จิตประภัสสร (รวมคำบรรยายของท่านพุทธทาส)

จิตประภัสสร (รวมคำบรรยายของท่านพุทธทาส)

จิตประภัสสร เป็นคำที่ชาวพุทธควรรู้อย่างถูกต้อง มีคำบรรยายของท่านพุทธทาสที่ครอบคลุมแง่มุมต่างๆของจิตประภัสสรอยู่หลายแห่ง พอจะรวบรวมได้ดังนี้

@ ความหมายของ “จิตประภัสสร”
“จิตประภัสสร หมายถึงจิตเดิมแท้ที่ยังว่างอยู่ ยังไม่ถูกอะไรปรุงแต่ง ยังไม่ถูกหุ้มห่อด้วยกิเลส ไม่ถูกหุ้มห่อด้วยผลของกิเลส คือความดี ความชั่ว เป็นต้น เหมือนอย่างเพชร มันมีรัศมีในตัวมันเอง มันเรืองแสงของมันได้ เหมือนอย่างจิตเดิมแท้ประภัสสร แต่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ มันจึงเปลี่ยนแปลงได้ มันจึงต้องมีการอบรมจนเป็นประภัสสรที่ถาวร ชนิดที่ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งให้เปลี่ยนแปลงได้”
(พุทธทาสภิกขุ พจนานุกรมธรรมของท่านพุทธทาส ธรรมสภา กรุงเทพ หน้า 144)
“ประภัสสร แปลว่า ซ่านออกแห่งรัศมี ประภา = รัศมี สะระ = ซ่านออกมา คือไม่มีมลทิน แต่มันอยู่ในลักษณะที่มลทินมาจับได้ มาครอบได้ เศร้าหมองได้ ก็เป็นทุกข์ได้ อบรมจนมลทินจับไม่ได้”
(พุทธทาสภิกขุ พจนานุกรมธรรมของท่านพุทธทาส ธรรมสภา กรุงเทพ หน้า 143)
“สิ่งที่เรารียกว่าจิตเดิมแท้ ที่เป็นตัวเดียวกันกับปัญญา เราหมายถึงจิตที่ว่างจากการยึดถือมั่น”
(พุทธทาสภิกขุ พจนานุกรมธรรมของท่านพุทธทาส ธรรมสภา กรุงเทพ หน้า 51)

@ จิตเสียความประภัสสรได้อย่างไร
“….มาศึกษาให้รู้ให้เห็น ตามที่เป็นจริงว่า “เรา” ประกอบขึ้นมาด้วยอวิชชาทีไร จิตใจนี้ก็มีตัวตน และมีของตนขึ้นมา และมีความทุกข์ขึ้นมาทุกที ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่า กิเลส หรือ ความทุกข์ นี้ ไม่ใช่เกิดอยู่เป็นพื้นฐาน สิ่งที่เรียกว่า กิเลส หรือความทุกข์นี้ เพิ่งเกิดเป็นครั้งคราว พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า “ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร “อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ” แต่ว่าจิตนี้เศร้าหมองแล้ว เพราะกิเลสที่เป็นอาคันตุกะเข้ามา”
พุทธทาสภิกขุ วิธีชนะความตาย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ กรุงเทพ (หน้า 28)

@ พบจิตประภัสสรได้ในขณะใด
“ฉะนั้นถ้าจะรู้พระพุทธศาสนาให้ง่ายและให้เร็ว จงพยายามสังเกตให้รู้จักจิตของตัวเอง ว่ามีเวลาไหนบ้างที่ไม่เศร้าหมอง คือไม่มีกิเลสครอบงำ, ดูเหมือนจะหาได้ยาก และยากที่จะรู้สึก ยากที่จะรู้จัก : พอรู้สึกเข้า มันรู้สึกสบาย ก็พอใจเสีย ก็กลายเป็นกิเลสไปอีกอันหนึ่งแล้ว!
ถ้าสมมติว่าพบจิตที่ไม่เศร้าหมองไม่มีกิเลส รู้สึกสบาย รู้สึกพอใจ : มันก็เกิดความพอใจ ยึดมั่นถือมั่นในความสบาย ความรู้สึกสบายนั้นเสียอีก, มันก็กลับเศร้าหมองเสียอีก : เลยระยะเวลาที่เหลืออยู่เป็นประภัสสรล้วนๆนั้นมันหายาก แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันก็มีอยู่ ขอให้ช่วยตั้งต้นศึกษาให้รู้จักจิต : บางเวลาบางโอกาสไม่ได้เศร้าหมอง, ให้รู้จักจิตชนิดนี้ไว้เป็นเดิมพัน แล้วมันก็จะชอบพระนิพานได้ง่ายขึ้น เพราะพระนิพพานก็คือสิ่งที่จิตรู้สึก. เมื่อจิตไม่เศร้าหมองด้วยประการทั้งปวง เรียกว่าจิตอยู่กับภาวะนิพพาน”
(พุทธทาสภิกขุ จิตตภาวนาทุกรูปแบบ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ กรุงเทพ หน้า 23 – 24)
“เมื่อพูดถึงเป็นมนุษย์เป็นคนโตแล้วโดยสมบูรณ์แล้วก็จะพูดได้ว่า จิตของบุถุชนนั้นมันเศร้าหมองเสียโดยมาก, มีส่วนที่ไม่เศร้าหมองน้อยมาก ; แต่ถ้าเป็นจิตของพระอริยเจ้า มันก็เศร้าหมองน้อย บริสุทธิ์มาก เป็นประภัสสรมาก, แล้วประภัสสรสูงขึ้นไปเช่นว่าทำสมาธิได้ : อยู่ในสมาธิว่างจากกิเลส จิตก็ประภัสสรยิ่งๆขึ้นไปตามลำดับชั้นของสมาธิ, บรรลุอรหัตตผลนั้นเป็นประภัสสรสูงสุด ไม่มีกิเลสด้วยประการทั้งปวง”
(พุทธทาสภิกขุ จิตตภาวนาทุกรูปแบบ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ กรุงเทพ หน้า 25)
“สำหรับหลักเกณฑ์อันนี้ ที่เกี่ยวกับนิพพานทั้ง 3 ชนิดนี้* ให้ระลึกนึกถึงคำว่า “จิตนี้ประภัสสร” ตามธรรมชาตินี้จิตเป็นประภัสสร คือไม่มีกิเลส ไม่เศร้าหมองเพราะกิเลส จิตเดิมนั้นรุ่งเรืองเป็นประภัสสร ; แต่ถ้าเมื่อใดกิเลสเข้ามา ก็กลายเป็นจิตที่เศร้าหมอง ไม่ประภัสสร
จิตที่ประภัสสรอยู่ตามธรรมดาเหมือนเราท่านตามธรรมดานี้ จิตเป็นประภัสสรชนิดที่กิเลสอาจจะแทรกแซงได้ : แต่ถ้าเราปฏิบัติจนถึงที่สุดแล้ว ความประภัสสรมันถาวร กิเลสแทรกแซงอีกไม่ได้ ; นี้เป็นนิพพานจริง นอกนั้นเป็นนิพพานชั่วคราว
นี้ขอให้เข้าใจว่า นิพพานทั้ง 3 ชนิดนี้มีรสอย่างเดียวกัน คือ รสสว่างจากสิ่งรบกวนใจอย่างเดียวกันหมด มีหน้าที่อย่างเดียวกัน คือว่านิพพานจะทำให้กิเลสรบกวนใจไม่ได้ในขณะนั้น ขณะใดเป็นนิพพาน ขณะนั้น นิพพานป้องกันอยู่ กิเลสรบกวนไม่ได้ ก็เป็นสุข; เมื่อไม่มีอะไรรบกวนใจแล้วก็เกิดรสของนิพพาน คือความเย็น จะเป็นนิพพานอย่างไหน นิพพานตัวอย่าง นิพพานชั่วคราว ก็มีลักษณะเย็น กันไม่ให้กิเลสรบกวนใจได้ในขณะนั้นเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้น เราเอาภาวะอันนี้ไว้ก่อนก็แล้วกัน แม้ว่ามันจะไม่เด็ดขาด จะไม่เฉียบขาด ก็ยังมีรสชาติอย่างเดียวกัน ทั้งที่ว่าเป็นภาวะอยู่กันคนละระดับ
ตทังคนิพพาน เกิดเพราะบังเอิญ ประจวบเหมาะ พูดอย่างภาษาหยาบโลนหน่อยก็ว่า ฟลุก เป็นนิพพานที่ฟลุกขึ้นมาโดยที่เราไม่ได้เจตนาที่จะทำ ; เพียงแต่เราบังเอิญไปอาศัยอยู่ ไปทำอะไรอยู่ หรือว่าไปคิด ไปนึกอะไรอยู่ในที่ที่มีความแวดล้อมเหมาะ ; เป็นเรื่องฟลุก ทำให้จิตว่างจากการรบกวนของกิเลส
ถ้าเป็น วิกขัมภนนิพพาน ก็เพราะว่า เราควบคุมระวังสังวร ตั้งเจตนาที่จะให้สิ่งต่างๆมันถูกต้องอยู่เสมอ ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางจิต จนกระทั่งมีจิตสงบรำงับ นี้เป็นการทำให้เกิดขึ้นมา
สมุทเฉทนิพพาน นั้น เราทำให้มันเกิดขึ้นมาไม่ได้ ; เราทำได้แต่ ปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้ปรากฏภาวะออกมา เป็นความสิ้นไปแห่งกิเลสตามธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่านิพพาน เป็นสภาวธรรมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ฉะนั้นจึงให้คำจำกัดความหรือบัญญัติไว้เฉพาะ ให้มันต่างกันอย่างนี้”
(* หมายถึง ตทังคนิพพาน , วิกขัมภนนิพพาน และ สมุทเฉทนิพพาน)
พุทธทาสภิกขุ ธรรมะ 9 ตา บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด กรุงเทพ (หน้า 360 – 362)

@ อบรมจิตให้ประภัสสรได้อย่างไร
“ทีนี้ก็มาดูถึงความลับ ความลึกลับอันหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นตอของเรื่องทั้งหลาย : พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตนี้ประภัสสร – คือตามธรรมชาติ เป็นประภัสสร; แต่ว่าสูญความเป็นประภัสสร – คือเศร้าหมองไป เพราะกิเลสหรืออุปกิเลสมันเกิดขึ้นมาจับ เหมือนอาคันตุกะ : ถ้าไม่มีกิเลสเป็นอาคันตุกะแล้ว, มันก็เป็นจิตที่ผ่องใส เมื่อใดกิเลสเข้ามาเป็นแขก จิตนี้ก็เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส, เมื่อใดไม่มีกิเลสเป็นอาคันตุกะ จิตนี้ก็ผ่องใส; นี้คือธรรมชาติของจิต, ถ้าผู้ใดรู้ความจริงข้อนี้ จิตตภาวนาจักมีแก่บุคคลนั้น!!
นี่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้, ผู้ใดรู้เรื่องจิตประภัสสรทั้งสองฝ่ายอย่างนี้แล้ว จิตตภาวนาจะมีแก่บุคคลนั้น : บุคคลนั้นจะต้องการ จะสนใจ จะพยายาม ที่จะป้องกันไม่ให้กิเลสเป็นอาตันตุกะเข้ามา; ก็จะรักษาจิตเป็นประภัสสรยิ่งๆขึ้นไป, จนจิตนี้เปลี่ยนสภาพเป็นจิตที่กิเลสมาเกิดไม่ได้แล้ว ก็มีแต่ประภัสสรถาวร : นั่นแหละคือ การบรรลุความเป็นพระอรหันต์, กิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไป เพราะมีจิตตภาวนา – คือการเจริญทางจิต, รู้ความลับของจิตว่า ประภัสสรหรือไม่ประภัสสรด้วยเหตุอย่างนี้, แล้วก็จะมีจิตตภาวนา นั่นคือความรู้เรื่องเจโตวิมุตติ รู้เรื่องปัญญาวิมุตติ ที่ทารกมันไม่เคยรู้”
(พุทธทาสภิกขุ จิตนี้ประภัสสร สำนักพิมพ์สุขภาพใจ กรุงเทพ หน้า 30 – 32)
“จิตนี้มีธรรมชาติประภัสสร : เมื่อไม่มีกิเลสก็เรืองแสง ยังกับเพชรน้ำเอก มันมีรัศมีเรืองแสง ; จิตนี้ก็มีประภัสสร – เรืองแสงเมื่อไม่มีกิเลส แต่อย่างนี้ไม่บริสุทธิ์, ยังไม่เรียกว่าบริสุทธิ์ เรียกว่าประภัสสร : ยังไม่ใช่จิตของพระอรหันต์, แต่มันมีอาการเหมือนกันตรงที่ว่ากำลังไม่มีกิเลส. เพราะกิเลสไม่เกิดตามธรรมชาติ, นี้จะเรียกว่าประภัสสร : แต่มันก็กลับไม่ประภัสสร, กลับไปกลับมาวนอยู่อย่างนี้ ไม่เป็นที่พอใจ ; จึงเห็นวิธีที่ว่าจะทำให้มันประภัสสรเด็ดขาด คือว่ากลับเศร้าหมองไม่ได้ : บุคคลที่มองเห็นธรรมชาติของจิตอย่างนี้แล้ว ก็มีความแน่ใจในจิตตภาวนา”
(พุทธทาสภิกขุ จิตนี้ประภัสสร สำนักพิมพ์สุขภาพใจ กรุงเทพ หน้า 45)
“จิตตภาวนาแปลว่าทำจิตให้เจริญ : คำว่า “ภาวนา” นี้ แปลว่าทำให้เจริญ! จิตตภาวนาคือวิธีการอันหนึ่งที่จะทำจิตให้เจริญ ; เจริญไปถึงไหน? เจริญถึงขนาดที่ว่า ทำอย่างไรจิตนี้ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการเกิดของกิเลสอีกต่อไป! การที่ประพฤติพรหมจรรย์ : ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นแหละเป็นจิตตภาวนา, ทำให้จิตนี้ถึงสภาพประภัสสรชนิดถาวร ไม่กลับเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอีกต่อไป. กิเลสก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นแก่จิตนั้น, ความเป็นประภัสสรของจิตนั้นก็เป็นการถาวร : ประภัสสรชนิดนี้เป็นจิตของพระอรหันต์ ; ประภัสสรที่ยังกลับเศร้าหมองได้นั้นเป็นจิตของบุคคลทั่วไป : เมื่ออบรมกระทำจนจิตกลับเศร้าหมองอีกไม่ได้ หรือจิตนั้นไม่เป็นที่ตั้งแห่งการเกิดของกิเลสอีกต่อไป, ก็เป็นประภัสสรถาวร นี้คือจิตของพระอรหันต์”
(พุทธทาสภิกขุ จิตนี้ประภัสสร สำนักพิมพ์สุขภาพใจ กรุงเทพ หน้า 45-46)
“นิพพานในแง่ของการปฏิบัติในชีวิตประจำทุกวันของบุคคลทุกคน คำว่า “ทุกคน” นั้น หมายความว่าไม่ว่าจะเป็นหญิง เป็นชาย ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิต ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จึงใช้คำว่าทุกคน ฉะนั้น จะพูดถึงนิพพานใน 3 ลักษณะที่อยู่ในวิสัยของคนทุกคน แล้วก็ในชีวิตประจำวัน คือต้องปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันตลอดเวลา ถ้ากล่าวอย่างนี้ เรามีหลักใหญ่ๆดังนี้ :-
1. ถ้าประสงค์ ตทังคนิพพาน คือนิพพานประจวบเหมาะนั้น ; จงปรับปรุงให้สิ่งแวดล้อมเราทุกสิ่งที่อยู่รอบด้าน ให้ถูกต้อง ให้เหมาะสม เราต้องมีความฉลาด จัด หรือปรับปรุง หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก ให้ทุกๆสิ่งมันถูกต้อง ให้มันเหมาะสมอยู่รอบๆตัวเรา รอบด้าน ถ้าเราอยู่ในภาวะอย่างนี้ ความเย็นใจชนิดที่รียกว่าตทังคนิพพานจะฟลุกง่ายที่สุด ใช้คำหยาบๆแบบชาวบ้านอย่างนี้หน่อยก็เพื่อจะประหยัดเวลา คือมันจะเกิดเอง อย่างที่เรียกว่าน่าอัศจรรย์เหมือนกับฟลุก
2. สำหรับ วิกขัมภนนิพพาน นั้น ต้องพยายามฝึกสมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ให้ผลถึงฌาน ฝึกอย่างไร? ก็พูดอย่างละเอียดที่สุดแล้วในตอนคำบรรยายครั้งที่แล้วมาเรื่องสมาธิวัตร แล้วก็โดยหัวข้อว่าอานาปานสติภาวนา ฉะนั้น ขอให้ระลึกนึกถึงคำบรรยายนั้น หรือคำอธิบายเรื่องนั้น ในหนังสือที่ได้พิมพ์ขึ้นแล้วก็มี ถ้าต้องการวิกขัมภนนิพพานก็ให้ฝึกสมาธิ ให้ถึงขนาดที่เรียกว่ามีสมาธิ ; แม้เพียงอุปจารสมาธิก็ยังได้ผล ; แต่ว่าต้องการเฉพาะอัปปนาสมาธิจึงจะแน่นอน จึงจะเรียกว่ามีนิพพานอยู่ในอำนาจเรา เราบังคับได้ ถ้าเป็นเพียงอุปจารสมาธินี้ยังบังคับยาก บางทีก็บังคับไม่ได้
3. ทีนี้ถ้าต้องการ สมุจเฉทนิพพาน คือนิพพานชนิดที่ทำลายรากเหง้าของกิเลสหมดไปนั้น จะต้องปฏิบัติตามอัฏฐังคิกมรรคที่ว่ามาแล้ว สรุปเรียกว่า มีการเป็นอยู่ชอบ เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า : สเจ เม ภิกฺขเว ภิกฺขูสมฺมา วิหเรยฺยํ อสญฺโญ โลโก อรหนฺ เตหิ อสฺส – ถ้าภิกขุเหล่านี้จักอยู่โดยชอบไซร้ โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ ท่านตรัสเพียงว่าให้อยู่โดยชอบ ให้เป็นอยู่โดยชอบ ; แต่ความหมาย หมายถึง อริยมรรคมีองค์ 8 มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น”
พุทธทาสภิกขุ ธรรมะ 9 ตา บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด กรุงเทพ (หน้า363 – 364)

@ ผลของการอบรมจิตให้ประภัสสรอยู่เสมอ
“ถูกแล้ว, ประภัสสรนี้ไม่ใช่นิพพานเด็ดขาด หรือนิพพานถาวร : แต่มันเป็นนิพพานเดิมพัน นิพพานต้นทุน. นิพพานเดิมพัน คือ เราจะขยายออกไป ขยายออกไป, ขยายเวลาที่ประภัสสรนี้ให้มันออกไป ออกไป, จนประภัสสรตลอดเวลา ; มีคำเรียกว่า กุปปธรรม – อกุปปธรรม , กุปฺปธมฺโม – อกุปฺธมฺโม : กุปฺปธมฺโม นั้นคือมันกลับวุ่นได้อีก, แล้วก็กระทำไปๆ จนเป็นอกุปปธรรม – คือกลับวุ่นไม่ได้อีก เมื่อประภัสสร คงเป็นประภัสสรตลอดกาลไปเลย สำเร็จเพราะการปฏิบัติ”
พุทธทาสภิกขุ ธรรมปาฏิโมกข์ เล่ม 2 สำนักพิมพ์สุขภาพใจ กรุงเทพ (หน้า174)
“เดี๋ยวนี้จะใช้คำว่าบริสุทธิ์ ไม่ใช้คำว่าประภัสสร : แต่ที่จริงมันก็มีลักษณะเดียวกับประภัสสร, แต่ว่ามันเป็นประภัสสรถาวร ; เพราะว่าจิตมันเปลี่ยนสภาพ ไปอยู่ในสภาพที่เกิดไม่ได้, จิตก็ประภัสสรถาวร ; แต่นิยมเรียกว่าจิตบริสุทธิ์แล้ว หลุดพ้นแล้ว, ไม่ใช้คำว่าประภัสสร แต่ที่จริงมันก็คือประภัสสรชนิดถาวร”
(พุทธทาสภิกขุ จิตนี้ประภัสสร สำนักพิมพ์สุขภาพใจ กรุงเทพ หน้า 69 – 70)

จิตประภัสสร , จิตเดิมแท้ , ทางพุทธศาสนา

http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/13137-00/

. . . . . . .