ธรรมบรรยาย สวัสดีปีใหม่ พ.ศ.๒๕๓๖ – ชีวิตใหม่

ธรรมบรรยาย สวัสดีปีใหม่ พ.ศ.๒๕๓๖ – ชีวิตใหม่

เป็นธรรมะที่บรรยายโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต

ในชีวิตใหม่ที่มีความสุข ความเจริญก้าวหน้าของชีวิต คิดสิ่งใดทำสิ่งใด ก็อยากให้สำเร็จตามปรารถนา เป็นปีแห่งความสดชื่นเบิกบานใจเหมือนดังกับดอกไม้แย้มกลีบ มีสีสันสดสวยตระการตา แก่ผู้พบเห็นทั่วไป ความสดสวยของชีวิตจะต้องเกิดขึ้นตามระบบและครรลองที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องมีแผนการในการสร้างชีวิต แผนการในการสร้างอนาคต ดำเนินให้ต่อเนื่อง ด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ และมั่นคง เพื่อที่จะนำนาวาของชีวิตให้บรรลุเป้าหมาย และความสำเร็จดังที่ตั้งปณิธานไว้ การที่เราจะมีชื่อเสียง เกียรติยศ มีทรัพย์สินเงินทอง มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์นั้น หรือทำให้เกิดความสุขนั้นอยู่ที่ตัวเราเองทั้งสิ้น เราเป็นผู้สร้างสรร และเป็นผู้ที่จะกระทำให้เกิดขึ้น ถ้าทำให้เกิดความสุขมากก็เป็นของเรา ถ้าทำให้เกิดน้อยก็เป็นของเรา หรือถ้าไม่ทำก็ไม่มีสุข สุขนั้นจะต้องทำให้เกิดขึ้น จึงจะเป็นสุข
ความหวังสมดังหมาย เมื่อได้ทำ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ความสุขของคฤหัสถ์ จะเกิดขึ้นได้นั้น มีอยู่ดัวยกัน ๔ ประการ ได้แก่
1. ความสุขจากการมีงานทำ การที่เราเป็นคนดี มีงานมีการทำเป็นหลักแหล่ง มีความขยันหมั่นเพียรในหน้าที่การงาน ความขยันหมั่นเพียรเป็นที่มาของทรัพย์
2. ความสุขจากการมีทรัพย์ เมื่อคนเรามีความขยันหมั่นเพียร มีความตั้งใจที่จะทำงาน ให้เกิดความเจริญก้าวหน้า และมีผลงานในการปฏิบัติหน้าที่ของตนดีก็จะทำให้มีหน้าที่การงาน และรายได้สูงขึ้น มีทรัพย์สินเงินทองสะสมไว้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตเพื่อวันข้างหน้าต่อไป
3. ความสุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ เงินทองที่เราหามาได้นั้น จะเกิดความภาคภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้น นำไปทำคุณทำประโยชน์ ทำกุศลผลบุญต่าง ๆ และนำไปซื้อของใช้ที่จำเป็นแก่ชีวิต หรือสร้างบ้านเรืองที่อยู่อาศัยให้เป็นหลักประกันที่มั่นคงแก่ชีวิตยิ่งขึ้น
4. ความสุขจากการไม่เป็นหนี้ การที่เราหาทรัพย์สินมาได้ด้วยความยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยมาก จะต้องระมัดระวังรักษาทรัพย์ และป้องกันทรัพย์มิให้สูญหายหรือหมดไป จะทำการสิ่งใดก็ต้องรู้จักแบ่งทรัพย์นั้นให้ถูกต้องเป็น ๔ สถาน คือ เพื่อตนเองและครอบครัว ทำบุญทำกุศลและส่วนรวมหนึ่งส่วน เพื่อธุระกิจการงานสองส่วน เพื่อสะสมไว้เป็นทุนสำหรับชีวิตในอนาคตอีกหนึ่งส่วน ฉะนั้นเมื่อจะนำเงินนั้นมาลงทุน หรือดำเนินการใด ๆ ก็จะต้องคำนึงถึงหลัก ๔ ประการนี้ ถึงแม้ว่าจะเพลี่ยงพล้ำก็ไม่เกิดเป็นทุกข์ขึ้น การที่ทำธุระกิจเกินตัว หรือการใช้จ่ายเกินตัว จะทำให้เกิดเป็นหนี้ขึ้น การเป็นหนี้นั้นนอกจากจะทำให้ชีวิตตัวเองไม่มีความสุขแล้ว ยังทำให้ครอบครัวไม่มีความสุขด้วย ผู้ที่มีความประสงค์จะมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้น พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ความสงบเป็นสุขอย่างยิ่ง คนที่มีจิตใจสงบ ไม่วุ่นวายกับสิ่งใด ๆ มีความตั้งใจและสมาธิที่แน่วแน่จะทำแต่สิ่งที่ดี ๆ และมีความตั้งใจที่จะทำงานของตนเองให้ดียิ่งขึ้น ไม่ทำความชั่ว ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำร้ายผู้อื่น และไม่อยากได้ของผู้อื่น เลี้ยงชีวิตโดยชอบ ก็จะทำให้ชีวิตนั้นมีความสุขและมีความสงบเกิดขึ้น ส่วนผู้ที่ปฏิบัติธรรม สติปัญญาก็จะเกิดขึ้นจากความสงบนั้นแหละ บรรลุถึงการปฏิบัติธรรมในที่สุด

ความสุขใดเสมอด้วยความสงบไม่มี
ความปกติ
สิ่งใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือเป็นไปตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติ บุคคลที่มีจิตใจเป็นปกติ ย่อมมีความสุขและความสงบ มีความเจริญก้าวหน้าของชีวิต ส่วนผู้ที่ผิดปกติหรือมีจิตใจที่ผิดปรกติก็จะเกิดโทษทุกข์ และความเดือดร้อนต่อตัวเองและผู้อื่นนานานัปการ ความปกติจึงทำให้คนพบกับความสันติสุขและไม่มีโทษ ความเป็นปกตินี้ พระพุทธศาสนาทรงบัญญัติว่าเป็นศีล หรือ ศีลก็คือความเป็นปกตินั้นเอง บางท่านที่ไม่รู้จักคำว่าศีลอย่างหนึ่ง อีกนัยหนึ่ง ไม่รู้จักคำว่าศีลคืออะไร เลยสิ้นกำลังใจที่จะรักษาศีล แต่ความจริง ศีลที่แปลว่าปกติ ที่บุคคลทั้งหลายต้องการ จะเป็นคนก็ดี เป็นสัตว์ก็ดี ตามปกติต้องการเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศีล ๕ ไม่ว่าคนที่เกิดมาแล้วจะเคยเข้าวัด จะนับถือพุทธศาสนาหรือศาสนาไหนก็ดี ก็มีความต้องการศีล ๕ เหมือนกันหมด ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า เป็นปกติ คำว่าศีลนี้ แปลว่า ปรกติ
ก็มีเรื่องอยู่ว่า ก่อนพุทธกาล สมัยนั้นศาสนามีมาก เขามีอยู่ก่อน สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาทรงอุบัติขึ้นมาทีหลัง จะไปที่ไหนก็ดี ในเวลานั้น ในเขตของประเทศอินเดียต้องพูดกันถึงศาสนา ถือว่าเป็นสมัยที่คลั่งศาสนา และเวลานี้ก็ยังคลั่งกันอยู่ ศาสนาต่างศาสนากันก็เป็นชาวอินเดียเหมือนกัน รบกันเรื่องศาสนา นี้เมื่อปีที่แล้วก็ยังมี ในสมัยก่อน ๆ ก็ยังมี ยกทัพตีกันก็เพราะเรื่องการนับถือศาสนา เป็นอันว่า คนสมัยนั้นเป็นคนคลั่งศาสนามาก ถ้าใครถือศาสนาของศาสดาจารย์ใดแล้ว ก็นับถือศาสนานั้นเป็นสรณะที่พึ่ง ถือว่าของตนดีกว่า ในสมัยต่อมา เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว องค์สมเด็จประทีปแก้วเสด็จไปทางไหนทรงสอนบรรดาพุทธบริษัทใหม่ ๆ แล้วเขาก็ถามกันว่า ทำอย่างไรคนจึงจะมีความสุข ทำอย่างไรคนเราจะมีทรัพย์สมบูรณ์ใช้ไม่ขาด ทำอย่างไรจิตใจคนจึงจะสบาย สงบ สงัดองค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงแสดงเรื่อง ศีล ว่าตามธรรมดาของคนนั้นต้องการความเป็นอยู่เป็นสุขคือ ไม่ต้องการให้ใครมาทำร้ายร่างกายของตัวเรา ไม่มีใครต้องการให้ใครมาเข่นฆ่าตน ทรัพย์ของเรามีอยู่เราก็ไม่ต้องการให้ใครมายื้อแย่ง มาลักมาขโมย มาบังคับขู่เข็ญเอาทรัพย์สินไป คนที่มีคนรัก มีสามีภรรยา และคนที่รักบุตรธิดา ลูกหลานเหลน ก็ตาม มีอยู่แล้ว ไม่ต้องการให้ใครมาข่มเหงน้ำใจเรื่องคนรัก
ทรงตรัสว่า วาจาทุกอย่างที่เราฟัง ต้องการให้คนทุกคนที่มาพูดกับเราพูดแต่ความเป็นจริง เพราะเราต้องการอย่างนั้น ทรงกล่าวไปว่า ทั้งชายและหญิงเหมือนกันหมด คือ ไม่มีใครต้องการเป็นคนชั่ว องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ จึงทรงกล่าวว่า โภปุริสะ ดูกระท่านผู้เจริญ ถ้าทุกคนต้องการอย่างนี้ ทุกคนต้องการมีความสุขให้ปฏิบัติตามนี้คือ
1. ปาณาติปาตาเวรมณี ขอให้ทุกคนงดเว้นเบียดเบียนทางร่างกายซึ่งกันและกัน อย่าประหัตประหารซึ่งกันและกัน และก็จงอย่าเข่นฆ่าซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นให้เอาจิตตั้งอยู่ในความเมตตากรุณาทั้งสองประการ ข้อนี้จึงจะส่งผล องค์สมเด็จพระทศพลทรงกล่าวว่า จงอย่าฆ่ากันนะ จงอย่าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน แต่ว่าการที่จะไม่ทำอย่างนั้น ต้องเอาจิตใจประกอบไปด้วยเมตตา คือ ความรัก คิดเสียว่าเราเกิดมาเรารักตัวเราเพียงใด คนทั้งหลายก็มีความรักตัวของเขาเพียงนั้น เราไม่ต้องให้ใครมาทำร้ายร่างกายเรา เขาก็ไม่ต้องการไปเข่นฆ่าเขา ทั้งนี้องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงกล่าวว่า ทั้งคนและสัตว์ในโลก มีความปรารถนาเหมือนกัน เราต่างคนต่างเว้นการทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน เว้นการเข่นฆ่าซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างรักกัน ต่างคนต่างสงสารกัน ทุกคนมีความสุขเจอะหน้ากันเมื่อไร ต่างก็มีความยิ้มแย้มแจ่มใส มีกำลังใจเบิกบาน
2. อทินนาทานาเวรมณี องค์สมเด็จพระชินศรีตรัสว่า ทรัพย์ของเรา เราไม่ต้องการให้ใครมายื้อแย่ง มาลักขโมย ทรัพย์สินของคนอื่นเขาก็เช่นเดียวกัน เขาหามาได้เขาต้องการกินต้องการใช้ของเขาเอง ถ้าเราไปยื้อแย่งเขา เขาก็โกรธ เขาไม่พอใจ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจารย์ จึงกล่าวว่า ถ้าเราจะระมัดระวังเรื่องการที่จะไม่มีการยื้อแย่งอยากได้ทรัพย์สินของบุคคลอื่นมาเป็นสมบัติของตน จงยินดีเฉพาะทรัพย์สินที่เราหามาได้โดยชอบธรรม เรียกว่า สันโดษ ไม่ใช่ยินดีเฉพาะทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว ให้ยินดีถึงทรัพย์สินที่เราหามาได้โดยชอบธรรมด้วย ไม่ไปคิดโกงไปลัก ไปขโมยใคร และไม่เบียดเบียนร่างกายของคนอื่น ทรัพย์ส่วนนั้นเราพอใจ
3. แต่ทว่า เราจะมีสันโดษโดยเฉย ๆ ในข้อนี้ก็ไม่ไหว องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงตรัสว่าต้องแก้ความอยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่น ด้วยการให้ทาน เพราะการให้ทาน กับการอยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่น เป็นกำลังใจต่างกัน การอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น เป็นการอยากดึงเข้ามา การให้เป็นการผลักดันออก การให้ทานนี้ประกอบด้วยเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสารเหมือนกัน แต่ทว่า มาถึงข้อนี้ เราก็เพิ่มสันโดษเข้ามาด้วย เพิ่มทานบารมีมาด้วย
4. รวมความว่า ถ้ารักษาศีลข้อนี้ให้เป็นปกติทุกวัน ตื่นขึ้นมาในตอนเช้าแล้วต้องคิดไว้เสมอว่า ถ้าไม่เกินวิสัยที่จะให้ได้หรือเราจะช่วยได้ ไม่ว่าใครทั้งหมด คนก็ดี สัตว์ก็ดี ถ้าหันหน้าเข้ามาพึ่งเราก็ดี แล้วมีความทุกข์ยากลำบากก็ดี เราจะสละทรัพย์สมบัติที่เรามีอยู่ตามสมควรให้ทันที ถ้าคิดไว้อย่างนี้ ถ้าทรัพย์ไม่มีก็ไม่ต้องให้ ถ้ามีแล้วให้ไป เราไม่มีเหลือกิน เราก็ไม่ต้องให้ แต่ใจมันคิดจะให้ แต่ให้ไม่เกินวิสัยที่เราจะพึงให้ได้ ถ้ากำลังใจของพุทธบริษัททรงอยู่อย่างนี้ ไซร้ชื่อว่าเป็นผู้เจริญ จาคานุสติกรรมฐานประจำใจ ศีลข้อนี้ก็บริสุทธิ์
5. ถ้าเราไม่ลักขโมยใคร ไม่ทำร้ายร่างกายใคร ไปไหนก็มีแต่คนรักเรา เขาไว้วางใจเรา ของเขาฝากไว้เราก็ไม่โกง ของเขาเผลอเราก็ไม่ลัก เป็นอันว่า ไปที่ใดก็ตาม ไม่มีใครสะดุ้งหวาดหวั่นว่าเราจะต้องทำร้ายเขา เราจะลักขโมยเขา ไปที่ไหนก็มีความสุข
6. กาเมสุมิจฉาจาราเวรมณี องค์สมเด็จองค์รามาธิบดีทรงกล่าวว่า คนที่รัก ไม่ใช่เฉพาะสามีภรรยา คือบุตรก็ดี ธิดาก็ดี คนในปกครองก็ดี ทุกคนเขาก็หวงแหน ฉะนั้นถ้าเรามีความพอใจ อย่าไปละเมิดสิทธิ์ให้สู่ขอกันตามประเพณี ถ้าผู้ปกครองอนุญาตก็ใช้ได้ เป็นที่ผู้ใจสร้างความรักซึ่งกันและกันอย่างนี้ องค์สมเด็จพระชินศรีตรัสว่า เป็นปัจจัยของการมีความสุข ถ้าในระหว่างสามีภรรยาของบุคคลอื่น เราต้องถือสันโดษอีกตัวหนึ่ง ว่าสามีของเราต้องดีภรรยาของเราก็ดี เป็นที่พอใจของเรา เราจะไม่ละเมิดสิทธิ์ของสามีภรรยาบุคคลอื่น เพราะเป็นที่รักของเขา ถ้าทำได้อย่างนี้ก็มีความสุขในปัจจุบัน
7. มุสาวาทาเวรมณี องค์สมเด็จพระชินศรีตรัสว่า วาจาที่รับฟัง เราต้องการความจริง คนไหนพูดจริงกับเรา เราก็รักคนนั้น เราก็นับถือคนนั้น ถ้าเราไปพูดไม่จริงกับคนอื่นเขา เขาก็เกลียด ถ้าเราพูดตามความเป็นจริง เขาก็ชอบ ฉะนั้นในตอนนี้ องค์พระบรมศาสดาตรัสว่า ต้องมีสัจจะ คือความจริงใจด้วย และก็มีเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร ๒ ประการ เข้ามาควบคุมใจ ตั้งใจว่าเราจะพูดแต่ความเป็นจริง ถ้าไปไหนเราพูดแต่ความเป็นจริงทุกอย่าง ก็เป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป ทางเรามีแต่ความสุข เพราะเป็นที่รักของบุคคลอื่นทุกคน
8. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานาเวรมณี พระชินศรีบรมศาสดาตรัสว่า คนที่ไม่ต้องการชั่ว ไม่ต้องเป็นโรคประสาท ไม่ต้องเป็นโรคมึนเมาประสาทฟั่นเฟือน ถ้าไม่ต้องการอย่างนี้ละก็ องค์พระศาสดาตรัสว่า ขอจงพากันรักษาศีลข้อที่ ๕ คือปกติ เราจงอย่าดื่มสุราและเมรัย เพราะสุราและเมรัยดื่มเข้าไปเมื่อไร ก็ชั่วเมื่อนั้น ดื่มมากก็ชั่วมาก ดื่มน้อยก็ชั่วน้อย ที่เขาบอกว่าสุราแปลว่ากล้า สุราของเมานี่มันแปลว่ากล้า คือ กล้าทำทุกอย่างในด้านความชั่ว บางอย่างเราไม่เมาเราไม่พูด ในบางกรณีเราไม่เมาเราไม่ทำ เพราะทำแล้วมันอายชาวบ้านเขา ไม่น่าจะทำ ไม่น่าจะพูด แต่พอดื่มสุราเข้าไป หน่อยเดียวมันพูดได้ ทำได้ รวมความว่าสิ่งที่เรารังเกียจเมื่อยังไม่เมา เราไม่ทำ เพราะมันเลว พอดื่มสุราเข้าไปแล้ว เรากล้าทำความเลว ความกล้านี้เป็นความกล้าชั้นต่ำ ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า ถ้าต้องการให้ใจพ้นจากความเลว ก็อย่าดื่มสุราเมรัย
นี้เป็นเรื่องของศีล ๕ ที่พระบรมศาสดาตรัสว่า สีเลนะสุคติงยันติ ถ้ามีศีลในใจก็มีสุข ชาวบ้านชาวเขาก็มีสุข ทุก ๆ คนถ้ามีศีล ๕ ทุกคน ก็ไม่มีความเดือดร้อน การทะเลาะวิวาทซึ่งกันและกันก็ไม่มี มีแต่คนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยิ้มแย้มแจ่มใสเข้าหากัน มันก็มีความสุขกล่าวแต่เพียงย่อ ๆ
อีกข้อหนึ่ง สีเลนะโภคสัมปทา ถ้าเราไม่ไปรุกรานชาวบ้านเขา ไม่ลักขโมยเขา ไม่แย่งคนรักเขา ไม่โกหกมดเท็จเขา ไม่ดื่มสุรายาเมา เรื่องร้ายมันก็ไม่เกิด เพราะเรื่องร้ายมันเกิดขึ้นมาเมื่อไร มันต้องจ่ายทรัพย์พิเศษเมื่อนั้น เมื่อเรื่องร้ายไม่เกิดทรัพย์ก็ไม่ต้องจ่ายเป็นกรณีพิเศษ ไม่ต้องสิ้นเปลืองเกินกว่าเหตุ ทรัพย์มีอยู่เท่าใดมันก็พอใช้มีน้อยก็พอใช้มีมากก็พอใช้ เพราะความทะเยอทะยานไม่มี
ก็มาว่าถึงข้อที่ ๓ อีกทีว่า กาเมสุมิจฉาจาร การไปรุกรานความรักของบุคคลอื่นเขาโทษมันมาก เขาตามฆ่าเข่นฆ่า เขาทำร้าย เขาเป็นศัตรู ถ้าเป็นอย่างนี้ละก็เราเดือดร้อน ต้องหนีหัวซุกหัวซุนหรือมิฉะนั้น ก็ถูกจับลงโทษทัณฑ์ มันก็เสียสตางค์ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ เราก็ไม่ต้องหนีชาวบ้าน เราประกอบการงานปกติ ทรัพย์มันก็มีมาก หาได้ตามปกติ ถ้าต้องหลบต้องหนีเขา หาทรัพย์ไม่ได้ ก็ต้องกินของเก่าไป ถ้าไม่มีการถูกจับไปพิพากษาลงโทษใด ๆ ทรัพย์สินทั้งหลายมันก็ไม่เปลือง รวมความแค่นี้ ทรัพย์มันก็สมบูรณ์บริบูรณ์
ในข้อ ๔ ถ้าเราพูดจริงทำจริงเสียทุกอย่าง ไม่โกหกมดเท็จใคร จะไปพูดกับใคร ใครเขาก็เชื่อ ถ้าเป็นการบังเอิญอย่างหนึ่ง ทรัพย์สินของเราไม่มีพอกินพอใช้ จะไปขอหยิบขอยืม เขาเชื่อน้ำหน้าเราอยู่แล้ว เชื่อความสามารถ เชื่อความมั่นคงของเราอยู่แล้ว เราก็ขอยืมเขาได้ ไม่เดือดร้อนในการหาทรัพย์
สำหรับข้อ ๕ เหล้ามันกินไม่อิ่ม สุราเมรัย กัญชายาฝิ่น เฮโรอีน ทั้งหลาย เรากินไม่อิ่มในเมื่อมันกินไม่อิ่ม แล้วเอาเงินที่หามาได้ไปจ่ายในเรื่องนี้มันไม่เกิดประโยชน์แก่ร่างกายไม่ทำให้เรา ครอบครัวของเราร่ำรวยขึ้นมา ถ้าบังเอิญเราจะงดกินเหล้ามันเสีย กินเหล้าวันละ ๑๐ บาท ปีหนึ่งก็ ๓,๖๕๐ บาท เห็นง่าย ๆ เงินจำนวนนี้เอามาทำกับข้าวได้สบาย ๆ ซื้อเครื่องนุ่งห่มก็ได้ เป็นอันว่าพระบรมศาสดาท่านทรงกล่าวว่า สีเลนโภคสัมปทา โดยย่อ ๆ ก็เป็นอย่างนี้ แค่มีศีล ๕ ทรัพย์สินก็ไม่เดือดร้อนตัวเราใจเรา ก็ไม่เดือดร้อน พระบรมศาสดาจารย์ทรงตรัสว่า สีเลนนิพพุติยันติ นิพพะ แปลว่าดับ คือ มีอารมณ์สงบ ในเมื่อเรามีทรัพย์สินใช้สบาย ๆ ใจเราก็สงบ ความเดือดร้อนก็ไม่มี นี่กล่าวถึงอานิสงส์ของศีลในปัจจุบัน ชาติหน้าไม่ต้องพูดกัน ถ้าชาตินี้ดี ชาติหน้ามันก็ดี ถ้าชาตินี้เลว ชาติหน้ามันก็เลว เราจะเลือกเอาทางไหน ผู้ที่ปกติย่อมมีศีล ผู้ไม่มีศีลย่อมผิดปกติ

ขอบคุณข้อมูล : http://palipage.com/watam/piyapan4/K00079.htm

. . . . . . .