ชีวประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ๓

ชีวประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ๓

เรียบเรียงโดย
พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)

สุบินนิมิต

พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร

ท่านเล่าว่าเมื่อกำลังศึกษากัมมัฏฐานภาวนาใน สำนักท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี นั้น ชั้นแรกยังใช้บริกรรมภาวนาว่า พุทโธ ๆ อยู่

อยู่มาวันหนึ่ง จะเป็นเวลาเที่ยงคืนหรือ อย่างไรไม่แน่ บังเกิดสุบินนิมิตว่า ได้เดินออกจาก หมู่บ้านด้านหนึ่ง มีป่า เลยป่าออกไปก็ถึงทุ่งเวิ้งว้าง กว้างขวาง จึงเดินตามทุ่งไป ได้เห็นต้นชาติต้นหนึ่ง ที่บุคคลตัดให้ล้มลงแล้ว ปราศจากใบ ตอของต้นชาติสูงประมาณ ๑ คืบ ใหญ่ประมาณ ๑ อ้อม ท่านขึ้นสู่ขอนชาตินั้น พิจารณาดูอยู่ รู้ว่าผุพังไปบ้างและจักไม่งอกขึ้นได้อีก ในขณะที่กำลังพิจารณาอยู่นั้น มีม้าตัวหนึ่ง ไม่ทราบว่ามาจากไหน มาเทียมขอนชาติ ท่านจึงขึ้นขี่ม้าตัวนั้น ม้าพาวิ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเต็มฝีเท้า ขณะที่ถ้าพาวิ่งไปนั้น ได้แลเห็นตู้ใบหนึ่ง เหมือนตู้พระไตรปิฎก ตั้งอยู่ข้างหน้า ผู้นั้นวิจิตรด้วยเงินสีขาวเลื่อมเป็นประกายผ่องใสยิ่งนัก ม้าพาวิ่งเข้าไปสู่ตู้นั้น ครั้นถึงม้าก็หยุดและหายไป ท่านลงจากหลังม้าตรงตู้พระไตรปิฎกนั้น แต่มิได้เปิดตู้ดู ไม่ทราบว่ามีอะไรอยู่ในนั้น แลดูไปข้างหน้า เห็นเป็นป่าชัฏ เต็มไปด้วยขวากหนามต่างๆ จะไปต่อไปไม่ได้ เลยรู้สึกตัวตื่นขึ้น

สุบินนิมิตนี้เป็นบุพพนิมิตบอกความมั่นใจในการทำความเพียรของท่าน ท่านจึงตั้งหน้าทำความเพียรประโยคพยายามมิได้ท้อถอย มีการเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ก็มิได้ทอดทิ้ง คงดำเนินตามข้อปฏิบัติอันท่านโบราณบัณฑิตทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงบำเพ็ญตามทางแห่งอริยมรรค

ครั้นต่อมาท่านจึงหวนไปพิจารณาสุบินนิมิตนั้น จึงได้ความว่า การที่ท่านออกมาบวชในพระพุทธศาสนาและปฏิบัติตามอริยมรรคนั้น ชื่อว่าออกจากบ้าน บ้านนั้นคือความผิดทั้งหลาย และป่านั้นคือกิเลส ซึ่งเป็นความผิดเหมือนกัน อันความที่บรรลุถึงทุ่งอันเวิ้งว้างนั้น คือละความผิดทั้งหลาย ประกอบแต่ความดีความงาม ขอนชาติได้แก่ชาติความเกิด ม้าได้แก่ตัวปัญญาวิปัสสนา จักมาแก้ความผิด การขึ้นสู่ม้าแล้วถ้าพาวิ่งไปสู่ตู้พระไตรปิฎกนั้นคือ เมื่อพิจารณาไปแล้ว จักสำเร็จเป็นปฏิสัมภิทานุสาสน์ ฉลาดรู้อะไรๆ ในเทศนาวิธีทรมานแนะนำสั่งสอนสานุศิษย์ทั้งหลายให้ได้รับความเห็นใจและเข้าใจในข้อปฏิบัติทางจิต แต่จะไม่ได้ในจตุปฏิสัมภิทาญาณเพราะไม่ได้เปิดดูตู้นั้น ส่วนข้างหน้ามันเต็มไปด้วยขวากหนามนั้นได้ความว่า เมื่อพิจารณาเกินไปจากมรรค จากสัจจะ ก็คือความผิดนั้นเอง เมื่อพิจารณาได้ความเท่านี้แล้ว ก็ถอยจิตคืนมาหาตัว พิจารณากาย เป็นกายคตาสติภาวนาต่อไป

สมาธินิมิต

วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านเจริญกัมมัฏฐานภาวนาอยู่วัดเลียบ เมืองอุบลนั้น ในชั้นแรกยังบริกรรมภาวนาว่า พุทโธๆ อยู่

วาระแรก มีอุคคหนิมิต คือเมื่อจิตร่วมลง ได้ปรากฏรูปอสุภะภายนอกก่อน คือเห็นคนตายอยู่ข้างหน้า ห่างจากที่นั่งประมาณ ๑ วา ผินหน้ามาทางท่าน มีสุนัขตัวหนึ่งมาดึงเอาไส้ออกไปกินอยู่ เมื่อเห็นดังนั้น ท่านก็มิได้ท้อถอย คงกำหนดนิมิตนั้นให้มาก ออกจากที่นั่งแล้วจะนอนอยู่ก็ดี จงกรมก็ดี เดินไปมาอยู่ก็ดี ก็ให้ปรากฏนิมิตอยู่อย่างนั้น ครั้นนานวันมาก็ขยายให้ใหญ่ ขยายให้เน่าเปื่อยผุพัง เป็นจุณวิจุณไป กำหนดให้มาก ให้มีทั้งตายเก่าและตายใหม่ จนกระทั่งเต็มหมดทั้งวัดวา มีแร้งกาหมายื้อแย่งกันกินอยู่ ท่านก็ทำอยู่อย่างนั้น จนอสุภะนั้นได้กลับกลายเป็นวงแก้ว

วาระที่ ๒ เมื่อร่างอสุภะทั้งหมดได้กลับกลายมาเป็นวงแก้วแล้ว จึงเพิ่งอยู่ในวงแก้วอันขาวเลื่อม ใสสะอาด คล้ายวงกสิณสีขาว ท่านก็เพ่งพินิจพิจารณาอยู่ในวงนั้นเรื่อยไป

วาระที่ ๓ เมื่อกำหนดพิจารณาต่อไป จึงแลไปเห็นอะไรอย่างหนึ่งคล้ายภูเขา อยู่ข้างหน้า จึงนึกขึ้นในขณะนั้นว่าอยากไปดู บางทีจะเป็นหนทางข้อปฏิบัติกระมัง? จึงได้เดินไปดู ปรากฏว่าภูเขานั้นเป็นพักอยู่ ๕ พัก จึงก้าวขึ้นไปถึงพักที่ ๕ แล้วหยุด แล้วกลับคืน ขณะที่เดินไปนั้น ปรากฏว่าตัวท่านสะพายดาบอันคมกล้าเล่มหนึ่ง และที่เท้ามีรองเท้าสวมอยู่ ในคืนต่อมาก็เป็นไปอย่างนั้นอีก และปรากฏนิมิตคืบหน้าต่อไปเป็นกำแพงขวางหน้าอยู่ ที่กำแพงมีประตู จึงอยากเข้าไปดูว่าข้างในมีอะไรอีก จึงเอามือผลักประตูเข้าไป ปรากฏว่ามีทางสายหนึ่งตรงไป ท่านจึงเดินตามทางนั้นไป ข้างทางขวามือเห็นมีที่นั่งและที่อยู่ของพระภิกษุ ๒-๓ รูปกำลังนั่งสมาธิอยู่ ที่อยู่ของพระภิกษุนั้นคล้ายประทุนเกวียน ท่านมิได้เอาใจใส่ คงเดินต่อไป ข้างทางทั้งสองข้างมีถ้ำมีเงื้อมผาอยู่มาก ได้เห็นดาบสตนหนึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ท่านก็มิได้เอาใจใส่อีก ครั้นเดินต่อไปก็ถึงหน้าผาสูงมาก จะไปอีกก็ไปไม่ได้ จึงหยุดเพียงนั้น แล้วกลับออกมาทางเก่า

คืนต่อมาก็ไปอีกอย่างเก่า ครั้นไปถึงหน้าผาแห่งนั้น จึงปรากฏยนตร์คล้ายอู่ มีสายหย่อนลงมาแต่หน้าผา ท่านจึงขึ้นสู่อู่ พอนั่งเรียบร้อย อู่ก็ชักขึ้นไปบนภูเขาลูกนั้น ครั้นขึ้นไปแล้วจึงเห็นสำเภาใหญ่ลำหนึ่งอยู่บนภูเขาลูกนั้น ขึ้นไปดูในสำเภาเห็นโต๊ะสี่เหลี่ยม บนโต๊ะมีผ้าปู เป็นผ้าสีเขียวเนื้อละเอียดมาก มองดูทั้ง ๔ ทิศ มีดวงประทีปติดสว่างรุ่งโรจน์อยู่ ประทีบนั้นคล้ายติดด้วยน้ำมัน ปรากฏว่าตัวท่านขึ้นนั่งบนโต๊ะนั้น และปรากฏว่าได้ฉันจึงหันที่นั้นด้วย เครื่องจังหันมีแตงกับอะไรอีกหลายอย่าง ครั้นฉันจึงหันเสร็จแล้ว มองไปข้างหน้าปรากฏเห็นเป็นฝั่งโน้นไกลมาก จะไปก็ไปไม่ได้เพราะมีเหวลึก ไม่มีสะพานข้ามไป จึงกลับคืนมาเหมือนอย่างเก่า

วาระที่ ๔ ก็เพ่งไปน้อมจิตไปอย่างเก่านั่นแล ครั้นไปถึงสำเภาแห่งนั้น จึงปรากฏเห็นมีสะพานน้อย ๆ ข้ามไปยังฝังโน้นจึงเดินไป พอไปถึงฝั่งโน้นแล้วก็ปรากฏเห็นกำแพงใหญ่มาก สูงมาก ประกอบด้วยค่ายคูประตูและหอรบอันมั่นคง ที่หน้ากำแพงมีถนนใหญ่ไปทางทิศใต้และทิศเหนือ นึกอยากเข้าไปมาก จึงเดินไปผลักประตู ประตูไม่เปิดจึงกลับคืนมา

วาระที่ ๕ ทำอย่างเก่าอีก ปรากฏไปอย่างเก่า สะพานจากสำเภาใหญ่ไปยังฝั่งโน้นปรากฏว่าใหญ่กว่าเก่ามาก ครั้นเดินตามสะพานนั้นไปได้ครึ่งสะพาน ปรากฏเห็นท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) เดินสวนมา และกล่าวว่า “อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค” แล้วต่างก็เดินต่อไป

พอไปถึงประตูก็แลเห็นประตูเล็กอีกประตูหนึ่ง จึงเดินไปผลักประตูเล็กนั้นออกได้ แล้วไปเปิดประตูใหญ่ได้ เข้าไปข้างในกำแพงปรากฏมีเสาธงทองตั้งอยู่ท่ามกลางเวียงนั้นสูงตระหง่าน ต่อไปข้างหน้าปรากฏมีถนน เป็นถนนดี สะอาด เตียนราบ มีเครื่องมุง มีประทีปโคมไฟติดเป็นดวงไป ตามเพดานหลังคาถนน มองไปข้างหน้าเห็นมีโบสถ์หลังหนึ่งตั้งอยู่ จึงเดินเข้าไปในโบสถ์ ภายในโบสถ์มีทางจงกรม ที่สุดทางจงกรมทั้งสองข้างมีดวงประทีปตามสว่างรุ่งโรจน์ นึกอยากเดินจงกรม จึงได้เดินจงกรมไป ๆ มา ๆ อยู่ และต่อมาปรากฏมีธรรมาสน์อันหนึ่งวิจิตรด้วยเงิน จึงขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์นั้น บนธรรมาสน์มีบาตรลูกหนึ่ง เปิดดูในบาตรมีมีดโกนเล่มหนึ่ง พอมาถึงตรงนี้ก็อยู่ ไม่ปรากฏอะไรต่อไปอีก

วันต่อมาก็เข้าไปถึงตรงนี้อีกทุก ๆ วัน ทุกครั้งที่เข้าไปก็ปรากฏว่าในตัวท่านมีดาบสะพายอยู่เล่มหนึ่ง กับมีรองเท้าสวมอยู่ด้วย ปรากฏเป็นอย่างนี้อยู่ ๓ เดือน

ครั้นต่อมาเมื่อออกจากที่แล้ว (คือจิตถอนออกจากสมาธิ) เห็นอารมณ์ภายนอกก็ยังกระทบกระทั่งอยู่ร่ำไป สวยก็เกิดรัก ไม่ดีก็ชัง เป็นอยู่อย่างนี้ ท่านจึงพิจารณาว่า การที่เราพิจารณาอย่างนี้ มันยังเป็นนอกอยู่ ไม่หยุดอยู่กับที่ และครั้นกระทบอารมณ์ก็ยังหวั่นไหวอยู่นี้เห็นจะไม่ใช่ทางเสียแล้วกระมัง ?

เมื่อพิจารณาได้ความอย่างนี้ จึงเริ่มแก้ด้วยอุบายวิธีใหม่

จึงตั้งต้น พิจารณากายนี้ทวนขึ้นและตามลงไป อุทธํ อโธ ติริยญฺจาปิ มชฺเฌ เบื้องบนแต่ปลายเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป และด้านขวางสถานกลางโดยรอบ ด้วยการจงกรม เวลาจะนอนก็นอนเสีย ไม่นั่งให้มันรวมเหมือนอย่างเก่า ใช้อุบายนี้ทำประโยคพยายามพากเพียรอยู่โดยมิท้อถอย

ตลอด ๓ วันล่วงแล้วจึงนั่งพิจารณาอีก ทีนี้จิตจึงรวมลง และปรากฏว่ากายนี้ได้แตกออกเป็นสองภาค พร้อมกับรู้ขึ้นในขณะนั้นว่า

“เออ ที่นี้ถูกแล้วละ เพราะจิตไม่น้อมไปและมีสติรู้อยู่กับที่”

นี้เป็นอุบายอันถูกต้องครั้งแรก ตั้งแต่นั้นมาก็พิจารณาอยู่อย่างนั้น

ครั้นออกพรรษา ตกฤดูแล้งก็ออกเที่ยวจาริกแสวงหาวิเวกไปอยู่ที่สงัด ปราศจากคนพลุกพล่านตามหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านพออาศัยภิกขาจารวัตร ตามเยี่ยงอย่างพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกเจ้าที่ดำเนินมาก่อนแล้วทั้งหลาย ไปทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง

ภูหล่น สถานที่ปฐมสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ของท่านพระอาจารย์มั่น

ภูหล่น ในราว พ.ศ. ๒๔๔๐ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ได้นำท่านมาอบรมสมาธิอยู่บนภูหล่นแห่งนี้ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านคำบง ที่เป็นบ้านเกิดของท่านประมาณ ๕ กิโลเมตร เดิมนั้น สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยไข้ป่าและสัตว์ร้าย ท่านทั้งสองได้นำชาวบ้านขึ้นมาช่วยขนหินขนดินก่อเป็นถ้ำ มีประตูเข้าออกเปิดปิดได้ (เอาดินโคลนผสมกับเศษหินเล็ก ๆ และฟางข้าวฉาบทา) สร้างพอเป็นที่อยู่อาศัย กันสัตว์ร้ายมารบกวนเวลาทำความเพียร หลังจากท่านพระอาจารย์เสาร์ได้อบรม แนะนำการปฏิบัติกัมมัฏฐานแก่ท่านพระอาจารย์มั่นพอสมควรแล้ว จนรู้ชัดว่า กำลังสมาธิอันแน่วแน่ได้เกิดขึ้นแล้วในองค์ท่าน และสามารถอยู่บำเพ็ญความเพียรโดยลำพังองค์เดียวได้ ท่านพระอาจารย์เสาร์จึงได้แยกจากไป แสวงหาสถานที่วิเวกแห่งอื่นต่อไปท่านพระอาจารย์มั่นได้อยู่อบรมภาวนาที่ภูหล่นประมาณ ๕ ปี

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ท่านพระอาจารย์มั่นได้แสดงธรรมเทศนาอบรมโยมมารดา จนเกิดศรัทธาในการปฏิบัติธรรม จึงออกประพฤติศีลพรหมจรรย์ติดตามท่านไป หลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้ย้อนกลับมา ณ สถานที่ภูหล่นอีกเลย

ถ้ำบำเพ็ญความเพียรของ
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ ที่ภูหล่น
ถ้ำบำเพ็ญความเพียรของ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ที่ภูหล่น
จากข้อมูล วัดภูหล่น อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี

พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) แถวหน้า ซ้าย
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล ) แถวหน้า ขวา

ในคราวไปวิเวกถิ่นนครพนม ได้เจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ (พนฺธุโล จูม) กับเจ้าคุณพระสารภาณมุนี (จันทร์) (ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) วัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ) ไปเป็นศิษย์ศึกษาเล่าเรียน ทั้งทางสมถวิปัสสนา ทั้งทางปริยัติธรรม ณ เมืองอุบลก่อน แล้วลงไปศึกษาเล่าเรียนทางกรุงเทพพระมหานคร จนได้กลับมาทำประโยชน์ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ในภาคอีสานปัจจุบันนี้
ส่วนท่านอาจารย์ เมื่ออายุพรรษาพอสมควรแล้ว จึงได้ลงไปศึกษาทางกรุงเทพพระมหานคร อันเป็นแหล่งนักปราชญ์ สำนักที่วัดปทุมวัน (วัดปทุมวนาราม) หมั่นไปสดับพระธรรมเทศนาอบรมปัญญากับเจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) ที่วัดบรมนิวาส

พระอาจารย์มั่นได้ไปรับฟังธรรม
จากท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ที่วัดบรมนิวาส

ในวันหนึ่ง เมื่อกลับจากวัดบรมนิวาส เดินตามถนนหลวงไปกับสหธรรมมิกสี่ห้ารูป กำหนดพิจารณาไปพลาง พอไปถึงโรงเรียนกรมแผนที่ (วังกรมพระสวัสดิ์เก่า) จึงได้อุบายแห่งวิปัสสนา เอาโรงเรียนนั้นเป็นนิมิตว่า “ของอะไรทั้งหมดเกิดจากของที่มีอยู่ (ดินหนุนดิน)”
ตั้งแต่นั้นมาก็กำหนดพิจารณาอุบายแห่งวิปัสสนามิได้ลดละ จึงได้ ออกไปทำความเพียรอยู่ที่เขาพระงาม (ถ้ำไผ่ขวาง) ถ้ำสิงห์โต จึงพอได้รับความเข้าใจในพระธรรมวินัยอันพระตถาคตเจ้าทรงประกาศแล้ว

พระอาจารย์สิงห์
ขนฺตฺยาคโม
ครั้นพรรษาได้ ๒๓ จึงกลับมาหาหมู่คณะทางภาคอีสาน มีพระเณรมาศึกษาด้วยมากขึ้นโดยลำดับ มี พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นต้น จนพรรษาได้ ๓๘ จึงได้จากหมู่คณะ ไปจำพรรษาวัดปทุมวัน กรุงเทพฯ แล้วเลยไปเชียงใหม่กับเจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺทเถร จันทร์) พักวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วไปวิเวกตามที่ต่าง ๆ บ้าง กลับมาจำพรรษาวัดเจดีย์หลวงบ้าง รวมเวลา ๑๑ ปี จึงได้กลับมาภาคอีสาน เพื่อสงเคราะห์สาธุชน ตามคำนิมนต์ของเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ จน ถึงปัจฉิมสมัย

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-01-03.htm

. . . . . . .