ธรรมบรรยาย ประโยชน์ของการบริหารจิต

ธรรมบรรยาย ประโยชน์ของการบริหารจิต

เป็นธรรมะที่บรรยายโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต

คำว่า ประโยชน์ หมายถึงสิ่งที่ดีที่ถูกและที่ควร สิ่งใดก็ตามเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกที่ควร สิ่งนั้นเรียกว่าสิ่งมีประโยชน์ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามเป็นการกระทำที่ดีที่ถูกที่ควร การกระทำสิ่งนั้นเป็นการกระทำเป็นประโยชน์ คำพูดใดเป็นคำพูดที่ดีที่ถูกที่ควร คำพูดนั้นเป็นคำพูดมีประโยชน์ ความคิดใดเป็นความคิดไม่ดีไม่ถูกไม่ควร ความคิดนั้นเป็นความคิดไม่เป็นประโยชน์ ในทางตรงกันข้าม สิ่งใดก็ตาม การกระทำใดก็ตาม การพูดใดก็ตาม ความคิดใดก็ตาม เป็นไปในทางไม่ดี ไม่ถูกไม่ควร สิ่งนั้นเป็นต้น เรียกว่าไร้ประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ สิ่งของบางอย่างมีประโยชน์มากเมื่อนำไปใช้ในทางที่ดีที่ถูกที่ควร แต่ถ้านำไปใช้ในทางไม่ดีไม่ถูกไม่ควรก็มีโทษมหาศาล พอจะเข้าใจคำว่า ประโยชน์กันแล้วซึ่งได้กล่าวในวงกว้างๆ

ต่อไปคำว่า “บริหาร” หมายถึงกระบวนการการฝึก อบรม แนะนำ สั่งสอน ตักเตือน ตัวอย่างเช่น บริหารตน คน เวลา เงิน เป็นต้น ตลอดจนถึงบริหารบ้านเมือง ผู้บริหารต้องรู้เรื่องที่บริหาร รู้หลักการบริหาร รู้ประโยชน์ของการบริหาร ตลอดถึงรู้จักปรับปรุงยืดหยุ่นการบริหาร เช่น การบริหารตนต้องมีหลักธรรม โดยนิยมหลักคือพระบรมราโชวาท ๔ เป็นต้น การบริหารบ้านเมืองต้องอาศัยหลักการปกครอง หลักเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น พอจะเข้าใจคำว่าบริหารกันแล้ว แล้วก็คำว่า “จิต” ที่จะกล่าวต่อไป
คำว่า “จิต” นี้เข้าใจยากหน่อย เป็นธรรมชาตินึกคิดและรับอารมณ์ มีหลายชื่อ เช่น วิญญาณ มโน มนัส หทัย คนเราเกิดมาทุกคนมีขันธ์ ๕ ด้วยกันทั้งนั้น คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, รูป หมายถึง สิ่งที่เห็นได้คลำสัมผัสได้ เคลื่อนไหวไปมาได้ ยืน เดิน นั่ง นอนได้ รูปนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กาย ส่วนเวทนา ความรู้สึก สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความปรุงแต่ง วิญญาณ ความรับรู้ ส่วนเหล่านี้เรียกว่าจิต รวมทั้งสองอย่างเรียกว่า “กาย กับ จิต” คนเราทุกคนต้องมีกายและต้องมีจิต ใครไม่มีทั้งสองนี้ไม่เรียกว่าคน คำว่าคนในที่นี้ หมายถึงต้องมีกายกับจิต กายมองเห็นได้ง่าย จิตมองเห็นได้ยาก แม้คำว่าสมองก็รวมลงในกาย

คำว่า จิต มีลักษณะต้องสังเกตจึงรู้ได้ ท่านกล่าวลักษณะอาการของจิตไว้ดังนี้
1. ดิ้นรน คือ รับอารมณ์มีรูปและเสียง เป็นต้น
2. กวัดแกว่ง คือ ไม่หยุดอยู่กับที่คืออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
3. รักษายาก คือ บังคับให้อยู่กับที่ได้ยาก
4. ห้ามยาก คือ ป้องกันมิให้คิดได้ยาก
5. ข่มยาก คือ ฝึกได้ยาก ไม่ค่อยยอมให้ฝึก
6. ไปเร็ว คือ คือเกิดดับเร็ว ต้องค่อยจับค่อยกำหนดจึงรู้
7. ไปตามอารมณ์ คือ ชอบเรื่องใดคิดเรื่องนั้น ไม่ชอบเรื่องใดก็คิดถึงเรื่องนั้น
8. ไปได้ไกล คือ รับอารมณ์ในที่ไกลๆ ยากจะดึงกลับมาให้อยู่กับที่ได้
9. อยู่ผู้เดียว คือ เกิดกับแต่ละวาระ
10. ไม่มีรูปร่าง คือ ไม่มีรูป ไม่มีสี ไม่มีสัณฐาน
11. มีที่อยู่คือถ้ำ คือ ที่อยู่ในกายของเรานี่ที่เรียกว่าถ้ำ
ที่กล่าวมานี้เป็นลักษณะอาการของจิต ท่านก็คงพอจะทราบแล้ว การบริหาร ถ้าเป็นการบริหารกายเพื่อให้กายแข็งแรง ต้องเคลื่อนไหวต้องออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง เดิน ยืน นั่ง นอน ทำบ่อยๆ ทำเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพกายดี ส่วนการบริหารจิต เป็นการบริหารจิตให้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ทางศาสนาเรียกว่ามีอารมณ์เดียว บังคับไม่ให้ดิ้นรนกวัดแกว่ง ทำให้ความคิดอยู่กับที่นานๆ ทำบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ การทำการฝึกคือกำหนดลมหายใจให้กำหนดรู้ลม ลมหายใจเข้า ออก ยาวหรือสั้น ให้กำหนดรู้ทำได้ทุกเวลาทุกสมัย เพราะมีลมหายใจด้วยกันทุกคน จิตของผู้ที่ทำบ่อยๆ อย่างนี้ นานเข้ามีความชำนาญเมื่อได้รับการฝึกฝนแล้วจะเป็นจิตบริสุทธิ์ สะอาดผ่องใส มีความตั้งมั่น ไม่คลอนแคลน เกิดความพร้อมคือพร้อมที่จะทำงานได้ตลอดเวลา ทางศาสนาเรียกว่า
๑. ปริสุทธะ คือ จิตบริสุทธิ์
๒. สมาหิตะ คือ จิตตั้งมั่น
๓. กัมมนียะ คือ จิตมีความพร้อม

ประโยชน์ของการบริหารจิต ทำให้ผู้บริหารบ้านเมืองเกิดความรับผิดชอบขึ้น มีสติ สมาธิ ปัญญา รู้เห็นตามความเป็นจริง ทันต่อเหตุการณ์ ทันต่อโลก เกิดคุณธรรมประจำใจ เช่น บ้านเมืองต้องการให้ประหยัดเพราะน้ำมันแพง ก็ต้องช่วยกันประหยัดทุกรูปแบบ พ่อค้าแม่ขายก็จะไม่ขึ้นราคาโดยคอยฟังทางบ้านเมือง มีสติระลึกได้อยู่เสมอ ไม่เป็นคนประมาท ไม่เป็นคนมักได้ไม่ถือโอกาส ผู้บริหารจิตดีแล้วย่อมได้รับความสุข ดังนี้
1. ทำให้หย่อนคลายความเครียด
2. ทำให้เกิดความผ่องใส กายผ่องใส จิตผ่องใส มีความสงบเย็น
3. ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการศึกษาเล่าเรียน จำได้เร็ว เข้าใจได้เร็ว
4. ทำให้มีความเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสัตว์อื่น
5. ทำให้มีสติ สมาธิ ปัญญา อยู่กับตัวตลอดเวลา
6. ทำให้มีสัมปชัญญะ รู้ตัวอยู่เสมอ
7. ทำให้มีจิตตั้งมั่น
8. ทำให้มีปัญญารอบรู้ รู้จักเหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บุคคล ชุมชน
9. ช่วยให้ตนเองเกิดความมั่นคง
10. ช่วยให้สำนึกในหน้าที่ ใครอยู่ในหน้าที่ไรก็ทำหน้าที่นั้นได้สมบูรณ์
11. ช่วยให้ไม่ประมาทในชีวิต
ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย มีบั้นปลายของชีวิตคือตาย มีความตายเป็นที่สุด มีความตายเป็นที่ไปเบื้องหน้า ขณะที่เราอยู่ก็ขออยู่ให้สังคมพอใจ ขณะที่เราไปก็ขอให้สังคมคิดถึง

——————————
ขอบคุณข้อมูล : http://palipage.com/watam/piyapan4/K00059.htm

. . . . . . .