เคลื่อนขบวนไปสู่ความจริง

เคลื่อนขบวนไปสู่ความจริง

พฤศจิกายนเป็นเดือนท้ายของฤดูฝน อุณหภูมิเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่หน้าหนาว ตอนเช้ามี หมอกลงบางเบา อากาศหนาว ท้องฟ้าโปร่ง แจ่มใสในเวลากลางวัน กลางคืนหนาวเยือกเย็นต้องห่มผ้าหนา หลายผืน ลมประจำฤดูเริ่มพัดโชยมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือและพัดผ่านลงสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ อันเป็นการแสดงถึงอาการที่จะเข้าสู่หน้าหนาว พืชไร่ และต้นข้าวในนาของชาวไร่ชาวนา กำลังแก่ใบเหลือง เป็นสีทอง เมล็ดข้าวในรวงกำลังสุกสกาวเหลืองอร่ามแผ่กระจายไปทั่วทุกท้องนาอันกว้างใหญ่ไพศาลสุดสาย หูสายตา น้ำตามตลิ่ง ห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆ เริ่มหยุดไหล ประชาชนชาวไร่ชาวนาในชนบทกำลังมี ความหวัง ที่จะได้เก็บเกี่ยวข้าวในนาของตน มองดูใบหน้าและแววตาของแต่ละคน มีความสดชื่นเป็นประกาย นั่นหมายถึง การทำไร่ทำนาในปีนี้กำลังให้ผลผลิตอย่างเต็มที่ แต่ละคนมีความกระปรี้กระเปร่ากุลีกุจอเตรียม เสาะแสวงหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการเก็บเกี่ยวข้าวกัน เช่น เคียวเกี่ยวข้าว ต้องซื้อต้องหา กระบุง ตะกร้า มีด พร้า จอบ เสียม ตลอดทั้งเตียมถากถางกลางลานนา สำหรับเป็นที่นวดข้าว เป็นต้น เหล่านี้ เป็นวิถีชีวิตของชาวไร่ชาวนาในภาคอีสานทั่วไป

ชาวบ้านหนองผือก็เช่นเดียวกัน มีความหวังตั้งตารอ ที่จะได้ลงนาเก็บเกี่ยวข้าวกันในเดือนนี้ แต่ก็พะวักพะวนรอฟังข่าวคราวของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่อยู่ทางวัดป่าบ้านหนองผือเพราะท่านทราบว่าองค์ ท่านพระอาจารย์มั่นท่านชราภาพมากแล้ว อาการอาพาธของท่านมีแต่ทรงกับทรุดครูบาอาจารย์ที่อุปัฏฐากท่าน ก็พยายามช่วยเยียวยารักษาท่านอย่างเต็มที่ มีพระอาจารย์มหาบัวญาณสมฺปนฺโน พระอาจารย์ทองคำ ญาโณภาโส และพระอาจารย์วัน อุตฺตโม พร้อมคณะศิษยานุศิษย์ที่เป็นฆราวาสก็ช่วยติดตามหมอชาวบ้าน ที่เคยเป็นหมอ เสนารักษ์ประจำตำบลมาฉีดยารักษาให้หลายครั้งหลายคราว แต่อาการอาพาธของท่านมีแต่พอทุเลา แล้วก็ทรุดลง ไปอีกดังที่กล่าวมาแล้ว

พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี
พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน
พรอาจารย์ฝั้น อาจาโร
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม
พระเถระบางรูปที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์

เมื่อออกพรรษาแล้วครูบาอาจารย์พระเถระผู้ใหญ่จึงเริ่มทยอยเดินทาง เข้าไปยังวัดป่าบ้านหนองผือ เช่น พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พระอาจารย์เทสก์ เทสรํงสี พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นต้น หลายครั้งหลายหนจนพระทั่งปลายเดือนตุลาคมขึ้นต้นเดือนพฤศจิกายน ประมาณวันที่ ๑ หรือ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๒ ข่าวทางวัดกระจายเข้ามาถึงหมู่บ้านและกระจายไปทั่วหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว ว่า ทางคณะครูบาอาจารย์ท่านได้ตกลงกันว่า จะนำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งกำลังอาพาธอยู่ ออกไปจาก บ้านหนองผือในวันพรุ่งนี้

เหตุการณ์นี้ทำให้ญาติโยมชาวบ้านหนองผือ มีความรู้สึกซึมเซาจนตั้งตัวไม่ติดคิดอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ถูกเลยทีเดียว ภาษาในสมัยใหม่เรียกว่า ” ช็อค ” เกือบจะทั้งหมู่บ้านจากนั้นความหม่นหมองก็เข้า มาแทนที่ในดวงจิตของประชาชนชาวบ้านหนองผือ ด้วยความว้าวุ่นขุ่นมัวตลอดมา จะพากันคิดพิจารณาทัดทาน ขอร้องไม่ให้นำองค์ท่านพระอาจารย์มั่น ออกไปจากบ้านหนองผือก็ทำไม่ได้ เพราะด้วยความเคารพศรัทธา เลื่อมใสในครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ด้วยจะนำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นออกจากวัดป่าบ้านหนองผือ

บางท่านก็มีความเห็นว่า ที่อยากจะให้นำองค์ท่านพระอาจารย์มั่น ออกจากบ้านหนองผือเพื่อไปรักษา ตัวที่วัดป่าสุทธาวาส เพราะอยู่ในตัวจังหวัดการหมอการแพทย์ทันสมัยกว่า ความเจริญทางการแพทย์กำลังเข้าสู่ตัวจังหวัดสกลนคร การเยียวยารักษาคงจะแน่นอนขึ้น บางท่านก็มีเหตุผลว่า องค์ท่าน พระอาจารย์เคยปรารภถึงโยมแม่นุ่มในทำนองยกย่องอยู่เสมอ ๆ ในครั้งที่องค์ท่านเริ่มอาพาธใหม่ ๆ ตอนในพรรษา ชะรอยองค์ท่านคงจะต้องการให้นำท่านไปวัดป่าสุทธาวาสเพื่อจะได้โปรดโยมแม่นุ่ม ซึ่งเคยอุปการะต่อครูบาอาจารย์ สายวัดป่ากัมมัฏฐานเป็นครั้งสุดท้ายเลยถือเป็นเหตุอ้างในการตกลงนำองค์ท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส

บ้างก็มีเหตุผลที่มองการณ์ไกลออกไปอีกว่า การอาพาธของท่านพระอาจารย์ใหญ่ของเราในคราวนี้ คงเป็นครั้งสุดท้าย จะเอายาอะไรมาเยียวยารักษาก็คงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เพราะองค์ท่านพระอาจารย์ ท่านพูดอยู่เสมอๆ ว่า ” เอาน้ำมารดไม้แก่นล่อน ให้มันป่งเป็นใบ สิมีหรือ ” ( เป็นคำถิ่นอีสาน หมายความว่า จะเอาน้ำมารดต้นไม้ที่ตายยืนต้นเหลือแต่แก่นให้ผลิดอกออกใบอีกนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ) เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่าองค์ท่านพระอาจารย์จะต้องจากพวกเราไปอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นหากท่านมรณภาพที่บ้านหนองผือ แล้ว จะมีเหตุขัดข้องหลายอย่างหลายประการ ผู้คนประชาชนก็จะมามาก หนทางไปมาก็ไม่สะดวก ตลาดก็ไม่มี เกรงว่าจะเป็นเหตุให้สัตว์ตายในงานนี้เป็นจำนวนมาก เขาจะฆ่าทำอาหารสำหรับเลี้ยงแขกที่มาในงานถ้ามรณภาพ ที่วัดป่าสุทธาวาส ก็มีตลาดเขาทำกันอยู่แล้ว

จากนั้นท่านพระอาจรย์มั่จึงพูดว่า “รอให้ผู้ใหญ่มาเกิ่น ผู้ใหญ่เพิ่นสิว่าจั่งใด” ผู้ใหญ่ในที่นี้คงจะ หมายถึงพระอาจารย์เทสก์ เทสรํงสี เพราะเมื่อท่านพระอาจารย์มั่นพูดได้ไม่นานก็พอดีเป็นจังหวะที่พระอาจารย์ เทสก์เข้าไปยังวัดป่าบ้านหนองผือในวันนั้น

หลังจากนั้นข่าวการจะหามท่านพระอาจารย์มั่น ออกจากบ้านหนองผือก็เป็นความจริงการดำเนิน การหามจึงเริ่มขึ้น คือการเตรียมอุปกรณ์ในการหาม โดยป่าวร้องให้ประชาชนชาวบ้านหนองผือช่วยกันจัดหาแคร่ไม้ โดยใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ ตัดยาวประมาณ ๒ วา ๔ ลำ เชือกอีกประมาณ ๘ เส้น และผ้าขาวสำหรับมุงหลังคากันแดด ประกอบกันเข้าทำเหมือนประทุนเกวียนเมื่อทำแน่นหนามั่นคงเรียบร้อยจึงเก็บเตรียมไว้ พอเช้าวันรุ่นขึ้นฉันจังหันเสร็จ พระเณรก็ไปที่กุฏิท่านพระอาจารย์มั่น เพื่อจัดเก็บข้าวของเครื่องใช้อัฐบริขารที่จำเป็นต้องนำไปด้วย

เมื่อพระเณรจัดเก็บอัฐบริขารที่จำเป็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้มีหน้าที่หามก็หามแคร่ไม้ที่ทำเสร็จแล้วนั้นไปตั้งที่หน้ากุฏิท่าน แล้วพระเณรจึงเข้าไปกราบอาราธนาท่านพระอาจารย์มั่นเพื่อจะได้นำองค์ท่านขึ้นแคร่หามที่เตรียมไว้ เมื่อท่านทราบท่านพระอาจารย์มั่นนิ่งไม่ว่าอะไรพระเณรทั้งหลายถือเอาอาการนั้นว่า ท่านรับอาราธนาหรืออนุญาตแล้ว ดังนั้นพระเถระและพระอุปัฏฐากจึงขอโอกาสเข้าไปประคองท่านพระอาจารย์ให้ลุกขึ้น แล้วประคองพาเดินลง จากกุฏิไปยังแคร่หาม

ในตอนนี้ผู้คนประชาชนกำลังทยอยกันมาเป็นจำนวนมาก ตลอดทั้งพระเณรและผู้ที่จะนำส่งท่าน ก็เตรียมพร้อมแล้ว สำหรับโยมผู้ชายที่แข็งแรงเป็นผู้หามก็เข้าประจำที่ เมื่อได้เวลาจึงให้สัญญาณว่าพร้อมแล้ว ทั้งหมดจึงพากันยกคานหามขึ้นบ่าแล้วออกเดินทางโดยบ่ายหน้าไปทางทิศจะวันตกของวัด และเดินตามถนนไปสู่ทางออก ประตูวัด ผู้คนประชาชนพร้อมทั้งพระเณรก็ขยับเขยื้อนเคลื่อนตามขบวนหามไป แต่ละท่านแต่ละคนเงียบกริบ ไม่มีเสียงพูดจากันบ้างก็ช่วยสะพายบาตรพระ บ้างก็ช่วยถืออัฐบริขาร บ้างก็เดินสะพายถุงและย่าม ตามไป เอาใจช่วยเป็นกำลัง บ้างก็ช่วยแบกกลดและร่ม บ้างก็ถือกระติกน้ำร้อนและน้ำเย็น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเดินทาง ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่หามก็ขะมักเขม้น เดินไปอย่างขยันขันแข็ง จนกระทั่งผ่านประตูวัดออไป แล้วลงสู่ทุ่งนาอันกว้าง ไกลพอสมควร ซึ่งในระหว่างทุ่งนามีสะพานทำด้วยไม้กว้างประมาณ ๑.๘๐ เมตร ทอดยาวดิ่งจากฝั่งทุ่งนาด้านนี้ ไปจรดทุ่งนาด้านโน้นเป็นระยะทางประมาณ ๓๐๐ เมตร กระดานพื้นสะพานทำด้วยไม้ตะเคียนเลื่อยผาเป็นแผ่น แต่ละแผ่นกว้างประมาณ ๙๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔ เมตร ปูเรียงคู่สองแผ่นต่อกันไปจนสุดสายทางข้ามทุ่งนา

การหามท่านพระอาจารย์มั่นก็หามไปตามสะพานนี้ จนผ่านพ้นสะพานแล้วมุ่งขึ้นสู่ถนนกลางหมู่บ้าน หนองผือ ในช่วงที่ผ่านหมู่บ้านนี้มีผู้คนประชาชนเด็กเล็กพากันชะเง้อชะแง้มองดูพอรู้ว่าเป็นขบวนหามท่าน พระอาจารย์ใหญ่ พวกเขาก็มุ่งเข้ามาดูใกล้ๆ ตามขอบข้างทางเป็นแถวบางคนนั่งพนมมือ และบางคนก็นั่งคุกเข่า พนมมือกราบเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยความอาลัยอาวรณ์สุดเสียดายจนขบวนหามผ่านเลยไปและผ่านพ้นหมู่บ้าน มุ่งเข้าสู่ทางเกวียนที่จะไปบ้านห้วยบุ่นซึ่งเป็นช่องทางเกวียน ลุลอดเลี้ยวไปมาตามใต้ดงหนา ป่าทึบอันเขียวครึ้มขจีเต็ม ไปด้วยแมกไม้ต่างๆ นานาพรรณ ทั้งเสียงนกตัวจบอยู่บนยอดกิ่งไม้สูงส่งเสียงร้อง โพระดก โกโต้ง โกโต้ง ก้องกังวาลไพรไปไกลทั่ว ตลอดทั้งตามรายทางก็มีเสียงแมลงป่าเรไรซึ่งจับอยู่บนต้นไม้ทั่วไปร้องกรีดกริ่งคล้าย เสียงกระดิ่งวัว เมื่อขบวนหามผ่านเข้าไปใกล้มันก็หยุดร้อง คอยสังเกตุดูจนขบวนหามนั้นผ่านเลยไป เห็นว่า ไม่เป็นภัยแล้วมันก็ร้องขึ้นมาใหม่ เป็นอย่างนี้จนทะลุเข้าสู่ละแวกบ้านห้วยบุ่น ซึ่งเป็นหมู่บ้านของคนเผ่าข่าหรือ พวกโซ่

เมื่อขบวนหามผ่านบ้านห้วยบุ่นแล้ว เลยลุลงมาสู่ทุ่งนาอีกครั้ง ซึ่งเป็นร่องน้ำซับจนกระทั่งผ่านไปได้ จึงขึ้น สู่ทางเกวียนอันเป็นเนินและลุ่ม สุงๆ ต่ำๆ บางทีก็คดโค้งทอดยาวไปเลี้ยวซ้ายแลเลี้ยวขวาตามต้นไม้สูงใหญ่ เป็นเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงจึงถึงอีกหมู่บ้านหนึ่งคือบ้านนาเลา ขบวนไม่ได้หยุดพักในหมู่บ้านนี้ได้หามผ่านเลยออกไป จนถึงคลองน้ำซับซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านนี้เท่าใดนัก ที่นั่นมีบ่อน้ำเล็กๆ อยู่ริมคลอง น้ำซับและมีน้ำบ่อไหลออกมาใสเย็น สะอาดบริเวณใกล้ๆ เป็นเนินร่มรื่นซึ่งใช้เป็นที่หยุดพักของคนเดินทางไปมา เมื่อขบวนหามท่านพระอาจารย์มาถึง ตรงนั้นจึงตกลง พากันหยุดพักเหนื่อยเสียก่อนแล้วค่อยเดินทางต่อไป ผู้ที่หามแคร่ตลอดทั้งญาติโยม พระเณร เมื่อเห็นว่าวางแคร่หามท่านพระอาจารย์มั่นเรียบร้อยแล้ว ต่างก็นั่งพักเหนื่อย เอาแรงตามใต้ร่มไม้ต่างๆ ใกล้บริเวณนั้น บ้างก็ไปตักน้ำในบ่อด้วยครุหรือกระป๋องมาแจกจ่ายผู้ที่หามแคร่และญาติโยมที่ตามไปในขบวนให้ได้ดื่ม กินจนอิ่มหนำสำราญโดยทั่วกัน

คราวนี้ขบวนหามออกเดินทางเป็นระยะทางที่รู้สึกว่าไกลพอสมควร หามเดินไปตามทางล้อเกวียนของ ชาวไร่ชาวนา ที่สัญจรไปมาในหมู่บ้านรายทางละแวกนั้น บางช่วงก็เดินตัดลัดเลาะเลียบตามเชิงเขาภูพาน แล้วจึง โค้งไปทางหมู่บ้านโคกะโหล่ง หรือปัจจุบันเรียกบ้านคำแหว ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร แต่ก็เลยผ่านออกจากหมู่บ้าน มุ่งสู่ทางเดินเท้าของชาวบ้านละแวกนั้นโดยไม่ได้หยุดพัก

ขบวนหามเดินไปเรื่อย ๆ ตามหนทางเหล่านั้น จนผ่านริมสวนไร่นาของหมู่บ้านโคกสะอาดเลาะเลียบ ไปทางใต้ของหมู่บ้าน มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยไม่ได้แวะเข้าหมู่บ้านโคกสะอาดและหมู่บ้านใดอีกเลย เพียงแต่เฉียดผ่านเขตนอกหมู่บ้านเท่านั้น จนกระทั่งเข้าสู่เขตป่าใหญ่ดงไม้ที่เรียกว่าเบญจพรรณ มี กะบาก ตะแบก เต็ง รัง ไม้แดง พะยอม พะยูง ยาง อันสูงใหญ่ลิบลิ่วจนยอดเฉียดฟ้าเทียมเมฆ ซึ่งยืนต้นเรียงราย อยู่ตามขอบสองข้างทางเดิน

พวกขบวนหามก็หามท่านพระอาจารย์มั่นไปตามหนทางอันคดเคี้ยว บ้างก็เลี้ยวหลบหลุมบ่อลึกที่แห้งขอด บ้างก็เดินตามทางที่ราบเรียบเตียนโล่งลอดใต้ต้นไม้ใหญ่พอได้อาศัยร่มเงาเย็นเป็นกำลังในการเดินทาง บางคราว ลมหนาวเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนสิบสองซึ่งพัดเอื่อยอยู่บนท้องฟ้าแผ่กระจายไปทั่วนภากาศ หอบต้อนเอา ก้อนเมฆขาวสะอาดเป็นกลุ่ม ๆ ค่อย ๆ เคลื่อนบ่ายลงสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ลอยล่องผ่านไป ลูกแล้วลูกเล่าบาง ครั้งลมอ่อนๆ ก็พัดซู่โชยมา เบื้องล่างเป็นระลอกคลื่นสัมผัสกระทบปลายยอดกิ่งไม้ที่เรียงรายตามทางจรจนกิ่งก้าน พุ่มใบปลิวโนไปมา ส่วนใบที่เหลืองแก่แห้งขั้วก็หลุดร่วงกรูพรั่งพรูโปรบปรายลงมาเป็นสายสู่พื้นดิน คล้ายกับว่า มีใครยินดีโปรยดอกไม้เงินดอกไม้ทองลงมาจากสรวงสวรรค์ จนเวลานานเท่าไหร่ไม่ทราบจึงบรรลุเข้าสู่เขต แดนหมู่บ้านอุ่มไผ่ และต้องเลี้ยวตามทางไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย

การเดินในระยะทางช่วงนี้ใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ไม่ทราบ จึงบรรลุถึงทุ่งนาของชาวบ้านหนองโดก และหามเดินเลาะเลียบริมฝั่งหัวหนองโดกลงมาทางใต้ แล้วมุ่งหน้าเดินตามทางขึ้นสู่ป่าดงดิบอันเต็มไปด้วยไม้ นานาชนิด ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับป่าดงไม้ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นป่าดงในช่วงนี้รู้สึกว่ากว้างไกลพอสมควร จนกระทั่งทะลุถึงทุ่งนา ซึ่งเป็นของชาวบ้านกุดก้อมอยู่ด้านทิศเหนือของหมู่บ้านเล็กน้อย ขบวนหามก็หามผ่าน ทุ่งนา เดินตามคันนาจนถึงห้วยซึ่งมีสะพานที่ทำด้วยไม้อยู่กลางทุ่งนา โดยหามข้ามสะพานไปได้ด้วยดี แล้วจึง มุ่งไปสู่วัดป่ากลางโนนภู่อันเป็นวัดของพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่รูปหนึ่งของท่าน พระอาจารย์มั่นและเคยพำนักพักจำพรรษากับท่าน

แต่ก่อนจะไปถึงวัดป่ากลางโนนภู่นั้น จะต้องหามท่านพระอาจารย์มั่นเดินตามทางบนคันนาซึ่งย้อน ไปย้อนมาหักหน้าหักหลัง เพราะพื้นนานั้นเต็มไปด้วยต้นข้าวที่กำลังสุกเหลืองอร่ามพอจะ เก็บเกี่ยวได้แล้ว ขบวนหามได้ไปถึงนาของโยมคนหนึ่งชื่อ คุณโยมเป้ะ ชาวบ้านกุดก้อมซึ่งได้ร่วมเดินมากับขบวนนี้ด้วย เขาเป็นอุบาสกที่มีความศรัทธาในองค์ท่านพระอาจารย์มั่นมากอยู่ เห็นความลำบากในการหามท่านย้อนไปย้อนมา บนคันนา และเวลานั้นใกล้จะค่ำอยู่แล้วจึงยอมเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ โดยยอมให้ขบวนหามเดินผ่านต้นข้าว ที่กำลังสุกเหลืองอร่ามอยู่นั้นเพื่อตรงมุ่งหน้าสู่วัดป่ากลางโนนภู่ได้เลย เพราะที่นาของเขาอยู่ระหว่างกลาง ของทางเข้าวัด ท่านทั้งหลายลองคิดดู คนเกือบสองร้อยคนเดินผ่านนาข้าวที่กำลังสุกเหลืองอร่ามอยู่นั้น สภาพจะเป็นอย่างไร แต่เจ้าของนารายนี้เขากลับดีใจและไม่คิดเสียดายเลย เป็นสิ่งที่แปลกนี่แหละท่านเรียก ว่าบุญ เกิดขึ้นในใจของเขาแล้ว

วัดป่ากลางโนนกู่ บ้านกุดก้อม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ในที่สุดก็หามท่านพระอาจารย์มั่นเข้าสู่วัดป่ากลางโนนกู่ บ้านกุดก้อม ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ได้โดยสวัสดิภาพ เมื่อถึงวัดแล้วหามองค์ท่านขึ้นพำนัก พักบนกุฏิหลังหนึ่งที่กว้างขวาง และถาวรที่สุดในสมัยนั้น คราวนี้ผู้คนประชาชนพระเณรพร้อมทั้งผู้ที่ติดตามขบวนหามมา ต่างก็หลั่งไหล แห่เข้ามาภายในบริเวณวัด เพราะเป็นเวลาจะใกล้ค่ำมืดอยู่แล้วบางคนพึ่งทราบข่าวก็เข้ามาในบริเวณวัดเดี๋ยวนั้น ก็มี พระเณรที่ติดตามอุปัฏฐากซึ่งมากับพระเถระต่างก็ตระเตรียมหาที่พักชั่วคราวตามแต่จะหาได้ตรงไหน สำหรับอาจารย์ของใครๆ อย่างฉุกละหุกวุ่นวายพอสมควร สำหรับพระเถระผู้ใหญ่พร้อมกับพระอุปัฏฐากที่ ใกล้ชิดท่านพระอาจารย์มั่นก็เข้าไปชุมนุมที่กุฏิรับรองท่านพระอาจารย์มั่น เพื่อคอยดูแลความเรียบร้อย

สำหรับญาติโยมชาวบ้านหนองผือที่ติดตาม เมื่อหามส่งท่านพระอาจารย์มั่นถึงจุดหมายปลายทาง เรียบร้อยแล้วก็พากันเก็บแคร่คานหามและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้หามท่าน บางหมู่บางคณะก็กลับบ้านในคืนนั้น เพราะรีบเร่งในการที่จะลงเก็บเกี่ยวข้าวที่กำลังสุกแก่เต็มที่แล้วโดยเดินด้วยฝีเท้าลัดไปตามทางคนเดิน ผ่านหมู่บ้านเสาขวัญถึงวัดถ้ำเจ้าผู้ข้า แล้วขึ้นสู่สันเขาภูพานข้ามตรงลงไปทางบ้านหนองผือเป็นระยะทาง ไม่ไกลนักประมาณ ๗-๘ กิโลเมตร

ศาลาพักอาพาธท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่ากลางโนนกู่

ส่วนอีกหมู่คณะหนึ่งซึ่งยังไม่กลับในคืนนั้นก็พักค้างคืนที่วัดป่ากลางโนนภู่ พอรุ่งเช้าเมื่อกินข้าว กินปลาเสร็จธุระเรียบร้อยแล้ว จึงเดินทางข้ามเขาภูพานกลับบ้านเช่นเดียวกัน โดยหมู่คณะหลังนี้ส่วนมากเป็นคนแก่ เมื่อเห็นว่าหมดธุระหน้าที่แล้วจึงเข้าไปขอโอกาสกราบลาท่านพระอาจารย์มั่นที่กุฏิรับรอง โดยเข้าไปกราบบอก ความประสงค์ให้พระอุปัฏฐากทราบ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า ผู้ใกล้ชิดอุปัฏฐากในช่วงนั้นเข้าใจว่าคงเป็น พระอาจารย์วัน อุตฺตโม เมื่อพระอาจารย์วันเห็นญาติโยมชาวบ้านหนองผือเข้ามากราบลาท่านพระอาจารย์มั่น กลับบ้าน ท่านจึงพนมมือน้อมตัวไปทางท่านพระอาจารย์มั่น แล้วกล่าวคำขอโอกาสรายงานท่านพระอาจารย์มั่นว่า ” พวกโยมบ้านหนองผือ มากราบลาท่านพ่อแม่ครูบาอาจารย์กลับบ้านกระผม”

เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นได้ยินเสียง จึงลืมตาขึ้นช้าๆ เห็นเป็นโยมชาวบ้านหนองผือท่านได้พูดตักเตือน เป็นสำเนียงอีสานครั้งสุดท้ายว่า ” เมือเสียเด้อ… หมดทอนี้ล่ะเน้อ… เอาน้ำไปรดไม้แก่นล่อนให้มันเป็นป่งเป็นใบ บ่มีดอกเด้อ… ให้พากันเฮ็ดพากันทำตามที่อาตมาเคยพาเฮ็ดพาทำนั้นเด้อ อย่าลืมเด้อ…ให้พากันรักษาศีลห้า ถ้าผู้ใดรักษาศีลห้าได้ตลอดชีวิต ผู้นั้นเลิศที่สุด หมดทอนี้ล่ะ ” ( หมายความว่า ให้พวกโยมชาวบ้านหนองผือ พากันกลับบ้านซะ ชีวิตของท่านก็คงจะหมดเท่านี้แหละจะรักษาเยียวยาอย่างไรก็คงไม่หาย เปรียบเสมือนกับ เอาน้ำไปรดต้นไม้ที่ตายผุกร่อน เหลือแต่แก่นให้มันกลับงอกกิ่งใบได้อีก คงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้นท่านให้ พากันปฏิบัติตามแนวทาง ที่ท่านเคยสั่งสอนและปฏิบัติมาแล้วนั้น ท่านว่า ไม่ให้ลืมโดยเฉพาะศีลห้าซึ่งเหมาะสำหรับ ฆราวาสที่สุด ถ้าผู้ใดรักษาศีลห้าได้ตลอดชีวิตแล้วท่านว่า คนนั้นเป็นคนที่เลิศที่สุดในชีวิตของเพศฆราวาส ) จากนั้น ท่านก็หลับตาลงแล้วไม่ได้พูดอะไรต่ออีกเลย คำพูดเหล่านั้นเป็นการพูดครั้งสุดท้ายของท่าน

โยมแม่นุ่ม ชุวานนท์
เมื่อญาติโยมชาวบ้านหนองผือกลับบ้านแล้ว ก็ยังคอยฟังข่าวคราวของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ ตลอดเวลา ได้ทราบว่าท่านพักอยู่ที่วัดป่ากลางโนนภู่ประมาณ ๙-๑๐ วัน จึงมีโยมแม่นุ่ม ชุวานนท์ ที่เป็นชาว เมืองสกลนคร ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่รู้จักและศรัทธาในพระกัมมัฏฐานสายท่านพระอาจารย์เสาร์ ท่านพระอาจารย์มั่น มากในยุคแรก ได้ให้รถมารับท่านพระอาจารย์มั่นเข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดสกลนคร เพื่อไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส
ในการรับองค์ท่านพระอาจารย์มั่นไปในคราวนี้นั้น ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมทางไปรับและมี หมอติดตามไปกับรถนี้ด้วย ชื่อคุณหมอประยูร ศรีมาดา ซึ่งเป็นหมอประจำสุขศาลา ในเมืองสกลนคร โดยนำรถออกวิ่งจากตัวเมืองสกลนคร ไปตามถนนสายสกลนคร-อุดรธานี ( สมัยนั้นยังเป็นทางหินลูกรัง ) รถวิ่งไปตามทางหินลูกรังอย่างทุลักทุเล ใช้เวลากี่ชั่วโมงไม่ทราบได้ รถวิ่งมาได้โดยปลอดภัยจนกระทั่งมาหยุด จอดที่ปากทางแยกเข้าวัดป่ากลางโนนภู่ ซึ่งอยู่ห่างจากวัด ประมาณ ๑ กิโลเมตร รถเข้าถึงวัดไม่ได้เพราะติดทุ่งนา ซึ่งมีแต่ทางเกวียนเล็กๆ ผ่านเข้าไปสู่หน้าวัดเท่านั้น

ดังนั้นจึงแก้ปัญหา โดยให้ญาติโยมชาวบ้านพากันหามท่านพระอาจารย์มั่นจากวัดป่ากลางโนนภู่ มาขึ้นรถที่จอดรออยู่ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ก่อนจะหามท่านออกจากวัด คุณหมอได้ฉีดยานอนหลับให้ท่านเข็มหนึ่ง จึงหามท่านมาขึ้นรถ เมื่อถึงรถก็นำองค์ท่านมาขึ้นรถ เมื่อถึงรถก็นำองค์ท่านขึ้นรถและจัดให้ท่านอยู่ในอาการที่สบาย จากนั้นขบวนรถจึงได้เคลื่อนตัวออก นำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นมุ่งสู่ตัวเมืองสกลนคร ท่านพระอาจารย์มั่นนอนหลับ ตลอดทาง จะด้วยฤทธิ์ของยานอนหลับก็ไม่อาจทราบได้ จนในที่สุดรถได้นำองค์ท่านพระอาจารย์มั่น เข้าสู่วัด ป่าสุทธาวาสโดยปลอดภัย โดยมาถึงวัดเวลาประมาณบ่าย ๓ หรือ ๔ โมงเย็นของวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒

เมื่อถึงวัดแล้วจึงหามองค์ท่านขึ้นไปพักบนกุฏิรับรองที่เตรียมไว้แล้ว และดูแลให้ท่านนอนพัก แต่อาการ ท่านอ่อนเพลียมาก ท่านไม่พูดจาอะไรเลย เป็นเพียงแต่นอนหลับตามีลมหายใจเชื่องช้าแผ่วเบา และเคลื่อนไหวกาย เล็กน้อยเท่านั้น ฝ่ายครูบาอาจารย์พระเณรในตอนนี้ต่างก็นั่งรายล้อมสงบอยู่ บางท่านก็คอยห้ามไม่ให้ส่งเสียง ดังเพื่อรักษาความสงบ และคอยเตือนผู้คนประชาชนที่ทราบข่าว และหลั่งไหลเข้ามาในบริเวณวัด ไม่ให้ส่งเสียง หรือเข้าไปใกล้รบกวนท่านที่พักผ่อนสงบอยู่นั้น

เวลาช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน มันเคลื่อนคล้อยค่ำมืดลงทุกทีจาก ๖ โมงเย็นเป็น ๑ ทุ่ม ๒ ทุ่ม ๓ ทุ่ม และ ๔ ทุ่มผ่านไปจนถึง ๖ ทุ่ม ตี ๑ ครึ่งกว่า ๆ อาการขององค์ท่านพระอาจารย์มั่นที่นอนนิ่งอยู่บนที่นอน นั้น ก็เริ่มผิดปกติเป็นไปในทางที่ไม่น่าไว้ใจ มีความอ่อนเพลียมากขึ้น ลมหายใจแผ่วเบามากและเบาลง ๆ ตามลำดับอย่างน่าใจหาย ส่วนองค์กายของท่านนอนอยู่ในท่าครึ่งหงายตะแคงขวา ในที่สุดลมหายใจขององค์ ท่านก็สิ้นสุด ถึงแก่มรณภาพละสังขาร ไว้ให้แก่โลกไพิจารณาโดยสงบ ชีวิตขององค์ท่านจบสิ้นเพียงเท่านี้ ซึ่งตรงกับเวลาตี ๒ กว่าๆ ที่ถือว่าเป็นวันใหม่ คือวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ วัดป่าสุทธาวาส ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://luangpumun.org/real2.html

. . . . . . .