พุทธทาส ภิกขุ บุคคลสำคัญของโลก

พุทธทาส ภิกขุ บุคคลสำคัญของโลก
ศ.พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)

การที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องท่านอาจารย์พุทธทาสว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลกย้ำเตือนถึงความจริงของบทกลอนของท่านพุทธทาสที่ว่า “พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย” ผลงานของท่านนอกจากจะไม่ตายไปจากความทรงจำของชาวพุทธแล้ว ยูเนสโกยังประกาศยกย่องท่านพุทธทาสไปทั่วโลก
เราอาจตั้งคำถามว่า ทำไมท่านพุทธทาสจึงได้รับยกย่องจากยูเนสโก เขามองท่านพุทธทาสอย่างไร ใครที่อยากจะได้รับการยกย่องในเวลาร้อยปีชาตกาลของตนแบบท่านพุทธทาสก็อาจจะจับประเด็นได้และทำผลงานให้ตรงจุด บางคนอาจได้คิดว่า เมื่อยูเนสโกยังยกย่องท่านพุทธทาส ทำไมเราจึงไม่ศึกษางานของท่านบ้าง เรากลายเป็นพวกใกล้เกลือกินด่างหรือเปล่า เพราะฉะนั้นในช่วงนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะหันมาศึกษางานของท่านพุทธทาส ให้มากขึ้น อาตมาเคยพูดถึงท่านพุทธทาสเมื่อประมาณ ๒๕ ปีมาแล้วในปี ๒๔๒๕ เมื่อพูดแล้วได้พิมพ์เป็นหนังสือเรื่องเปรียบเทียบแนวคิดพุทธทาสกับฌอง-ปอล ชาร์ต นักเขียนรางวัลโนเบลของฝรั่งเศส เป็นนักปรัชญาเอกซิสเตนเชียลิสม์ พิมพ์เป็นหนังสือครั้งแรกในปี ๒๕๒๖ อะไรที่เคยพูดไว้ในหนังสือนั้นเป็นอีกมุมมองหนึ่งซึ่งจะไม่พูดถึงในวันนี้

อัจฉริยะทางศาสนา

ในหนังสือเล่มนั้น อาตมาได้สรุปไว้ว่า ท่านพุทธทาสเป็นพระนักเผยแผ่ที่มีผลงานมากที่สุด ในบรรดาพระนักเผยแผ่ในเมืองไทย ท่านพุทธทาสผลิตหนังสือมากที่สุดในบรรดาพระนักเผยแผ่ในเมืองไทย หนังสือชุดธรรมโฆษณ์ของท่านพุทธทาสเป็นหลักฐานในเรื่องนี้ เฉพาะคำบรรยายของท่านพุทธทาสที่เก็บบันทึกเสียงเอาไว้ยังไม่ได้ถอดเป็นหนังสือยังมีมหาศาล ท่านพุทธทาสมีคำสอนกว้างไพศาลได้รับการยกย่องทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ในเมืองไทยได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ชาวอเมริกันชื่อสแวเรอร์ได้ยกย่องท่านพุทธทาสเป็นอัจฉริยะทางศาสนา (Religious Genius) นักการศึกษาทางศาสนายกให้ท่านเป็นอัจฉริยะ ชาวต่างประเทศมาแปลผลงานของท่านเป็นภาษาต่างประเทศเมากมาย หลายคนทึ่งใน เรียบเรียบจากปาฐกถาเรื่อง “๑๐๐ ปีชาตกาล พุทธทาส ภิกขุ” แสดงที่สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙ และที่วัดอ่างทอง จ.อ่างทอง เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๙

ผลงานของท่านที่หลากหลายมาก ท่านพุทธทาสศึกษาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ท่านเรียนรู้พระพุทธศาสนานิกายเซ็นแล้วก็นำเอามาเทียบกับพุทธศาสนาฝ่ายของเรา ท่านยังรู้เรื่องศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้งอีกด้วย เคยปาฐกถาเปรียบเทียบพระพุทธศาสนากับศาสนาคริสต์ คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะทางศาสนา เวลาที่ยูเนสโกจะยกย่องใครเป็นบุคคลสำคัญ เขายกย่องทั้งตัวบุคคลและผลงาน ว่าบุคคลนี้เป็นผู้สร้างความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ International Understanding ตรงนี้แหละคือประเด็นที่ยูเนสโกใช้เป็นกรอบในการยกย่องบุคคลสำคัญ ท่านพุทธทาสมีผลงานที่เข้ากันได้กับมาตรฐานที่ยูเนสโกกำหนดไว้ คือท่านมีผลงานดีเด่นในมิติทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมมีสองอย่าง ได้แก่วัฒนธรรมทางวัตถุกับวัฒนธรรมทางจิตใจ ท่านพุทธทาสส่งเสริมวัฒนธรรมทางจิตใจและก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระดับโลก ที่สำคัญก็คือ เป็นไปเพื่อสันติภาพโลก นี่คือมาตรฐานที่สหประชาชาติตั้งไว้ ในคำประกาศยกย่องที่ยูเนสโกยกย่องใครให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า worldwide significance แปลว่า มีความสำคัญระดับโลก และมีอีกคำหนึ่งว่า Eminent personality แปลว่าเป็นบุคคลที่โดดเด่น

การที่ยูเนสโกจะยกย่องบุคคลที่โดดเด่นเหล่านั้นจะต้องมีการเสนอชื่อโดยประเทศที่เป็นสมาชิกของยูเนสโก เพราะฉะนั้น เวลาที่องค์กรเอกชนจะเสนอชื่อให้คนไทยได้รับเกียรตินี้ก็ต้องผ่านรัฐบาลไทยซึ่งเป็นสมาชิกของยูเนสโก ซึ่งตอนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็เป็นกรรมการของยูเนสโก เมื่อไทยเสนอชื่อเข้าไปแล้วยูเนสโกจะพิจารณาว่าคนเหล่านี้มีผลงานตามเกณฑ์มาตรฐานที่กล่าวไว้หรือไม่ ถ้ามีผลงานตามเกณฑ์ ยูเนสโกก็จะประกาศยกย่องเพื่อให้ชาวโลกตระหนักถึงความสำคัญของเขา คือเป็นคนสำคัญที่ทั่วโลกต้องจับตามองและหันมาศึกษาผลงานของเขาในหลายมิติ นี่แหละคือความประสงค์ของยูเนสโกในการยกย่องบุคคลอย่างท่านพุทธทาสซึ่งท่านทั้งหลายก็คงจะทราบว่าในปีนี้มีชาวโลกที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกพร้อมกับท่านพุทธทาสถึง ๖๓ คน ทำไมยูเนสโกจึงเลือกยกย่องท่านพุทธทาส คำตอบมี อยู่ในคำประกาศของยูเนสโก

ปณิธานชีวิตของท่านพุทธทาส

คำประกาศของยูเนสโกถือว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสเป็น pioneer เป็นผู้บุกเบิกให้เกิดความเข้าใจอันดีกันระหว่างศาสนาต่าง ๆ Interreligious Understanding ท่านส่งเสริมให้พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู อยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยอาศัย dialogue แปลว่าการเจรจาหรือการสนทนาธรรมสากัจฉา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ ท่านพุทธทาสเป็นพระไทยที่มีชื่อเสียงได้รับการนับถือไปทั่วโลกเพราะทัศนะของท่าน ที่ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา มิใช่แต่ชาวพุทธที่นับถือท่าน แม้แต่ชาวคริสต์ชาวมุสลิมก็นับถือท่านพุทธทาส นี่คือลักษณะที่โดดเด่นของท่านพุทธทาส ซึ่งมาจากปณิธานสามข้อของท่านที่ประกาศไว้ในวันทำบุญล้ออายุ ๘๐ ปี อาจถือได้ว่าท่านพุทธทาสได้รับการยกย่องจากยูเนสโกเพราะปณิธาน ๓ ข้อ ดังนี้

๑. มุ่งส่งเสริมให้ศาสนิกของแต่ละศาสนาเข้าถึงหัวใจศาสนาของตน
๒. มุ่งสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
๓. ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาจากวัตถุนิยม

ปณิธานทั้ง ๓ ข้อนี้น่าจะเป็นคุณสมบัติโดดเด่นที่สุดของท่านพุทธทาสในสายตายูเนสโก
ในเรื่องของการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนานี้ ท่านพุทธทาสได้ทำมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ด้วยการแสดงปาฐกถาธรรม ณ วิทยาลัยพระคริสตธรรม แห่งสภาคริสตจักร ประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ ท่านพุทธทาสมีผลงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาเรื่อย แสดงว่าในชีวิตของท่าน ท่านสนใจเรื่องนี้มานานแล้ว การที่ท่านประกาศ ปณิธาน ๓ ข้อนี้ แม้จะประกาศในบั้นปลายชีวิตของท่านนี้แต่ที่จริงท่านได้ทำมานานแล้ว การประกาศในตอนท้ายเหมือนกับสรุปผลงานในชีวิตของท่านว่าท่านทำอะไรที่สำคัญมาบ้าง ท่านบอกว่าท่านได้ทำมา ๓ เรื่องนี้แหละ เรียกว่า Definition คือการให้คำจำกัดความเกี่ยวกับบทบาทในชีวิตของท่าน ถ้าหากเราจะให้คำจำกัดความเกี่ยวกับผลงานของคนสำคัญในประเทศไทย เราก็ดูว่า ปณิธานของท่านเหล่านั้นคืออะไร เขาดำเนินชีวิตตามปณิธานนั้นหรือไม่ งานชีวิตของท่านพุทธทาสสรุปลงในปณิธานทั้ง ๓ ข้อ ถ้าใครมีเวลาว่างพอ ขอให้ไปนั่งสำรวจงานของท่านพุทธทาสทั้งหมดแล้วสรุปงานทั้งหมดลงในปณิธาน ๓ ให้ได้ นั่นแหละคือการประกาศว่า ทำไมยูเนสโกจึงยกย่องให้ท่านปณิธานเป็นบุคคลสำคัญของโลก ตอบว่าท่านได้รับการยกย่องครั้งนี้เพราะปณิธานทั้ง ๓ ข้อ

ข้อที่หนึ่งที่ว่ามุ่งส่งเสริมให้ศาสนิกของแต่ละศาสนาเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน หมายถึงอะไร ท่านอาจารย์พุทธทาสอธิบายว่า “ทุกศาสนาพระศาสดามุ่งหมายจะทำลายความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกิเลสและเกิดความทุกข์ เห็นแก่ตัวแล้วก็ทำตัวนั้นให้เป็นทุกข์ก่อน แล้วมันก็ขยายออกไป ทั้งทำผู้อื่นให้พลอยเป็นทุกข์ด้วย เพราะความเห็นแก่ตัว” ท่านพุทธทาสกล่าวว่าการทำลายความเห็นแก่ตัวก็คือทำลายตัวกูของกูด้วยวิธีฝึกให้จิตว่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนทำลายความเห็นแก่ตัว ทำไมศาสนาคริสตถึงใช้ไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์ เพราะไม้กางเขนนั้นตัดตัวกูของกู มีรูปเป็นตัวไอ (I) และศาสนาคริสต์สอนให้ทำลายตัวกูของกูด้วยการขีดเส้นตัดตัวไอก็จะได้ไม้กางเขน ไม้กางเขนก็ไม่ใช่อะไรเลยนั่นก็คือการทำลาย ตัวกูของกู เมื่อศิษย์คนหนึ่งขอให้พระเยซูสรุปบัญญัติ ๑๐ ประการให้เหลือเพียงข้อเดียว พระเยซูตอบว่า ข้อนั้นคือเรื่องความรัก รักเพื่อนมนุษย์ รักพระเจ้า เมื่อรักเพื่อนมนุษย์และรักพระเจ้า ก็จะเสียสละหรือสละความเห็นแก่ตัว เพราะความรักต้องเป็นความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูสอนว่าในที่สุด ชีวิตของเราจะรวมกันเข้าเป็นหนึ่งกับปรมาตมันหรือพรหมัน ไม่มีความเป็นตัวกูเหลืออยู่ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเปรียบชีวิตของคนเราเหมือนหยดน้ำที่ต้องไปรวมกับพรหมันที่เปรียบเหมือนทะเล เมื่อหยดน้ำไปรวมเป็นทะเลก็แยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นหยดน้ำ เพราะไม่เหลือความเป็นตัวกูของกูแห่งหยดน้ำ เมื่อบรรลุเป้าหมายคือรวมเป็นหนึ่งกับพระเจ้าในศาสนาคริสต์ อิสลามหรือพราหมณ์-ฮินดูก็จะไม่เหลือตัวกูของกู เพราะฉะนั้นท่านพระพุทธทาสจึงกล่าวว่า ทุกศาสนาเหมือนกันหมดคือมุ่งทำลายตัวกูของกู คือความเห็นแก่ตัว ที่ท่านพุทธทาสขอให้ศาสนิกของทุกศาสนาเข้าถึงแก่นของศาสนา ก็คือเข้าถึงความไม่มีตัวกู ของกู และตรงกับที่ท่านสอนเรื่องจิตว่างมาตลอดชีวิตนั่นแหละ เพราะฉะนั้น คำสอนเรื่องจิตว่างของท่านพุทธทาสรวมลงอยู่ในปณิธานข้อที่ ๑

ปณิธานที่ ๒ ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา ท่านพุทธทาสกล่าวว่า ขอให้ศาสนาทุกศาสนามาจับมือกันสู้กับความเห็นแก่ตัว ร่วมมือกันทำแบบสหกรณ์ สหกรณ์ระหว่างศาสนา ช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อทำลายล้างความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ในโลกนี้ให้หมดไป เมื่อเป้าหมายเดียวกัน เราก็มาจับมือกันช่วยกันสอนศาสนิกใครศาสนิกมันว่าอย่ามาทะเลาะกันเพราะศาสนาเลย เพราะเมื่อทุกคนไม่เห็นแก่ตัวก็จะมีความเคารพระหว่างศาสนิกด้วยกัน ต่างคนต่างได้ Win-Win Situation ต่างฝ่ายต่างชนะ ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “งานสหกรณ์อันยิ่งใหญ่ ทำขึ้นเพื่อช่วยโลกอย่างนี้ นั่นจะตรงกับความหมายของพระเจ้าที่แท้จริง เพราะถ้าพระเจ้าเป็นพระเจ้าที่แท้จริงต้องมีความหวังดีต่อสัตว์โลก” การเรียนศาสนาคือพยายามให้เข้าถึงแก่นศาสนา อย่าแข่งขัน อย่าทะเลาะกัน อย่าขัดแข้งขัดขากัน ศาสนาต้องเป็นไปเพื่อสันติภาพ ท่านเรียกร้องให้ผู้นำศาสนาพูดจากัน ทำความเข้าใจกันและกัน หมายถึงให้ผู้นำศาสนาต่างๆ มานั่งคุยแลกเปลี่ยนกัน นั่นคือธรรมสากัจฉาหรือ Dialogue คือวิธีการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา โบสถ์คริสต์นิมนต์พระไปคุยธรรมะ วัดก็เชิญบาทหลวงหรือโต๊ะอิหม่ามมานั่งคุยกัน ในภาคใต้ควรจะคุยกันให้มากในตอนนี้ ผู้นำศาสนาอิสลามกับเจ้าคณะพระสังฆาธิการต่างๆต้องมานั่งคุยกัน ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “แม้ว่าขณะนี้เราจะรบกันอยู่ ก็ต้องแลกความเข้าใจธรรมะซึ่งกันและกัน เคยเขียนบทความขึ้นมาเรื่องหนึ่ง ให้ชื่อว่า “รบกันพลางแลกธรรมะกันพลาง” ถ้าว่าในโลกปัจจุบันนี้ รบกันไปพลางแล้วก็มีการแลกธรรมะอันแท้จริงกันไปพลางก็จะแก้ไขความเข้าใจผิดนั้นได้เร็วขึ้น จะเลิกรบกันได้ง่ายขึ้น”

วิธีรบกันพลางแลกธรรมะกันพลางนี้ยังทันสมัย เราน่าจะใช้แก้ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายรบก็รบกันไป ฝ่ายผู้นำศาสนาก็คุยกันไป ตามปณิธานข้อที่ ๒ ที่ว่าในโลกปัจจุบันนี้รบกันไปพลางแล้วมีการแลกธรรมะอันแท้จริงไปพลางก็จะแก้ไขความเข้าใจผิดได้เร็วขึ้นและจะเลิกรบกันได้เร็วขึ้น ถ้าตัดช่องทางของการแลกธรรมะกันในภาคใต้ ชาวพุทธกับมุสลิมไม่สนใจที่จะคุยกัน ผู้นำศาสนาสนทนากันทั้งไม่เปิดช่องทางที่จะศึกษาธรรมะของกันและกัน เมื่อไรจึงจะเลิกรบกัน เราต้องเปิด Channel คือช่องทางของการติดต่อประสานสัมพันธ์ระหว่างผู้นำศาสนา เพราะถ้าปิดช่องทางแลกธรรมะระหว่างผู้นำศาสนา ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยากที่จะยุติ อยากจะให้คิดเรื่องนี้อย่างจริงจังในปีนี้ที่เราฉลอง ๑๐๐ ปีท่านพุทธทาส ซึ่งรัฐบาลบอกว่าจะจัดธรรมสากัจฉาระหว่างศาสนาในระดับสูง ระดับกลางและระดับล่าง

ปณิธานข้อที่ ๓ ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาจากวัตถุนิยม เมื่อคนเราเห็นแก่ตัวก็แก่งแย่งแข่งขัน “แย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันพิศวาส แย่งอำนาจกันเป็นใหญ่” ก็จะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งอันเนื่องมาจากการไม่เข้าถึงแก่นของศาสนาก็ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่าสงคราม สงครามเหล่านี้เกิดจากความหลงใหลได้ปลื้มกับวัตถุนิยม เพราะฉะนั้นถ้าคนเราออกมาจากกระแสวัตถุนิยมได้แล้ว จะไม่แย่งอาหารกันกิน ไม่แย่งถิ่นกันอยู่ ไม่แย่งคู่กันพิศวาส ไม่แย่งอำนาจกันเป็นใหญ่ เมื่อไม่รบกัน ก็เกิดสันติภาพ ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “ขอร้องความร่วมมือความสนับสนุนจากท่านทั้งหลายว่าจงมาช่วยกันในแผนการอันนี้ จะดึงโลกออกมาเสียจากวัตถุนิยม ด้วยความร่วมมือของท่านทั้งหลาย ความร่วมมือของท่านทั้งหลายนั้นไม่มีอะไรดีไปกว่าหรือมากไปกว่าท่านทั้งหลายจงดึงจิตใจของตนออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม นี่แหละเป็นความร่วมมืออย่างสูงสุด โลกพ้นจากอำนาจของวัตถุนิยมแล้ว ก็จะไม่มีวิกฤติการณ์เลวร้ายใด ๆ ในโลกเหลืออยู่ได้” ท่านพุทธทาสบอกว่า สงครามทั้งหลายเกิดมาจากหลงใหลในวัตถุนิยม จึงแก่งแย่งแข่งขันกัน ถ้าหากเข้าถึงแก่นของศาสนาคือไม่มีตัวกู ของกู ก็ไม่ติดในวัตถุนิยม ทุกศาสนาต้องร่วมมือกันสอนให้ศาสนิกให้เข้าถึงแก่นแห่งศาสนานั้น ถ้าตกอยู่ภายใต้อำนาจวัตถุนิยมแล้วก็เห็นแก่ตัว คือวัตถุนิยมหลอกให้เราไปติดกับ เกิดโลภะ โทสะ โมหะท่วมท้นไปหมดทั้งโลก กิเลสไหลนองครองโลกแล้วก็มีความทุกข์เต็มโลกเพราะอำนาจของวัตถุนิยม ท่านมักเน้นว่าถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ

ปณิธาน ๓ ข้อนี้นำไปสู่สันติภาพโลก ถ้าคนมีความเห็นแก่ตัว เขาก็แก่งแย่งแข่งขันเกิดโลภะ โทสะ โมหะ มีกิเลสไหลนองและรบราฆ่าฟันกัน ถ้าไม่เห็นแก่ตัวก็ไม่รบราฆ่าฟันกัน จะเกิดสันติภาพของโลก ประเด็นต่อมา ยูเนสโกกล่าวยกย่องว่า การที่ท่านเน้นเรื่องปฏิจจสมุปบาท ทำให้ท่านเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป็นแชมป์แห่งสันติภาพโลก ท่านพุทธทาสเน้นย้ำในเรื่องอิทัปปัจจยตา สิ่งต่างๆอาศัยกันและกันเกิดขึ้นตามหลักปฏิจสมุปบาท ใครอยากจะศึกษางานของท่านพุทธทาสต้องศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อสิ่งต่างๆอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ท่านก็เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้อยู่ตามลำพังเพราะต้องอาศัยสิ่งแวดล้อม มนุษย์กับสิ่งแวดล้อมต่างอาศัยพึ่งกันและกัน เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินดีเพราะหญ้าบัง หญ้ายังเพราะดินดี สมัยนั้นยังไม่ค่อยมีใครพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม ท่านพุทธทาสเป็นผู้นำร่องก่อนที่สหประชาชาติจะประชุมกันเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ท่านพุทธทาสได้เทศน์เรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ท่านพยายามพูดให้คนตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม ท่านพุทธทาสได้พยายามสอนให้คนเราเข้าถึงแก่นของศาสนาด้วยการทำลายความเห็นแก่ตัว อย่าให้คนต้องรบกันเพราะศาสนาเป็นเหตุ ศาสนาต้องจับมือกันเพื่อดึงคนออกมาจากวัตถุนิยม คำสอนนี้เป็นไปเพื่อสันติภาพทั้งภายในและภายนอกคือสันติภาพภายในจิตใจของคนและสันติภาพภายนอกคือในสังคมโลก เพราะฉะนั้นท่านพุทธทาสจึงได้รับยอกย่องว่าเป็นแชมเปี้ยนแห่งสันติภาพ Champion of Peace นี้คือการสรุปสิ่งที่เป็นลักษณะเด่นของท่านพุทธทาส คนรุ่นหลังจะต้องศึกษาปณิธานทั้ง ๓ ข้อของท่านพุทธทาสที่นำไปสู่สันติภาพ ตอนนี้มุสลิมหัวรุนแรงบางกลุ่มพยายามสร้างความขัดแย้งกับศาสนาอื่นโดยเรียกร้องให้ทำจีฮัด คือ Holy War สงครามศักดิ์สิทธิ์ เริ่มรบกันในตะวันออกกลางแล้ววันนี้ลุกลามมาถึงประเทศไทย เราต้องนำคำสอนของท่านพุทธทาสมาพูดกันให้มากโดยเฉพาะในเรื่องสันติภาพนี้ ในช่วงฉลอง ๑๐๐ ชาตกาลของท่านพุทธทาส เราต้องทำให้เกิดสันติภาพในประเทศไทยให้ได้

ศึกษาและปฏิบัติธรรมตลอดชีวิต

ยูเนสโกพูดถึงท่านพุทธทาสต่อไปอีกว่า ท่านได้เดินทางออกจากวัดในกรุงเทพฯ ไปค้นหาวิธีบูรณาการพุทธธรรมเข้ากับโลกปัจจุบัน โดยที่ไม่ทิ้งคำสอนที่เป็นแก่นแท้ดั้งเดิมในพระพุทธศาสนา นักเทศน์โดยทั่วไปที่ประยุกต์คำสอนเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ดีมักไม่ใส่ใจพุทธธรรมดั้งเดิม ส่วนผู้ที่ศึกษาธรรมอย่างลึกซึ้งก็มักพูดประยุกต์ธรรมไม่เป็น ท่านพุทธทาสกลับสู่รากเหง้าแห่งพุทธธรรมในพระไตรปิฎก ศึกษาเรื่องอริยสัจสี่ เรื่องนิพพานและจิตว่าง นี่คือแก่นพุทธศาสน์แล้วนำเรื่องเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อแก้ปัญหาชีวิตและปัญหาสังคม นี่คือจุดเด่นในการเผยแผ่ของท่านพุทธทาส นักเผยแผ่ธรรมบางท่านพูดเรื่องธรรมได้ลึกซึ้ง แต่ไม่สามารถจะทำให้ชาวบ้านเข้าใจและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ นักเผยแผ่ธรรมบางท่านพูดประยุกต์ได้สนุกสนาน แต่ธรรมไม่ลึกซึ้ง ท่านพุทธทาสให้ทั้งธรรมที่ลึกซึ้งและการบูรณาการเข้ากับชีวิตปัจจุบัน ในการศึกษาผลงานด้านการเผยแผ่ธรรมของท่านพุทธทาส เราต้องพยายามศึกษาวิธีการของท่านพุทธทาสว่าท่านทำอย่างนี้ได้อย่างไร เพื่อตอบคำถามว่าท่านพุทธทาสทำได้อย่างไรในเรื่องที่ดังกล่าว เราจะฉายหนังย้อนกลับไปตอนเริ่มต้นชีวิตของท่าน ตอนนี้เราได้ดูหนังตอนจบไปแล้วคือตอนที่ท่านพุทธทาสได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ต่อไปนี้ เราจะย้อนกลับไปดูชีวิตของท่านตั้งแต่เริ่มแรกเลยทีเดียว

ท่านพุทธทาสเดิมชื่อเงื่อม เกิดที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ท่านเรียนจบแค่ชั้นมัธยมปีที่ ๓ ไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัย แต่ก็มีพื้นความรู้ภาษาอังกฤษพอที่จะใช้ศึกษาค้นคว้าต่อไปได้ ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ฉายาว่า อินฺทปญฺโญ จบนักธรรมชั้นเอกจากจังหวัดนั้นแล้วย้ายเข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ โดยพำนักอยู่ที่วัดปทุมคงคา จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค เป็นพระมหาเงื่อม ได้นักธรรมชั้นเอก ความรู้บาลีนักธรรมของท่านมีแค่นี้ แต่ที่ท่านได้เป็นบุคคลสำคัญของโลกเพราะท่านมีการศึกษาตลอดชีวิต วิธีการศึกษาตลอดชีวิตของท่านทำอย่างไร ท่านเดินทางกลับบ้านเกิดแล้วตั้งสวนโมกขพลารามขึ้นเพื่อเป็นสถานศึกษาและปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง นี่คือจุดเริ่มต้นของการศึกษาตลอดชีวิต ท่านเลือกสถานที่ปฏิบัติธรรมที่บ้านเดิม มีโยมมารดาและน้องชายชื่อธรรมทาส พาณิชเป็นผู้อุปถัมภ์ท่านเดินทางกลับจังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ.๒๔๗๕ ในเดือนเมษายน พอถึงเดือนมิถุนายปีนั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ท่านตัดสินใจออกจากกรุงเทพฯกลับบ้านเกิด ท่านบันทึกไว้ว่า

“เราเดินตามโลกตั้งแต่นาทีที่เกิดมา
จนถึงนาทีที่มีความรู้สึกนี้
ต่อนี้ไปเราจะไม่เดินตามโลก
และลาโลกไปค้นหาสิ่งที่บริสุทธิ์
ตามรอยพระอริยะที่ค้นแล้วจนพบ”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่านพุทธทาสไปอยู่ป่ารูปเดียวโดยไม่มีอาจารย์พี่เลี้ยง ข้อนี้อันตรายเหมือนกันเพราะเมื่อไปอยู่รูปเดียวแล้วไม่มีใครคอยแนะนำ ท่านอาจคิดแผลงออกนอกทางก็ได้ เพื่อป้องกันปัญหานี้ ท่านพุทธทาสจำเป็นต้องยึดพระไตรปิฎกเป็นครู ท่านขนพระไตรปิฎกบาลีไปด้วย สมัยนั้นยังไม่มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ พระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาไทยมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๘ จากนั้น ท่านพุทธทาสก็ตั้งหน้าตั้งตาอ่านและแปลพระไตรปิฎกทั้งที่เป็นมหาเปรียญ ๓ ประโยคเท่านั้น ท่านพุทธทาสมีความรู้ชั้นประโยค ๓ แต่ได้ใช้ความรู้ภาษาบาลีขั้นพื้นฐานศึกษาพระไตรปิฎกต่อไป ข้อนี้ทำให้ท่านแตกต่างจากพระสงฆ์ไทยรูปอื่นที่ส่วนมากพอเรียนจบประโยค ๓ แล้วก็ศึกษาอรรถกถาคือหนังสืออธิบายพระไตรปิฎกต่อไปจนจบชั้นสูงสุดคือประโยค ๙ โดยไม่เคยอ่านพระไตปิฎก ถ้าระบบการศึกษาบาลีของพระสงฆ์ไทยบังคับให้ผู้เรียนศึกษาพระไตรปิฎกไปด้วย ผู้เรียนก็จะพยายามทำความเข้าใจธรรมในพระไตรปิฎกพร้อมกับเรียนภาษาบาลี และเมื่อจบการศึกษาออกมาก็จะแตกฉานในธรรมและมีความรู้แบบบูรณาการครบวงจรคือรู้ทั้งภาษาบาลีและธรรมที่ได้จากพระไตรปิฎกและอรรถกถา เมื่ออยู่สวนโมกข์ ท่านพุทธทาสไม่เพียงแต่ศึกษาพระไตรปิฎกด้วยตนเอง หากแต่ยังพยามแปลพระไตรปิฎกบาลีออกมาเป็นภาษาไทยเพื่อให้คนอื่นได้ศึกษาอีกด้วย ช่วงเริ่มแรกท่านเลือกแปลตอนที่ท่านเองต้องการใช้สอนตนเองเพื่อตามรอยพระอริยะ

เมื่อท่านพุทธทาสกลับถึงบ้านเกิดในปี ๒๔๗๕ ท่านออกเสาะหาสถานที่ซึ่งคิดว่ามีความวิเวกและเหมาะสมจะเป็นสถานที่เพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรมตามรอยพระอรหันต์ ท่านพบวัดร้างเนื้อที่ประมาณ ๖๐ ไร่ ชื่อตระพังจิก เป็นป่ารก มีสระน้ำใหญ่ จากนั้น คณะผู้อุปถัมภ์ก็จัดทำเพิงที่พักอยู่หลังพระพุทธรูปเก่าในวัดร้างนั้น แล้วท่านพุทธทาสก็เข้าอยู่อาศัยในวัดร้างตระพังจิก เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๗๕ วันนั้นตรงกับวันวิสาขบูชา เมื่อเข้าไปอยู่วัดร้างตระพังจิกได้ไม่นาน ท่านพุทธทาสเห็นว่า บริเวณใกล้ที่พักนั้น มีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่โดยทั่วไปจึงคิดนำคำทั้งสองมาต่อกันจนเกิดคำว่า “สวนโมกขพลาราม” อันหมายถึง “สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์” นอกจากจะตั้งชื่อใหม่ให้กับสถานที่พักแล้ว ท่านยังตั้งชื่อใหม่ให้กับตนเองอีกด้วย ท่านเรียกตัวเองว่า พุทธทาส แปลว่า ผู้รับใช้พระพุทธเจ้าอย่างถวายชีวิตในฐานะที่เป็นหนี้ในพระมหากรุณาธิคุณและเพราะความกตัญญูต่อพระพุทธเจ้า ท่านได้คำนี้จากบทสวดทำวัตรเย็นว่า “พุทธัสสาหัสมิ ทาโส ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พุทโธ เม สามิกิสสะโร พระพุทธเจ้าเป็นนายผู้ยิ่งใหญ่เหนือข้าพเจ้า” ท่านมอบตัวเป็นพุทธทาสเพื่อรับใช้ในการเผยแผ่ธรรมเสมือนหนึ่งเป็นกระบอกเสียงให้พระพุทธเจ้า นักเผยแผ่ธรรมที่ดีต้องมีอุดมการณ์อย่างนี้ เมื่อการเตรียมการเสร็จสิ้นแล้ว ท่านพุทธทาสก็เริ่มงานศึกษาและปฏิบัติธรรมของท่าน ดังนี้

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ท่านเริ่มเขียน “ตามรอยพระอรหันต์”
พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านออกหนังสือพิมพ์ชื่อพุทธสาสนา ราย ๓ เดือน
พ.ศ. ๒๔๗๗ เริ่มแปลพุทธประวัติจากพระโอษฐ์

น่าสังเกตว่าท่านเขียนตามรอยพระอรหันต์เป็นหนังสือเล่มแรกก็เพื่อใช้เป็นคู่มือการปฏิบัติธรรมของตนเองตามความตั้งใจเดิมที่ว่า “ลาโลกไปค้นหาสิ่งที่บริสุทธิ์ตามรอยพระอริยะ” แม้แต่เรื่องพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ก็มีตัวอย่างการปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะท่านพุทธทาสเลือกแปลพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเองในพระสูตรต่าง ๆ มาเรียงร้อยเป็นเล่มเดียวพระพุทธเจ้าตรัสเล่าว่าทำไมถึงออกผนวช ทรงฉันอาหารมื้อแรกยากเพียงไร ก่อนตรัสรู้ พระพุทธเจ้าปฏิบัติธรรมองค์เดียวอยู่ในป่าลึกรกชัฏรู้สึกกลัวแล้วแก้ความกลัวอย่างไร ท่านพุทธทาสตามศึกษาเรื่องเหล่านี้ในพระไตรปิฎกแล้วนำมาประยุกต์เข้ากับการปฏิบัติธรรมของตนเอง ท่านพุทธทาสอยู่ในกุฏิหลังเล็กไม่พูดไม่จากับใคร เวลาออกไปบิณฑบาต เด็กๆก็ว่าพระบ้ามาแล้ว คนจะยิ่งใหญ่เริ่มต้นจากวัดเล็ก ๆ อยู่ในกุฏิเล็กอ่านพระไตรปิฎก ใช้เครื่องพิมพ์ดีดเก่า ๆทำต้นฉบับหนังสือ ขณะศึกษาธรรม ท่านพุทธทาสก็ปฏิบัติธรรมตามรอยพระอรหันต์ไปด้วย ท่านได้บันทึกประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมของตนเองไว้ดังนี้ “หากสับเพร่าทำยุงตาย หรือบอบช้ำไปหนึ่งตัว จะให้ยุงกัดคราวหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ตัว และไม่ต่ำกว่า ๒๐ นาทีในป่ารก

ถ้าขี้เกียจ จะรบมันด้วยการนั่งให้สว่างคาที่
ถ้าหิว จะรบมันด้วยการกวาดลานให้มาก จนไม่หิว
ถ้าเพลียโหย จะเดินจงกรมอย่างแรง ๔-๕ ร้อยเที่ยว
ถ้าขลาดมาท่าไหน จะอยู่ในท่านั้นให้หนักขึ้น จนกว่าจะไม่ขลาด”

วิธีปฏิบัติสุดท้ายที่ว่า “ถ้าขลาดมาท่าไหน จะอยู่ในท่านั้นให้หนักขึ้น จนกว่าจะไม่ขลาด”นี้เหมือนกับข้อความในภยเภรวสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าวิธีเอาชนะความกลัวก่อนตรัสรู้ว่า “ความกลัวและความขลาดนั้น ย่อมมาถึงเราผู้กำลังเดินจงกรมอยู่ เรานั้นจะไม่ยืน ไม่นั่ง ไม่นอนเลย ตราบที่เรายังเดินจงกรมอยู่ ย่อมกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้ เมื่อเรานั้นยืนอยู่ ความกลัวและความขลาดนั้นย่อมมา เรานั้นจะไม่เดินจงกรม ไม่นั่ง ไม่นอนเลย ตราบเท่าที่เรายังยืนอยู่ ย่อมกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้”

นี่คือตัวอย่างการปฏิบัติธรรมตามรอยพระอรหันต์ของท่านพุทธทาสที่ยึดหลักว่า กิเลสเกิดขึ้นในอิริยาบถใด ท่านจะอยู่ในอิริยาบถนั้นจนกว่ากิเลสนั้นจะดับดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในภยเภรวสูตร
ท่านพุทธทาสแม้จะเริ่มปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าแต่ต่อมาก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเพราะท่านยังเผยแผ่ธรรมอีกด้วย ข้อนี้แสดงว่าท่านพุทธทาสได้ปฏิบัติตามพันธกิจ ๔ ประการของชาวพุทธที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดกรอบไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ดังนี้

๑. พุทธบริษัทต้องศึกษาธรรม
๒. พุทธบริษัทต้องปฏิบัติธรรม
๓. พุทธบริษัทต้องเผยแผ่ธรรม
๔. พุทธบริษัทต้องปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาจากการโจมตีของลัทธิศาสนาอื่น

ผู้นำด้านการเผยแผ่ศาสนา

แม้จะปฏิบัติธรรมอยู่คนเดียวในวัดป่า ท่านพุทธทาสก็สามารถทำพันธกิจข้อที่ ๓ คือการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ด้วยการเขียนหนังสือและพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสารพระพุทธสาสนา ต่อมาได้พิมพ์ผลงานออกเป็นหนังสือและออกไปบรรยายธรรมนอกสวนโมกข์ วิธีเผยแผ่ของท่านมีอิทธิพลต่อการปฏิรูปการเรียนการสอนและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ข้อนี้ทำให้ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดรูปหนึ่งในด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านพุทธทาสประสบความสำเร็จอย่างมากในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพราะท่านสร้างความแปลกใหม่ทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบ ในด้านเนื้อหา ท่านพุทธทาสสอนเรื่องจิตว่างโดยใช้คำที่กระตุกใจผู้ฟัง เช่น ตัวกู ของกู
ในด้านรูปแบบ ท่านพุทธทาสเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ยืนแสดงปาฐกถาธรรม ท่านให้เหตุผลว่า “ความคิดที่จะใช้ปาฐกถาแทนเทศน์ มันเกิดจากรู้สึกว่าของเดิมเต็มสมัยแล้ว คิดจะเอาอย่างสากลเสียบ้าง ยืนบรรยายแบบสากล” ในด้านวิธีการเผยแผ่ธรรม ท่านพุทธทาสใช้ทุกรูปแบบ คือทั้งพูดทั้งเขียนผ่านสื่ออุปกรณ์ต่างๆ และที่นับว่าล้ำสมัยในยุคนั้นก็คือการสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ ท่านพุทธทาสมากรุงเทพฯแสดงปาฐกถาธรรมที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เรื่อง “ ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” ปาฐกถาเรื่องนี้ทำให้ท่านโด่งดังมาก เพราะท่านสอนแหวกแนวว่าการไหว้พระพุทธรูปบางครั้งก็กลายเป็นภูเขาที่ขวางกั้นไม่ให้เข้าถึงพุทธธรรม แท้ที่จริง การสอนของท่านพุทธทาสก็สอดคล้องกับคำพังเพยไทยสมัยโบราณที่ว่า

ไหว้พระพุทธ ต้องไหว้ให้ดี ถ้าไหว้ไม่ดีก็ถูกอิฐถูกปูน
ไหว้พระธรรม ต้องไหว้ให้ดี ถ้าไหว้ไม่ดีก็ถูกใบลาน
ไหว้พระสงฆ์ ต้องไหว้ให้ดี ถ้าไหว้ไม่ดีก็ถูกลูกหลานชาวบ้าน

การสอนแบบกระตุกกันแรงๆที่ท่านพุทธทาสใช้เสมอนี้เป็นวิธีการของพระพุทธศาสนานิกายเซ็นที่สอนว่า เมื่ออาจารย์ใช้นิ้วชี้ไปที่ดวงจันทร์ก็ต้องดูดวงจันทร์ อย่ามาดูที่นิ้ว
อย่างไรก็ตาม วิธีการสอนธรรมของท่านพุทธสรุปได้เป็น ๓ ขั้นตอน ดังนี้

๑. สอนให้รู้
๒. ทำให้ดู
๓. อยู่ให้เห็น

ขั้นตอนการสอนธรรมทั้งสามนี้ถอดมาจากคำว่าตถาคต ซึ่งขยายความได้ว่า ยถาวาที ตถาการี แปลว่าสอนอย่างไรทำอย่างนั้น

สอนให้รู้ คือ ยถาวาที
ทำให้ดู คือ ตถาการี
อยู่ให้เห็น คือ ยถาวาที ตถาการี หรือตถาคต

สอนให้รู้

ในประการแรกคือสอนให้รู้นั้น ท่านสันติกโรเป็นพระฝรั่งที่เคยอยู่สวนโมกข์เล่าว่าท่านพุทธทาสชอบสอนธรรมตลอดเวลา ไม่เคยแสดงอาการเบื่อหน่ายในการสอนธรรม ท่านมีความสุขในการสอนธรรม เมื่อท่านสันติกโรเข้าไปถามปัญหาธรรม ท่านพุทธทาสจะตอบทุกครั้ง บางเรื่องท่านสันติกโรถามแล้วถามอีก ท่านพุทธทาสก็ตอบให้ทุกครั้ง เมื่อท่านสันติกโรนำเทปบันทึกมาเปิดฟังตอนหลังถึงได้รู้ว่าบางเรื่องตนเคยถามนับสิบครั้งและก็ได้คำตอบทุกครั้ง ท่านพุทธทาสจะสอนแล้วสอนอีกเหมือนช่างปั้นหม้อดินที่จะต้องตบแล้วตบอีกจนกว่าจะได้หม้อดินที่สวยงาม เมื่อท่านพุทธทาสอาพาธหนักเข้าโรงพยาบาล แพทย์พยาบาลจะเตือนลูกศิษย์ที่ไปเยี่ยมไข้ว่าอยู่คุยนาน เพราะท่านพุทธทาสชอบบรรยายธรรมให้แก่คนที่มาเยี่ยมไข้ท่าน ยิ่งได้พูดธรรมท่านยิ่งมีชีวิตชีวา นักเผยแผ่ธรรมที่แท้มักเป็นเช่นนี้ คือสอนธรรมจนวาระสุดท้ายของชีวิต เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเทศนากัณฑ์สุดท้ายให้สุภัททปริพาชกฟังในวันที่จะทรงดับขันธปรินิพพาน เมื่อพระครูพิศาลธรรมโกศลหรือหลวงตาแพร-เยื่อไม้แห่งวัดประยุวงศาวาสอาพาธหนักด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายไปนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านได้ขออนุญาตแพทย์ออกไปเทศน์ตามงานต่างๆอยู่เสมอ บางครั้งเราเห็นท่านไปออกโทรทัศน์รายการพุทธประทีป พอท่านบรรยายธรรมเสร็จก็กลับไปนอนโรงพยาบาลเหมือนเดิม

เมื่อท่านพุทธทาสออกจากโรงพยาบาลไปพักฟื้นที่สวนโมกข์ ท่านนั่งรถเข็นที่มีไมโครโฟนเล็กๆ ติดตัวตลอดเวลา ท่านพูดธรรมกับใครก็จะมีการบันทึกตลอดเวลา แม้ในบั้นปลายชีวิตของท่าน
ธรรมที่ท่านพุทธทาสนำมาสอนมีไม่กี่เรื่อง ท่านเรียกว่าธรรมกำมือเดียว เมื่อท่านสอนหัวข้อใดก็จะพยายามประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ธรรมเรื่องยากที่ท่านนำมาสอนก็คือเรื่องสุญตาหมายถึงว่างจากอัตตา(ตัวกู)และอัตตนียะ(ของกู) ท่านพุทธทาสเรียกจิตที่ไม่มีอุปาทานคือความยึดมั่นในตัวกูของกูว่าจิตว่าง คำว่า จิตว่าง หมายถึงจิตที่ไม่มีตัวเรา-ตัวเขาหรือตัวกู-ของกู วิธีปฏิบัติในชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดจิตว่างก็คือการเจริญสติสัมปชัญญะนั่นเอง ผู้สอบได้นักธรรมชั้นตรีต้องเรียนเรื่องสติสัมปชัญญะกันมาแล้ว สติคือการใส่ใจปัจจุบัน (Awareness) มองให้เห็นฟังให้ได้ยิน อย่าใจลอย นี่คือสติ

สติมา ปัญญาเกิด สติเตลิดมักเกิดปัญหา ปัญญาในที่นี้หมายสัมปชัญญะ สติคือความรู้ทันปัจจุบันว่าขณะนี้กำลังทำพูดหรือคิดอะไร สัมปชัญญะคือความยั้งคิดเพื่อตรวจสอบว่าควรทำ พูดหรือคิดต่อไปหรือไม่ สัมปชัญญะเป็นตัวเซ็นเซอร์ว่าการกระทำหรือคำพูดนั้นควรหรือไม่ควร เวลามีคนมาด่าเรา ถ้าเราไม่มีสติก็ต้องโกรธทันที แต่ถ้าเรามีสติ เราโดนด่าก็รู้ตัวว่าโดนด่า จิตเราโกรธก็รู้ตัวว่าจิตเราโกรธ สัมปชัญญะจะพิจารณาเห็นว่าไม่ควรโกรธและสอนตัวเองว่าเลิกโกรธดีกว่า สัมปชัญญะเป็นตัวตรวจสอบการกระทำคำพูดและความคิดของเรา ถ้าเห็นว่าไม่สมควรก็หยุดเสีย สัมปชัญญะเป็นเครื่องตัดก่อนตาย เตือนก่อนวายวอด

สัมปชัญญะมีหลายอย่าง สัมปชัญญะที่เป็นตัวเซ็นเซอร์ว่าการกระทำหรือคำพูดของเราว่าควรหรือไม่ควร เรียกว่าสาตถกสัมปชัญญะแปลว่ารู้ชัดถึงประโยชน์ ในสังคมปัจจุบันนี้ คนตกอยู่ภายใต้อำนาจบริโภคนิยม เพราะไม่รู้จักใช้สาตถกสัมปชัญญะยับยั้งความอยากซื้อสินค้า พ่อค้าเอาอะไรมาหลอกขายก็ซื้อมากองไว้เต็มบ้าน ไม่เคยตั้งคำถามก่อนซื้อสินค้าว่าที่เราจะซื้อต่อไปนี้มันดีมีประโยชน์หรือไม่ คนที่ยั้งคิดตั้งคำถามถึงคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ก่อนทำอะไรทุกครั้งเรียกว่ามีสาตถกสัมปชัญญะ เด็กหนุ่มที่มีสาตถกสัมปชัญญะจะไม่เป็นอาชญากรเพราะอารมณ์ชั่ววูบ เด็กสาวที่มีสาตถกสัมปชัญญะก็จะไม่ยอมให้ใครชิงสุกก่อนห่าม สัมปชัญญะที่ช่วยถอนตัวกูของกูในชีวิตประจำวันเรียกว่าอสัมโมหสัมปชัญญะแปลว่าความรู้ชัดโดยไม่หลงผิดว่ามีตัวกูของกู เมื่อศึกษาคำว่าอสัมโมหสัมปชัญญะแล้วจะเข้าใจคำสอนเรื่องจิตว่างของท่านพุทธทาสได้ดีขึ้น จิตว่างก็คือจิตที่มีอสัมโมหสัมปชัญญะตามประกบตลอดเวลา เราอยู่แบบไม่มีตัวเราของเรา คืออยู่แบบไม่ปรุงแต่ง ดังที่ท่านพุทธทาสแต่งกลอนไว้ว่า

สหายเอ๋ย ตัวเรา มิได้มี
แต่พอเผลอ ตัวเรามี ขึ้นมาได้
พอหายเผลอ ตัวเรา ก็หายไป
หมดตัวเรา เสียได้ เป็นเรื่องดี
สหายเอ๋ย จงถอน ซึ่งตัวเรา
และถอนทั้ง ตัวเขา อย่างเต็มที่
ให้มีแต่ ปัญญา และปรานี
อย่าให้มี เรา-เขา เบาเหลือเอย

ที่ท่านกล่าวว่า “แต่พอเผลอ ตัวเรามี ขึ้นมาได้” หมายถึงว่าพอเราเผลอสติ อสัมโมหสัมปชัญญะก็ทำงานไม่ได้ ตัวกูของกูก็ปรากฏขึ้นในใจทันที สภาพจิตที่ไม่ว่างก็ตามมาเป็นขบวน ใครอยากศึกษาเรื่องนี้ให้ไปอ่านมหาสติปัฏฐานสูตร อรรถกถาจะอธิบายเรื่องสัมปชัญญะสี่ไว้อย่างบริบูรณ์ อสัมโมหะสัมปชัญญะคือการอยู่อย่างมีจิตว่าง ไม่มีตัวกูของกูตามปกติเราไม่มีตัวกูของกูกันอย่างไร ฌอง-ปอล ซาร์ตอธิบายเรื่องนี้ไว้ดี เขาแบ่งจิตของเราเป็นจิตก่อนสำนึกตัวกับจิตสำนึกตัว จิตก่อนสำนึกตัวไม่มีตัวกูของกู จิตสำนึกตัวมีตัวกูของกู ใครสนใจเรื่องนี้ไปอ่านหนังสือเรื่องเปรียบเทียบแนวคิดพุทธทาสกับซาร์ต

ทำให้ดู

การสอนธรรมขั้นที่สองคือทำให้ดูได้แก่การสาธิต เช่น เวลาสอนกรรมฐาน อาจารย์จะนั่งกรรมฐานไปพร้อมกับศิษย์ บางทีก็สาธิตวิธีเดินจงกรมให้ดูด้วย ท่านพุทธทาสได้ใช้วิธีสอนด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่นเมื่อครั้งที่ท่านเป็นอาจารย์สอนพระธรรมทูตที่จะไปต่างประเทศ มีวิชาการก่อสร้างอยู่ด้วย ท่านพุทธทาสปีนขึ้นไปสาธิตการมุงหลังคาให้ศิษย์ดูเป็นตัวอย่าง ท่านพุทธทาสเห็นว่าธรรมเป็นเรื่องลึกซึ้งไม่สามารถจะพูดสอนให้เข้าใจได้ง่าย ท่านจึงคิดผลิตอุปกรณ์ช่วยสอนธรรมด้วยการสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณขึ้น เพื่อสอนสิ่งที่ยากให้เข้าใจง่าย คนเข้าโรงมหรสพทางวิญญาณจะได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน โรงมหรสพทางวิญญาณนอกจากจะมีภาพเขียน ยังมีรูปปั้น เครื่องฉายสไลด์ เครื่องฉายภาพยนตร์ ท่านพุทธทาสได้ลงทุนสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณเพื่อเป็นสถานที่สอนธรรมแบบทำให้ดู ท่านพุทธทาสกล่าวถึงเรื่องโรงมหรสพทางวิญญาณไว้ว่า

“ที่สร้างโรงหนัง ก็ต้องการเขียนภาพสอนธรรมะเป็นเรื่องแรก มันเริ่มคิดตั้งแต่ไปเห็นภาพที่ถ้ำอชันตาในอินเดีย แล้วเราก็อยากมีบ้าง ข้างในก็ใช้เป็นห้องประชุมได้ด้วย เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ หวังว่าจะสอนกรรมฐานวิปัสสนาก็จะสอนได้ ใช้เป็นที่ฟังธรรม ฉายสไลด์ ฉายภาพยนตร์”

โบสถ์ในสมัยโบราณต่างๆในประเทศเราก็เหมือนโรงมหรสพทางวิญญาณประจำวัด ภาพฝาผนังโบสถ์มีไว้ใช้เพื่อการศึกษาและธรรมบันเทิง สมัยนี้เป็นยุคคอมพิวเตอร์ เรามีระบบมัลติมีเดีย การสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณทำได้ง่ายกว่าสมัยก่อน เราจึงสามารถถอดแบบความคิดที่ท่านพุทธทาสทำให้ดูที่สวนโมกข์ไปสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณได้ทุกหนทุกแห่ง โรงมหรสพทางวิญญาณไม่ควรจำกัดเฉพาะแต่ที่สวนโมกข์ เราสามารถจำลองไปสร้างไว้ที่ห้องสมุดทุกแห่งในประเทศไทย ใช้ Virtual Reality คือภาพเสมือนจริง โรงมหรสพทางวิญญาณนี้เริ่มมาจากสวนโมกข์ เรานำเอาแนวความคิดของท่านพุทธทาสมาปรับปรุงให้ทันยุคสมัยเพราะเทคโนโลยีสมัยนี้เจริญกว่าสมัยท่านพุทธทาส เราต้องทำได้ดีกว่าและถูกกว่าด้วย ถ้าทุกวัดมีโรงมหรสพทางวิญญาณสมัยใหม่ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เด็กๆจะเข้าวัดในวันหยุดมากกว่านี้

อยู่ให้เห็น

วิธีการสอนธรรมขั้นที่สามคืออยู่ให้เห็น เป็นการดำรงชีวิตประจำวันสะท้อนธรรมที่เราสอนออกมา นั่นคือสอนอย่างไรก็อยู่อย่างนั้น การกระทำสำคัญกว่าคำพูด เมื่อท่านพุทธทาสสอนเรื่องจิตว่างว่า “จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง” ท่านเองก็พยายามทำตัวให้มีจิตว่าง ท่านบอกว่าเวลาทำงานท่านพยายามควบคุมจิตไม่ให้ทำงานด้วยความอยาก ท่านพุทธทาสเล่าไว้ว่า “ถ้าความอยากโผล่ออกมาก็ยังไม่หมดทุกข์ ถ้าไม่โผล่จนตายก็เลิกกัน ดีแล้ว เลิกกัน จึงระมัดระวังไม่ทำอะไรโดยการอยาก งานที่ทำอยู่นี้มันก็ระมัดระวัง ไม่ทำด้วยความอยาก ทำงานด้วยเหตุผลของสติปัญญา เพื่อจะมีประโยชน์กับโลกมนุษย์” ท่านพุทธทาสทำงานเพื่องาน ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ท่านไม่ได้ทำงานเพราะหวังให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ท่านไม่ได้ทำงานเพราะหวังจะได้สมณศักดิ์ แต่กระนั้น ท่านก็เจริญด้วยสมณศักดิ์มาโดยตลอดจนดำรงสมณศักดิ์สุดท้ายที่พระธรรมโกศาจารย์ ท่านพุทธทาสทำงานไปตามกำลังสติปัญญา ท่านถนัดเรื่องการสอนธรรมจึงเน้นที่การเผยแผ่ธรรม ท่านไม่ทำงานบริหาร ดังนั้น ท่านพุทธทาสจึงไม่ตั้งองค์กรสวนโมกข์ สวนโมกข์จึงไม่มีสาขา ใครจะอ้างว่าเป็นสาขาสวนโมกข์ไม่ได้ ข้อนี้ต่างจากสำนักวัดหนองป่าพงของหลวงพ่อชา เมื่อสิ้นหลวงพ่อชาไปแล้ว สำนักนี้ได้ขยายสาขาไปทั่วโลกภายใต้การนำของท่านสุเมโธ หลายปีก่อนท่านพุทธทาสจะถึงมรณภาพ มีงานใหญ่ที่สวนโมกข์ อาตมาได้ไปร่วมงานนี้พร้อมกับท่านเจ้าคุณอาจารย์พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) และศิษย์สำคัญของสวนโมกข์ ในครั้งนั้นคณะศิษย์ได้ขอให้ท่านพุทธทาสจัดตั้งองค์กรเพื่อจะรักษาสวนโมกข์ให้รุ่งเรืองต่อไป ท่านพุทธทาสตอบว่า ผมไม่ถนัดงานบริหาร ผมขอทำแค่นี้ นี่คือคำตอบ ท่านทำงานด้วยความไม่อยาก มีความสามารถแค่ไหน ท่านก็ทำแค่นั้น เหมือนกับคำกลอนของท่านที่ว่า

“จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง
ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น
กินอาหารของความว่างอย่างพระกิน
ตายเสร็จสิ้นในตัวแล้วหัวที”

ท่านพุทธทาสไม่ยึดติดในตำแหน่งสมภารเจ้าวัด ท่านได้ตั้งชื่อสุนัขของท่านว่า “สมภาร” วันหนึ่งมีสุภาพสตรีคนหนึ่งเข้าไปขอให้ท่านพุทธทาสบอกเลขเด็ดของหวยงวดต่อไป ท่านตอบว่า “อาตมาไม่มีเลขเด็ด ถ้าคุณอยากได้เลขเด็ดต้องไปถามสมภาร”
ผู้หญิงคนนั้นดีใจจะรีบไปหาสมภารจึงถามว่า “สมภารอยู่ที่ไหนคะ”
ท่านพุทธทาสชี้ไปที่เจ้าสมภารซึ่งนั่งกระดิกหางอยู่พร้องกับพูดว่า “นั่นแหละคือสมภาร”
ท่านพุทธทาสดูเหมือนจะพอใจในผลงานของตัวเองเมื่อท่านประเมินตนเองว่า
“ผมว่าเท่าที่ทำมานี้ พอคุ้มค่าข้าวสุกแล้ว ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นห่วงว่า ใครจะมาหาว่าเกิดมาทีหนึ่งทำงานไม่คุ้มค่าข้าวสุก เหลือต่อไปนั้นเป็นผลกำไรเหลือเฟือ ไม่เกี่ยวกับพอใจหรือไม่พอใจอะไรนัก พอใจในการทำงานที่คุ้มค่าที่เป็นคนหนึ่งที่กินข้าวของประชาชน เราไม่สามารถถึงกับพลิกแผ่นดิน เราสามารถเพียงทำไปเรื่อยๆตามสติกำลัง มีผลเท่าไรก็เอาเท่านั้น แต่เราหวังอยู่ว่าการกระทำด้วยความจงรักต่อพระศาสนาของเรานี้อาจมีคนเอาไปคิดไปนึกแล้วอาจมีคนทำตามมากขึ้น” การที่ยูเนสโกประกาศยกย่องให้ท่านพุทธทาสเป็นบุคคลสำคัญของโลกในครั้งจะเป็นการช่วยให้คนนำเอาความคิดของท่านไปทำตามมากขึ้น แม้ท่านพุทธทาสจะไม่ตั้งองค์กรรองรับ แต่เมื่อคนส่วนมากนำแนวความคิดของท่านไปทำตาม ก็อาจเป็นการพลิกแผ่นดินได้เหมือนกัน ในห้องที่มืดเพราะไฟดับ เราจุดเทียนขึ้นมาหนึ่งเล่ม ดวงตาทุกคู่ภายในห้องจะมองไปที่เทียนเล่มนั้นเป็นจุดเดียว ณ สวนโมกข์ที่ไกลโพ้นได้มีผู้จุดเทียนแห่งธรรมขึ้นมาแล้ว คนไทยทั้งประเทศพากันมองไปที่นั่นเป็นจุดเดียว บัดนี้ยูเนสโกได้ประกาศให้คนทั่วโลกหันมามองที่นั่นเหมือนกัน ผู้จุดแสงสว่างที่สวนโมกข์เป็นพระสงฆ์ไทยที่ได้เป็นบุคคลสำคัญของโลก พระสงฆ์รูปนั้นคือ พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาส ภิกขุ)
การประกาศยกย่องของยูเนสโกเท่ากับเป็นเครื่องยืนยันความจริงของบทกลอนต่อไปนี้ที่ท่านพุทธทาสประพันธ์ไว้ในบั้นปลายชีวิตว่า

พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย
แม้ร่างกาย จะดับไป ไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง
นั่นเป็นเพียง สิ่งเปลี่ยนไป ในเวลา
พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย
ถึงดีร้าย ก็จะอยู่ คู่ศาสนา
สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา
ตามบัญชา องค์พระพุทธ ไม่หยุดเลย.

http://watprayoon.org/index.php?topgroupid=1&subgroupid=223&groupid=43

.

. . . . . . .