มหกรรมสืบสานปณิธานพุทธทาสภิกขุ ระหว่างวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2549 ณ พุทธมณฑล

มหกรรมสืบสานปณิธานพุทธทาสภิกขุ ระหว่างวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2549 ณ พุทธมณฑล

กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปีพุทธทาสภิกขุ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้จัดงานมหกรรมสืบสานปณิธานพุทธทาสภิกขุระหว่างวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2549 ที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม กิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองชาตกาล 100 ปีพุทธทาสภิกขุ ซึ่งตรงกับวันที่ 27 พฤษภาคม 2549

การจัดงานมหกรรมสืบสานปณิธานพุทธทาสภิกขุ นับเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยจะเป็นการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2549 ถึงปี 2550 เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูท่านพุทธทาสภิกขุ ในฐานะที่เป็นบุคคลสำคัญที่ได้รับการยกย่องทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งยูเนสโกได้ประกาศร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสนี้ด้วย เนื่องจากได้ตระหนักว่าท่านเป็นผู้มีผลงานโดดเด่นในการส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างมวลมนุษย์ตามหลักการ ดำเนินงานของยูเนสโก โดยการเผยแพร่หลักธรรมหรือแนวปรัชญาของท่านพุทธทาสภิกขุ ได้มีการจัดพิมพ์เป็นหนังสือและเอกสารต่างๆ มากมาย และมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากถึง 10 ภาษา

ในการจัดงานมหกรรมครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทรงเป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 เวลา 14.00 น. ณ หอประชุมพุทธมณฑล ในการนี้ทรงมอบโล่ที่ระลึกแก่ผู้แทนศาสนาอิสลาม คริสต์ พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ ที่ได้มาร่วมกล่าวสุนทรกถา ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของคณะอำนวยการจัดงาน 100 ปีพุทธทาสภิกขุ ทรงทอดพระเนตรการร้องเพลงประสานเสียงและทรงลั่นระฆังโบราณเปิดงานมหกรรมสืบสานปณิธานพุทธทาสภิกขุ หลังจากนั้นได้ทอดพระเนตรนิทรรศการอัตตชีวประวัติและผลงานของพุทธทาสภิกขุ ที่จัดขึ้นบริเวณหน้าหอประชุมก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ

นอกจากนี้ ในช่วงเช้าวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำคณะข้าราชการและประชาชนตักบาตรสาธิตแบบครั้งพุทธกาล ที่บริเวณลานหินโค้งจำลอง ที่พุทธมณฑล เพื่อเป็นการรำลึกถึงท่านพุทธทาสภิกขุ ในโอกาสวันล้ออายุ โดยภายหลังจากการตักบาตรสาธิตแบบครั้งพุทธกาล ได้มีการสวดมนต์แบบสวนโมกข์ การฟังเทปคำบรรยายธรรมะชุดปณิธาน 3 ของท่านพุทธทาสภิกขุและการกล่าวสุนทรกถาของผู้แทนศาสนาอิสลาม คริสต์ พราหมณ์-ฮินดู ซิกข์

นอกจากนี้ในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม 2549 มีการบรรยายพิเศษหัวข้อ พุทธทาสที่ข้าพเจ้ารู้จัก โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ซึ่งได้กล่าวถึงปณิธานของท่านพุทธทาสในเรื่องของบริโภคนิยม วัตถุนิยมและเงินนิยม ต่อจากน้นมีการอภิปรายเรื่อง ธรรมะตามวิถี วัตถุนิยมและเงินนิยม ต่อจากนั้นมีการอภิปรายเรื่อง ธรรมะและเข้าใจหลักธรรมของท่านพุทธทาสอย่างลึกซึ้ง อาทิ พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นายเสฐียรพงษ์ วรรณปก นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช โดยมีนางชมัยภร แสงกระจ่าง เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

ในช่วงบ่ายมีการอภิปรายเรื่อง จะสืบสานปณิธานพุทธทาสภิกขุได้อย่างไร โดยผู้ทรงคุณวุฒิคือแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต นางสาวอรศรี งามวิทยาพงษ์ และนายสันติสุข โสภณสิริ และมีนางสาวช่อผกา วิริยานนท์ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย มีผู้สนใจรับฟังเป็นจำนวนมาก

ระหว่างการอภิปราย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ได้เดินทางมาเข้าร่วมงานมหกรรมครั้งนี้ด้วยและหลังการอภิปรายได้แสดงธรรม โดยกล่าวเชิดชูท่านพุทธทาสภิกขุและเล่าถึงประสบการณ์ของท่านที่ได้แลกเปลี่ยนแนวทางหลักธรรมและปรัชญากับท่านพุทธทาสภิกขุ เมื่อครั้งท่านพุทธทาสภิกขุยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ได้กล่าวย้ำถึงการออกจากอำนาจวัตถุนิยมตามปณิธานข้อ 3 ของท่านพุทธทาสภิกขุ หลังจากนั้นได้อวยพรให้ผู้เข้าร่วมงานมหกรรมฯ ทุกคนประพฤติตนเป็นคนดีตามคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุที่ว่า คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง

ในระหว่างงานมหกรรมครั้งนี้ยังได้มีการจัดกิจกรรมคู่ขนานที่สำคัญ ควบคู่ด้วย คือ การประชุมปฏิบัติการสำหรับครู เรื่อง การสอนพุทธศาสนาในโรงเรียน มีครูจากเขตพื้นที่การศึกษาในกรุงเทพฯและปริมณฑลใกล้เคียงมาร่วมงานวันละประมาณ 1,000 คน และมีการจัดค่ายยุวชนสมานฉันท์ ประกอบด้วยนักเรียนที่เป็นตัวแทนจากศาสนาอิสลาม พุทธ คริสต์ พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ จำนวน 125 คนมาเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน และทำความเข้าใจระหว่างศาสนาเพื่อเป็นการปลูกฝังแนวคิดตามปณิธานข้อ 2ของท่านพุทธทาสภิกขุ สำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคม

นอกจากกิจกรรมข้างต้นแล้ว มีการจัดจำหน่ายแสตมป์ที่ระลึก 100 ปีพุทธทาสภิกขุ การจำหน่ายหนังสือธรรมะและหนังสือคำสอนของพุทธทาส การแสดงละครธรรมะที่นอกจากจะให้ความบัเทิงแล้วยังแฝงด้วยการให้ข้อคิดเชิงปรัชญาในการดำรงชีวิตตามแนวทางของศาสนาพุทธ
สำหรับงานมหกรรมพุทธทาสภิกขุ ครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมเริ่มต้นของการเฉลิมฉลอง 100 ปีพุทธทาสภิกขุ ซึ่งภายหลังจากงานมหรรมครั้งนี้ คณะอนุกรรมการจัดงาน 100 ปีพุทธทาสภิกขุ จะได้ดำเนินกิจกรรมอื่นๆ อีกเพื่อเป็นการสืบสานปณิธานพุทธทาสภิกขุในโอกาสครบรอบชาตกาล 100 ปีของท่าน และองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญโลกคนหนึ่งที่ควรได้รับการยกย่อง

http://www.bic.moe.go.th/th/index.php?option=com_content&view=article&id=124&Itemid=76

. . . . . . .