พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

* คำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น
เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง
คำสอนของพระพุทธองค์มีมากมายก็เพราะกิเลสมีมากมาย
แต่ทางที่ดับทุกข์ได้มีทางเดียว พระนิพพาน
การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก
หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไป
เราจะหมดโอกาสพ้นทุกข์ได้ทันในชาตินี้
แล้วจะต้องหลงอยู่ในความเห็นผิดอีกนานแสนนาน
เพื่อจะพบธรรมอันเดียวกันนี้
ดังนั้นเมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว
รีบปฏิบัติให้หลุดพ้นเสีย มิฉะนั้นจะเสียโอกาสอันดีนี้ไป
เพราะว่าเมื่อสัจจธรรมถูกลืม
ความมืดมนย่อมครอบงำปวงสัตว์ให้อยู่ในกองทุกข์สิ้นกาลนาน

* นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก
แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นก็เสียเวลาเปล่า
วิธีละได้ง่ายก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น
ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง

* ขอให้ท่านทั้งหลาย สำรวจดูความสุขว่า
ตรงไหนที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต
ครั้นสำรวจดูแล้วมันก็แค่นั้นแหละ แค่ที่เราเคยพบมาแล้วนั่นเอง
ทำไมจึงไม่มากกว่านั้น มากกว่านั้นไม่มี
โลกนี้มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่แค่นั้น
เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ร่ำไป
มันจึงน่าจะมีความสุขชนิดพิเศษกว่า
ประเสริฐกว่านั้น ปลอดภัยกว่านั้น
พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงสละสุขส่วนน้อยนั้นเสีย
เพื่อแสวงหาสุขอันเกิดจากความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส
เป็นความสุขที่ปลอดภัยหาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย

* ภิกษุเราถ้าปลูกความยินดีในเพศภาวะของตนได้แล้ว
ก็จะมีแต่ความสุข เยือกเย็น
ถ้าตัวเองอยู่ในเพศภิกษุ แต่กลับไปยินดีในเพศอื่น
ความทุกข์ก็จะทับถมอยู่ร่ำไป
หยุดกระหาย หยุดแสวงหาได้ นั่นคือภิกษุภาวะโดยแท้
ความเป็นพระนั้น ยิ่งจน ยิ่งมีความสุข

* ศีรษะที่ปลงผมหมดแล้ว
สัตว์เลื้อยคลานเล็กน้อยเช่น เหาย่อมอาศัยอยู่ไม่ได้ฉันใด
จิตที่พ้นจากอารมณ์ ขาดการปรุงแต่งแล้ว
ทุกข์ก็อาศัยอยู่ไม่ได้ฉันนั้น

* ในทางโลกเขามีสิ่งที่มี แต่ในทางธรรมมีสิ่งที่ไม่มี
คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มี เพื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นอยู่
ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติจนถึงสิ่งที่ไม่มีและอยู่กับสิ่งที่ไม่มี

* การปฏิบัติธรรม ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไหน
ในเมื่อกายยาว ๑ วา หนา ๑ คืบ นี้แลเป็นตัวธรรม
เป็นตัวโลก เป็นที่เกิดแห่งธรรม เป็นที่ดับแห่งธรรม
เป็นที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้อาศัยบัญญัติไว้ซึ่งธรรมทั้งปวง
แม้ใครใคร่จะปฏิบัติธรรม ก็ต้องปฏิบัติที่กายและใจนี้
หาได้ปฏิบัติที่อื่นไม่
ดังนั้น ถ้าตั้งใจจริงแล้ว นั่งอยู่ที่ไหน ธรรมก็เกิดที่ตรงนั้น
นอนอยู่ที่ไหน ยืนอยู่ที่ไหน เดินอยู่ที่ไหน ธรรมก็เกิดที่ตรงนั้น

* หลักธรรมที่แท้นั้นคือ จิต
ให้กำหนดดูจิต ให้เข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง
เมื่อเข้าใจจิตตัวเองได้ลึกซึ้งแล้วนั่นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรม
* กิเลสทั้งหมด เกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองที่จิต
อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน

* จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากสติที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิต เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ

http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1043:2009-08-31-09-24-35&catid=61:2009-06-12-17-56-15&Itemid=246

. . . . . . .