การศึกษาของโลกปัจจุบัน พุทธทาสภิกขุ

การศึกษาของโลกปัจจุบัน พุทธทาสภิกขุ
บรรยายอบรมกลุ่มนิสิต นักศึกษา บวชภาคฤดูร้อน
ณ สวนโมกขพลาราม ไชยา
**********

๑๒ เมษายน ๒๕๑๒ วันนี้ สำหรับพวกเราได้ล่วงมาถึง ๕.๐๐ น. แล้ว จะได้พูดถึงถึงเรื่องบรมธรรมต่อไป คือจะพูดถึง “บรมธรรมกับการศึกษาของโลกในสมัยปัจจุบัน”. ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องนั้น ก็อยากจะพูดเป็นพิเศษในข้อที่ให้สังเกตเห็นสิ่งที่เรียกว่า อุปสรรคต่อการลุถึงบรมธรรมว่าถ้ามันจะมีขึ้นในโลกสมัยนี้ ก็เพราะอะไรๆ ในโลกสมัยนี้ มีการจัดการทำอย่างไม่ตรงกับความมุ่งหมายของบรมธรรมนั่นเอง.

อาทิ เช่นการศึกษา การเมือง การเศรษฐกิจ หรือ อะไรก็ตาม ตกมาถึงสมัยนี้มันทำไปในลักษณะที่ไม่ตรงตามความมุ่งหมายของบรมธรรม และที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเหตุที่ว่า คนในโลกไม่สนใจต่อบรมธรรม และที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเหตุที่ว่า คนในโลกไม่สนใจต่อบรมธรรม จึงจัดทำสิ่งต่างๆ ไปในลักษณะที่ไม่ตรงต่อความมุ่งหมายของสิ่งที่เรียกว่า บรมธรรม อันเป็นของจำเป็นที่สุดสำหรับมนุษย์นั่นเอง.

มนุษย์ไม่สนใจต่อบรมธรรม ถึงกับไม่รู้จัก เพราะฉะนั้นการจัดการศึกษาเป็นต้น มันจึงไปกันคนละทาง ดังนั้นสิ่งเหล่านั้นเอง จึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการลุถึงบรมธรรมและก็มีอยู่หลายเรื่อง. สำหรับวันนี้เราจะพูดถึงเรื่อง การศึกษา ซึ่งจะได้พิจารณากันดูโดยละเอียด ในฐานะเป็นสิ่งที่ถือกันว่าสำคัญที่สุด เป็นรากฐานของสิ่งทั้งปวง.

การศึกษาขั้นพื้นฐานของโลกในสมัยนี้ หรือแผนการศึกษาทั้งหมดของโลกสมัยนี้ ไม่ได้รวมสิ่งที่เรียกว่า บรมธรรม เข้าไว้ด้วย ขอให้สังเกตดู. เหมือนกับที่เราพูดถึงกันบ่อยๆ ว่าไม่มีการทำให้เด็กๆ รู้ว่า เกิดมาทำไม; ไม่มีหลักสูตรอะไรสอนให้เด็กๆ รู้ว่า เกิดมาทำไม; นั่นแหละ คือการที่ไม่รวมเอาเรื่องของบรมธรรมเข้ามาไว้ ในหลักสูตรของการศึกษา. เมื่อคนเราลงไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม มันก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน จะไปได้อะไรเป็นสิ่งสูงสุด. แผนการศึกษาสมัยนี้จึงไม่รวมเอาบรมธรรมแม้ที่เป็นจริยธรรมสากล หรือตามหลักจริยธรรมสากลที่เราพูดถึงกัน ๔ อย่างว่า ความสุข, ความเต็มของความเป็นมนุษย์, หน้าที่เพื่อหน้าที่, ความรักสากล; ก็ไม่ได้เอาสิ่งเหล่านี้มาพูดถึงในฐานะเป็นวัตถุประสงค์ของการศึกษาเลย.

เขาเอาอะไรเป็นวัตถุประสงค์ของการศึกษา? ได้ยินเขาพูดกัน หรือถึงกับยึดถือเป็นหลักว่า Education for survival การศึกษานี้เพื่อการอยู่รอด. การศึกษานี้เพื่อการมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้; ฟังดูให้ดีว่ามันเป็นอย่างไร? มันมีกลิ่นไอของคนขี้ขลาด ของคนกลัวตาย หรือของคนอะไรทำนองนั้น. คำว่าอยู่รอดได้ นี้มันไม่ได้หมายความว่าได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ เพราะฉะนั้นอุดมคติของการศึกษาที่ว่าเพื่ออยู่รอดนั้นเป็นเรื่องของคนขี้ขลาด; แล้วยังไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ว่าจะไปเอาอะไรกันที่ไหนในที่สุด. ผมไม่บูชาอุดมคติเพียงแต่ว่า เอาตัวรอดเป็นยอดดี ทำนองนี้.

อุดมคติอันนี้ ก็ยังสู้อุดมคติทางชีววิทยาไม่ได้เสียอีก. ชีววิทยา ถือว่า The fittest the survival – ที่เหมาะสมนั้นแหละที่จะอยู่รอด -คือสิ่งที่จะอยู่รอด. มันยังชี้ระบุชัดลงไปว่าต้องประพฤติกระทำทุกอย่าง ให้มีความเหมาะสม ที่จะอยู่ในโลกมันจึงจะอยู่รอด. ดังนั้นถ้าถือตามหลักชีววิทยา การศึกษาก็คือ การทำให้เหมาะสมที่จะอยู่ในโลก; นี่ยังชัดเจนกว่า. แต่แล้วมันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการมีชีวิตอยู่รอดตามทางของวัตถุ เพราะชีววิทยาเขาหมายถึงเรื่องทางวัตถุ เรื่องทางรูปธรรม. เพราะฉะนั้น การที่ให้การศึกษามีความมุ่งหมายแต่เพียงมีชีวิตอยู่รอดนี้ ผมว่ามีนน่าหวัว เป็นเรื่องของเด็กๆ หรือเรื่องของคนขลาด.

ความอยู่รอดที่พูดถึงนั้น หมายแต่ทางวัตถุทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่มีบรมธรรม ซึ่งเป็นการอยู่รอดทางวิญญาณทาง spiritual; มันไม่มีการอยู่รอดทางวิญญาณ คือที่วิญญาณจะรอดไป ไม่มีสิ่งซึ่งทำให้วิญญาณจะรอดไปจากสิ่งซึ่งเป็นมารเป็นซาตาน อะไรทำนองนี้. ที่ว่าไม่ตาย มีชีวิตอยู่รอดได้นั้นมันเป็นเรื่องอยู่รอดทางวัตถุ ไม่ได้อยู่รอดทางวิญญาณ. ขอให้จำคำ ๒ คำนี้ไว้ให้ดีตลอดไป และให้นึกถึงมันอยู่เสมอ ว่าทางวัตถุ กับทางวิญญาณ ซึ่งไม่ใช่สิ่งเดียวกัน.

ผมอยากจะพูดว่า การศึกษานั้น เพื่อการประหารเสียซึ่งสัญชาตญาณอย่างสัตว์: Education for subduing the animal – instinct. ถ้าไปพูดกะเขาบ้าง ก็จะพูดอย่างนี้ หรือถ้ามีใครพูดอยู่อย่างนี้ ก็เห็นด้วยเต็มที่. การศึกษาเพื่อจะปราบปรามเสียซึ่งสัญชาติญาณอย่างสัตว์ คือ animal instinct. เพราะว่าสัญชาตญาณอย่างสัตว์นี้แหละ คืออันตราย: มันไม่ตาย มันรอดชีวิตอยู่ได้ แต่มันมีสัญชาตญาณอย่างสัตว์ ทำไปตามความรู้สึกอย่างสัตว์ เหมือนสัตว์เดรัจฉานทั่วไป ซึ่งมันรอดอยู่ได้ มีการสืบพันธุ์ไม่ให้สูญ แล้วก็ป้องกันอันตรายได้ มีอาหารกิน ไม่ตาย เพียงแค่นั้น.

ลองคิดดูเถอะว่า เด็กๆ เพิ่งคลอดออกมาจากท้องแม่นี้ยังเต็มไปด้วยสัญชาตญาณอย่างสัตว์ แล้วก็โตขึ้นมาในลักษณะอย่างนั้น ก็เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว. ที่นี้สติปัญญาอย่างมนุษย์มันงอกงามขึ้นมาๆ มันก็เพิ่มสมรรถภาพให้แก่ ความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นความเห็นแก่ตัวของมนุษย์จึงร้ายกาจมาก เป็นผลของ animal instinct; ไม่มี Human Conpuct โดยกำเนิดหรือโดยธรรมชาติได้ คือว่าไม่มีการกระทำที่เป็นผลของการศึกษาอย่างมนุษย์ที่มีใจสูงได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาของเราก็ควรมุ่งที่จะประหัตประหารสัญชาตญาณอย่างสัตว์นั้นให้สิ้นไป ให้มีการประพฤติกระทำอย่างมนุษย์ที่มีใจสูงเกิดขึ้นแทน.

ตรงนี้อย่าลืมความหมายของคำว่า “มนุษย์” ซึ่งสรุปสั้นๆ ว่า “ใจสูง” คำว่า มนุษย์ แปลว่า ใจสูง คือหมายความว่ามันสูงไปกว่าที่จะปล่อยไปตามสัญชาตญาณของสัตว์. แม้ว่าปทานุกรมในอินเดีย จะมีว่ามนุษย์คือลูกหลานของพระมนูอย่างนี้ก็ตาม คำว่าพระมนู ก็หมายถึงคนที่มีใจสูงสุดของมนุษย์ ฉะนั้นต้องมีความเป็นมนุษย์ตรงที่จิตใจสูง แล้วการศึกษาก็ต้องเพื่อสิ่งนี้

ทีนี้การที่จะให้มีจิตใจสูง เพื่อทำลายสัญชาตญาณอย่างสัตว์เสียได้นั้น เรามีวิธีปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงแต่เล่าเรียนเหมือนกะที่กล่าวแล้วหลายครั้งหลายหน ว่าการศึกษาในพุทธศาสนานี้ หมายถึง training เป็นอย่างน้อย คือการกระทำลงไปจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ศึกษาเล่าเรียน. แล้วก็ยังแยกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายที่จะต้องละมัน หมายถึงการข่มกิเลส หรือข่มชี่ความรู้สึกของสัญชาตญาณอย่างสัตว์ ส่วนที่เป็นความรู้สึกฝ่ายต่ำข่มขี่มัน; แล้วก็พัฒนามันในส่วนที่มันเป็น ความดี ความงาม ความถูกต้อง ที่จะเป็นบรมธรรมต่อไปข้างหน้า พร้อมกันไปในขณะเดียวกัน.

นี่ เมื่อรวมกันเข้า ก็คือการกระทำเพื่อปราบปรามส่วนที่ควรปราบปราม พอกพูนส่วนที่ควรพอกพูน พร้อมกันไปด้วยการกระทำจริงๆ นี่เราจึงเรียกว่า การศึกษา. แล้วการศึกษาก็เพื่อกระทำให้หมดสิ้นซึ่งสัญชาตญาณอย่างสัตว์. ผมเห็นว่าการศึกษา ควรจะมีอุดมคติอย่างนี้.

ที่นี้ถ้าจะพูดอย่างผลของมัน การศึกษาก็ต้องเพื่อมนุษย์ได้สิ่งที่ดีที่มนุษย์ควรจะได้. การทำลายเสียซึ่งสัญชาตญาณอย่างสัตว์ จะทำให้มนุษย์ได้รับผล คือการได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ คือบรมธรรม; ไม่ใช่ได้เพียงแต่ความรอดอยู่ได้ รอดชีวิตอยู่ได้ อย่างนั้นมันคนขลาดเป็นเรื่องของเด็กๆ.

เราควรจะยุติกันว่า การศึกษานี้เพื่อมนุษย์จะมีโอกาสได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ โดยการทำลายเสียซึ่งสัญชาตญาณอย่างสัตว์ แล้วมีการประพฤติกระทำอย่างมนุษย์ที่มีใจสูงโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่เพียงเพื่อรอดอยู่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาของคนสมัยนี้ ขี้ขลาดและกลัวกันมาก กลัวจนทำอะไรไม่ถูก.

การศึกษาแผนปัจจุบันของโลก, ในทีนี้ก็อยากจะระบุของพวกฝรั่ง, เพราะการศึกษาส่วนใหญ่ของโลกนั้นเดินตามแผนของพวกฝรั่ง พูดว่าการศึกษาของพวกฝรั่งจะถูกกว่า. พวกนี้เอาเรื่องศีลธรรม เอาเรื่องศาสนาออกไปจากปทานุกรม ยิ่งขึ้นทุกที เอนไซโคลปิเดียชุดใหม่ ชุดละ ๑๒ เล่มใหญ่ๆสำหรับเด็ก ของบริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษ ในการที่เขาทำเอนไซโคลปิเดีย คุณไปค้นดูเถอะไม่มีคำว่า Moral, morality, Religion ในปทานุกรมชุดนั้น.

นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะสังเกตดูสังเกตเห็นว่ามันเป็นอย่างไรกัน. มองดูด้วยเจตนาดีที่สุดแล้ว ก็มองเห็นว่าเขากำลังแยกออกจากกัน ถ้าใครจะสนใจเรื่องศาสนา เรื่องศีลธรรม ก็ให้ไปค้นคว้าเอาเอง เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก จากส่วนพื้นฐานหรือส่วนใหญ่. แต่ที่เขามีไว้นั้นเป็นเรื่องวัตถุทั้งนั้น แล้วแถมยังมีคำว่า Communism อะไรอย่างละเอียดหลายหน้า นี่ก็เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ส่วนที่มันจะเป็นที่พึ่งได้ คือ เรื่องศาสนา เรื่องพระเจ้า เรื่องศีลธรรม กลับไม่มีในปทานุกรม นี้ก็แปลว่าเด็กๆ ไม่ต้องรู้จักสิ่งเล่านี้กัน หรือยุวชนนั้นไม่มีโอกาสที่จะรู้จักสิ่งเหล่านี้ รู้จักแต่สิ่งที่เป็นวัตถุสิ่งยั่วยวนให้หลงใหลในวัตถุ นี้มันกันละเอียดละออ มากมายเต็มไปทั้งนั้น; พร้อมทั้งสิ่งที่เขากลัว คือคอมมูนิสม ซึ่งก็เป็นเรื่องทางวัตถุ เป็นเรื่องแย่งชิงวัตถุ ต่อสู้กันทางวัตถุ.

นั่นแหละ ขี้ขลาดจนทำอะไรไม่ถูกเห็นไหม? ความกลัวความขลาดมันมาก จนทำอะไรไม่ถูก จนทำอะไรไม่ถูก จนทำไปในทางที่จะช่วยตัวไม่ได้. การศึกษาแผนปัจจุบันของโลก เลยเป็นเรื่องของวัตถุไปหมด แล้วก็เป็นวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการเป็นอยู่ของคนที่อยากจะกินดี – อยู่ดี หรือว่าวัตถุที่จะเป็นปัจจัยของสงคราม เป็นเรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจอะไร ก็หมุนไปแต่ในเรื่องทางวัตถุ ให้ได้มาซึ่งวัตถุ เพื่อเป็นปัจจัยของสงคราม เพื่อจะแย่งชิงวัตถุของกันและกัน. นี่เป็นสิ่งที่มากมายมหึมาเป็นภูเขาเลากา ก็แต่เรื่องวัตถุทั้งนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องวัตถุทั้งนั้น การศึกษาถูกกระทำให้เป็นไปเพื่อเป็นทาสของวัตถุ แต่ในลักษณะอย่างนี้. นี่คือการศึกษาแผนใหม่ มีความมุ่งหมายอย่างนี้ มีรากฐานอย่างที่มีการกระทำอย่างนี้.

การศึกษาของพวกพุทธบริษัทแต่กาลก่อนไม่เป็นอย่างนี้ต้องขอใช้คำว่า “ของพวกพุทธบริษัทแต่กาลก่อน” ในประเทศของพวกพุทธบริษัทแต่กาลก่อน ไม่มีอุดมคติอย่างนี้. ที่นี้พวกพุทธบริษัทได้สูญเสียความเป็นพุทธบริษัทไป เป็นทาสความเจริญสมัยใหม่ มันจึงหมุนการศึกษาไปตามพวกฝรั่ง เรื่องทางจิตทางวิญญาณก็ค่อยๆ ละเลยไป เลือนไป จางไป จนไม่มีอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แยกเอาไปไว้เป็นแขนงนิดๆ เรียกว่าปรัญชา. แขนงปรัชญานี้ ก็ยังเป็นเรื่องทางปรัชญาไปทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติ เป็นความรู้สึกสำหรับคุยอวด ความเป็นนักปราชญ์ ไม่ใช่สำหรับการปฏิบัติ คือเป็นแขนงน้อยๆ ของทั้งหมด แล้วในที่สุด ก็ลากเอาปรัชญานั่นแหละวกกลับมาเป็นบริวารเป็นทาสทางวัตถุอีก ของการแสวงหาวัตถุอีก.

นี่แหละการศึกษาตกอยู่ในลักษณะที่น่าสมเพชอย่างนี้. เราพุทธบริษัทก็พลอยเป็นคนขี้ขลาด ขี้กลัว กลัวจนทำอะไรไม่ถูก เหมือนพวกฝรั่งไปด้วย. แล้วมีอาการที่น่าสังเวชเกิดขึ้นกับเด็กๆ ของเรา แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ ก็ต้องท่องรายการเกี่ยวกับเมืองฝรั่ง รู้เรื่องสถิติต่างๆ ของเมืองฝรั่งดีกว่าในเมืองไทย ไปดูเอาเองก็แล้วกัน เรียนวิชาประวัติศาสตร์ เรียนวิชาภูมิศาสตร์ท่องเรื่องของเมืองฝรั่ง หรือทั่วโลก จนกระทั่งไม่รู้ ว่าพระพุทธเจ้าเกิดที่ส่วนไหนของโลก. เด็กๆ ต้องท่องวิชาภูมิศาสตร์ เรื่องเกี่ยวกับโลกมากกว่าที่จะรู้ว่า พระพุทธเจ้าเกิดในส่วนไหนของโลก. เด็กๆ ของเราลืมตาขึ้นมาในโลกในลักษณะอย่างนี้ ลืมตาขึ้นมาในห้องซึ่งแขวนไว้แต่วัฒนธรรมของฝรั่งเด็กๆ ก็ มัวเมาในวัฒนธรรมฝรั่ง ยกหูชูหางในเมื่อได้มีอะไรที่แสดงว่าเป็นฝรั่งแม้กระทั่งการร้องเพลงฝรั่ง ก็เป็นที่นิยมในหมู่เด็กๆ ยิ่งกว่าการร้องเพลงไทย เต้นรำอย่างฝรั่ง ทำท่าทางฝรั่ง นุ่งห่มอย่างฝรั่ง. นี่มันโทษใครก็ไม่ได้ มันก็เป็นการโทษกรรม การกระทำที่หลงผิดไปทีละนิดๆๆ.

เด็กนักเรียนหญิง นิยมเพลงฝรั่ง ถึงกับร้องได้เหมือนฝรั่ง มีโปรแกรมวิทยุคราวพิเศษ ครั้งหนึ่ง ผมนั่งทนฟังอยู่จนตีหนึ่ง ตีสอง ตีสาม มันก็ยังร้องกันอยู่ได้ เพื่อจะอวดว่าเด็กหญิงคนนั้นร้องเพลงฝรั่ง เหมือนฝรั่งทั้งน้ำเสียง ทั้งอะไรทุกอย่าง ทั้งทำนอง ทั้งอะไรทั้งหมด. นี่เขาออกอากาศที่สถานีวิทยุแห่งหนึ่ง แล้วก็มีพวกเพื่อนทั้งหญิงทั้งชายคอยเชียร์ ว่าการร้อง ร้องได้ดีเหมือนฝรั่ง. นี่แหละ เขาบูชาการร้องเพลงได้เหมือนฝรั่งนี้ ยิ่งกว่าการศึกษา ยิ่งกว่าพระเจ้า ยิ่งกว่าอะไรหมด ซึ่งก่อนนี้ไม่เคยมีในหมู่เด็กไทยของเราอย่างนี้. แล้วคุณก็ลองสังเกตดูให้ดี ในรั้วมหาวิทยาลัยของคุณนั่นแหละ จะมีเด็กชนิดนี้อยู่มากน้อยเท่าไร คือบูชาความเป็นอย่างฝรั่งมากน้อยเท่าไร. เด็กผู้ชายก็เถอะ ระวังให้ดี ถ้ามันเผลอไปๆ ไปจนถึงกับนิยมวัตถุแล้ว มันก็จะต้องผสมโรงเข้าไปในฝูงเดียวกันคือฝูงของผู้ที่นิยมวัตถุ นิยมเนื้อหนัง นิยมอะไรๆ อย่างที่พวกฝรั่งเขาเป็นกันอยู่มาก; ซึ่งพุทธบริษัทชาวไทยไม่เคยเป็นแล้วก็สูญเสียสภาพอขงตนแล้วก็ค่อยเป็นๆๆ ไป ตามตัวอย่างนั้น.

เด็กฝรั่งนั้น เท่าที่ผมทราบ ที่ว่าได้รับการศึกษาตามแบบที่ว่าดีที่สุดของเขานั้น คือ ไม่มีครูบาอาจารย์เป็นประชาธิปไตยจนไม่มีครูบาอาจารย์. คำว่าครูบาอาจารย์ตามแบบไทย โดยเฉพาะตามแบบของพุทธบริษัทนี้ ครู คือผู้ยกวิญญาณของสัตว์โลก. คำว่า “ครู” นี้ อย่างน้อยก็เป็น spiritual – guide คือ เป็นมรรคุเทสก์ทางวิญญาณ. ครูที่เป็นครูอย่างเต็มที่ อย่างถูกต้อง ก็คือผู้ยกดวงวิญญาณของมนุษย์ให้สูงขึ้นมาๆ โดยวิธีต่างๆ ตั้งแต่ต้นจนปลาย. นี่ เราเรียกว่าครูบาอาจารย์มีพระคุณเหนือเกล้าเหนือเศียร มีพระคุณยิ่งกว่าบิดามารดา. เพราะว่าบิดา ยังไม่ได้ยกสถานะทางวิญญาณบิดาเพียงเป็นเพียงให้กำเนิดชีวิตมา และยกสถานะทางวิญญาณก็เป็นส่วนน้อย เพียงแต่เป็นพื้นฐานให้ครูบาอาจารย์ที่สำนักศึกษานั้น ยกต่อไป จนดวงวิญญาณของเด็ก ของเยาวชน ของคนนั้นสูงสุด เท่าที่มันจะสูงได้; นี้คือครูบาอาจารย์ ไม่ใช่เพื่อนไม่ใช่คนรับจ้างสอนหนังสือ.

เด็กสมัยใหม่ ในโรงเรียนสมัยใหม่ของโลกนั้น เขาให้เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้น ครูกับศิษย์เป็นเพื่อน หรือบางทีก็ยิ่งกว่าเพื่อน ล้อครูเล่นก็ได้ สไตร้ค์ครูเล่นก็ได้ ขนาดจุดประทัดโยนใส่ครูเล่นสนุกๆ ก็ได้ เขาให้ครูยอม เพื่อให้เด็กฟรี เพื่อให้เด็กเป็นอิสระ แล้วเป็นเพื่อนกันกับเด็ก อย่างนี้เรียกว่าไม่มีครูบาอาจารย์ มีแต่เพื่อน มีแต่ประชาธิปไตยชนิดที่เฟ้อ ประชาธิปไตยเฟ้อ. นี่ ขอภาวนาว่าอย่าได้มามีขึ้นในเมืองไทย ประเทศพุทธบริษัท ครูบาอาจารย์ ขอให้เป็นครูบาอาจารย์ มีพระคุณอยู่เหนือเกล้า เหนือเศียร.

ทีนี้สมัยนี้มันจะยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็คือว่ามันจะไม่มีบิดา มารดา. ในโรงเรียน ไม่ได้สอนพระเดชพระคุณของบิดา มารดา ไม่ได้ย้ำเรื่องนี้ เช่นเดียวกับไม่ได้ย้ำเรื่องพระคุณของครูบาอาจารย์. เด็กมันมีบิดามารดาเฉพาะที่ว่ามันจำเป็นจะต้องขออาหารกิน จะต้องได้อาหารกิน จะต้องได้เงินใช้; ไม่ใช่ขอด้วยซ้ำไป เด็กสมัยนี้จะไม่ก้มหัวลงกราบตีนพ่อแม่เพื่อขอเงินใช้ ขออาหารกิน เพราะเขาถูกอบรมให้เข้าใจไปว่าบิดามารดาต่างหาก มีหน้าที่ที่จะต้องให้เงินเขาใช้ ให้อาหารเขากิน. ที่พูดนี้จะเกินความจริงไปหรือไม่ ขอให้สังเกตดูให้ละเอียดในระบบการศึกษาแผนใหม่ที่เขาใช้ เขากระทำแก่เด็ก จนเด็กเกิดความรู้สึกว่า ถ้าบิดามารดาไม่ให้อาหารการกิน ไม่ให้เงินใช้ ไม่ให้การศึกษานั้น เป็นบิดามารดาที่บกพร่อง หรือใช้ไม่ได้ ไม่ใช่บิดามารดา.

บิดามารดามีหน้าที่แต่จะต้องตามใจลูกอย่างนั้น และก็ไม่มีพระคุณอะไร เพราะลูกเกิดออกมาโดยความสนุกสนานของบิดามารดาทางกามารมณ์ เด็กๆ จะคิดเสียอย่างนั้น. เพราะฉะนั้นเขาเลยกลายเป็นเจ้าหนี้ เด็กๆ กลายเป็นเจ้าหนี้แก่บิดามารดา ฉะนั้นความรู้สึกที่จะยอมแก่บิดามารดาจะเคารพบูชาบิดามารดา อย่างเทพเจ้า อย่างพระพรหมนี้มันไม่มี. แต่ในวัฒนธรรมตะวันออกของเรา โดยเฉพาะพุทธศาสนานั้น ถือว่า “พรหมาติ มาตา ปิตโร – บิดา มารดา คือพระพรหมของลูก” นี่เป็นพระพุทธภาษิต คือ บิดามารดา เป็นพระพรหมของลูก เป็นทุกอย่าง, ที่นี้การศึกษาอย่างใหม่ มันไม่ทำให้เป็นอย่างนี้ มันทำให้บิดามารดาเป็นลุกหนี้ ต้องใช้หนี้ให้แก่ลูก ต้องให้เงินใช้ ให้การศึกษา กระทั่งตามใจในการที่จะแต่งงาน นี่คือวัฒนธรรมใหม่ๆ ซึ่งผมเรียกชื่อว่า วัฒนธรรมฝรั่ง.

คำว่า บิดามารดา ครูอาจารย์ ตามความหมายของพุทธบริษัทไทยโดยเฉพาะนี้ มันไม่เหมือนกับความหมายอย่างของพวกฝรั่ง หรือการศึกษาอย่างพวกฝรั่ง. วัฒนธรรมฝรั่งนั้น ถือความเป็นญาติเพียงชั่วคนสองคนเท่านั้น ไม่นับข้างหน้า ๗ ข้างหลัง ๗ อย่างวัฒนธรรมของพุทธบริษัท คุณเข้าใจไหม? ว่าพุทธบริษัทต้อนับความเป็นญาติเอาตัวเองเป็นจุดกลาง ถอยสูงไปถึงพ่อแม่, พ่อแม่ของพ่อแม่ พ่อแม่ของพ่อเม่ของพ่อแม่ ถอยไปข้างหลัง ๗ ชั้น แล้วไปข้างหน้าอีก ๗ ชั้น รวม ๑๔ ชั้น. ฝรั่งเขาจะนับกันแต่เพียงชั้นหนึ่งหรือสองชั้นเท่านั้น.

นี่คือความที่มันแตกต่างกันมากโดยทางวัฒนธรรม ฉะนั้นเด็กๆ ตามแบบฝรั่งแบบฟรีอย่างไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่มีบิดามารดา มันจึงไม่มีขอบเขต. นึกถึงเรื่องในหนังสือพิมพ์ที่อ่านเมื่อวานซืนอีกว่า มันนัดไปแก้ผ้ากันที่ฟลอริดา ที่หาดทราย หกหมื่นคน ตำรวจต้องใช้เฮลิคอปเตอร์มากมายในการปราบปราม ในการจับเอาไปหลายๆ ร้อยคนก็ยังหยุดมันไม่ได้.

นี่แหละ เด็กที่ฟรีตามแบบฝรั่ง และผลของการศึกษาในปัจจุบัน ทำให้เด็กๆ เหล่านั้นสมัครจะทำอย่างนั้นแล้วสูบกัญชาด้วย หมายความว่าพอใจในสิ่งมึนเมาของเสพติดด้วย. นี่การศึกษาชนิดนี้จะนำไปสู่บรมธรรมได้อย่างไร. ถ้าการศึกษาในโลกกำลังเป็นอย่างนี้มากขึ้นๆ มันก็ไม่มีหวังที่จะเจอะกันกับบรมธรรม. เพราะฉะนั้นเรียกว่าเด็กในมหาวิทยาลัย อย่าเรียกว่านิสิต นักศึกษาอะไรเลย เรียกว่าเด็กๆ อมมือ ในมหาวิทยาลัย จะถูกกว่า. เรียกด้วยคำว่า “เด็ก” นี้ถูกกว่า ถูกกว่าที่จะไปเรียกเป็นนิสิต นักศึกษาอะไรทำนองนั้น. แล้วสิ่งที่เรียกกันว่าฮิปปี้ หรือลัทธิของฮิปปี้นั้น ก็คือผลของการศึกษาสมัยนี้. เราจะพูดกันโดยละเอียด ว่าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในวันนี้จะพูดแต่ว่ามันเป็นผลของการศึกษาแบบสมัยปัจจุบัน ผลิตลัทธิฮิปปี้ออกมา.

อ่านต่อ หน้า ๒

คัดลอกจากหนังสือ : การศึกษาคืออะไร?
ชีวิตต้องเทียมด้วยควายสองตัว
จัดพิมพ์โดย :ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม
้http://www.kradandum.com

http://www.kradandum.com/dhumma/education_00.htm

. . . . . . .