ประวัติโดยย่อ…หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ประวัติโดยย่อ…หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
วัดป่าสุทธาวาส อ. เมือง จ. สกลนคร

ชาติกาล ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓
ชาติภูมิ บ้านคำบง ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
บรรพชา เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี
อุปสมบท เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี
มรณภาพ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ สิริรวมอายุได้ ๘๖ ปี

คติธรรมคำสอน
ของ
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ธรรมชาติของดีทั้งหลาย ย่อมเกิดแต่ของไม่ดี มีอุปมาดังดอกปทุมชาติ อัน สวย ๆงามๆ ก็เกิดขึ้นมาจากโคลนตมอันเป็นของสกปรก ปฏิกูลน่าเกลียด แต่ว่าดอกบัวนั้น เมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่สะอาดเป็นที่ทัดทรงของพระราชา อำมาตย์ อุปราช และเสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้น มิได้กลับคืนไปยังโคลนตมนั้นอีกเลย
ฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่า ทำตามพระพุทธเจ้า ถ้าบุคคลไม่ทรมานตนให้ดีก่อนแล้ว และทำการจำแนกแจกธรรมสั่งสอนไซร้ ก็จักเป็นผู้มีโทษปรากฏว่า ปาปโก สทฺโท โหติ คือ เป็นผู้มีชื่อเสียงชั่วฟุ้งไปในจตุรทิศ
ธรรมของพระตถาคต เมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้ว ย่อมเป็นของปลอมทั้งสิ้น (สัทธรรมปฏิรูป) แต่ถ้าเข้าไปประดิษฐานในจิตสันดานของพระอริยเจ้าแล้วไซร้ ย่อมเป็นของบริสุทธิ์แท้จริง และเป็นของไม่ลบเลือนด้วย
เมื่อยังเพียรเรียนแต่พระปริยัตธรรมฝ่ายเดียว ยังใช้การไม่ได้ดี ต่อเมื่อมาฝึกหัดปฏิบัติจิตใจจำกัดเหล่ากะปอมก่า คือกิเลสแล้วนั่นแหละ จึงจะยังประโยชน์ให้สำเร็จเต็มที่ และทำให้พระสัทธรรมบริสุทธิ์ ไม่วิปลาสคลาดเคลื่อนจากหลักเดิมด้วย

ได้สมบัติทั้งปวงไม่ประเสริฐเท่าได้ “ตน” เพราะ “ตน” เป็นบ่อเกิดแห่งสมบัติทั้งปวง
ใครผิดถูกดีชั่วก็ตามเขา ใจของเรามีเพียรระวังตั้งถนอม อย่าให้อกุศลวนมาตอม ควรถึงพร้อมบุญกุศลผลสบาย
ถือหลักความถูกต้องเป็นเข็มทิศชี้ทางเดินของ กาย วาจา ใจ ไม่เปิดช่องให้ความอยากอันไม่มีขอบเขตเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะความอยากดั้งเดิมเป็นไปตามอำนาจของกิเลสตันหา ซึ่งไม่เคยสนใจต่อความผิด-ถูก-ดี-ชั่ว
ความมั่งมีศรีสุข จะไม่บังเกิดแก่ผู้ทุจริตสร้างกรรมชั่ว มีมากเท่าไหร่ ย่อมหมดไป พ่อ-แม่-ปู่-ย่า-ตา-ยายที่สร้างบาปกรรมไว้ ผลกรรมนั้น ย่อมตกอยู่กับลูกหลานรุ่นหลังให้มีอันเป็นไป ผู้ทุจริตเบียดเบียนรังแกผู้อื่นจะหาความสุขความเจริญไม่ได้เลย
ดี-ชั่ว มิได้เกิดขึ้นมาเอง แต่อาศัยการทำบ่อยก็ชินไปเอง เมื่อชินแล้วก็กลายเป็นนิสัย ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็แก้ไขยาก คอยแต่จะไหลลงไปตามนิสัยที่ทำอยู่เสมอ ถ้าเป็นฝ่ายดี ก็นับว่าคล่องแคล่วกล้าขึ้นเป็นลำดับ
เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์เราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมากมาย อย่าพากันทำ ให้พากันละบาปบำเพ็ญทาน ทำแต่คุณความดี อย่าให้เสียชีวิตเปล่าที่มีวาสนาเกิดมาเป็นมนุษย์
การบำรุงรักษาตนคือใจเป็นเยี่ยม เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดีได้ในดี คือได้ธรรมเห็นใจตนแล้วคือเห็นธรรม รู้ใจตนแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล
ใจ คือ สมบัติอันล้ำค่า คนพลาดใจ คือ ไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้ จะผิดจะพลาดอยู่นั่นเอง เมื่อรู้ว่าใจเป็นสิ่งประเสริฐในตัวเราจึงไม่ควรให้พลาด เป็นมนุษย์ทั้งทีอย่าเป็นคนโง่เต็มตัว และเลวเต็มทน จะหาความสุขไม่เจอ
การตำหนิติเตียนผู้อื่น ถึงเขาจะผิดจริงก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย
ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดแต่ตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น “นักปราชญ์ถือเป็นความผิดและบาปกรรมไม่มีดีเลย จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนามาทรมานอย่างไม่คาดฝัน”
การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรอง เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์ จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง
เมื่อเกิดมาอาภัพชาติแล้ว อย่าให้ใจอาภัพอีก ผู้เกิดมาชาตินี้อาภัพแล้ว อย่าให้ใจอาภัพคิดแต่ผลิตโทษทำบาปอกุศลเผาผลาญตน ให้ได้ทุกข์เป็นบาปกรรมอีกเลย
“คนชั่ว” ทำชั่วได้ง่ายและติดใจ ไม่ยอมลดละแก้ไขให้ดี “คนดี” ทำดีได้ง่ายและติดใจกลายเป็นคนรักธรรมตลอดไป
เราต้องการของดี คนดีก็จำต้องฝึก ฝึกจนดี จะพ้นการฝึกไปไม่ได้ งานอะไรก็ต้องฝึกทั้งนั้น ฝึกงาน ฝึกคน ฝึกสัตว์ ฝึกตน ฝึกใจ นอกจากตายแล้วจึงหมดการฝึก คำว่า “ดี” จะเป็นสมบัติของผู้ฝึกดีแล้วแน่นอน
ผู้มีศีลสัตย์ เมื่อทำลายขันธ์ไปในสุคติในโลกสวรรค์ ไม่ตกต่ำเพราะอำนาจศีลคุ้มครองรักษาและสนับสนุนจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์ ธรรมก็สั่งสอนแล้ว ควรจะจำให้ดี ปฏิบัติให้มั่นคงจะเป็นผู้ทรงคุณสมบัติทุกอย่างแน่นอน
กายกับจิตเราได้มาแล้วมีอยู่แล้ว ได้มาจากบิดา-มารดาบริบูรณ์แล้ว จะทำให้เป็นศีลก็รีบทำ ศีลมีอยู่ที่นี่แล้วรักษาได้ไม่มีกาล ได้ผลไม่มีกาล
ผู้มีศีลย่อมเป็นผู้องอาจกล้าหาญ ผู้มีศีลย่อมมีความสุข “ผู้จักมั่งคั่ง บริบูรณ์ ไม่อด-ไม่ยาก-ไม่จน ก็เพราะรักษาศีลได้บริบูรณ์”
คุณธรรมยังผู้เข้าถึงให้เป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องเลื่องระบือมีความฉลาด กว้างขวางในอุบายวิธี ไม่มีความคับแค้นจนมุม”
ความไม่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอน ความยิ่งใหญ่ คือ ความไม่ยั่งยืน ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ คือ ชีวิตที่อยู่ด้วยทาน ศีล เมตตาและกตัญญู
ชีวิตที่มีความดี อาจมิใช่ความยิ่งใหญ่ “แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ต้องอาศัยคุณความดีเท่านั้น…”
คนเราใหญ่แต่กาย ใหญ่แต่ชาติ ใหญ่แต่ชื่อ ใหญ่แต่ยศ ใหญ่แต่ความสำคัญตน แต่ความรู้ความฉลาดที่จะทำตนให้ร่มเย็นเป็นสุข ทั้งกายและใจโดยถูกทาง ตลอดทั้งให้ผู้อื่นได้รับความร่มเย็นเป็นสุขด้วย ไม่ค่อยเจริญเติบโต และไม่สนใจบำรุงให้ใหญ่โตด้วย จึงเกิดความเดือดร้อนกันทุกหนแห่ง ไม่เลือกเพศ วัย ชั้นวรรณะ”
ผู้มีปัญญา ไม่ควรให้สิ่งล่วงแล้วตามมา ไม่ควรหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ผู้มีปัญญา ได้เห็นธรรมซึ่งเป็นปัจจุบันควรเจริญความเห็นนั้นไว้เนืองๆ ควรรีบทำเสีย ผู้มีปัญญา ซึ่งมีธรรมเป็นเครื่องอยู่มีความเพียรแยกกิเลสให้หมดไป จะไม่เกียจคร้าน ขยันหมั่นเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน
คนที่หลงจึงต้องแสวงหา ถ้าไม่หลงก็ไม่ต้องหา จะหาให้ลำบากทำไม
อะไร ๆ ก็มีอยู่กับตัวเองอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว

http://www.dhamma-ngam.com/new/index.php?

. . . . . . .