แนวคิดทางการศึกษาของพุทธทาสภิกขุ

แนวคิดทางการศึกษาของพุทธทาสภิกขุ

พุทธทาสภิกขุ เป็นพระภิกษุที่เพียบพร้อมไปด้วยศีลาจารวัตรและภูมิปัญญาอันสูงยิ่งในสังคมไทย ท่านเป็นรูปหนึ่งที่รอบรู้ทางการศึกษาและมองเห็นข้อบกพร่องของการศึกษาของไทย และได้เรียกการศึกษาในโลกปัจจุบันว่า “การศึกษาหมาหางด้วน” พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปัญญาชนและผู้เกี่ยวข้องในด้านการศึกษาทุกท่านมาช่วยกันต่อหางสุนัข ท่านพุทธทาสมองว่าการศึกษาตามแบบปัจจุบันละเลยบทเรียนทางศีลธรรม การศึกษาที่ปราศจากการปลูกฝังจริยธรรม จึงเปรียบเหมือนสุนัขหางด้วนที่พยายามหลอกผู้อื่นว่า สุนัขหางด้วนเป็นสุนัขที่สวยงามกว่าสุนัขมีหาง ท่านจึงพยายามชี้ให้เห็นว่าสุนัขที่มีหางเป็นสุนัขที่สวยงาม การศึกษาจึงต้องเน้นบทเรียนทางศีลธรรม การศึกษาที่ไม่มีบทเรียนทางศีลธรรม ไม่เน้นภาคจริยศึกษา ย่อมไร้ประโยชน์ และอาจจะเป็นอันตรายต่อสังคมอีกด้วย[1]

ท่านพุทธทาสวิเคราะห์ว่า การศึกษาที่เอาแบบตะวันตกและมุ่งพัฒนาวัตถุนั้น เป็นการศึกษาที่เน้นความรู้เพื่อความรู้ ซึ่งมักให้ผลเป็นสภาพ “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” เป็นเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีเป็นปรัชญา เป็นหลักการใช้เหตุผล แต่ไม่มีประโยชน์ในทางปฏิบัติ ไม่สามารถแก้ปัญหาส่วนตัว ปัญหาสังคม และทำให้ผู้เรียนพ้นทุกข์ได้ แม้แต่การเรียนพุทธศาสนาในปัจจุบันก็เป็นการเรียนแบบปรัชญา ไม่ใช่เรียนแบบศาสนา เป็นการฝึกการคิดเหตุผล และการพลิกแพลงทางภูมิปัญญาแต่ไม่ทำให้เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง[2]

แม้แต่การศึกษาของบรรพชิต ท่านพุทธทาสก็เห็นว่าเป็นการศึกษาที่สูญเปล่า เช่น การศึกษาของสามเณร ก็มิได้มุ่งพัฒนาจิตตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สามเณรเองก็ต้องการศึกษาเช่นเดียวกับนักเรียนฆราวาส ให้มีความรู้แบบฆราวาส ระบบสามเณรจึงสูญเปล่าเช่นเดียวกับการศึกษาของคนโดยทั่วไป[3] ซึ่งสรุปได้ว่าตามทัศนะของท่านพุทธทาส ระบบการศึกษาของไทยมุ่งส่งเสริมกิเลสตัณหาของมนุษย์ หากจะเป็นประโยชน์บ้างก็เพียงทำให้ประกอบอาชีพและมีรายได้ ซึ่งก็ได้มาเพื่อจับจ่ายสนองกิเลสตัณหาของมนุษย์เท่านั้น มิได้เป็นไปเพื่อความก้าวหน้าทางสติปัญญาและเพื่อความเจริญของจิตใจ ดังที่ท่านได้กล่าวปรารภว่า

“ดูการศึกษาชั้นอนุบาล ดูการศึกษาชั้นประถม ดูการศึกษาชั้นมัธยม ดูการศึกษาชั้นวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือถ้ามันจะมีอีก เป็นบรมมหาวิทยาลัยอะไรก็ตามใจ มันก็เป็นเรื่องให้ลุ่มหลง ในเรื่องกิน กาม เกียรติ ทั้งนั้น อย่างดีก็ให้สามารถในอาชีพ ก็ได้อาชีพแล้ว ได้เงินแล้ว ให้ทำอะไร? ให้ไปบูชาเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ มันไม่มีอะไรมากไปกว่านี้”[4]

หลังจากที่ท่านได้วิจารณ์ระบบการศึกษาของโลกปัจจุบันแล้ว ท่านได้เสนอแนวทางการศึกษาที่ถูกต้อง อุดมการณ์ทางการศึกษาดังกล่าวอาจจะประมวลมาได้เป็นข้อๆ ดังนี้

๑. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องมีการพัฒนาจิตวิญญาณให้มีพลังสามารถควบคุมพลังทางวัตถุ ทางร่างกายได้ กล่าวคือ ชีวิตมนุษย์ต้องมีความสมดุลทั้งทางด้านความสามารถทางวัตถุ ทางวิชาชีพ และความมีปัญญาและคุณธรรม เปรียบเสมือนชีวิตที่เจริญก้าวหน้าและมีความสุขจะต้องเทียมด้วยควาย ๒ ตัว คือ ตัวรู้ และตัวแรง โดยมีตัวรู้นำตัวแรงไปในทางที่ถูกต้อง[5]

๒. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำลายสัญชาติญาณอย่างสัตว์ที่แฝงอยู่ในตัวมนุษย์ให้ได้ ท่านเห็นว่ามนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับสัญชาติญาณอย่างสัตว์ เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว สติปัญญาของมนุษย์ก็เป็นไปเพื่อความเห็นแก่ตัว ดังนั้น ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ร้ายกาจมาก “เพราะฉะนั้น การศึกษาของเราก็ควรมุ่งที่จะประหัตประหารสัญชาตญาณอย่างสัตว์นั้นให้สิ้นไป ให้มีการประพฤติกระทำอย่างมนุษย์ที่มีใจสูงเกิดขึ้นแทน”[6]

๓. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องให้มนุษย์ได้สิ่งที่ประเสริฐที่สุดที่มนุษย์ควรได้รับ นั่นก็คือ การสามารถควบคุมกิเลสตัณหาและพลังทางวัตถุได้ ท่านเห็นว่าตามอุดมคติของพุทธศาสนานิยมอุดมคติ คือ นิยมสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ โดยไม่คำนึงถึงว่าสิ่งนั้นมันจะกินได้หรือซื้ออะไรกินได้ หรือจะเป็นลาภสักการะหรือไม่ แม้เป็นนามธรรมแต่ก็ส่งผลทางจิตใจ “จิตใจสำคัญกว่าร่างกาย คือนำร่างกายให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของอุดมคติ”[7]

๔. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำให้ผู้ศึกษามีจิตใจรักความเป็นธรรม มีความสำนึกที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องและเพื่อธรรมะ “การศึกษานั้นเพื่อธรรม เพื่อบรมธรรม เพื่อธรรมาธิปไตย ให้ธรรมะครองโลก ฉะนั้น การศึกษานี้ไม่ใช่เพื่อความรอด หรือความเอาตัวรอดเป็นยอดดี”[8]

๕. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำลายความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นไปได้โดยวางแนวจริยศึกษา ให้สามารถน้อมนำผู้ศึกษาให้ควบคุมตนเองให้ได้ “จริยศึกษาต้องรีบทำลายความเห็นแก่ตัว อันนี้มันเป็นเมฆหมอกที่เข้ามากลบเกลื่อนหรือปิดบังตัวจริยศึกษา”[9]

๖. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องส่งเสริมให้ผู้ศึกษา มีปัญญาหยั่งรู้สามารถเข้าใจโลกและตนเองอย่างถูกต้อง จนสามารถพ้นทุกข์ได้ ท่านอธิบายว่า ปัญญาที่เป็นคุณสมบัติของจิตเดิมแท้ เรียกว่าโพธิ (ธาตุรู้)[10] ปัญญานี้ทำให้เกิดศีลธรรมของจิต ทำให้จิตมีระเบียบและอยู่ในสภาวะปกติ เพื่อให้บุคคลมีชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุข การศึกษาตามแนวนี้จึงต้องเน้นพุทธิศึกษาในแง่ที่ส่งเสริมปัญญาอย่างแท้จริง กล่าวคือ ทำให้ผู้ศึกษามีความรู้เรื่องที่สำคัญที่สุดของชีวิต[11]

๗. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำให้ผู้ศึกษามีความสำนึกในหน้าที่ ถ้าทวงสิทธิ์ก็ทวงเพื่อจะทำหน้าที่ ไม่ใช่ทวงเพื่อต้องการเรียกร้องจะเอานั้นเอานี่ และหน้าที่ก็จะต้องเป็นความถูกต้อง บริสุทธิ์ ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว และการศึกษาที่ถูกต้องจะต้องอาศัยครูในอุดมคติ ผู้ที่อุทิศตนเพื่อให้การศึกษาและสร้างเสริมคุณธรรมแก่ผู้เรียน ในหัวใจของครูอุดมคตินั้น จะต้องมีปัญญากับเมตตาเต็มแน่นอยู่ในหัวใจ ปัญญาคือวิชาความรู้ ความสามารถในหน้าที่ที่จะส่องสว่างให้กับศิษย์ นี้เรียกว่าปัญญาอย่างหนึ่ง เมตตาคือความรัก ความเอ็นดู กรุณาต่อศิษย์ของตนเหมือนว่าเป็นลูกของตน”[12]

เมื่อตั้งอุดมการณ์ทางการศึกษาให้ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ลำดับต่อไปก็ต้องดำเนินการสอนหรือระบบการศึกษาที่ถูกต้อง ตามทัศนะของท่านพุทธทาส เช่น

๑. ลักษณะการศึกษาที่ถูกต้อง จะต้องจัดให้มีพุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา ในความหมายที่แท้จริง พุทธิศึกษาจะต้องสอนความรู้เรื่องของชีวิตว่าเกิดมาทำไมโดยตรง จริยศึกษาจะต้องเน้นที่ความมีระเบียบวินัยของนักเรียน ของความเป็นมนุษย์ บทบาทหน้าที่ของชายหญิง ให้ผู้ศึกษาเพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรม เช่น มีความมัธยัสถ์ มีหิริโอตตัปปะ เป็นต้น พลศึกษาต้องพัฒนากำลังทางจิตเพื่อให้บังคับกำลังกายให้เดินไปถูกทาง กำลังทางจิตในพระพุทธศาสนาคือสมาธิ สมาธิในพระพุทธศาสนาจะต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ

๑) จิตสะอาด (pure หรือ clean) ได้แก่จิตที่ไม่เจือด้วยกิเลสและเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง

๒) จิตมั่นคงที่สุดหรือตั้งมั่นดี (Steady หรือ firm)

๓) จิตที่ว่องไวในหน้าที่ของมันอย่างที่สุด (Activeness) ส่วนหัตถศึกษาตามลักษณะที่ถูกต้อง จะต้องอาศัยพุทธิศึกษา จริยศึกษาและพลศึกษา ตามแนวดังกล่าวมาเป็นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญทางฝีมือและความสามารถในอาชีพอย่างแท้จริง[13]

๒. ลักษณะการศึกษาที่ถูกต้องจะต้องศึกษาให้เห็นความทุกข์ เหตุของทุกข์ และความดับทุกข์ ไม่ใช่ศึกษาแต่ภาคทฤษฎี แต่ต้องให้ผู้ศึกษาลงมือปฏิบัติให้เห็นจริงตามประสบการณ์ จะต้องเน้นการฝึกฝน การปฏิบัติมากกว่าภาคทฤษฎี ต้องเรียนชีวิต เรียนธรรมชาติ เรียนให้รู้จักตนเองเพื่อข่มกิเลสและสัญชาตญาณอย่างสัตว์ให้ได้ และพัฒนาคุณธรรมประจำใจให้งอกงามยิ่งขึ้น[14]

๓. ลักษณะการศึกษาที่ถูกต้องจะต้องให้ผู้ศึกษารู้จักศาสตร์ของพุทธบริษัทให้ถูกต้อง ศาสตร์ในที่นี้แปลว่าเครื่องตัด หมายถึงตัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อความเจริญหรือตัดความโง่เขลา ซึ่งในที่สุดก็จะเหลือความจริง ความดี ความงาม ความถูกต้องและความยุติธรรม ศาสตร์ของพุทธบริษัทมี ๓ ศาสตร์ คือ พุทธศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และ สังคมศาสตร์[15] ศาสตร์ทั้งสามนี้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์นั่นเอง ทำให้บุคคลสามารถอยู่อย่างสันติสุข และอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างสงบสุขทั้งกลุ่ม ลักษณะการศึกษาที่ถูกต้องตามแนวคิดท่านพุทธทาส สรุปได้ว่า “ขอให้ทุกคนถือว่า มีมหาวิทยาลัยในร่างกาย จงเข้ามหาวิทยาลัยนี้กันทุกคน ด้วยการเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าผู้สั่งสอนเพื่อให้ได้มาซึ่งบรมธรรม เพื่อให้มนุษย์กล่าวได้ว่ามนุษย์ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ไม่เสียทีที่เกิดเป็นมนุษย์เลย แล้วก็พยายามให้เป็นเรื่องของการปฏิบัติอยู่เรื่อยไป อย่าให้เป็นเรื่องเพ้อทางปริยัติ หรือทางหลักวิชามากไป”[16]

การศึกษาตามแนวที่ท่านพุทธทาสเสนอไว้นั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ศึกษา คือ

๑. ทำให้มีความสำนึกในบุญคุณของชาติ เพราะมีหลักสังฆศาสตร์ อันทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสามัคคีกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทำให้เห็นความสำคัญของความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะมีการฝึกฝนให้สำนึกในหน้าที่

๒.ทำให้พ้นทุกข์ได้ เพราะมีสัมมาทิฏฐิ เนื่องจากไม่ยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ในความเห็นแก่ตัวแต่ถ่ายเดียว ทำให้ได้ประโยชน์จากความถูกต้องดีงาม เพราะไม่เป็นทาสของกิเลสตัณหา และทำให้เห็นคุณค่าของศาสนาในการแก้ปัญหาทางใจ และทำให้ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่ได้อย่างเต็มที่ เพราะมีปัญญาและคุณธรรมทางจิตเป็นผู้ควบคุม

๓. ทำให้มองเห็นความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ตามกฎแห่งกรรม จึงไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม ทำให้รู้จักแยกความแตกต่างระหว่างความหมายอันแท้จริงและความหมายที่ชาวโลกทั่วไปใช้กัน กล่าวคือ ภาษาธรรมกับภาษาคน เพื่อให้เข้าใจโลกตามความเป็นจริง

๔. ทำให้สังคมมีสันติสุขไม่เบียดเบียนกัน ทำให้นายทุนอาจกลายเป็นเศรษฐีใจบุญ และกรรมกรกลายเป็นคนขยันขันแข็ง ประพฤติธรรมะ ทำให้คำว่า “นายทุน” และ “กรรมาชีพ” หายไปจากโลกด้วยวิธีของศีลธรรม

ประโยชน์อันพึงได้จากแนวทางการศึกษาของพุทธทาสภิกขุ อาจจะสรุปได้ในทัศนะของท่านว่า สันติสุขหรือสันติภาพอันถาวรของโลกนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการเข้าใจอันถูกต้องของคำว่า “การศึกษา” ถ้าหากว่าการศึกษาได้รับการพิจารณาจนเข้าใจถูกต้อง และได้ดำเนินไปอย่างถูกต้องตรงตามที่เป็นจริง โลกก็จะดีกว่านี้ คือจะกลายเป็นโลกของพระอริยเจ้า ที่ปราศจากความทุกข์โดยประการทั้งปวง โดยไม่ต้องมีทหาร ไม่ต้องมีตำรวจ ไม่ต้องมีเรือนจำ โรงเรียนก็แทบจะไม่จำเป็น เพราะว่าอาจจะสั่งสอนกันได้ทุกหนทุกแห่ง เพราะคนประพฤติดีอยู่ที่เนื้อที่ตัวเป็นตัวอย่าง[17]

__________________________________________________________________________

[1]พุทธทาสภิกขุ, ธรรมบรรยายต่อหางสุนัข, (กรุงเทพฯ : ธรรมทาน, ๒๕๒๕), หน้า ๒๕.

[2]พุทธทาสภิกขุ, การศึกษาคืออะไร, (กรุงเทพฯ : สมชายการพิมพ์, ๒๕๒๗), หน้า ๑๗.

[3]พุทธทาสภิกขุ, เยาวชนกับศีลธรรม, (กรุงเทพฯ : ธรรมทาน, ๒๕๒๒), หน้า ๒๔.

[4]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๑.

[5]พุทธทาสภิกขุ, การศึกษาคืออะไร, อ้างแล้ว หน้า ๑๓ ซ.

[6]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๑.

[7]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๘.

[8]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๖๕.

[9]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๘๐-๘๑.

[10]พุทธทาสภิกขุ, ธรรมบรรยายต่อหางสุนัข, (กรุงเทพฯ : ธรรมทาน, ๒๕๒๕), หน้า ๑๖๒.

[11]พุทธทาสภิกขุ, การศึกษาคืออะไร, อ้างแล้ว, หน้า ๗๗.

[12]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๑๖.

[13]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๘๗.

[14]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๘๗.

[15]พุทธทาสภิกขุ, เยาวชนกับศีลธรรม, อ้างแล้ว, หน้า ๑๓๘.

[16]พุทธทาสภิกขุ, มหาวิทยาลัยในตัวคน, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, ๒๕๑๑), หน้า ๕๑-๕๒.

[17]พุทธทาสภิกขุ, การศึกษาคืออะไร, อ้างแล้ว, หน้า ๑๒๗.

http://www.l3nr.org/posts/386847

. . . . . . .