สมาธิและการพัฒนาของระบบสมาธิ โดย พุทธทาสภิกขุ

สมาธิและการพัฒนาของระบบสมาธิ โดย พุทธทาสภิกขุ

หน้าที่ 1 – การตั้งมั่น สม่ำเสมอ
เนื่องจากมีเวลามาก ก็จะพูดให้ละเอียดหน่อย โดยเฉพาะเรื่องที่จะพูดในวันนี้ คือเรื่อง สมาธิเฉยๆ ส่วนเรื่อง สมาธิภาวนา และ อานาปานสติ จะพูดในวันหลังเพราะเรื่องมันมาก เมื่อครูจะสอนสมาธิก็ควรรู้เรื่องสมาธิให้มันครบถ้วน เพราะสมาธิตามธรรมชาติโดยสัญชาตญาณ ก็มีอยู่พวกหนึ่ง และสมาธิที่ฝึกจนมากขึ้นก็มีอยู่พวกหนึ่ง แต่มันก็เรียกว่าสมาธิเหมือนกัน จะพูดถึง สมาธิตามสัญชาตญาณ ก็ขอให้นักเรียนสังเกตดูว่า ลิงมันกระโดด ข้ามต้นไม้ได้แม่นยำจากกิ่งนี้ ไปสู่กิ่งนั้น มันทำได้ด้วยอำนาจอะไร หรือว่านกมันบินไปในช่องแคบๆได้ และมีปลาบางชนิดสามารถพ่นน้ำไปหาแมลงที่เกาะอยู่ตามกิ่งไม้ จนตกลงมาแล้วกินเสีย อย่างนี้ก็ได้ มันทำด้วยอำนาจอะไร ถ้ารู้ ก็จะรู้ว่าทำได้ด้วยอำนาจสมาธิที่มีอยู่ตามสัญชาตญาณ ไม่ต้องมีใครมาสอนก็ทำได้ และเราก็ไม่ค่อยได้คิดถึงว่ามันเป็นสมาธิ หรือจะเล่นทอยหลุม ขว้างก้อนหินได้แม่นยำ หรืออะไรก็ตาม ทำไมเด็กๆมันทำได้ กระทั่งว่าคนจะยิงปืนอย่างแม่นยำ ถูกเป้า มันก็ทำด้วยสมาธิ พูดได้ว่า สมาธิตามสัญชาตญาณ มีอยู่เป็นพื้นฐานแห่งชีวิตและจิตใจ ถ้าอย่างนั้น มันทำอย่างที่ว่ามาไม่ได้ ทีนี้ก็ดูว่าสมาธิตามธรรมชาติ มันจำกัดอยู่เพียงเท่านั้น มันไม่พอที่ใช้ในการงานที่สูงขึ้นไป มนุษย์หรือคนป่า ครึ่งลิงครึ่งคนมันก็สังเกตเห็นว่า จิตนี้ฝึกได้ จนมีบางพวกไปฝึกตามป่าเขา เป็นฤๅษีชีไพร ฝึกแล้ว ได้มากกว่าแล้ว มากกว่าพวกหนึ่ง ในระดับแรกๆก็ได้เท่านั้น ยังไม่ถึงวิปัสสนาที่ดับกิเลส
บรรลุมรรคผลนิพพานได้ มันก็ยังไม่ใช่ ดังนั้นเราจึงแยกสมาธิออกเป็นสองอย่าง อย่างนี้ ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เขาก็มีการทำสมาธิชนิด รูปฌาน อรูปฌาน ได้สำเร็จ นับว่าก้าวหน้ามากที่สุดเลย ปรากฏว่า ท่านพระพุทธเจ้าได้ไปเรียน ศึกษา จนสมาธิขั้นสูงสุด จาก พุทธกะรามบุตร แต่พระพุทธเจ้าไม่ยอมรับว่าสูงสุดในการดับทุกข์ นี่ให้คิดดูเถิดว่า แต่ก่อนพุทธกาล เขาก็ทำสมาธิกันสูงสุด แต่มันยังมี อาสวะ ไม่สามารถตัดกิเลสได้ แต่ครั้งพระพุทธเจ้าตรัสรู้ มันไม่มีอาสวะ ตัดกิเลสได้ ทีนี้ก็มาดูคำว่า สมาธิ ตัวหนังสือแท้ๆ มันคือ การตั้งมั่น สม่ำเสมอ และเขาจะฝึกกันอย่างไร มันก็มีหลักโดยทั่วไปเลย ให้จิตกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อให้จิตไม่กระจัดกระจาย ไม่ฟุ้งซ่าน เพื่อรับอารมณ์ จึงเกิดมาคำหนึ่งว่า โยคะ ภาษาทั่วไปแปลว่า เอาวัวควายมาผูกกับแอก คือเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ให้จิตผูกติดอยู่กับสิ่งนั้น เป็นการฝึกสมาธิ คนฝึกนี้เขาเรียกว่า โยคี มันก็จะมีสิ่งที่กำหนดได้มากมายเช่น สี ดวง ซากศพ แล้วแต่จิตจะกำหนดได้ ดังนั้นจึงได้ความว่ามันมีสิ่งหลายอย่างที่กำหนดเป็นอารมณ์ได้ แต่ก็มีคนบางพวก รู้จักใช้สิ่งที่ดีที่สุด ที่ใช้กันอยู่ในพุทธศาสนาคือ ลมหายใจ หรือเรียกว่า ปราณ ใช้เป็นอารมณ์ในการทำสมาธิ ในคัมภีร์โบราณของอินเดีย มีการควบคุมลมหายใจ หรือควบคุมปราณ มีเป็นสิบกว่าแบบ เรียกการฝึกอย่างนี้ว่า ปราณายามะ และเมื่อเราค้นพบปราณายามะ แบบอานาปานสติ ที่ใช้ในพุทธศาสนา เราก็รู้สึก พอใจ สมบูรณ์ หรือบางทีก็เรียกว่า สติปัฏฐานสี่ เราจำไว้คือ การฝึกสติ การกำหนดสติ การตั้งไว้สติ เราก็นำมาใช้เป็นแบบของเรา ห้ามเรียกว่าแบบสวนโมกข์ มันหลอกลวง หรือตู่ ไม่ใช่แบบอาจารย์นั้น แบบอาจารย์นี้ และก็ไม่เกี่ยวกับแบบ ลังกา พม่า หรือธิเบต แต่มันเป็น แบบของพระพุทธเจ้า ท่านได้ตรัสแนะนำให้ภิกษุปฏิบัติแบบนี้ ยืนยันด้วยการตรัสรู้ของพระองค์ซึ่งมีด้วย อานาปานสติภาวนา ไม่ต้องทำหลายแบบ ทำแค่อานาปานสติไปเรื่อย มันก็จะเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ครบถ้วน คราวนี้มหาสติปัฏฐานสี่ เขาไม่ได้อธิบายเหมือนเรา มีหลายหัวข้อ หลายเรื่อง แต่มีอานาปานสตินิดเดียวเรื่องเดียว สั้นๆ ไม่ได้บอกอะไร ฝึกอย่างไร ไม่มีหวังที่จะใช้ประโยชน์อะไรในมหาสติปัฏฐานสูตร ถ้าสวดกัน ตั้งสี่ห้าชั่วโมงกว่าจะสวดจบ กล่าวโดยสรุปว่า สติปัฏฐานสี่ในมหาสติปัฏฐานสูตร เราไม่รับมาใช้ เราจะใช้ สติปัฏฐานสี่ ในแบบของอานาปานสติสูตร ที่พระพุทธเจ้ายืนยันว่า สงบ ระงับ ละเอียด สะดวกสบาย และก็ตรัสรู้ด้วยระบบนี้ และพวกที่ฝึกสมาธิ เพราะต้องการที่มีฤทธิ์มีเดช ปราบยักษ์ มันก็เป็นสมาธิเหมือนกัน แต่มันเดินไปอีกทาง

หน้าที่ 2 – อริยะสมาธิ
เมื่อเรามีสมาธิแล้ว มันจะเป็นสุขทันทีทันใด ในทางพระพุทธศาสนาของเรา ก็นำมาใช้เพื่อมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ใช้สมาธินั้นเพื่อดับ กิเลส อาสวะ รู้จักการเกิดขึ้นและดับไป ทีนี้พวกครูลองคิดดูว่า เอาสมาธิชนิดไหนไปสอนนักเรียน ก็เลือกเอาเอง จะพูดตามหลักวิชาการสักหน่อย ก็คือ ตามสัญชาตญาณที่ต้องพัฒนา สมาธิตามธรรมชาตินั้นไม่พอ ต้องพัฒนาจนเป็นสมาธิที่สำเร็จประโยชน์ที่สุด แล้วมันก็เป็นความลับตามธรรมชาติ ที่ก่อนนี้เราไม่รู้ แต่ก็ค้นพบจนได้ รู้จนได้ว่า สมาธิภาวนา คือการทำให้เจริญด้วยสมาธิ

ทีนี้ก็มาดูประโยชน์ของมัน มาดูอาการต่างๆของสมาธิ ข้อที่หนึ่ง จิตจะไม่มีกิเลส ไม่มี นิวรณ์ รบกวน จะบริสุทธิ์ สดชื่นแจ่มใส มันเกลี้ยงถึงที่สุด ธรรมดามันไม่เกลี้ยง เดี๋ยวมีกิเลสนั่น กิเลสนี่ คิดไปอนาคตอย่างนั้น อย่างนี้ แล้วปัจจุบันก็ยุ่งจะตาย พอเป็นสมาธิเท่านั้น สิ่งเหล่านั้นจะไม่มี ลักษณะที่สองคือตั้งมั่น คือมันมีพลัง มั่นคง เข้มแข็ง มันรวมกำลังจิตทั้งหมด ตามธรรมดากระแสจิตจะวิ่งทั่วไป เหมือนแสงวาบทั่วไป แต่ถ้าเรามีเครื่องรวมแสง มันจะรวมและร้อนจนลุกเป็นไฟ จิตก็เป็นอย่างนั้น ข้อที่สามเรียกว่า ว่องไวในหน้าที่ สมควรในหน้าที่ มันอ่อนโยนที่สุด ที่จะทำอะไรก็ได้ ไม่แข็งกระด้าง เหมือนขี้ผึ้งเมื่อแข็ง เราจะปั้นอะไรได้ และเมื่อขี้ผึ้งถูกทำให้อ่อน มันก็จะปั้นอะไรก็ได้ เรียกว่า จิตอ่อนโยน อย่างที่เขาบอกว่า อาจิณไตย ของที่เขาบอกว่าทำได้ไม่รู้เท่าใด ทำได้ไม่สิ้นสุด จิตมันคิดได้หลายอย่างมากมาย ลองดูว่า มนุษย์นั้นคิดได้กี่อย่าง คิดทางวิทยาศาสตร์ ทางเทคโนโลยี ทางคอมพิวเตอร์ จนไปโลกพระจันทร์ได้ ก็ยังน้อยไป จิตมันยังคิดได้มากกว่านั้น แต่ในทางพุทธศาสนา ไม่คิดอะไรมาก เราคิดแต่เรื่องดับทุกข์อย่างเดียว สติปัญญาทางพุทธศาสนาจะไม่คิดในเรื่องเจริญทางวัตถุ เพราะมันออกมาแล้ว มันส่งเสริมกิเลส มันเห็นแก่ตัว ดังนั้นหน้าที่ที่ควรรู้ หน้าที่ที่ควรทำก็มีแต่ เรื่องการดับทุกข์ ทุกอย่างมีสมาธิเป็นพื้นฐาน ปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิก็ไม่มีแรง มันมีแต่ความคม แต่ไม่มีแรงที่จะสับลงไป นี่คือสมาธิที่เกี่ยวกับมนุษย์ เราจึงมีวัฒนธรรมการฝึกสมาธิ คนสมัยโบราณ เขาฝึกสมาธิกันทั้งนั้น เพื่อเป็นความรู้พื้นฐาน เป็นกำลังพื้นฐาน แม้ในสมัยต่อมาก็มีคนไปฝึกสมาธิกับอาจารย์ตามแบบนั้นๆ ทั้งเรื่อง วิทยาคม ไสยศาสตร์ เป็นที่นิยมกันในคนหนุ่ม ฝึกตัวให้มีสมาธิสูงสุด คนที่ฝึกตัว มันมีอำนาจทำอะไรได้แปลกๆ มันเป็นอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า สมาธิทั้งนั้น เห็นไหม ว่า ใช้ได้ทุกอย่าง ทั้งเรื่องทางโลก และทางธรรมะ หรือจะใช้ในฝ่ายผิดก็ได้ เป็นมิจฉาสมาธิ ใช้เอาเปรียบผู้อื่น หลอกลวงผู้อื่น แสดงฤทธิ์เดช ฉ้อฉล หรือทำให้คนอื่นตาย ถ้ามาใช้อย่างถูกต้อง ไม่เบียดเบียนใครก็เป็น สัมมาสมาธิ ถ้าใช้ดับกิเลสได้ก็เป็น อริยะสมาธิ เมื่อเราพูดกันเรื่องสมาธิโดยทั่วไป ทุกคนมีอำนาจสมาธิได้ตามสัญชาตญาณ แต่มันไม่เพียงพอ จะให้เพียงพอก็ต้องฝึกขึ้นมา วัฒนธรรมการมีสมาธินั้นมีมาหลายหมื่นปีแล้ว และมันก็เจริญขึ้นมา โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย ที่เต็มไปด้วย ฤๅษีโยคี ใครฝึกสำเร็จแล้ว ก็เรียกว่า ผู้ฝึกสำเร็จ แต่ในที่นี้ก็ไม่ได้ดับกิเลส ก็แล้วแต่การฝึกของท่านจะเป็นอย่างไร ประสงค์อย่างไร มันก็เลยมีการนำมาใช้ในวิธีต่างๆ ตามที่จะนำมาใช้กันได้ นำมาหาความสุขสบาย เรื่องฤทธิ์เดช หรือจะเอามาเป็นเรื่องทำจิตใจให้ดี จำเก่ง คิดเก่ง ตัดสินใจเก่ง คนในสมัยนี้จึงต้องการกันมาก มันก็มีประโยชน์อย่างมาก และทำให้ปัญญามีขึ้นมา ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาก็ฟันอะไรไม่เข้า มันก็เลยเป็นคู่กันว่า สมาธิ ปัญญา บางทีก็เรียกชื่ออื่นว่า สมถวิปัสสนา มันแยกจากกันไม่ได้ ดังนั้นเราต้องรู้จักใช้สมาธิในวิธีทางที่ถูกต้อง เป็นสัมมาสมาธิ แม้ในเรื่องทำมาหากินอะไรก็ตาม ถ้าใช้เพื่อดับทุกข์ เรียกสัมมาสมาธิก็ได้ แต่ถ้าสมาธิเฉยๆ มันไม่แน่ จะเป็น มิจฉา หรือ สัมมาสมาธิ ก็ได้ ขอให้ครูเข้าใจสมาธิ แล้ววันหลังจะพูดเรื่องอานาปานสติ และสมาธิภาวนา เพราะมันเป็นเรื่องยาว ละเอียด พูดแค่สมาธิคำเดียว คราวนี้ไม่แน่ใจว่าผู้ฟังจะจำได้ทั้งหมด แล้วก็หมดเรื่องการพูดสมาธิล้วนๆ คำนี้แปลว่าตั้งมั่นอย่างครบถ้วน สมะ แปลว่า สม่ำเสมอ แล้วก็ อธิ แปลว่า ตั้งมั่น มีแล้วโดยสัญชาตญาณ โดยธรรมชาติ แต่ไม่พอ แล้วก็ฝึกโดยวิธีต่างๆแล้วแต่ประสงค์ จะฝึกให้ยิงปืนแม่น ขว้างแม่นก็ได้ เล่นหมากรุกเก่งก็ได้ จะเอาความหมายไหน ประโยคไหนไปสอนนักเรียนว่าสมาธิล้วนๆคืออะไร คือสัญชาตญาณชนิดหนึ่งที่ต้องฝึกให้เพียงพอ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นกิเลส แล้วอันตราย อย่าให้อำนาจสมาธิตกไปฝ่ายกิเลส ให้ตกในฝ่ายประโยชน์ ให้สำเร็จประโยชน์กันทุกคน หมดเรื่องพูดแล้ว จึงขอจบการบรรยายแต่เพียงเท่านี้

http://www.vcharkarn.com/varticle/17845

. . . . . . .