ธรรมบรรยาย ติอาวุธกถา

ธรรมบรรยาย ติอาวุธกถา

เป็นธรรมะที่บรรยายโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต

บัดนี้จักแสดงพระธรรมเทศนา ในติอาวุธกถา พรรณนาถึงธรรมเป็นอาวุธ ๓ ประการ โดยสมควรแก่กาลเวลา ดำเนินความว่า อันประชาสัตว์ผู้เกิดมาทุกรูปทุกนาม ย่อมตกอยู่ในวงแห่งสงครามทุกตัวคน ไม่มีใครจะหลีกพ้นไปได้ สงครามที่กล่าวถึงในกถามรรคนี้ คือกิเลสสงคราม คนผู้ปราชัยต่อกิเลส ก็เที่ยงแท้ว่า จักต้องประสบทุกข์ เวียนเกิดเวียนตายอยู่เสมอไป ส่วนผู้มีชัย ก็ย่อมประสบสุขสวัสดี
สมเด็จพระมหามุนี ผู้บรมครูของเราทั้งหลาย พระองค์ทรงอุบัติขึ้นในโลก ก็ทรงตกอยู่ในวงสงครามดังได้กล่าวมาเช่นเดียวกัน แต่อาศัยพระปรีชาญาณเลิศล้น ล่วงวิสัยแห่งสามัญสัตว์ ทรงพิจารณาเห็นโลกประวัติ โดยประจักษ์พระหฤทัยว่าเต็มด้วยสรรพทุกข์สรรพกิเลสและกองทุกข์ ซึ่งเป็นดังหนึ่งศัตรู วันคอยจะจู่โจมเข้าทำร้าย ด้วยพระอุตสาหะอันยิ่งใหญ่ ในที่สุดก็ทรงประสบความมีชัยอย่างเยี่ยมยอด นำพระองค์ให้ปลอดจากหมู่ข้าศึกไปได้บรรลุถึงภูมิชัยโลกอุดร แต่เพราะอาศัยพระมหากรุณาในประชากรพุทธเวไนย หวังจะให้ประสบชัยเช่นเดียวกับพระองค์ จึงทรงประทานพระอนุสาสนีให้เป็นอาวุธคู่มือ สำหรับชิงชัยในกิเลสสงคราม เพื่อปราบปรามเหล่าศัตรู ซึ่งมีประเภทต่างๆ ให้พินาศ ด้วยพระโอวาทธรรมภาษิตว่า ตีณิ อาวุธานิ อาวุธ ๓ เล่ม สุตาวุธํ อาวุธคือสุตะ ๑, ปวิเวกาวุธํ อาวุธคือปวิเวก ๑, ปญฺญาวุธํ อาวุธคือปัญญา ๑ ดังนี้

๑.สุตะ หมายถึงการตั้งใจสดับฟัง การหมั่นเล่าเรียนศึกษา ปวิเวก หมายถึงความสงัด อันได้แก่ กิริยาที่ไม่คลุกคลี ด้วยหมู่คณะและสรรพกิเลสที่จรมา ปัญญา หมายถึง ความรอบรู้เฉลียวฉลาด พระโอวาททั้ง ๓ อย่าง แต่ละข้อได้ชื่อว่าเป็นอาวุธเพราะเหตุว่า เมื่อเกิดมีขึ้นแล้ว ย่อมจักทำลายล้างข้าศึกคือกิเลส อันเกิดขึ้นประทุษร้ายใจให้พินาศไปได้ ทำให้เป็นผู้มีใจองอาจกล้าหาญ ในอันที่จะย่างเขาชิงชัยในกิเลสสงคราม ฉันเดียวกับอาวุธภายนอก ซึ่งเมื่อใครมีแล้ว ยามจะไปไหนมาไหนแม้คนเดียว ก็อุ่นใจไม่นึกหวาดหวั่นครั่นคร้ามต่อศัตรู และอาจเอาชัยชนะต่อศัตรูได้ฉะนั้น อันท่านผู้มุ่งหวังความสุขสงบใจเย็นเบื้องหน้า หากว่าไร้เสียซึ่งธรรมาวุธแล้ว ย่อมแน่ว่าจักต้องไม่ได้รับความสุขสงบใจสมดังมุ่งหมาย และแน่นอนว่าจักต้องถึงความปราชัยพ่ายแพ้ ในกิเลสสงครามโดยมั่นคง เหมือนนักรบ แม้ว่าใจจักแก่กล้าสักเพียงไหน ถ้าไร้อาวุธประจำกายแล้ว ก็หน้าที่จักต้องปราชัยแก่ดัสกร ฉะนั้น
ธรรมาวุธเล่มแรกคือ สุตะนั้น ได้แก่การสดับฟัง การเล่าเรียนศึกษาศิลปวิทยการต่างๆ อันเป็นวิถีทางถ่ายความร้อนกันและกัน อันท่านผู้เล่าเรียนศึกษาไว้มากในทางพุทธศาสนา ยกย่องสรรเสริญว่าเป็นพหูสูตร และก็เป็นอันติคนผู้ศึกษาน้อยตรงกันข้าม แท้จริงบุคคลผู้จะรู้จักผิดชอบชั่วดีได้ จำต้องอาศัยการเล่าเรียนศึกษาเป็นปัจจัย เพราะการศึกษาเป็นบ่อเกิดของความรู้ ความฉลาดนานาประการ อาจทำลายความมืด ครอบงำสันดานให้หมดไป เกิดปรีชาสว่างไสวขึ้นแทนที่ คุณข้อนี้จำปรารถนาเพียงไร ไม่ว่าในทางโลกทางธรรม ย่อมประจักษ์ใจแก่ผู้ฉลาดเป็นอย่างดี เหตุนี้จึงมีพระบาลีสรรเสริญ สุตะไว้เป็นหลายกระบวน เช่นว่า เป็นทรัพย์อย่างประเสริฐ เพราะปลดเปลื้องความจนใจบ้าง ว่าเป็นธรรมวันกระทำที่พึ่งเพราะทำความอุ่นใจบ้างดังนี้ อนึ่งสุตะนี้ ย่อมเป็นคนให้ผิดแผกแตกต่างกัน อันชีวิตของผู้ไร้สุตะนี้ ย่อมยากที่จะประสบความเจริญงอกงามได้ ย่อมมีแต่จะพอกพูนทุกข์ภัยให้เกิดมี ล้วนผู้สั่งสมสุตาวุธไว้เป็นอย่างดี ย่อมจักมีแต่ความเจริญ จนจักสุดวาสนาบารมีของตน ก็แต่ว่าการฟัง การศึกษา ซึ่งเรียกว่าสุตะ จะอำนวยผลให้เป็นอย่างดี จำต้องมีความสงบสงัดเป็นเครื่องอุปถัมภ์ค้ำจุนบางเวลา เหมือนดังว่าอาวุธของนักรบทหารหาญ เมื่อประกอบให้แก่กาลสมัย ย่อมจักยังข้าศึกให้ถึงความปราชัยได้ฉันใด แม้การสู้รบกับหมู่ศัตรูภายในคือกิเลส เมื่อประกอบให้ชอบที่ถึงคราวฟัง ก็ฟัง ถึงคราวคิด ก็คิด จึงควรเป็นอาวุธศักดิ์สิทธิ์ เหมาะแก่การปราบกิเลส ฉะนั้นเหตุนี้ จึงควรมีปวิเวกาวุธ อาวุธเล่มที่ ๒ คือปวิเวก อันหมายถึงสงบสงัด เป็นลำดับไป
๒.ปวิเวก คือความสงัดจัดเป็น ๒ อย่างคือ สงัดกาย เรียกว่า กายวิเวก ๑ สงัดใจ เรียกว่า จิตตวิเวก ๑ กิริยาที่งดเง้นด้วยการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปลีกตัวอยู่ผู้เดียวในสถานที่อันสงบเงียบ ปราศจากเสียงอึกทึก อันเกิดแต่การสัญจรไปมาของปวงชน เรียกว่ากายวิเวก สงัดกาย ฯ กิริยาที่พยายามทำใจให้สงัดปลอดจากสรรพกิเลส บาปธรรมเครื่องเศร้าหมองใจ ทำความคิดความนึกให้แน่วแน่อยู่แต่ในอารมณ์อันเดียว เรียกว่า จิตตวิเวก สงัดใจ ฯ วิเวกนี้ย่อมเป็นคุณธรรมอันสำคัญ ท่านจัดว่าเป็นอาวุธประการหนึ่ง ซึ่งเมื่อทำให้เกิดมีแล้ว ย่อมจักกำจัดความวุ่นวายใจ ความหงุดหงิดใจเสียได้ แล้วและเป็นปัจจัยให้เกิดปรีชาญาณเฉลียวฉลาด สามารถคิดเห็นอรรถธรรม โดยคล่องใจไม่ติดขัด แท้จริงการอยู่ในสถานที่อันสงบสงัดนั้น ย่อมอำนวยประโยชน์ให้อย่างไพศาล เช่นจักคิดค้นสรรพวิทยากรอันสุขุมลึกซึ้ง ก็จักพึงสำเร็จสมดังใจหมาย และเป็นปัจจัยให้เกิดจิตตวิเวกเป็นอย่างดี สมเด็จพระมุนีตรัสรู้ธรรมพิเศษ เป็นองค์พระอรหันต์ อุดมเอกในโลก ก็ด้วยได้สถานอันสงัดสงบเงียบ
วิเวกเป็นประการดังกล่าวมา เมื่อสาธุชนทำให้เกิดมีย่อมเป็นวิถี ให้เกิดปัญญาวุธ เล่มที่ ๓ เป็นลำดับไป
๓.ปัญญา ความรอบรู้ในเหตุและผล ประจักษ์ชัด จัดว่าปัญญา อันปัญญานี้ เมื่อเกิดมีแล้ว ย่อมทำให้เป็นผู้รู้จักหลีกเลี่ยงเหตุแห่งความเสื่อมประกอบเหตุแห่งความเจริญ สามารถทำลายความมืดในใจให้หมดไป บันดาลให้ความสว่างไสวใจเกิดมา แสงสว่างแห่งปัญญานี้ ท่านกล่าวว่า ไม่มีแสงสว่างอื่นอันใดจะสู้ได้ ข้อนี้ต้องด้วยเทศนามัย เป็นพุทธภาษิตว่า นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี และว่า ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลกดังนี้ ที่ตรัสสรรเสริญเช่นนี้ ก็เพราะเหตุว่า ปัญญาย่อมส่องใจให้บุคคลเห็นอรรถธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งให้กระจ่างแจ้ง ซึ่งเหลืออำนาจให้แสงอื่นจะส่องได้ทั่วถึง อันคนผู้มืดใจพิจารณาสิ่งใดไม่เห็น ก็เป็นเพราะขาดปัญญา ต่อเมื่อใดปัญญาเกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้นความมืดใดก็เสื่อมสิ้นไป อีกนัยหนึ่ง ปัญญาเปรียบเสมือน นายกผู้ปกครองคนเป็นอย่างดี ซึ่งความข้อนี้ต้องด้วยพระบาลีว่า ปญฺญา เจนํ ปสาสติ ปัญญาย่อมปกครองนรชน โดยอธิบายว่า อันคนอื่นถึงจะปกครองดูแลแนะนำได้ ก็ในกาลบางครั้งบางคราวและบางแห่ง แต่ส่วนปัญญาย่อมปกครองดูแลได้ในที่ทุกสถาน ในกาลทั้งปวงถึงซึ่งอันนับว่า เป็นผู้ปกครองที่ดีเลิศล่วงผู้ปกครองทั้งหลายฯ โดยนัยนี้ ปัญญาจึงจัดว่าเป็นอาวุธ เหตุเป็นอุปสรรคทางใจให้หมดไปได้ สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ของเราทั้งหลาย พระองค์ถึงชัยชนะมารและเสนามารด้วยปัญญาวุธ ทรงหวังจักให้พุทธบริษัทประพฤติตามพระองค์บ้าง จึงทรงภาษิตสั่งสอนไว้ว่า โยเธถ มารํ ปญฺญาวุเธน พึงรบมาด้วยอาวุธคือ ปัญญา ดังนี้
แต่ว่าปัญญานี้ จักอำนวยประโยชน์ให้เป็นอย่างดี ก็ด้วยการที่รู้จักใช้ ค้นหาไปแล้วก็จักเป็นภัยแก่ตนโดยมิต้องสงสัย ซึ่งคล้ายกับอาวุธภายนอก มีมีดพร้าเป็นต้น ถ้าไม่รู้จักใช้ หรือใช้ในสถานในการมิบังควร แทนที่จะให้คุณก็กลับกลายเป็นให้โทษฉะนั้น เหตุนี้จึงควรที่สาธุชนผู้ฉลาด มีปัญญาวุธแล้ว พึงใช้ให้ถูกต้องตามเหตุการณ์ ไม่ควรนำปัญญาวุธนั้นไปใช้ในทางที่ผิดธรรม จะได้ประสบความจำเริญสมดังใจหมาย
ก็การที่สาธุชนจะนำธรรมาวุธ ๓ เล่ม ไปใช้ในกิเลสสงคราม จำเป็นที่ควรทราบถึง ตัวข้าศึกอันจะไปผจญว่าผู้ใดบ้างเป็นนายพลผู้นำทัพกำกับไพร่ ก็ในกิเลสสงครามนั้นย่อมมีนายและพลไพร่ ซึ่งห้าวหาญเป็นอันมาก ยากที่จะบรรยายให้หมดไปในกถามรรคนี้ แต่จะนำมาชี้แจงเพียง ๓ นาย เฉพาะคนสำคัญ อันเท่ากับเป็นนายทัพกำกับพล นายทัพทั้งสามนายนี้เรียกตามบาลีว่า โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ กิเลส ๓ กองนี้ เป็นดังนายทัพผู้นำหมู่ คอยหาโอกาสจู่โจมเข้าประทุษร้ายใจ กิเลสอย่างอื่นที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นได้ ที่มีอยู่บ้างก็พลอยเจริญขึ้น เพราะกิเลสทั้ง ๓ เป็นปัจจัย ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกว่า อกุศลมูล รากของความชั่วช้าเลวทรามทั้งหลาย โลภะ คือความอยากได้ โทสะ คือความประทุษร้าย โมหะ คือความหลงไม่รู้จิรง ทั้ง ๓ อย่างเป็นอกุศลส่วนเจตสิกเกิดขึ้นในใจ เมื่อปล่อยไว้จนรุนแรงระงับไว้ไม่ไหว ก็ย่อมผลิผลอันชั่วร้ายออกทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เช่น โลภะความอยากได้ เมื่อเกิดขึ้นเต็มทันหัวใจ ก็เป็นเหตุให้ทำร้ายเขาด้วยกายบ้าง ลักของเขาบ้าง อันเป็นทุจริตทางกาย หรือไม่เช่นนั้น ก็ให้เปล่งมุสาวาทบ้าง อันเป็นทุจริตทางวาจา แม้หากว่าจะไม่รุนแรง เพียงกรุ่นอยู่ในใจก็ทำลายใจให้ปราศจากความสงบแล้ว หาความผ่องแผ้วมิได้ แม้โทษเล่าก็เช่นเดียวกัน เมื่อเกิดขึ้นในใจ ไม่ระงับไว้จนถึงคายพิษออก ทางกายทางวาจาแล้ว ย่อมไม่ทำความดีอะไรให้ มีแต่ก่อความเสียหายให้เกิดขึ้น ถ้าผลที่ทำลงไปเพราะโทสะนั้น เป็นอย่างรุนแรงกล้า ถึงล้มถึงตาย หรือทำความเสียหายให้เกิดแก่ผู้อื่น ก็ต้องเสวยทุกข์ทันตาเห็น เช่นถูกจองจำเป็นต้น ถึงโทสะจะไม่ผลิผลให้ปรากฏทางกายวาจา เพียงแต่กรุ่นอยู่ในใจก็ย่อมประทุษร้ายใจให้หม่นหมอง ทำผิวพรรณมิให้ผ่องใส ดังในพุทธภาษิต กล่าวติว่า โกธโน ทุพฺพณฺโณ โหติ คนมักโกรธย่อมมีพรรณขี้ริ้ว ดังนี้ฯ โมหะที่ ๓ คือความหลงความเขลา เมื่อเกิดขึ้นครอบงำใจ ย่อมชักพาบุคคลให้ประกอบกระทำกรรมอันผิด ขาดปรีชาญาณที่รู้ผิดชอบ เช่นเห็นว่าเมื่อทำบุญแล้ว มิได้บุญเป็นต้น อันคนผู้ถูกโมหะปิดบังใจ ย่อมไม่ผิดอะไรกับมนุษย์ผู้หลงทาง ถ้ายังละไม่ได้ทาลายไม่หายตราบใด ความมืดใจก็ย่อมมีอยู่ตราบนั้น และทั้งเป็นฐานแห่งความเจริญของโลภะ โทสะอีกด้วยเหมือนกันฯ
กิเลส ๓ อย่างดังกล่าวมา ถ้าจะเปรียบให้เห็นง่าย ก็คล้ายนายทัพผู้นำพล ซึ่งแต่ละนายล้วนทรงไว้ซึ่งฤทธิ์ อันเลิศล้นเหลือหลาย และคล้ายเป็นของกายสิทธิ์ เพราะจะเข้าชิงชัยในเวลาไหนย่อมไม่เห็นตนเห็นตัว แต่สาธุชนไม่ควรกลัวว่าจะปราบไม่ได้ ในเมื่อมีอาวุธ ๓ เล่ม คือ สุตะ ปวิเวกและปัญญา ประจำกาย เพราะอาวุธ ๓ เล่มนี้ ซึ่งหมั่นลับหมั่นใช้ก็ยิ่งจะคมกล้ายากที่กิเลสทั้ง ๓ จะทานทนอยู่ได้ เมื่อ ๓ นายปราชัย กิเลสอย่างอื่นซึ่งเหมือนพลไพร่ ก็ย่อมจักต้องปราชัยไปตามกัน แต่นั้นเมื่อกิเลสหมดแล้วก็เชื่อว่ายึดเอาชัยอย่างเยี่ยมยอดไว้ได้ ในกิเลสสงครามเช่นนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสสรรเสริญว่าเป็นนักรบผู้ยอดกว่านักรบทั้งหลาย
ธรรมาวุธ ๓ เล่มดังบรรยายมา ควรที่สาธุชน จะพึงแสวงหาไว้ในตน แม้ข้าศึกคือกิเลส ซึ่งมีโลภะเป็นต้น จักยังไม่เกิด ก็ชื่อว่าเตรียมตัวไว้เป็นอย่างดี กิเลสย่อมไม่กล้ามาราวีได้ ฉันเดียวกับบ้านเมือง ถ้าเมื่อเตรียมอาวุธยุทธภัณฑ์ไว้พร้อมสรรพ ใครๆ ไม่อาจจักมาย่ำยีรบกวนได้ ฉะนั้น
แท้จริงในกาลนี้ พุทธมามกชนผู้สดับธรรมานุสาสนี ก็ชื่อว่ามีสุตาวุธเล่มแรกแล้ว เมื่อพยายามคิดนึกตรึกถึงธรรมที่สดับ ใจสงบระงับ พิจารณาเป็นอรรถ เห็นธรรมแจ้งแก่ใจ ก็ชื่อว่ามีปวิเวกและปัญญาวุธ เล่มที่ ๒ และเล่มที่ ๓ เป็นลำดับไป แต่อาวุธทั้ง ๓ จะคมได้เสมอก็ด้วยต้องหมั่นลับ คือหมั่นศึกษาเล่าเรียน หมั่นใช้ความคิดของตน ไม่เช่นนั้นคมก็ไม่คงทนไม่อยู่ตัวฉันเดียวกับอาวุธภายนอก ถึงลับแล้ว แต่ปล่อยไว้ให้สนิมจับ คมที่ลับก็จะมีแต่หมดไป จนใช้การอะไรไม่ได้ ฉะนั้น
สาธุชน อาศัยรรมาวุธ ๓ เล่ม ดังวิสัชชนามา ผ่านพ้นกิเลสซึ่งเป็นข้าศึกแก่ใจให้พินาศไป ก็จักยึดโลกุตตระวิสัยไว้ได้ เสวยนิรามิตสุข อันสดใสไม่แปรผันเป็นนิจนิรันดร์ทุกกาลสมัย ติอาวุธกถามีนัยดังบรรยาย ด้วยประการฉะนี้ ฯ

ขอบคุณข้อมูล :: http://palipage.com/watam/piyapan4/K00049.htm

. . . . . . .