ตอน แปด อานาปานสติ ขั้นที่ สี่ (การทำกายสังขาร ให้รำงับ) ส่วนที่สี่

ตอน แปด อานาปานสติ ขั้นที่ สี่ (การทำกายสังขาร ให้รำงับ)

ส่วนที่สี่

สมาธิ ๒ อย่าง
สิ่งที่เรียกว่า สมาธิ ที่แท้จริงนั้น พอที่จะแบ่งได้เป็น ๒ อย่างคือ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ. อุปจารสมาธิ แปลว่าสมาธิขั้นที่เข้าไปใกล้ กล่าวคือสมาธิที่เฉียดความเป็นฌาน. อัปปนาสมาธิ แปลว่าสมาธิแน่วแน่คือสมาธิขั้นที่เป็นฌาน. ส่วนสมาธิในขณะเริ่มแรก เช่นในขณะแห่งคณนาและอนุพันธนาเป็นต้น ยังไม่ใช่สมาธิแท้. อย่างจะเรียกได้ก็เรียกได้ว่า บริกรรมสมาธิ คือเป็นเพียงสมาธิในขณะแห่งบริกรรม หรือการเริ่มกระทำ ยังไม่ให้ผลอันใดตามความมุ่งหมายของคำว่า สมาธิ ในที่นี้จึงเว้นเสีย : คงนับแต่เป็นสมาธิเพียง ๒ อย่าง ดังกล่าวแล้ว.

เปรียบเทียบสมาธิสอง

การเปรียบเทียบระหว่าง อุปจารสมาธิ กับ อัปปนาสมาธิ จะช่วยให้เข้าใจสมาธิทั้งสองดีขึ้น คือเมื่อกล่าวโดยผล อุปจารสมาธิเป็นอุปจารภูมิ ตั้งอยู่ในขั้นที่เฉียดต่อฌาน ไม่ขึ้นไปถึงฌาน ไม่เข้าไปถึงฌาน ตั้งอยู่ได้เพียงเขตอุปจาระของฌาน คือรอบๆ. ส่วนอัปปนาสมาธินั้น ตั้งอยู่ในฐานะเป็นปฏิลาภภูมิ คือการได้เฉพาะซึ่งความเป็นฌาน. ถ้าเปรียบกับการไปถึงหมู่บ้าน : อย่างแรกก็ถึงเขตบ้าน, อย่างหลังก็ถึงใจกลางบ้าน ; แต่ก็เรียกว่าถึงบ้านด้วยกันทั้งนั้น นี้อย่างหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อกล่าวโดยการกระทำหรือกรรมวิธี อุปจารสมาธิเกิดในขณะที่พอสักว่านิวรณ์ไม่ปรากฏ หรือในขณะที่จิตละจากนิวรณ์เท่านั้น ; ส่วนอัปปนาสมาธิจะเกิดต่อเมื่อองค์แห่งฌานปรากฏชัดครบถ้วนทุกๆ องค์จริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือองค์เอกัคคตา. นี้เป็นเครื่องแสดงว่า การละไปแห่งนิวรณ์กับการปรากฏแห่งองค์ทั้งห้าของฌานนั้น ไม่จำเป็นต้องมีขณะเดียวกันแท้. ข้อแตกต่างอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ อุปจารสมาธิ หรือสมาธิเฉียดฌานนั้นมีการล้มๆ ลุกๆ เหมือนเด็กสอนเดิน เพราะองค์แห่งฌานปรากฏบ้าง ไม่ปรากฏบ้าง, ปรากฏแล้วกลับหายไปบ้าง, แล้วกลับมาใหม่ แล้วกลับหายไปอีกบ้าง, ดังนี้เรื่อยๆ ไป.

ส่วนในขณะแห่งอัปปนาสมาธินั้น องค์แห่งฌานปรากฏครบถ้วนอย่างมั่นคง สมาธิจึงมั่นคง เหมือนการยืนหรือการเดินของคนที่โตแล้ว ย่อมไม่ล้มๆ ลุกๆ เหมือนเด็กที่สอนเดิน ฉันใดก็ฉันนั้น. ถ้าจะระบุให้ชัดแจ้งลงไปอีก ก็กล่าวได้ว่า เมื่อการเจริญอานาปานสติดำเนินมาถึงขั้นที่ปฏิภาคนิมิตปรากฏแล้ว ความเป็นสมาธิในขณะนั้น เรียกว่าอุปจารสมาธิอย่างสมบูรณ์ ในขณะนี้จิตมีปฏิภาคนิมิตนั้นเอง สำหรับกำหนดเป็นอารมณ์. องค์แห่งฌานยังไม่ปรากฏครบทั้งห้า หรือปรากฏอย่างล้มๆ ลุกๆ จิตจึงยังไม่อาจจะเลื่อนจากปฏิภาคนิมิตไปกำหนดที่องค์แห่งฌานได้ เรียกว่ายังไม่สามารถยกจิตขึ้นสู่องค์แห่งฌาน จึงยังไม่แน่วแน่ถึงขนาดที่เป็นอัปปนาสมาธิ. ครั้นการปฏิบัติดำเนินไป จนกระทั่งผู้ปฏิบัติสามารถหน่วงความรู้สึกในองค์ฌานทั้งห้าให้ปรากฏชัดอยู่ มีองค์ฌานทั้งห้ากำหนดเป็นอารมณ์ แทนการกำหนดปฏิภาคนิมิตโดยแน่นอนแล้ว สิ่งที่เรียกว่าอัปปนาสมาธิก็เกิดขึ้นและสำเร็จเป็นฌาน มีความรู้สึกอยู่ในองค์ทั้งห้าพร้อมกันไปในคราวเดียวกัน โดยไม่มีความคิดนึกอย่างอื่นใด ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น. ข้อสำคัญมีอยู่ตรงที่จะต้องรักษาปฏิภาคนิมิตนั้นไว้อย่างมั่น จนกว่าจิตจะหน่วงไปสู่องค์ฌานได้สำเร็จ. ถ้าปฏิภาคนิมิตเลือนลับไป จิตก็ไม่สามารถจะอาศัยเพื่อหน่วงองค์ฌานหรือความรู้สึกทั้ง ๕ ประการนั้น ให้เกิดขึ้นได้. กล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ จะหน่วงเอาองค์ฌานทั้งห้าได้ ก็ในขณะที่ปฏิภาคนิมิตยังคงปรากฏอยู่อย่างมั่นคง. หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะทำจิตให้เป็นอัปปนาสมาธิได้ ก็ด้วยการหน่วงในองค์ฌานทั้งห้า ทำให้ปรากฏขึ้นในขณะที่จิตกำลังเป็นอุปจารสมาธิ อย่างมั่นคงอยู่นั่นเอง ; เพราะฉะนั้น ปฏิภาคนิมิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องประคับประคองเอาไว้ในขณะแห่งอุปจารสมาธิตลอดไป แม้จะเป็นเวลากี่วัน กี่เดือน หรือแม้กี่ปี : ถ้าต้องประสงค์จะได้ฌาน ก็ต้องพยายามประคับประคองด้วยความพยายาม ไม่หมดมานะ จนกว่าจะลุถึงอัปปนาสมาธิหรือฌานนั้น. ท่านสอนให้ทำในใจในระยะนี้ให้เป็นพิเศษ โดยให้การอุปมาว่าผู้ปฏิบัติจะต้องรักษาปฏิภาคนิมิตให้เป็นไปจนตลอดรอดฝั่ง เหมือนนางแก้วที่อุ้มครรภ์บุคคลที่จะเกิดมาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฉันใดก็ฉันนั้น.

เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ยังไม่เคยมีการกำชับอย่างหนึ่งอย่างใดในการทำสมาธิหรือกำชับมากอย่างจริงจังเหมือนกับการกำชับกันในตอนนี้. ปฏิภาคนิมิตเหมือนกับการตั้งครรภ์ และจะคลอดออกเป็นฌาน. ถ้าทำไม่ดี ก็ตายในครรภ์ จะต้องรอจนกว่าจะตั้งครรภ์ใหม่ย่อมเสียเวลา หรือถ้าถึงกับตายกันทั้งแม่ทั้งลูก คือเลิกการทำสมาธิเสียเลย ก็เป็นอันล้มเหลวหมด. เพราะฉะนั้น ปฏิภาคนิมิต จึงเป็นสิ่งที่ต้องประคับประคองไว้ให้ดีเพื่อให้เป็นที่มั่น เป็นบาทฐาน เพื่อหน่วงเอาองค์ฌาน จนกว่าองค์แห่งฌานทั้งห้าจะตั้งลงอย่างมั่นคง หรือปรากฏอยู่อย่างแจ่มชัด เป็นอัปปนาสมาธิ คือฌาน.

การอาศัยปฏิภาคนิมิต เพื่อหน่วงเอาฌาน

การหน่วงองค์แห่งฌานให้ปรากฏขึ้นโดยสมบูรณ์ โดยมีปฏิภาคนิมิตเป็นบาทฐานนั้น เป็นงานที่ประณีตที่สุด หรือเป็นกรรมวิธีตอนที่ประณีตสุขุมที่สุดของการทำกัมมัฏฐานทั้งหมด คือรวมทั้งฝ่ายสมถะและวิปัสสนา. มันเหมือนกับงานฝีมือที่ละเอียด : จะทำแรงไปก็ไม่ได้ เบาไปก็ไม่ได้ แน่นไปก็ไม่ได้ หลวมไปก็ไม่ได้ ช้าเกินไปก็ไม่ได้ เร็วเกินไปก็ไม่ได้ ด้วยเจตนาที่รุนแรงก็ไม่ได้ ด้วยเจตนาที่เฉื่อยชาก็ไม่ได้ จะว่าเต็มสำนึกก็ไม่ใช่ ไร้สำนึกก็ไม่ใช่ และอะไรๆ ก็ล้วนแต่จะต้องพอเหมาะพอดี และออกจะเป็นอัตโนมัติ คือดำเนินไปได้ง่ายโดยตัวมันเอง ในเมื่อสิ่งต่างๆ ได้ดำเนินไปโดยถูกวิธี ; และจะติดตันหรือล้มเหลวไม่มีทางที่เป็นไปได้ในเมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปอย่างเหมาะสม หรือไม่ถูกวิธีเช่นกัน. ผู้ปฏิบัติจะต้องทำงาน ๒ อย่างพร้อมกัน คือ การตั้งอยู่ในปฏิภาคนิมิต และการหน่วงให้ความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานทั้งห้าปรากฏ และเด่นขึ้นมา ๆ จนสมบูรณ์และมั่นคง สำหรับการตั้งอยู่ในปฏิภาคนิมิตนั้น สำเร็จได้ด้วยการที่ได้ทำมาอย่างเคยชินในการคุมปฏิภาคนิมิต ให้ตั้งอยู่อย่างแน่วแน่มาแล้วจริงๆ ซึ่งจะต้องกินเวลาเป็นสัปดาห์ๆ มาแล้ว จึงจะอยู่ในลักษณะที่มั่นคง พอที่จะใช้เป็นบาทฐานให้จิตหน่วงเหนี่ยวเอาองค์ฌานให้บริบูรณ์ได้. บางคนอาจจะเป็นเดือนๆ เป็นปีๆ หรือล้มเหลวในที่สุด คือทำสมาธิไม่สำเร็จเป็นอัปปนาสมาธิ เพราะเหตุที่อุปนิสัยไม่อำนวยหรือเพราะเหตุใดก็ตาม เขาจะต้องผละจากการทำสมาธิ ไปสู่การทำวิปัสสนาตามลำดับไป เพื่อการบรรลุผลประเภทที่ไม่ต้องเกี่ยวกับอัปปนาสมาธิ. ส่วนบุคคลผู้มีอุปนิสัยหรือความเหมาะสมนั้น อาจจะประสบความสำเร็จต่างกันไปตามลำดับๆ คือหน่วงเอาองค์แห่งฌานให้เกิดขึ้นได้เป็นฌานตามลำดับแล้วจึงทำวิปัสสนาด้วยสมาธิที่เข้มแข็งและสมบูรณ์ เช่นนั้นได้ผลเป็นเจโตวิมุตติในขณะที่พวกโน้นได้รับผลเป็นปัญญาวิมุตติล้วนๆ. ฉะนั้น ผู้สนใจในอัปปนาสมาธิ จะต้องมีความพยายามมากเป็นพิเศษ. ตลอดเวลาที่ปฏิภาคนิมิตยังไม่เป็นอุปการะแก่อัปปนาสมาธิอยู่เพียงใด เขาจะต้องประคับประคองมันอย่างยิ่งอยู่เพียงนั้น โดยไม่ยอมท้อถอย นี้เรียกว่า การรักษาปฏิภาคนิมิตในระยะแห่งอุปจารสมาธิ จนกว่าจะเกิดอัปปนาสมาธิ.

การรักษาปฏิภาคนิมิต

ในระยะแห่งการรักษาปฏิภาคนิมิต ที่เพิ่งได้มาใหม่ๆ เพื่อการเกิดอัปปนาสมาธินี้ ในทางภายนอก มีการแนะให้ใช้วัตถุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อสะดวกในการปฏิบัติยิ่งขึ้น เช่น ใช้รองเท้า เพื่ออย่าให้เสียเวลาชักช้าหรือฟุ้งซ่าน ในการที่จะต้องมัวนั่งล้างเท้าในเมื่อเท้าเปื้อนหรือเท้าเป็นอะไรขึ้นมาในขณะนั้น ซึ่งล้วนแต่ทำจิตให้ฟุ้งซ่าน ไม่สามารถประคับคองปฏิภาคนิมิตให้ประณีตสุขุมติดต่อกัน. ในบางกรณีแนะให้ใช้ไม้เท้า เพื่อให้มีการยืนที่สบาย เพื่อให้มีการเดินที่สะดวกและมั่นคง ซึ่งล้วนแต่อำนวยความสะดวกแก่การประคับประคองปฏิภาคนิมิตด้วยกันทั้งนั้น ดังนี้เป็นตัวอย่าง. พร้อมกันนั้น ก็ควรจะมีการสำรวจ หรือปรับปรุง หรือระมัดระวังให้สัปปายธรรมทั้งเจ็ดได้เป็นไปอย่างดีที่สุดอีกครั้งหนึ่ง คือความสะดวกสบายเหมาะสมเนื่องด้วย อาวาส โคจร กถา บุคคล อาหาร ฤดู และอิริยาบถ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง เพื่อความเหมาะสมในการเป็นอยู่ของบุคคลผู้ประคับประคองปฏิภาคนิมิตให้ถึงที่สุดจริงๆ .การรักษาปฏิภาคนิมิต เป็นสิ่งที่จะต้องทำเรื่อยไปในฐานะที่เป็นตัวการปฏิบัติโดยตรงในขณะนี้ และดูเป็นกิจที่น่าเบื่อหน่าย. เพื่อปลูกฉันทะคือความพอใจ หรือเพิ่มกำลังใจในเรื่องนี้ ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้เพียงพออยู่เสมอ โดยเฉพาะในข้อที่สิ่งเหล่านี้ต้องสัมพันธ์กันอย่างไร จึงจะเกิดมีความสำเร็จในการบรรลุฌานโดยเฉพาะ.

ความสัมพันธ์กันในระหว่างธรรมเหล่านี้ คือ :

ก. ปฏิภาคนิมิตปรากฏขึ้น ทำให้นิวรณ์รำงับไป ส่วนอัปปนาสมาธิยังล้มๆ ลุกๆ อยู่จนกว่าจะหน่วงเอาองค์ฌานได้โดยสมบูรณ์.

ข. เมื่อนิวรณ์รำงับไป องค์แห่งฌานจึงปรากฏขึ้น และจะต้องทำให้ชัดขึ้นจนสมบูรณ์ทั้ง ๕ องค์ โดยอาศัยปฏิภาคนิมิตเป็นหลัก และมีองค์ฌานที่จะเกิดขึ้นเป็นอารมณ์.

ค. เมื่อองค์แห่งฌานปรากฏโดยสมบูรณ์ อัปปนาสมาธิตั้งลงอย่างสมบูรณ์คือบรรลุถึงฌานขั้นแรก.

นี้ทำให้เห็นได้ว่า กิจที่จะต้องทำอย่างยิ่งในขณะนี้ก็คือ การรักษาหรือการประคับประคองปฏิภาคนิมิตนั้น ให้มั่นคงอยู่ตลอดเวลา พร้อมๆ กันกับการหน่วงเอาองค์ฌานมา เพื่อให้เกิดอัปปนาสมาธิ.

การเร่งให้เกิดอัปปนาสมาธิ

อุบายวิธีที่เป็นการสนับสนุนให้เกิดอัปปนาสมาธิโดยเร็ว ในระยะแห่งการรักษาปฏิภาคนิมิตนั้น เรียกกันด้วยคำที่ไพเราะว่าอัปปนาโกศล แปลว่า ฉลาดในการสร้างอัปปนาสมาธิ. ท่านแนะไว้เป็น ๑๐ อย่าง คือ :-

๑. ทำวัตถุอุปกรณ์ที่แวดล้อม ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น,
๒. ปรับปรุงอินทรีย์ทั้งห้า ให้มีกำลังเท่ากัน,
๓. ฉลาดในเรื่องของนิมิต,
๔. ประคองจิตโดยสมัยที่ควรประคอง,
๕. ข่มจิตโดยสมัยที่ควรข่ม,
๖. ปลอบจิตโดยสมัยที่ควรปลอบ,
๗. คุมจิตโดยสมัยควรคุม,
๘. เว้นคนและสิ่งที่โลเล,
๙. คบคนมั่นคง,
๑๐. การคอยน้อมจิตไปตามความเหมาะสมแก่จังหวะ ;

มีอธิบายดังต่อไปนี้ :-

(๑) การทำวัตถุอุปกรณ์ที่แวดล้อมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น หมายถึงการปรับปรุงทางร่างกาย หรือสิ่งเนื่องด้วยร่างกาย ให้เหมาะสมที่สุด. วัตถุที่เป็นภายใน เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน เนื้อตัว และอื่นๆ ต้องได้รับการปรับปรุงให้เป็นที่สบาย ไม่ทำความรำคาญอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้น เช่น ผมยาว หนวดยาวมีอาการคันเกิดขึ้น. เล็บยาวมีความสกปรกมากขึ้น ก็ทำความรำคาญให้เกิดขึ้น. ปากฟันสกปรกหรือเนื้อตัวสกปรก ก็ล้วนแต่ให้ผลเป็นอย่างเดียวกัน. การทำสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยสะอาดหมดจด เป็นสิ่งที่ต้องการในการที่จะเริ่มความเป็นสมาธิของจิต. วัตถุภายนอกคือจีวรและเสนาสนะเป็นต้น ก็ต้องได้รับการปรับปรุงพอเหมาะอย่างเดียวกัน คือ สะอาดหมดจดเกลี้ยงเกลาเท่าที่จะทำได้. ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า การปรับปรุงวัตถุอุปกรณ์ที่แวดล้อมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งทุกคนพอจะเข้าใจได้ด้วยความหมายตามธรรมดา. ความมุ่งหมายอยู่ที่ ความผาสุกทางกายพอสมควร.

(๒) การปรับปรุงอินทรีย์ทั้งห้าให้มีกำลังเท่ากัน. คำว่า “อินทรีย์”ในที่นี้ หมายถึงคุณธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในหน้าที่ต่างๆ กัน ตามที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติในทางจิต ท่านจำแนกไว้เป็น ๕ คือ

สัทธา มีหน้าที่ในทางทำความเชื่อ,

วิริยะ มีหน้าที่ในทางทำความขะมักเขม้น,

สติ มีหน้าที่ในทางทำการกำหนด,

สมาธิ มีหน้าที่ในทางทำความมั่นคง,

และ ปัญญา มีหน้าที่ในการทำความสอดส่อง.

อินทรีย์ทั้งห้านี้ เรียกชื่อเต็มว่า สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ เป็นต้นตามลำดับไป. สิ่งที่เรียกว่าสมาธิหรือปัญญาก็ตาม ในฐานะที่เป็นอินทรีย์ในที่นี้นั้น มิได้หมายถึงสมาธิหรือปัญญาที่เรากำลังจะทำให้เกิดขึ้นใหม่อย่างเดียว ; แต่หมายถึงส่วนที่เป็นคุณธรรมประจำตัวมาแต่เดิม หรือมีอยู่เป็นอุปนิสัย และเพิ่มมากขึ้นด้วยการศึกษา ตามที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วแต่ก่อน รวมกันแล้วตั้งอยู่ในฐานะเป็นพื้นฐานแห่งอุปนิสัยของเราในบัดนี้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวการอันสำคัญยิ่งประเภทหนึ่ง ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติในทางจิตเป็นผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จ.

โดยอาการก็คล้ายๆ กันกับจริต ๖ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หากแต่ในที่นี้มีความมุ่งหมายในการที่จะนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับปรุงเสียใหม่ ให้กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์โดยส่วนเดียว ; แทนที่จะเป็นอุปสรรค กลับกลายเป็นตัวกำลังสำคัญ ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ, ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับการปรับปรุง. คำว่าปรับปรุงในที่นี้ หมายถึงการทำให้เหมาะสม ซึ่งมีใจความสำคัญ สัทธาต้องพอเหมาะกับปัญญา : วิริยะต้องพอเหมาะกับสมาธิ ; และสมาธิต้องพอเหมาะ นี้คือการที่เรียกว่าสัทธาเสมอกันกับปัญญา. ผู้ปฏิบัติจะต้องสำนึกในข้อนี้ สอบสวนตัวเองในข้อนี้ เพื่อปรับปรุงสิ่งทั้งสองนี้ ให้เหมาะสมกลมเกลียวกัน : อย่าให้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีกำลังล้ำหน้าอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดการเฉออกนอกทาง.

ที่ว่า วิริยะเสมอกันกับสมาธิ นั้น เปรียบให้เห็นได้ง่ายๆ คือวิริยะเป็นความแล่นไป ส่วนสมาธิเป็นตัวกำลังสำหรับทำให้แล่นไป. ถ้าสิ่งทั้งสองนี้ไม่เสมอกันแล้ว ผลจะเกิดขึ้นอย่างไร ลองคิดดู. หรือกล่าวกลับกันอีกอย่างหนึ่ง สมาธิเหมือนกับน้ำหนักของลูกกระสุนปืน, วิริยะเหมือนแรงของดินระเบิดที่จะส่งลูกกระสุนปืนออกไป ; ถ้าสิ่งทั้งสองไม่สัมพันธ์กันแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร : ถ้าวิริยะมากเกินกว่าสมาธิ วิริยะก็กวัดแกว่งหรือเฉออกไปนอกทาง หรือลุ่มๆ ดอนๆ ไม่สม่ำเสมอ, ถ้าสมาธิมากกว่าวิริยะ ก็เนิบนาบและเฉื่อยชา หรือถึงกับก้าวหน้าไปไม่ได้เอาเสียทีเดียว. ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องประคองจิต ให้มีความขะมักเขม้น พอสมส่วนกับความมั่นคง เคียงคู่กันไปตามลำดับอีกคู่หนึ่ง.

ส่วนข้อที่ว่า สมาธิต้องเสมอกันกับปัญญานั้น เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะเป็นไปได้เองตามธรรมชาติ กล่าวคือ เมื่อบุคคลผู้นั้นเป็นผู้มีปรกติสำรวมในการคิดหรือการพิจารณา คือทำใจให้หนักแน่นมั่นคงเสียก่อน แล้วจึงคิดหรือพิจารณาสืบไป เขาทำปัญหาที่ต้องคิดให้เป็นอารมณ์เฉพาะหน้าไว้ก่อนแล้ว ทำจิตให้เป็นสมาธิแล้วจึงน้อมไปสู่ปัญหานั้น ย่อมเกิดความเห็นแจ้งตามที่เป็นจริงได้อย่างง่ายในขณะนั้น. นี้คือการสอดส่องอย่างมั่นคง หรือมีความมั่นคงในการสอดส่อง แล้วแต่จะเรียก.

ที่ว่า อินทรีย์คือสติ จำต้องปรารถนาในทุกกรณี นั้น เป็นเพราะตั้งอยู่ในฐานะเหมือนเจ้าหน้าที่จัดทำสิ่งเหล่านี้ให้เหมาะสมกันเป็นคู่ๆ ให้รู้จักทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ตั้งแต่ต้นจนปลาย : ทำให้สัทธารู้จักเลือกเชื่อ หรือทำให้สัทธารู้จักเกี่ยวข้องกับปัญญา. หรือควบคุมสัทธาและปัญญา ให้อยู่ในร่องรอยของกันและกัน ดังนี้เป็นตัวอย่าง.

สรุปความก็คือว่า ให้สติเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง หรือควบคุมสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะก็คืออินทรีย์ทั้งสี่ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องมั่นคงและสม่ำเสมอ ซึ่งเรียกว่าสมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท เมื่อสิ่งที่เรียกว่าอินทรีย์ ได้ทำหน้าที่ของตนๆ อย่างเหมาะสมแล้ว จิตย่อมอยู่ในสภาพที่มั่นคงและมี กัมมนียภาวะ คือ ความคล่องแคล่วว่องไวในหน้าที่โดยตรงของตน จึงสามารถทำงานละเอียดได้ยิ่งๆ ขึ้นไป. นี้เรียกว่าการปรับอินทรีย์ให้เข้ากัน : ความมุ่งหมายอยู่ที่การใช้เครื่องมือให้สัมพันธ์กันเป็นอย่างดี.

(๓) มีความฉลาดในเรื่องของนิมิต. เมื่ออินทรีย์ทั้งห้าเป็นไปเหมาะสมแล้ว ความฉลาดในเรื่องของนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้โดยง่าย คือผู้นั้นมีสติในการที่จะตั้งข้อสังเกตสิ่งต่างๆ ว่าเมื่อมีอะไรเป็นอย่างไร แล้วอะไรจะเกิดขึ้นเป็นลำดับๆ มา, ควรกำหนดอะไร ไม่ควรกำหนดอะไร ควรเร่งอะไร หรือควรหย่อนอะไร, สิ่งต่างๆ จึงจะเป็นไปด้วยดี ในการที่จะ ๑. ทำนิมิตให้เกิด, ๒. ทำนิมิตให้เจริญ และ ๓. รักษานิมิตนั้นไว้ได้ตลอดเวลาที่ตนประสงค์.

เมื่อการปฏิบัติดำเนินมาถึงขั้นนี้แล้ว สิ่งที่เรียกว่านิมิตในที่นี้ ได้แก่จิตเตกัคคตานิมิต กล่าวคือ นิมิตที่ทำให้จิตถึงความเป็นจิตมีอารมณ์อันเดียวในขั้นยอด โดยเฉพาะเจาะจงก็ได้แก่สิ่งที่เรียกว่าเอกัคคตา ซึ่งเป็นองค์แห่งฌานองค์ที่ห้า ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนอันว่าด้วยองค์แห่งฌาน. แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ความสำเร็จที่สมบูรณ์ย่อมสืบเนื่องมาจากความเป็นผู้ฉลาดในการปฏิบัติต่อนิมิตขั้นต้นๆ กล่าวคืออุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต มาแล้วเหมือนกัน. แม้ในขณะแห่งอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต ต้องการความฉลาดทั้ง ๓ ประการนี้ อย่างเต็มที่จนความฉลาดในการทำอย่างนี้เกิดเป็นความคล่องแคล่วขึ้นมา จนกระทั่งกลายเป็นความเคยชินเป็นนิสัยของผู้ปฏิบัติ.

ฉลาดทำให้นิมิตเกิดนั้น หมายถึงฉลาดในการกำหนดอารมณ์ของสมาธิในขั้นแรก และการหน่วงน้อมไปสู่นิมิตอันใหม่ หรือเพื่อสร้างนิมิตอันใหม่ในขั้นที่สูงขึ้นไป. สำหรับในขั้นอัปปนาโกสลนี้ หมายถึงการทำจิตให้ดำรงอยู่ได้ด้วยปฏิภาคนิมิตอย่างแน่นแฟ้นจนนิวรณ์รำงับไป แล้วหน่วงน้อมให้เกิดความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานครบเต็มขึ้นมาทั้ง ๕ องค์ และมีองค์สุดท้ายคือเอกัคคตา เป็นองค์สำคัญอย่างยิ่ง เพราะตั้งอยู่ในฐานะเป็นนิมิตอันใหม่แทนปฏิภาคนิมิตนั่นเอง.

ที่ว่า ฉลาดในการทำนิมิตให้เจริญ นั้น หมายถึงว่านิมิตปรากฏแต่อ่อนๆ ก็ทำให้ปรากฏชัดขึ้นๆ ; หรือความรู้สึกที่เป็นวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา อย่างใดอย่างหนึ่งยังอ่อนอยู่ คือไม่แจ่มชัดเต็มที่ หรือล้มๆ ลุกๆ ก็ตาม ก็หน่วงน้อมทำให้ปรากฏอยู่อย่างมั่นคงและเต็มที่.

ส่วนข้อที่ว่า เป็นผู้ฉลาดในการรักษานิมิตที่ได้แล้วนั้น หมายความว่า นิมิตทุกชนิดต้องมีการรักษาอยู่ทุกขณะ, ไม่ว่าจะเป็นขณะแรกได้แรกถึง หรือขณะที่ได้แล้วอย่างสมบูรณ์. นิมิตแรกได้ ก็จะกลับเสื่อมไปอย่างของแรกได้ เปรียบเหมือนงานฝีมือที่ละเอียดประณีตอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เพิ่งทำได้เป็นครั้งแรก ถ้าไม่ทำซ้ำๆ ให้ชำนาญจริงๆ ก็จะไม่คงตัวหรืออยู่ตัว จะลืมเลือนไปในระยะอันเร็ว ส่วนนิมิตที่ได้แล้วอย่างสมบูรณ์นั้น ถ้าไม่รักษาไว้อย่างมั่นคง ก็มีโอกาสให้เกิดสิ่งแทรกแซง นานเข้าก็เสื่อมไปไม่มีเหลืออยู่, เปรียบเหมือนงานฝีมือที่ทำได้อย่างแม่นยำอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ถูกทอดทิ้งนานเกินไป ด้วยการเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นเสีย ก็อาจจะเลอะเลือนได้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เคยทำได้อย่างแม่นยำ. เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่านิมิตทุกชนิด จึงจำเป็นจะต้องรักษา นับตั้งแต่อุคคหนิมิตเป็นต้นมา จนถึงปฏิภาคนิมิต จะต้องได้รับการรักษาโดยวิธีดังกล่าวแล้วข้างต้น จนกว่าจะหมดความจำเป็น ในเมื่อฌานคล่องแคล่วแล้ว. สำหรับองค์แห่งฌานทั้งหลาย และโดยเฉพาะเอกัคคตาอันเป็นองค์สุดท้ายนั้น จะต้องรักษาด้วยหลักเกณฑ์ที่คล้ายๆ กัน แต่เป็นการกระทำที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่า โดยใจความสำคัญก็คือ การทำให้คล่องแคล่วอยู่เสมอ โดยอาการที่เรียกว่า วสี ทั้งห้า ดังที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า, และโดยอาการที่เป็นการเพิ่มความพอใจเป็นต้น ในการกระทำนี้ให้มากยิ่งขึ้นทุกที โดยวิธีปฏิบัติที่เรียกว่าอิทธิบาท ๔ ดังที่ทราบกันแล้วทั่วๆ ไป ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องนำมากล่าวไว้ในที่นี้.

สรุปความว่า ความฉลาดในเรื่องของนิมิตนั้น คือความรู้เท่าทันในการที่จะทำให้นิมิตปรากฏ การทำให้นิมิตแจ่มชัดถึงที่สุด และการคงสภาพเช่นนั้นไว้ให้นานได้ตามที่ตนต้องการ โดยความไม่ประมาทนั้นเอง. ผู้ขาดความสังเกตย่อมไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ จะเกิดการล้มลุกคลุกคลาน จนต้องล้มความตั้งใจในที่สุดโดยยอมลดตัวเองว่า เป็นผู้มีอุปนิสัยไม่เพียงพอ. นี้เรียกว่าความเป็นผู้ฉลาดในนิมิต : ความมุ่งหมายอยู่ที่ฉลาดควบคุมสิ่งที่พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงได้ไวนั่นเอง.

(๔) การประคองจิตโดยสมัย. คำว่า “โดยสมัย” เป็นสำนวนบาลี เป็นคำพูดสั้นๆ เพียงสองคำ แต่มีความหมายชัดเจนพอ ว่าต้องทำสิ่งที่กล่าวนั้นให้เหมาะสมหรือให้ตรงต่อเวลาที่ต้องทำ หรือควรทำก็ตาม อย่าให้ผิดเวลาหรือแม้แต่เพียงช้าไปเป็นอันขาด. ผู้ปฏิบัติจะต้องสังเกตให้รู้ทันทีว่า มีอะไรเกิดขึ้นและต้องทำอย่างไร และจะต้องมีความรู้ว่าเมื่อมีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น จะต้องประคองจิต หรือข่มจิต หรือปลอบโยนจิต ดังนี้เป็นต้น. ในกรณีของอัปปนาโกสลนั้น เมื่อสังเกตเห็นว่าจิตตกต่ำ คือมีอาการถอยกำลัง หรือกำลังน้อย ไม่พอเพื่อการเพ่งต่ออัปปนาสมาธิก็ตาม จะต้องทำการเพิ่มกำลังให้แก่จิต ซึ่งเรียกว่าการประคองจิตในที่นี้.

การปฏิบัติในการประคองจิตนี้ ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาถึงสิ่งที่เรียกกันว่า สัมโพชฌงค์ จะเป็นการง่ายแก่การเข้าใจและการปฏิบัติ. คำว่า สัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งการตรัสรู้หรือการรู้พร้อม ซึ่งหมายถึงการที่ปัญญาดำเนินไปถึงที่สุดนั่นเอง. ที่เรียกว่า องค์แห่งการตรัสรู้ก็เพราะว่าการตรัสรู้ต้องประกอบด้วยองค์ทั้ง ๗ นี้จริงๆ. องค์ทั้ง ๗ นี้ คือ สติ, ธัมมวิจยะ (การเลือกเฟ้นหรือสอดส่องธรรม), วิริยะ, ปีติ, ปัสสัทธิ (ความรำงับแห่งจิต), สมาธิ และ อุเบกขา. ขอให้รู้จักสังเกตให้เห็นชัดว่า ในโพชฌงค์ ๗ อย่างนั้น เมื่อกันเอาสติออกเสียอย่างหนึ่ง เหลือเพียง ๖ อย่าง ก็จะแบ่งได้เป็น ๒ พวก, พวกละ ๓ อย่าง. สามอย่างแรก คือ ธัมมวิจยะ วิริยะ และปีติ เป็น พวกที่มีคุณสมบัติประคองจิตให้สูงขึ้น หรือเพิ่มกำลังให้แก่จิต. ส่วนสามอย่างหลัง คือปัสสัทธิ สมาธิ และ อุเบกขา นั้น เป็นพวกที่มีคุณสมบัติข่มจิตที่ฟุ้งซ่าน หรือลดกำลังของจิตที่มีมากจนล้น ; เพราะเหตุนี้ อุบายเป็นเครื่องประคองจิตในที่นี้ก็คือ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ และ ปีติสัมโพชฌงค์ นั่นเอง. ผู้ปฏิบัติจะต้องใช้สัมโพชฌงค์ทั้ง ๓ นี้ ในขณะที่จิตหดหู่หรือถอยกำลัง แม้ในขณะแห่งการเจริญสมาธิ ซึ่งนับว่าเป็นภาคต้นของการเจริญกัมมัฏฐานภาวนา. ส่วนสติสัมโพชฌงค์ นั้น เป็นสิ่งที่ต้องมีหรือต้องใช้ ในกรณีทั่วไปหรือทุกๆ กรณีอีกตามเคย นับตั้งแต่เป็นผู้รู้ว่าเดี๋ยวนี้จิตหดหู่เสียแล้ว จะต้องแก้ไขด้วยธรรมะข้อไหน จะดำรงธรรมะข้อนั้นไว้ได้อย่างไร จนกระทั่งเป็นผู้รู้ว่าจิตพ้นจากความหดหู่แล้ว ดังนี้เป็นต้น. โพชฌงค์แต่ละอย่างๆ มีเรื่องที่จะต้องศึกษา และนำไปใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้ :

ก. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจัยในที่นี้ ตามตัวหนังสือแปลว่าการเลือกเฟ้นธรรมอย่างดีที่สุด เปรียบเหมือนกับคนฉลาดสามารถเลือกเก็บดอกไม้ในสวนที่กว้างใหญ่ไพศาล และมีมากจนลานตา จนไม่รู้ว่าเก็บดอกไม้อะไรดีสำหรับผู้ที่ไม่มีความฉลาด ; ต่อเมื่อเป็นผู้ฉลาดเท่านั้น จึงจะสามารถทำงานนี้ให้สำเร็จประโยชน์ได้. คำว่า “เลือกเฟ้น” ย่อมกินความไปถึงคำว่า “สอดส่อง” ถ้าไม่สอดส่องให้ทั่วถึงแล้วก็ไม่รู้จะเลือกได้อย่างไร หรือควรเลือกหยิบเอาอะไรขึ้นมา ; ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยวิธีปฏิบัติ ก็ได้แก่ การแยกแยะออกดูอย่างละเอียด แล้วกันเอามาเฉพาะส่วนที่จำเป็นจะต้องใช้ ให้ถูกตรงตามเรื่องตามราวของมันโดยเฉพาะ. ในกรณีที่จิตหดหู่ ย่อมจะมีมูลเหตุมาได้หลายอย่าง หลายทาง จำเป็นที่จะต้องสอดส่องให้พบมูลเหตุที่แท้จริง และเลือกของแก้ที่เหมาะสมมาแก้. บางอย่างก็อาจจะต้องอาศัยสติปัญญาของผู้อื่นเข้าประกอบ บางอย่างก็ไม่อาจทำเช่นนั้นได้ จำเป็นจะต้องสอดส่องแก้ไขด้วยตนเองเป็นระยะยาว จนกระทั่งประสบความสำเร็จ. อย่างไรก็ตาม ท่านได้แนะทางมาแห่งธัมมวิจยะไว้เป็นหลักทั่วไป กล่าวคือ :
๑. การสอบถาม ในกรณีที่ควรสอบถาม จากกัลยาณมิตรผู้สามารถเพื่อประกอบความคิดเห็นของตัว.
๒. ทำสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ดังที่กล่าวแล้วในอัปปนาโกสลข้อหนึ่ง ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเป็นอยู่ด้วยร่างกายที่เยือกเย็น และจิตใจที่ปลอดโปร่งที่สุดนั่นเอง.
๓. ปรับปรุงอินทรีย์ทั้งห้า ให้มีกำลังเหมาะส่วนแก่กัน ดังที่กล่าวแล้วในอัปปนาโกสลข้อสอง ซึ่งหมายความว่าอินทรีย์ที่เหมาะส่วนแก่กันนั้น นอกจากจะเป็นการเร่งอัปปนาสมาธิแล้ว ยังอาจจะเป็นทางของธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ก็ได้อีก ในเมื่อการเร่งอัปปนาสมาธิโดยตรงไม่ประสบความสำเร็จ.
๔. อย่าข้องแวะกับคนโง่ แม้โดยประการใด.
๕. คบค้าแต่กับคนที่ฉลาด. ฉลาดในที่นี้ หมายถึงฉลาดในธรรมะโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ในการปฏิบัติธรรม.
๖. พิจารณาธรรมนั้นๆ อยู่โดยอุบายที่แยบคายที่สุด จนมีความแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นๆ หรืออย่างน้อยก็พบลู่ทางที่จะแก้ปัญหานั้นเสีย.
๗. ในกรณีที่ต้องทำเป็นระยะยาว ก็คือ การเพาะนิสัยของตนเองให้มากขึ้นไป ในการสอดส่องและเลือกเฟ้นธรรมนั่นเอง.

เมื่อประพฤติอยู่ครบถ้วนทั้ง ๗ ประการนี้แล้ว สิ่งที่เรียกว่าธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ก็ตั้งขึ้นอย่างมั่นคง สำเร็จเป็นองค์ๆ หนึ่งได้โดยแน่แท้ แล้วทำหน้าที่ประคองจิตด้วยการทำให้มองเห็นลู่ทางอันราบรื่น ก่อให้เกิดกำลังใจในการปฏิบัติขึ้นมาทันที ความหดหู่ก็หายไปตามส่วน เพราะอำนาจของธัมมวิจยะนี้.

ข. วิริยสัมโพชฌงค์ คำว่า วิริยะ แปลว่า ความพากเพียร แต่รวมอยู่ด้วยลักษณะแห่งความเข้มแข็งและกล้าหาญ. ในที่นี้ หมายถึงสมรรถภาพของจิตที่เป็นความเข้มแข็งกล้าหาญ รุดหน้าอย่างมั่นคง ไม่ยอมถอยหลัง เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความหดหู่อีกปริยายหนึ่ง. ถ้าหดหูก็ไม่มีวิริยะ ถ้ามีวิริยะก็ไม่อาจหดหู่ เพราะฉะนั้นหน้าที่จึงมีแต่เพียงสร้างวิริยะขึ้นมาให้ได้ก็พอ โดยใจความก็คือ การปลุกกำลังใจด้วยการพิจารณาที่เหมาะสม หรือที่เป็นอุบายอันแยบคาย. วิธีที่ท่านนิยมกระทำกัน แล้วแนะนำไว้นั้น มีอยู่ดังต่อไปนี้ :-

๑. พิจารณาให้เห็นโทษ ของการที่เราไม่มีสิ่งนี้ แล้วต้องตกจมอยู่ในกองทุกข์ หรือต้องเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์อย่างซ้ำๆ ซากๆ ไม่มีสิ้นสุด เรียกว่ามองเห็นภัยในวัฏฏสงสาร.

๒. พิจารณาให้เห็นอานิสงส์ ของการที่เรามีสิ่งนี้อย่างแจ่มชัด ว่าเมื่อมีแล้ว จักพ้นไปจากความทุกข์ด้วยอาการฉะนี้ๆ จนเกิดกำลังใจขึ้นมา.

๓. พิจารณาเห็นทาง ว่าทางที่พระองค์ทรงแสดงไว้นี้ หรือทางที่เรากำลังปฏิบัติอยู่นี้ เป็นทางที่ถูกต้องที่สุดแล้ว ทางอื่นไม่มี หรือมีก็ไม่ดีไปกว่านี้ :

๔. พิจารณาถึงหนี้ หมายความว่า ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ไม่มีทางที่จะไปประกอบอาชีพใดๆ ด้วยตนเอง ต้องอาศัยปัจจัยสี่จากบุคคลอื่นเป็นอยู่ กำลังเป็นหนี้เขา จะหลุดจากหนี้ ต่อเมื่อประสบความสำเร็จในการปฏิบัติ เมื่อพิจารณาอยู่ดังนี้ ก็เกิดความขะมักเขม้นในการปฏิบัติขึ้นมาทันที.

๕. พิจารณาถึงพระศาสดา ว่าเราได้ศาสดาที่ดีที่สุดของโลก ควรจะมีความภาคภูมิใจในข้อนี้ : และธรรมะที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ดีสมกัน ไม่มีผิดพลาด เราควรจะเดินตามท่านโดยแท้จริง.

๖. พิจารณาในฐานะผู้รับมรดก หรือเป็นธรรมทายาท ว่าตัวได้มีโชคมีเกียรติ ในฐานะเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาผู้เลิศเห็นปานนี้แล้ว จะเอาอย่างไรกันอีกเล่า ในเมื่อไม่มีมรดกอันไหน จะสูงยิ่งไปกว่ามรดกอันนี้แล้ว ดังนี้เป็นต้น ก็เกิดความภาคภูมิใจขึ้นมาอีกปริยายหนึ่ง.

๗. อาโลกสัญญา การทำความสำคัญในแสงสว่าง หรือทำความสำคัญว่ามีแสงสว่าง ได้แก่การทำใจให้เปิดโล่งแจ่มแจ้งราวกะว่า มีแสงสว่างแรงกล้าปรากฏชัดอยู่ แม้ว่าจะเป็นเวลากลางคืนมืด ๆ หรือว่าตนกำลังหลับตาอยู่ก็ตาม. การเคยเจริญอาโลกกสิณมาก่อน ย่อมช่วยได้มากในข้อนี้. สิ่งนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อความหดหู่ของจิตโดยตรง ทำจิตไม่ให้ซบเซาหรือมืดมัว จึงจะมีกำลังใจที่จะก้าวหน้าและก้าวหน้าอยู่เสมอ.

๘. ไม่ข้องแวะกับคนเกียจคร้าน หรือนิมิตแห่งความเกียจคร้าน.

๙. คบแต่คนขยัน หรือสัญลักษณ์แห่งความขยัน.

๑๐. พิจารณาถึงคุณแห่งธรรมะข้อนี้อยู่เป็นประจำ โดยปริยายต่างๆ กันทุกแง่ทุกมุม.

๑๑. ในกรณีที่ต้องทำเป็นระยะยาว ก็คือ การเพาะนิสัย ของตัวเองให้เกิดความเลื่อมใสและเคยชินต่อคุณธรรมข้อนี้อยู่ตลอดเวลา.

เมื่อทำอยู่ดังนี้ สิ่งที่เรียกว่าวิริยสัมโพชฌงค์ ก็เกิดขึ้นและตั้งอยู่อย่างมั่นคง กำจัดความหดหู่แห่งจิตเสียได้. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นอุบายประคองจิต ด้วยการทำจิตให้มองเห็นลู่ทางด้วยความหวัง พร้อมกันนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ก็ประคองจิตให้รีบเดินไปตามลู่ทางอันนั้น ด้วยการกระทำที่สัมพันธ์กันดังนี้.

ค. ปีติสัมโพชฌงค์ คำว่า ปีติ หมายถึงความอิ่มใจ คือความยินดีที่เกิดมาจากการกระทำของตัวเอง หรือความเคารพตัวเอง ว่ากำลังทำ หรือกำลังได้สิ่งที่ควรจะได้ ; เป็นกำลังใจอีกปริยายหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับความหดหู่ และเป็นตัวธรรมะที่สนับสนุนวิริยะโดยตรง ไม่ให้เกิดความเหนื่อยล้า. อุบายให้เกิดปีตินั้น ท่านนิยมปฏิบัติและแนะนำกันไว้ดังต่อไปนี้ :

๑. การเจริญพุทธานุสสติ,

๒. การเจริญธัมมานุสสติ,

๓. การเจริญสังฆานุสสติ,

ทั้ง ๓ อย่างนี้ เมื่อทำลงไปจริงๆ แล้ว ย่อมเกิดปีติในคุณของพระรัตนตรัย และมีกำลังแห่งปีติ ย้อนมาสนับสนุนความพากเพียรของตน. แต่ถ้าเป็นการเจริญแต่ปาก คือไม่ซึมทราบในคุณของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริงๆ แล้ว ก็ไม่เกิดผลเช่นกล่าวนั้น.

๔. สีลานุสสติ การพิจารณาถึงศีลของตน โดยเฉพาะว่าตนเป็นคนมีศีลบริสุทธิ์ ย่อมเกิดกำลังเป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะนิยมชมชอบตัวเอง หรือมีปีติในตัวเอง ซึ่งจะส่งเสริมกำลังแห่งความพากเพียรยิ่งขึ้นไปตามลำดับ.

๕. จาคานุสสติ ระลึกถึงการบริจาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตนเคยบริจาคจริงๆ แล้วก็เกิดความภาคภูมิใจและปีติในตัวเอง อย่างเดียวกับที่กล่าวแล้วในเรื่องของสีลานุสสติ.

๖. เทวตานุสสติ ระลึกถึงธรรมะที่ทำความเป็นเทวดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ หิริ และโอตตัปปะ ที่ทำบุคคลให้งามหรือเป็นสุขราวกะเทวดา หรือยิ่งไปกว่าเทวดา, เมื่อมองเห็นความเป็นไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ที่สุดของธรรมะเหล่านี้ก็คือ เกิดปีติในธรรม มีผลเป็นเครื่องสนับสนุนกำลังใจอย่างเดียวกัน.

๗. อุปสมานุสสติ ระลึกในคุณของความสงบ หรือธรรมเป็นเครื่องทำความสงบ ตลอดถึงคุณค่าของความสงบอันสูงสุดที่เป็นขั้นนิพพาน จนเห็นชัดว่าเป็นสิ่งที่มีได้โดยประการใด ดังนี้แล้ว ก็เกิดปีติที่เป็นกำลังอย่างยิ่ง และทำหน้าที่ของมัน โดยทำนองเดียวกันกับพุทธานุสสติ เป็นต้น.

๘. ในกรณีที่ต้องทำเป็นระยะยาว ต้องขยันในการเพาะนิสัย ของตนให้มีความเคยชินในคุณธรรมข้อนี้ คือ ความเป็นคนแจ่มใส อาจหาญ ร่างเริง มีกำลังใจ มีความหวังที่เพียบพร้อมอยู่เสมอ. เมื่อทำได้อย่างนี้ สิ่งที่เรียกว่าปีติสัมโพชฌงค์ ก็เกิดขึ้นและตั้งอยู่อย่างมั่นคง กำจัดความหดหู่ของจิตได้ในที่สุด.

รวมความว่าธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ประคองจิตด้วยการทำให้เห็นลู่ทางหรือความหวัง, วิริยสัมโพชฌงค์ ประคองจิตให้มีกำลังด้วยการเดินไปตามลู่ทางนั้น, และปีติสัมโพชฌงค์ ประคองจิตด้วยการเพิ่มกำลังให้แก่วิริยสัมโพชฌงค์อย่างไม่มีระยะว่างเว้น ด้วยการสัมพันธ์กันในลักษณะเช่นนี้การประคองจิตโดยสมัยก็เป็นไปโดยสะดวกและสมบูรณ์ พอที่จะทำให้เกิดความแน่วแน่ในขั้นอัปปนาสืบไป.
(๕) การข่มจิตโดยสมัย ในบางคราวหรือบางกรณี จิตมีอาการฟุ้งซ่านจนกระทั่งมีการกำเริบในทางกาย ซึ่งเป็นของเนื่องถึงกัน. การรำงับความกำเริบทั้งทางกายและทางจิต ก็ตกเป็นหน้าที่ของโพชฌงค์ทั้งสามที่เหลือ กล่าวคือปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์. สัมโพชฌงค์ทั้งสามนี้ล้วนแต่เป็นไปในทางสงบรำงับ และตั้งมั่นแน่วแน่ และวางเฉย โดยการสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และเป็นเหตุผลของกันและกันอยู่ในตัว แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีทางที่จะทำให้เต็มที่ในโพชฌงค์องค์หนึ่งๆ โดยเฉพาะ อยู่นั่นเอง.

ก. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์. คำว่า ปัสสัทธิ แปลว่า รำงับ โดยอาการก็คือความสงบลงๆ ของความพลุ่งพล่านหรือความกระสับกระส่าย ซึ่งท่านแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือทางกาย และทางจิตซึ่งเป็นของเนื่องกัน ; เพราะฉะนั้นปัสสัทธิ จึงเกิดมีเป็น ๒ อย่างขึ้น เช่นเดียวกัน กล่าวคือ กายปัสสัทธิ รำงับทางกาย และ จิตตปัสสัทธิ รำงับทางจิต.

ทางมาแห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้นท่านแนะไว้ได้แก่ :

๑. ภาวนา,

๒. พหุลีกตา,

๓. โยนิโสมนสิการ

ซึ่งทั้ง ๓ อย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปในปัสสัทธิทั้งสองนั้นเอง. ภาวนา หมายถึงการทำให้มีขึ้น, พหุลีกตา หมายถึงทำให้มากขึ้น คือ ทำซ้ำๆ, โยนิโสมนสิการ หมายถึงการทำไว้ในใจโดยแยบคาย ทุกขั้นทุกลำดับ ที่ได้กระทำมา ให้มีความเข้าใจแจ่มแจ้งในสิ่งนั้นๆ ยิ่งขึ้นเสมอไป, ทั้งนี้เป็นสิ่งที่เนื่องกันทั้ง ๓ อย่าง ทุกระยะแห่งการก้าวหน้า. ในที่นี้ได้แก่การพยายามกำหนดสังเกตในความกระสับกระส่ายมูลเหตุของความกระสับกระส่าย และลู่ทางที่จะให้เกิดความสงบรำงับขึ้นทีละน้อยๆ ตามลำดับ ; เกิดขึ้นเท่าไร ก็รักษาไว้ให้ได้ด้วยการทำซ้ำๆ อย่างระมัดระวังนั่นเอง ; และพร้อมกันนั้น ท่านแนะให้มีการจัด การทำที่จะสนับสนุนความสงบรำงับนั้นอีกทางหนึ่ง คือ :-

๔. อาหาร อาหารที่ช่วยทำให้เกิดความรำงับทางกายและทางจิต เช่นอาหารผัก ให้ความสงบรำงับยิ่งกว่าอาหารเนื้อ เป็นต้น ตลอดถึงอุบายวิธีบริโภคอย่างไร ซึ่งสนับสนุนแก่ความสงบรำงับนั้นด้วย.

๕. ดินฟ้าอากาศ กล่าวคือ ธรรมชาติที่แวดล้อมเช่นความร้อน ความหนาว ความทึบ ความโล่ง ตลอดถึงทิวทัศน์ที่งดงามหรือไม่งดงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความสงบรำงับแห่งจิตอยู่มากเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งหนวกหู หรือรบกวนทางตา ทางจมูก เป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่อำนวยแก่ความสงบรำงับ.

๖. อิริยาบถ ที่เหมาะสมต่อความสงบรำงับ กล่าวคือ อิริยาบถที่ไม่ส่งเสริมแก่ความฟุ้งซ่าน อิริยาบถนอน ย่อมส่งเสริมความฟุ้งซ่าน. อิริยาบถเดิน เป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม ดังนี้เป็นต้น. ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้จักสังเกตในส่วนที่เป็นกรณีของตนโดยเฉพาะ.

๗. ความพากเพียรที่พอเหมาะ คือไม่พากเพียรทั้งทางกายและทางจิตจนเกินกำลัง หรือไม่เหมาะแก่เวลาเป็นต้น. โดยใจความ หมายถึงความที่ไม่เครียดจนเกินไป หรือไม่ถึงขนาดที่เรียกว่าเครียด แต่ก็ไม่เฉื่อยชา. นี้เรียกว่าความเพียรที่พอเหมาะ และมีสิ่งที่ต้องสังเกตเฉพาะคนๆ ด้วยเหมือนกัน.

๘. ไม่ข้องแวะกับคนฟุ้งซ่าน.

๙. คบค้าแต่กับบุคคลที่มีความสงบรำงับ.

๑๐. ในเมื่อจะต้องทำเป็นระยะยาว จะต้องมี การเพาะนิสัย ของตนเองให้เปลี่ยนไปในทางสงบรำงับยิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งเป็นนิสัย.

เมื่อปฏิบัติอยู่ครบถ้วนทั้ง ๑๐ ประการนี้ ย่อมเกิดความรำงับทางกายและทางจิต ตามลำดับอย่างเป็นระเบียบ. ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ต้องมีความระมัดระวัง และความแน่ใจในความอดกลั้นอดทน ทำมันอย่างประณีต และรอคอยได้อย่างเยือกเย็น.

ข. สมาธิสัมโพชฌงค์. คำว่า สมาธิ ในคำว่าสมาธิสัมโพชฌงค์แห่งอัปปนาโกสลนี้ มิได้หมายถึงสมาธิส่วนใหญ่ที่กำลังกระทำอยู่โดยตรง เพราะว่าการทำสมาธิส่วนนั้นมาติดตันอยู่ตรงนี้. สมาธิส่วนที่เป็นสัมโพชฌงค์นี้หมายถึง คุณธรรมส่วนที่จะใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อจะแก้ไขอุปสรรคข้อนี้เอง และข้ออื่นๆ ตลอดไปในกาลข้างหน้า แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นของที่แนบเนื่องกันอยู่อย่างไม่อาจจะแยกกันได้ คือจะต้องปฏิบัติเนื่องกันหรือคราวเดียวกันไปในตัว เช่น การที่ยังคงรักษานิมิตที่ปรากฏแล้วนั่นเองไปเรื่อยๆ ตามหลักการที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นแต่เราแยกเรียกสิ่งนี้ออกมาเสียส่วนหนึ่งว่า ส่วนที่เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์. สิ่งที่ต้องปฏิบัติในกรณีนี้ ได้กล่าวไว้เป็นกลางๆ อย่างเดียวกัน คือ : ๑. ภาวนา, ๒. พหุลีกตา. ๓. โยนิโสมนสิการ. ทั้งสามนี้เป็นไปในนิมิตแห่งสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาแล้วแต่กรณี ใจความสำคัญก็คือการทำอย่างระมัดระวัง ในกรณีที่เกี่ยวกับนิมิตทุกระยะ ด้วยการทำให้เกิดการทำซ้ำ และทำไว้ในใจโดยแยบคายเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในข้อ ก.อันว่าด้วยปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ นั่นเอง. ยิ่งกว่านั้น ในกรณีที่กล่าวไว้อย่างกว้างๆทั่วไป ท่านให้ถือว่า …๔. อัปปนาโกสล หมดทั้ง ๑๐ ประการนั้นแหละ เป็นกิจที่จะต้องทำอยู่ตลอดเวลา ในการเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ และ ๕. ข้อสุดท้าย ก็คือการเพาะนิสัย ในความเป็นสมาธิในฐานะที่เป็นกฎทั่วไปของการปฏิบัติระยะยาว.

ค. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อุเบกขานี้หมายถึงความวางเฉย และมีมูลมาแต่ความรู้ที่ถูกต้อง ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น (สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย) อันเป็นปัญญา หรือส่วนสัมมาทิฏฐิที่เป็นพื้นฐานทั่วไป ของการปฏิบัติธรรม อันเป็นเครื่องสนับสนุนให้มีความวางเฉย ในสิ่งทั้งปวงได้โดยง่าย แล้วเป็นเครื่องสนับสนุนความเป็นสมาธิโดยตรงอยู่ในตัว เพื่อพอกพูนอุเบกขาสัมโพชฌงค์ให้เจริญยิ่งขึ้น ท่านแนะนำไว้ดังต่อไปนี้ :

๑. ทำความวางเฉยในสัตว์ คือสิ่งที่มีชีวิตไม่ว่าสัตว์มนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน.

๒. ทำความวางเฉยในสังขาร ซึ่งในที่นี้ได้แก่สิ่งต่างๆ ที่นอกไปจากสัตว์.

ทั้งสองอย่างนี้ หมายถึงสิ่งที่ตนกำลังยึดมั่นถือมั่น ว่ามันเป็นอะไรหรือเป็นของใคร ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่าดีกว่าหรือเลวกว่าเป็นต้น อันเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกยึดถืออย่างอื่นอีกต่อๆ ไป กระทั่งยึดถือว่าเป็นของเรา หรือเกี่ยวข้องกันอยู่กับเรา ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด.

๓. ไม่ข้องแวะกับคนยึดมั่นถือมั่น หรือสัญลักษณ์ของความยึดมั่นถือมั่น.

๔. คบค้าสมาคมแต่กับบุคคล หรือสัญลักษณ์ แห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือบุคคลที่วางแล้ว หรือหลุดพ้นแล้ว จากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง.

๕. มีการเพาะนิสัยแห่งความเป็นคนไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่เป็นปรกติ ด้วยการพิจารณาถึงคุณของสิ่งนั้น ทำความพอใจในสิ่งนั้นอย่างยิ่ง สรรเสริญคุณของสิ่งนั้น และชักชวนผู้อื่นในการทำอย่างนั้นอยู่เสมอไป นี้เป็นใจความสำคัญของคำว่า เพาะนิสัย.

สรุปความแห่งความสัมพันธ์กัน ระหว่างโพชฌงค์ทั้ง ๓ นี้ว่า ปัสสัทธิทำให้เกิดความรำงับทางกายและทางจิต ; เมื่อรำงับก็ตั้งมั่นเป็น สมาธิ; เมื่อตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็คุมให้หยุดอยู่หรือเฉยอยู่ ในความเป็นอย่างนั้น ซึ่งเรียกว่าอุเบกขา. นี้คือการทำหน้าที่อย่างสัมพันธ์กันของสัมโพชฌงค์ทั้ง ๓ นี้. เมื่อทำได้ จิตก็ไม่มีทางที่จะฟุ้งซ่านหรือเลื่อนลอยแต่ประการใด. ที่กำลังฟุ้งซ่านอยู่ก็รำงับไปเพราะอำนาจของปัสสิทธินั่นเอง. การทำอย่างนี้ทุกคราวที่ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นเรียกว่าการข่มจิตโดยสมัย.
(๖) การปลอบจิตโดยสมัย ในกรณีที่ไม่เกี่ยวกับการยกหรือการข่ม ท่านแนะให้ใช้วิธี “ปลอบจิตโดยสมัย” คือการจูงไปทางใดทางหนึ่ง ซึ่งเป็นวัตถุที่ประสงค์อย่างยิ่ง, ในกรณีเช่นนี้ ท่านแบ่งออกเป็น ๒ ระยะ คือ การขู่ให้กลัวสิ่งที่น่ากลัว แล้วล่อหรือจูงไปยังสิ่งที่พึงปรารถนา. สิ่งที่ควรนำมาขู่ คือ ความทุกข์นานาประการ ที่ปรากฏอยู่อย่างชัดแจ้ง. ท่านจำแนกไว้เป็น ๘ ชนิดคือ ๑. ทุกข์เพราะเกิด. ๒. ทุกข์เพราะแก่. ๓. ทุกข์เพราะเจ็บไข้, ๔. ทุกข์เพราะความตาย, ๕. ทุกข์เพราะความเสื่อมเสีย ซึ่งเรียกว่าอบายทุกชนิด, ๖. ทุกข์ในวัฏฏสงสารส่วนที่เป็นอดีตที่เคยประสบมาแล้ว, ๗. ทุกข์ในวัฏฏสงสารส่วนที่เป็นอนาคต ที่ตนมองเห็นได้โดยประจักษ์, และ ๘. ทุกข์เนื่องด้วยการเสาะแสวงหาปัจจัยเครื่องยังชีวิตให้เป็นไป ตลอดถึงการหาอาหารทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อันไม่รู้สิ้นสุด และมีประจำอยู่ในความมี ความเป็น ทุกชนิด. การทำการพิจารณาให้เห็นแจ้งชัดในความทุกข์เหล่านี้อยู่เสมอ จักเป็นอุบายเครื่องขู่จิตให้เกิดความกลัวต่อการที่จะนอนจมอยู่ในความเป็นอย่างนี้ แล้วเกิดความเชื่อ ความกล้า หรือความพอใจในการที่จะไปเสียให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้. อุบายเป็นเครื่องล่อหรือจูง ให้จิตเป็นไปในทางสูงนั้น ได้แก่การทำความปลื้มใจอยู่ในคุณของสิ่ง หรือบุคคล อันเป็นที่ตั้งแห่งความปลื้มใจ หรือความน่ายึดถือเอาเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อีกนั่นเอง แต่ต้องเป็นการกระทำที่สมบูรณ์ คือปรากฏเป็นความปลื้มใจได้จริงๆ ว่า บุคคลนี้พ้นจากทุกข์จริงๆ ; ว่าสิ่งนี้เป็นหนทางพ้นจากทุกข์ได้จริง; และบุคคลเหล่านี้เป็นตัวอย่างแห่งบุคคลผู้พ้นจากทุกข์ได้จริง ; ทั้ง ๓ อย่างนี้ล้วนแต่เป็นเครื่องประกันความสำเร็จ ดังนี้เป็นต้น. เมื่อการขู่และการล่อโดยประการ ๒ อย่าง เป็นไปด้วยดีแล้ว เรียกว่าเป็นการปลอบหรือประเล้าประโลมจิต ที่ไม่ทำความก้าวหน้าให้ทำความก้าวหน้าทำจิตที่หยุดให้เคลื่อนไปสู่คุณเบื้องสูงได้ด้วยอุบายอันหนึ่ง.

(๗) การคุมจิตโดยสมัย. เมื่อจิตไม่หดหู่ หรือจิตไม่ฟุ้งซ่าน แต่เป็นจิตที่ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ เรียกว่าจิตย่างขึ้นสู่ความเหมาะสมในเบื้องต้นเป็นจิตที่เริ่มได้ที่แล้ว หน้าที่ที่จะต้องทำในขณะนั้น ก็คือการคุมความเป็นอย่างนั้นไว้เรื่อยไป จนกว่าจะถึงวัตถุที่ประสงค์ ซึ่งในที่นี้ ได้แก่การดำเนินเข้าสู่สมถะหรือความเป็นอัปปนาอันแท้จริง. ข้อนี้โดยใจความก็เพียงแต่ควบคุมความรู้สึกที่ต้องประสงค์นั้นอยู่เฉยๆ กล่าวคือ เมื่อได้ปรับปรุงขยับขยายการกำหนดหรือความรู้สึกสิ่งต่างๆ โดยแยบคาย จนถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติส่วนนั้นแล้วก็หน่วงเอาความเป็นอย่างนั้นไว้อย่างสม่ำเสมอให้ตลอดเวลา. ในที่นี้ก็ได้แก่การหน่วงจิตต่อความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานอยู่อย่างสม่ำเสมอเป็นระยะยาว นั่นเอง เรียกว่าการคุม.

เราอาจจะเข้าใจความหมายข้อนี้ได้ง่าย ด้วยการเปรียบเทียบกับสารถีที่ฉลาด คุมม้าที่บังคับได้ที่แล้ว ให้ลากรถไปตามถนนที่ราบรื่น ด้วยอาการเพียงถือสายบังเหียนอยู่เฉยๆ ก็ถึงที่สุดปลายทางได้ ฉันใดก็ฉันนั้น. ข้อนี้อธิบายว่า วิถีแห่งสมถะในขั้นอัปปนานั้น ก็มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัวของมันอยู่ตามธรรมชาติ เมื่อดำเนินมาถึงหลักเกณฑ์อันนั้นแล้ว ก็เกิดอาการส่วนที่เป็นไปเองได้ตามกฎเกณฑ์ของมัน. ความยากลำบากของการคุม ย่อมอยู่ตรงที่จะต้องไม่ทำอะไรใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาเป็นสิ่งแทรกแซงอันใหม่ หรือเกิดเป็นปัญหาอันใหม่ขึ้นมาอีก ; สิ่งที่ประสงค์อย่างยิ่งในอุบายข้อนี้จึงได้แก่สติสัมปชัญญะที่มีอย่างพอเพียงนั่นเอง จึงควรกล่าวว่า สติสัมโพชฌงค์เป็นสิ่งที่จำปรารถนามากเป็นพิเศษในกรณีแห่งการคุมจิตนี้.

(๘) การเว้นคนโลเล คำว่า โลเล ในกรณีนี้ ท่านระบุไว้เป็น ๓ ลักษณะคือ :-

๑. คนไม่เคยหรือไม่ชอบต่อเนกขัมมะ กล่าวคือภาวะที่ปราศจากกาม. ที่ว่าไม่เคยต่อเนกขัมมะนั้น หมายความว่าไม่เคยมีจิตที่ปราศจากกาม ไม่เคยมีจิตว่างเว้นจากความปรารถนากาม หรือความพัวพันอยู่ในกาม ; กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่เคยพบความสงบจากการรบกวนของกาม จนไม่ทราบว่ารสของเนกขัมมะนั้นมีอยู่อย่างไร. ส่วนผู้ไม่ชอบเนกขัมมะนั้น หมายความว่าเป็นคนหมกมุ่นอยู่แต่ในกาม เมื่อมีใครมาพูดถึงภาวะที่ตรงกันข้ามก็ไม่ชอบทั้งที่ตนไม่เคยเข้าถึงภาวะอันนั้นเลย แต่ถือเอาโดยอนุมานว่า เป็นสิ่งที่ตนไม่ควรปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง คนชนิดนี้ย่อมโลเลต่อความสงบ คือส่ายหนีจากความสงบอยู่เป็นปกติ.

๒. คนมีเรื่องมาก หรือคนจับจด. คนมีเรื่องมากไม่สามารถทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน หรือถึงที่สุดได้. การที่เขาชอบมากเรื่องย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าเป็นคนส่าย. คนจับจด หมายถึงคนเปลี่ยนความคิดเร็ว ก่อนแต่ที่จะทำอะไรไปจนถึงที่สุด แม้มีเรื่องเพียงเรื่องเดียว เขาก็เปลี่ยนเรื่องเรื่อย จนไม่เคยประสบความสำเร็จสักเรื่องเดียว.

๓. คนใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอย ไม่มีอะไรเป็นจุดหมายที่แน่นอน มีจิตใจปราศจากการควบคุมอยู่เสมอ.

ทั้ง ๓ พวกนี้เรียกว่าเป็นคนโลเล. ท่านแนะให้ตั้งข้อรังเกียจถึงขนาดที่ต้องไม่เกี่ยวข้องด้วย ในทำนองราวกะว่าเป็น เชื้อโรคร้าย ที่อาจจะติดต่อกันได้ง่าย แม้โดยทางกระแสจิต. ผู้หวังอยู่ในอัปปนา หรือกำลังปฏิบัติในขั้นหน่วงเอาอัปปนา ควรเว้นห่างไกลจากบุคคลประเภทนี้อยู่เสมอ. การทำเช่นนั้น อย่างน้อยเป็นการย้อมจิตใจไปในทางของอัปปนาอยู่เสมอโดยไม่รู้สึกตัว.

(๙) การเสพคบคนมั่นคง. ข้อนี้รู้ได้โดยนัยอันละเอียด ในทำนองที่ตรงกันข้ามจากข้อ ๘ ไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรอีก. สิ่งที่ควรสำเหนียกไว้ก็คือการถ่ายทอดนิสัยทางกระแสจิต เป็นสิ่งที่ท่านรับรองกันอยู่ทั่วไป. ส่วนผลอีกอย่างหนึ่ง ในการคบคนมั่นคงนั้น เป็นโอกาสให้ได้ซักไซ้สอบถามสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่อัปปนาโดยตรงอีกด้วย.

(๑๐) การสามารถน้อมจิตไปอย่างเหมาะสม. ความเหมาะสมในที่นี้หมายถึงความเหมาะสมกับพฤติของจิต คือความเป็นไปต่างๆ ของจิตในขณะที่จะเป็นสมาธิอย่างแน่วแน่ ให้พอเหมาะพอดีแก่จังหวะ หรือความหนักเบาเป็นต้น ซึ่งยากที่จะกล่าวเป็นรายละเอียดได้ ใจความสำคัญของเรื่องอยู่ตรงที่เป็นผู้ฉลาดสามารถโอนเอน หรือคล้อย หรือโน้มไปให้พอเหมาะแก่ความต้องการของจิตที่จะเป็นอัปปนาในขณะนั้นเป็นส่วนใหญ่. ความพอเหมาะพอดีในที่นี้ ไม่อาจจะอธิบายด้วยถ้อยคำอย่างอื่นที่จะดีไปกว่าการแสดงด้วยอุทาหรณ์ : ผู้ที่เคยหัดขี่รถจักรยานมาแล้ว ย่อมทราบได้ดีว่าผู้หัดขี่ต้องทำให้พอเหมาะพอดี ในการหมุนตัว เลี้ยงตัว หรือโย้ถ่วงน้ำหนักให้เหมาะแก่จังหวะจริงๆ มิฉะนั้นแล้ว มันจะไม่เรียบ มันจะคดไปคดมาเพราะการถือคันบังคับ หรือการเอียงถ่วงน้ำหนักของตัวเอง ที่ไม่พอเหมาะพอดีแก่จังหวะหรือความต้องการ ตามกฎศูนย์ถ่วงในขณะนั้นนั่นเอง ; ข้อนี้มีอุปมาฉันใด การโอน การคล้อย หรือการน้อมไป ให้พอเหมาะพอดีแก่จังหวะของการที่จิตน้อมไปสู่ความเป็นอัปปนาสมาธิ ก็มีอุปมัยฉันนั้น. ที่เกี่ยวกับไม่ช้าหรือเร็วเกินไปนั้น ท่านเปรียบเหมือนแมลงผึ้ง ที่ออกเสาะหาเกสร : เช้าหรือสายเกินไป ก็ไม่ได้เกสรสมประสงค์ ; เร็วไป ยังมืดหรือดึกอยู่ ดอกไม้ยังไม่บานบ้าง หรือมีอันตรายอย่างอื่นบ้าง ; สายไป ก็ไม่ทันตัวอื่น เพราะเกสรหมดแล้ว. ที่เกี่ยวกับความไม่หนักหรือเบาเกินไป นั้น ท่านเปรียบเหมือนการเอามีดกรีดใบบัวที่ลอยอยู่บนผิวน้ำของคนที่มีฝีมือ หรือพวกแสดงกลประเภทหนึ่งซึ่งมีกติกาว่า จะกรีดให้เกิดรอยในใบบัวนั้นตามที่ต้องการ แต่ไม่ให้ใบบัวขาดด้วยการกรีดเพียงครั้งเดียว. ถ้ากรีดเบาเกินไป ก็ไม่มีรอย. ถ้ากรีดหนักเกินไปใบบัวก็ขาด : เขาต้องกรีดพอเหมาะ ไม่หนัก ไม่เบาจริงๆ จึงจะสำเร็จประโยชน์. ความไม่ค่อยเกินไปและความไม่ผลุนผลันเกินไปนั้น ท่านเปรียบด้วยการกระทำของบุคคลที่ได้รับคำสั่ง ให้สาวใยแมงมุมออกมาจากรังแมงมุมจนกระทั่งมีความยาว ๓๐–๔๐ ศอก ถ้าทำค่อยเกินไป ก็ไม่อาจจะดึงออกมาได้ : ถ้าทำผลุนผลันเกินไป ก็ขาดหมด. ความไม่มากหรือความไม่น้อยนั้น เปรียบได้กับการกางใบเรือมากหรือน้อย พอเหมาะแก่กำลังลม : ลมแรง กางใบเต็มที่ เรือก็ล่ม : ลมไม่ค่อยมีกางใบน้อยนิดเดียว เรือก็ไม่อาจแล่นไปได้. ความกล้าเกินไปหรือความขลาดเกินไปนั้น ให้ดูที่การกรอกน้ำมันลงในขวด โดยไม่ให้น้ำมันหกแม้แต่หยดเดียว : เมื่อน้ำมันมีมาก และขวดมีปากเล็กมาก ทำด้วยใจกล้าเกินไป ไม่มีทางที่จะสำเร็จ. ความตึงเครียดเกินไป หรือความหลวมเกินไป นั้น ดูได้ที่การจับนกตัวเล็กๆ : จับหนักมือเกินไป นกก็ตายในมือ ; จับหลวมมือเกินไป นกก็ลอดหนีไปตามช่องมือ. ความตึงมากเกินไป หรือความหย่อนให้มากเกินไป ให้ดูที่การชักว่าว สำหรับความหย่อนเกินไปหรือตึงเกินไป ให้ดูที่ผลของการขึงสายเครื่องดนตรีดังนี้เป็นต้น.

ทั้งหมดนี้ เป็นคำอธิบายของความพอเหมาะพอดี และความตรงตามจังหวะ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ในเรื่องของบุคคลที่บังคับรถจักรยานเป็นต้น. ในระยะแรกฝึกหัดการหน่วงน้อมจิตไปสู่ความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานต้องการความพอเหมาะพอดี และความตรงตามจังหวะ โดยความหมายดังกล่าวนี้. เมื่อทำได้เช่นนี้ การน้อมจิตให้ถึงจุดแห่งความเป็นอัปปนา ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้. ผู้มีอุปนิสัยหรือมีอินทรีย์เหมาะสมอยู่โดยอุปนิสัย ย่อมง่ายแก่การทำเช่นนี้ และประสบความสำเร็จในเวลาอันสั้น ; ส่วนผู้อ่อนด้วยอุปนิสัย ก็มีแต่จะต้องพากเพียรเรื่อยไป ไม่ยอมท้อถอย แม้ต้องพากเพียรไปจนตลอดชีวิต จนกว่าการปฏิบัติในขั้นประณีตสุขุมนี้ จะเป็นไปได้อย่างที่เรียกว่าเพียรจนตายก็ยอม เพราะไม่มีทางอื่นจริงๆ.

อุบายวิธีทั้ง ๑๐ ประการนี้ รวมเรียกว่า อัปปนาโกสล เพราะมีความมุ่งหมายตรงกันหมด คือ เป็นอุบายหรือความฉลาดในการเร่งรัดจิต ให้ก้าวไปสู่ความเป็นอัปปนา เป็นการบ่มนิสัยหรืออินทรีย์ให้แก่กล้าถึงที่สุด พร้อมกันไปในตัว. อัปปนาโกสลนี้ มีผลนอกจากทำความสำเร็จในการทำสมาธิแล้ว ยังมีผลเพื่อการปฏิบัติอย่างอื่นทั่วๆ ไป แม้กระทั่งในขั้นแห่งวิปัสสนาอันเป็นระยะสุดท้ายเมื่ออัปปนาโกสลในขั้นรักษาปฏิภาคนิมิต และการหน่วงเอาองค์ฌานเป็นไปด้วยดีแล้ว ผลที่เกิดขึ้น ก็คืออัปปนาสมาธิ หรือการบรรลุฌาน.

อ่านต่อ ส่วนที่ห้า

https://sites.google.com/site/smartdhamma/smartdhamma.googlepages.compart8_4_anapa

. . . . . . .