ธรรมบรรยาย เรื่องความสุข – ที่ควรใฝ่หา – เพื่อพัฒนาคุณภาพ

ธรรมบรรยาย เรื่องความสุข – ที่ควรใฝ่หา – เพื่อพัฒนาคุณภาพ
โดย พระราชสุทธิญาณมงคล วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

เป็นธรรมะที่บรรยายโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต

งานสำคัญ – เพื่อชีวิตของทุกคน ๆ อย่างหนึ่ง ซึ่งทำด้วยตัวเองชั่วชีวิต เพราะเป็นงานกำหนดชาตาชีวิต ก็คือ งานพัฒนาตัวเอง
งานพัฒนาตัวเอง ได้แก่
1. การสร้างสรรค์สิ่งที่ตัวจำเป็นต้องมี หรือสิ่งที่ตัวควรจะมี แต่ยังไม่มี ให้มีขึ้น
2. การปรับปรุงสิ่งที่ตัวมีอยู่แล้วทั้งโดยการกระทำ ทั้งโดยธรรมชาติ แต่ไม่เหมาะสม ด้วยสภาพปัจจุบัน ให้มีความเหมาะสม
3. การแก้ไขสิ่งที่ตัวทำผิดพลาด ไม่ถูกต้อง ให้มีความถูกต้องตามสภาพที่พึงประสงค์
งานพัฒนาตัวเอง เป็นสิ่งที่ทุกคน ต้องทำด้วยตัวเอง เพราะไม่มีใครสามารถจะทำให้ใครได้ เหมือนการรับประทานอาหาร คนที่ต้องการอาหาร ต้องรับประทานด้วยตนเอง ไม่มีทางที่จะให้ใครรับประทานแทนได้ การรับการรักษาพยาบาล เมื่อเวลาป่วยไข้ คนป่วยต้องรับเอง คนป่วยต้องรับประทานยาเอง ต้องรับการฉีดยาเอง แม้มีความจำเป็นจะต้องผ่าตัด ก็ต้องรับการผ่าตัดเอง จะลำบากจะเจ็บปวดประการใด ก็จำต้องทนรับ จะให้ใครรับแทนไม่ได้ เพราะตนป่วย คนอื่นไม่ได้ป่วยด้วย

นอกจากนี้ งานพัฒนาตัวเอง ยังเป็นงานที่ต้องทำตลอดชีวิต ไม่มีใครทำแล้ว ไม่มีใครทำเสร็จ จะหยุดพักก็ไม่ได้ต้องทำเรื่อยไป เพราะเราอยู่กับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความเป็นอยู่เมื่อวานนี้หลายอย่างไม่เหมือนความเป็นอยู่ในวันนี้ ในเดือนนี้ปีนี้ ก็มีหลายอย่างที่ไม่เหมือนกับเดือนที่แล้ว ปีที่แล้ว
ความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ที่ทำให้คนเราและสิ่งทั้งหลายอยู่ได้ ถ้าหยุดเปลี่ยนแปลงเมื่อใด จะไม่มีใครหรือมีสิ่งใดอยู่ได้ทั้งหมดจะต้องสิ้นสุดยุติทันที ชีวิตนี้อยู่ได้ด้วยความเปลี่ยนแปลง
การรู้จักควบคุมการเปลี่ยนแปลง ให้อยู่ในภาวะที่พึงปรารถนาเป็นลักษณะของการพัฒนา
พัฒนา จึงแปลว่า เจริญ คือสนองความปรารถนาที่พึงประสงค์ การพัฒนาตัวเอง หมายถึง การปฏิบัติตัวเพื่อให้เกิด ส่วนประกอบที่สำคัญของคน ๔ ประการ คือ
1. ธรรม หรือ คุณธรรม
2. อาชีพ
3. หน้าที่
4. สังคม
คน เป็นคนตามความหมาย เพราะส่วนประกอบสี่ประการนี้ นำไปสู่ชีวิตคนตามวิถีทางของความเป็นคน เหมือนเรือนมีความเป็นเรือน สำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้สบาย เพราะมีส่วนประกอบเรือนครบ คือมี
๑.เสา ๒.หลังคา ๓.ฝา ๔.พื้น
ส่วนประกอบของเรือนทั้งสี่นี้ เป็นประโยชน์ในการอยู่อาศัย ก็มีเพียง ๓ คือ หลังคา – ฝา – พื้น อีกส่วนหนึ่งคือ เสา ไม่มีประโยชน์ในการอยู่อาศัยเลย เพราะไม่มีใครไปทำอะไรได้ที่เสา นั่งนอนก็ไม่ได้ เก็บวางอะไรก็ไม่ได้ จะทำธุระกิจอะไรก็ไม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าจะถามว่า เรือนไม่ต้องมีเสาจะได้หรือไม่ ทุกคนก็ต้องตอบว่าไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีเสา หลังคา ฝา และพื้น จะอยู่กับอะไร หลังคาก็ดี ฝาก็ดี พื้นก็ดี ต้องอยู่กับเสาทั้งนั้น ถ้าเสาดี ส่วนอื่นอยู่ได้ ส่วนไหนชำรุดก็ซ่อมแซมบูรณะได้ ถ้าเสาไม่ดี ส่วนอื่นจะดีก็อยู่ไม่ได้
การปลูกเรือนต้องฝังเสาก่อน และต้องฝังให้ถูกต้องเหมาะสม จึงจะทำส่วนอื่นต่อไปได้ ไม่มีเสา หรือมีแต่ไม่ถูกต้อง ก็ทำส่วนอื่นไม่ได้ เสาจึงเป็นสำคัญยิ่งของเรือน ทั้งในการปลูกสร้าง ทั้งในความมั่นคง ทั้งในการอยู่อาศัย
ข้อเท็จจริง เรื่องเรือนเป็นฉันใด ข้อเท็จจริงเรื่องคนก็เป็นฉันนั้น
ส่วนประกอบของคนที่คนได้พึงอาศัยก็มีเพียง ๓ คือ อาชีพ – หน้าที่ – สังคม ส่วนธรรมหรือคุณธรรมนั้น คนไม่ได้อาศัยโดยตรง ประการใด ๆ คือ ไม่ได้กิน ไม่ได้ใช้ธรรมหรือคุณธรรมเลย แต่ธรรมหรือคุณธรรม ก็เป็นหลักสำคัญ หรือส่วนสำคัญที่สุดของคน ซึ่งจะขาดไม่ได้ จะบกพร่องไม่ได้ เพราะคนที่มีธรรมะหรือมีคุณธรรมเท่านั้น จะสามารถประกอบอาชีพได้สำเร็จมีความเจริญมั่นคง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เรียบร้อย และสามารถเข้าสังคมได้ สร้างสังคมสำเร็จ บริหารสังคมได้ราบรื่น
คนขาดคุณธรรม หรือ มีคุณธรรมไม่พอ เป็นคนไร้โอกาส ไร้ความสามารถในทุกกรณี เรื่องของคนจึงขาดคุณธรรมไม่ได้ ปัญหาเรื่องคน เรื่องสังคม ที่สำคัญอยู่ตรงนี้
การปลูกเรือนจะทำสำเร็จเป็นที่อยู่ที่อาศัยได้ ต้องเริ่มด้วยการทำเสาให้มีลักษณะสมควร จะเป็นที่รองรับหลังคา ฝา พื้น อย่างมั่นคงก่อน ถ้าไม่เช่นนั้น ก็ไม่อาจจะปลูกสำเร็จเป็นที่อยู่อาศัยได้ฉันใด
การพัฒนาตัวเอง ให้มีความเจริญก้าวหน้าพอที่จะเป็นที่พึ่งของตนได้ ต้องเริ่มปลูกฝังธรรมะคือคุณธรรม ศีลธรรม ภูมิธรรม จริยธรรม ตลอดถึงวินัย ให้มีขึ้นในตน พอที่จะกำกับอาชีพ – หน้าที่ – และสังคมได้ ถ้าไม่เช่นนั้น ก็ไม่มีทางจะพัฒนาตัวเองสำเร็จได้เช่นเดียวกัน
ขอทุกท่านได้โปรดยอมรับสัจจะธรรมอันนี้ จึงจะพบความสำเร็จแห่งความหวังได้ คำว่า “ธรรม” หมายถึง พฤติกรรม หรือสิ่งที่ให้เกิดอานุภาพคุ้มครองผู้ปฏิบัติให้อยู่ในสถานะที่ดีงามด้วยความมั่นคง ถ้าหมายถึง สิ่งที่ให้เกิดความดีงามแก่ชีวิต เรียกว่าคุณธรรม ถ้าหมายถึง พื้นฐานสำคัญของชีวิต เรียกว่าภูมิธรรม ถ้าหมายถึง เครื่องควบคุมวงจรของชีวิต เรียกว่าศีลธรรม ถ้าหมายถึง ระเบียบเพื่อความราบรื่นของสังคม ซึ่งเป็นที่ยอมรับ เรียกว่าวัฒนธรรม ธรรมที่จำเป็นพื้นฐาน ได้แก่
๑. ความรับผิดชอบ ซึ่งประกอบด้วย
1. ความรู้จักตน – รู้จักตำแหน่งของตน
2. รู้จักหน้าที่ของตน มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
3. ความสำนึกว่า การละเลยต่อการปฏิบัติตามตำแหน่งหน้าที่เป็นความผิดความเสียหาย
๒. ความมีวินัย คือ
1. คือระเบียบแบบแผน
2. คือมารยาท
3. คือประเพณี
ซึ่งจะทำให้สามารถก้าวหน้าไปตามวิถีทางที่ถูกต้อง บรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์
ชีวิตเริ่มต้นถูก – ดำเนินไปถูก – เพราะความรับผิดชอบ กับความมีวินัย
ถ้าไม่มีทั้งสองนี้ เป็นพื้นฐาน สิ่งอื่นทั้งหลายจะมีไม่ได้ ซึ่งมีตัวอย่างในปัจจุบันนี้มากมาย ผู้ที่พัฒนาตัวเองได้ตามแนวนี้ ย่อมได้รับผลดี ตามที่ปรารถนา ๔ ประการ คือ
1. มีทรัพย์สมควรแก่ฐานะ เพื่อความสดวกในความเป็นอยู่ ถ้ามีน้อยอาจไม่สดวก ถ้ามีมากก็อาจเกิดปัญหา เป็นที่มาของความเดือดร้อนได้
2. มีเกียรติ เป็นที่ยอมรับของคนทั้งหลาย ทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน การปฏิบัติหน้าที่ ทั้งเพื่อตัวและเพื่อส่วนรวมได้
3. มีไมตรี เป็นที่รักใคร่ของคนทั้งปวง ทำให้เกิดความราบรื่น จะอยู่ที่ไหนก็สบาย จะไปที่ไหนก็สดวก จะทำอะไรก็สำเร็จง่าย มีคนคอยต้อนรับ ให้ความช่วยเหลือ ด้วยความศรัทธาเลื่อมใส
4. มีความสบายใจ ให้เกิดความสดชื่นตลอดเวลา เป็นยอดปรารถนาชั่วนิรันดร
ความสบายใจเป็นจุดมุ่งหมายสุดยอดของคนทั่วไป เมื่อถึงความสบายใจ ก็เป็นอันถึงหลักชัยของชีวิต เพราะชีวิตประสพความสำเร็จความสมหวังที่ตรงนี้
ความสบายใจ คือ ความปลอดโปร่ง แจ่มใสของความคิด มีสติปัญญามองเห็นสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่เป็นสัจจะธรรม ทั้งที่เป็นมายาทุกประการ
ความสบายใจ จึงเป็นสิ่งที่ควรใฝ่หาของคนทั่วไป เพราะเมื่อได้ความสบายแล้ว ก็เป็นอันได้สิ่งที่ดีที่พึงได้ครบทุกประการ
ความสบายใจ เกิดจากทางเดียวคือ “ความสงบ” ซึ่งมีลักษณะ
(๑) เป็นความถูกต้อง
(๒) เป็นความปรกติ
ความถูกต้อง คือภาวะอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเหมาะสม ใช้ได้ ก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม ความคงทน ความสดวกสบาย ความไม่มีปัญหา เป็นธรรมประการหนึ่ง

ความถูกต้องคือปฏิบัติการที่เป็นไปตาม
1. ตำแหน่งหน้าที่ สภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริง
2. ระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณี
3. คุณธรรมที่จำเป็น
4. เหตุผล คือ ภาวะที่ควรจะเป็น
5. ข้อเท็จจริง คือ ภาวะที่กำลังเป็น ปฏิบัติการใดที่ไม่เป็นไปตามนี้ ปฏิบัติการนั้นไม่ใช่ความถูกต้อง อาจเป็นความถูกใจ ซึ่งเป็นกิเลสที่เลวร้าย
ความปรกติ คือ ความเป็นไปตามกฎธรรมดา เป็นไปตามวาระตามโอกาส ตามกาละเทศะ และตามสภาพ ซึ่งแต่ละอย่างมีระยะมีอายุมีกฎเกณฑ์ในตัวของมันเอง ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของมันก็ไม่เป็นไร
ควรแก้ในสิ่งที่จำเป็นต้องแก้ และสามารถจะแก้ได้ อย่าพยายามแก้ในสิ่งที่แก้ไม่ได้
อย่าเอาสัจจะธรรมไปปนกับมายา สัจจะธรรมต้องเป็นสัจจะธรรม มายาต้องเป็นมายา
ทำตนให้เป็นมิตรกับสัจจะธรรม เป็นปรปักษ์กับมายา อยู่กับสัจจะธรรมเพื่อความยึดถือ อยู่กับมายาเพื่อความปล่อยวาง จงรู้สึกว่า เพราะสัจจะธรรม จึงมีมายา และก็เพราะมีมายา จึงมีสัจจะธรรม
ชีวิตที่อยู่กับความสงบ เป็นชีวิตที่มีแต่ความสบายใจ บริสุทธิ์ใจแจ่มใส เป็นบ่อเกิดแห่งสติปัญญา สามารถป้องกันและระงับปัญหาทั้งปวงได้ พระบรมศาสดาจึงให้ทรงชักชวนพุทธบริษัทว่า สตฺติมคฺคเมวพรูหย ท่านจงเพิ่มพูนทางแห่งความสงบเท่านั้น ทางอื่นไม่ต้องเพิ่มพูนก็ได้ และทรงยืนยันว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ ความสุขที่นอกจากความสงบหาไม่ได้ เพราะมีแต่ความสุขประสมเท่านั้น
ความสงบตามที่กล่าวนี้ โดยนัยหนึ่ง แบ่งได้เป็น ๓ คือ
(๑) ความสงบส่วนตัวคนแต่ละคน ซึ่งทุกคนควรทำเป็นอันดับแรก
(๒) ความสงบส่วนหมู่คณะ ที่ทุกคนในหมู่คณะควรทำเป็นอันดับต่อมา
(๓) ความสงบขั้นสุดยอด ที่ผู้ปรารถนาควรทำเป็นอันดับสุดท้าย
การจะไปสู่ความสงบได้นั้น ต้องปฏิบัติธรรม ที่อาตมาเสนอในโอกาสนี้ ๖ ประการ คือ
1. อตฺตญญุตา ความรู้จักตนเอง คือ รู้จักสภาพของตนทุกด้าน ทั้งสภาพความเป็นอยู่ ทั้งสภาพเศรษฐกิจ ทั้งสภาพสังคม ทั้งเพศ ทั้งวัย การงาน หน้าที่ อาชีพ วงศ์ตระกูล สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ทุกประการว่า เป็นอย่างไรแน่
2. มตฺตญญุตา ความรู้จักความเหมาะสม ความพอดีตามฐานะและอัตภาพของตน
3. สจฺจ ความซื่อตรง ความจริงใจ
4. เมตตา ความรัก ความปรารถนาดีต่อคนทั่วไป
5. สามัคคี ความปรองดองในระหว่างกันและกัน
6. อุเบกขา ความวางเฉย ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
(๑) ใช้ อตฺตญญุตา มตฺตญญุตา เป็นเครื่องสร้างความสงบในตนเอง
(๒) ใช้ สจฺจ – เมตตา – สามัคคี เป็นเครื่องสร้างความสงบให้หมู่คณะของตน
(๓) ใช้ อุเบกขา เป็นเครื่องสร้างความสงบชั้นสุดยอดให้แก่ตน คนที่รู้จักตัวเอง และรู้จักความพอเหมาะ เป็นคนไม่มีปัญหาหรือแม้อาจมีปัญหา ปัญหาก็รบกวนได้ยาก เพราะเป็นคนไม่ค่อยมีความผิดพลาด ไม่เสียความปรกติได้ง่าย แต่ถ้าขาดความรู้จักตนเอง ขาดความรู้จักพอเหมาะเมื่อไร ความไม่ถูกต้อง ความผิดพลาด บกพร่อง ความเสียปกติจะเกิดขึ้นทันที ทำให้มีปัญหา แม้ไม่มากมาย แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ปัญหาง่าย ๆ นี่เป็นสัจจะธรรมที่เห็นกันในปัจจุบัน
ความพอใจในสภาพปัจจุบันของตนเป็นแดนแห่งความสงบภายในตนที่ประเสริฐ
ความรู้จักตนเอง เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความแจ่มใสของชีวิต และเป็นมัคคุเทศก์แห่งชีวิตที่ราบรื่นตลอดเวลา พระพุทธเจ้าเข้าสู่ระบบแห่งความตรัสรู้ที่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือความรู้จักตนเองอย่างครบถ้วนนั่นเอง ความรู้จักพอเหมาะให้เกิดประโยชน์ทุกเมื่อ มตฺตญฺญุตา สาธุ เป็นความจริงที่ใคร ๆ ก็คัดค้านไม่ได้
อยู่ด้วยกันทำงานด้วยกัน มีความจริงใจต่อกัน ซื่อตรงต่อกัน จะไม่มีปัญหา ไม่มีความวุ่นวาย มีแต่ความสงบ เรียบร้อย
ความซื่อสัตย์ คือ ความจริง ความซื่อตรง เป็นรสชีวิตที่ประเสริฐ ตามพระพุทธดำรัส ที่ว่า สจฺจํหเว สาธุตรํ รสานํ ความซื่อสัตย์เท่านั้น เป็นรสประเสริฐกว่ารสใด
ความเป็นที่เชื่อถือ เป็นที่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นคุณธรรมสำคัญ ของคนในสังคม ก็มาจากความซื่อสัตย์
ความซื่อสัตย์ ก็คือ จริงใจ ซื่อตรงนั้นปรากฏโดยอาการ ๔ อย่าง คือ
1. ซื่อตรงต่อหน้าที่
2. ซื่อตรงต่อคนทั้งหลาย มีความเป็นธรรมต่อคนทั่วไป
3. จงรักภักดีต่อผู้ใหญ่
4. กตัญญูกตเวทีต่อผู้มีคุณ ไม่ว่าใคร ซึ่งเป็นทางประเสริฐของชีวิตชั่ว นิรันดร์
ความเมตตา ปรารถนาดีต่อกัน เป็นสิ่งสำคัญของสังคมประการหนึ่ง เพราะ
1. ก่อให้เกิดความนับถือกัน
2. ทำให้เกิดความช่วยเหลือกัน
ชีวิตคนในโลกเป็นชีวิตคู่ คือ เราคู่กับเขา เขาคู่กับเรา มีแต่เรา ไม่มีเขา เราอยู่ไม่ได้ หรือมีแต่เขา ไม่มีเรา เขาก็อยู่ไม่ได้ เราจะสบายได้ ก็เพราะเขาสบายด้วย เขาไม่สบาย เราจะสบายคนเดียวเป็นไปไม่ได้ แม้เขาก็เหมือนกัน
โปรดนึกถึงความเป็นอยู่ที่แท้จริงในครอบครัว ก็จะทราบข้อเท็จจริงนี้ได้
ความรักกันนับถือกัน ช่วยเหลือกัน เป็นสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ
สิ่งดีที่สุด คือการช่วยเหลือกัน เพราะที่ไหนมีการช่วยเหลือกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ที่นั้นคือ สวรรค์สุขาวดี มีแต่
1. ความสดวก
2. ความสบาย
3. ความปลอดภัย
4. ความอบอุ่น
การให้ที่มีคุณมากยิ่งคือ
1. ให้เกียรติ
2. ให้อภัย
ฝังอยู่ในจิตใจตลอดนิตยกาล การเห็นใจผู้ที่ทำผิด จะทำให้สามารถลดคนทำผิด และลดปริมาณความผิดลงได้
ความสามัคคีปรองดอง เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการสร้างและรักษาความสงบของสังคม
คนที่อยู่ร่วมกัน หรือทำงานด้วยกัน สามัคคีกันไว้จะไม่มีปัญหา ถ้าสามัคคีกันไม่ได้ มีปัญหาแน่ คำว่าสามัคคี หมายถึงมีความคิดถึงประโยชน์ของหมู่คณะ ซึ่งเป็นประโยชน์ใหญ่ร่วมกัน เอาประโยชน์ของหมู่คณะเป็นจุดรวมกัน
ความสามัคคีย่อมเกิดจาก
1. ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน
2. พูดจาอ่อนน้อมอ่อนหวานต่อกัน
3. ช่วยเหลือกันในยามยาก
4. วางตนเสมอกันในความเป็นอยู่
5. ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน
6. ไม่ถือความขัดแย้งกันทางความคิด เป็นเรื่องสำคัญ
7. ไม่เอาแพ้เอาชนะกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะชนะเขาก็ต้องได้รับการจองเวร แพ้เขาก็ช้ำใจ ไม่แพ้ไม่ชนะใคร สงบ สบาย ไม่วุ่นวายประการใด ความชนะที่มีคุณค่าคือ ความชนะใจตัวเอง
การที่คนเรา มีความคิดเห็นไม่ตรงกันหรือขัดแย้งกัน เป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนเราย่อมมีความคิดเห็นต่างกันได้ ตามสภาพของจิตใจของใครของมัน ถ้ามีความปรารถนาดีต่อการงานของหมู่คณะ มีความรักหมู่คณะ ก็สามารถทำงานด้วยกันได้ ไม่มีปัญหา เหมือนชอบรสอาหารไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องธรรมดา มีความรักกันก็สามารถรับประทานร่วมกันได้ด้วยดี เพลิดเพลินสนุกสนาน โปรดเข้าใจว่า คนที่มีความคิดเห็นไม่เหมือนคน ไม่ใช่คนเลวทรามเสียหาย เป็นคนดีเหมือนเรานั่นเอง การทำให้คนที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ทำงานด้วยกันได้ มีความสามัคคีปรองดองกัน เป็นความสามารถของการปกครอง และการบังคับบัญชาบุคคลของนักบริหาร เครื่องวัดความคิดเห็นว่าจะตรงจุดหมายหรือไม่นั้น ได้แก่
1. ระเบียบแบบแผน
2. ขนบธรรมเนียมประเพณี
3. เหตุผล
4. ข้อเท็จจริง
5. กฎธรรมดา
6. ความยอมรับของมหาชน
ความสงบชั้นสุดยอด หมายถึง ความสงบของจิตใจ คือ ใจอยู่ในปกติภาพ และอิสระภาพตามธรรมชาติของมัน เวลามีอารมณ์มากระทบก็ไม่หวั่นไหว ไม่กระเทือนประการใด ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มาถึงก็ไม่ดีใจ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ มาถึงก็ไม่เสียใจมีอุเบกขา คือ ความวางเฉย หรือความรู้สึกเฉย ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาถึง เมื่อไม่มีอารมณ์เป็นอย่างไร มีอารมณ์มาถึง ก็เป็นอย่างนั้น เป็นเครื่องบังคับ คือ สติสัมปชัญญะ

——————————
ขอบคุณข้อมูล : http://palipage.com/watam/piyapan4/K00067.htm

. . . . . . .