โอวาทสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

โอวาทสมเด็จพระพุฒาจารย์
(โต พรหมรังสี)

“ลูกเอ๋ย ก่อนจะเที่ยวไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด
เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อน
เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย
มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด
เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่เที่ยวไปขอยืมมาจนล้นตัว…
เมื่อทำบุญกุศลได้บารมีมาก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมด
ไม่มีอะไรเหลือติดตัว…
แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า หมั่นสร้างบารมีไว้…
แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง…
จงจำไว้นะ… เมื่อยังไม่ถึงเวลา เทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้…
ครั้นถึงเวลา…
ทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่… จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน
เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลย จะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า…”

อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ โก หิ นาโถ ปะโร สิยา
อัตตา หิ สุทันเตนะ นาถัง ลัพภะติ ทุลละภัง ฯ
ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้
บุคคลที่ฝึกตนเองดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่ง(ประเสริฐ) ที่หาได้ยากยิ่ง

อักขรา เอกัง เอกัญจะ พุทธะรูปัง สะมัง สิยา.
สร้างอักขรธรรมหนึ่งอักษร เท่ากับสร้างพระพุทธรูปหนึ่งองค์

(ที่มา : ศาสนวงศ์ ฉบับพระปัญญาสามี ๒๔๐๔)

ขอให้สนใจในธรรมทาน
โดย พุทธทาสภิกขุ

ธรรมทาน นั้นมีผลมากว่าทานอื่นจริง ๆ วัตถุทานก็ช่วยกันแต่เรื่องมีชีวิตอยู่รอด, อภัยทานก็เป็นเรื่องมีชีวิตอยู่รอด แต่มันยังไม่ดับทุกข์ มีชีวิตอยู่อย่างเป็นทุกข์น่ะมันดีอะไร, เขาให้มีชีวิตอยู่ แต่เขาได้รับทุกข์ทรมานอยู่ นี้มันดีอะไร มันดีอะไร
เมื่อรอดชีวิตอยู่แล้ว มันจะต้องไม่มีความทุกข์ด้วย จึงจะนับว่าดีมีประโยชน์ ข้อนี้สำคัญกว่าด้วยธรรมทาน มีความรู้ธรรมะแล้ว รู้จำทำให้ไม่มีความทุกข์ รู้จักป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ รู้จักหยุดความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ ธรรมทานจึงมีผลกว่าในลักษณะอย่างนี้ มันช่วยให้ชีวิตไม่เป็นหมัน
วัตถุทานและอภัยทานช่วยให้เรารอดชีวิตอยู่ บางทีก็อยู่เฉย ๆ มันสักว่ารอดชีวิตอยู่เฉย ๆ แต่ถ้ามีธรรมทานเข้ามาก็จะสามารถช่วยให้มีผลถึงที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ เพราะฉะนั้น ขอให้สนใจในเรื่องธรรมทาน
ทีนี้ให้ธรรมทาน มีจิตใจอยู่เหนือกิเลส ไม่ประกอบไปด้วยกิเลสมันก็ไม่มีปัญหา มันก็เสวยความสุขชนิดที่ไม่เกี่ยวกับกิเลส ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าเป็นของเหนือกว่า เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกคนพยายามให้ธรรมทานคือทำให้บุคคลอื่นมีธรรมะแล้วก็จะได้ผลชนิดที่ละเอียด ลึกซึ้ง ประณีต ประเสริฐ ยิ่งกว่าให้วัตถุทาน.
ให้ วัตถุทาน ชื่อว่าให้กำลังแรงกาย ส่งผลให้ร่ำรวย เป็นสุขในสวรรค์
ให้ อภัยทาน ชื่อว่าให้ความไม่มีเวร ส่งผลให้ชีวิตสงบ เป็นสุขในสวรรค์
ให้ ธรรมทาน ชื่อว่าให้ปัญญา ให้แสงสว่าง ให้ความพ้นทุกข์
ส่งผลให้มีสติปัญญาเห็นแจ้งในมรรค ผล เข้าถึงสุขสูงสุดในนิพพาน

โอวาท
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
(สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒)
ฉลองพระชนมายุครบ ๙๖ พรรษา
๓ ตุลาคม ๒๕๕๒

“ระบบสังคมไทยที่พระพุทธศาสนาสร้างขึ้นดังกล่าวเป็นระบบสังคมที่ดี ให้เกิดความสุขความเจริญ พระพุทธศาสนาไม่เคยทำให้สังคมไทยเสื่อม แต่ที่เสื่อมก็เพราะขาดพระพุทธศาสนาหรือใช้ธรรมไม่ถูกทาง จึงควรศึกษาให้มีความรู้จักพระพุทธศาสนาโดยเหตุผล”

คัดจากพระนิพนธ์ เรื่อง “พระพุทธศาสนากับสังคมไทย” โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ขอขอบคุณ : http://www.lc2u.org/th/know_kamson.php

. . . . . . .