คู่มือมนุษย์ ฉบับสมบูรณ์ โดย พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)

คู่มือมนุษย์ ฉบับสมบูรณ์ โดย พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)

อ่านหนังสือ “คู่มือมนุษย์ ฉบับสมบูรณ์” โดย พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) จบแล้ว จึงขอบันทึกบางประโยคจากหนังสือเล่มนี้ ประเด็นที่ตนเองสนใจ เก็บไว้กันลืมค่ะ
พุทธศาสนา คือวิชาหรือระเบียบปฏิบัติ ที่ให้รู้ว่า “อะไรเป็นอะไร“
“ศาสนา” มีความหมายกว้างและลึกกว่า “ศีลธรรม” … มีศีลธรรมดีแล้ว ปัญหาคือ ยังไม่พ้นทุกข์
พุทธศาสนา มุ่งหมายที่จะกำจัดกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ ให้สิ้นเชิง ดับความทุกข์ทั้งหลายให้สูญสิ้นไป
การปฏิบัติพุทธศาสนา เป็นการปฏิบัติเพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ถ้าเราปฏิบัติจนถึงกับรู้ว่า สิ่งทั้งปวงคืออะไรเสียแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติอะไรอีกต่อไป ความรู้นั้น เป็นตัวทำลายกิเลสไปในตัว
การรู้ตามวิธีของพุทธศาสนา คือ มองเห็นชัดเจนว่า สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีอะไรน่าผูกพัน จนเกิดความหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้น
หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งพระไตรปิฎก ล้วนแต่เป็นการบ่งให้รู้ว่า “อะไรเป็นอะไร”
อริยสัจจ์ข้อที่ 1 : ทุกข์ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
อริยสัจจ์ข้อที่ 2 : สมุทัย ความอยากนั้นๆ เป็นเหตุแห่งทุกข์
อริยสัจจ์ข้อที่ 3 : นิโรธ หรือ พระนิพพาน คือ การดับตัณหาเสียให้สิ้น เป็นความไม่มีทุกข์
อริยสัจจ์ข้อที่ 4 : มรรค วิธีดับความอยากนั้นๆ

ในบรรดาวิชาความรู้ของมนุษย์เราในโลกนี้ หรือโลกอื่นๆ รวมทั้งเทวโลกอะไรๆด้วยกันก็ได้ ถ้าหากจะมี; ไม่มีความรู้อันใดที่จะสูงสุดยิ่งไปกว่าหลักธรรม ที่เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘
เหตุ (ปัจจัย) หมายถึง สิ่งที่มีอำนาจปรุงแต่ง สิ่งที่ปรากฎอยู่ในบัดนี้ หรือปรากฏการณ์ทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นผลิตผลของสิ่งที่เป็น “เหตุ” เป็นความเลื่อนไหลไป ในฐานะเป็น “ผล” ของสิ่งที่เป็นเหตุ ที่ปรุงทะยอยกันมาไม่หยุด
สิ่งทั้งปวง เป็นเรื่องของมายา คือเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งกันขึ้นมาเท่านั้น อย่าไปหลงยึดถือ จนชอบหรือชังมัน การออกมาเสียได้จากอำนาจแห่งเหตุ เป็นการดับเหตุเสียได้ ไม่ทำให้ความทุกข์เกิดได้เพราะความชอบหรือความชังอีกต่อไป
กุศล หมายถึง ความรู้ที่ถูกต้อง ว่าอะไรเป็นอะไร เป็นความฉลาด
ไตรลักษณ์ คือ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” สิ่งทั้งปวงที่มีปัจจัยปรุงแต่งนั้น “ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงเสมอ” / สิ่งทั้งปวงที่มีปัจจัยปรุงแต่ง “เป็นทุกข์ ดูแล้วสังเวชใจ” / สิ่งทั้งปวงที่มีปัจจัยปรุงแต่งและไม่ปรุงแต่งนั้น “เป็นอนัตตา ไร้ตัวตนอันแท้จริง”
ทุกๆอย่าง ทุกๆสิ่ง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา; นั่นแหละ คือ ความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง
โอวาทปาติโมกข์ : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้เต็มที่ให้ครบถ้วน และการทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากความเศร้าหมองโดยประการทั้งปวง
การทำจิตให้เป็นอิสระจากอำนาจครอบงำของสิ่งทั้งปวง ต้องมาจากความรู้ว่า อะไรเป็นอะไร ถ้ายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ก็จะต้องไปหลงรักหลงชัง แล้วจะมีความเป็นอิสระได้อย่างไรกัน
พุทธศาสนา ไม่ยอมผูกตัวกับสิ่งใดเลย การที่ผูกพันตัวอยู่ใต้ผลของความดี ยังไม่ใช่ความพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง คนดีก็ต้องมีความทุกข์ไปตามประสาของคนดี ความดีหรือความชั่ว เป็นเรื่องของสมมติ จะไม่มีความทุกข์เลย ก็ต่อเมื่อกระโดดขึ้นไปให้พ้นให้สูง ขึ้นไปอยู่เหนือสิ่งที่เรียกว่าความดี กลายเป็น โลกุตตระ คือเหนือโลกแล้วเท่านั้น
คนตัดฟืนขายที่ไม่รู้หนังสือ คนที่ไม่เคยเห็นเคยฟังพระไตรปิฎกเลย ก็เข้าถึงตัวพุทธศาสนาได้ ถ้าตั้งสติคอยเฝ้ากำหนด พิจารณาความทุกข์ที่เกิดขึ้นแผดเผาในใจของตน
การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ต้องเป็นการเห็นจนรู้สึกว่า ไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ ไม่มีอะไรที่น่าอยากน่าปรารถนา ในทางที่จะเอา จะได้ จะมี จะเป็น — คนที่ท่องบ่นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ทั้งเช้าเย็นกลางวันกลางคืน หลายร้อยหลายพันครั้ง ก็ไม่อาจเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ เพราะไม่ได้เป็นวิสัยที่จะเห็นได้ด้วยการฟัง ท่อง หรือแม้ด้วยการคำนวณตามหลักเหตุผล
การเห็นธรรม ไม่อาจเห็นได้ด้วยการคำนวณตามเหตุผล แต่ต้องเห็นแจ้งด้วยความรู้สึกในใจแท้จริง
ความรู้สึกไม่อยากเอา ไม่อยากเป็นนี่แหละ มีอำนาจเพียงพอที่จะคุ้มครองคนเราไม่ให้ตกเป็นทาสของกิเลส หรือของอารมณ์ทุกชนิดและทุกประการ บุคคลชนิดนี้จึงไม่สามารถที่จะทำความชั่วอะไรได้
โดยความจริงขั้นปรมัตถ์ คนเราจะเอาอะไรไม่ได้เลย เป็นอะไรไม่ได้เลย เพราะทั้งคนที่จะเอา และสิ่งที่จะถูกเอานั้น มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาด้วยกันทั้งนั้น
วัฏฏสงสาร แท้จริงเป็นเรื่องของการเวียนวนของ ของ 3 สิ่ง คือ ของความอยาก ของการกระทำตามความอยาก และของการได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่งมาจากการกระทำนั้นแล้ว ไม่สามารถจะหยุดความอยากต่อไปอีกได้ เป็นวงกลมที่วนเวียนไม่มีสิ้นสุด
ความอยาก 3 อย่าง คือ กามตัณหา (อยากได้) ภวตัณหา (อยากเป็น) วิภวตัณหา (อยากไม่ให้เป็น)
เมื่อเราหวังว่าจะเป็นผู้พ้นทุกข์ เราก็ควรฝึกฝนตัว ในการจะทำอะไรลงไป ด้วยอำนาจของสติปัญญา อย่าทำไปด้วยอำนาจกิเลสตัณหา
ผู้ที่พ้นทุกข์ถึงที่สุด คือพระอรหันต์ เป็นผู้ที่หมดจากการกระทำด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา มีใจเป็นอิสระอยู่เหนือความครอบงำของความชั่วและความดี จึงไม่มีความทุกข์เลย
หากเราต้องการจะถอนตัวออกมาเสียจากสังขาร หรือสิ่งทั้งหลายที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหล่านั้น เราต้องรู้ลึกซึ้งถึงสิ่งที่เป็นต้นเหตุให้เราเข้าไปหลงยึดถือ แล้วเราอาจจะตัดการยึดถือเสียได้
กิเลสซึ่งเป็นเครื่องยึดถือ เรียกว่า อุปาทาน มี 4 ประการ คือ 1. ยึดถือในของรัก ยึดมั่นในกามารมณ์ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย และธรรมารมณ์หรือสิ่งที่ผุดขึ้นในความรู้สึกในใจ) 2. ยึดมั่นด้วยทิฏฐิ ความคิดเห็นตามที่ตนมีอยู่ 3. ยึดถือมั่นในการประพฤติกระทำต่างๆ ที่เคยปฏิบัติสืบมาอย่างงมงายไร้เหตุผล 4. ยึดถือด้วยวาทะว่าตน ความยึดถือว่าตัวว่าตน (เป็นสัญชาตญาณมูลฐานของสิ่งมีชีวิต เพื่อความอยู่รอด)
ไตรสิกขา คือข้อประพฤติปฏิบัติ 3 ชั้น ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อดับความทุกข์อันเกิดมาจากอุปาทานทั้ง 4 ประการ
ศีล คือ การประพฤติดี ประพฤติถูกตามหลักทั่วๆไป เพื่อความปกติ ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่ทำให้ตนให้เดือดร้อน
สมาธิ คือ การทำจิตให้เหมาะสมแก่การทำงานในทางจิต ฝึกฝนจิต
ปัญญา คือ การรู้แจ้งเห็นจริง ด้วยการผ่านสิ่งนั้นๆ ไปแล้วด้วยวิธีใดวิธ๊หนึ่ง (experience) อาศัยความรู้สึกในใจจริงๆ ที่เคยมี เคยเป็น เคยผ่านมาแต่หนหลังเป็นสำคัญ กิริยาอาการที่จิตเบื่อหน่ายคลายกำหนัดจากสิ่งที่ตนเคยหลงรักนั่นแหละคือตัวความเห็นแจ้งในที่นี้ เราไม่อาจพ้นทุกข์ด้วยลำพังความเข้าใจ จะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องด้วยความเห็นแจ้ง
(วิมุตติ คือ หลุดจากการเป็นทาสของสิ่งทั้งปวง)
สิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของอุปาทาน คือ โลก หรือ เบญขันธ์ หรือ ขันธ์ห้า ซึ่งมี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายวัตถุ (รูปธรรม) และฝ่ายที่ไม่ใช่วัตถุ (จิตใจ นามธรรม ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
สิ่งทั้งปวงในโลก สรุปรวมอยู่ใน เบญจขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละส่วนเป็นมายา ไร้ตัวตน แต่มีเหยื่อล่อให้เกิดอุปาทานการยึดถือ จนเป็นที่ตั้งของความอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากไม่ให้มีไม่ให้เป็น ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดทุกข์
จะต้องอาศัยข้อปฏิบัติที่เรียกว่า ไตรสิกขา ทำการถอนอุปาทานในเบญจขันธ์อย่างสิ้นเชิง จึงจะไม่ตกเป็นทาสของเบญจขันธ์ และไม่มีความทุกข์อีกต่อไป โลกหรือสิ่งต่างๆ จะอยู่ในลักษณะที่อำนวยความผาสุกสะดวกสบายให้แก่ผู้นั้น ไม่มีเรื่องต้องร้อนใจเพราะสิ่งใดๆ
นิพพาน คือ ภาวะอันปราศจากความทิ่มแทงร้อยรัดแผดเผาของกิเลสและความทุกข์ เพราะการได้เห็นโลก เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง จนดับกิเลสตัณหาและอุปาทานเสียได้
แนวทางของพระพุทธศาสนาของเรา มีอยู่อย่างนี้ ท่านทั้งหลายจะทำได้หรือไม่ได้ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะทำได้หรือไม่ได้ก็ตาม แนวของพุทธศาสนาก็ยังคงมีอยู่ดังนี้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้

พุทธศาสนา

http://th.wordpress.com/

. . . . . . .