ธรรมบรรยาย อุปาสกปฏิบัติ

ธรรมบรรยาย อุปาสกปฏิบัติ

เป็นธรรมะที่บรรยายโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต

คฤหัสถ์ชนผู้มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เพราะได้ฟังธรรมเทศนา แต่ที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า หรือเพราะได้ฟังแต่พุทธสาวกและพุทธศาสนิกบัณฑิตอื่นๆ แล้วซึ่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก ชายชื่อว่า อุบาสก หญิงชื่อว่า อุบาสิกา แปลว่า ผู้เข้านั่งใกล้ซึ่งพระรัตนตรัยด้วยใจของตน
ในอรรถกถา แสดงอาการถึงสรณะ ๔ อย่างคือ ความมอบให้ซึ่งตน ๑ ความเป็นผู้มีรัตนตรัยนั้นเป็นที่ไปเบื้องหน้า ๑ เข้าไปถึงซึ่งความเป็นศิษย์ ๑ ความนอบน้อม ๑ ความสละซึ่งตนต่อพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ด้วยคำอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ามอบให้ซึ่งตนแก่พระพุทธเจ้า แก่พระธรรม แก่พระสงฆ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งว่าความมอบให้ซึ่งตน ความเป็นผู้มีพระรัตนตรัยนั้นเป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วยคำอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายทรงไว้ว่า ข้าพเจ้ามีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่ไปเบื้องหน้าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ชื่อว่าความเป็นผู้มีพระรัตนตรัยนั้นเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เข้าไปถึงซึ่งความเป็นศิษย์ด้วยคำอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงทรงไว้ซึ่งข้าพเจ้าว่าเป็นอันเตวาสิกของพระพุทธเจ้า ของพระธรรม ของพระสงฆ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ชื่อว่าเข้าไปถึงซึ่งความเป็นศิษย์ ความกระทำซึ่งความตกต่ำเป็นอย่างยิ่งในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ฟังคำอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงทรงไว้ซึ่งข้าพเจ้าว่าทำอยู่ซึ่งการกราบไหว้ การลุกรับอัชลีกรรมและสามีจิกรรมแก่วัตถุทั้งสาม มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ชื่อว่าความนอบน้อม สรณะที่บุคคลกระทำ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งคือเอาแล้วชื่อว่าถ้าเอาแล้วดี

วิธีถึงสรณะที่กล่าวมานี้ก็เป็นสักว่าเครื่องแสดงความเลื่อมใสให้ผู้อื่นรู้อาการแห่งผู้ที่เลื่อมใสแล้วเท่านั้น เพราะว่าถ้าใจเลื่อมใสถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งในความปฏิบัติออกจากทุกข์จริงแล้ว แม้ถึงว่าจะไม่กล่าววาจาประกาศตนให้ผู้อื่นทราบก็คงเป็นอันถึงสรณะอยู่นั่นเอง ความถึงสรณะนี้ มิใช่จะสำเร็จตัวสักว่าวาจา ย่อมสำเร็จด้วยใจเหตุนี้บุคคลที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัยไม่ปฏิบัติตามพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะเป็นอุบาสกอุบาสิกาไม่ได้เลย ความถึงสรณะนี้จะแตกจะทำลายก็เพราะนับถือสิ่งอื่นว่าประเสริฐกว่าพระรัตนตรัยและจะสมบูรณ์ก็ด้วยเห็นว่าพระรัตนตรัยประเสริฐกว่าสิ่งอื่น เหตุนั้นในอรรถกถาจึงกล่าวว่า พระญาติของพระผู้มีพระภาคเจ้าถวายบังคมพระองค์ด้วยคิดว่าเป็นญาติของตนก็ดี ผู้ใดผู้หนึ่งไหว้พระองค์เพราะความกลัวว่าพระองค์มีอานุภาพใหญ่เป็นที่บูชาของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อตนไม่ไหว้ก็จะพึงนำความฉิบหายให้ก็ได้ ผู้ใดผู้หนึ่งระลึกถึงศิลปศาสตร์ อันตนเคยเรียนแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อครั้งพระองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์หรือได้ฟังคำสั่งสอนในกาลเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว เป็นต้น ว่าในบัณฑิตผู้อยู่ครองเรือนแบ่งโภคะให้เป็น ๔ ส่วน บริโภค ๑ ส่วน ประกอบการงาน ๒ ส่วน เก็บส่วนที่ ๔ ไว้เพื่อจะได้มีไว้ใช้ในเวลาอันตราย และไหว้พระองค์ด้วยคิดว่าเป็นอาจารย์ก็ดี ไม่เป็นอันถึงสรณะ ผู้ใดไหว้พระองค์ด้วยคิดว่าพระองค์เป็นผู้ควรซึ่งทักษิณาอันเลิศในโลก ผู้นั้นแลฯ ชื่อว่าเป็นอันถึงสรณะ
เมื่ออุบาสกอุบาสิกา มีสรณะอันถือเอาแล้วอย่างนี้ ว่าญาติของตนแม้บวชในติตติยะปริพาชก ด้วยคิดว่าเป็นญาติของตนสรณคมน์ก็ไม่แตก ไม่ต้องกล่าวถึงผู้ไหว้ญาติที่ไม่ได้บวช ถึงไหว้พระเจ้าแผ่นดินด้วยความกลัวก็เหมือนอย่างนั้น สรณคมน์ไม่แตก เพราะว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นเป็นผู้อันชาวแว่นแคว้นบูชาแล้ว เมื่อใครไม่ไหว้ก็พึงทำความพินาศให้ ถึงไหว้ติตติยะผู้ให้ศึกษาศิลปศาสตร์ อันใดอันหนึ่งด้วยคิดว่าเป็นอาจารย์ของตนอย่างนั้นสรณคมน์ไม่แตก
อาศัยความในอรรถกถา กล่าวอย่างนี้ห้ามความเห็นของคนบางพวกที่ถือว่าไหว้พระเจ้าแผ่นดินและญาติที่เป็นคฤหัสถ์ไม่ได้ ถ้าไหว้ดังนั้นสรณคมน์แตก ความเห็นของคนจำพวกนั้นอนุมานดูจะเห็นว่าเป็นเพราะได้เห็นภิกษุสามเณรไม่ไหวคฤหัสถ์ตามพุทธบัญญัติห้าม ก็ถือมั่นไปอย่างนั้น การไหว้พระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุขสำราญปราศจากอันตรายไม่มีโทษแก่คฤหัสถ์ ผู้ถึงสรณะข้อนี้มีปรากฏในอรรถกถาว่า ฉตฺตปาณิอุปาสก ผู้เป็นพระอนาคามี เมื่อมายังที่เฝ้าได้ถวายบังคม พระเจ้าปัสเสนทิโกศลดังนี้ ต่อเมื่อใดไหว้ด้วยความนับถือ ประเสริฐกว่าพระรัตนตรัยสรณคมน์จึงเป็นอันแตก ผู้ที่ไหว้รูปเคารพในศาสนาอื่นมีไม้กางเขน เป็นต้น ด้วยนับถือว่าเป็นที่ระลึกที่พึ่งของตน สรณคมน์แตกแท้
ชายหญิงผู้ปฏิญาณตนว่าเป็น อุบาสกอุบาสิกา ตั้งอยู่ในสรณะแล้ว ต้องสังวรในศีล ๕ ประการเป็นนิจเสมอไปไม่มีวันเว้น ศีล ๕ ประการนั้นคือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ เว้นจากการลักทรัพย์ ๑ เว้นจากประพฤติผิดในกาม ๑ เว้นจากกล่าวเท็จ ๑ เว้นจากดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัย ๑ ความเว้นจากเวร ๕ ประการนี้เรียกว่านิจศีล เพราะเป็นศีลอุบาสกอุบาสิกา จะพึงรักษาเป็นนิจไม่มีเวลาว่าง ยังมีศีลอีก ๘ ประการคือ เว้นจากฆ่าสัตว์ ๑ เว้นจากลักทรัพย์ ๑ เว้นจากการไม่พรหมจรรย์ ๑ เว้นจากกล่าวเท็จ ๑ เว้นจากดื่มสุราเมรัย ๑ เว้นจากกินอาหารในเวลาวิกาล ๑ คือตั้งแต่อาทิตย์เที่ยงแล้วไปจนถึงอรุณขึ้นมาใหม่ ๑ เว้นจากฟ้อนรำขับร้องและเครื่องประโคมด้วยตนเอง และดูการเล่นเช่นนั้น และตกแต่งประดับกายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องย้อมทากายให้มีผิวงามและเครื่องประดับ ๑ เว้นจากนั่งนอนบนเตียงตั่งมีเท้าสูงกว่าประมาณ และเบาะฟูกภายในมีนุ่มสำลีและเครื่องวิจิตรด้วยเครื่องทองเงิน ๑ เรียกว่า อุโบสถศีล เป็นศีลวิเศษอันอุบาสกอุบาสิกา จะพึงเข้าอยู่ในการเป็นครั้งคราว คือ วันที่ ๑๔ ค่ำหรือ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำ เพื่อประโยชน์แก่การสงัดกายและจิตเป็นครั้งคราว
อนึ่ง กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการที่เรียกว่า อาคาริยะวินัย ข้อปฏิบัติเครื่องฝึกกายวาจาใจของคฤหัสถ์ ก็เป็นข้อปฏิบัติของอุบาสกอุบาสิกาด้วย กุศลกรรมบถนั้นจัดตามทวารเป็น ๓ คือ กายกรรม ๑ วจีกรรม ๑ มโนกรรม ๑ กายกรรม ๓ อย่างคือ เว้นจากฆ่าสัตว์ ๑ เว้นจากลักทรัพย์ ๑ เว้นจากประพฤติผิดในกาม ๑ วจีกรรม ๔ อย่างคือ เว้นจากกล่าวคำเท็จ กล่าวแต่คำแท้จริง ๑ เว้นจากกล่าวคำส่อเสียดยุยงผู้อื่นให้แตกร้าวกัน กล่าวแต่คำที่ชักนำผู้อื่นให้พร้อมเพรียงด้วยกัน ๑ เว้นจากกล่าวคำหยาบ กล่าวแต่คำไพเราะ ๑ เว้นจากกล่าวคำเพ้อเจ้อ กล่าวแต่คำไพเราะ ๑ มโนกรรม ๓ อย่างคือ ไม่เพ่งคิดอยากได้ของผู้อื่น ด้วยจิตโลภจะเอาเปล่า ไม่คิดที่จะแลกเปลี่ยนซื้อหาใหม่ ๑ ไม่พยาบาทคิดผูกเวร แช่งสัตว์ที่ตนเคืองแค้นให้ฉิบหายล้มตาย มีจิตเมตตากรุณา คิดจะให้หมู่สัตว์ ที่เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันให้พ้นจากทุกข์มีสุขถ้วนหน้า ๑ มีความเห็นชอบถูกตามครรลองครองธรรมที่แท้จริง เป็นต้นว่า เห็นว่าทานที่บุคคลบริจาคแล้ว ศีลที่บุคคลรักษาดีแล้ว ภาวนาที่บุคคลหมั่นอบรมดีแล้ว มีผลอานิสงส์และเห็นว่าความปฏิบัติบำรุงบิดามารดาเป็นความดีความชอบ ๑ ข้อปฏิบัติ ๑๐ ประการนี้ ชื่อว่ากุศลกรรมบถ เพราะเป็นทางที่จะให้ผู้ปฏิบัติดำเนินถึงสุขในปัจจุบันและภายหน้า
สาธุชนผู้รักษาอุโบสถ มากำหนดบรรจุเวลาให้เต็มพร้อมด้วยนานาวิธีกุศล คือฟังเทศนาบ้าง สนทนาธรรมสากัจฉาบ้าง สวดมนต์บ้าง ภาวนาบ้าง ตามแนวที่ได้แนะนำมา เชื่อว่าทำวันคืนของตนให้มีค่ามากมาย สมกับที่หลีกเล้นเฟ้นหาสันติสุขในทางธรรม และสมกับที่ต้องลงทุนสละละเคหสถาน ยอมเสียเวลาการงานทางโลก ไม่ขาดทุนเสียเวลาเปล่า
อุโบสถ ๓ อย่าง
ผู้รักษาอุโบสถนั้น ถึงแม้อุโบสถมีองค์ ๘ เท่ากัน ต่างคนก็ต่างตั้งวิรัตเจตนาสมาทานเหมือนกัน แต่อาจได้รับผลยิ่งหย่อนกว่ากันด้วย สามารถแห่งอาการรักษาปฏิบัติยิ่งหย่อนต่างกันด้วยเหตุนั้น ท่านจึงจัดอุโบสถไว้ ๓ ประเภทคือ นิคัณฐอุโบสถ ๑ โคปาลอุโบสถ ๑ อริยอุโบสถ ๑ ดังจะอธิบายต่อไปนี้
๑. นิคัณฐอุโบสถ นี้หมายถึง อุโบสถของคนภายนอกพระพุทธศาสนา ซึ่งมีลัทธินิยม ตั้งวิรัตเจตนาโดยมีเขตจำกัด คืองดเว้นไม่ประพฤติล่วงสิกขาบทเฉพาะในบุคคลบางพวก บางหมู่ บางทิศ บางทาง เช่นสมาทานศีลแล้ว ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ เป็นต้น ของคนหมู่โน้นและทิศโน้น แต่ของคนหมู่นี้อยู่ทิศนี้ไม่งดเว้น หรืองดเว้นเฉพาะที่เป็นญาติมิตรและคนรักใคร่ชอบใจ นอกนั้นไม่งดเว้น การงดเว้นเช่นนี้ก็มีคุณอยู่ เพราะนับว่ายังดีกว่าผู้ไม่งดเว้นเสียเลย แต่เป็นไปในทางที่แคบ เป็นความปฏิบัติที่เห็นแต่ตัวและพวกของตัว จึงนับว่ามีคุณน้อยกว่า อุโบสถอีกสองอย่าง
๒. โคปาลอุโบสถ นี้เป็นอุโบสถในพระพุทธศาสนา คืออุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนั้นเอง แต่อาการของผู้รักษาปฏิบัติเหมือนอาการของคนเลี้ยงโค คนเลี้ยงโคเพราะเห็นแก่ค่าจ้าง ถึงจะเลี้ยงโคเป็นอย่างดี จนมีความชอบก็มีสิทธิเพียงได้ค่าจ้างเป็นส่วนรางวัลเพิ่มเติม แต่ไม่มีโอกาสได้มีสิทธิเป็นเจ้าของแห่งโคนม ไม่มีส่วนได้ดื่มรสแห่งนมโค ฉันใด อันผู้รักษาอุโบสถนี้ก็เหมือนกัน เมื่อสมาทานอุโบสถแล้วไม่ใฝ่ใจในการบุญกุศล มีการฟังธรรมเทศนา เป็นต้นดังกล่าวแล้ว ที่ทำได้เป็นอย่างดีก็เพียงตนระวังรักษาองค์อุโบสถไว้ไม่ให้ขาด มุ่งแต่ให้ได้รับความนิยมสรรเสริญเป็นเบื้องหน้า ยังวันคืนให้ล่วงไปด้วยการพูดดิรัจฉานกถา คือพูดถึงเรื่องบ้านเรือน สวน ไร่ นา บ้างก็นินทาลูก บ้างก็สรรเสริญหลาน พูดถึงการซื้อขายแพง เป็นต้น ในที่สุดก็ไม่มีโอกาสได้ดื่มรสของศีลธรรม ได้ประโยชน์เพียงเก็บกาย วาจา ไม่ให้ประพฤติทุจริตชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่ง กับรับความยกย่องสรรเสริญว่าเป็นคนเข้าวัดจำศีลเท่านั้น แต่ก็ยังจัดว่าดีกว่านิคัณฐอุโบสถ เพราะไม่จำกัดเขตและบุคคล เป็นทางให้เกิดผลกว้างฉะนี้
๓. อริยอุโบสถ นี้จัดเป็นอุโบสถชั้นเยี่ยม ชั้นประเสริฐ คือผู้ปฏิบัติตั้งอกตั้งใจรักษาด้วยดี นอกจากคอยระวังกาย วาจา ไม่ให้ประพฤติล่วงองค์ศีลนั้นๆ แล้วก็อุตส่าห์พยายามฟังธรรมเทศนาบำรุงสติปัญญาเสริมศรัทธาปะสาทะ พูดธรรมสากัจฉาถ่ายความรู้เก่า รับเอาความรู้ใหม่ สวดมนต์บำรุงจิตใจให้ผ่องใส และเจริญวิปัสสนาภาวนาดังที่กล่าวแล้วและจะกล่าวต่อไป ทั้งตั้งใจละปลิโพธิกังวลในเรื่องและการงาน อันเป็นข้าศึกแก่อุโบสถให้เด็ดขาด แม้อุปสรรคเกิดขึ้น ก็ไม่ยอมสละละองค์อุโบสถและทอดทิ้ง การกุศลที่ตนบำเพ็ญอยู่ในวันอุโบสถนั้น พึงเห็นตัวอย่างดัง พระนางวิสาขามหาอุบาสิกาครั้งพุทธกาล ซึ่งปรากฏว่า ในวันที่พระนางวิสาขาไปรักษาอุโบสถและฟังธรรมอยู่ที่วัด เกิดมีพวกโจรลอบขุดอุโมงเข้าไปภายในคฤหาสน์ของท่าน เพื่อปล้นทรัพย์ นางทาสีสาวใช้ได้เห็นเหตุการณ์นั้นแล้ว รีบไปร้องเรียนให้พระนางวิสาขาทราบ พระนางวิสาขาแทนที่จะสะดุ้งเสียใจ กลับขับไล่นางสาวใช้นั้นให้กลับไปเสียถึง ๓ ครั้ง พร้อมสั่งว่า เมื่อมันต้องการอะไร ก็จงขนเอาไปให้พอใจเถิด และเธออย่ากลับมารบกวนฉันอีก ฉันจะฟังธรรมรักษาศีล ในที่สุดปรากฏว่าพวกโจรเหล่านั้น เพราะได้ยินคำพระนางวิสาขากล่าวกับสาวใช้ ก็เลยกลับใจด้วยมีความเลื่อมใสในน้ำใจอันเด็ดเดี่ยวนั้น เลยไม่เอาอะไรแม้เพียงสิ่งเดียว ชวนกันกลับหมด นี้นับว่าเป็นตัวอย่างในอริยอุโบสถนี้
สาธุชนผู้รักษาอุโบสถ พึงอุตส่าห์พยายามปฏิบัติรักษาอุโบสถของตนให้ละเอียดปราณีตขึ้นโดยลำดับ แม้ชั้นต้นหากจะทำได้เพียงเป็นโคปาลอุโบสถก็นับว่ายังดีกว่าไม่รักษา ต่อไปก็ค่อยอุตส่าห์พยายามให้ดำเนินเข้าชั้นอริยอุโบสถ ก็จักได้ดื่มรสอันเยือกเย็น อยู่เป็นสุขตลอดกาลนาน

อานิสงส์แห่งการรักษาอุโบสถ

อันผู้รักษาอุโบสถศีลนั้น ย่อมได้อานิสงส์ทั้งชาตินี้ชาติหน้าโดยอนุรูปแก่ความปฏิบัติของตน ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในตอนท้ายแห่งอุโบสถสูตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ที่อริยสาวกเข้าอาศัยอยู่แล้ว เป็นคุณมีผลใหญ่และอานิสงส์ใหญ่มีความรุ่งเรืองแผ่ไพศาลมากดังนี้ จะยกคุณประโยชน์แห่งการรักษาอุโบสถมาชี้ให้เห็นพอเป็นเครื่องบำรุงศรัทธาปสาทะดังต่อไปนี้
๑.ตามธรรมดาคนเรา วันปกติย่อมใช้กายวาจาใจให้สาละวนหมกมุ่นอยู่ในการงานทางบ้านานาประการ การงานบางอย่างก็สะดวกบางอย่างก็ติดขัด ที่ติดขัดก็เป็นต้นตอก่อให้กายวาจาใจเศร้าหมอง เพราะต้องการให้สิ่งนั้นสำเร็จผลดังประสงค์ เมื่อนานวัน นานเดือน นานปี กาย วาจา ใจ ก็หม่นหมองเป็นมลทินขึ้นโดยลำดับ จนถึงกับไม่สามารถชำระล้างให้สะอาดได้ก็มี เมื่อสาธุชนถือโอกาสเข้ารักษาอุโบสถศีล ก็นับว่าเป็นอุบายชำระมลทินนั้น เพราะได้ปลดเปลื้องการงานทางบ้านออกจากกาย วาจา ใจ เป็นการปล่อยวางภาระของกาย วาจา ใจ ให้ได้พักผ่อนเสียครั้งหนึ่ง
๒. การพักการงานทางบ้านแล้วไปหาอุบายคบคุมกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในกรอบศีลธรรมนับว่าเป็นอุบายให้คฤหัสถ์ชนมีโอกาสได้ชำระกาย วาจา ใจ ของตนเสียครั้งหนึ่ง คือ ๖ วัน ๗ วันได้ชำระกันครั้งหนึ่ง ถึงจะไม่สะอาดจนผ่องก็เป็นทางไม่ให้หม่นหมองทวีขึ้นมาก การรักษาอุโบสถนั้น โดยความมุ่งหมายก็เพื่อเป็นอุบายชำระกาย วาจา ใจ ดังกล่าวมานี้อีกประการหนึ่ง
๓. วันปกติที่ไม่รักษาอุโบสถ กาย วาจา ใจ ต้องเป็นทาสกรรมกรของตนและคนอื่นสัตว์อื่นอีกมากมาย บางครั้งต้องเป็นทาสของลูกๆ หลานๆ บางทีต้องเป็นทาสของวัวควายและเป็ดไก่ ต้องยอมตนลงให้คนและสัตว์เหล่านี้ใช้เกือบจะไม่มีเวลาแสนที่จะเหนื่อย แสนที่จะลำบาก แม้จะได้ค่าจ้างคือทรัพย์และความยินดีเป็นค่าแรงก็เพียงนิดหน่อยและให้คุณชั่วเวลาเพียงชาติเดียว ส่วนวันรักษาอุโบสถนับว่าเป็นโอกาสให้กับบุคคลพ้นจากความเป็นทาสเช่นนั้น แล้วเขามอบกาย วาจา ใจ เป็นทาสของพระรัตนตรัย ซึ่งนับว่าเป็นทาสที่มีเกียรติ และได้รับค่าแรงงานอันมีเกียรติด้วย กล่าวคือได้ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของกาย วาจา ใจ และความเยือกเย็นเป็นสุขทั้งภพนี้และภพหน้าเป็นค่าแรงาน
๔. การเข้ารักษาอุโบสถนับว่าเป็นการเข้าถือบวชของคฤหัสถ์เพราะเป็นอุบายเว้นจากบาป และอบรมกาย วาจา ใจ ให้สุขเกิดรสหวาน ซึ่งเป็นผลที่ต้องการทั้งทางคดีโลก คดีธรรม จริงอย่างนั้น น้ำใจอัธยาศัย อันทำอบรมบ่มให้สุขแล้ว ย่อมเกิดรสหวาน คือน่ารัก น่าเคารพ น่าคบค้าสมาคมด้วยความสนิทสนม กาย วาจา และใจ อันศีลอบรมบ่มให้สุขแล้วย่อมเกิดรสหวาน กล่าวคือกิริยาทางกายหวาน ตาน่าดูน่าชม คำพูดทางวาจาก็หวานหู ฟังไม่รู้เบื่อ
๕. ตามที่กล่าวมาแล้ว ๔ ประการนี้เป็นอานิสงส์ จะพึงเห็นได้ด้วยตนเองในชาตินี้ ส่วนอานิสงส์ในชาติหน้านั้น แม้ถึงจะยังไม่มีผู้รับรองยืนยันเพราะทุกๆ คนยังไม่ตาย หรือเคยตายมาแล้วก็เป็นการเหลือวิสัย ที่จะจดจำนำมาเป็นพยานได้ แต่ก็พอมีแนวทางที่จะคาดคะเนหรือสันนิษฐานลงด้วยเหตุผลว่า กาย วาจา ใจ ที่บริสุทธิ์สะอาดด้วยอำนาจศีลธรรมที่ได้ปฏิบัติไว้ในชาตินี้นั้นและฯ จะเป็นพืชพันธุ์ เป็นเครื่องรับประกันให้เกิดผลคู่ควรกันในชาติหน้า สมด้วยพระคาถาพุทธภาษิตว่า
โยธมฺมจารี กาเยน วาจาย อุทเจตสา อิเทวนํ ปสงฺสนฺติ เปจฺจ สคฺเค ปโมทติ
ผู้ใดประพฤติเป็นธรรมด้วยกาย วาจา และใจ ในชาตินี้ เขาย่อมได้รับการสรรเสริญ ครั้นละโลกนี้ไปเขาย่อมบันเทิงเบิกบานในโลกสวรรค์ดังนี้.

ขอบคุณข้อมูล : http://palipage.com/watam/piyapan4/K00090.htm

. . . . . . .