ธรรมบรรยาย ทำไมชาวพุทธจึงมีความเครียดหนัก ?

ธรรมบรรยาย ทำไมชาวพุทธจึงมีความเครียดหนัก ?

เป็นธรรมะที่บรรยายโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐ สื่อมวลชนฉบับหนึ่งได้เสนอข่าวชวนให้คิด เชิงจริยธรรม ความว่า บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมือง และเศรษฐกิจที่ใช้อักษรย่อว่า เพิร์ด แห่งประเทศฮ่องกง ได้จัดอันดับความเครียดของพลเมืองประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเซีย ด้วยมาตราวัดความเครียดได้สถิติความเครียด ๖ อันดับดังนี้ : –
มีความเครียดระดับ ๑ ได้แก่ พลเมืองประเทศเวียดนาม สถิติ ๘.๕
มีความเครียดอันดับ ๒ ได้แก่ พลเมืองประเทศเกาหลี สถิติ ๘.๒
มีความเครียดสูงอันดับ ๓ ได้แก่ พลเมืองประเทศไทย สถิติ ๗.๘
มีความเครียดสูงอันดับ ๔ ได้แก่ พลเมืองประเทศจีน, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น,

สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สถิติ ๖.๗
มีความเครียดสูงอันดับ ๕ ได้แก่ พลเมืองประเทศมาเลเซีย สถิติ ๕.๖
มีความเครียดสูงอันดับ ๖ ได้แก่ พลเมืองประเทศไต้หวัน สถิติ ๕.๕
นอกจากสถิติดังกล่าว เพิร์ดยังได้สถิติในด้านที่มีความเครียดน้อยที่สุดไว้ด้วยว่า ชาวอินเดียมีความเครียดน้อยที่สุด
หลายคนสงสัยว่า ทำไมชาวอินเดียจึงมีอารมณ์ดี เครียดน้อยที่สุด
ในปัญหานี้ น่าจะชี้แนะให้เห็นความจริงว่า ชาวอินเดียโดยทั่วไปนั้น เขาเป็นคนทะเยอทะยานน้อยที่สุด คนวรรณะต่ำสุดของอินเดีย เป็นคนที่ลำบากยากจนมากที่สุด คุ้นเคยชินชาอยู่กับความลำบากยากไร้มากที่สุด มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารการกินน้อยที่สุด อาศัยอยู่ที่อาศัยที่เป็นกระท่อมน้อย ๆ หาความสะดวกสบายได้น้อยที่สุด ได้รับอันตรายจากภัยธรรมชาติมากที่สุด สรุปว่า ย่อมรับรู้ทุกข์ความเจ็บไข้ ความผิดหวัง ความร้อน ความหนาว และการเหยียดหยามก้าวร้าวมาบ่อยทุกรูปแบบ โดยเห็นว่าทุกข์เหล่านั้นคือเพื่อนสนิทในชีวิตของเขา
ด้วยเหตุนั้น น่าจะเป็นผลทำให้เขาเครียดน้อยที่สุด ส่วนชาวไทยเรา มีความเครียดมากติดอันดับ ๓ ของเอเซีย อย่างไม่น่าเชื่อ
ไม่น่าเชื่อเพราะอะไร เพราะชาวไทยมีพระพุทธศาสนาประจำชาติ มีพุทธธรรม เป็นโอสถยาวิเศษที่ป้องกันบรรเทาและแก้ทุกข์ได้ร้อยแปด มีพระสงฆ์เป็นครูชั้นยอดคือ แนะนำให้ทำดี ให้หมดทุกข์ได้สิ้นเชิง
แต่เหตุไรชาวไทย จึงมีความเครียดหนักหนาเช่นนั้น คนโดยทั่วไปมักจะเข้าใจกันว่า เพราะปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ทำให้คนไทยอยู่สบาย ๆ หรือสุขสำราญอีกต่อไปไม่ได้
แต่ถ้าจะลงลึกไปอีก เราจะเห็นสาเหตุสำคัญยิ่งไปกว่านั้น ก็เราไม่ได้ใช้พระพุทธศาสนา เป็นเครื่องจรรโลงใจกันเลย ทั้ง ๆ ที่รู้กันดีว่า ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ
ที่พึ่งทางกาย เรามีกันพอสมควรแล้ว คือ เรามีอาหารพอกิน เรามีเครื่องนุ่งห่มพอใช้ เรามีบ้านเรือนพออยู่ เรามียาแก้โรคทางกาย หลายต่อหลายอย่าง
แต่ที่พึ่งทางใจ เราขาดแคลนอยู่เป็นประจำ ทำไมจึงขาดแคลน ก็เพราะเราไม่ค่อยอยากใช้ธรรมะ ไม่อยากสนใจ ทางพ้นทุกข์หรือทางระงับดับความเร่าร้อนใจในชีวิต โดยเราเห็นว่า ไม่จำเป็น และไร้สาระ ช่วยอะไรไม่ได้ โดยปล่อยธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นของไร้ค่าไปเสียเฉย ๆ
ถ้าเราจะมาสนใจกันหน่อย ศึกษา และอบรมตามหลักธรรมสำคัญ ๆ ของพระพุทธศาสนา
ให้รู้ว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุแห่งทุกข์ อะไรคือความดับทุกข์ และอะไรคือวิธีทำให้สิ้นสุดความทุกข์
และหลักธรรมประกอบอื่น ๆ อีกไม่กี่ข้อ เช่น เรื่องโลกธรรม ๘ เรื่องสันโดษ เรื่องกฏแห่งกรรม เรื่องการแผ่เมตตา และเรื่องไตรลักษณ์ เป็นต้น เราก็จะไม่ต้องพ่ายแพ้แก่ความเครียด ซึ่งมันเป็นเรื่องทางกายมากกว่า
บางที เพียงเรื่องโลกธรรมเรื่องเดียว ถ้าเรารู้ซึ้งจนยอมรับไปคิดพิจารณาอยู่บ่อย ๆ เราก็สามารถระงับยับยั้งทุกข์ระทมที่โหมโรมรันเราได้สำเร็จง่าย ๆ
ในโลกธรรม ๘ นั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้เรารู้ความจริง หรือธรรมชาติที่ทุกชีวิตจะต้องได้รับเสมอเหมือนกัน ไม่มีผู้วิเศษอยู่เหนืออำนาจโลกธรรม ๘ กล่าวคือ
๑. มีลาภ แล้วก็ ต้องเสื่อมลาภ
๒. มียศศักดิ์ แล้วก็ ต้องเสื่อมยศศักดิ์
๓. มีสรรเสริญ แล้วก็ ถูกนินทา
๔. มีสุข แล้วก็ ต้องมีทุกข์

– เป็นไปไม่ได้ที่จะมีแต่ลาภร่ำรวยล้นไม่หยุด
– เป็นไปไม่ได้ที่จะมีแต่ยศศักดิ์อัครฐาน ไม่เสื่อม
– เป็นไปไม่ได้ที่จะมีแต่คำยกย่องสดุดี ไม่ถูกด่าว่า
– เป็นไปไม่ได้ที่จะมีแต่สุขสนุกสนาน ไม่ทุกข์
อยู่ว่าง ๆ ณ ที่สงบสงัด ทำใจให้เป็นสมาธิ คิดพิจารณาตามที่ว่ามา จิตที่ผิดหวัง มีทุกข์ จะค่อย ๆ มั่นคงมีเหตุผล คลายความทุกข์ได้
พระพุทธองค์ทรงสอนชาวโลกไว้แจ่มแจ้งแล้ว แต่ผู้เครียดทั้งหลาย มิได้ใส่ใจสนใจ มิได้นำมาพินิจพิจารณา จึงต้องเครียดหนัก
ผู้ที่จะอยู่ในโลกได้อย่างสุขสบายไม่เครียด จะต้องเป็นผู้ยอมรับรู้ ยอมรับทราบ ยอมให้ตนได้รับทุกข์ โดยไม่มีการปฏิเสธ (กายจะทุกข์ก็ให้เขาทุกข์)
คล้าย ๆ ว่า แสวงหาสุขบนกองทุกข์ของตน คือ เห็นทุกข์เป็นเพื่อนคู่ชีวิต เห็นความลำบากเป็นทางแห่งเกียรติยศ เห็นความโศกสลดเป็นรสชาติของชีวิต ชีวิตที่เกรียงไกรเลิศล้ำ ต้องมีสีสัน ต้องสามารถแสดงบทบาทโลดโผนได้อย่างดี
มิใช่ชีวิตที่ล่องลอยมาสบาย ๆ ดังพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ว่า
“หนทางไปสู่เกียรติศักดิ์ จักประดับดอกไม้หอมหวลยวนจิตไซร้ บ่ มี”
อาจมีคนค้านว่า “พูดหรือสอนเขานะ มันแสนยาก แต่พอจะทำเอง มันยากนักยากหนา คนสอนนะยังไม่เคย เป็นหนี้สินใครเป็นร้อย ๆ ล้าน ยังไม่เคยถูกพิษร้ายถึงขนาดบริษัทพัง ธุระกิจล่มจม ตกงาน เงินขาดมือ จึงนึกว่าจะแก้ทุกข์ได้ง่าย”
ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ควรเครียด ไม่ควรตายอยู่ดีนั่นเอง เหตุผลก็คือ เรายังมีร่างกาย ยังมีความรู้ ยังมีความสามารถ และยังมีคุณค่าต่อสังคมมากต่อมาก
– ไม่ตายเสีย ก็คงมีโอกาสปลอดโปร่งสว่างไสวในชีวิต
– ไม่ตายเสีย ก็ยังมีโอกาสทำงานอื่น ๆ กอบกู้ฐานะได้
– ไม่ตายเสีย ก็คงจะมีเพื่อนผู้สามารถมาชี้แนะอุ้มชู
– ไม่ตายเสีย ก็คงมีโอกาสทำงานขอทุเลาหนี้ หรือใช้หนี้ได้
ถึงไม่อาจใช้หนี้หมดได้จริง เราก็ยังมีโอกาสพบผู้เห็นอกเห็นใจ ผู้เห็นคุณค่าของเราบ้างจนได้
ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ความสุขไม่เที่ยงแท้ เป็นจริง เราก็ต้องเข้าใจต่อไปว่า ความทุกข์ ก็ไม่อยู่กับเราตลอดไปดอก (ทุกข์ก็หมดไปได้) มีทางสว่างไสวอยู่ในความมืดแน่นอน ถ้าเราไม่ด่วนดับอนาคตของตัวเองง่าย ๆ

———————-

ขอบคุณข้อมูล : http://palipage.com/watam/piyapan4/K00051.htm

. . . . . . .