อิทธิพลคำสอนของพุทธทาสภิกขุต่อการดำเนินชีวิตของผู้ที่ประสบผลสำเร็จในชีวิต

อิทธิพลคำสอนของพุทธทาสภิกขุต่อการดำเนินชีวิตของผู้ที่ประสบผลสำเร็จในชีวิต
ผู้วิจัย : จินตนา เฉลิมชัยกิจ

การศึกษาอิทธิพลคำสอนของพุทธทาสภิกขุต่อการดำเนินชีวิตของผู้ที่ประสบผลสำเร็จในชีวิต มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตในพุทธศาสนา (๒) ศึกษาคำสอนของพุทธทาสภิกขุที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ และ(๓) ศึกษาวิเคราะห์อิทธิพลคำสอนของพุทธทาสภิกขุต่อการดำเนินชีวิตของบุคคลที่ประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพต่าง ๆ

วิธีดำเนินการศึกษามี ๒ แบบคือแบบเอกสารและแบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบเอกสาร ได้ศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และแนวคำสอนรวมทั้งผลงานของพุทธทาสภิกขุด้านต่างๆ และแบบสัมภาษณ์เชิงลึกได้เลือกกลุ่มตัวอย่างผู้ได้รับอิทธิพลจากแนวคำสอนของพุทธทาสภิกขุที่ประสบผลสำเร็จในชีวิตทางด้านศาสนา ด้านการเมืองการปกครอง ด้านการศึกษา ด้านศิลปะและสุนทรียภาพ และด้านเศรษฐศาสตร์

ผลการวิจัยพบว่า

๑) หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตในพุทธศาสนา ประกอบด้วยหลักธรรมเกี่ยวกับความจริงของชีวิต คือ ขันธ์ ๕, ปฏิจจสมุปบาท, ไตรลักษณ์, และหลักการดำเนินชีวิตในพุทธศาสนา คือ เป้าหมายชีวิต, อริยมรรคมีองค์ ๘, ไตรสิกขา, อริยสัจ ๔

๒) คำสอนของพุทธทาสภิกขุที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ คือ (๑) ด้านการดำเนินชีวิตทั่วไป (๒) ด้านศาสนา (๓) ด้านการเมืองการปกครอง (๔) ด้านการศึกษา (๕) ด้านศิลปะและสุนทรียภาพ (๖) ด้านเศรษฐกิจ

๓) จากการสัมภาษณ์พบว่า กลุ่มศิษย์ที่ใกล้ชิดท่านพุทธทาส คือ พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร) ประทับใจบุคลิกภาพและจิตใจที่มั่นคงของพุทธทาสภิกขุ ที่ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมใด ๆ ชื่นชมคำสอนที่อธิบายทั้งในระดับโลกียะ และระดับโลกุตระ พระสิงห์ทอง เขมิโย พระอุปัฏฐาก ประทับใจในความเป็นครูของพุทธทาสภิกขุ ที่สอนท่านทุกอย่าง แม้กระทั่งสอนให้อ่านออกเขียนได้ ทำ ให้ท่านขยันสู้งานทุกรูปแบบกลุ่มศิษย์ผู้ทำงานศาสนาโดยตรง คือพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ได้รับแรงจูงใจการอธิบายหลักพุทธธรรมในแง่มุมศาสตร์สมัยใหม่ ด้วยภาษาที่ เข้าใจง่าย ได้รับอิทธิพลการอธิบายวงจรปฏิจจสมุปบาทแบบชั่วขณะจิตเดียว และประทับใจความไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาสังคม ส่วนแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ประทับใจความเป็นอยู่อย่างง่ายๆแต่ทำงานยิ่งใหญ่ แม่ชีได้นำเอาหลักอานาปานสติมาใช้ในการทำงานทางสังคม กลุ่มศิษย์ฆราวาสทั่วไป คือคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ประทับใจความมุ่งมั่นในปณิธาน ๓ ประการ และความชัดเจนของพุทธทาส ที่วิเคราะห์ปัญหาถึงระดับพื้นฐาน คุณหญิงได้ประยุกต์หลักความไม่ยึดมั่นถือมั่นมาใช้ในการงาน คุณประภัสสร โหละสุต ประทับใจวิธีการสอนของพุทธทาส จึงตั้งปณิธานที่จะ
ระวังจิตให้อยู่ในร่องรอยแห่งคำสอนของท่าน ทั้งได้อุทิศชีวิตเพื่องานพระศาสนาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นในคำสอนเรื่องนิพพาน และความว่าง ว่าสามารถใช้แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ ประทับใจพุทธทาสภิกขุในรูปแบบการใช้ชีวิต การพิสูจน์หลักธรรมด้วยการปฏิบัติ ทดลองพุทธพจน์ด้วยการดำเนินชีวิตประจำวัน และสอนให้เข้าถึงแก่นคำสอนของศาสนาของตน ทำให้ได้แนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่ออิสรภาพทางจิตวิญญาณ, ในขณะที่ คุณสุภาวดี หาญเมธี ได้หันมาทำงานเพื่อประโยชน์ผู้อื่น เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ มีความสุขในชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคำสอนเรื่องนิพพานที่นี่เดี๋ยวนี้ ส่วนคุณแทนคุณ จิตต์อิสระ เริ่มต้นด้วยความแปลกใจที่พุทธทาสภิกขุปฏิวัติการตีความคำสอนของพุทธศาสนา จากที่พระภิกษุทั่วไปมุ่งสอนเรื่องการทำบุญ เรื่องนรกสวรรค์ มาสู่คำสอนเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น การ “กินอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง”

http://www.sksl.org/index.php?option=com_content&view=article&id=65:2013-01-22-08-18-09&catid=34:class-1&Itemid=48

. . . . . . .