ตอน สิบเอ็ด อานาปานสติ ขั้นที่ เจ็ด (การกำหนดจิตตสังขาร)

ตอน สิบเอ็ด อานาปานสติ ขั้นที่ เจ็ด (การกำหนดจิตตสังขาร)

อุทเทสแห่งอานาปานสติขั้นที่เจ็ด มีหัวข้อโดยบาลีพระพุทธภาษิตว่า “ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจเข้าดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจออก ดังนี้”. ( จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ;จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ)
หัวข้อที่ต้องวินิจฉัย คือ จิตตสังขารคืออะไร ? ปรากฏแก่ใคร ? ในขณะไหน ? และรู้พร้อมเฉพาะด้วยอาการอย่างไร ? ซึ่งจะได้วินิจฉัยกันดังต่อไปนี้ :

“จิตตสังขาร” ในที่นี้ คือสัญญา และเวทนา ซึ่งเป็นพวกเจตสิกธรรม. สัญญาและเวทนาถูกจัดเป็นจิตตสังขาร เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปกับด้วยจิต เนื่องเฉพาะอยู่กับจิต และเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งจิต. เหตุนั้นสิ่งทั้งสองนี้จึงได้ชื่อว่าจิตตสังขาร ซึ่งแปลว่า เครื่องปรุงแต่งจิต. ผู้มีความสังเกต จะสังเกตเห็นได้เองว่า ในอานาปานสติขั้นก่อน ได้พูดถึงสิ่งทั้งสาม คือเวทนา สัญญา และวิตก ในที่นี้กล่าวถึงแต่เพียงสอง คือสัญญาและเวทนา ส่วนวิตกนั้นขาดหายไป. ข้อนี้เพราะเหตุว่า สิ่งที่เรียกว่าวิตกนั้นถูกจัดอยู่ในฝ่ายจิต มิได้อยู่ในฝ่ายเครื่องปรุงแต่งจิต ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวถึงแต่สัญญา กับเวทนา เพียง ๒ อย่างในฐานะที่เป็นจิตตสังขาร, ส่วนวิตกนั้นเป็นจิต.

ทำไมสิ่งทั้งสองนี้ จึงได้ชื่อว่าเครื่องปรุงแต่งจิต ? คำตอบมีได้อย่างง่าย ๆ ว่า เพราะสัญญาและเวทนาเป็นเหตุให้เกิดวิตก กล่าวคือความคิดหรือที่เรียกว่าจิตในที่นี้นั่นเอง : เวทนาและสัญญา ร่วมกันทำหน้าที่ปรุงแต่งจิตโดยไม่แยกกัน. ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อมีเวทนาเกิดขึ้น ก็เกิดสัญญาขึ้น ๒ ระยะคือสัญญาที่เป็นตัวสมปฤดี คือความจำ ได้หมายรู้ ว่าเป็นเวทนาชนิดไหน นี้อย่างหนึ่ง, ถัดมา คือสัญญาชนิดที่เป็นการทำความสำคัญมั่นหมายว่าเวทนานั้นเป็นตัวตน และเป็นของของตนด้วยความยึดมั่นถือมั่น. สัญญาอย่างในระยะแรกเป็นสัญญาในเบญจขันธ์ เป็นอาการที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ เป็นไปตามธรรมชาติยังไม่เป็นตัวเจตนา ยังไม่จัดเป็นกุศลหรืออกุศล. ส่วนสัญญาในระยะหลัง เป็นอาการของกิเลสโดยตรง จัดเป็นอกุศลเพราะมีโมหะเป็นมูล และเป็นเหตุให้ทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะก็คือ มโนกรรม ได้แก่ความคิดที่จะทำอะไรลงไปด้วยเจตนา และได้ชื่อว่าเป็นมโนกรรมเสร็จแล้วเมื่อความคิดนั้นได้เป็นไปแล้ว ; ส่วนที่จะออกมาเป็นกายกรรมหรือวจีกรรมทีหลังนั้น เป็นอีกกรณีหนึ่ง. เพียงแต่ทำให้เกิดมโนกรรมอย่างเดียวเท่านั้น ก็ได้ชื่อว่ามีการปรุงแต่งจิตถึงที่สุดเสียแล้ว. ด้วยอาการอย่างนี้เอง เวทนากับสัญญาจึงได้ชื่อว่าจิตตสังขาร ซึ่งแปลว่าธรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต, ถ้าปราศจากเวทนาและสัญญาเสียแล้ว ความคิดต่าง ๆ จะไม่เกิดขึ้น.

อนึ่ง พึงทราบว่าสัญญาเวทนาที่เป็นอดีต ก็สามารถปรุงแต่งจิตได้โดยทำนองเดียวกับสัญญาและเวทนา ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในขณะนั้น. นี้เรียกว่าเป็นตัวเหตุโดยตรง ส่วนที่เป็นตัวเหตุโดยอ้อม หรือที่เรียกว่าเป็นปัจจัย หรือเป็นอุปกรณ์นั้นก็ยังมีอยู่ ได้แก่สัญญาที่ผนวกเข้ามาทางใดทางหนึ่ง หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งได้แก่สัญญาที่มีอยู่ประจำสันดาน เช่นนิจจสัญญา ความสำคัญว่าเที่ยง,สุขสัญญา ความสำคัญว่าสุข, และสุภสัญญา ความสำคัญว่างาม. เหล่านี้เป็นต้น.

สัญญาประเภทนี้ ย่อมเข้าผนวกกับสัญญาในรูป เสียง กลิ่น รส ที่เป็นไปในทางสำคัญมั่นหมายว่าตัว ว่าตน ว่าตัวเขา ตัวเรา ว่าของเขา ของเรา ดังนี้เป็นต้นความคิดต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น. ทั้งหมดนี้ ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่าสัญญาทุกชนิดย่อมเป็นจิตตสังขาร คือเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งจิต.

ข้อสังเกตพิเศษอย่างหนึ่ง ซึ่งทุกคนควรจะสังเกต คือ ข้อที่ในกรณีเช่นนี้ ท่านยกเอาสัญญามาไว้ข้างหน้าเวทนา ซึ่งในกรณีอื่นหรือกรณีทั่วไปท่านจะเรียงลำดับไว้ว่า เวทนา สัญญา วิตก. การที่ยกเอาสัญญามาวางข้างหน้าเวทนาเช่นนี้ เป็นการแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า สัญญานั่นเองเป็นตัวการปรุงแต่งจิต. ถ้าเวทนาใดปราศจากการเกี่ยวข้องกับสัญญา คือไม่ทำหน้าที่ก่อให้เกิดสัญญาได้แล้วเวทนานั้นก็ไม่อาจปรุงแต่งจิต เช่นเวทนาของพระอรหันต์.

สรุปความได้ว่า เวทนาที่เนื่องอยู่กับสัญญา หรือสัญญาที่เนื่องอยู่กับเวทนาเท่านั้น ที่จะทำหน้าที่ปรุงแต่งจิตได้. ถ้าไม่มีเวทนา สัญญาก็ไม่อาจจะเกิดจึงไม่มีอะไรปรุงแต่งจิต. เวทนาก็เหมือนกัน เกิดแล้วถ้าไม่ปรุงแต่งสัญญาขึ้นมาได้ ก็ไม่ปรุงแต่งจิต, และเมื่อมันปรุงแต่งสัญญาได้ ก็ปรุงแต่งจิตต่อไปโดยแน่นอน. นี้คือสิ่งที่เรียกว่าจิตตสังขาร และอาการที่มันปรุงแต่งจิต. อานาปานสติข้อนี้ มีการพิจารณาเพ่งไปยังเวทนาที่ปรุงแต่งจิตผิดจากอานาปานสติข้อที่ห้า และข้อที่หก ซึ่งเพ่งไปยังเวทนาในฐานะที่เป็นเวทนา : ข้อที่ห้า เพ่งไปยังปีติ เป็นการเพ่งดูเวทนาโดยเอกเทศ, ข้อที่หก เพ่งดูสุขเป็นการเพ่งเวทนาโดยวงกว้าง หรือครอบคลุมเวทนาทั้งหมด, ส่วนข้อที่เจ็ดนี้เป็นการเพ่งดูเวทนาในฐานะเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งสัญญา แล้วปรุงแต่งจิตในที่สุด, ดังที่กล่าวแล้ว. ผู้ศึกษาจะต้องสังเกตความแตกต่างกันอย่างนี้ ให้เข้าใจชัดเจนเสียก่อน มิฉะนั้นจะต้องมีความฟั่นเฝือ เพราะชื่อเหมือน ๆ กัน และอธิบายด้วยหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน.

บัดนี้ จะได้วินิจฉัยในข้อที่ว่า จิตตสังขารที่กล่าวนี้ ปรากฏแก่ใครในขณะไหนต่อไป.

ผู้ศึกษาพึงสังเกตดูให้ดี จนกระทั่งจับหลักสำคัญได้ว่า สิ่งที่จะต้องเพ่งพิจารณานั้น ต้องเป็นสิ่งที่กำลังเกิดแก่บุคคลนั้นเอง และตรงตามขณะที่ท่านระบุไว้เป็นระเบียบตายตัวในลำดับของอานาปานสติ คือให้สังเกตให้เห็นว่าสิ่งนั้น ๆ ได้เกิดอยู่ตลอดทุกระยะ นับตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จนกระทั่งระยะสุดท้ายที่ตนกำลังปฏิบัติอยู่. สำหรับสิ่งที่เรียกว่าเวทนาที่มันมีอยู่อย่างที่จะทำให้เรามองเห็นได้มาตั้งแต่อานาปานสติขั้นที่หนึ่ง คือการกำหนดลมหายใจยาว, แต่ในขณะนั้นเราไปทำในใจ อยู่ที่ลมหายใจ จึงไม่ได้มองดูเวทนา ซึ่งที่แท้ก็เกิดอยู่ในขณะนั้น กล่าวคือ ความสุขอย่างผิวเผิน ที่เริ่มเกิดขึ้นจากการกำหนดลมหายใจนั่นเอง : แม้เป็นเพียงเวทนาเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงไรก็ยังคงเป็นเวทนาอยู่นั่นเอง.

นี้แสดงให้เห็นชัดลงไปว่า แม้ในขณะแห่งอานาปานสติขั้นที่หนึ่ง ก็มีเวทนาเกิดอยู่ในนั้น แต่เราไม่ได้กำหนดมัน เพราะบทฝึกหัดของเราในขณะนั้น ได้ต้องการให้เราฝึกกำหนดที่ตัวลมหายใจยาว. ครั้นตกมาถึงอานาปานสติขั้นที่เจ็ดนี้มีระเบียบแนะให้ย้อนกลับไปกำหนดเวทนามาใหม่ตั้งแต่ขั้นที่หนึ่ง คือให้เริ่มทำอานาปานสติขั้นที่หนึ่งมาใหม่ พอทำแล้วแทนที่จะกำหนดที่ลมหายใจ กลับสอดส่ายไปกำหนดเวทนาเพื่อให้รู้ว่าเวทนาในขั้นนี้เป็นอย่างไร, เมื่อพิจารณาเวทนาที่สังเกตได้ในขั้นนี้เสร็จแล้ว ก็เลื่อนมาพิจารณาที่เวทนาอันเกิดขึ้นในขณะแห่งอานาปานสติขั้นที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า สืบไปตามลำดับ ซึ่งจะทำให้เห็นได้ชัดว่าเวทนาที่เป็นตัวสุขนั้น ได้มีสูงยิ่งขึ้นทุกที จนถึงขั้นสูงสุดในอานาปานสติขั้นที่สี่และเราก็กำหนดดู มันรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที ในอานาปานสติขั้นที่ห้า ที่หก ในลักษณะต่าง ๆ กัน ตามที่ระบุไว้ในขั้นนั้น ๆ.

ครั้นมาถึงขั้นที่เจ็ดนี้ เรามองดูมันในฐานะเป็นตัวการ ที่ปรุงแต่งจิตหรือในฐานะที่เป็นตัวมารร้าย ที่ก่อให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ติดพันอยู่ในวัฏฏสงสาร.

ผู้ศึกษาอย่าเผลอถึงกับทำให้เกิดความสับสนขึ้นแก่ตัวเอง โดยเมื่อได้ฟังอย่างนี้ แล้วเกิดเข้าใจไปว่า มีการสอนให้กำหนดเวทนาทุกขั้นของอานาปานสติในเมื่อฝึกการทำในขั้นนั้น ๆ. ในที่นี้ เพียงแต่บอกให้ทราบว่าเวทนามันมีอยู่ทุกขั้นจริง แต่เมื่อฝึกนั้น เราฝึกการกำหนดสิ่งอื่นเป็นลำดับมาคือกำหนดลมหายใจยาว, กำหนดลมหายใจสั้น, กำหนดลมหายใจทั้งปวง, กำหนดลมหายใจที่ค่อยรำงับลง ๆ, กำหนดปีติที่เกิดขึ้นเพราะเหตุนั้น, กำหนดความสุขที่เป็นวงกว้างที่สุดของเวทนา, และในขั้นนี้เรากำหนดเวทนาที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งจิต. ครั้นมาถึงบทฝึกที่จะต้องกำหนดเป็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของเวทนาในขั้นไหนก็ตาม เราจะต้องย้อนไปกำหนดมาตั้งแต่เวทนาในขั้นต้น เป็นลำดับมา จนถึงขั้นปัจจุบันที่กำลังฝึกอยู่ จนกระทั่งเห็นชัดว่าแม้ในเวทนาขั้นที่กำหนดลมหายใจยาว ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวทนาในขณะที่กำหนดลมหายใจสั้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, เวทนาในขณะที่กำหนดลมหายใจทั้งปวง ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, กระทั่งเวทนาในขั้นที่ลมหายใจที่รำงับลง ๆ แม้จะเป็นเวทนาที่สูงสุด และสมบูรณ์เพียงไร ก็ยังเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา, และเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่น่าสังเวชยิ่งขึ้น ตามส่วนของเวทนาที่สูงและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น.

ครั้นมาถึงอานาปานสติขั้นที่ห้า ที่หก เป็นขณะที่ตนกำลังเอิบอาบอยู่ด้วยสุขเวทนาสูงสุด ก็ยิ่งเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สูงสุดยิ่งขึ้นไปตามส่วน เหลือที่จะประมาณได้ ในเมื่อนำไปเทียบกันกับการเห็นแจ้ง เวทนาที่เกิดขึ้นในขั้นต้น ๆ คือขั้นที่กำหนดลมหายใจยาวสั้น เป็นต้น.

ฉะนั้นเมื่อถามขึ้นว่า จิตตสังขารคือสัญญาและเวทนานี้เกิดขึ้นแก่ใคร ? ในขณะไหน ? คำตอบจึงมีว่า มันเกิดและแจ่มแจ้งแก่ผู้ปฏิบัติในขณะที่กำลังปฏิบัติในอานาปานสติทำ ๆ ชั้น ทุกขณะที่เขาหายใจเข้า – ออกอยู่ ตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งมาจนถึงขั้นที่เจ็ดทีเดียว ; ในขั้นแรก ก็เห็นเวทนาที่ไม่เป็นล่ำเป็นสันอะไร ครั้นผ่านขั้นที่สามมาแล้ว ก็ถึงเวทนาที่เป็นล่ำเป็นสัน จนประกอบอยู่กับเอกัคคตาจิตคือความเป็นสมาธิ ชนิดที่มีสุขเป็นองค์ฌานอยู่ด้วยองค์หนึ่ง โดยเจาะจงก็คือสูงขึ้นมาได้ถึงองค์ฌานในขั้นตติยฌาน ที่สามารถทำให้เราแจ่มแจ้งต่อเวทนา ที่เรียกว่าสุขนี้ได้เต็มที่. ยิ่งเห็นเวทนาชัดเท่าไร ก็หมายความว่าเห็นอนิจจัง ทุกขังอนัตตา ชัดยิ่งขึ้นไปเท่านั้น จึงจะเรียกว่าแจ่มแจ้งต่อเวทนาจริง ๆ หรือเวทนาเป็นสิ่งที่แจ่มแจ้งต่อผู้นั้นจริง ๆ.

สรุปความอย่างสั้น ๆ ที่สุดอีกครั้งหนึ่งว่า เวทนาโดยความหมายทั่วไปก็ดี เวทนาโดยความหมายที่เป็นจิตตสังขารก็ดี ปรากฏแก่บุคคลผู้ปฏิบัติได้ในทุกขั้นของอานาปานสติ จนกระทั่งถึงขั้นที่เจ็ดนี้ และแม้ในขณะที่กำลังแจ่มแจ้งอยู่ด้วยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้.

บัดนี้ จะได้วินิจฉัยต่อไปถึงข้อที่ว่า ผู้ปฏิบัติจะรู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขารด้วยอาการอย่างไรต่อไป.

คำว่า รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร ในที่นี้ มีหลักเกณฑ์ทำ นองเดียวกันกับการรู้พร้อมเฉพาะต่อปีติและสุข ดังที่กล่าวมาแล้วในอานาปานสติขั้นต้น ๆ จนแทบจะกล่าวได้ว่า เหมือนกันทุกตัวอักษร กล่าวคือ สัญญาและเวทนาที่ทำ หน้าที่เป็นจิตตสังขารในที่นี้ ปรากฏชัดแจ้งแก่ผู้ปฏิบัติ ในเมื่อเขาได้พิจารณาเวทนานี้อยู่ ด้วยอาการ ๑๖ อย่าง เป็นลำ ดับไป คือรู้ทั่วอยู่กำ หนดอยู่ รู้ชัดอยู่ เห็นชัดอยู่ พิจารณาอยู่ อธิษฐานอยู่ ปลงจิตลงด้วยความเชื่ออยู่ ประกอบความเพียรอยู่ ดำรงสติอยู่ จิตตั้งมั่นอยู่ รู้ชัดด้วยปัญญาอยู่ รู้ยิ่งด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งอยู่ รอบรู้สิ่งที่ควรกำหนดรู้อยู่ ละธรรมที่ควรละอยู่ เจริญธรรมที่ควรเจริญ อยู่ และทำ ให้แจ้งธรรม ในธรรมที่ควรให้แจ้งอยู่ ด้วยอำนาจการหายใจเข้า – ออกด้วยตนเองผู้เห็นชัดแจ้งอยู่ว่าเวทนาที่กำ ลังปรากฏอยู่ในการกำ หนดของตนนั่นเหละ เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งจิตร่วมกันกับสัญญา ดังที่กล่าวแล้ว.

ข้อนี้หมายความว่า ทุกระยะแห่งการกำหนดทั้ง ๑๖ ระยะ ต้องรู้แจ้งเวทนาในฐานะที่ปรุงแต่งจิต เช่นเดียวกับรู้แจ้งเวทนาในอานาปานสติขั้นที่ห้า ที่หก ในฐานะที่เป็นเวทนาล้วน ๆ แต่รู้อยู่ด้วยอาการทั้ง ๑๖ อย่างเดียวกัน.สรุปความสั้นที่สุดก็คือว่า ทุกลมหายใจเข้า – ออก ตนกำลังปฏิบัติอยู่ในขั้นไหน ด้วยอาการอย่างไร ก็แจ่มแจ้งต่อเวทนาโดยความหมายที่ว่าเป็นจิตตสังขารอยู่ตลอดเวลานั่นเอง, ลักษณะและอาการต่าง ๆ ของเวทนามีรายละเอียดปรากฏอยู่แล้ว ในอานาปานสติขั้นที่ห้า.

เรื่องต่อไปที่เหลืออยู่ คือเรื่องการที่สติและญาณเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์.

การเห็นเวทนาในลักษณะที่เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานถาวนา, การสโมธานซึ่งอินทรีย์รู้พร้อมทั้งรู้โคจร และสมัตถะโดยรายละเอียดต่าง ๆ, กระทั่งอาการของธรรมะที่ผู้ปฏิบัติ ย่อมประมวลมาได้ในขณะนั้นถึง ๒๙ อย่างด้วยกัน, มีรายละเอียดตรงเป็นอย่างเดียวกันกับที่กล่าวแล้ว ในตอนท้ายของอานาปานสติขั้นที่ห้า, ไม่จำเป็นต้องนำมาวินิจฉัยอีกในที่นี้.

สรุปความแห่งอานาปานสติขั้นที่เจ็ดนี้ได้ว่า มีหลักเกณฑ์แห่งการปฏิบัติอย่างเดียวกันกับอานาปานสติขั้นที่ห้า ที่หก ทุกประการ ผิดกันอย่างเดียวคือในที่นี้เป็นการพิจารณาเวทนา ในฐานะที่เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต แทนที่จะพิจารณาแต่เพียงว่า เวทนาคืออะไร หรือเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการพิจารณาในขั้นที่ห้า ที่หก นั่นเอง.

(จบอานาปานสติขั้นที่เจ็ด อันว่าด้วยการรู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร)

https://sites.google.com/site/smartdhamma/part11_anapanasati_buddhadhas

. . . . . . .