยะผุสนาแห่งอุคคหนิมิตในบางส่วนหรือบางโอกาส. แต่ถ้าหากว่าได้แก้ไขอุปสรรคอันนี้ไปด้วยดีตั้งแต่ระยะแห่งบริกรรมนิมิตแล้ว การรบกวนในระยะแห่งอุคคหนิมิตก็ยากที่จะมีได้.

อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะต้องสำเหนียกไว้ก็คือว่า บุพพกิจเบื้องต้นต่างๆ ในระยะตระเตรียมตัวเพื่อทำกัมมัฏฐาน ตลอดถึงการละปลิโพธ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการเกิดของอุปสรรคคู่นี้ หรือการไม่เกิดของอุปสรรคคู่นี้อย่างไม่น้อยทีเดียว. อีกสิ่งหนึ่งซึ่งควรระลึกด้วยก็คือ กัมมัฏฐานอุปกรณ์ ที่ใช้ทำอยู่เป็นประจำวันสำหรับสนับสนุน กัมมัฏฐานหลัก ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น. สิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่มาก ในการป้องกันมิให้เกิดอุปสรรคคู่นี้ขึ้นมาได้ง่าย ๆ.

อุปสรรคคู่ถัดไปคือ :

ธ. จิตหดหู่ เป็นจิตตกไปข้างฝ่ายเกียจคร้าน.

น. จิตเพียรจัดเกินไป เป็นจิตตกไปข้างฝ่ายฟุ้งซ่าน.

ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นอันตรายต่อความเป็นสมาธิ. อุปสรรคทั้งคู่นี้อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ หากแต่ว่ามาในทางที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่มาด้วยกันอย่างเคียงคู่กันเหมือนคู่อื่นบางคู่.

อุปสรรคอย่างแรก คำว่า “หดหู่” โดยใจความ หมายถึงความอ่อนกำลัง หรือไร้กำลัง เพราะปฏิบัติผิดก็ดี เพราะเนื่องด้วยโรคภัยก็ดี เพราะเนื่องด้วยร่างกายไม่สมประกอบก็ดี หรือเพราะกำลังในทางจิตคืออินทรีย์ต่าง ๆ (มีสัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) อ่อนเกินไปก็ดี ล้วนแต่นำมาซึ่งผลอย่างเดียวกันคือความถอยกำลัง แล้วตกไปเป็นฝ่ายเกียจคร้าน. ความซึมเซา ง่วงเหงาหาวนอน มึนชา สลัว ท้อแท้ อิดโรย และอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะแห่งการถอยกำลังอย่างเดียวกันย่อมจัดเข้าไว้ในข้อนี้ ; หรือแม้ที่สุดแต่ความคิดที่เปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งเกิดความไม่พอใจ หรือไม่เลื่อมใสต่อวัตถุประสงค์อันนี้โดยแท้จริง ก็นับรวมเข้าไว้ในข้อนี้. รวมความว่ากิริยาที่จิตถอยกำลังลงไป เรียกว่าความหดหู่ในที่นี้ทุกอย่าง. การระงับอุปสรรค หรืออันตรายคือความหดหู่นี้ มีหลักอยู่ว่า “เธอประคองจิตนั้นขึ้น แล้วย่อมละความเกียจคร้านเสียได้”. สิ่งที่ต้องศึกษา คือการที่จะประคองจิตนั้นขึ้นโดยวิธีไร. ผู้ปฏิบัติจะต้องประคองจิตด้วยอุบายที่แยบคายเริ่มด้วยการแก้ไขมูลเหตุต่างๆ ของความหดหู่ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เท่าที่จะทำให้ได้ดีในภายนอกหรือในทางกายอย่างไรเสียก่อน แล้วจึงยกจิตในภายในขึ้น : เช่นถ้าร่างกายไม่ดี อาหารไม่เหมาะหรือสัปปายธรรมอย่างอื่นไม่เพียงพอ ก็ต้องแก้ไขส่วนนั้นก่อน แล้วจึงแก้ไขส่วนที่เป็นเรื่องของจิตโดยตรง. การแก้ไขทางจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือปลูกฉันทะ ในการเจริญภาวนาให้มากขึ้นด้วยอุบายที่แยบคาย ซึ่งมีอยู่มากมายด้วยกัน แล้วแต่ความเหมาะสม. ถ้าเหลือวิสัยของตนเอง ผู้เป็นกัลยาณมิตรหรืออาจารย์ ก็อาจจะช่วยเหลือได้ดี. อุบายปลูกฉันทะนั้น ที่เป็นภายนอกก็คือ ระลึกถึงบุคคลภายนอกอันเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา เช่น ระลึกในพระพุทธคุณ เกิดความเลื่อมใส แล้วก็เกิดความอยากหรือความพอใจในการปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไป ดังนี้ก็ดี ; หรือระลึกถึงบุคคลคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งมานะ ว่าเราก็คนเขาก็คน เมื่อเขาปฏิบัติได้ เราก็ต้องปฏิบัติได้ ดังนี้เป็นต้นก็ดี เรียกว่าอาศัยเหตุปัจจัยภายนอก. อีกทางหนึ่งก็คือ อุบายปลูกฉันทะอาศัยเหตุปัจจัยภายในของตัวเองโดยตรง ว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้ วัฏฏสงสารเป็นอย่างนี้ ความดับทุกข์เป็นอย่างนี้ ความหยุดเวียนว่ายเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางอื่น : ยิ่งพิจารณาไปก็ยิ่งเห็นคุณแห่งพระธรรม และเห็นความจำเป็นที่ตนต้องพึ่งพระธรรม ไม่มีทางอื่นที่จะเป็นทางรอดของตนได้ ดังนี้เป็นต้นก็ดี : นี้เรียกว่าอาศัยเหตุที่เป็นภายใน เป็นอุบายประคองจิต เป็นการเพิ่มกำลังให้แก่อินทรีย์ของตนได้ด้วยกันทั้งนั้น. ประคองจิตขึ้นมาได้เท่าไร ก็ย่อมมีกำลังละความหดหู่ หรือความเกียจคร้านเสียได้เท่านั้น. ผู้มีความเฉลียวฉลาดมากเท่าไร ก็ย่อมคิดหาอุบายประคองจิตของตนได้ เป็นวงกว้างขึ้นไปเท่านั้น. รวมความแล้ว ก็เป็นทางให้เกิดฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ด้วยกันทั้งนั้น และล้วนแต่เป็นความหวังหรือเห็นแก่สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งตนหวังด้วยกันทั้งนั้น จึงอาจจะนำมาใช้เป็นอุบายได้ : นับตั้งแต่เห็นแก่บิดามารดา เห็นแก่บุคคลที่ตนประสงค์จะให้เขาได้รับความพอใจ เห็นแก่พระพุทธเจ้า เห็นแก่พระศาสนา กระทั่งเห็นแก่ความหลุดพ้นของตัวเองเป็นที่สุด. ส่วนการเห็นแก่ทรัพย์ หรือชื่อเสียงเป็นต้นนั้น เป็นของต่ำเกินไปกว่าที่จะนำมาใช้เป็นอุบายสำหรับปลูกฉันทะในกรณีเช่นนี้ได้. สรุปความว่า ถ้าจิตหดหู่ต้องแก้ไขด้วยอุบายที่เป็นการประคับประคอง.

ส่วนอุปสรรคเกิดจากการที่จิตมีความเพียรจัดเกินไป จนตกไปข้างฝ่ายฟุ้งซ่านนั้น เป็นสิ่งที่กลับตรงกันข้ามกับจิตที่หดหู่โดยประการทั้งปวง. อุบายสำหรับแก้ไขอุปสรรคข้อนี้ จึงมีอยู่ในรูปตรงกันข้ามว่า “เธอข่มจิตนั้นเสีย ย่อมละความฟุ้งซ่านได้” ดังนี้. จิตเพียรจัดเกินไป หมายถึงมีความขะมักเขม้นเกินขอบเขต. กล่าวโดยที่ถูกแล้ว จิตไม่ควรจะมีความขะมักเขม้นหรืออะไรๆ ที่มีความหมายมากมายเกินกว่าความพอดีทุกชนิดทีเดียว. แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าความเพียร ก็ควรจะทราบว่าเป็นความเพียรที่ทำไปในลักษณะที่พอดี มิใช่พากเพียรด้วยตัณหามานะ เหมือนกรณีของชาวโลกที่ประกอบการงาน. ความเพียรที่จัดเกินไปนั้น ย่อมมีมูลมาจากตัณหามานะทิฏฐิ กระทั่งถึงอวิชชาเป็นที่สุด ; เพราะฉะนั้น จะต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับความเพียรที่พอเหมาะพอดี มาเป็นพื้นฐานเสียก่อน. อีกทางหนึ่งความเพียรอาจจะพุ่งจัดเกินไปได้ ด้วยความเคยชินที่เลื่อนลอย ในการกระทำทางกายและทางจิต เช่นมีความขยันขันแข็งในการนั่ง หรือการยืน หรือการจงกรมเป็นต้น มากเกินไป. จนเกิดความผิดปรกติขึ้นในร่างกาย แล้วจิตก็ต้องฟุ้งซ่านไปตาม : หรือในระยะแห่งวิปัสสนา ขยันพิจารณาอย่างมุมานะมากเกินไป กว่าการเพ่งดูความจริงอย่างแน่วแน่แล้ว จิตก็ตกไปเป็นฝ่ายฟุ้งซ่านได้อย่างใหญ่หลวงโดยง่าย เพราะความเคยชินอันเลื่อนลอยนั้น. เมื่อเสียความเป็นปรกติทั้งทางฝ่ายกาย และฝ่ายจิตรวมเข้าด้วยกันแล้วเขาย่อมไม่สามารถจะข่มจิตได้ กระทั่งถึงแม้จะนอนหลับก็หลับไม่ได้ โดยที่จิตใฝ่ฝันเลื่อนลอยไป ไม่ยอมหยุด ทั้งที่กายนอนหลับตานิ่ง จนกระทั่งเป็นอันตรายในที่สุด.

การข่มจิตในที่นี้จะสำเร็จได้ด้วยการป้องกัน และการกำจัดมูลเหตุแห่งความฟุ้งซ่านโดยตรงนั้นเอง. เมื่อได้บรรเทามูลเหตุชั้นหยาบๆ หรือที่เป็นภายนอกออกไปเสียได้แล้ว ก็สามารถขจัดความฟุ้งซ่านที่เป็นชั้นละเอียด หรือภายในได้ตามลำดับ. ในบางกรณี ต้องเป็นไปในทางพักผ่อนเสียชั่วคราว ทั้งทางกายและทางใจ พักผ่อนทางกาย คือการหยุดทำความเพียรชั่วคราว ; พักผ่อนทางจิตคือหยุดใช้การพิจารณา แล้วมาสงบอยู่ด้วยสมาธิเสียชั่วคราว ดังนี้ก็ดี, หรือหยุดสมาธิชั้นละเอียด ชนิดที่มีอารมณ์ละเอียด ไปเป็นสมาธิอย่างอื่น ที่อารมณ์หยาบกว่า กล่าวคือเปลี่ยนสมาธิเสียนั่นเอง ดังนี้ก็ดี. เป็นการชั่วคราวแล้ว ย่อมเป็นอุบายที่กำจัดความเพียรที่พุ่งจัดเกินไปได้ด้วยกันทั้งนั้น. สรุปความว่า การข่มจิตนั้น ไม่ได้หมายความอย่างข่มเขาวัวให้กินหญ้า หรือหักด้ามพร้ากับหัวเข่า : หากแต่ว่าเป็นการใช้อุบายที่แยบคายอย่างใดอย่างหนึ่ง จนระงับความฟุ้งซ่านได้นั่นเอง. อย่างไรก็ตาม อุปสรรคคู่นี้เป็นอุปสรรคที่ยากลำบากต่อการที่จะขจัดยิ่งไปกว่าคู่ที่แล้วๆ มา และเป็นอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยง่ายกว่าอุปสรรคที่แล้วๆ มา กระทั่งมีขอบเขตที่จะต้องศึกษาเพื่อการควบคุมและแก้ไขที่กว้างขวางยิ่งกว่าอุปสรรคอื่นๆ ที่กล่าวข้างต้น.

ส่วนอุปสรรคคู่สุดท้ายคือ :-

บ. จิตไวต่อความรู้สึกเกินไป เป็นจิตตกไปข้างฝ่ายกำหนัด.

ป. จิตไม่แจ่มใส เป็นจิตติกไปข้างฝ่ายพยาบาท.

ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นอันตรายต่อความเป็นสมาธิ. ที่ว่าจิตไวต่อความรู้สึกเกินไป เป็นจิตตกไปข้างฝ่ายกำหนัดนั้น หมายถึงไวในการรู้สึกต่ออารมณ์ที่มากระทบ เป็นเหตุให้รู้สึกได้มากกว่าที่ควรจะเป็น และละเอียดลออมากกว่าที่ควรจะเป็น และขยายความรู้สึกออกไปได้เองมากกว่าที่เป็นจริง แม้ที่สุดแต่การคิดฝันเก่ง ไม่มีที่สิ้นสุด ก็นับเนื่องเข้าในข้อนี้. ว่าโดยที่แท้แล้ว ก็เป็นความไหวพริบ หรือความเฉลียวฉลาดชนิดหนึ่ง หากแต่ว่าไวจนควบคุมไม่ได้ และกลับเป็นผลร้ายแก่ความเป็นสมาธิ. ที่เห็นได้ง่ายๆ เช่นความรู้สึกของพวกศิลปิน ที่ช่างคิดช่างฝันในทางจิตรกรรมต่างๆ ที่ขยายตัวไปในทางงดงาม หรือแปลกประหลาดได้ไม่มีที่สิ้นสุด. ในทางจิตรกรรมหรือสิ่งอื่น มันเป็นผลดีในกรณีนั้นๆ แต่กลับเป็นอุปสรรคในทางฝ่ายสมาธิหรือสมถะเช่นนี้. การที่จิตไวต่อความรู้สึกเกินไปเช่นนี้ ทำความยุ่งยากลำบากให้แก่ผู้ปฏิบัติเหลือประมาณ, โดยที่แท้แล้ว ความกำหนัดในอารมณ์นั้น ก็เป็นอาการของสัญชาตญาณอยู่ตามธรรมดาแล้ว ครั้นมีความเฉลียวฉลาด หรือความไวต่อความรู้สึกเพิ่มขึ้นมาอีก อาการดังกล่าวแล้วนั้นก็เป็นไปอย่างแรงกล้ากว่าธรรมดา เป็นการส่งเสริมนิวรณ์ คือกามฉันทะให้มีกำลังยิ่งขึ้นไป และเกิดได้ง่าย หรือเกิดได้บ่อยยิ่งขึ้น. อุบายสำหรับกำจัดอุปสรรคข้อนี้มีอยู่ว่า “เธอเป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อม (สัมปชาโน) ต่อจิตนั้น ย่อมละความกำหนัดได้” ดังนี้.

เพื่อความเข้าใจชัดเจนในอุบายอันนี้ ควรจะถือเอาความหมายแห่งรูปศัพท์นั้นๆ เป็นหลัก สิ่งที่เป็นอุปสรรคนั้นท่านเรียกว่า อภิญฺญาต, แปลตามตัวหนังสือว่า รู้ยิ่งหรือรู้เฉพาะ คือพุ่งดิ่งไป. ส่วนอุบายเครื่องกำจัดอุปสรรคนั้นท่านเรียกว่า สมฺปชานะ ซึ่งตามตัวหนังสือก็แปลว่า ความรู้ทั่วพร้อม (สํ = พร้อม + ป = ทั่ว + ชาน = รู้อยู่). เมื่อพิจารณาตามตัวหนังสือ ก็ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่า สิ่งทั้งสองนี้เป็นข้าศึกกันอย่างไร คืออันหนึ่งเป็นสิ่งที่รู้อย่างพุ่ง หรือไหลเชี่ยวเป็นเกลียวไปอย่างหลับหูหลับตา ; ส่วนอีกอันหนึ่งเป็นความรู้อย่างรอบคอบและทั่วถึง ด้วยอำนาจของสติสัมปชัญญะ ; จึงเห็นได้ชัดสืบไปว่า สติสัมปชัญญะอีกนั่นเอง ที่จะเป็นเครื่องมือกำจัดเสียซึ่งความที่จิตไวต่อความรู้สึกเกินไป ในที่สุดก็ตัดทางมาแห่งความกำหนัดในกรณีที่กล่าวนี้เสียได้.

สติสัมปชัญญะในกรณีที่กล่าวนี้ พอที่จะกล่าวได้ว่ามีเป็น ๒ ระยะคือ : (๑) จะระวังไม่ให้เอา รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จากภายนอกเข้ามาในลักษณะที่เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกทางอารมณ์ และ (๒) อีกทางหนึ่งเป็นความรู้สึกภายใน ก็จะไม่ปล่อยให้จิตถือเอาธรรมารมณ์ปัจจุบัน หรือสัญญาในอดีตมาคิดฝัน. แม้ที่สุดแต่ความเป็นผู้ฉลาด หรือไวในการแปลความหมายของสิ่งต่างๆ ก็จะต้องถูกควบคุมไว้เป็นอย่างดี เช่นเมื่อได้เห็นวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งสัณฐานหรือลวดลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มีการแปลความหมายให้วิจิตรพิสดารในทำนองตีปริศนา ที่เป็นไปในทางที่ก่อให้เกิดความกำหนัด เพราะอำนาจความเคยชินของตัว ในการที่จะมองเห็นอะไรกลายเป็นนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดไปเสียทั้งนั้น. ความเคยชินเช่นนี้ ยิ่งต้องการสติสัมปชัญญะหรือความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่มีกำลังแก่กล้าและมากยิ่งขึ้นไปอีก.

สรุปรวมความก็คือว่า ความที่จิตเลื่อนลอย คอยแต่จะตกไปสู่ความกำหนัดนั้น ต้องกันและแก้ด้วยสติสัมปชัญญะ หรือความรู้สึกตัวทั่วพร้อม. พึงสังเกตโดยเฉพาะในข้อที่ว่า ในที่นี้ไม่ได้แนะให้แก้ด้วยอสุภกัมมัฏฐาน เพราะเป็นคนละเรื่องกัน : ในที่นี้ โทษเป็นแต่เพียงความไวของจิต ที่มักผลุนผลันไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งมันถนัดหรือเคยชิน จึงต้องแก้ด้วยสัมปชัญญะ ; หากแก้ด้วยอสุภกัมมัฏฐาน ก็จะกลายเป็นเรื่องอื่นไป ซึ่งจะยืดยาดโดยไม่จำเป็น และในที่สุดก็แก้ไม่ได้เลย.

ส่วนอุปสรรคข้อที่ว่า จิตไม่แจ่มใส เป็นจิตตกไปข้างฝ่ายพยาบาทนั้น โดยใจความก็คือเป็นฝ่ายตรงกันข้าม. คำว่า ไม่แจ่มใส ในที่นี้ หมายถึงปราศจากความรู้ ที่ทำให้จิตแจ่มใสหรือผ่องใส : หรือปราศจากความรู้สึกที่ปรุงจิตให้ปีติปราโมทย์ หรือสงบเสงี่ยม, แต่เป็นจิตที่สลัวอยู่ด้วยความไม่รู้นั่นเอง ในที่สุดก็ตกไปข้างฝ่ายพยาบาท คำว่า พยาบาท ในที่นี้ มิได้หมายถึงความอาฆาตจองเวรโดยตรง หากแต่หมายถึงความไม่พอใจทุกชนิด โดยเฉพาะหมายถึงปฏิฆะคือความกลุ้มหงุดหงิดอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง นับตั้งแต่โกรธผู้อื่น โกรธตัวเอง โกรธสิ่งของ และโกรธกระทั่งสิ่งที่ตนไม่รู้ว่าอะไร จนถึงความรู้สึกที่เป็นความรำคาญใจ หรือความไม่สบายใจอยู่ตามลำพังตนในที่สุด. อุบายเป็นเครื่องขจัดอุปสรรคอันนี้ ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก คือท่านไม่ได้แนะให้แก้ด้วยการเจริญเมตตา แต่ได้แนะให้แก้ด้วยความเป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อมเช่นเดียวกับข้อก่อน. อธิบายว่า เมื่อมีสติสัมปชัญญะเพียงพอแล้ว ความมืดสลัวไม่ผ่องแผ้วแห่งจิตก็มีขึ้นไม่ได้. การควบคุมสติสัมปชัญญะให้ปรากฏอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่งในกรณีแห่งอุปสรรคทั้ง ๒ ข้อนี้. ลำพังการเจริญเมตตา ไม่สามารถจะกำจัดความสลัวแห่งจิตได้. อุปสรรคข้อนี้มีชื่อโดยบาลีว่า อปญฺญาตํ แปลว่า ไม่แจ่มใส ไม่ผ่องแผ้ว ไม่ชัดเจนหรือไม่แจ่มใสโดยใจความก็คือ มัวหรือสลัว ทำให้เห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่อาจระงับไปได้ ด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อม.

อุปสรรคทั้ง ๙ คู่ หรือนับเรียงอย่างได้ ๑๘ อย่างเหล่านี้ บางทีก็เรียกว่า อุปกิเลสของสมาธิ บ้าง ในฐานะที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของสมาธิ : เรียกว่า อันตรายของสมาธิ บ้าง ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ทำอันตรายต่อสมาธิโดยตรง : เมื่อเกิดอาการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นแล้ว กายก็ดี จิตก็ดี ย่อมกระวนกระวายย่อมหวั่นไหว ย่อมดิ้นรนไปตามกัน. เมื่อจิตหมดจดจากอุปสรรคเหล่านี้ การเจริญสมาธิทุกขั้นย่อมเป็นไปได้โดยหลักใหญ่ๆ. ส่วนข้อปลีกย่อยหรือรายละเอียดนั้น จะไม่มีความสำคัญจนถึงกับจะแก้ไขไม่ได้ ในเมื่อตัวอุปสรรคอันแท้จริงเหล่านี้ได้ถูกขจัดไปหมดสิ้นแล้ว. จิตที่ปลอดจากอุปสรรคเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นจิตขาวรอบ หรือเป็นจิตถึงซึ่งความเป็นเอก (เอกตฺต) ความเป็นเอกในที่นี้ มีความหมายทั้งความเป็นหนึ่งไม่มีสอง และความเป็นเอกคือประเสริฐ. จิตถึงความเป็นเอก เมื่อกล่าวถึงความเป็นเอก พึงทราบเสียด้วยว่า ท่านบัญญัติไว้เป็นขั้นๆ ต่างกันคือ :

๑. ความเป็นเอกในด้านการเสียสละ หรือการให้ทานของพวกที่พอใจในการให้ทาน
๒. ความเป็นเอกเพราะสมถนิมิตปรากฏชัดแล้วของพวกที่มีสมาธิ.
๓. ความเป็นเอกเพราะอนิจจังทุกขังอนัตตา ปรากฏแล้ว ของพวกที่เจริญวิปัสสนา.
๔. ความเป็นเอกเพราะความดับทุกข์ปรากฏแล้ว ของพระอริยบุคคลทั้งหลาย.

รวมเป็น ๔ อย่างด้วยกันเช่นนี้ เมื่อเป็นดังนี้ เราจะเห็นได้ว่าความเป็นเอกที่เราประสงค์ในที่นี้ ได้แก่ความเป็นเอกในข้อที่ ๒ คือความเป็นเอกเพราะสมาธินิมิตเป็นไปสำเร็จ หรือปรากฏชัดในการเจริญสมาธินั่นเอง. ท่านได้กำหนดองค์แห่งความเป็นเอกของสมาธิในกรณีนี้ไว้ว่า :

๑. จิตผ่องใส เพราะความหมดจดแห่งข้อปฏิบัติ.
๒. จิตเจริญงอกงาม ด้วยอุเบกขา.
๓. จิตอาจหาญร่าเริง ด้วยญาณ.

ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นลักษณะเครื่องหมายของจิต ที่ลุถึงปฐมฌานโดยตรง ซึ่งเป็นการแสดงถึงความสำเร็จแห่งการเจริญสมาธิในขั้นแรก ซึ่งเราจะพิจารณากันต่อไปโดยละเอียด ดังต่อไปนี้ :-

ข้อที่ว่า “จิตผ่องใส เพราะความบริสุทธิ์หมดจดแห่งข้อปฏิบัติ” นั้นหมายความว่า เมื่อจิตผ่านอุปสรรคทั้ง ๑๘ อย่างดังที่กล่าวแล้ว มาได้โดยเรียบร้อยเช่นนี้ ก็เป็นอันว่าข้อปฏิบัติหรือปฏิทานั้น ได้ดำเนินมาด้วยความหมดจด จิตจึงได้ผ่องใส เพราะความที่ไม่มีอุปสรรคหรือนิวรณ์อย่างใดรบกวน ความที่จิตผ่องใสในลักษณะเช่นนี้ เป็นองค์อันแรกหรือเป็นลักษณะอันแรกของปฐมฌาน.

ข้อที่ว่า “จิตเจริญงอกงามด้วยอุเบกขา” นั้น เล็งถึงความที่บัดนี้จิตวางเฉยอยู่ได้ด้วยความวางเฉย ที่เป็นองค์แห่งฌาน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า. เมื่อจิตวางเฉยได้โดยไม่มีอะไรมารบกวน ท่านเรียกว่าเป็นจิตที่เจริญงอกงามตามความหมายของภาษาฝ่ายกัมมัฏฐานหรือโยคปฏิบัติ นี้เป็นองค์ที่สอง หรือลักษณะที่สอง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือลักษณะท่ามกลางของปฐมฌาน.

ข้อที่ว่า “จิตมีความอาจหาญร่าเริงอยู่ด้วยญาณ” นั้น อธิบายว่าจิตที่เป็นมาแล้วโดยลักษณะอาการแห่งข้อที่หนึ่ง ข้อที่สองนั้น ย่อมร่าเริงอยู่ด้วยความรู้ คือรู้ความที่นิวรณ์หมดไป รู้ความที่จิตเป็นสมาธิประกอบด้วยองค์แห่งฌานอย่างมั่นคงไม่หวั่นไหว แล้วมีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกแลอยู่ จิตจึงอาจหาญร่าเริง ข้อนี้เป็นองค์ที่สาม หรือลักษณะที่สาม หรือลักษณะในที่สุดของปฐมฌาน.

ทั้งหมดนี้ทำให้กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ปฐมฌานมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด. งามในเบื้องต้น เพราะจิตผ่องใสด้วยอำนาจข้อปฏิบัติที่หมดจดถึงที่สุด, งามในท่ามกลาง เพราะจิตเจริญรุ่งเรืองอยู่ด้วยอุเบกขา คือความวางเฉย, และ งามในที่สุด เพราะจิตกำลังร่าเริงอยู่ด้วยญาณนั้น. การที่จะเข้าใจในลักษณะทั้งสามนี้ ของปฐมฌานนั้นขึ้นอยู่ กับความเข้าใจในเรื่องนิวรณ์และองค์แห่งฌาน เป็นส่วนสำคัญ. นิวรณ์ และ องค์แห่งฌานเพื่อให้เข้าใจ ถึงข้อที่จิตผ่านอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต มาโดยลำดับจนลุถึงอัปปนาสมาธิในขั้นที่เป็นปฐมฌานได้อย่างไรโดยแจ่มแจ้งนั้น จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องอันเกี่ยวกับนิวรณ์ และองค์แห่งฌานเป็นหลักสำคัญเสียก่อน.

อ่านต่อ ส่วนที่สาม

https://sites.google.com/site/smartdhamma/yourpage%27stitlesmartdhamma.googlepages.c

. . . . . . .