พระราชประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต

พระราชประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต

พระชนมายุ ๕ พรรษา ทรงบรรพชา เป็นสามเณร

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรมรังสี ทรงประสูติเมื่อตอนเช้า เวลา ๐๗.๐๐ น. ตรง ของวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๓๑ ณ ตำบลไก่จ้น อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต้นแผ่นดินรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) พระราชมารดาทรงพระนามว่า เกสรคำ เมื่อพระชนมายุ ๕ พรรษา ได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดระฆังโฆสิตารามมหาวรวิหาร จังหวัดธนบุรี ทรงประพฤติอยู่ในเพศพรหมจรรย์โดยตลอด จนพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา จึงได้ทรงอุปสมบท ณ วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานครนั่นเอง และทรงอยู่ในสมณเพศตลอดจนสิ้นพระชนมายุ ใน เวลาเช้าตรู่ ของวันอาทิตย์ เวลา ๐๖.๐๐ น. ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๕ สิริพระชนมายุนับรวมได้ ๘๔ ปี กับ ๒ เดือนเศษ ทรงเป็นพระสงฆ์ ๕ แผ่นดิน ในยุคต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ องค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีชวด พุทธศักราช ๒๔๐๗

โดยปกติเด็ก ๕ ขวบทั่วไป จะไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ ต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้ใกล้ชิด มีพ่อแม่พี่น้องเป็นต้น เมื่อหนังสือเล่มนี้เขียนบอกไว้ว่าพระองค์ท่านบรรพชาเมื่อพระชนมายุ ๕ พรรษา โดยได้พบหลักฐานจากการสร้างพระเป็นรูปไก่ ของสมเด็จพระสังฆราช สุก ไก่ เถื่อน และบันทึกข้อความไว้ว่า “ไก่ ตัวนี้ สุก ไก่ เถื่อน เป็นผู้สร้าง ประสม ทอง เงิน นาน (นาก) ปลุกเสก ๓ พรรษา พ.ศ. ๒๓๓๒ พอ พ.ศ. ๒๓๓๕ หัวโต วัดระฆังก็ขอไปเลี้ยง” หลักฐานชิ้นนี้ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่สำนักธรรมพรหมรังสี

จากบันทึกของสมเด็จพระสังฆราชสุก ไก่เถื่อน เป็นการยืนยันอย่างชัดแจ้งว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อพระชนมายุ ๕ พรรษา และที่วัดระฆังโฆสิตาราม ด้วย แสดงว่า สามเณร โต เป็นผู้มีบุญญาธิการมาประสูติ ดุจเดียวกันกับเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อประสูติ ก็สามารถย่างพระบาทได้ ๗ ก้าว และ อีกพระองค์หนึ่งคือ พระราหุล ซึ่งเป็นพระราชโอรส ของ เจ้าชายสิทธัตถะ ก็ได้บรรพชา ตอนพระชนมายุ ๕ พรรษา เช่นเดียวกัน (เมื่อพระสารีบุตรจรดมีดโกนลงบนพระเศียร เพื่อปลงพระเกศาก็บรรลุพระโสดาบัน และปลงต่อไปจนหมดทั้งพระเศียรก็ทรงบรรลุพระสกิทาคา พระอนาคา และพระอรหันตา ตามลำดับเป็นที่สุด) จากความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกย่อมแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ได้สั่งสมกุศลบารมีมาเป็นอเนกอนันตชาติดุจเดียวกัน และไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระราหุล และเจ้าชายสิทธัตถะ

น่าจะยืนยันและสรุปได้ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ไม่ได้ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา ดังที่คนทั่วๆไป เข้าใจกันและยิ่งกว่านั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ไม่ใช่พระสงฆ์ธรรมดาทั่วไปอย่างแน่นอน

พระชนมายุ ๗ พรรษา เริ่มเสด็จออกธุดงค์
หลังจากทรงบรรพชาเมื่อพระชนมายุ ๕ พรรษาแล้ว ก็เริ่มปฏิบัติธรรมทั้งทางด้านปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ ศึกษาค้นคว้าแตกฉานเร็วมากด้วยเหตุแห่งการสั่งสมบารมีมามากเป็นเอนกอนันตชาติ และทรงทราบว่าพระองค์มาจุติหรืออุบัติขึ้นเพื่อเจริญพระศาสนา จึงเร่งศึกษาพระไตรปิฎกอย่างแตกฉานแยกแยะความถูกต้องและผิดพลาดจากการบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก เร่งฝึกวิปัสสนาพระกรรมฐานความรู้แจ้งเห็นจริงก็ปรากฏขึ้นในดวงจิตที่มุ่งมั่นสะอาดและบริสุทธิ์

ทำให้เกิดการรู้เห็นอดีต-ปัจจุบันและอนาคต ยิ่งกว่านั้นรู้ว่าพระองค์มีหน้าที่อะไรจะต้องประพฤติดีปฏิบัติชอบอย่างไร จะต้องโปรดบริวารลูกหลานอย่างไร จึงต้องฝึกจิตรักษาดวงจิตให้เป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดสมาธิปัญญาอย่างแก่กล้า ได้ฌาน ๔ กสิณ ๑๐ สมาบัติ ๘ สำเร็จโสฬสฌาน จึงเริ่มเสด็จธุดงค์ และมุ่งมั่นไปยังแหล่งสรรพวิชา มหาวิทยาลัยตักศิลา ไปอยู่ตามป่า ตามถ้ำ และในที่สุดก็ไปพบสถานที่หนึ่งซึ่งเคยบำเพ็ญภาวนามาก่อนคือ ถ้ำอิสีคูหาสวรรค์ เมืองกำแพงเพชร พบของเก่ามากมายและที่สำคัญคือใบลานเก่าที่ชำรุดมาก เขียนเป็นภาษาสิงหล “พระคาถาชินบัญชร” พระองค์ท่านได้นำกลับมาเรียบเรียงแก้ไขเป็นภาษามคธ-บาลี เพื่อให้อ่านง่ายและเข้าใจง่าย และได้แปลความหมายของพระคาถาที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์มาเป็นร้อยแก้ว เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญและอานุภาพของพระคาถา ที่มีค่าท่วมหลังช้าง สามารถนำไปใช้ได้ ๑๐๘ ประการด้วยการสวดท่องและอธิษฐานให้ขจัดทุกข์และบำรุงสุขได้อย่างมหัศจรรย์ ผู้สวดท่องจะทราบทุกคน เพราะเป็นปัจจัตตัง และเป็นสมบัติตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้

พระชนมายุ ๙ พรรษา พระอัจฉริยภาพในการเทศนา
หลังจากได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ก็มุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าทางด้านปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ อย่าง มุ่งมั่นอาจหาญและมั่นคง จึงทำให้ทรงแตกฉานและเพลิดเพลินในพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างรวดเร็วและลึกซึ้งมาก จดจำได้แม่นยำเพราะความเป็นพระอัจฉริยะ โดยการสั่งสมบารมีญาณ อยู่ในขันธสันดานอย่างมั่นคงและแก่กล้า มาเป็นเอนกอนันตชาติ ทรงมีพระปัญญาคมกล้าเป็นยอดเยี่ยม จึงสามารถบรรลุมรรคผลอย่างรวดเร็ว โดยการเริ่มเทศน์จากพระคัมภีร์ใบลาน จนกระทั่งเทศน์ด้วยปากเปล่าและในรูปแบบของปุจฉา-วิสัชนา เป็นที่ยอมรับของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ที่ได้ฟังพระสุรเสียงเป็นที่ไพเราะจับใจ ความชัดเจนของอักขระการเอื้อนทำนองวรรคตอนได้ถูกต้อง ภาษาสละสลวย เนื้อหาสาระที่เทศน์ ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ หรือพระเจ้า ๑๐ ชาติ ก็สามารถเทศน์ให้ญาติโยมได้รับฟังอย่างจับจิตจับใจและฟังอย่างมีความสุข และจดจำเนื้อหาที่เทศน์ได้ และกอร์ปด้วยพระอัจฉริยภาพที่สง่างาม น่ารักของ “ สามเณรจิ๋ว ”

พระชนมายุ ๑๙ พรรษา สร้างพระสมเด็จรุ่น ๑
สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี เมื่อได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ทรงมุ่งมั่นในการศึกษาพระธรรม และฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ในขณะเดียวกัน ก็ได้สร้างผงวิเศษต่างๆ เช่น สร้างดินสอพองขึ้นมาเพื่อเขียนกระดานชนวนลงเลขยันต์ ลบเก็บผงไว้เป็นผงวิเศษ ได้ชื่อว่าผงอิทธิเจ ปถมัง ตรีนิสิงเห มหาราช พุทธคุณ ผงเหล่านี้ เรียกว่าเป็นผงวิเศษ หรือผงศักดิ์สิทธิ์ นอกจากจะสร้างผงขึ้นมาด้วยอำนาจจิต จากความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา ด้วยพระองค์เองและผงวิเศษที่ได้ถวายมาจากพระอาจารย์ก็ได้เก็บสะสมไว้ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเอาไว้สร้างพระ

พระองค์ท่านได้ตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียน แตกฉานว่องไวมาก ได้รับคำชมจากพระอาจารย์ หลายพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือพระอาจารย์สังฆราช สุก ไก่ เถื่อน พระอาจารย์ เฒ่า พระอาจารย์แสง เป็นต้น นอกจากนี้ก็ได้รวบรวมพวกเกสรร้อยแปด ดินเจ็ดโป่งเจ็ดท่า ดินใจกลางเมือง ดินกำฤาษี หรือผงวิเศษจากเทพยดานิมิตให้ ไปเอาจากตามป่าตามเขา ตามถ้ำต่างๆ อยู่ในพระหัตถ์ของพระประธาน ไคลเสมา ไคลโบสถ์ ดินใจกลางเมือง ว่านยาต่างๆ โดยออกธุดงค์ไปยังป่าเมืองต่างๆ เช่น กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สุโขทัย กำแพงเพชร เป็นต้น

เมื่อพระองค์ท่านรวบรวมวัตถุมงคลได้มากพอสมควรก็เริ่มแกะแม่พิมพ์ด้วยพระองค์เอง แม่พิมพ์ที่มีอยู่ในขณะนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นแม่พิมพ์เนื้อผงเกือบ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ทำจากแม่พิมพ์ หินชนวน หรือ หินลับมีด หรือทองเหลือง อย่างที่บางคนเข้าใจ หรือหนังสือบางเล่มเขียนไว้ หรือเมื่อสร้างพระเสร็จแล้วก็ทุบหรือเผาแม่พิมพ์ทิ้งกลัวว่าคนอื่นจะนำไปลอกเลียนแบบ (นั่นเป็นความคิดความเข้าใจของท่านที่คิดหรือเข้าใจว่าพระองค์ท่านเป็นพระสงฆ์ธรรมดา) พระสมเด็จที่พระองค์สร้างก็เลียนแบบศึกษามาจากพระอาจารย์ คือสมเด็จพระสังฆราช สุก ไก่ เถื่อน เพราะมีแม่พิมพ์จำนวนหลายแม่พิมพ์ที่ได้รับการถวายจากสมเด็จพระสังฆราช สุก ไก่ เถื่อน และยิ่งไปกว่านั้นพระบางพิมพ์พระอาจารย์ สมเด็จพระสังฆราช สุก ไก่ เถื่อน ได้มอบหมายให้ มหาโต สัพพัญญู สำนักวัดระฆัง กดพิมพ์แต่ผู้เดียว เป็นต้น

สำหรับการสร้างพระสมเด็จรุ่น ๑ นั้น พระองค์ท่านมีพระชนมายุเพียง ๑๙ พรรษาเท่านั้น พระสมเด็จรุ่น ๑ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๙ หรือ จารึกไว้ที่หลังแม่พิมพ์ว่า ร.ศ ๒๔ การสร้างพระใน ร.ศ ๒๔ นั้นได้สร้างพระไว้จำนวนมากและทรงจารไว้หลังแม่พิมพ์ว่า “แม่พิมพ์สมเด็จพิมพ์ทรงใหญ่” “แม่พิมพ์สมเด็จพิมพ์ทรงเจดีย์” “แม่พิมพ์ทรงนิยม” “แม่พิมพ์ทรงไกรเซอร์” “แม่พิมพ์ทรงปรกโพธิ์” “แม่พิมพ์สังฆาฏิ” “แม่พิมพ์เกศไชโย” “แม่พิมพ์ขุนแผน” “แม่พิมพ์ซุ้มกอ” “แม่พิมพ์พระรอด” “แม่พิมพ์ทุ่งเศรษฐี” “แม่พิมพ์นางพญา” “แม่พิมพ์ผงสุพรรณ” เป็นต้น พร้อมทั้งลงพระนามเป็นอักษรตัว “ต” ไว้ด้วย เช่น “แม่พิมพ์สมเด็จ ต ร.ศ ๒๔ ” “แม่พิมพ์ทรงไกรเซอร์ ร.ศ ๒๔ ต” เป็นต้น

ในการสร้างพระจำนวนมากๆเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าพระองค์ท่านต้องใช้ความอดทนพากเพียรพยายามอย่างมาก ใช้พลังจิตอย่างสูงและแกร่งกล้า เป็นธรรมดาคนที่ไม่เคยพบไม่เคยเห็นก็ต้องกังขาว่า พระสมเด็จรุ่น ๑ มีจริงหรือ? เห็นแต่เป็นเหรียญรุ่น ๑ ที่คนพูดกันของพระเกจิอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ พระสมเด็จรุ่น ๑ นั้นทำด้วยเนื้อผง บางองค์แกะพิมพ์สวยงามประณีตบรรจง บางองค์พิมพ์ก็โย้ บางพิมพ์ก็หนา บางพิมพ์ก็บาง แต่จะเป็นพิมพ์หนา พิมพ์บาง หรือพิมพ์โย้ก็ตาม มวลสารเนื้อหาที่ใช้สร้างหรือกดพิมพ์จะเหมือนๆ กันเกือบทั้งหมด เพราะพระองค์ท่านมีสูตรเฉพาะในการสร้างพระ

ทำไมจึงเชื่อว่าเป็นพระสมเด็จรุ่น ๑ เหตุที่เชื่อว่าเป็นพระสมเด็จรุ่น ๑ เพราะ ทรงจารไว้ด้านหลังแม่พิมพ์ และพระองค์ท่านลงพระนามไว้ด้วย ได้หาดินน้ำมันมากดพิมพ์เพื่อเทียบกับพระที่มีอยู่เป็นแสนเป็นล้านองค์ ใช้เวลาเทียบแม่พิมพ์ค้นหา ๑ ปี เต็มๆ จึงแยกพระออกได้เป็นพิมพ์ต่างๆ ตั้งแต่ แม่พิมพ์รุ่น ๑ ใน ร.ศ ๒๔ หรือ พ.ศ. ๒๓๔๙ แม่พิมพ์ พ.ศ. ๒๓๗๖ , ๒๓๗๘ หรือ ร.ศ ๙๑ รุ่นสุดท้าย ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๑๕ สำหรับพระสมเด็จรุ่น ๑ นั้นที่มีอยู่ในขณะนี้ได้มาประมาณ ๙ พิมพ์ และบางพิมพ์ก็จะมีเพียง ๒ องค์ บางพิมพ์อาจจะมี ๑๐ องค์ บางพิมพ์มี เป็น ๑๐๐ องค์ แต่ละองค์แม่พิมพ์จะถูกจารไว้ว่าเป็น “แม่พิมพ์พระสมเด็จรุ่น ๑ ” ทั้งนั้น (หากไม่มีการจารไว้บนหลังแม่พิมพ์ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่ใช่พระสมเด็จรุ่น ๑)

สำหรับในการสร้างพระ พ.ศ. ๒๓๔๙ หรือ ร.ศ ๒๔ ที่พระองค์ท่านบันทึกจารไว้ในหลังแม่พิมพ์เนื้อผงที่มีอยู่ในขณะนี้ จำนวน ๓๐๔ แม่พิมพ์ ตรงนี้เป็นการยืนยันให้เห็นว่า พระองค์ท่านสร้างพระเมื่อพระชนมายุ ๑๙ พรรษา ยังทรงเป็นสามเณร และยังไม่ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ หนังสือหลายเล่มเขียนไว้ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี สร้างพระเมื่อมีพระชนมายุมากแล้ว บางเล่มก็เขียนว่า ๓๘ บางเล่มบอกว่า ๕๐ กว่า บางเล่มบอกว่าตอนท้ายๆ ของพระชนมายุของท่านตอน พ.ศ. ๒๔๑๐, ๒๔๑๑, ๒๔๑๒ เป็นต้น น่าจะไม่ถูกต้องไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะจากหลักฐานที่ผมมีอยู่ ในช่วง อายุมากๆ นั้น ส่วนใหญ่พระองค์ท่านจะออกธุดงค์ จะโปรดบรรดาสรรพสัตว์ในป่าดงดิบ ไปอยู่ตามถ้ำตามเขา ไปยังลาว เขมร พม่า อินเดีย จีน แม้กระทั่ง อย่างวัดเส้าหลินประเทศจีน เมืองเทียนฟง เป็นต้น ซึ่งมีแผ่นจารึกบันทึกไว้ น่าศึกษามาก เพราะฉะนั้น ขอให้ผู้ที่ต้องการศึกษาจงตั้งใจอ่านและค่อยพินิจพิจารณาจากหนังสือ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ที่ข้าพเจ้ารู้จัก ซึ่งขณะนี้ ได้จัดพิมพ์ทั้งหมด ๕ เล่ม และกำลังดำเนินการจัดพิมพ์ในเล่มที่ ๖ และ ๗ ให้วิเคราะห์ให้ดีว่าเป็นไปได้ไหม เพราะทุกคนก็เกิดไม่ทันพระองค์ท่าน ทางสำนักธรรมพรหมรังสี มีความประสงค์จะเปิดรับสมัครนักวิจัยให้วิจัยผลงานของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ตามหัวข้อต่างๆ ที่ทางสำนักฯ จะตั้งไว้ ให้วิจัย เพราะฉะนั้นจึงถือโอกาสบอก ณ ที่นี้ว่า หากท่านผู้ใดอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวแล้วเกิดสนใจเป็นพิเศษอยากจะทำงานวิจัยเกี่ยวกับวัตถุมงคล ของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ก็ให้ติดต่อเข้ามา เราจะได้พูดคุยตกลงกันในหลักการต่อไป

ขอย้ำอีกครั้งว่า ในปี พ.ศ. ๒๓๔๙ หรือ ตรงกับ ร.ศ ๒๔ พระองค์ท่านยังเป็นสามเณร พระชนมายุ ๑๙ พรรษา มีอำนาจจิตแก่กล้า พระปรีชาสามารถอย่างมาก เฉลียวฉลาด องอาจนัก ยากแก่การคาดคะเนหรือเดาได้ เพราะฉายแววแห่งความเป็นอัจฉริยะ และบุญญาธิการมาตั้งแต่เด็ก และได้สร้างพระไว้จำนวนมากมาย ซึ่งผิดกับมนุษย์โดยทั่วไป ซึ่งผมได้ย้ำไว้ในบทนำว่า พระองค์ท่านไม่ใช่พระสงฆ์ธรรมดา อย่างที่หลายคนเข้าใจ เมื่อมองว่าพระองค์ท่านเป็นพระสงฆ์ธรรมดา จึงตามพระองค์ท่านไม่ทัน จะไม่มีวันเข้าใจและจะไม่รู้จักพระองค์ท่านเลย….!!!

ผู้รู้บางคนบอกว่า เป็นไปได้อย่างไร เรื่อง ร.ศ เพิ่งมีใช้ในรัชกาลที่ ๕ อย่างเป็นทางราชการ เรื่อง ร.ศ ที่บันทึกไว้หลังแม่พิมพ์จึงกลายเป็นเรื่อง เหลวไหล (กลัวว่าคนอื่นจะหลอกหรือครับ) ก็นั่นแหละครับ…. ไปปิดกั้นทางเดินของคลื่นแม่เหล็กในสมองเสียก่อน ใจเลยไม่เปิดกว้าง มัจฉริยทิฐิจึงเข้าครอบงำ ตา หู และใจ จึงทำให้ปฏิเสธสิ่งที่ไม่เคยพบไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยินว่า เหลวไหล แล้วตะโกนบอกคนทั่วไปว่า ผมเคารพเทิดทูน สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี มากได้อย่างไร อย่าว่าแต่แค่เรื่อง ร.ศ เลย สำหรับพระองค์ท่านแล้ว ภายใต้พระอาทิตย์ดวงนี้ ไม่มีอะไรที่พระองค์ท่านจะทราบและกำหนดรู้ไม่ได้

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่ทรงคุ้นเคยมาทั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาโตเป็นผู้ไม่ปรารถนาลาภ ยศ สมณศักดิ์ใดๆ เมื่อเรียนรู้พระปริยัติมาแล้วก็ไม่เข้าแปลหนังสือเป็นเปรียญและไม่รับเป็นฐานานุกรม เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะ พระมหาโตได้ทูลขอตัวมิยอมรับตำแหน่ง หรือเลี่ยง โดยออกธุดงค์ไปตามวัดในชนบทห่างไกลทุกคราวไป จึงคงเป็นพระมหาโตมาตลอด จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระมหาโตจึงยอมรับพระมหากรุณา

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี มีอัธยาศัยมักน้อยเป็นปกติ ลาภสักการะที่ได้มาในทางเทศนาก็นำไปสร้างสิ่งเกี่ยวเนื่องด้วยพระศาสนา จึงมีผู้นับถือศรัทธามาก บางคนเรียกท่านว่า “ขรัวโต” เพราะท่านจะทำอย่างไรก็ทำตามความพอใจไม่ถือตามความนิยมของผู้อื่นเป็นใหญ่

ในปีพุทธศักราช 2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งพระมหาโตเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ในปีขาล พุทธศักราช 2397 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพกวี ศรีนายกตรีปิฎกปรีชามหาคณฤศร บวรสังฆราชคามวาสี ครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศ มรณภาพ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ รูปที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 10 ขึ้น 9ค่ำ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๐๗

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ได้สร้างวัดและสิ่งเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาจำนวนมาก เช่น

หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม พระโตนั่งกลางแจ้งวัดไชโย จังหวัดอ่างทอง พระเจดีย์นอน วัดลครทำ ฯลฯ นอกจากศาสนวัตถุต่างๆ แล้ว สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ยังได้รจนาบทสวดพระคาถาหลายบท แต่ที่เป็นที่รู้จักและถือว่าเป็นพระคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง และนิยมสวดภาวนาในหมู่พุทธศานิกชน คือพระคาถาชินบัญชร

ด้วยความที่พระองค์ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่พระพุทธศาสนิกชนกล่าวขวัญถึง ในชื่อ “สมเด็จฯโตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม และเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่มีความรอบรู้แตกฉานใน พระธรรมวินัย และธรรมปฏิบัติ ความเป็นเลิศในการเทศนา ได้รับการยกย่องสรรเสริญในสติปัญญาและ ปฏิญาณโวหารที่ฉลาดหลักแหลม เปี่ยมด้วย

เมตตากรุณาแก่ผู้ตกยากมีอัธยาศัยมักน้อยสันโดษท่านถือปฏิบัติในข้อธุดงควัตรทุกประการ คือ ฉันในบาตร ถือผ้าสามผืนออกธุดงค์ เยี่ยมป่าช้า นั่งภาวนา เดินจงกรม จนวาระสุดท้ายท่านมรณภาพเมื่อวันอาทิตย์ เวลา ๐๖.๐๐ น. ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๕ สิริพระชนมายุนับรวมได้ ๘๔ ปี กับ ๒ เดือนเศษ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี พระราชสมภพเพื่อพระพุทธศาสนาโดยแท้จริง เพราะพระองค์ทรง

บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ ๕ ชันษา และทรงอุปสมบทเป็นพระเมื่อพระชนมายุ ๒๐ ชันษา ปฏิบัติศาสนกิจอย่างต่อเนื่องโดยตลอดพระชนม์ชีพ ทรงมีผลงานทั้งเรื่องการให้พระธรรมคำสอนโดยการเทศนาโปรด ทั้งในระเทศและต่างประเทศ ทรงสร้างวัตถุมงคลไว้เป็นจำนวนมากในพระอิริยาบทต่างๆ เช่น นั่ง ยืน เดิน และนอน และทรงสร้างพระพุทธรูปขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ไว้เป็นจำนวนมาก จนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ (พระชนมายุ ๘๕ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๔๑๕)

เมื่อพระองค์ท่านสร้างพระและวัตถุมงคลต่างๆไว้จำนวนมาก จึงทำให้คนที่รู้และเข้าใจ ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าอันมหาศาล ก็จะเก็บรักษาและหวงแหนเป็นที่สุด ทำให้เกิดอาชีพ ทำให้คนมีงานทำ สร้างรายได้นำไปจุนเจือเลี้ยงครอบครัว ส่วนคนที่ไม่รู้ไม่เห็นคุณค่าก็ไม่ให้ความสนใจ และไม่ไยดี

และในการที่พระองค์ท่านได้สร้างพระและวัตถุมงคลไว้เป็นจำนวนมากจึงทำให้คนบางคนเกิดความไม่แน่ใจว่า พระและวัตถุมงคลเหล่านั้นพระองค์ท่านสร้างไว้จริงหรือไม่ และสร้างไว้เป็นจำนวนมากมายอย่างนั้นจริงหรือ? เพราะเขาได้ยินมาว่า “พระองค์ท่านสร้างพระไว้จำนวนไม่มากพระองค์ท่านจะดูฤกษ์ผานาที ฤกษ์ดีก็สร้าง ๙ องค์ ๑๐ องค์ ๒๐ องค์ หมดฤกษ์แล้วก็เลิก แล้วหาฤกษ์ใหม่สร้าง พระจึงมีจำนวนน้อย” ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า พระองค์ท่านสร้างพระและวัตถุมงคลเป็นจำนวนมากนับเป็นล้านๆ องค์ โดยเฉพาะพระเครื่อง และท่านผู้ที่สนใจสามารถพิจารณาวิเคราะห์ว่าเป็นพระหรือวัตถุมงคลที่พระองค์ท่านสร้างจริงหรือไม่ โดยดูได้จากส่วนประกอบและลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเก่าของเนื้อพระ รูปทรงในการสร้าง และอิทธิวัตถุมงคลที่ใช้ในการสร้างพระดังต่อไปนี้

ความเก่าของเนื้อพระ พระที่สร้างโดยพระองค์ท่านนั้น เนื้อของพระจะแห้งโดยธรรมชาติไม่ใช่อบด้วยความร้อน มีลักษณะคล้ายคลึงกับสิ่งของที่นำไปตากแห้ง เช่น ผ้าเปียก เมื่อบิดตากแห้งจะมีริ้วรอย ย่น ยับ ซึ่งเกิดจากน้ำที่ระเหยออกไปจากผ้าเพราะความร้อนหรือลม ผิวของพระจะแห้งและพระบางองค์จะเห็นรอยยุบของเนื้อพระแตกอ้าหรือเป็นร่อง พระบางองค์จะเห็นเหมือนกับเนื้องอกออกมาเป็นปุ่ม ทั้งนี้เกิดจากสารที่เคลือบบนผิวหรือแป้งที่โรยพิมพ์แห้งกร่อนหลุดออกไปตามอายุขัยของพระนั้นๆ หรือบางพิมพ์เนื้อจะละเอียดเนียนเรียบแน่นคล้ายหินอ่อน บางองค์ออกแห้งแกร่ง บางองค์ออกแห้งหนึกนุ่มและบางองค์อาจลงรักปิดทองล่องชาด โดยทั่วๆไปขององค์พระจะเห็นมวลสารเป็นจุดดำ จุดแดง จุดเหลือง เป็นก้อนเล็กๆ หรือเป็นเม็ดคล้ายเม็ดหิน แต่ใสเหมือนแก้ว เหมือนเม็ดข้าวสาร เป็นต้น

รูปทรงในการสร้าง ส่วนมากพระองค์ท่านจะสร้างเป็นรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้า สามเหลี่ยมหน้าจั่ว ทรงกลม หรือรูปหยดน้ำ เป็นต้น สำหรับพระเครื่องรุ่นแรกๆนั้น พระองค์ท่านสร้างรูปทรงค่อนข้างจะกว้างใหญ่ และหนา บางพิมพ์มีสัญลักษณ์อยู่ด้านหลังของพระ เช่นรูปกงจักร รูปช้าง มงกุฎ ตัวอักษร “ต” พระรูป ร. ๕ ฝังตะกรุด ฝังก้างปลา ฝังเพชรพลอย เป็นต้น

สำหรับด้านหน้า ทรงกำหนดเป็นรูปทรงเป็นพระพุทธรูปแบบต่างๆ หรือปางต่างๆ เช่น ปางขัดสมาธิ ปางสะดุ้งมาร พระประจำวันเกิดต่างๆ พระพุทธรูปสถิตอยู่บนฐาน ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น และ ๙ ชั้น และสำหรับพระบางพิมพ์ก็จะมีพระประจำวันเกิดองค์เล็กๆ เป็นทองเหลือง หรือเป็นทองคำติดอยู่ โดยรอบพระพุทธรูปหรือที่ฐานของพระบางองค์ก็ฝังเพชรฝังพลอยไว้ด้วย และนอกจากนี้ยังมีพระรูปเหมือน และมีดวงพระชะตาของพระองค์ท่าน หรือ พระรูปเหมือนของรัชกาลที่ ๕ พร้อมด้วยดวงพระชะตาของพระองค์ท่านติดอยู่ด้วย และพระบางองค์ฝังตะกรุดทองคำ ตะกรุดเงิน และตะกรุดที่ทำด้วยนาก บางองค์ฝังเหล็กไหล ฝังพระธาตุ และมีเส้นพระเกศาของพระองค์ท่านด้วย

สำหรับรูปทรงที่นักเล่นพระหรือนักสะสมพระหวงแหนรักษา กำหนดราคาเช่าซื้อแลกเปลี่ยนกันด้วยเงินเป็นเรือนพัน เรือนหมื่น เรือนแสน และเรือนล้านนั้นคือ

พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ พระพิมพ์ทรงนิยม พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์เส้นด้าย พิมพ์ทรงฐานแซมพิมพ์เกศไชโย พิมพ์ทรงไกรเซอร์ พิมพ์ฐานคู่ พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์พระประธาน และพระสมเด็จอะระหัง เป็นต้น (เสนอตามหลักฐานที่มีอยู่ขณะนี้)

สำหรับอิทธิวัตถุมงคลที่ใช้ในการสร้างพระนั้น พระองค์ท่านได้สะสมรวบรวมอิทธิวัตถุมงคลสำหรับสร้างพระมาตั้งแต่พระองค์ท่านยังเป็นสามเณร โดยทรงได้มาจากพระอาจารย์บ้าง ได้จากพระฤาษีบ้าง ได้มาจากองค์เทพยดาเจ้านิมิตให้ตามสถานที่ต่างๆ บ้าง นำมาถวายบ้าง และที่สำคัญพระองค์ท่านทรงสร้างด้วยพระองค์เอง โดยใช้ความพากเพียรวิริยะอุตสาหะอย่างมากและได้แสวงหาอิทธิวัตถุมงคลเหล่านั้นจากสถานที่ต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

พระอาจารย์ของพระองค์ท่านที่มอบอิทธิวัตถุมงคลให้ เช่น ได้รับจากพระอาจารย์ สังฆราช สุก ไก่เถื่อน พระอาจารย์เฒ่า อายุ ๑๑๗ ปี จังหวัดอยุธยา พระอาจารย์แสง พระอาจารย์คง พระอาจารย์คำศีร จากเชียงใหม่ พระอาจารย์ขัวใหญ่ จังหวัดอยุธยา เป็นต้น

ทรงได้รับจากพระฤาษี เช่น พระฤาษีสัตตนะ พระฤาษีพิกุล พระฤาษีพิลาลัย พระฤาษีบรรลัยโกฎิ พระฤาษีตาวัว พระฤาษีตาไฟ พระฤาษีมัตตะ จากสุโขทัย

ทรงได้รับนิมิตจากองค์เทพยดาเจ้าให้ไปนำอิทธิวัตถุมงคล เช่น ทอง เงิน นาก เพชร นิล ไม้แก่นจันทน์ ไม้กาหลง ว่าน เกสรในสถานที่ต่างๆ เช่น ในถ้ำ มีถ้ำ ๑๒ คูหา ถ้ำป่ายางโดน ถ้ำอิสีคูหาสวรรค์ ในยอดปราสาท ในพระหัตถ์พระประธานโบสถ์วัดต่างๆ และที่สำคัญพระองค์ท่านได้รับอิทธิวัตถุมงคลซึ่งอัญเชิญมาจากสวรรค์ และน้ำก้อน ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระพรหม เป็นต้น

อิทธิวัตถุมงคลที่ทรงสร้างและแสวงหาด้วยพระองค์เองนั้น ทรงได้มาด้วยความพากเพียรพยายาม ทรงใช้ความวิริยะอุตสาหะอย่างมาก และบางครั้งยังทรงใช้อิทธิฤทธิปาฏิหารย์ ในการได้มาซึ่งอิทธิวัตถุมงคลเหล่านั้น เช่น ผงวิเศษจำนวน ๕ อย่าง มี ผงอิถิเจ๑ ผงปัถมัง๑ ผงตรีนิสิงเห๑ ผงมหาราช๑ ผงพุทธคุณ๑ ส่วนที่พระองค์ท่านแสวงหาด้วยพระองค์เองด้วยความยากลำบากอย่างมากเช่น ว่านยา ๑๐๘ ผงเกสร ๑๐๘ ดินเจ็ดโป่งเจ็ดท่า ไคลเสมา ไคลเจดีย์ พระเก่าเมืองกำแพงเพชร ดินเจ็ดป่าช้า ดินใจกลางเมืองเจ็ดเมือง เถ้าถ่านขุนแผนย่างกุมารทองที่วัดป่าเลไลก์ น้ำผึ้งจากรังผึ้งโดยทรงใช้ใบตองรอง น้ำพระพุทธมนต์ตามหัวเมืองต่างๆ เปลือกหอย และเปลือกมุกจากใจกลางสะดือทะเล และหินจากใต้พิภพ เป็นต้น

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ทรงมีเป้าหมายอย่างแท้จริงว่า ต้องการสร้างพระให้เป็นเครื่องผูกใจมนุษย์ ให้ทำดีละชั่ว ไม่ได้มุ่งให้มนุษย์ติดอยู่ในวัตถุ ให้มุ่งสวดมนต์ไหว้พระปฏิบัติธรรม ตามมรรค ๘ เพราะพระองค์ท่านบันทึกไว้ในแผ่นจารึกที่มีอยู่ในมือผม โดยในขณะนั้นพระองค์ท่านเสด็จธุดงค์ไปยังป่าเมืองกาญจนบุรี ผมขอคัดลอกมาแสดงไว้เป็นบางส่วน ณ ที่นี้

“วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุล ตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ ตรงกับ วันที่ ๕ มีนาคม ร.ศ ๗๐ รัชกาลที่ ๔ อาตมาได้ออกเดินธุดงค์มายังเมืองกาญจน์ เขากะโหลก อาตมาได้พักคืนที่ตีนเขา อาตมาได้สวดมนต์ทำวัตรเย็นสิ้นลง ก็ได้นั่งคิดอยู่ภายในใจว่า จะทำการสร้างสิ่งอันเป็นเครื่องผูกใจมนุษย์ ซึ่งยังเป็นปุถุชน (ดอกบัวใต้น้ำ) อยู่มาก ได้มีไว้ติดตัวเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติ ครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรจนหลับไปราวๆยามสาม อาตมาได้นิมิตจนต้องตื่นขึ้น” แล้วพระองค์ท่านเสด็จขึ้นไปบนยอดเขา และได้พบตามที่ ท่านชินปัญชระ บอกไว้จริง

ขอขอบคุณ : http://www.somdejto.com/history.htm

. . . . . . .