ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)๑

ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)๑

วันนี้ผมจะขออนุญาติหยิบยก ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)หรือที่เรียกสั้นๆว่า “สมเด็จโต” ผู้ให้กำเนิดพระพิมพ์สมเด็จวัดระฆังครับ
วัดระฆังโฆสิตารามเดิมมีชื่อว่า “วัดบางหว้าใหญ่” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่อยุธยาเป็นราชธานี และที่พระอารามแห่งนี้สมเด็จโต อมตะเถราจารย์แห่งกรุ่งรัตนโกสินทร์ได้จำพรรษาอยู่และสร้างพระเครื่องพิมพ์ที่เรื่องชื่อ นั่นก็คือพระสมเด็จวัดระฆังฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระเบญจภาคี ที่ในปัจจุบันหายากมากและมีราคามิใช่น้อย และเป็นที่ต้องการในวงการพระเครื่อง
สมเด็จโตท่านถือกำเนิดในสมัยกรุ่งรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี ท่านสมภพเมื่อวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก จ.ศ. 1150 เวลา พระบิณฑบาต 06.45 น. (ย่ำรุ่ง 9 บาท ) ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 หลักฐานเกี่ยวกับบิดาและมารดาไม่แน่ชัดและเชื่อกันว่ามารดาชื่อ “เกตุ” ในวัยเด็กท่านอาศัยอยู่กับแม่ที่ บ้านตำบลสระเกศ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง

ในขณะที่ท่านอยู่ในวัยเด็ก มารดาของท่านได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่ตำบลบางขุนพรหม พระนคร และมารดาของท่านได้ไปฝากให้เล่าเรียนในสำนักเจ้าคุณพระอรัญญิกเถร(แก้ว) พระเถราจารย์ผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงเรื่องวิปัสสนากัมมัฏฐานแห่งวัดบางขุนพรหมนอก(ปัจจุบันคือ วัดอินทรวิหาร)ในยุคนั้น
ครั้นเมื่อท่านอายุได้ ๑๒ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระบวรวิริยเถร (อยู่) เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม บางลำภู เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อเล่าเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ระยะหนึ่ง ท่านได้ย้ายมาศึกษาต่อ ณ วัดระฆังฯ โดยจำพรรษาอยู่กับสมเด็จพระพุทธโฆสาจารย์ (นาค) วัดระฆังโฆสิตาราม เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม
ก่อนที่สามเณรโตจะย้ายมาที่วัดระฆังโฆสิตารามนี้ มีเรื่องเล่าว่าสมเด็จพระพุทธโฆสาจารย์ (นาค) ได้ฝันว่า มีช้างเผือกที่สีดังเงินยวงเชือกหนึ่งได้เข้ามากัดกินพระไตรปิฎกที่วัดจนหมด เมื่อท่านตื่นขึ้นมาจึงพิเคราะห์ทำนายนิมิตนั้นว่าจะมีผู้นำเด็กมีบุญญาบารมีและสติปัญญาเป็นเลิศมาฝากเรียนพระบาลี ซึ่งในภายพากหน้าจะเป็นผู้ทรงคุณวิเศษผู้หนึ่ง ในวันนั้นก่อนที่สมเด็จพระพุทธโฆสาจารย์ (นาค)ออกไปทำธุระจึงได้สั่งพระในวัดไว้ล่วงหน้าว่า ถ้ามีใครนำเด็กมาฝากเรียนบาลีให้อยู่รอพบท่านก่อน ซึ่งวันนั้นเอง สามเณรโตก็ได้มาพบสมเด็จพระพุทธโฆสาจารย์ (นาค) และได้เรียนพระบาลีที่สำนักนี้
ครั้นเมื่อสามเณรโตอายุุครบอุปสมบท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสามเณรโตไว้เป็นนาคหลวง โดยให้อุปสมบท ณ วัดพระศรีศาสดาราม ในปี พ.ศ.๒๓๕๐ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (ศุข) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระสังฆราชองค์ที่ ๒ แห่งกรุ่งรัตนโกสินทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวร(สุก ญาณสังวโร) วัดสิทธารามเป็นพระกรรมวาจาจารย์ สมเด็จพระพนรัต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาทางพระว่า”พรหมรังสี”
เมื่ออุปสมบทเป็นภิกษุแล้วท่านได้ศึกษาทั้งพระบาลีและพระกัมมัฏฐาน ในส่วนการเรียนกัมมัฏฐานนั้นท่านได้ศึกษากับพระญาณสังวร (ภายหลังท่านดำรงตำแหน่งพระสังฆราชองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ซึ่งท่านเป็นผู้ทรงคุณในทางพระกัมมัฏฐาน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯได้เล่าเรียนการลบผงวิเศษตามสูตรมูลกัจจายน์กับพระญาณสังวรและพระพรหมมุนีชิต ด้วย
นอกจากนี้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯได้ศึกษาเล่าเรียนพระพุทธาคมกับท่านขรัวตาแสง วัดมณีชลขันธ์ ลพบุรี พระเถระท่านนี้เป็นผู้มีฤทธิ์ย่นหนทาง ล่องหนหายตัวได้ เป็นที่นับถือของผู้คน ดังสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯพระราชวิจารณ์ในพระราชนิพนธ์ เสด็จประพาสมณฑลอยุธยา พ.ศ. ๒๔๒๑ ไว้ว่า “…ขรัวแสง คนทั้งปวงนับถือกันว่าเป็นผู้มีวิชา เดินตั้งแต่เมืองลพบุรีเช้า ลงไปเพลที่กรุงเทพฯ ได้ เป็นคนกว้างขวาง เจ้านายขุนนางรู้จักหมดได้สร้างพระเจดีย์สูงองค์หนึ่งที่วัดชลขันธ์ ตัวไม่ได้อยู่ที่วัดนี้ หน้าเข้าพรรษาไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอื่น ถ้าถึงออกพรรษาแล้วมาปลูกโรงอยู่ริมพระเจดีย์องค์นี้ ซึ่งก่อเองคนเดียวไม่ยอมให้ใครช่วย…”
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงถวายสมณศักดิ์พระราชาคณะที่พระธรรมกิตติแด่พระภิกษุโต ขณะอายุได้ ๖๕ ปี ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม มี นิตยภัตเดือนละ ๔ ตำลึง ๑ บาท ท่านรับสมณศักดิ์ที่พระธรรมกิตติ จากนั้นอีก ๒ ปี ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระธรรมกิตติเลื่อนเป็นพระเทพกวี และในปี พ.ศ. ๒๔๐๗ ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พระพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศฯ ก็ได้ถึงแก่มรณภาพ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระเทพกวีขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ถือเป็นองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประกาศเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๗
ครั้นต่อมาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็เริ่มอาพาธด้วยโรคชรา อาพาธได้ ๑๕ วัน ก็ถึงมรณภาพบนศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหมใน เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๑๕ เวลา เที่ยงคืนตรง สิริชนมายุได้ ๘๕ ปี พรรษาได้ ๖๕ พรรษา ขณะที่ท่านไปดูการก่อสร้างหลวงพ่อโตที่วัดอินทรวิหาร สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตารามรวมถึง ๒๑ ปี ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้ ๗ ปี
((นี้คือประวัติ โดยสังเขป ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นะครับ ))

ลิ้งค์หัวข้อ: http://www.banloktip.com/webboard/index.php?topic=149
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 23, 2012, 08:58:18 AM โดย เอ็มเจ »
บันทึกการเข้า
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้

ขอขอบคุณ : http://www.banloktip.com/webboard/index.php?topic=149.0

. . . . . . .