วิวาทะคึกฤทธิ์-พุทธทาสภิกขุ เรื่องจิตว่าง

วิวาทะคึกฤทธิ์-พุทธทาสภิกขุ เรื่องจิตว่าง

วิวาทะคึกฤทธิ์-พุทธทาสภิกขุ

เสียดายว่าทุกวันนี้บรรยากาศวิวาทะอย่างสร้างสรรค์ด้วยปัญญาเช่นนี้ไม่มีให้เห็นและฟังเท่าไหร่…ไป “สัปดาห์หนังสือ” ได้หนังสือเก่าที่บันทึกการอภิปรายร่วมกันระหว่างท่านพุทธทาสภิกขุกับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชที่หอประชุมคุรุสภา, เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๗ (๔๓ ปีมาแล้ว) ว่าด้วยวิวาทะของสองปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสังคมไทยสมัยนั้น, ก็ให้เห็นความขาดแคลนเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างตรงไปตรงมา (โดยไม่ต้องฟาดฟันกัน, แยกพวกแยกเหล่ากัน) ของปัจจุบันยิ่งนักยิ่งทำให้เห็นว่าสาเหตุแห่งความวิบัติของสังคมไทยวันนี้เป็นเพราะขาดความเคารพในสติปัญญาของกันและกัน, การไม่พยายามทำให้เข้าใจในความคิดที่แปลกแยก, มุ่งแต่จะทำลายกัน, สังคมจึงไร้ปัญญาอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้หนึ่งในประเด็นวิวาทะระหว่างท่านพุทธทาสกับ อ. คึกฤทธิ์วันนั้น คือเรื่อง “จิตว่าง” ซึ่งทำให้ผู้ฟังได้ทั้งความสนุก, ความรู้และกระตุ้นความคิดวิเคราะห์เรื่องศาสนาพุทธด้วยอย่างยิ่ง
ตอนหนึ่ง, ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวว่า

“….ที่เรียกว่าทำงานด้วยจิตว่างนั้นก็คือเราทำงานตามหน้าที่ของเรา ทุกอย่างทุกประการ ด้วยจิตที่ไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่มีความรู้สึกที่น้อมไปในทางที่มีตัวเราหรือของเรา และไม่มีความรู้สึกที่จะยึดมั่นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้ว่าเป็นตัวเราหรือของเรา อย่างนี้เรียกว่าทำงานด้วยจิตว่าง ว่างจากอะไร? ว่างจากความรู้สึกว่ามีตัวเราหรือของเรา ว่างจากความคิดเห็นแก่ตัวเอง เพราะตัวเรานั้นมันไม่ใช่เป็นตัวเราจริง มันเป็นเพียงมายา แต่อย่าดูถูกสิ่งที่เป็นเพียงมายานะ สิ่งที่เป็นมายานั้นมันให้รู้สึกดูเหมือนว่ามีตัวตน เป็นสิ่งเป็นก้อน เป็นอะไรจริง ๆ แต่ที่จริงนั้นเป็นเพียงมายาหรือเป็นเพียงความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิด ด้วยอวิชชา….”
อาจารย์คึกฤทธิ์ตอบว่า
“…ถ้าอยู่ในภิกขุภาวะ ก็คงได้ อย่างใต้เท้าว่า ไม่ขัดข้องอะไร ตั้งแต่ฟัง ๆ ใต้เท้ามา ก็เห็นว่าใต้เท้าแสดงสัจธรรมที่กว้างขวาง อย่างกับพระมหาสมุทร… พอถึงความมุ่งหมายของการพ้นทุกข์, คือการไม่ยึดมั่นถือมั่นการตัดอุปทานให้พ้นไป นั่นเป็นความจริงที่ไม่มีใคปฏิเสธได้ แต่พอมาถึงตอนที่ว่า ทำงานด้วยจิตว่าง ทำงานเพื่อความว่าง กินอาหารของความว่าง…อยู่ด้วยความว่าง ตอนนี้ฟังดูเหมือนอย่างว่าใต้เท้าพยายามเทน้ำในมหาสมุทรลงไปใส่ขันใบเล็ก ๆ มันใส่ไม่ลง มันล้นไปหมด…สัจธรรมที่ใต้เท้าประกาศนั้น มันเป็นเรื่องกว้างขวางใหญ่โตเหลือเกิน มันเป็นสภาพของจิตของพระอรหันต์ ชาวบ้านสามัญเขาทำมาหากินกันตามปกติ จะนำธรรมะที่ใหญ่โตนั้น ใส่ลงไปในถ้วยแก้วใบเล็กเท่านี้ ใส่ไปเท่าไหร่มันก็ไม่ลง คือถ้ายังทำงานอยู่แล้วจิตมันว่างไม่ได้ กระผมยังถือว่าอย่างนี้…”
อาจารย์พุทธทาสย้อนถามว่า
“…อาตมายังสงสัยอยู่นิดหนึ่ง ขอถามว่า ถ้าสมมติว่า เราเทน้ำทั้งมหาสมุทรลงไปในถังใบเล็ก ๆ นี้มันล้นได้ แต่ที่ม้นเหลืออยู่ในถังนั้นน่ะ มันเป็นน้ำอย่างเดียวกับที่ล้นไปหรือเปล่า?”
อาจารย์คึกฤทธิ์ตอบว่า
“เป็นน้ำอย่างเดียวกันครับ แต่ผลมันไม่เหมือนกัน ปริมาณมันไม่เหมือนกัน ถ้าใครฟังเรื่องนี้ไปแล้ว อย่างดีจริง ๆ ที่ “จิตว่าง” อย่างที่ใต้เท้าพูดนั้นมันก็ไม่ใช่จิตว่าง มันเป็นอุปาทานนั่นเอง แต่มันว่างจากกิเลสนิด ๆ หน่อย ๆ ท่านั้น พูดในทางตรรกวิทยา, มันไม่เข้า…ผลมีได้ทางปฏิบัตินั้นผมรับ, ถ้าเช่นนั้น ไม่ต้องเทศน์เรื่องนี้ก็ได้ เทศน์เรื่องการทำบุญกุศลทานกัน จนในที่สุดแม้แต่สอนกันง่าย ๆ ว่าทำบุญแล้วได้ขึ้นสวรรค์นี้ก็ได้ เป็นการให้ทำดีเหมือนกัน มานั่งพูดให้มันวกวนนอกลู่นอกทางไปทำไม? นี่ไม่ใช่แปลว่าใต้เท้านอกลู่นอกทางดอก คือว่าการเทศน์ให้คนทำดีอย่างธรรมดาสามัญ เขาก็มีอยู่…”
อาจารย์พุทธทาสตอบว่า
“…อาตมาว่าน่าจะลองไปคิดพิจารณาดู และลองพยายามทำดู ให้การพยายามทำนั่นแหละเป็นเครื่องวัดตัดสินว่าจะทำได้หรือไม่ได้เพียงใด เพราะว่าบางทีอาจจะได้ของวิเศษที่สุด เหมือนกับน้ำที่ขังอยู่ในถังใบเล็ก ๆ ที่เราเทให้ทั้งหมดมหาสมุทรก็ได้…อาตมามีความมุ่งหมายอย่างนี้ จึงขอฝากไว้ให้คิดต่อไปด้วย อาจจะเข้าใจไม่ได้วันนี้ แต่อาจจะเข้าใจได้ในวันนหน้า…”
ถ้าผมนั่งฟังอยู่ในหอประชุมคุรุสภาด้วยวันนั้น, ใส่คะแนนให้ทั้งสองปราชญ์ไม่ทันแน่…แต่แน่ใจว่ากลับบ้านแล้วก็ยังต้องคิดตามคำโต้แย้งของทั้งสองท่านจนวันนี้…
คนรุ่นใหม่ของสังคมไทยวันนี้ไม่มีโอกาสได้ฟังของดี ๆ อย่างนี้…น่าเสียดายมาก ๆ จริง ๆ

โดย สุทธิชัย หยุ่น จาก http://www.oknation.net/blog/

http://www.dek-d.com/board/view/2419940/

. . . . . . .