จงมีตนเป็นสรณะ โดย พุทธทาสภิกขุ

จงมีตนเป็นสรณะ โดย พุทธทาสภิกขุ

ได้ประโยชน์จากธรรมะ มีธรรมะคุ้มครอง มีนิพพานน้อยๆของท่านเองคุ้มครอง ดับซึ่งไฟโรคะ โมหะ โทสะ เป็นนิพพานที่คุ้มครอง แล้วเป็นสุข ทุกทิวาราตรีนี่เป็นการเที่ยวไปของธรรมะ เที่ยวโลกของพระธรรม อยู่ด้วยพระธรรม พระธรรมคุ้มครอง

หน้าที่ 1 – จงมีตนเป็นสรณะ
ถึงท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมะทั้งหลาย อาตมาถือโอกาสแสดงธรรมด้วยการบรรยายจากธรรมดาเพื่อสำเร็จประโยชน์โดยสะดวก เดี๋ยวนี้ท่านมานั่งอยู่ในสถานที่ในลักษณะเช่นนี้ ในโอกาสที่ท่านทั้งหลายทำกันในสิ่งที่เรียกว่า ทัศนาจร จึงขอให้จำ จำในความรู้สึกว่า เดี๋ยวนี้เราได้นั่งกลางดิน โอกาสที่จะนั่งกลางดินอย่างนี้มีน้อย คนที่นั่งกลางดินมักจะโกรธ ขัดใจว่าไม่สมเกียรติ เป็นต้น นี่มันคนโง่ เพราะว่ากลางดินนี้แหละเป็นสิ่งสูงสุด ท่านพระพุทธเจ้า ประสูติและตรัสรู้ก็กลางดิน สอนแสดงธรรมส่วนมากก็กลางดิน อาจกล่าวได้ว่า พระไตรปิฏกทั้งหลายมันเกิดขึ้นกลางดิน สอนแสดงธรรมที่ไหนก็กลางดิน เดินทางก็กลางดิน ที่อยู่ของท่านพระพุทธเจ้าก็กลางดินจนถึงท่านดับขันธ์ปรินิพพานก็กลางดิน เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรที่ไม่กลางดิน เราควรจะพอใจในสิ่งที่เรียกว่า แผ่นดิน

ฉะนั้นก็ขอให้จำใส่ใจว่า เรามานั่งกลางดินซึ่งเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานที่กลางดิน ถ้าทำใจได้อย่างนี้แล้ว มันจะง่ายต่อธรรมะอย่างยิ่ง เพราะไม่ทะเยอทะยาน เจอแต่สิ่งที่ดี แต่ที่นิยมกันว่า สวยงาม หรูหรา มีเกียรติ ล้วนแต่เป็นเครื่องส่งเสริมกิเลสทั้งนั้นและเมื่อนั่งกลางดินอย่างนี้ ก็ไม่มีโอกาสส่งเสริมกิเลส เมื่อไปแสวงหาที่สวยงามสำราญใจ มันส่งเสริมกิเลส ควรพยายามอยู่กันให้ต่ำๆ จิตใจจะได้เป็นในทางสูง ถ้าเป็นอยู่ทางกายในทางสูงเพราะกิเลส จิตใจมันก็ลงต่ำ ฉะนั้นช่วยกันระมัดระวังให้ดี ให้มีการกระทำที่ทำให้จิตใจสูงไว้เสมอ ไม่วาทำอะไร ทำหน้าที่ทุกอย่าง ทำมาหากิน การเป็นการอยู่ แสวงหาทรัพย์อะไรต่างๆให้เป็นในลักษณะที่ว่า ต่ำ, สันโดษ หรือพอดี อะไรอะไรก็อย่าให้มันเกินพอดี ทุกอย่างจะหามา มีไว้ เก็บรักษาไว้ อย่าให้เกินพอดีอย่างนี้มันจะถูกต้อง ชีวิตจะไม่เป็นทุกข์ กินเก็บแต่พอดี ถ้ามีเหลือก็ช่วยผู้อื่นบ้าง ลดกิเลสลง ถ้าเอาเกินพอดี มันก็ไม่มีวันพอ มันก็กินหมด มันก็ส่งเสริมกิเลสให้ยิ่งๆขึ้นไป ถ้ามันกินเก็บไม่พอ มันก็เดือดร้อน ฉะนั้นถ้าเราเป็นอยู่อย่างพอดี คือไม่มีส่วนเกินจะดีมาก มันต้องตามหลักธรรมที่เรียกว่า มัชฉิมาปฏิปทา คือความพอดี ก็แปลว่าอยู่ตรงกลาง คือ การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ และเราจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมตลอดเวลา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อัตตทีปา อัตตสรณา อนันญสรณา จงมีตนเป็นที่พึ่ง จงมีตนเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย ถ้ามีตนเองมีที่พึ่ง ต้องทำให้ตนเองมีธรรมะ เพราะว่าเราทำให้ตนมีทุกข์ ฉะนั้นเราต้องช่วยตนเองด้วยตนเอง แล้วปฏิบัติธรรมด้วยตัวเอง มันก็ช่วยตัวเองได้ ดังนั้นคำว่า จงมีตนเป็นที่พึ่ง กับคำว่า มีธรรมะเป็นที่พึ่ง มันก็คือเรื่องเดียวกัน เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยเข้าใจความหมายของคำว่า “ธรรมะ” มันคือคำพิเศษ แปลกประหลาด กว้างขวาง ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะ ขอให้จำไว้ด้วยว่า ช่วยศึกษาธรรมะในอนาคตว่าธรรมะ คือ ธรรมชาติทั้งหลาย คือ กฎของธรรมชาติทั้งหลาย คือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั้นๆ คือ ผลจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ ถึงว่าจะมีตนเป็นที่พึ่งและมีธรรมะเป็นที่พึ่ง ธรรมะคือการทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมชาติที่มีกฎของมันเองว่า ทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น แล้วผลจะเกิดอย่างนั้น ส่วนที่มนุษย์ต้องการก็ คือคำว่า “ดี” ส่วนที่มนุษย์ไม่ต้องการคือคำว่า “ชั่ว” ปฏิบัติธรรมที่มนุษย์ควรจะปฏิบัตินั้นเรียกว่า หน้าที่ของมนุษย์ ความหมายนี้จะเป็นที่พึ่งของเราได้ มีตนเป็นที่พึ่งคือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง คือเราต้องปฏิบัติหน้าที่ของมนุษย์ ธรรมะเป็นหน้าที่ของมนุษย์ เพื่อมนุษย์ และโดยมนุษย์คนนั้น ถึงจะเรียกว่า มีตนเป็นที่พึ่งมีธรรมะเป็นที่พึ่ง นี้คือพระพุทธศาสนา แต่ถ้ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งที่เรียกว่า ไสยศาสตร์ แล้วที่ว่าเรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ก็หมายความว่า เราเองต้องปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ตามหลักของพระธรรม ตามตัวอย่างของพระสงฆ์ ท่านพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้เสมอ ว่าให้ตนเป็นที่พึ่ง แล้วที่เราพูดว่า พุทธธัง สรณัง คัจฉามิ นั้น เราพูดขึ้นเอง เราตั้งขึ้นตามความรู้สึกของเรา พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยตรัสอย่างนี้ คือพึ่งผู้อื่น และท่านยังตรัสอีกว่า การพึ่งตนเองคือการปฏิบัติธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ของมนุษย์ ฉะนั้นเราต้องปฏิบัติหน้าที่ของมนุษย์ที่เหมาะสมกับตนเองให้ดีที่สุด เป็นเด็กๆก็ทำหน้าที่ของเด็กให้ดีที่สุด เป็นวัยรุ่น หนุ่มสาว พ่อ แม่ คนแก่ คนเฒ่า ก็ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด นี้ถึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ของมนุษย์ตามกฎของธรรมชาติ ถ้ามันไม่ปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ มันจะวินาศเลย ลองดูมันไม่กินอาหาร ไม่ขับถ่าย ไม่บริหารร่างกาย ตามกฎของธรรมชาติ มันก็ตายมันอยู่ไม่ได้ ทุกอย่างต้องทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ตามที่ควรจะกระทำ มันมีอยู่กี่อย่าง ก็ทำให้ครบทุกอย่างเถิด เช่น การทำมาหากิน การเก็บ การใช้ ก็มีเป็นอย่างๆไป จงกระทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติจึงจะอยู่รอดได้ ตัวรอดก็สุขสบาย คราวนี้หน้าที่ขั้นต้นก็หมดแล้ว ก็เลื่อนไปหน้าที่อันดับสอง คือ การปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆตามที่มนุษย์นั้นจะกระทำได้ จนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน ตอนนี้จึงจะเป็นที่สุด จุดจบของจริง ดังนั้นหน้าที่จึงแบ่งได้ป็น 2 ระดับ คือหนึ่ง หน้าที่ที่ทำให้ชีวิตอยู่รอดได้ สองคือ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดต่อไปอีก ต้องทำให้สมบูรณ์ตามระดับของตนตามที่เป็นอยู่ แล้วเมื่อทำหน้าที่ของตนแล้ว ก็ควรจะพอใจว่า เราเป็นคนที่มีธรรมะ หรือที่โลกเขาว่า เราเป็นคนดีที่ปฏิบัติธรรมะ พอใจ แล้วสบายใจ แล้วก็เป็นสุข สุขที่แท้จริงคือการได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ในเมื่อคนมันโง่ แสนโง่ ว่าหน้าที่นั้นควรจะพอใจแล้วเป็นสุข นี่เลยทำหน้าที่คือซื้อเหล้ากิน รวบรวมเงินแล้วเป็นทาสกามารมณ์ทั้งหลาย, กิเลส, ความเพลิดเพลิน มันเลยไม่ได้รับความสุขที่แท้จริง แต่ได้รับความสุขที่หลอกลวงคือ ความเคลิบเคลิ้ม ความสุขที่แท้จริง คือการได้ปฏิบัติหน้าที่ และได้ปฏิบัติธรรมะนั้น ดังจะเห็นได้ว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้สตางค์เลยเพราะมันเป็นสุขที่ได้ทำหน้าที่การงาน ชาวนาก็ไถนาอยู่ คนถีบสามล้อก็ถีบอยู่ ชาวสวนก็ทำสวนอยู่ ทำแล้วพอใจ สบายใจ สุขใจ นี้เรียกว่าปฏิบัติธรรมะ แต่ถ้าพอเริ่มใช้สตางค์ก็เป็นสุขหลอกลวง ใช้สตางค์มากเท่าไร ก็ยิ่งสุขหลอกลวงมากเท่านั้น เพราฉะนั้นคนที่หาเงินมา แล้วถลุงไปกับความเพลิดเพลิน เงินมันก็หมด อาตมาอยากให้แยกออกให้ชัดกันสองฝ่าย ว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงิน ความสุขที่หลอกลวงต้องใช้เงินเพื่อกิเลสต่างๆ

เมื่อเราทำงานอยู่เราควรจะพอใจแล้วเป็นสุขที่นั่น จะเป็นคนชั้นต่ำสุด จะต้องกวาดถนนก็ตาม ถ้ามีความคิดที่ถูกต้อง ศึกษาธรรมะที่ถูกต้อง รู้ธรรมะจริง มันก็จะรู้ว่านี่คือการปฏิบัติธรรมะ ก็พอใจ แล้วก็เป็นสุข ไม่ต้องใช้เงิน เงินมันก็เหลือด้วย จะเห็นว่าความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงิน แต่ถ้าต้องไปทุจริต ไปจี้ ไปปล้นต่างๆ พวกข้าราชการที่คอรัปชั่น เพราะสาเหตุนี้ทั้งนั้น ก็เพราะความสุขที่หลอกลวงต้องใช้เงินเพื่อกิเลส มันใช้เงินหมด เงินไม่พอใช้ คดโกง คอรัปชั่น ดังนั้นต้องศึกษาสังเกตเรื่องนี้ให้ดี มันควรจะรู้กันแล้ว ทีแรกไม่รู้ก็ตามใจ แต่เดี๋ยวนี้ต้องรู้กันแล้ว ถ้าไม่รู้ก็ไม่ใช่พุทธบริษัท เป็นคนโง่ เพราะ พุทธะ หมายความว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธบริษัท ก็หมายความว่า เป็นบริษัทของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธะในภาษาบาลี คือ ตื่นจากนอน ตื่นจากหลับ ถ้าหลับก็ไม่มีพุทธะ ถ้าตื่นก็มีพุทธะ เมื่อตื่น นี่ก็รู้ ก็ทำ แล้วก็เบิกบาน ดังนั้นถ้าไม่รู้ก็ไม่ใช่พุทธบริษัท เป็นคนโง่ เป็นอะไรก็ไม่รู้

หน้าที่ 2 – ความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงิน
ดังนั้นขอให้พุทธบริษัททั้งหลายรู้ความจริงสักทีว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงิน เงินเหลือด้วย ส่วนความสุขที่หลอกลวงมันต้องใช้เงิน เงินไม่พอ ความสุขที่แท้จริง มันหยุด มันเย็นมันไม่โลดเต้น ความสุขทางกามารมณ์ มันโดดโลดเต้น มันเหนื่อย มันร้อน กระวนกระวาย ถ้าเป็นพุทธบริษัท มันควรจะได้รับความสุขที่แท้จริง แต่ถ้าความสุขไม่แท้จริง มันก็ตื่นไม่ได้ รู้ไม่ได้ มันหลับตลอดเวลา มันโง่ เป็นอวิชชาตลอดเวลา ควรเริ่มศึกษา รู้ และเข้าใจ ธรรมะชนิดนี้ ซึ่งเป็นธรรมะอันแท้จริงที่จะเป็นที่พึ่งไปจนตายตามพระบาลีที่ว่า เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นที่พึ่งคือมีธรรมะเป็นที่พึ่งดังนี้ ถ้าเรามีทุกข์ เราต้องช่วยเหลือตนเอง แก้ไขตนเอง เอาธรรมะเข้ามาปฏิบัติ แล้วความทุกข์ก็จะหายไป ให้ทุกคนตั้งใจ ปฏิบัติธรรมะตามหน้าที่ของแต่ละคน เป็นเด็ก ก็ทำตามธรรมะของเด็ก เป็นลูก เป็นพ่อแม่ เป็นภรรยา เป็นสามี ก็มีธรรมะเป็นของตนเอง อาตมากล้าพูดว่าไม่ต้องมาวัดก็ได้ การปฎิบัติธรรมะไม่ต้องมาวัดก็ได้ มีหน้าที่การงานอยู่ที่ไหนการมีธรรมะก็อยู่ที่นั่น ข้าราชการก็มีธรรมะอยู่ที่โต๊ะทำงานนั่น คนถีบสามล้อก็มีหน้าที่ตรงกลางถนนนั่น มีธรรมะคือหน้าที่ มีหน้าที่คือธรรมะ ถ้าจริง จิตใจมันรู้จริง มันก็จะพอใจทันทีว่ามีธรรมะ มีพอใจมันก็เป็นสุขทันทีด้วยเหมือนกัน ทุกคนจะเห็นได้ว่า ความสุขนั้นเกิดมาจาดความพอใจเสมอไป และมันก็ต้องรู้ว่าความพอใจในบางทีมันก็โง่ พอใจอย่างโง่ หลอกลวง ก็เหมือนกับมีความสุขอย่างโง่ อย่างหลอกลวง เมื่อคนพอใจในความเลว ความชั่ว นั่นมันก็เกิดความสุขอย่างลวง อย่างโง่ เหมือนพวกโจรมันพอใจในหน้าที่ของโจร ก็เป็นความสุขลวง จะมีความสุขแท้จริงได้อย่างไร อยู่อย่างหวาดระแวง จะไปทำพอใจอย่างชั่ว ก็เกิดความสุขลวง แล้วสุดท้ายก็ฆ่าตัวเองนั่น

เราจงมีความพอใจที่สะอาดที่ถูกต้อง ใครมีหน้าที่อย่างไรก็ทำหน้าที่อย่างนั้น ชาวนาทำนา ชาวสวนทำสวน พ่อค้าก็ค้าขาย แต่ขอให้พอใจในหน้าที่ของตน คราวนี้ไม่ต้องเสียใจว่า กรรมมันตกแต่งเรามาให้เป็นลูกจ้าง จะจนก็ทำไป เราก็มีพอใจเหมือนกัน สุขเหมือนกัน กับมหาเศรษฐี พอใจเหมือนกัน ถ้าเราฉลาด ก็คือไม่โง่ มันไม่โง่อย่างเดียวเราก็แก้ปัญหาได้ จะมีความสุขได้แม้เราจะเป็นคนยากจน เมื่อเรายากจน ถ้าเราพอใจกับงาน สนุกกับงาน มันก็ทำได้มาก สุดท้ายก็พ้นจากความยากจนโดยไม่ต้องสงสัย อย่างคนที่เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ที่ตั้งต้นได้ด้วยไม้พายอันเดียว มีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะคนจีนที่มาจากเมืองจีนยิ่งเก่งนัก ด้วยไม้พายอันเดียว แต่ตอนนี้เป็นมหาเศรษฐี อยู่ที่นี่ก็มี อย่าออกชื่อเลย อยู่ที่ไหนก็มี เพราะว่าเขาพอใจในการงาน สนุกสนาน มันก็ทำได้มาก มันก็เหลือกินเหลือใช้ เพราะว่าเป็นสุขกับงาน ไม่เอาเงินไปซื้อหาอบายมุข กามารมณ์ เดี๋ยวนี้ส่วนมาก เอาเงินไปใช้ส่วนเกิน เกินกิน เกินอยู่ แต่งเนื้อ แต่งตัวเกิน รวมถึงทัศนาจรเกิน เที่ยวเกิน ก็รวมอยู่ในนี้ด้วย ใช้เงินไม่คุ้มค่า ยมบาลตีตายเลย ระวังให้ดี ใช้เงินให้คุ้มค่าของเงิน อย่าไปหวังเรื่องสนุกสนานเกินแล้วใช้เงินให้คุ้มค่าของเงิน นั่นคือ บาปอย่างยิ่ง แต่ละคนควรรับผิดชอบตัวตนของตนเอง อย่าใช้เงินชนิดที่ไม่คุ้มค่า อย่างทัศนาจร คุณได้อะไรคุ้มค่าเงินที่ใช้ไป มันต้องดูว่าได้อะไรบ้าง หนึ่งคือ ความเพลิดเพลิน หรือ เที่ยวหาซื้อของเกิน ตัวอย่าง ที่หาดใหญ่ของถูกแล้วก็เดินทางไปซื้อ ลองสังเกตของที่ซื้อมา ล้วนเป็นของเกินทั้งสิ้น อย่างนี้เรียกว่า ทัศนาจรหาซื้อของเกิน หรือทัศนาจรไปหาบุญ คือไปเที่ยวทำบุญ ทอดผ้าป่า ทำตามความเชื่อถือ ยึดถือ หรือว่าทัศนาจรได้สุขภาพอนามัย มันก็ได้ คือว่า ออกจากบ้านมันจะไม่มีจิตวิตกกังวล มันสบาย หรือทัศนาจรเพื่อความรู้ เที่ยวไปจะรู้สึกรู้เห็นภายในว่ามันสบาย จิตสบาย แล้วเมื่อออกจากบ้าน มันไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของตน จิตจะว่าง มันก็สบาย เที่ยวทะเล เที่ยวภูเขา มันว่างจากยึดถือตัวตน ทำให้สบาย นั่นคือ ธรรมะชั้นสูง ในเมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ย่อมเป็นสุขอย่างยิ่ง มานั่งอยู่ตรงนี้ย่อมเป็นสุขกว่าที่บ้าน ที่บ้านมีหน้าที่ความรับผิดชอบยึดว่าเป็นตน มันก็จะเป็นชีวิตที่หนัก แต่พอมาเที่ยวสวนโมกข์ มานั่งบนนี้ มีจิตว่างจากยึดมั่นถือมั่น เราก็สบาย ถ้ารู้สึกจากจิตใจ ไม่ใช่จากการอ่านหนังสือ ที่มานั่งในที่ไม่มีอะไรยึดถือเป็นของตน มันก็สุข สุขที่ไม่ต้องใช้เงิน เป็นสุขในทางของพระนิพพาน ทำให้เราเข้าใจเรื่องพระนิพพานได้ง่ายขึ้น ถ้าทัศนาจรแล้วมานั่งอย่างนี้ แล้วคิดได้อย่างนี้ มันก็เป็นทัศนาจรที่รู้ธรรมะ อย่างนี้ ยมบาลไม่เล่นงาน หรือว่าเที่ยวไปตามที่ต่างๆ ขอให้ป็นความรู้ทั้งนั้น ส่วนพวกที่ทัศนาจรตามจังหวัดต่างๆจะ คิดว่าพวกนี้เป็นพวกบ้าส่วนเกิน ไปที่ไหนให้สังเกตดูให้ดีว่า มีแต่คนบ้าส่วนเกินทั้งนั้น แสวงหาสิ่งไม่จำเป็นทั้งนั้น อยู่เกิน กินเกินทั้งนั้น ถ้าทัศนาจรไปดูอย่างนี้ ไปดูของจริง ก็จะเป็นทัศนาจรที่คุ้มค่า คือว่าใช้เงินคุ้มค่า ได้รู้ได้เห็นจริงๆ ก็จะเป็นทัศนาจรเพื่อความรู้ ก็คือจะเจริญในด้านจิตใจ เห็นความจริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอย่างไร และเรียนรู้จากภายในของตนเองว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น มันสบายอย่างนี้ เมื่อเราเริ่มออกจากบ้าน เราปลดปล่อยจากตัวกูของกู แล้วมันจะเริ่มสบาย ถ้าจะศึกษาให้ดีว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่น จะไม่มี่ทุกข์ เป็นการดับทุกข์ การทัศนาจรอย่างนี้จะเกิดธรรมะ เรียนรู้จากจิตใจของเราเอง ที่เรียกว่า สันทิฏฐิโก คือรูสึกอยู่ด้วยจิตใจของตนว่ามันเป็นอย่างไร การเรียนรู้ด้วยธรรมะต้องรู้จากจิตใจของตนชนิดสันทิฏฐิโก จึงเป็นธรรมะที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า โดยบทสวดที่สวดทุกวันว่า สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม คือ ธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ดีแล้ว, สันทิฏฐิโก คือ เป็นลักษณะที่เห็นรู้ได้ด้วยตนเอง, อะกาลิโก คือ ไม่ขึ้นอยู่กับเวลา, เอหิปัสสิโก คือ ดีจนเรียกใครมาดูได้, โอปะนะยิโก คือ เหมาะที่จะมีไว้ในตน, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ คือ วิญญูชนเรียนรู้ได้เฉพาะตน คือมันรู้แทนกันไม่ได้ เหมือนเราจะกินข้าว แต่ให้คนอื่นกิน มันแทนกันไม่ได้ ฉะนั้นใครเห็นคนนั้นมันก็เห็น นี่คือธรรมะในพระพุทธศาสนา ขอให้ได้มีโอกาสดื่มธรรมะ ได้ชิมธรรมะโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสุขที่แท้จริง ไม่หลอกลวง ด้วยจิตใจของตนเองว่า ถ้าเราออกมาจากความยึดมั่นถือมั่น ก็จะสบายแบบนี้ บอกไม่ถูก จิตใจจะรู้รสว่ามันสบายอย่างไร อย่างมานั่งตรงนี้ สบายอย่างไรก็ขอให้ได้ชิม แต่ถ้าเราหวนกลับไปคิดถึงบ้านมันก็หมดเหมือนกัน

หน้าที่ 3 – มีนิพพานน้อยๆของท่านเองคุ้มครอง
ฉะนั้นการไม่ยึดมั่นถือมั่น จะเกิดความสุขที่แท้จริง ถ้าปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ได้ ก็เป็นพระอรหันต์ และเข้านิพพานได้ ยิ่งนิพพานนั้นไม่ต้องใช้เงิน ท่านพระพุทธเจ้าตรัสว่า นิพพานเป็นของให้เปล่าไม่คิดเงิน เราจึงจะต้องรู้จักสละความยึดมั่นถือมั่นออกไปเสีย ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องซื้อหา สร้างนั่น สร้างนี่ มันก็จะหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น จิตก็จะอิสระ สบาย หยุด เย็น ไม่มีอะไรให้กระวนกระวาย ให้รู้ด้วยว่า นิพพานแปลว่า เย็น คือการดับไปแห่งของร้อน กิเลส ราคะ โมหะ โทสะ เป็นของร้อน ถ้าร้อนนี้ดับไปก็กลายเป็นของเย็น เย็นแล้วก็นิพพาน นิพพานเป็นบุญคุณอยู่มากที่ช่วยให้ชีวิตอยู่ได้ ถ้าไฟของ ราคะ โมหะ โทสะ มันลุกตลอด มันก็บ้า ไม่ได้มานั่งอยู่อย่างนี้ ถ้ากิเลสมันมีอยู่เสมอ รัก เกลียด กลัว กังวล อิจฉา ริษยา อีกไม่นาน นอนไม่หลับ เป็นโรคประสาท บ้า แล้วจะตายเอา สิ่งที่ว่างจากกิเลสเหล่านี้มันช่วยเราได้คือ นิพพาน คือ ระยะเวลา ภาวะ ที่ปราศจากความรบกวน จากราคะ โมหะ โทสะ มันจะหล่อเลี้ยงชีวิตเราให้อยู่รอดได้ เวลาหลับกิเลสจะไม่รบกวน กิเลสจะรบกวนก็ต่อเมื่อเราโง่ ความทุกข์เกิดเมื่อเราโง่ ในทางอักษะ คือทางกระทบ สิ่งต่างๆที่มากระทบทางตาบ้าง หูบ้าง ลิ้นบ้าง ผิวหนังบ้าง เดี๋ยวสวยงามทางตา เดี๋ยวไม่สวยงามทางตา ไพเราะ หรือไม่ไพเราะ อร่อยหรือไม่อร่อย หอม หรือเหม็น เข้ามากระทบจิต นี่เรียกว่า อักษะ แล้วถ้าใครมันโง่ทางอักษะ นี่ก็เป็นทุกข์ ถ้ามีสติปัญญา พอมีอะไรมากระทบก็ไม่เป็นทุกข์ บางทีก็เข้ามาเฉยๆ บางทีก็ไม่เข้ามาเฉยๆ เช่น รูปของเพศตรงข้าม กลิ่นของเพศตรงข้าม อันนี้มันไม่เฉย มันปรุงทำให้เกิดเวทนา สุขเวทนา ต้องการไปอย่างหนึ่ง ทุกขเวทนา ต้องการไปอีกอย่างหนึ่ง ความต้องการเหล่านี้เรียกว่า ตัณหา พอมันเกิดความต้องการ มันจะเกิดความรูสึกอีกอย่างหนึ่งคือ อุปาทาน คือตัวกูและอยากได้เป็นของกูพอมันเกิดขึ้นแล้วเป็นทุกข์นั้น ยึดมั่นถือมั่น นั้นเรียก อุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดก็เป็นทุกข์ในสิ่งนั้น ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 เพราะสิ่งต่างๆรวมกันเป็น ขันธ์ 5 หรือสิ่งที่มากระทบ ตา หู ลิ้น กาย ใจ เป็นของหนัก เป็นของร้อนเป็นของครอบงำให้มืด อย่างนี้ไม่เป็นนิพพาน คนโง่เมื่อมีอักษะ คือโง่เมื่อมีอะไรเข้ามากระทบตา หู ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้นให้ฉลาด อย่าไปหลงโง่กับมัน แต่ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ มันช่วยไม่ได้ ยังต้องหลงรัก หลงชอบ หลงเกลียดอยู่ มันก็จะเกิดอุปาทาน เป็นทุกข์ ก็สมน้ำหน้าคนโง่ ใครก็ช่วยไม่ได้ จะไปอ้อนเทวดาไม่ให้ทุกข์ก็ไม่ได้ เพราะมันโง่ด้วยภายในของมันเอง ต้องเกิดทุกข์ภายในของมันเอง ให้หมอผีช่วยไม่ได้หรอก ให้เขาหลอกให้หายกลุ้มใจสักพักเดี๋ยวก็มาอีก ในที่สุดคนๆนั้นก็เป็นประสาท เพราะว่าไม่รู้ธรรมะ ไปยึดถือที่พึ่งข้างนอก พึ่งไสยศาสตร์ มันพึ่งไม่ได้ คนเหล่านี้เป็นทุกข์ เสียเงินเปล่าๆด้วย ประสาท บ้า ทรมานใจ เป็นโรคกระเพาะ เป็น โรคต่างๆ แม้แต่โรคมะเร็ง เมื่อมีความผิดปกติภายในจิตใจคน มันจะเป็นโรคอะไรก็ได้ พอจิตผิดปกติ ประสาทผิดปกติ ร่างกายผิดปกติ มันก็เกิดช่องทางที่เชื้อโรคเข้ามาในร่างกายได้ ถ้าจิตปกติ ประสาทปกติ ร่างกายปกติ มันก็ไม่มีโอกาสที่เชื้อโรคเข้ามาในร่างกายได้ ซึ่งธรรมะชั้นสูงจะสอนเรื่องจิตปกติ ถ้าปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาจะปกติ อย่างวิชาหมอยังเชื่อ ถ้าจิตผิดปกติ มันจะสร้างสารเคมีขึ้นมาในระบบเลือด ระบบต่อมต่างๆ เพราะรัก โกรธ เกลียด อาลัยอาวรณ์ เรื่องเลวเหล่านั้น สังเกต คนเจ้าอารมณ์ ก็เป็นโรคกระเพาะทั้งนั้น มันจะเป็นโรคอะไรก็ได้ ถ้าจิตปกติ ประสาทปกติ ร่างกายปกติ มันก็กินยาพิษเข้าไปได้ เหมือนพวกโยคีทั้งหลายที่กินยาพิษเข้าไป มันทำให้ผิดปกติแต่ในเมื่อควบคุมจิตเป็นปกติได้ ยาพิษมันก็ทำอะไรไม่ได้ โยคีมันเลยไม่ตาย นี่คือ อานิสงส์ของจิตที่ปกติ ถ้าเรามีจิตที่ปกติ มันก็เป็นทุกข์ไม่ได้ อุตส่าห์ฝึกฝน ปฏิบัติ ระบบภาวนา เอาไว้ให้มากๆ มันจะรบกวนจิตได้ยาก ไม่โกรธ ไม่อิจฉาริษยา ไม่อาลัยอาวรณ์ อะไรจะมาทำให้รักก็ไม่รัก โกรธก็ไม่โกรธ ไม่วิตกกังวล ยกตัวอย่าง อิจฉาริษยา เมื่อมีร่างกายมันจะสร้างสารเคมีชนิดหนึ่งทำให้เกิดโรคกระเพาะ และไม่ช้าคนๆนั้นก็ต้องตายไป ขอให้มีธรรมะให้มาก มันจะป้องกันความผิดปกติทางจิต สบาย ไม่รบกวนจากกิเลส เป็นนิพพาน มีชีวิตเย็นอยู่เกือบตลอดเวลา ชั่วขณะ หรือ ตลอดเวลา ในปัจจุบันคนเป็นโรคประสาทกันมาก ในที่นี้อาจมีคนเป็นโรคประสาทอยู่ด้วย ต้องอายแมว เพราะแมวไม่เป็นโรคประสาท ไม่ต้องกินยานอนหลับ แต่คนต้องกิน ต้องละอายแมว เพราไม่มีธรรมะที่ทำให้จิตปกติ พอไปทัศนาจรที่ไหนก็ดู จะมีคนที่จิตผิดปกติ หงำๆเงอะๆ หรือทำอะไรที่ไม่น่าดูตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยๆ ลองไปศึกษาดู ถ้าจิตปกติแล้วจะไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรเป็นตัวกูของกู เป็นอันว่าเราได้พูดกันถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ที่พึ่ง อัตตทีปา อัตตสรณา อนันญสรณา เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย, ธรรมะทีปา ธรรมะสรณา อนันญสรณา เธอทั้งหลายจงมีธรรมะเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย ธรรมะเป็นธรรมชาติ เป็นกฎธรรมชาติ เป็นหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ และเป็นผลตามกฎธรรมชาติ จิตนี้ก็หลุดพ้นจากทุกข์ เรื่องก็จบ ถ้ามีทุกข์ ก็จบที่ไม่ทุกข์ การอยู่ในความทุกข์เหมือนวัฏฏสงสาร คือ มีทุกข์ทั้งวันทั้งคืน ถ้าไม่ทุกข์ก็ไปนิพพาน ถึงจะไม่เป็นนิพพานโดยสมบูรณ์แต่ก็เป็นนิพพานชั่วคราว ชั่วขณะที่คุ้มครองเรา คุ้มกะลาหัว ไม่ต้องเป็นบ้า ประสาท โรคจิต หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ประโยชน์จากธรรมะ มีธรรมะคุ้มครอง มีนิพพานน้อยๆของท่านเองคุ้มครอง ดับซึ่งไฟโรคะ โมหะ โทสะ เป็นนิพพานที่คุ้มครอง แล้วเป็นสุข ทุกทิวาราตรีนี่เป็นการเที่ยวไปของธรรมะ เที่ยวโลกของพระธรรม อยู่ด้วยพระธรรม พระธรรมคุ้มครอง ดังพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นที่พึ่ง การบรรยายสมควรแก่เวลาแล้ว ท่านทั้งหลายเข้าใจได้เท่าไร ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งอย่างสูงสุด แก่ท่านทั้งหลายมิประมาณ อาตมาขอยุติการบรรยาย และขอให้ท่านมีความกล้าหาญในการปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นที่พึ่งแก่ตนสืบไป

http://www.vcharkarn.com/varticle/16292

. . . . . . .