ธรรมบรรยาย จริยศึกษากถา

ธรรมบรรยาย จริยศึกษากถา

เป็นธรรมะที่บรรยายโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต

บัดนี้จะแสดงพระธรรมเทศนา บรรยายคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงพยายามสอนประชาชนให้มีความขวนขวายในการกระทำความดีตามความเหมาะสมแก่การงานและหน้าที่ของตนๆ เพื่อช่วยส่งเสริมการศึกษาของนักเรียนทุกคนให้ได้รับผลจริงๆ
การศึกษาเล่าเรียนจะได้รับผลจริงๆ นั้น นักเรียนจะต้องได้รับส่วนสำคัญ ๒ อย่างคือ ๑. ความรู้ ๒. ความดี ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ที่จะกระจายออกไปเป็นส่วนย่อยๆ ได้อีกหลายส่วนด้วยกัน ถ้าผู้ใดศึกษาเล่าเรียนแล้วได้รับความรู้ด้วยมีความดีด้วย ผู้นั้นชื่อว่าได้รับผลจากการศึกษาเล่าเรียนจริงๆ แต่ถ้าผู้ใดไม่ได้รับผลทั้ง ๒ ส่วนนั้น ผู้นั้นได้ชื่อว่า ไม่ได้รับผลจากการศึกษาเล่าเรียนจริงๆ ถ้าเปรียบผู้นั้นเป็นแม่ค้าก็ได้ชื่อว่าดำเนินการค้าขายขาดทุน

การที่นักเรียนทั้งหลายมาศึกษาเล่าเรียนได้นั้น นักเรียนต้องลงทุนเป็นจำนวนมิใช่น้อยทั้งของบิดามารดา ของผู้ปกครอง และของตัวเอง ตั้งแต่ทรัพย์สินเงินทอง การงาน ตลอดจนเวลา ถ้าหากว่าจะไม่ได้รับความรู้ด้วยจะไม่มีความดีอยู่ในตัวเองด้วย ก็ได้ชื่อว่า ดำเนินการลงทุนล้มเหลว ขาดทุนจากที่มาศึกษาเล่าเรียนนั้น แล้วการศึกษาเล่าเรียนนั้น จะทำไปทำไม ไม่ทำดีกว่า เหมือนแม่ค้าที่มาขายของที่โรงเรียนเรา เขาต้องได้กำไรทุกวัน เขาจึงกล้ามาดำเนินการค้าขายเป็นประจำ ถ้าเขาไม่ได้กำไรเป็นประจำทุกวันแล้ว เชื่อแน่เหลือเกินว่าเขาจะไม่กล้ามาค้าขาย ดังที่นักเรียนได้เห็นเป็นจำนวนวันละมาก กว่าสิบรายนั้นได้เลย
คำขวัญ “ความรู้ต้องคู่กับความดี” มีความหมายว่า ความรู้จะมีประโยชน์ช่วยคนได้ ในเมื่อคนมีความดีอยู่ในตัว ถ้าคนไม่มีความดีอยู่ในตัว ความรู้แม้จะมีมากมายก่ายกองประการใด ก็รู้สึกว่าไม่มีประโยชน์แก่ผู้มีความรู้นั้นเลย เข้าในคติที่เรารู้จักกันทั่วไปว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด
แม้ในการเรียน ความรู้จะสามารถเข้าไปสถิตอยู่ในสติปัญญาของนักเรียนได้ ก็ต้องอาศัยมีความดีลากเข้าไป ถ้าหากไม่มีความดีลากเข้าไปแล้วความรู้จะมีโอกาสเข้าไปสถิตอยู่ในสมอง ในสติปัญญาของนักเรียนได้น้อยเต็มที เหมือนกับการรับประทานอาหาร ข้าวสุกจะสามารถเข้าไปในท้องของผู้รับประทานได้จนเต็มที่ ก็เพราะมีกับเป็นเครื่องนำเข้าไป ถ้าหากไม่มีกับเป็นเครื่องนำเข้าไป ผู้รับประทานอาหารก็คงจะทนกลืนข้าวสุกเปล่าๆ เข้าไปไม่ไหว จะกลืนเข้าไปได้ก็อาจเพียงคำสองคำ แล้วร่างกายจะอยู่ได้อย่างไร
นักเรียนที่ขาดความดีในการเรียน ความรู้ก็จะเข้าไปสู่สติปัญญา เข้าไปสู่สมองของตนลำบากยากอย่างยิ่ง ถ้าผู้ใดมีความดี ความรู้จึงจะเดินเข้าไปสู่สมอง สู่สติปัญญาของผู้นั้นได้ง่ายๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็เช่น เพียงนักเรียนขาดความอุตสาหะ ขาดความสนใจในการเรียนอย่างเดียวเท่านั้น ก็รู้สึกว่าความรู้ที่กำลังเรียนนั้นไม่กล้าที่จะเดินเข้าไปสถิตอยู่ในสมองในสติปัญญาได้ เพราะฉะนั้นความรู้จะเกิดขึ้นได้อย่างดีก็ต้องมีความดีเข้าช่วย
ถ้านักเรียนอ่อนการเรียน คำตอบที่ใกล้ถูกก็เห็นจะว่าเพราะนักเรียนสนใจในเรื่องของความดีน้อยลงไป เหมือนคนรับประทานอาหารสนใจในรับประทานกับน้อยเกินไป ข้าวเปล่าๆ จึงถูกกลืนเข้าไปได้ยากเต็มที และข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งก็คือ คนที่มีความรู้มากๆ ในปัจจุบันนี้ ไม่อาจช่วยแม้เพียงตัวเอง ให้เป็นอย่างผาสุขเยี่ยงอย่างสามัญชนคนธรรมดา ก็มีจำนวนไม่ใช่น้อย ทั้งนี้เนื่องมาจากอะไร ก็คงเนื่องมาจากว่าเขาพวกนั้นให้ความสนใจแก่ความดีน้อยไปนั่นเอง
ทำไมคนบางคนหรือคนบางพวกจึงมีความสนใจในความดีน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่ความดีมีประโยชน์ใหญ่ อันทุกๆ คนจะขาดไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าอำนาจของคุณความดีที่จะเป็นที่พึ่งพาอาศัยแก่ตนนั้นมันต้องผ่านสิ่งอื่นไปก่อน ส่วนสิ่งใดมีอำนาจเป็นที่พึ่งพาอาศัยได้ตรงๆ สิ่งนั้นคนก็เห็นคุณค่าของมันได้ชัด
นักเรียนทั้งหลาย คนเราพึ่งการงานกับหน้าที่สองอย่างนี้เท่านั้น จะพึ่งสิ่งอื่นไม่ได้ แต่ว่าการงานกับหน้าที่นั้นจะดำรงอยู่ได้ในเมื่อมีความดีเป็นเครื่องรับรอง ถ้าไม่มีความดีเป็นเครื่องรับรอง การงานกับหน้าที่เป็นที่พึ่งของคนไม่ได้ ถ้าเราจะเปรียบคนเหมือนศาลาหลังนี้ การงานกับหน้าที่ก็เปรียบเหมือนพื้นกับหลังคา อันเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ศาลาโดยตรง พื้นเป็นประโยชน์ให้พวกเรานั่งอยู่ได้สบายไม่เปรอะเปื้อนด้วยของสกปรก หลังคาเป็นประโยชน์ให้พวกเรานั่งด้วยความสบาย กำบังแดดในเวลานี้ได้ แม้จะมีฝนตกก็กำบังฝนได้ด้วย แต่นักเรียนจงนึกต่อไปว่าพื้นศาลาอยู่กับอะไร หลังคาศาลาอยู่กับอะไร ถ้านักเรียนคิดไปแล้วก็จะจับความจริงได้ว่า พื้นศาลาก็ดี หลังคาก็ดี มันมีเสาเป็นเครื่องค้ำยันเป็นเครื่องรองรับไว้ คือที่เสานั้นมีไม้อเสตรึงไว้ พื้นอยู่บนไม้อเสอีกทีหนึ่ง ถ้าเสาไม่มีก็ไม่รู้จะเอาไม้อเสไปตรึงไว้กับอะไร หลังคาก็มีปลายเสาเป็นเครื่องยันไว้ ถ้าไม่มีปลายเสาเป็นเครื่องยันไว้หลังคาศาลาก็อยู่ไม่ได้ เราใช้ศาลาเราใช้ตรงไหนบ้าง เราอาศัยอะไรมันบ้าง เราก็ใช้พื้นกับหลังคาของมัน เราไม่ได้อาศัยเสาเลย แต่ว่าศาลาจะขาดเสาได้หรือไม่ ขาดเสาไม่ได้ทีเดียว เพราะถ้าขาดเสาแล้วพื้นจะอยู่ไม่ได้ หลังคาจะอยู่ไม่ได้ การงานกับหน้าที่ก็เหมือนหลังคากับพื้น คุณความดีก็เหมือนกับเสา นักเรียนทั้งหลาย คนมีการงานถ้าไม่มีความดี การงานก็ไม่รู้จะตรึงอยู่กับอะไร คนมีหน้าที่ ถ้าไม่มีความดี หน้าที่ก็ไม่รู้จะสถิตอยู่กับอะไร เพราะถ้าความดีหมดเมื่อไร การงานกับหน้าที่หน้าที่ก็ล้มเหลวเมื่อนั้น เหมือนเสาศาลาเอาออกเมื่อใด พื้นศาลาก็ใช้ไม่ได้ หลังคาศาลาก็ใช้ไม่ได้เมื่อนั้น เพราะเหตุที่คุณความดีไม่ได้เป็นที่พึ่งของคนโดยตรง เหมือนเสาศาลาไม่ได้เป็นที่อาศัยของคนโดยตรงนั่นแหละ คนบางคนหรือคนบางพวก จึงเห็นคุณค่าของความดีน้อยเกินไป ในขณะนี้เธอกำลังเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษา จึงหวังว่าเธอคงมีสติปัญญารับทราบข้อเปรียบเทียบ การงานเหมือนพื้นศาลา หน้าที่เหมือนหลังคาศาลา คุณความดีเหมือนเสาศาลา ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ได้ และขอให้เธอทุกคนจงได้ระลึกต่อไปว่าบัดนี้ตนยังมีหน้าที่เป็นนักเรียนอยู่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคุณความดีสำหรับนักเรียน หน้าที่ของนักเรียนจึงจะช่วยตนได้
ความดีคืออะไร ?

ความดี คือ ลักษณะเป็นที่ปรารถนาของทุกๆ คน เป็นที่สนใจของทุกๆ คน คนมีดีจึงได้แก่คนที่มีลักษณะเป็นที่ปรารถนาของคนทั้งหลาย เป็นที่สนใจของคนทั้งหลาย นักเรียนดี คือ นักเรียนที่มีลักษณะเป็นที่รักใคร่ของโรงเรียน เป็นที่รักใคร่ของครูบาอาจารย์ ลูกดี คือ ลูกที่มีลักษณะเป็นที่พึงพอใจสงสารรักใคร่ของบิดามารดา เพื่อนดี คือ เพื่อนที่มีลักษณะเป็นที่ไว้วางใจของเพื่อน ญาติดี คือ ญาติที่มีลักษณะเป็นที่ไว้วางใจของญาติ ดังนั้นความดีของคนจึงได้แก่ลักษณะอันเป็นที่รักใคร่ เชื่อถือ ปรารถนาสนใจของคนทั้งหลาย นั่นเอง
การสร้างความดีจึงได้แก่การสร้างให้เกิดลักษณะทางมารยาท ทางคำพูด ทางแนวความคิด เป็นที่พึงพอใจรักใคร่นับถือของคนทั่วๆ ไป ตั้งแต่ภายในวงอันแคบออกไปจนถึงวงอันกว้างตามลำดับ
เพราะฉะนั้น เมื่อเธอต้องการเป็นคนดี เธอก็ต้องพยายามสร้างมารยาท สร้างคำพูด สร้างแนวความคิด ให้เป็นที่ตรึงใจของคนทั่วๆ ไป ให้เป็นที่เหนี่ยวรั้งใจคนทั่วๆ ไป ตั้งแต่ให้เป็นที่เกิดความรักใคร่ความสงสารของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ผู้ปกครอง ตลอดจนเพื่อนนักเรียนและคนทั้งหลาย
การสร้างลักษณะดี หรือการสร้างความดีนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์ของโลกในยุคนี้ ได้ทรงแสดงไว้ ๔ วิธี คือ
วิธีที่ ๑ สร้างให้มีความกตัญญูกตเวที
วิธีที่ ๒ สร้างให้มีความสุภาพ
วิธีที่ ๓ สร้างให้มีความซื่อสัตย์
วิธีที่ ๔ สร้างให้มีความเสียสละ
วิธีสร้างความดีสี่วิธีนี้ เปรียบได้เหมือนการศึกษาภาคบังคับ คือการศึกษาชั้นประถม ซึ่งเด็กทุกคนจะต้องได้ศึกษาเล่าเรียนตามลำดับ ส่วนการศึกษาชั้นมัธยมและชั้นอุดมนั้น ใครจะเรียนหรือไม่ก็สุดแต่อัธยาศัย และความเหมาะสมของตน ทำนองเดียวกัน ความดี ๔ ประการนี้ ทุกคนก็จะต้องฝึกฝนให้เกิดมีขึ้นตามลำดับชั้น คือ
ความกตัญญูกตเวที เป็นชั้นประถมปีที่ ๑
ความสุภาพ เป็นชั้นประถมปีที่ ๒
ความซื่อสัตย์ เป็นชั้นประถมปีที่ ๓
ความเสียสละ เป็นชั้นประถมปีที่ ๔
ผู้ที่ทำความดี ๔ อย่างนี้ได้ ก็ได้ชื่อว่าทำความดีภาคบังคับเสร็จแล้ว ส่วนความดีอื่นๆ นั้น ค่อยๆ ทำกันไป เหมือนการเรียนซึ่งเริ่มต้นด้วยอายุ ๔ ขวบ ก็ต้องเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับก่อน ส่วนการศึกษาภาคไม่บังคับคือการศึกษาชั้นมัธยมและชั้นอุดม จะเรียนหรือไม่เรียนก็ต้องค่อยๆ ตรึกตรองกันต่อไป ดังนั้นการที่จะไม่ฝึกฝนให้เกิดความดี ๔ อย่างนี้จึงไม่ได้ สังคมเขาจะไม่ยอม เหมือนการที่จะไม่เรียนชั้นประถมไม่ได้ พระราชบัญญัติประถมศึกษาจะไม่ยอม เพราะฉะนั้นทุกคนจึงต้องอบรมความดีสอบประถมปีที่ ๑ – ๒ – ๓ – ๔ คือ ความกตัญญูกตเวที ความซื่อสัตย์ ความสุภาพ ความเสียสละ ไปตามลำดับ
ชั้นประถมปีที่ ๑ จงฝึกฝนให้มีความกตัญญูกตเวที
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เริ่มฝึกฝนอย่างนี้ การที่ทรงสอนให้เริ่มฝึกอย่างนี้ ก็เพราะความกตัญญูกตเวที เป็นทางที่ราบรื่นทั้งปัจจุบันและอนาคต คนขาดความกตัญญูกตเวที มีความมืดมัวทั้งในปัจจุบันและอนาคตตลอดกาล เหมือนคนเดินทางในที่อันไม่มีทาง การเดินทางก็ว้าเหว่ เพราะฝากการเดินทางไว้แก่ยถากรรม คนมีความกตัญญูกตเวทีย่อมมีความเจริญเร็วตามพระพุทธภาษิตที่ว่า “ผู้มีความกตัญญูกตเวทีเป็นผู้เจริญด้วยผลที่พึงปรารถนาทุกประการ”
ถ้านักเรียนจะได้ศึกษาชีวประวัติของคนใหญ่คนโตทั้งหลาย นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา นักเรียนก็จะทราบได้ว่าเบื้องหลังที่จะทำให้ท่านเหล่านั้นสามารถดำเนินชีวิตมาถึงความเจริญขนาดนั้นได้ ก็อาศัยความดีอันมีความ กตัญญูกตเวทีรวมอยู่ประการหนึ่งด้วย
เราทั้งหลายมีพระประจำชีวิตอยู่สาม คือ
๑. บิดามารดา เหมือนพระพุทธเจ้า
๒. ครูบาอาจารย์ เหมือนพระธรรม
๓. ผู้ปกครอง เหมือนพระสงฆ์
เราจะต้องระลึกถึงพระคุณอันอุ่นเกล้าของท่านทั้งสามนี้วันละสองครั้งเป็นอย่างน้อย เหมือนไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในโรงเรียนอย่างน้อยวันละสองครั้ง คือในตอนเช้าเมื่อได้เชิญธงชาติขึ้นสู่เสาอันสัญญาณแห่งการเริ่มเรียนแล้ว เราก็ไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ทันที และจบการเรียนประจำวันก่อนจะออกจากห้องเรียนกลับบ้าน เราก็ไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อีกครั้งหนึ่งก่อน เราไหว้พระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนาวันละสองครั้ง เป็นอย่างน้อยฉันใด เราก็ต้องรำลึกถึงคุณพระประจำตัวของเราให้ได้อย่างน้อยวันละสองครั้งฉันนั้น ในตอนเช้าเราจงนึกว่าบิดามารดาของเรา ครูบา-อาจารย์ของเรา และผู้ปกครองของเรา ได้มีความดีอะไรแก่เราบ้าง เวลาเย็นๆ ค่ำๆ ก็จงนึกว่า บิดามารดาของเรา ครูบาอาจารย์ของเรา และผู้ปกครองของเรา ท่านมีความดีแก่เราอย่างไรบ้าง เราเกิดความซาบซึ้งในพระคุณของท่านเมื่อไร ก็เชื่อว่าเราสอบความดีที่จำเป็นชั้นประถมปีที่ ๑ ได้แล้ว
ชั้นประถมปีที่ ๒ จงฝึกให้มีความสุภาพ
ความสุภาพ คือ ความดีเด่น ลักษณะใดเป็นดีเด่น ลักษณะนั้นเรียกกันว่า ความสุภาพ
ดีเด่น คือ ดีอย่างไร ?

ดีเด่นเห็นชัด ดีที่ไกล เรียกว่าดีเด่น ส่วนดีใด เห็นไม่ชัด และเห็นได้ระยะใกล้ ดีนั้นเรียกว่า ดีธรรมดา
คนดีมีดีเด่น คนนั้นย่อมมีโอกาสดีกว่าคนอื่น นักเรียนที่ดีเด่นในชั้นย่อมมีโอกาสก่อนนักเรียนทุกๆ คน ลูกที่มีดีเด่นในระหว่างพ่อแม่ ย่อมมีโอกาสมากกว่าพี่ๆ น้องๆ นักเรียนทั้งหลายผู้ใดเป็นนักเรียนเด่นในชั้นผู้นั้นย่อมอยู่ในความห่วงใยของครูทุกคน เพียงแต่จะเรียนอ่อนลงไปนิดครูก็สงสาร แต่ผู้ใดมีดีไม่เด่น แม้จะสอบได้อันดับสุดท้าย ก็รู้สึกว่าครูบาอาจารย์เฉยๆ ความห่วงใยไม่ค่อยจะมีนัก ลูกคนใดมีดีเด่น ลูกคนนั้นพ่อแม่ก็นึกถึงก่อน ลูกคนอื่นทั้งหมด ลูกคนใดมีดีไม่เด่น ลูกคนนั้นพ่อแม่ก็นึกถึงทีหลัง เพื่อนดีเด่นเราก็นึกถึงก่อน เพื่อนดีไม่เด่นเราก็นึกถึงทีหลัง ดังนั้น การสร้างความดีเด่น จึงเป็นของจำเป็นสำหรับเราทุกคน เพราะเราต้องการให้พ่อแม่นึกถึงเราก่อน เราต้องการให้ครูบาอาจารย์นึกถึงเราก่อน เราต้องการให้ผู้ปกครองนึกถึงเราก่อน เราต้องการให้ทุกๆ คน นึกถึงเราก่อน
ดีเด่นได้แก่ลักษณะ ๔ อย่าง คือ
๑. ความอ่อนน้อม
๒. ความอ่อนหวาน
๓. การรู้จักกาละเทศะ
๔. การรู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่
ความอ่อนน้อม ได้แก่ ความมีมารยาทเรียบร้อย อันเป็นเสน่ห์ตรึงตราตรึงใจของคนทั้งหลายอยู่เสมอ ความอ่อนหวาน ได้แก่ การพูดอ่อนหวาน คนพูดอ่อนหวานได้มากเพียงใด ก็สามารถจะตรึงใจคนฟังได้มากเพียงนั้น การรู้จักกาละเทศะ หมายความว่า รู้จักว่าเวลาไหนควรทำอย่างไร ที่ไหน ควรจะทำอย่างไร เรารู้อย่างนี้ เราก็สามารถตรึงใจคนทั้งหลายให้มีความสนใจเราอยู่ได้เรื่อยๆ ความรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีลักษณะอย่างนี้ เราเข้ากับเด็กๆ ก็สนใจ เข้าผู้ใหญ่ๆ ก็สนใจ เพราะเราวางตัวเข้าได้ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่
ชั้นประถมปีที่ ๓ คือ ความซื่อสัตย์
ได้แก่ ความตรงไปตรงมาเปิดเผย เป็นเครื่องทำให้คนเกิดความเชื่อถือ เพราะคนเราก็เชื่อกันที่ตรงไปตรงมาอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าเสียความตรงไปตรงมาแล้วจะไม่เชื่อกันได้เลย เธอตรงไปตรงมาที่บ้าน พ่อแม่ก็เชื่อ เธอตรงไปตรงมาที่โรงเรียน ครูก็เชื่อ เพื่อนก็เชื่อ ถ้าเธอไม่ตรงไปไม่ตรงมาใครๆ ก็ไม่เชื่อ เมื่อเขาไม่เชื่อแล้ว เธอจะมีความหมายกระไร เหมือนกับเธอ ถ้าไม่เชื่อผู้ใด ผู้นั้นจะมีความหมายอะไรสำหรับเธอ
ชั้นประถมปีที่ ๔ คือ ความเสียสละ
ได้แก่ การรู้จักแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ เสน่ห์สำคัญของคนก็อยู่ที่การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ตรงกันข้ามถ้าไม่รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันเสีย ก็จะรักกันไม่ลง เพราะไม่รู้จะรักไปทำไม รักแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เธอรักคนที่ไม่เสียสละอะไรให้แก่เธอเลย เธอได้ประโยชน์อะไรจากการที่รักเขา
คุณความดีภาคบังคับ มี ๔ อย่างดังที่แสดงมานี้ นักเรียนทุกคนจะต้องฝึกให้เกิดขึ้นในตนจนครบตามลำดับจงได้ เหมือนการเรียนชั้นประถมศึกษาภาคบังคับ ซึ่งทุกคนได้เรียนผ่านมาแล้ว จึงมีวาสนามาเรียนชั้นมัธยมอย่างนี้ได้ ถ้าใครฝึกตนให้ผ่านคุณความดีภาคบังคับทั้ง ๔ นี้ไปไม่สำเร็จ ก็จะฝึกให้มีคุณความดีประการอื่นๆ ไม่ได้ เมื่อหมดคุณความดีเสียแล้ว มีการงานมีหน้าที่ประการใด การงานและหน้าที่นั้นก็จะช่วยอะไรไม่ได้เหมือนพื้นศาลาและหลังคาศาลาที่ขาดเสาจะเกิดประโยชน์อะไรในการอยู่อาศัยไม่ได้ฉะนั้น
โดยประการดังกล่าวมา การศึกษาเล่าเรียนจะมีผลจริงๆ นักเรียนจะต้องได้ทั้งความรู้และมีทั้งความดี
เพราะฉะนั้น จึงขอให้นักเรียนทุกคนได้มีความเคารพต่ออุดมคติที่ว่า ความรู้ต้องคู่กับความดีอยู่ตลอดกาล.

² ² ² ² ²
ขอบคุณข้อมูล : http://palipage.com/watam/piyapan4/K00045.htm

. . . . . . .