พระราชประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี

พระราชประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสีท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๓๑ เวลา ๑๖.๓๕ นาฬิกา

ท่านเป็นบุตรนอกเศวตรฉัตรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่๒ แห่งราชวงศ์จักรี กล่าวคือในสมัยรัชกาลที่๑ นั้น ได้เกิดศึกขึ้นทางภาคเหนือของไทย โดยกองทัพเวียงจันทน์จะยกมาตีเมืองโคราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ) จึงทรงมีรับสั่งให้รัชกาลที่๒ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้า ไปปราบศึกที่ยกมา รัชกาลที่๒ ซึ่งขณะนั้นเพิ่งมีพระชนมายุได้ ๑๗ พรรษาเท่านั้น ก็ได้ยกทัพไปทางเรือ ครั้นไปถึงจังหวัดกำแพงเพชรก็ได้มีชาวบ้านจัดสินค้าต่างๆมาขายแก่พวกทหารในกองทัพ ในจำนวนแม่ค้าพายเรือมาขายของนั้น ได้มีมารดาของท่านซึ่งเป็นสาวงามชาวกำแพงเพชรด้วยผู้หนึ่ง( ท่านเล่าว่ามารดาของท่านชื่อ แม่งุด ) มารดาของท่านพายเรือขายผลกระท้อนแก่พวกทหาร ด้วยบุพเพสันนิวาส พวกนายทหารเห็นเป็นบุญว่ามารดาของท่านเป็นคนสวยจึงชักพาให้ได้กับเจ้าฟ้าแม่ทัพ และได้อยู่ร่วมกันคืนหนึ่ง ก่อนที่จะจากไปท่านแม่ทัพบิดาของท่านได้ประทานรัดประคดอันหนึ่งแก่มารดาของท่านไว้ เพื่อมอบให้บุตรที่จะเกิดขึ้นต่อไป ทั้งรับสั่งไว้ด้วยว่าถ้ามารดาของท่านคลอดบุตรเป็นชายให้ตั้งชื่อว่า “โต” ถ้าคลอดบุตรเป็นหญิง ให้ตั้งชื่อว่า “เกตุแก้ว”หลังจากนั้นก็เดินทัพต่อไป

ต่อมามารดาของท่านก็ได้ตั้งครรภ์ท่าน ระหว่างตั้งครรภ์มารดาของท่านได้ล่องเรือลงมาสืบหาสามีถึงบางกอก จึงได้ทราบว่าสามีเป็นเจ้าฟ้าผู้สูงศักดิ์ จะเป็นกษัตริย์สืบต่อไปก็เกิดความเจียมตัวจึงไม่แสดงตัว และได้คลอดท่านที่บ้านญาติที่บางกอกน้อยนั้นเอง ตั้งชื่อว่า “โต” ตามที่บิดาท่านสั่งไว้ ตอนเล็กๆนั้นท่านเป็นเด็กที่เรียกว่า“ตัวกระเปี๊ยกเลี๊ยก” เพราะกินอยู่ไม่สมบูรณ์ ต่อมาตาและมารดาของท่านได้ไปค้าขาย ( ท่านว่าไปขายของจับฉลาก ) อยู่ที่จังหวัดพิจิตร แล้วต่อมาก็ได้อพยพไปอยู่ที่อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง

เมื่อท่านอายุได้ ๗ ขวบ ท่านอยากบวชจึงไปบอกแม่กับตา แม่กับตาก็ให้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดสำนักสงฆ์ใหญ่ ( ซึ่งต่อมาจึงได้สร้างเป็นวัดเกตุไชโย ) หลังจากทรงบรรพชาแล้ว ก็เริ่มปฏิบัติธรรมทั้งทางด้านปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ ศึกษาค้นคว้าแตกฉานเร็วมากด้วยเหตุแห่งการสั่งสมบารมีมามากเป็นอเนกอนันตชาติ และทรงทราบว่าพระองค์มาจุติหรืออุบัติขึ้นเพื่อเจริญพระศาสนา จึงเร่งศึกษาพระไตรปิฎกอย่างแตกฉานแยกแยะความถูกต้องและผิดพลาดจากการบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก เร่งฝึกวิปัสสนาพระกรรมฐานความรู้แจ้งเห็นจริงก็ปรากฏขึ้นในดวงจิตที่มุ่งมั่นสะอาดและบริสุทธิ์ ทรงมีพระปัญญาคมกล้าเป็นยอดเยี่ยม จึงสามารถบรรลุมรรคผลอย่างรวดเร็ว โดยการเริ่มเทศน์จากพระคัมภีร์ใบลาน จนกระทั่งเทศน์ด้วยปากเปล่าและในรูปแบบของปุจฉา-วิสัชนา เป็นที่ยอมรับของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ที่ได้ฟังพระสุรเสียงเป็นที่ไพเราะจับใจ ความชัดเจนของอักขระการเอื้อนทำนองวรรคตอนได้ถูกต้อง ภาษาสละสลวย เนื้อหาสาระที่เทศน์ ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ หรือพระเจ้า ๑๐ ชาติ ก็สามารถเทศน์ให้ญาติโยมได้รับฟังอย่างจับจิตจับใจและฟังอย่างมีความสุข และจดจำเนื้อหาที่เทศน์ได้ และประกอบด้วยพระอัจฉริยภาพที่สง่างาม น่ารักของ “ สามเณรจิ๋ว ” ท่านบวชแล้วก็เกิดไม่ยอมสึก แม่ไม่ทราบจะทำอย่างไรก็ปล่อยให้บวชไปเรื่อยๆ พอผ่านไปสัก ๓ พรรษา ตอนนั้นอายุได้สัก ๑๐ ขวบ ท่านก็ยังไม่ยอมสึกตามที่มารดาของท่านพยายามให้สึก สมัยนั้นหน้าวัดที่ท่านบวชมีเรือสำเภาล่องมาจากทางเหนือคือทางปากน้ำโพผ่านมาจอดเสมอ สามเณรโตคิดว่าขืนอยู่อ่างทองนี้ต้องสึกแน่เพราะมารดาและตาของท่านฝากความหวังไว้กับท่าน ต้องการให้สึกจึงอ้อนวอนรบเร้าท่านเสมอ ท่านไม่อยากสึก ท่านจึงได้สอบถามว่าเรือสำเภาลำไหนบ้างที่พรุ่งนี้เช้าล่องไปบางกอก ก็ได้มีไต้ก๋ง(กัปตันเรือสำเภา) ชื่อแดงประจำเรือสำเภาลำหนึ่งบอกว่าเณรจะไปไหน พรุ่งนี้เรือจะล่องไปบางกอกตอนตีห้าท่านก็บอกไต้ก๋งแดงว่า ท่านจะไปเที่ยวบางกอก แล้วก็กลับไปเก็บข้าวของเตรียมเดินทาง คืนนั้นท่านนอนไม่หลับ เพราะเกิดการต่อสู้ทางความคิดขึ้นในจิตใจท่านเป็นอย่างมาก ตากับแม่ฝากความหวังไว้ที่ท่าน แต่ท่านนั้นดื่มด่ำในรสพระธรรมและจะทิ้งไปโดยไม่บอกให้ทราบ ไม่ทราบอะไรเป็นสิ่งบันดาลให้สามเณรน้อยตัดสินใจ รุ่งเช้าตีห้าท่านเก็บข้าวของลงเรือโดยไม่บอกทางบ้าน และเรือนั้นก็มาเทียบที่ท่าวัดอินทร์สามเสน ท่านได้ไปอยู่กับเจ้าอาวาสวัดอินทร์ บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร ท่านเจ้าอาวาสวัดอินทร์เห็นท่านมีหน้าตาท่าทางฉลาด จึงเอาท่านไปฝากที่วัดระฆัง

รุ่งขึ้นก่อนที่สามเณรจะถูกจับมาฝากวัดระฆังนั้น คืนนั้นเจ้าอาวาสวัดระฆังได้ฝันว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่งโผล่ขึ้นไปบนกุฏิท่านแล้วไชตู้พระไตรปิฎกรื้อลงมาหมด แล้วเคี้ยวพระไตรปิฎกเข้าไปหมด เจ้าอาวาสตกใจตื่น รุ่งเช้าจึงสั่งพระเลขานุการไว้ว่า ถ้าวันนี้มีใครเอาอะไรมาที่นี่ จงรับไว้ห้ามปฏิเสธเด็ดขาด เจ้าอาวาสคอยเหตุการณ์จนสายก็พอดีมีอำแดงพรนิมนต์ไปฉันที่คลองบางกอกน้อย ก็สั่งกำชับเลขานุการไว้อีก

ครั้นเจ้าอาวาสออกไปแล้วก็พอดีทางวัดอินทร์นำสามเณรน้อยคือท่านมาฝากที่วัดระฆัง ทีแรกก็เกือบถูกไล่ออกจากกุฏิ เพราะเจ้าอาวาสสั่งว่ามีอะไรให้รับไว้นั้น ไม่ได้บอกให้รับคน คุยกันอยู่นั้นก็พอดีเจ้าอาวาสกลับมาได้เห็นสามเณรก็บอกว่าตรงกับความฝัน จึงรับอุปการะและให้การศึกษา ศึกษาได้อยู่พักหนึ่ง ได้ถูกส่งให้มาอยู่วัดมหาธาตุ ต่อมาทางวัดอินทร์ได้ขอตัวท่านไปอยู่ที่วัดอินทร์ โดยอ้างว่าเพราะสามเณรองค์นี้เทศน์เก่ง ขอให้ไปเทศน์ให้ญาติโยมที่วัดอินทร์ฟัง ระหว่างอยู่ที่วัดอินทร์ท่านได้เล่าเรียนวิชาจนแตกฉาน มีพระสังฆราชไก่เถื่อนเป็นอาจารย์ทรงมุ่งมั่นในการศึกษาพระธรรม และฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ในขณะเดียวกัน ก็ได้สร้างผงวิเศษต่างๆ เช่น สร้างดินสอพองขึ้นมาเพื่อเขียนกระดานชนวนลงเลขยันต์ ลบเก็บผงไว้เป็นผงวิเศษ ได้ชื่อว่าผงอิทธิเจ ปถมัง ตรีนิสิงเห มหาราช พุทธคุณ ผงเหล่านี้ เรียกว่าเป็นผงวิเศษ หรือผงศักดิ์สิทธิ์ นอกจากจะสร้างผงขึ้นมาด้วยอำนาจจิต จากความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา ด้วยพระองค์เองและผงวิเศษที่ได้ถวายมาจากพระอาจารย์ก็ได้เก็บสะสมไว้ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเอาไว้สร้างพระ ต่อมาเสมียนตราด้วงซึ่งเป็นคนสนิทของเจ้าฟ้าในวังมาพบท่านเข้า ถูกชาตาจึงจะพาไปเทศน์ที่วัดพระแก้ว ซึ่งเป็นวัดหลวงเทศน์ให้เจ้าฟ้าฟัง พอสามเณรเข้าเฝ้านั้นก็นึกถึงแม่ ให้รัดประคดเอาไว้ว่า อันนี้ลูกจะต้องเก็บให้ดีเป็นของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ในวันที่ที่จะเข้าเฝ้าเจ้าฟ้านั้น ท่านจึงได้เอารัดประคดนี้มาคาดแล้วเข้าไปเฝ้า เจ้าฟ้าผู้เป็นบิดาทอดพระเนตรเห็นรัดประคดก็ทรงจำได้และรู้ว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ ก็กราบทูลให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบความเป็นมา และพาท่านเข้าเฝ้าถวายตัวต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดฝีปากการเทศน์ จึงทรงรับอุปถัมภ์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยพระราชทานเรือกันยาเป็นรางวัลแก่ท่านด้วยขณะนั้นท่านอายุได้ ๑๖ – ๑๗ ปี และได้ย้ายไปอยู่วัดปรินิพพาน( วัดมหาธาตุ ) อาศัยอยู่กุฏิแดงน้อย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีหน้าที่เรียนหนังสืออย่างเดียว ระหว่างเรียนหนังสือก็มีอาหารจากในวังส่งมาให้เป็นประจำ โอกาสนี้ท่านได้สนิทสนมคลุกคลีกับเจ้าฟ้ารัชกาลที่ ๔ ด้วย ต่อมาท่านเป็นมหาสามประโยค ได้กลับไปเยี่ยมแม่ด้วย และหลังจากนั้นจึงได้ไปบวชเป็นพระที่จังหวัดพิจิตร ตอนที่ท่านเรียนหนังสือ ท่านอ่านตำราแตกฉาน จนกระทั่งพระอาจารย์บอกว่า นิมนต์มหาโตไปเรียนกับพระประธานในโบสถ์ ท่านก็ไปอ่านไปคุยกับพระประธานในโบสถ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ท่านกับรัชกาลที่ ๓ มีความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ท่านจึงหลีกหนีไปบำเพ็ญในป่า เช่นที่จังหวัดกำแพงเพชร ดงพญาเย็น จังหวัดขอนแก่น วัดชนะชัยศรี วัดเกาะแก้วในอำเภออรัญประเทศ และเข้าไปในเขตประเทศเขมรเป็นต้น ครั้นรัชกาลที่ ๔ ขึ้นครองราชย์ ก็ได้ทรงประกาศหาตัวท่าน เพื่อจะให้ท่านมาช่วยด้านศาสนา ถ้าเห็นใครมีรูปร่างคล้ายท่าน เจ้าหน้าที่ก็จะจับเพื่อส่งวังหลวง ท่านท่องอยู่ในป่า พอได้ทราบข่าวว่า รัชกาลที่ ๔ ขึ้นครองราชย์แล้ว ท่านก็ได้ออกมาให้ตำรวจหลวงนำตัวท่านจากบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นมาสู่บางกอก ขณะนั้นท่านอายุ ๔๐ ปี กลับมาอยู่วัดอินทร์ สมัยท่านอยู่วัดอินทร์ คราวหนึ่งท่านได้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งหันพระพักตร์เข้าข้างฝาในศาลา ทั้งนี้เพื่อเป็นปริศนาธรรมว่า พระสงฆ์ควรหันหน้าเข้าข้างฝาเพื่อค้นสัจธรรม แล้วค่อยหันหน้ามาสอนชาวบ้าน คือให้ถึงธรรมแล้วค่อยมาสอนธรรม เป็นการสร้างขึ้นเพื่อกระทบเหล่าพระสงฆ์ในขณะนั้น เพราะพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในขณะนั้นไม่บำเพ็ญในทางธรรม แล้วก็ชอบพูดธรรมอวดธรรมกัน

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังสีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้คำแนะนำรัชกาลที่ ๔ ในเรื่องของการแก้ปัญหาบ้านเมืองในยุคที่มีอิทธิพลของต่างประเทศกำลังขยายตัวเพื่อล่าเมืองขึ้นในแถบเอเชีย ท่านเป็นผู้ร่างกฎหมาย กฎมณเฑียรบาล ท่านวางระบบการปกครองแบบมีสภาเลขา ซึ่งในการวางแผนต่างๆของท่านนั้น ท่านเล่าว่าท่านไม่เคยวางแผนเพียงแต้มเดียว แต่แผนของท่านมีทั้งแผนบุก แผนถอย แผนหนี แผนวิ่ง แผนตีลังกา ในการกู้แผ่นดินตอนที่พวกอังกฤษจะมายึดกรุงสยามในรัชกาลที่ ๔ นั้น ท่านก็วางแผนให้ที่ดินบางส่วนแก่เขาไปเพื่อรักษาเอกราชไว้

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่ทรงคุ้นเคยมาทั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาโตเป็นผู้ไม่ปรารถนาลาภ ยศ สมณศักดิ์ใดๆ เมื่อเรียนรู้พระปริยัติมาแล้วก็ไม่เข้าแปลหนังสือเป็นเปรียญและไม่รับเป็นฐานานุกรม เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะ พระมหาโตได้ทูลขอตัวมิยอมรับตำแหน่ง หรือเลี่ยง โดยออกธุดงค์ไปตามวัดในชนบทห่างไกลทุกคราวไป จึงคงเป็นพระมหาโตมาตลอด จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระมหาโตจึงยอมรับพระมหากรุณาในปีพุทธศักราช 2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งพระมหาโตเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ในปีขาล พุทธศักราช 2397 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพกวี ศรีนายกตรีปิฎกปรีชามหาคณฤศร บวรสังฆราชคามวาสี ครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศ มรณภาพ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ รูปที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 10 ขึ้น 9ค่ำ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๐๗สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ได้สร้างวัดและสิ่งเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาจำนวนมาก เช่น หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม พระโตนั่งกลางแจ้งวัดไชโย จังหวัดอ่างทอง พระเจดีย์นอน วัดลครทำ ฯลฯ นอกจากศาสนวัตถุต่างๆ แล้ว สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ยังได้รจนาบทสวดพระคาถาหลายบท แต่ที่เป็นที่รู้จักและถือว่าเป็นพระคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง และนิยมสวดภาวนาในหมู่พุทธศานิกชน คือพระคาถาชินบัญชร ด้วยความที่พระองค์ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่พระพุทธศาสนิกชนกล่าวขวัญถึง ในชื่อ “สมเด็จฯโตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม และเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่มีความรอบรู้แตกฉานใน พระธรรมวินัย และธรรมปฏิบัติ ความเป็นเลิศในการเทศนา ได้รับการยกย่องสรรเสริญในสติปัญญาและ ปฏิญาณโวหารที่ฉลาดหลักแหลม เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาแก่ผู้ตกยากมีอัธยาศัยมักน้อยสันโดษท่านถือปฏิบัติในข้อธุดงควัตรทุกประการ คือ ฉันในบาตร ถือผ้าสามผืนออกธุดงค์ เยี่ยมป่าช้า นั่งภาวนา เดินจงกรม จนวาระสุดท้ายท่านมรณภาพเมื่อวันอาทิตย์ เวลา ๐๖.๐๐ น. ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๕ สิริพระชนมายุนับรวมได้ ๘๔ ปี กับ ๒ เดือนเศษ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี พระราชสมภพเพื่อพระพุทธศาสนาโดยแท้จริง เพราะพระองค์ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ ๕ ชันษา และทรงอุปสมบทเป็นพระเมื่อพระชนมายุ ๒๐ ชันษา ปฏิบัติศาสนกิจอย่างต่อเนื่องโดยตลอดพระชนม์ชีพ ทรงมีผลงานทั้งเรื่องการให้พระธรรมคำสอนโดยการเทศนาโปรด ทั้งในระเทศและต่างประเทศ ทรงสร้างวัตถุมงคลไว้เป็นจำนวนมากในพระอิริยาบทต่างๆ เช่น นั่ง ยืน เดิน และนอน และทรงสร้างพระพุทธรูปขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ไว้เป็นจำนวนมาก จนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ (พระชนมายุ ๘๕ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๔๑๕)

ธรรมะสมเด็จพระพุฒาจารย์โตพรหมรักสี

…รู้จักพอ ก่อสุข ทุกสถาน…

ยศและลาภ หาบไป ไม่ได้แน่

มีเพียงแต่ ต้นทุน บุญกุศล

ทรัพย์สมบัติ ทิ้งไว้ ให้ปวงชน

แม้ร่างตน เขาก็เอา ไปเผาไฟ

เมื่อเจ้ามา มีอะไร มาด้วยเจ้า

เจ้าจะเอา แต่สุข สนุกไฉน

เจ้ามามือเปล่า เจ้าจะ เอาอะไร

เจ้าก็ไป มือเปล่า เหมือนเจ้ามา

คำเทศนาของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ที่ได้โปรดชี้ธรรมไว้ในนิมิตหลังจากที่ท่านล่วงลับไปแล้ว เมื่อ 100 กว่าปี อันเป็นปฐมเหตุที่ต้องสร้างความดี อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

“บุญเราไม่เคยสร้าง … ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า … !”

“ลูกเอ๋ย ก่อนจะเที่ยวไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเองคือบารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารีของคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สิน ในบุญบารมีที่เที่ยวไปขอยืมมาจนพ้นตัว…เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมา ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมด ไม่มีอะไรเหลือติดตัว…แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้าหมั่นสร้างบารมีไว้..แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง”

“เจ้าจงจำไว้นะ…เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้…ครั้นถึงเวลา…ทั่วฟ้าจบดิน ก็ต้านเจ้าไม่อยู่…จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดินเมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลยจะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า…”

แหล่งอ้างอิง: สำนักธรรมพรหมรังสี. 2555. พระราชประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี.(ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.somdejto.com/history.htm. 29 กุมภาพันธ์ 2555.

ขอขอบคุณ : http://www.thaigoodview.com/node/141401

. . . . . . .