ตอน สิบแปด อานาปานสติ ขั้นที่ สิบสี่

ตอน สิบแปด อานาปานสติ ขั้นที่ สิบสี่

(การตามเห็นความจางคลายอยู่เป็นประจำ)

อานาปานสติขั้นที่สิบสี่ หรือข้อที่สองแห่งจตุกกะที่สี่นี้ มีหัวข้อว่า “ภิกษุนั้นย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ
จักหายใจออก ดังนี้”. (วิราคานุปสฺสี อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ :วิราคานุปสฺสี ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ.)

สิ่งที่ต้องวินิจฉัยในที่นี้คือ อะไรคือความจางคลาย : ความจางคลายเกิดขึ้นได้อย่างไร ; และ เกิดขึ้นในสิ่งใด ; ทำอย่างไร ได้ชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นซึ่งความจางคลายนั้น. ความจางคลายเรียกโดยบาลีว่า วิราคะ โดยตัวพยัญชนะแปลว่าปราศจากราคะ คือปราศจากเครื่องย้อม อันได้แก่ความกำหนัด. ส่วนโดยความหมายหรือโดยอาการอันแท้จริง หมายถึงความจางคลายของความยึดมั่นถือมั่น และความสำคัญผิดอื่น ๆ ที่ทำให้หลงรักหลงพอใจอย่างหนึ่ง และหลงเกลียดชังอีกอย่างหนึ่งเป็นอันว่าวิราคะในที่นี้ หาได้หมายถึงอริยมรรคโดยตรงแต่อย่างเดียว เหมือนในที่บางแห่งไม่ แต่หมายความกว้าง ๆ ถึงการทำกิเลสให้ขาดออก หรือหน่ายออกโดยอาการอย่างเดียวกันกับอริยมรรคทำลายกิเลสนั่นเอง และมุ่งหมายถึง อาการที่จางคลาย ยิ่งกว่าที่จะมุ่งหมายถึง ธรรมที่เป็นเครื่องทำความจางคลาย.แต่โดยนัยแห่งการปฏิบัตินั้น ย่อมเห็นพร้อมกันไปทั้ง ๒ สิ่ง กล่าวคือ เมื่อเห็นความจางคลายอยู่อย่างชัดแจ้ง ก็ย่อมเห็นธรรมเป็นเครื่องทำความจางคลายด้วยเป็นธรรมดา เหมือนกับเมื่อเราเห็นเชือกที่ขมวดอยู่คลายออก ก็ย่อมเห็นสิ่งที่ทำให้ขมวดนั้นคลายออกด้วยกันเป็นธรรมดา. ฉะนั้น ถึงถือวิราคะในขณะแห่งอานาปานสตินี้ หมายถึง ความจางคลาย โดยตรง และ ธรรมที่ทำความจางคลายโดยอ้อม ในฐานะเป็นของผนวกอยู่ในความจางคลายนั้น. คำว่าจางคลายมีความหมายตรงกันข้ามจากคำว่า ย้อมติด.ตามธรรมดาสัตว์มีใจย้อมติดอยู่ในสิ่งทั้งปวง โดยความเป็นของน่าใคร่อย่างหนึ่ง และโดยความเป็นตัวตนอย่างนั้นอย่างนี้ อีกอย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจความยึดมั่นถือมั่นหรือความสำคัญผิดอันมีมูลมาจากอวิชชา. เมื่อใดความย้อมติดอันนี้ถูกทำให้หน่ายออก เมื่อนั้นชื่อว่ามีความจางคลายในที่นี้ ; โดยกิริยาอาการก็คือ คลายความรู้สึกที่เป็นความใคร่ และความรู้สึกว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นตัวตนอย่างนั้นอย่างนี้.

ส่วนข้อที่ว่า ความจางคลายเกิดขึ้นได้อย่างไร นั้น ตอบได้สั้น ๆ ว่า ความจางคลายเกิดขึ้นได้เพราะการเห็นอนิจจัง โดยวิธีกล่าวแล้วในอานาปานสติขั้นที่สิบสาม.การเห็นธรรมในลักษณะเช่นนั้น เป็นเหมือนการแก้หรือการชะล้างให้จางคลายออก – คลายออก เพราะเป็นการแสดงให้เห็นตามที่เป็นจริง ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ควรยึดติด ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะมันกำลังเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ตลอดเวลา และทำความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดเวลาหากแต่ว่าเขาไม่มองเห็นความจริงในข้อนี้จึงยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งซึ่งกำลังทำความทุกข์ให้แก่ตน เหมือนคนที่ไม่รู้จักโรค ไม่รู้จักมูลเหตุของโรค ก็ย่อมพอใจในการคลุกคลีอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เพื่อความสนุกสนาน ด้วยอำนาจความสำคัญผิดได้ตลอดไป เมื่อใดเห็นโทษของสิ่งนั้น ความจางคลายหน่ายหนีต่อสิ่งนั้นก็เกิดขึ้น ฉะนั้นจึงกล่าวว่าความจางคลายเกิดขึ้น เพราะการเห็นความจริงของสิ่งที่ตนเข้าไปยึดถือ.ส่วนข้อที่ว่า ความจางคลายเกิดขึ้นในสิ่งใด นั้น ตอบได้กว้าง ๆ ว่าเกิดขึ้นได้ในทุกสิ่งที่มีความไม่เที่ยง ดังที่กล่าวแล้วในอานาปานสติขั้นที่สิบสามกล่าวคือ ในเบญจขันธ์ ในอายตนะภายใน และในอาการแห่งปฏิจจสมุปบาทเมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในสิ่งใด ก็ย่อมเห็นความที่จิตจางคลายจากสิ่งนั้นในสิ่งนั้น.

ข้อที่ว่า ทำอย่างไรจึงได้ชื่อว่า ผู้ตามเห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ อธิบายว่าเมื่อเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนเกิดความจางคลายจากความยึดถืออยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก การกระทำดังนั้น ชื่อว่า วิราคานุปัสสนาคือการตามเห็นความจางคลาย. บุคคลผู้ทำเช่นนั้นอยู่เรียกว่า วิราคานุปัสสีคือผู้ตามเห็นความจางคลายอยู่เป็นประจำ ซึ่งมีวินิจฉัยในทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ :-ผู้ปฏิบัติที่ประสงค์จำทำความจางคลายให้เกิดขึ้นในสิ่งใด จะต้องพิจารณาให้เห็นอาทีนวะ คือโทษอันร้ายกาจของสิ่งนั้นก่อน ครั้นเห็นโทษของสิ่งนั้นแล้วความพอใจที่จะพรากหรือหย่าขาดจากสิ่งนั้น จึงจะเกิดขึ้น ; มิฉะนั้นแล้วทำอย่างไรเสีย ก็ย่อมไม่พอใจที่จะหย่าขาดจากสิ่งนั้น. ท่านอุปมาความข้อนี้ไว้ว่า เหมือนกับบุคคลที่สำคัญผิดเข้าใจว่างูคือปลา ย่อมมีความพอใจในงูนั้น ในลักษณะที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัวอยู่เรื่อยไป และจะได้รับอันตรายตายแล้วตายอีก เพราะสิ่งนั้นอยู่ร่ำไป จนกว่าเมื่อไรจะเห็นตามที่เป็นจริงว่านั่นเป็นงู หาใช่เป็นปลาไม่ ดังนี้คำว่า เห็นโทษอันร้ายกาจ ในที่นี้ หมายถึงพิจารณาเห็นชัดแจ้งในความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ดังที่กล่าวมาแล้วโดยละเอียดข้างต้น จึงยินดีหรือสมัครใจที่จะหย่าขาดจากสิ่งนั้น มีความแน่วแน่ขนาดที่ท่านเรียกกันว่า ปลงความเชื่อลงไปหมด(สทฺธาธิมุตฺต) ข้อนี้หมายถึงความแน่ใจด้วยอำนาจของปัญญา และทั้งเป็นไปในขณะที่จิตเป็นสมาธิ คือมีกำลังของสมาธิรวมอยู่ด้วยอย่างเต็มที่. อำนาจของสมาธิทำให้เห็นแจ้งถึงที่สุด อำนาจของความเห็นแจ้งถึงที่สุด ทำให้ปลงความเชื่อลงไปถึงที่สุด ในการที่จะไม่ยึดติดต่อสิ่งนั้นอีกต่อไป. ทั้งหมดนี้คือขณะแห่งความจางคลาย ทั้งหมดนี้เป็นไปทุกขณะแห่งการหายใจเข้าและออก.

ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า สิ่งที่เรียกว่าสังขารธรรมทั้งปวง ซึ่งเป็นวัตถุสำหรับการพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยงเป็นต้นนั้น เมื่อจำแนกตามหลักวิชาจำ แนกเป็นพวกอารมณ์ได้แก่เบญจขันธ์เป็นต้นนี้พวกหนึ่ง เป็นพวกที่เสวยอารมณ์ได้แก่อายตนะภายในพวกหนึ่ง และอาการของสิ่งต่าง ๆ ปรุงแต่งกันเกิดขึ้นเป็นลำดับ ๆ ได้แก่อาการแห่งปฏิจจสมุปบาทนี้อีกพวกหนึ่ง, ฉะนั้น ผู้ที่ประสงค์จะทำอานาปานสติในขั้นนี้โดยกว้างขวาง ก็ควรทำการกำหนดเรียงอย่างไปทั้ง ๓ พวก คืออย่างน้อยก็พิจารณาขันธ์ห้า อายตนะหก และอาการของปฏิจจสมุปบาท ๑๒ อาการ ทีละอย่าง ๆ โดยวิธีทำให้ปรากฏมีขึ้นในตน หรือมองให้เห็นชัดตามที่มันมีอยู่แล้วในตน กำลังแสดงอาการอยู่ในตนอย่างนั้น ๆ โดยประจักษ์ แล้วจึงหยิบขึ้นมาพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นเบื้องต้นก่อน จึงจะมองเห็นโทษอันร้ายกาจของสังขารเหล่านั้นมีรูปเป็นต้น แล้วเพ่งดูโทษนั้นอยู่ทุกลมหายใจเข้า –ออก จนกระทั่งเกิดความพอใจขึ้นมาเอง ในการที่จะแยกจากกันด้วยอาการที่สมมติเรียกว่า “หย่าขาดจากกัน” จากสิ่งนั้น ประคองความพอใจอันนี้ไว้ทุกลมหายใจออก – เข้า จนกว่าความเชื่อจะปลงลงไปโดยสิ้นเชิงด้วยอำนาจของปัญญา และกำลังของสมาธิรวมกัน ขาดจากสิ่งนั้นแล้วจริง ๆ คือไม่พอใจในทางกามว่าเป็นสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ และไม่ยึดถือในทางภพว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นตัวตนหรือเป็นของของตนอย่างนั้นอย่างนี้ อยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก จนกว่าจะถึงที่สุด. เมื่อมีเวลามากก็แยกทำได้โดยละเอียดและเรียงอย่าง จนมีความชำนาญคล่องแคล่ว แล้วก็จะประสบกันเข้าสักอย่างหนึ่งหรือสักโอกาสหนึ่ง ที่ตนสามารถทำให้เกิดความจางคลายได้เต็มตามความหมาย เป็นผู้สร่างคลายจากความเมาในกาม และสร่างคลายจากความยึดมั่นในภพได้จริง ราคะ โทสะ โมหะ กลายเป็นสิ่งไม่มีที่ตั้งที่อาศัยต่อไปเพราะเหตุนั้น.เมื่อกล่าวรวบรัดตามแบบของอานาปานสติ ท่านแนะให้หยิบเอาลมหายใจซึ่งเป็นหมวดกาย ปีติและสุขซึ่งเป็นหมวดเวทนา องค์ฌานและความคิดนึกต่าง ๆ ซึ่งเป็นหมวดจิต ขึ้นมาพิจารณาเพื่อเห็นความไม่เที่ยง จนกระทั่งเกิดความจางคลายโดยอาการอย่างเดียวกัน. โดยหลักเกณฑ์นี้ผู้ปฏิบัติจะต้องทำอานา-ปานสติทุกขั้นเริ่มต้นมาใหม่ แล้วพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นและอาจจะพิจารณาได้ เพื่อเห็นความไม่เที่ยง เพื่อเกิดความจางคลายดังที่กล่าวแล้ว การหยิบเอาความสุขอันสูงสุดมาพิจารณา และไม่ต้องมีการแยกแยะพิจารณาไปเสียทุกอย่างทุกประเภท ซึ่งดูเป็นการแจกลูกตามแบบปริยัติอยู่อีกไม่น้อยเหมือนกัน. เหตุที่การพิจารณาอย่างเดียว แต่ได้ผลกว้างขวางครอบคลุมไปทุกอย่างนั้นก็เพราะว่า สิ่งอันเป็นที่ตั้งของกิเลสทั้งหมดทั้งสิ้น ย่อมรวมจุดอยู่ที่เวทนา คือสุขเวทนาที่ทำให้รัก และทุกขเวทนาที่ทำให้เกลียด สองอย่างนี้เป็นปัญญาใหญ่ของความมีทุกข์ : การแก้ปัญหาที่จุดนี้จึงเป็นการเพียงพอ. ถ้าเห็นว่าน้อยไปหรือลุ่นไปก็ควรจะขยายออกไป อย่างมากเพียงสามคือ เพิ่มพวกกาย อันได้แก่ลมหายใจเป็นต้นอย่างหนึ่ง และพวกจิตเช่นวิตกหรือตัวจิตเอง ที่กำลังอยู่ในภาวะอย่างนั้นอย่างนี้เป็นต้น อีกพวกหนึ่ง รวมเป็น ๓ พวกด้วยกัน. ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ต้องเป็นการกระทำด้วยจิตที่เป็นสมาธิ โดยการเพ่งของปัญญาที่เพียงพอ คือเพ่งไปในทางลักษณะ ที่เรียกว่า ลักขณูปณิชฌาน จนลักษณะแห่งอนิจจังปรากฏมีอาการของอุทยัพพยญาณ และภังคญาณเป็นต้น ปรากฏขึ้นชัดเจน จนกระทั่งเห็นโทษอันร้ายกาจในขนาดที่เป็น อาทีนวญาณ และปลงความเชื่อทั้งหมดลงไปได้ด้วยอำนาจของปัญญา ดังที่กล่าวแล้ว. ทั้งหมดนี้ให้เป็นอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก ทุก ๆ ขั้นไปทีเดียว.

เมื่อทำอยู่ดังนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นวิราคานุปัสสี คือผู้ตามเห็นความจางคลายอยู่เป็นประจำ อยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก เมื่อทำได้อย่างนี้ถึงที่สุด การกระทำนี้ชื่อว่า ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานภาวนาที่สมบูรณ์ เป็นภาวนาที่สามารถทำให้ประมวลมาได้ ซึ่งธรรมสโมธาน ๒๙ ประการ ในระดับที่สูงขึ้นไปอีก.สิ่งที่จะต้องเข้าใจไว้ด้วยอีกอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ คือในข้อที่ว่า ในคำว่าวิราคะ หรือ ความจางคลาย นี้ ย่อมรวมคำว่านิพพิทา หรือความเบื่อหน่ายไว้ด้วยเสร็จในตัว และรวมอยู่ในระยะที่เรียกว่า มีการเห็นโทษอันร้ายกาจ จนเกิดความพอใจในการที่จะหย่าขาดจากสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง มิฉะนั้นแล้วจะทำให้เกิดความฉงนว่า นิพพิทาญาณซึ่งเป็นญาณที่สำคัญอีกญานหนึ่งนั้นไปอยู่ที่ไหนเสีย.ขอให้เข้าใจว่าอานาปานสติขั้นนี้ นิพพิทารวมอยู่ในคำว่าวิราคะ ทำนองเดียวกับที่ในอานาปานสติขั้นก่อนหน้านี้ ทุกขังกับอนัตตารวมอยู่ในคำว่าอนิจจังนั่นเอง.

วินิจฉัยในอานาปานสติขั้นที่สิบสี่สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ ต่อแต่นี้จะได้วินิจฉัยในอานาปานสติขั้นที่สิบห้าสืบไป.

https://sites.google.com/site/smartdhamma/part18_anapanasati_buddhadhas

. . . . . . .