การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ โดย ท่านพุทธทาส

การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ โดย ท่านพุทธทาส

หน้าที่ 1 – ขนบธรรมเนียมประเพณี
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
อัตตะมา เทนะ สัมปาเทฐา ติธัมโม สัจจะจัง โสปะโก ยันทิ

ณ บัดนี้จะได้วิสัจนาพระธรรมเทศนา ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ แล้ววิริยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดา

อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุเป็นวันเข้าพรรษา ดังนั้นจะได้กล่าวถึง สิ่งที่พุทธบริษัททั้งหลายจะพึ่งกระทำในใจ เนื่องในวันเช่นวันนี้เพื่อให้สำเร็จประโยชน์แห่งตนแห่งตนตามสำควรแก่สติกำลัง วันเข้าพรรษา ซึ่งวันนี้มีขนบธรรมเนียมประเพณีสำหรับที่จะบำเพ็ญกุศล และกระทำสิ่งซึ้งจะต้องกระทำให้ดีเป็นพิเศษ สำหรับแต่ละบุคคล จนกว่าจะตลอดพรรษา ถึงแม้บรรพชิตในวัดวาอารามก็ได้กระทำวัดปฏิบัตินั้นๆ ให้ดีเป็นพิเศษ ตลอดกาลพรรษาเช่นเดียวกัน

นี่ก็เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ที่มีมาแต่โบราณกาล ทั้งนี้เพราะเหตุว่าในวันที่เป็นวันเข้าพรรษาเช่นนี้นั้น เป็นโอกาสที่สะดวก ที่แต่ละคนจะประพฤติปฏิบัติอะไรให้เห็นติดต่อกันไปอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเป็นเวลานอกพรรษา ภิกษุย่อมจาริกไปในที่นั้นๆ แล้วมีกิจการเกิดขึ้น ผิดแปลกแตกต่างกันไปจึงเป็นการยากที่จะทำสิ่งใดให้สม่ำเสมอตลอดเวลาระยะยาว ครั้นถึงวันจำพรรษา มีวินัยบัญญัติไว้ไม่ให้จาริกไปในที่ใดตลอดสามเดือนคือเก้าสิบวันจึงมีระยะยาวพอที่จะประพฤติปฏิบัติสิ่งใดให้สม่ำเสมอติดต่อกันไปให้มีความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปจนได้รับประโยชน์เต็มตามความมุ่งหมายนั้นๆ เพราะฉะนั้นจึงมีการตั้งจิตอธิษฐานว่าเราจะกระทำวัดปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งให้ดีที่สุดจนตลอดเวลาในพรรษานี้ พวกที่เป็นฆราวาสก็ประพฤติพรหมจรรย์อย่างฆราวาส ที่เป็นบรรพชิตก็ประพฤติพรหมจรรย์อย่างบรรพชิต

ให้สุดความสามารถแห่งตนแห่งตน คำว่าพรหมจรรย์ในที่นี่ หมายถึงวัดปฏิบัติจะทำให้ดีเป็นพิเศษยิ่งกว่าธรรมดา แล้วยังกระทำให้สม่ำเสมอ ไม่ลุ่มๆ ดอนๆ เรียกว่ากระทำจนสุดกำลังของสติปัญญา ความสามารถ จึงได้เรียกว่าพรหมจรรย์ แม้ที่สุดแต่ว่าเด็กๆ เล็กๆ จะสมาทานอะไรอย่างหนึ่ง ซึ้งจะปฏิบัติให้ได้ตลอดพรรษาอย่างนี้ก็ยังเรียกว่าเป็นพรหมจรรย์ของเด็กตัวเล็กๆ นั้น แม้ที่สุดแต่ว่าจะอธิษฐานว่าจะใส่บาตรให้ตลอดพรรษา เมื่อตั้งใจกระทำให้สุดความสามารถของตนก็คงยังเป็นพรหมจรรย์สำหรับเด็กเล็กๆ คนนั้น ที่ผู้ใหญ่ที่โตแล้วก็เลือกวัดปฏิบัติอย่างใดที่มันเหมาะสมที่ควรกระทำอย่างยิ่งสำหรับถือไว้ประพฤติปฏิบัติให้เต็มความสามารถตลอดพรรษาก็จะเป็นพรหมจรรย์ของบุคคลนั้นๆ ไปตามประสาฆราวาส และบางอย่างก็ตรงกันกับของบรรพชิตดังนี้ก็มี สำหรับบรรพชิตนั้นก็จะอธิษฐานในสิ่งที่เป็นวัดปฏิบัติ

นับตั้งแต่ว่าจะไปบิณฑบาตรไม่ให้ขาด หรือว่าจะทำวัดเช้าทำวัดเย็นไม่ให้ขาด หรือว่าจะทำกรรมฐาน ภาวนาเป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้ตลอดพรรษาไม่ให้ขาดอย่างก็เรียกว่าเป็นพรหมจรรย์ สำหรับภิกษุนั้นในส่วนการกระทำให้ดีขึ้น แม้ในส่วนการละก็ยังมีวัดปฏิบัติที่จะต้องละ อย่างฆราวาสว่าตั้งใจจะละอะไรในพรรษานี้ก็ละให้จริงๆ แม้ทีสุดจะไม่สูบบุหรี่ตลอดพรรษานี้ก็จะไม่สูบจริงๆ หรือว่าบรรพชิตจะละสิ่งเดียวกันอย่างนั้นมันก็ยังเป็นการดีแต่ยังมีอะไรมากไปกว่านั้นที่จะละได้มากไปกว่านั้นก็เลือกเอาเองตามความพอใจ รวมความแล้วก็ให้เป็นว่ามีการประพฤติพรหมจรรย์อย่างหนึ่งอย่างใดจนสุดความสามารถของตน ของตน สำหรับสิ่งที่เรียกว่า พรหมจรรย์นั้น ถ้าจะกล่าวในขั้นทั่วไปและกว้างขวางแล้วสูงสุดแล้ว มีพระพุทธภาษิตกล่าวไว้ว่า สัตตะ ฐานะอุตสะโล และปิวิทู ปะริปะนัง มีใจความว่า ภิกษุพิจารณาซึ่งขันธ์ห้า ว่าขันธ์นี้เป็นอย่างไร พิจารณาว่าอะไรเป็นที่เกิดขึ้นแห่งขันธ์ห้า และพิจารณาว่าอะไรเป็นที่ดับไปแห่งขันธ์ห้า แล้วว่าอะไรเป็นหนทางให้ถึงความดับไปแห่งขันธ์ทั้งห้านี้ก็นับได้เป็นสี่อย่างแล้ว คือพิจารณาว่าขันธ์ห้าคืออะไร หรือเป็นอย่างไร นับเป็นอย่างหนึ่ง

แล้วว่าอะไรเป็นเหตุเป็นแรงเกิดแห่งขันธ์ห้านี้ก็เป็นอย่างหนึ่ง ความดับแห่งขันธ์ห้าเป็นอย่างไรนี้ไปอย่างหนึ่ง ทางถึงความดับแห่งขันธ์ห้าเป็นอย่างไรนี้ก็อย่างหนึ่ง เป็นสี่อย่าง ทีนี้ยังพิจารณาถึงลักษณะสามอย่างของขันธ์ทั้งห้านั้น อย่างแรกคือพิจารณา อัตสาทะ อัตสาทะคือความรู้สึกยินดีในความยั่วยวน รสอร่อยได้จากขันธ์ห้านั้น มีอย่างหนึ่งถ้าพิจารณาถึงโทษอันจะเกิดจากขันธ์ห้านั้นมีอย่างหนึ่ง แล้วพิจารณาถึงหนทางที่จะดับหรือออกไปเสียได้จากโทษนั้นๆ หนึ่งรวมเป็นสามอย่างบวกเข้ากับสี่อย่างทีแรกก็เป็นเจ็ดอย่าง ในเจ็ดอย่างนี้เรียกว่า สัตตะสานะ กุดสะโล เป็นผู้ฉลาดในฐานะเจ็ดประการนี้หมวดหนึ่ง หมวดหนึ่งเรียกว่า ทิวิทะ อุปริสะนะนัง พิจารณาธาตุทั้งปวง พิจารณาอายะทะนะทั้งปวง และพิจารณาปฏิสะอุบาดรวมกันเป็นสามอย่างนี้อีกหมวดหนึ่ง หมวดแรกมีเจ็ดอย่าง หมวดหลังมีสามอย่าง ก็รวมกันเป็นสิบอย่าง ทั้งสิบอย่างนี้เรียกว่าเป็นพรหมจารียะวาสคือการอยู่ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ หมายถึงพรหมจรรย์ในระดับสูง พิจารณาขันธ์ห้าอยู่อย่างนี้ พิจารณาธาตุ อายะทะนะปฏิสะอุบาดอยู่อย่างนี้เป็นประจำ สำหรับบุคคลผู้ยังไม่เป็น อะเสขะ คือยังจะต้องปฏิบัติอยู่ธรรมมะทั้งสิบนี้เรียกว่า อาธรรมณียะ ปฏิทา คือธรรมที่จะต้องประพฤติปฏิบัติให้ลุให้ถึง

แต่ถ้าเป็นบุคคลผู้ซึ่งเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ยังปฏิบัติอย่างนี้อยู่ นี้เรียกว่า สัตสะตะ วิหาร คือธรรมเป็นที่อยู่สบายอย่างติดต่อกันของพระอรหันต์นั้นๆ นี้ก็ยังเป็นการแปลกอยู่ที่ว่าข้อปฏิบัติอย่างเดียวกันนี้ ยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ยังปฏิบัติในฐานะเป็นสิ่งที่จะต้องปฏิบัติให้ได้ เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ยังปฏิบัติ เพื่อความอยู่เป็นผาสุก สนุกสนานในการพิจารณาอย่างติดต่อกัน ดังนั้นสำหรับผู้ที่ยังต้องปฏิบัตินั้นจึงเรียกว่า อาตะมณียะ ปัตติปะทา หรือเรียกว่าปฏิปะทา ปฏิบัติแต่สำหรับพระอรหันต์นั้นเรียกไปเสียว่า สัตสะตะ วิหาร แปลว่าธรรมมะเป็นเครื่องอยู่ เพราะว่าพระอรหันต์ไม่ต้องปฏิบัติอะไรอีกต่อไปแล้ว ถ้าไปปฏิบัติอะไรเข้ามันก็กลายเป็นวิหารธรรม คือธรรมเป็นเครื่องอยู่แล้วก็ประพฤติปฏิบัติเหมือนกันทั้งสิบอย่างนี้ ผู้ใดมีความปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ ซึ่งเป็นตัวแท้เป็นหัวใจของพุทธศาสนาก็จงปฏิบัติในธรรมสิบประการนี้เถิด ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติจริง

ถูกตรงตามหัวใจของพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา เหมาะสมแก่กาลเวลาที่จะปฏิบัติในพรรษานี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าวันเช่นวันนี้ตลอดพรรษาอย่างนี้ เราจะต้องประพฤติกระทำอย่างไรจึงจะมีพรหมจรรย์อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นแล้วเป็นไปด้วยดีจนตลอดพรรษา นั้นแหละจะได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้าพรรษามีพรรษา ประพฤติธรรมอย่างที่เรียกว่าจำพรรษาได้โดยแท้จริง ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนถือเอาประโยชน์อันนี้ให้ได้ ตามสมควรแก่สติกำลังของตนจงทุกๆ คนเถิด ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลาเอวังก็มีด้วยประการละฉะนี้

http://www.vcharkarn.com/varticle/35484

. . . . . . .