ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย วัดบ้านปาง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน

ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย วัดบ้านปาง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน

ครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามของ “ตนบุญ” หรือ “นักบุญ”อันมีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่ได้สร้างประโยนช์แก่สังคมมากมายอาจพบว่ามีการเรียกอีกหลายอย่างว่า เช่น ครูบาเจ้าศรีวิชัย, พระครูบาศรีวิชัย,ครูบาศีลธรรม หรือตุ๊เจ้าสิริ แต่พบว่าท่านมักเรียกตนเองว่า พระชัยยาภิกขุหรือพระศรีวิชัยชนะภิกขุครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย มีนามเดิมว่า “เฟือน” หรือ
“อินท์เฟือน” บ้างก็ว่า “อ้ายฟ้าร้อง” เนื่องจากในขณะที่ท่านได้ถือกำเนิดนั้น ปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาท หวั่นไหวถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์
ท่านเกิดในปีขาล เดือน ๙ เหนือ(เดือน ๗ของภาคกลาง) ขึ้น ๑๑ ค่ำ จ.ศ.๑๒๔๐ เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๑ ที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเป็นบุตรของนายควาย และนางอุสามีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน มีลำดับดังนี้ คือ ๑. นายไหว ๒. นางอวน ๓. นายอินท์เฟือน (ครูบาศรีวิชัย) ๔. นางแว่น ๕. นายทา ทั้งนี้นายควายผู้เป็นบิดาของท่านได้ ติดตามผู้เป็นพ่อตาคือ หมื่นปราบ(ผาบ) ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอคล้องช้างของเจ้าหลวงดาราดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์(เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ ๗ ช่วง พ.ศ.๒๔๑๔-๒๔๓๑) ไปตั้งครอบครัวบุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปาง บ้านเดิมของนายควายอยู่ที่บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูนเดิม ในสมัยนั้นหมู่บ้านแถบนั้นยังทุลกันดารอยู่มากมีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มาก โดยเฉพาะชาวปกาเกอญอ
(กะเหรี่ยง) และในหมู่บ้านปางก็ ยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้านเลย จนเมื่อท่านมีอายุได้ ๑๗ ปีได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ครูบาขัติยะ (ชาวบ้านเรียกว่าครูบาแฅ่งแฅะ เพราะท่านเดินขากะเผลก) เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้นชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านให้อยู่ประจำที่บ้านปางแล้วชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา ในช่วงนั้นเด็กชายอินท์เฟือนได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่อารามแห่งนี้โดยมีครูบาขันติยะเป็นพระอุปัชฌาย์ ๓ ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๔๔๒) เมื่อสามเณรอินท์เฟือนมีอายุย่างเข้า ๒๑ ปี ก็ได้เข้าอุปสมบทในพระอุโบสถ
วัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า สิริวิชโยภิกฺขุ มีนามบัญญัติว่า “พระศรีวิชัย” ซึ่งบางครั้งก็พบว่าเขียนเป็น สรีวิไชย สีวิไช หรือ สรีวิชัย

เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านก็กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปางอีก ๑ พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษาพระกัมมัฏฐาน และวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูนต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาวัดดอยคำอีกด้วย และอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของท่านคือครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นพระอุปฌาย์ของท่าน ท่านได้รับการศึกษาจากครูบาอุปละ วัดดอยแตเป็นเวลา ๑ พรรษา ก็ได้กลับมาอยู่ที่วัดบ้านปาง จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ (อายุได้ ๒๔ ปี พรรษาที่ ๔) ครูบาขัติยะ ได้จาริกออกจากบ้านปางไป(บางท่านว่ามรณภาพ) ท่านจึงได้รักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ ๕ ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้น ท่านก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม คือบริเวณเนินเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเป็นที่วิเวก และสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี โดยได้ให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรือง แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปยังนิยมเรียกกันว่า “วัดบ้านปาง” ตามชื่อของหมู่บ้าน และในปัจจุบันได้ขึ้นอยู่กับ ตำบลสรีวิชัย
ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงาม และเคร่งครัด โดยที่ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่เมื่ออายุได้ 22 ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือ กับพริกไทเล็กน้อย บางทีก็ไม่ฉันข้าวทั้ง ๕ เดือน ท่านคงฉันฑ์ เฉพาะลูกไม้หัวมันเท่านั้น
นอกจากนี้ยังงดฉันผักตามวันทั้ง 7 โดยยึดถือดังต่ไปนี้คือ

วันอาทิตย์ ท่านไม่ฉันฑ์ฟักแฟง,
วันจันทร์ ไม่ฉันฑ์ แตงโมและแตงกวา,
วันอังคาร ไม่ฉันฑ์มะเขือ,
วันพุธ ไม่ฉันฑ์ใบแมงลัก,
วันพฤหัสบดี ไม่ฉันฑ์กล้วย,
วันศุกร์ ไม่ฉันฑ์เทา (อ่าน”เตา”-สาหร่ายน้ำจืดคล้ายเส้นผมสีเขียว ชนิดหนึ่ง),
วันเสาร์ ไม่ฉันฑ์บอน นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันฑ์เลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิก และผักเฮือด-ผักฮี้(ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุ
สามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง 4
จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก

ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมี ที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า “…ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว…” และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าวในตอนท้ายชองคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่องอีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพโดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง ๕ เดือนเศษโดยไม่ใช้งบประมาณ ของรัฐ แต่เรื่องที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักกันในระยะแรกนั้นเกิดเนื่องจากการที่ท่านต้องอธิกรณ์ ซึ่งระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิม ของล้านนานั้นให้ความสำคัญแก่ระบบหมวดอุโบสถ หรือระบบหัวหมวดวัดมากกว่า และการปกครองก็เป็นไปในระบบพระอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ซึ่งพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่งจะมีวัดขึ้นอยู่ใน
การดูแลจำนวนหนึ่งเรียกว่าเจ้าหมวดอุโบสถ โดยคัดเลือกจากพระที่มีผู้เคารพนับถือและได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูบา ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่ได้รับความยกย่องอย่างสูง ดังนั้นครูบาศรีวิชัยซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้นจึงอยู่ในตำแหน่งหัวหมวด พระอุปัชฌาย์ โดยฐานะเช่นนี้ ครูบาศรีวิชัยจึงมีสิทธิ์ตามจารีตท้องถิ่นที่จะบวชกุลบุตรได้ ทำให้ท่านจึงมีลูกศิษย์จำนวนมากและลูกศิษย์เหล่านี้ก็ได้เป็นฐานกำลังที่สำคัญของท่านครูบาศรีวิชัยในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนา และกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และต่อมาได้เกิดมีการต่อต้านคำสั่งจากส่วนกลาง(กรุงเทพ) จึงเกิดเป็นกรณี
ขัดแย้งขึ้นในเวลาต่อมา ส่วนสงฆ์ในล้านนาเองก็มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เนื่องจากมีการจำแนกพระสงฆ์ตาม จารีตท้องถิ่น ออกเป็นถึง ๑๘ นิกาย และในแต่ละนิกายนี้ก็น่าจะหมายถึงกลุ่มพระ
ที่เป็นสายพระอุปัชฌาย์สืบต่อกันมา ในแต่ละท้องที่ซึ่งมีอำนาจปกครองในสายของตน โดยผ่านความคิดระบบครูกับศิษย์ และนอกจากนี้ นิกายต่าง ๆ นั้นยังเกี่ยวข้องกับชื่อ ของเชื้อชาติอีกด้วย เช่น นิกายเชียงใหม่ นิกายขึน (เผ่าไทขึน/เขิน), นิกายยอง (จากเมืองยอง) เป็นต้น สำหรับครูบาศรีวิชัยนั้นยึดถือปฏิบัติในแนวของนิกาย เชียงใหม่ผสมกับนิกายยอง ซึ่งมีแนวปฏิบัติบาง อย่างต่างจาก นิกายอื่นๆ ก็จะมีธรรมเนียมที่ยึดถือคือ การนุ่งห่มที่เรียกว่า การกุมผ้าแบบรัดอก การสวมหมวก การแขวนลูกประคำ ถือไม้เท้าและพัด ซึ่งยึดธรรมเนียมมาจากวัดดอยแตโดยอ้างว่าสืบวิธีนี้มาจากลังกา การที่ท่านถือว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะบวชกุลบุตรได้ตามจารีตการถือ ปฏิบัติมาแต่เดิมนั้น ทำให้ขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์
ร.ศ.๑๒๑(พ.ศ.๒๔๔๖) เพราะในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า “พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ ต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบการปกครองของสงฆ์จากส่วนกลางเท่านั้น” โดยถือเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงนั้นๆ เป็นผู้คัดเลือกผู้ที่ควรจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ และเมื่อคัดเลือกได้แล้วจึงจะนำชื่อเสนอเจ้าคณะผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไปการจัดระเบียบการปกครองใหม่
ของกรุงเทพฯ นี้ถือเป็นวิธีการสลายจารีตเดิมของสงฆ์ในล้านนาอย่างได้ผล องค์กรสงฆ์ล้านนาก็เริ่มสลายตัวลงที่ละน้อยเพราะอย่างน้อยความขัดแย้งต่างๆ ก็เกิดขึ้นระหว่างสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง ดังกรณีความขัดแย้งระหว่างท่านครูบาศรีวิชัยกับพระครูมหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นต้น
การต้องอธิกรณ์ระยะแรกของครูบาศรีวิชัยนั้นเกิดขึ้น เพราะท่านถือธรรมเนียมปฏิบัติตามจารีตเดิมของล้านนา ส่วนเจ้าคณะแขวงลี้ ซึ่งใช้ระเบียบวิธีปฏิบัติของกรุงเทพฯ ซึ่งเห็นว่าครูบาศรีวิชัยทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์ โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าคณะแขวงลี้จึงถือว่าเป็นความผิด เพราะตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เองและเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อนครูบามหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้ กับหนานบุญเติง
นายอำเภอลี้ ได้เรียกครูบาศรีวิชัยไปสอบสวน เกี่ยวกับปัญหาที่ท่านได้ตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรโดยมิได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติ การจับกุมท่านสามารถแบ่งช่วงเวลาออกเป็น ๓ ช่วงเนื่องจาก เป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกือบ ๓๐ ปี และแต่ละช่วงจะมีรายละเอียดของสภาพสังคมที่แตกต่างกัน

อธิกรณ์ระยะแรก (ช่วง พ.ศ.๒๔๕๑ – ๒๔๕๓)
การต้องอธิกรณ์ช่วงแรกของครูบาศรีวิชัยเป็นผลจากการเริ่มทดลองใช้กฎหมายของคณะสงฆ์ฉบับแรก (พ.ศ.๒๔๔๖) และเป็นการเริ่มให้อำนาจกับสงฆ์สายกลุ่มผู้ปกครองในช่วงพ.ศ.๒๔๕๓ นั้น บทบาทของครูบาศรีวิชัยในหมู่ชาวบ้านและชาวเขามีลักษณะโดดเด่นเกินกว่าตำแหน่งสงฆ์ผู้ปกครอง ดังจะเห็นว่าชาวบ้านมักนำเอาบุตรหลานมาฝากฝังให้ครูบาศรีวิชัยบวชเณรและอุปสมบท เมื่อความทราบถึงเจ้าคณะแขวง และนายอำเภอลี้ ทางการก็เห็นว่าครูบาศรีวิชัยล่วงเกินอำนาจของตนเจ้าคณะแขวงและนายอำเภอได้พาตำรวจควบคุมครูบาศรีวิชัยไปกักไว้ที่วัดเจ้าคณะแขวงลี้ได้ ๔ คืนจากนั้นก็ส่งครูบาศรีวิชัยไปให้พระครูบ้านยู้ เจ้าคณะจังหวัดลำพูนเพื่อรับการไต่สวนซี่งผลก็ไม่ปรากฏว่าครูบาศรีวิชัยมีความผิด หลังจากถูกไต่สวนครั้งแรกไม่นานนักครูบาศรีวิชัยก็ถูกเรียกตัว สอบอีกครั้ง โดยพระครูมหาอินทร์ เจ้าคณะแขวงลี้ เนื่องจากมีหมายเรียกให้ครูบาศรีวิชัย นำลูกวัดไปประชุมเพื่อรับทราบระเบียบกฎหมายใหม่ จากนายอำเภอลี้ และ เจ้าคณะแขวงลี้ แต่ครูบาศรีวิชัยไม่ได้ไป ตามหมายเรียกนั้น ซึ่งส่งผลทำให้เจ้าอธิการหัววัดที่อยู่ในหมวดอุโบสถของครูบาศรีวิชัยไม่ได้ไปประชุม
เพราะเห็นว่าเจ้าหัวหมวดไม่ไปประชุม ลูกวัดก็ไม่ควรไปเช่นกัน พระครูเจ้าคณะแขวงลี้จึงสั่งให้นายสิบตำรวจเมืองลำพูนไปควบคุมตัวครูบาศรีวิชัย ส่งให้พระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูนจัดการไต่สวน ครั้งนั้นครูบาศรีวิชัยถูกควบคุมตัวอยู่ที่วัดชัยเมือง ลำพูนถึง ๒๓ วัน จึงได้รับการปล่อยตัว ส่วนครั้งที่๓ ใน พ.ศ.เดียวกันนี้ พระครูเจ้าคณะแขวงลี้ ได้สั่งให้ครูบาศรีวิชัยนำเอาลูกวัด
และเจ้าอธิการหัววัดตำบลบ้านปาง ซึ่งอยู่ในหมวดอุโบสถ ไปประชุมที่วัดเจ้าคณะแขวง ตามพระราชบัญญัติที่จะเพิ่มขึ้น ปรากฏว่าครูบาศรีวิชัยมิได้เข้าประชุมอีก มีผลให้บรรดาหัววัดไม่ไปประชุมเช่นกัน เจ้าคณะแขวงลี้ และนายอำเภอลี้ จึงมีหนังสือฟ้องถึง พระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน ครูบาศรีวิชัยถูกควบคุมไว้ที่ วัดพระธาตุหริภุญชัย เมืองลำพูนนานถึงหนึ่งปี พระครูญาณมงคลจึงได้เรียกประชุมพระครูผู้ใหญ่ในจังหวัด เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมก็ได้ตัดสินให้ครูบาศรีวิชัยพ้น จากตำแหน่งหัวหมวดวัด หรือหมวดอุโบสถและมิให้เป็นพระอุปัชฌาย์อีกต่อไป พร้อมทั้งถูกควบคุมตัวต่อไปอีกหนึ่งปี

อธิกรณ์ระยะที่สอง (พ.ศ. ๒๔๕๔ – ๒๔๖๔)
อธิกรณ์พระศรีวิชัยครั้งที่สองนี้มีความเข้มข้น และรุนแรงขึ้นเนื่องจากเป็นผลมาจากการต้อง
อธิกรณ์ครั้งแรกถึง ๓ ครั้ง แต่การต้องอธิกรณ์กลับเป็นการเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน
ที่มีต่อครูบาศรีวิชัยมากยิ่งขึ้น เสียงที่เล่าลือเกี่ยวกับครูบาสรีวิชัยจึงขยายออกไป นับตั้งแต่เป็นผู้วิเศษเดินตากฝนไม่เปียกและได้รับดาบสรีกัญไชย(พระขรรค์ชัยศรี)จากพระอินทร์ ความนับถือเลื่อมใสศรัทธาใน ตัวครูบาศรีวิชัยยิ่งแพร่ขยายออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง คำเล่าลือ ดังกล่าวเมื่อทราบถึงเจ้าคณะแขวงลี้ และนายอำเภอแขวงลี้ ท่านทั้งสองจึงได้นำความเข้าแจ้งต่อ พระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน โดยกล่าวหาว่า “ครูบาศรีวิชัยเกลี้ยกล่อมส้องสุมคน คฤหัสถ์ นักบวชเป็นก๊กเป็นเหล่า และใช้ผีและเวทมนต์” พระครูญาณมงคลจึงออกหนังสือ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๒ สั่งครูบาศรีวิชัยให้ออกไปพ้นเขตจังหวัดลำพูน ภายใน ๑๕ วัน พร้อมทั้งมีหนังสือห้ามพระในจังหวัดลำพูนรับครูบาศรีวิชัยไว้ในวัด เมื่อครูบาศรีวิชัย โต้แย้งและทางการไม่สามารถเอาผิดครูบาศรีวิชัยได้ ความดังกล่าวก็เลิกราไประยะหนึ่ง แต่ต่อมา ก็มีหนังสือของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์เจ้าผู้ครองเมืองนครลำพูนได้เรียกครูบาศรีวิชัย พร้อมกับลูกวัดเข้าเมืองลำพูน ครั้งนั้นพวกลูกศิษย์ได้จัดขบวนแห่ครูบาศรีวิชัยเข้าสู่เมือง อย่างใหญ่โต การณ์ดังกล่าวคงจะทำให้ทางคณะสงฆ์ผู้ปกครองลำพูนตกใจอยู่มิใช่น้อย ดังจะพบว่าเมื่อครูบาศรีวิชัยพักอยู่ที่วัดมหาวันได้คืนหนึ่ง อุปราชเทศามณฑลพายัพจึง
ได้สั่งย้ายครูบาศรีวิชัยขึ้นไปยังเชียงใหม่ โดยให้พักกับพระครูเจ้าคณะเมืองเชียงใหม่ที่ วัดเชตวัน เสร็จแล้วจึงมอบตัวให้พระครูสุคันธศีล รองเจ้าคณะเมืองเชียงใหม่ ที่วัดป่ากล้วย (ศรีดอนไชย) ในระหว่างที่ครูบาศรีวิชัยถูกควบคุมอยู่ที่วัดป่ากล้วย ก็ได้มีพ่อค้าใหญ่ เข้ามารับเป็นผู้อุปฐากครูบาศรีวิชัยคือหลวงอนุสารสุนทร (ซุ่นฮี้ ชัวย่งเส็ง) และพญาคำแห่งบ้านประตูท่าแพ ตลอดจนผู้คนทั้งในเชียงใหม่ และใกล้เคียงต่างก็เดินทางมากราบนมัสการ ครูบาศรีวิชัยเป็นจำนวนมาก ทางฝ่ายผู้ดูแลต่างเกรงว่าเรื่องจะลุกลามไปกันใหญ่ เนื่องจากแรงศรัทธาของชาวเมืองเหล่านี้ เจ้าคณะเมืองเชียงใหม่ และเจ้าคณะมณฑลพายัพ จึงส่งครูบาศรีวิชัยไปรับการไต่สวนพิจารณาที่กรุงเทพฯ ซึ่งผลการพิจารณาไม่พบว่า ครูบาศรีวิชัยมีความผิด และให้ครูบาศรีวิชัยเลือกเป็นเจ้าอาวาสหรืออาศัยอยู่ในวัดอื่นก็ได้เมื่อครูบาศรีวิชัยกลับจากกรุงเทพฯแล้ว ชนทุกกลุ่มของล้านนาก็ได้เพิ่มความเคารพยกย่องในตัวครูบา ดังจะเห็นได้จากความสนับสนุนในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ
ทั่วไปในล้านนาซึ่งต้องใช้ทั้งเงิน และแรงงานอย่างมหาศาล

อธิกรณ์ระยะที่สาม (ช่วง พ.ศ. ๒๔๗๘ – ๒๔๗๙)
การต้องอธิกรณ์ช่วงที่สามของครูบาศรีวิชัยเกิดขึ้นในช่วงที่ได้มีการสร้างถนนขึ้น สู่พระธาตุดอย สุเทพเพราะขณะก่อสร้างทางอยู่นั้นเอง ปรากฏว่ามีพระสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่รวม ๑๐ แขวง ๕๐ วัด ขอลาออกจากการปกครองคณะสงฆ์ไปขึ้นอยู่ในปกครองของครูบาศรีวิชัยแทน เมื่อเห็นการที่วัดขอแยกตัวไปขึ้นกับครูบาศรีวิชัยเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นนั้น ทางคณะสงฆ์จึงสั่งให้กลุ่ม
พระสงฆ์ในวัดที่ขอแยกตัวออกดังกล่าวเข้ามอบตัว และพระสงฆ์ที่ครูบาศรีวิชัย เคยบวชให้ก็ถูกสั่งให้สึก อธิกรณ์ครั้งที่ ๓ นี้ได้ดำเนินมาจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๗๙ ครูบาศรีวิชัยได้ให้คำรับรองต่อคณะสงฆ์ว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ทุกประการ ท่านจึงได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับลำพูน เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๙ รวมเวลาที่ต้องสอบสวนและอบรมอยู่ที่
วัดเบญจมบพิตรเป็นเวลาถึง ๖ เดือน ๑๗ วัน กรณีความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัยกับคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลาเกือบ ๓๐ ปี นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๑ เป็นต้นมา ตราบกระทั่งวาระสุดท้ายในชีวิตของครูบาศรีวิชัย แต่ในช่วงเวลานั้น ครูบาศรีวิชัยก็ยังคงดำเนินการช่วยเหลือประชาชน เป็นที่พึ่งทางใจและดำเนินการบูรณะ ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ตลอดจนสาธารณะประโยชน์ตามคำอาราธนาอยู่เรื่อยมา
ครูบาศรีวิชัยซึ่งเป็นคนร่างเล็กผอมบางผิวขาว ไม่ใช่คนแข็งแรง แม้ท่านจะไม่ต้องทำงาน
ประเภทใช้แรงงาน แต่การที่ต้องนั่งคอยต้อนรับและให้พรแก่ผู้มาทำบุญกับท่านนั้น ท่านจะต้อง
“นั่งหนัก”อยู่ตลอดทั้งวัน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงอาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวาร ซึ่งสะสมมาแต่ครั้งการตระเวนก่อสร้างบูรณะวัดในเขตล้านนา และการอาพาธได้กำเริบ ขณะที่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง
ครูบาศรีวิชัยถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2481 ที่วัดบ้างปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สิริอายุได้ 59 ปี 9 เดือน 11 วัน ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางเป็นเวลา 1 ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ โดยมีประชาชนมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก และประชาชนเหล่านั้นได้เข้าแย่งชิงอัฏฐิธาตุของครูบาศรีวิชัย ตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่ถวายพระเพลิง ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการบูชา อัฏฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ แบ่งออกเป็น 7 ส่วน แบ่งไปบรรจุตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินล้านนาดังนี้

ส่วนที่ 1 บรรจุที่ วัดจามเทวี จ.ลำพูน
ส่วนที่ 2 บรรจุที่ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่
ส่วนที่ 3 บรรจุที่ วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง
ส่วนที่ 4 บรรจุที่ วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา
ส่วนที่ 5 บรรจุที่ วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
ส่วนที่ 6 บรรจุที่ วัดน้ำออกรู จ.แม่ฮ่องสอน
ส่วนที่ 7 บรรจุที่ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จ.ลำพูน

http://www.krubasrivichai.com/Krubasrivichai/Krubasrivichai.php

. . . . . . .