ภาพปริศนาธรรม – ภาพของเสียงตบมือข้างเดียว :พุทธทาสภิกขุ

ภาพปริศนาธรรม – ภาพของเสียงตบมือข้างเดียว :พุทธทาสภิกขุ

ภาพปริศนาธรรม – ภาพของเสียงตบมือข้างเดียว
รวมบทความ – พุทธทาส อินทปัญโญ

ภาพที่ปรากฎอยู่นี้เรียกว่า “ภาพของเสียงตบมือข้างเดียว” เสียงของมือที่ตบข้างเดียว. ฟังดูก็ชวนให้งงเต็มที ตบมือข้างเดียวจะตบได้อย่างไร จะดังได้อย่างไร ก็คอยดูต่อไป มือโง่ไม่มัวตบอยู่ข้างเดียว หรือจะเป็นมือฉลาดที่รู้จักตบได้โดยไม่ต้องมีมืออีกข้างหนึ่ง. ขอให้ดูรายละเอียดในภาพนี้ด้วยว่า มือข้างหนึ่งมีลักษณะตบ มืออีกข้างหนึ่งไปกำเอาธูปไว้ พระพุทธรูปอยู่ตรงกลาง มีเครื่องบูชาพระพุทธรูปครบถ้วน. ทำไมเรียกว่ามือตบข้างเดียว ? เพราะว่ามืออีกข้างหนึ่งมันไม่ยอมตบด้วย.

ภาพนี้เป็นภาพของความที่จิตไม่รับเอาอารมณ์มาปรุงแต่งให้เป็นเรื่องเป็นราว อย่างนั้นอย่างนี้ ผู้ที่เรียนรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทมาแล้ว ก็จะรู้ได้เองว่า ใจความสำคัญมันมีอยู่ที่ว่า เมื่ออายตนะภายใน กับอายตนะภายนอกซึ่งเป็นของคู่กัน มาถึงกันเข้า จนเกิดวิญญาณรู้แจ้งขึ้นที่นั่นอยู่อย่างนั้น เรียกว่าเป็นการสัมผัส คือการกระทบกันระหว่างอายตนะภายในและอายตนะ

ภายนอก แล้วรู้สึกอยู่ รู้สึกอยู่ อย่างนี้เรียกว่ากระทบกันของทั้งสองข้าง เป็นผัสสะแล้ว ก็ปรุงเป็นเวทนา ยินดียินร้าย แล้วก็ปรุงเป็นตัณหาไปตามยินดียินร้าย แล้วก็ยึดมั่น ถือมั่นความหมายนั้นไปตามความยินดียินร้าย. ไอ้ความยึดมั่นนั่นเองปรุงให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูผู้ยึดมั่น และยึดมั่นเอามาเป็นของกู ความยึดมั่นจึงมีทั้งตัวกูและของกู ผลก็คือมีความทุกข์เพราะความยึดมั่น นี้เรียกว่ามือมันตบสองข้าง ตามธรรมดาสามัญ ไปจบลงที่ผลคือความทุกข์อันเป็นผลของการปรุงแต่งไปตามลำดับ. เหมือนกรณีธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไป หูได้ยินเสียงก็ไม่เอาเสียงมาปรุงแต่ง ให้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวไปตามธรรมชาติฝ่ายกิเลส จมูกได้กลิ่นก็ไม่เอามาปรุงแต่ง ลิ้นได้รสก็ไม่เอามาปรุงแต่ง ร่างกายได้สัมผัสสิ่งมากระทบกายก็ไม่เอามาปรุงแต่ง จิตได้ความรู้สึกคิดนึกอารมณ์อะไร ๆ ก็ไม่เอามาปรุงแต่ง มันกลายเป็นมีอยู่ข้างเดียวอย่างนี้ ก็เลยไม่มีเรื่อง ไม่มีการปรุงแต่งไปตามลำดับ จนเกิดความทุกข์. มือข้างหนึ่งไปถือธูปเสีย คือไปถือธรรมะเสีย ไปเป็นธรรมะเสีย มีความรู้ความฉลาดอย่างพอตัว ในอีกฝ่ายข้างหนึ่ง มีพระพุทธรูปหรือพระพุทธเจ้าอยู่ตรงกลางเป็นเครื่องทำให้เกิดความรู้ สำหรับการที่จะไม่กระทบกัน หรือจะไม่ปรุงแต่งกัน.

คำสอนในพระพุทธศาสนา มีใจความหัวใจสั้น ๆ ว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของตน” . ถ้าธรรมะนี้เข้ามา ธรรมะข้อนี้เข้ามา การปรุงแต่งก็จะไม่มี เพราะจะรู้สึกเกลียดหรือกลัวการปรุงแต่งที่จะทำให้เกิดความทุกข์ ในที่สุดก็ไม่มีความทุกข์ ไม่ทำการปรุงแต่งให้เกิดความทุกข์.

ทีนี้ที่เอามาอุปมาให้น่าตกใจ คืออุปมาเป็นเสียงของมือที่ตบข้างเดียว ว่าสำหรับผู้ที่มีปัญญาลึกซึ้งเพียงพอ จะคิดได้จะมองเห็นได้ว่า เสียงที่ตบด้วยมือข้างเดียวนั้น มันเป็นเสียงของการไม่ปรุงแต่ง เป็นเสียงของพระนิพพาน ดังก้องอยู่ทั่วจักรวาล ตลอดอนันตกาลทั้งปวง ไม่จำกัดสถานที่และเวลา. นี่เอากะเสียงของมือที่ตบข้างเดียวซี่. ถ้าเสียงของตบมือสองข้างของคนโง่ ๆ อะไรมาก็รับ อะไรมาก็รับ อะไรมาก็รับ มันตบมือสองข้างก็ดับเปาะแปะ ๆ อยู่ตรงนี้ไม่อาจจะดังไปทั่วจักรวาลได้…

ข้อความทั้งหมดนี้ สรุปได้เป็นคำกลอนดังต่อไปนี้ :-
มือฉันตบ ข้างเดียว ส่งเสียงลั่น
มือท่านตบ สองข้าง จึงดังได้
เสียงมือฉัน ดังก้อง ทั้งโลกัย
เสียงมือท่าน ดังไกล ไม่กี่วา
เสียงความว่าง ดังกลบ เสียงความวุ่น
ทั้งมีคุณ กว่ากัน ทางหรรษา
เสียงสงบ กลบเสียง ทั้งโลกา
หูของข้า ได้ยิน แต่เสียงนั้น

เสียงของโลก ดังเท่าไร ไม่ได้ยิน
เพราะเหตุวิญ- ญาณรับ แต่เสียงนั่น
เป็นเสียงซึ่ง ผิดเสียง อย่างสามัญ
เป็นเสียงอัน ดังสุด จะพรรณนา
มือข้างเดียว ตบดัง ฟังดูเถิด
แสนประเสริฐ คือจิต ไม่ใฝ่หา
ไม่ยึดมั่น อารมณ์ใด ไม่นำพา
มันร้องท้า เย้ยทุกข์ ทุกเมื่อเอย ฯ

คำสำคัญบางคำที่ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษว่า มือตบสองข้างดังเปาะแปะ ได้ยินไม่กี่วา. มือที่ตบข้างเดียวของจิตใจที่ประกอบไปด้วยธรรมะอันสูงสุดนั้น ได้ยินทั่วโลกและได้ยินตลอดอนันตกาล คือทุกหนทุกแห่ง และทุกเวลา.

เสียงความว่างดังกลบเสียงความวุ่น หมายความว่าการปรุงแต่งของสังขารเป็นความวุ่น มีเสียงอย่างความวุ่น. เสียงความว่างเป็นเสียงของนิพพาน ของการไม่ปรุงแต่ง เสียงความว่างที่ไม่มีเสียง สามารถจะกลบดับเสียงแห่งความวุ่น ซึ่งหนวกหูเอะอะ ๆ เต็มไปหมด มีคุณมากกว่ากัน. เสียงความว่างนั้นให้เกิดหรรษา คือความเป็นสุขชนิดแท้จริง ชนิดเยือกเย็นแท้จริง. เสียงความวุ่นนั้นน่ะล้วนแต่เป็นเสียงที่ออกมาจากความวุ่นวาย ความเร่าร้อน ความโกลาหล วุ่นวายแห่งการปรุงแต่ง.
คน ๆ หนึ่งได้ยินแต่เสียงสงบ เสียงที่ไม่มีเสียง เพราะว่าหูของเขามีสำหรับเสียงนั้น วิญญาณของเขาไม่รับเสียงซึ่งปรุงแต่งของอวิชชา ของกิเลสตัณหา หรือของอายตนะที่อยู่ใต้อำนาจของอวิชชา วิญญาณของเขาไม่รับเสียงนั่น แต่เสียงแห่งความไม่มีเสียงน่ะ วิญญาณของเขารับได้ดีที่สุด. เสียงที่ไม่มีเสียงหรือเสียงแห่งพระนิพพานนั้น เป็นสิ่งที่อาจจะรู้สึกได้หรือสัมผัสได้ ดังนั้นท่านจึงเรียกว่าเป็นอายตนะอันหนึ่งเหมือนกัน คือเรียกว่าพระนิพพานนั้นก็เป็นอายตนะอันหนึ่ง จะจัดไว้ในอายตนะทั้ง ๖ ก็ได้ เป็นธรรมารมณ์ที่จะรู้สึกได้ด้วยใจ ในเมื่อมีการปฏิบัติถึงที่สุด ดับกิเลสสิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้ว มีธรรมารมณ์ปรากฎแก่จิต คือรสแห่งพระนิพพาน, นี้จะเรียกว่าอายตนะก็ได้. ในที่บางแห่งเรียกว่าวิญญาณด้วยซ้ำไป เรียกพระนิพพานว่าวิญญาณ ในความหมายว่าเป็นสิ่งที่อาจจะรู้แจ้งได้ หรือเป็นสิ่งที่ควรจะรู้แจ้งอย่างยิ่ง…

รวมบทความ – พุทธทาส อินทปัญโญ
-http://www.dhamma4u.com/

http://www.tairomdham.net/index.php?topic=8083.0

. . . . . . .