ตามรอยวิถีธรรม20 ปีมรณกาล ‘พุทธทาสภิกขุ’ (1)

ตามรอยวิถีธรรม20 ปีมรณกาล ‘พุทธทาสภิกขุ’ (1)

ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ — อาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน 2556 00:00:52 น.

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ ได้พาคณะสื่อมวลชนร่วมเดินทางตามรอยพระธรรม โกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือที่รู้จักในนาม พุทธทาสภิก “พุทธทาสภิกขุ” เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปีมรณกาล พ.ศ.2536-2556 ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

การเดินทางครั้งนี้เพื่อเยือนแผ่นดินถิ่นกำเนิดของ “พุทธทาสภิกขุ” พระสงฆ์ที่ยูเนสโกยกย่องให้ท่านเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ผู้มีแรงบันดาลใจธรรมะจากจุดเล็กๆ คือตัวเอง แล้วแผ่ขยายสู่ผู้คนหลายชาติ หลายศาสนา มีมรดกธรรมที่ฝากไว้มากมาย ผลงานหนังสือธรรมะที่ทุกวันนี้ก็ยังขายดีและเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ อาทิ คู่มือมนุษย์ ตัวกู-ของกู ตามรอยพระอรหันต์ อานาปานสติ ปฏิจจสมุปบาท ฯลฯ

โดยในวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 นี้ จะเป็นวันครบรอบ 20 ปีมรณภาพของท่าน คณะตามรอยจึงกลับไปยังไชยาเพื่อดูการเปลี่ยนแปลง และพาผู้คนมาสัมผัสสถานที่จริงที่ท่านเคยมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่เกิด เรียน บวช จนวาระสุดท้ายของชีวิต ว่าจากลูกชาวบ้านธรรมดาๆ กลายเป็นพระดีที่โลกยกย่องได้อย่างไร

นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์สุขภาพใจ กล่าวว่า “โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อสืบสานมรดกธรรมเพื่อให้ผู้คนได้หันกลับมาศึกษาธรรมตามแนวทางที่ท่านพุทธทาสเสนอไว้ และเพื่อให้คนได้ศึกษาธรรมะในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อแสดงความกตัญญู กตเวทิตาคุณต่อท่านพุทธทาส ผู้ถือเป็นครูของทุกคน และเพื่อร่วมสืบสานปณิธานพุทธทาสเข้าสู่ศตวรรษใหม่-ไม่ตายและเติบโต ตามแนวทางธรรมทานมูลนิธิ ผู้ดูแลสืบสาน”

หลักคิดของโครงการ “1.สุขภาพใจยึดหลักนำ เสนอปณิธานหรือผลงานของท่านพุทธทาสให้เป็นคำตอบได้ ทั้งในระดับบุคคล และในระดับสังคม เมื่อแต่ละคนมีธรรมะ เป็นคำตอบของชีวิต 2.สุขภาพใจ ไม่เชื่อว่าธรรมะเหมาะกับคนอายุมาก แต่ธรรมะเหมาะกับทุกคนทุกวัย 3.ประกาศความสุข ตามแนวทางท่านพุทธทาสอย่างเข้มแข็งและมีชีวิตชีวา 4.จะไม่เน้นการเฉลิมฉลอง ยกย่อง เชิดชู ตัวบุคคล แต่จะเน้นลึกไปที่ “ปณิธาน” หรือคำสอนของท่าน เมื่อเห็นคน ก็เห็นธรรม อย่างกับพุทธทาสไม่มีตาย”

สำหรับประวัติท่านพุทธทาสมีนามเดิมว่า เงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะ เมีย หรือวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2449 ในสกุลของพ่อค้า ที่ตลาดพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านพุทธทาสภิกขุเกิดในช่วงเวลาปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นพุมเรียงยังเป็นที่ตั้งของตัวเมืองไชยา หรือจังหวัดไชยา ก่อนที่จะกลายมาเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน

บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ เซี้ยง พานิช ประกอบอาชีพหลักคือการค้าขายของชำ บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุมีเชื้อสายจีน เนื่องจากปู่ของท่านพุทธทาสภิกขุอพยพจากมณฑลฮกเกี้ยนในประเทศจีน มาเป็นช่างเขียนภาพสีบนกระจกที่เมืองไชยา ย่าของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อส้มจีน ซึ่งเชื้อสายของย่าอพยพจากอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มาอยู่เมืองไชยาตั้งแต่สมัยต้นกรุง

รัตนโกสินทร์
แต่เดิมบิดาของท่านพุทธทาสภิกขุใช้แซ่โข่วหรือข่อ (หรือโค้ว ในสำเนียงแต้จิ๋ว) ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการจึงเปลี่ยนนามสกุลของบิดาท่านเป็นพานิช เพราะตอนนั้นมีเพียงครอบครัวของท่านเท่านั้นที่ทำการค้าขาย

งานอดิเรกที่รักยิ่งของบิดาท่านพุทธทาสภิกขุคืองานด้านช่างไม้ โดยในเวลาว่าง บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุจะทำการต่อเรือไม้เป็นอาชีพเสริม ซึ่งทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุสนใจ และชอบในงานด้านนี้ไปด้วย แม้ที่สวนโมกขพลาราม งานไม้ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการทำกันเองของคณะสงฆ์ นอกจากนี้ บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุยังมีความสามารถในทางกวี ซึ่งความสามารถด้านนี้ส่งอิทธิพลต่อท่านพุทธทาสภิกขุเป็นอย่างมาก โดยผลงานธรรมะของท่านพุทธทาสภิกขุส่วนหนึ่งได้ประพันธ์ไว้ในรูปร้อยกรอง ซึ่งมีความ

ไพเราะ และดึงดูดใจให้คนทั้งหลายเข้าถึงเนื้อหาธรรมะได้ง่ายขึ้น
มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ เคลื่อน พานิช เกิดที่อำเภอท่าฉาง ตาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อเล่ง มียศเป็นขุนสิทธิสาร ปกครองหัวเมืองกระแดะ หรืออำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน ครอบครัวของตายายมีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา และมีการปฏิบัติสมาธิภาวนากันภายในบ้านเรือน ทำให้มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ซึ่งความศรัทธาในพระพุทธศาสนานี้ได้ส่งต่อมาที่บุตร และหล่อหลอมให้เด็กชายเงื่อม พานิช กลายเป็นท่านพุทธทาสภิกขุในเวลาต่อมา

ท่านพุทธทาสภิกขุมีน้องสองคน ซึ่งมีอายุห่างจากท่านพุทธทาสภิกขุ 3 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ น้องคนโตเป็นชาย ชื่อ ยี่เกย พานิช ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ธรรมทาส พานิช และได้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทานในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และสนองงานของท่านพุทธทาสภิกขุ ส่วนน้องสาวคนสุดท้องของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ กิม ซ้อย พานิช ซึ่งภายหลังแต่งงานไปอยู่บ้านดอนและใช้นามสกุลสามีว่า เหมะกุล

ชีวิตวัยเยาว์ ท่านพุทธทาสภิกขุเมื่ออายุได้ 8 ขวบ บิดามารดาได้พาท่านพุทธทาสภิกขุไปฝากตัวเป็นเด็กวัดที่วัดพุมเรียง หรือวัดใหม่ ซึ่งเป็นวัดที่คนในสกุลพานิชเคยบวชสืบต่อกันมา โดยในสมัยก่อนที่จะมีโรงเรียนนั้น พ่อแม่มักจะให้ลูกชายได้อยู่ที่วัด เพื่อที่จะให้ได้รับการศึกษาขั้นต้นตามแบบโบราณ รวมทั้งจะได้มีการคุ้นเคยกับพระพุทธศาสนา และได้ฝึกหัดการอาชีพต่างๆ ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าถึงชีวิตช่วงที่ตนเองอยู่วัดเอาไว้ว่า

“ผมออกจากบ้านไปอยู่วัดเมื่ออายุ 8-9-10 เรียนหนังสือ ก ข ก กา กระทั่ง มูลบทบรรพกิจกันที่วัด อายุ 11 ปีได้เวลาไปโรงเรียนแล้วถึงกลับมาอยู่บ้าน สมัยก่อนมันเป็นธรรมเนียมเด็กชายต้องอยู่วัดกันทั้งนั้น แต่ละวัดมีเด็กเป็นฝูง จะไปอยู่วัดก็มีดอกไม้ธูปเทียนไปฝากตัวเป็นศิษย์พระ ทางวัดเขาก็จะมอบหน้าที่ให้อาจารย์องค์หนึ่งหรือสององค์ให้คอยดูแลเรื่องอาหารการกิน คอยควบคุมให้เด็กมันได้กินกันเป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วให้มันได้เรียนหนังสือ ได้รับการอบรมอะไรบ้าง ในเรื่องไหว้พระสวดมนต์เรื่องอุปัฏฐากพระ เป็นเวรผลัดกันตักน้ำ ขาดไม่ได้ ทำสวนครัวริมสระ ยกร่องปลูกมัน ทำกันทั้งนั้น อาหารนั้นข้าวก็ได้จากบิณฑบาต ส่วนแกงนี่ทางบ้านเขาจะส่งเป็นหม้อเขียวๆ ของบ้านใคร เด็กคนนั้นก็ไปเอามา หม้อแกงจึงมีมาก ข้าวก็พอฉัน แกงก็พอ บ้านพุมเรียง ข้าวปลามันอุดมสมบูรณ์”

การได้อยู่วัดทำให้ความรู้เรื่องยาโบราณและยาสมุนไพรของท่านพุทธทาสภิกขุกว้างขวางขึ้น นอกจากนี้ท่านยังได้ถูกหัดให้ชกมวย เนื่องจากเมืองไชยาเป็นแหล่งมวยที่มีชื่อเสียง ส่วนการละเล่นของเด็กวัดก็เป็นการละเล่นทั่วไป มีการละเล่นหนึ่งที่เด็กวัดจะนั่งรวมกลุ่มแล้วผลัดกันเล่าเรื่อง ซึ่งต้องเล่าให้ดี มิฉะนั้นจะถูกติถูกค้าน เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าไว้ว่า

“คือพอมานั่งรวมกลุ่มกัน ไอ้เด็กคนที่เป็นหัวโจกหน่อย มันก็จะตั้งประเด็นขึ้น เช่น เอ้า วันนี้เรามาพูดเรื่องหุงข้าว ใครจะเล่าก่อน ส่วนมากพวกที่อาสาก่อนมันก็จะเป็นพวกที่ฉลาดน้อยกว่าคนอื่น มันก็ต้องเล่าวิธีที่หุงข้าวว่าทำอย่างไร เด็กทั้งหลายก็คอยฟัง ถ้าคนเริ่มต้นมันเป็นคนโง่ๆ หน่อย มันอาจจะเริ่มต้นว่า “กูก็เอาข้าวสารใส่หม้อ ตั้งบนไฟ”

เด็กนอกนั้นมันก็จะชวนกันค้านว่า “มึงยังไม่ได้เข้าไปในครัวสักที จะทำได้ยังไงล่ะ” อย่างนี้เป็นต้น หรืออาจจะมีสอดว่า “มึงยังไม่ได้ก่อไฟสักที” ถ้ามีช่องให้ซักค้านได้มากๆ มันก็ต้องให้คนอื่นเป็นคนเล่า เวลาถูกค้านได้ทีก็จะเฮกันที มันอาจจะละเอียดถึงขั้นว่ายังไม่ได้เปิดประตูแล้วจะเข้าไปในครัวได้อย่างไร หรือยังไม่ได้หยิบขันมันจะตักน้ำได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น

ในที่สุดมันจะต้องได้เล่าถึงขั้นตอนทุกขั้นตอน จนไม่มีอะไรบกพร่อง เหมือนกับการบรรยายของนักประพันธ์ละเอียดถี่ยิบไปหมด เพราะคนค้านมันมีมาก มันก็ค้านได้มาก มันเป็นการฝึกความละเอียดลออถี่ถ้วน ฝึกการใช้ลอจิก คนฉลาดมันมักจะเป็นคนเล่าคนหลังๆ ที่สามารถเล่าได้ละเอียดโดยไม่มีใครค้านได้”.

http://www.ryt9.com/s/tpd/1667516

. . . . . . .