มังสวิรัติ ในทัศนะท่านพุทธทาสภิกขุ

มังสวิรัติ ในทัศนะท่านพุทธทาสภิกขุ

คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์

ไต้ ตามทาง

ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนั้น มังสวิรัติดูจะเป็นวัฒนธรรมที่ยอมรับปฏิบัติกันสำหรับนักบวชทั่วไป ดังที่มีสำนวนกล่าวกันว่า “ถือศีลกินเจ” อันหมายถึงการถือบวชนั่นเอง แต่ในฝ่ายเถรวาท เช่น ลังกา พม่า และไทยนั้นต่างออกไป ความเห็นเรื่องมังสวิรัติแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่เห็นด้วยและชักชวนสนับสนุนให้ผู้คนถือปฏิบัติขัดเกลา บางสำนักถึงกับเน้นชัดเจนว่า หากไม่ถือปฏิบัติข้อนี้ก็ชื่อว่าล่วงศีลปาณาติบาต และไม่อาจเป็นอริยบุคคลได้ก็มี ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเล่า ก็มีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงถึงกับประณามอีกฝ่ายว่าเป็นศิษย์เทวทัต เป็นต้นก็มีปัญหาเรื่องนี้มีการถกเถียงกันมาทุกยุคสมัย อาจกล่าวได้ว่า แทบจะไม่มีผู้รู้ทางพุทธศาสนาท่านใด ไม่ว่าในทางปฏิบัติหรือปริยัติก็ตาม ที่ไม่ถูกถามหรือขอร้องให้แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ นับว่าเป็นผู้ที่แสดงทัศนะต่อเรื่องมังสวิรัติอย่างชัดเจนและโดดเด่นที่สุดท่านหนึ่ง จึงได้รับการกล่าวขวัญอ้างถึงอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะทัศนะของท่านมีพื้นฐานอยู่บนพระสูตร และประสบการณ์โดยตรงที่ทดลองหลายแง่หลายมุมเป็นเวลานาน และยังแสดงเหตุผลในทางสังคมเข้าประกอบอย่างกว้างขวาง และการพิจารณาไตร่ตรองก็ลุ่มลึกหลายชั้นหลายเชิง บรรดาผู้ที่อ้างคำของท่านต่างก็หยิบฉวยเอาส่วนที่ตนเห็นด้วยหรือเห็นว่าเป็นประโยชน์ เข้ากับความเห็นของตนได้ไปเผยแพร่กัน บางกรณีก็เป็นที่น่าเสียดายที่อ้างอย่างไม่เข้าใจความมุ่งหมายหรือเจตจำนงของท่านก็มี

หนังสือเรื่อง “มังสวิรัติในทัศนะท่านพุทธทาสภิกขุ” นี้ ได้รวบรวมความคิดเห็นจากข้อเขียนและคำบรรยายของท่าน ตั้งแต่ยุคต้นเมื่อแรกตั้งสวนโมกข์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นระยะเวลาห่างกันถึง 50 ปีไว้ เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเห็นความคิดของท่านที่ก่อตัวคลี่คลาย จนได้บทสรุปที่ชัดเจน จากประสบการณ์ทางธรรมะอันยาวนาน และแสดงเหตุผลตลอดจนความมุ่งหมายที่แท้จริงในการถือปฏิบัติเรื่องนี้ของท่านตั้งแต่เริ่มต้นด้วย กล่าวคือ การปฏิบัตินี้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสในใจตน ทั้งส่วนที่หยาบและประณีตโดยลำดับ ทั้งยังต้องหมั่นทบทวนตรวจสอบอยู่เสมอถึงความยึดมั่นถือมั่นของตนที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติสิ่งนั้นๆ ดังนั้นข้อเขียนและคำบรรยายชุดนี้จึงมีประโยชน์อย่างน้อย 2 ด้านคือ ช่วยให้เข้าใจความคิดของท่านอาจารย์ต่อเรื่องมังสวิรัติโดยตลอดสาย มิใช่อ้างหรือตัดเอาตอนใดตอนหนึ่งไปใช้อย่างผิดประเด็น และช่วยให้รู้จักวางท่าทีที่ถูกต้อง และพึงปฏิบัติต่อเรื่องมังสวิรัติอีกโสดหนึ่งด้วย

ในภาคผนวก ได้นำทัศนะของพระราชวรมุนี ในหนังสือ “ลักษณะของสังคมพุทธ” และทัศนะของ อจ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก ในหนังสือ “พุทธศาสนา : ทัศนะและวิจารณ์” มาพิมพ์รวมไว้เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาประกอบโดยกว้างขวางออกไป ทั้ง 2 ท่านนี้ต่างก็มีความเห็นว่ามังสวิรัติเป็นสิ่งดี แต่ก็ควรปฏิบัติให้ถูกต้องกับเรื่อง เหมาะแก่ฐานะ และสมควรแก่ธรรมด้วย โดยที่ท่านแรกได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ศีล กับ วัตร และท่านหลังได้กล่าวอ้างคำของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ที่ชี้แจงว่า การปฏิบัติทางจิตเป็นเรื่องสำคัญในการรู้แจ้ง ยิ่งกว่าชนิดของอาหารการกินหวังว่าท่านผู้อ่านคงได้รับแง่คิดบ้างตามสมควร

กลุ่มขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ, ท่านเจ้าคุณพระ

ราชวรมุนี (สมณศักดิ์ปัจจุบันคือ พระพรหมคุณาภรณ์) และอาจารย์

เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นอย่างสูงที่กรุณาให้อนุญาตในการพิมพ์ครั้งนี้ และขอขอบพระคุณพระดุษฎี เมธงฺกุโร ที่ช่วยแนะนำต้นฉบับและท่านอาจารย์อรุณวตี สุวรรณกนิษฐ์ แห่งสวนอุศมมูลนิธิที่เอื้อเฟื้อต้นฉบับหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา ไว้ในที่นี้ด้วย

อนึ่ง ขณะที่กำลังจะตีพิมพ์หนังสือนี้ โครงการพุทธศาสนาสำหรับคนหนุ่มสาว ได้จัดพิมพ์ “อนุทินบันทึกการปฏิบัติธรรม” ของท่านพุทธทาสภิกขุ ออกมาพอดี อนุทินนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นบันทึกรายวันขณะฝึกฝนตนอย่างเข้มข้นในวัยหนุ่มของท่าน (และมีลักษณะการศึกษาชีวิตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์) ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เป็นช่วงที่ท่านทดลองอาหารธรรมชาติตลอด 3 เดือน ทางกลุ่มจึงได้คัดบันทึกประจำวัน เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับอาหารและข้อคิดที่ท่านได้จากการทดลองนี้ มาพิมพ์ผนวกไว้เป็นพิเศษด้วย เพื่อความสมบูรณ์ในการรวบรวมทัศนะของท่าน โดยได้ปรับปรุงถ้อยคำและอักขรวิธีในที่บางแห่งให้อ่านสะดวกขึ้น ส่วนนี้นับว่ามีประโยชน์มาก หากท่านผู้อ่านต้องการใช้เป็นแนวทางในการทดลองศึกษาด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ดี สำหรับท่านที่สนใจจริงจัง ทางกลุ่มขอแนะนำให้ท่านอ่าน “อนุทินบันทึกการปฏิบัติธรรม” ฉบับสมบูรณ์เพราะจะช่วยให้ได้ความรู้เพิ่มเติมถึงการฝึกอบรมตนในด้านอื่นๆ ของท่าน เช่น ศีล สมาธิ ธุดงควัตร และภาวะอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ความฝันและความตั้งใจต่างๆ ด้วย บันทึกดังกล่าวเขียนด้วยลายมือท่านเอง และถ่ายต้นฉบับเหมือนของจริงทุกประการ ช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นวิธีเขียนและได้รับบรรยากาศอย่างเต็มที่ กลุ่มขอบพระคุณพระประชา ปสนฺนธมฺโม และมิตรสหายในโครงการพุทธศาสนาสำหรับคนหนุ่มสาวเป็นอย่างยิ่งที่อนุญาตให้กลุ่มคัดบันทึกดังกล่าวบางตอนมาพิมพ์เผยแพร่ให้กว้างขวางออกไป

กลุ่มฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือ “มังสวิรัติในทัศนะของท่านพุทธทาสภิกขุ” นี้ คงมีส่วนเกื้อกูลแก่การศึกษาและปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องสมควรแก่ธรรมต่อไป เพราะการทำดีนั้นนอกจากจะต้องทำให้ถูกดี และถึงดีแล้ว ยังต้องให้พอดีอีกด้วย

ด้วยความปรารถนาดี
กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม

http://www.amuletcenter.com/webboard_351818_11272_th?lang=th

. . . . . . .