ธรรมธุดงควัตรหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ธรรมธุดงควัตรหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อายุได้ 22 ปี ท่านได้สละเพศฆารวาสเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436 ที่วัดสีทอง โดยมีพระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์

พระครูสีทาเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า “ภูริทัตโต”
เมื่ออุปสมบทแล้วท่านพระภิกษุมั่นได้ไปฝากตัวเรียนวิปัสนากรรมฐานที่สำนักวัดเลียบในเมืองอุบลราชธานี โดยมีท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโลเป็นพระอาจารย์สอนวิปัสสนา
การเข้าฝึกวิปัสสนากรรมฐานนี้ ท่านหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้ยึดเอาคำ “พุทโธ” เป็นคำบริกรรมภาวนาสมถะกรรมฐาน เพราะท่านชอบคำ “พุทโธ” นี้อย่างกินใจลึกซื้งดื่มด่ำเป็นพิเศษมากกว่าบทธรรมอื่น ๆ
และในเวลาต่อมาจวบกระทั่งตลอดชีวิตของท่านก็ได้ยึดเอาคำ “พุทโธ” นี้ใช้บริกรรมประจำใจในอิริยาบทต่างๆ ในการเจริญวิปัสสนาทุกครั้งไป เมื่อถือเพศสมณะอย่างเต็มภาคภูมิแล้วท่านก็ตัดขาดทาง โลกอย่างสิ้นเชิงไม่แลเหลียว ความคึกคะนองในสมัยเป็นหนุ่มไม่มีหลงเหลืออยู่เลย กลับกลายเป็นคนละคนทีเดียว ท่านเต็มไปด้วยจริยาอันสำรวมเคร่งครัดในพระธรรมวินัย อย่างยิ่งยวด ไม่มีวอกแวกยึดถือธรรมธุดงควัตรอย่างเหนียวแน่นเอาเป็นเอาตาย ด้วยใจรักอันเด็ดเดี่ยวไม่ให้มีผิดพลาดได้แม้แต่นิดเดียว สืบมาตลอดชีวิตอันยาวนานของท่าน จนถึงวาระสุดท้ายเข้าสู่พระนิพพานอันเป็นแดนเกษม

ธรรมธุดงควัตรที่ท่านยึดถือเป็นข้อปฏิบัติมี 7 ข้อคือ
1. ถือ ผ้าบังสุกุลเป็นเครื่องนุ่งห่ม เมื่อชำรุดเปื่อยขาดไปก็เย็บปะชุนด้วยมือตนเอง ย้อมเองเป็นสีแก่นขนุนหรือสีกรัก ซึ่งเป็นสีน้ำตาลเข้ม ไม่ยอมรับคหปติผ้าไตรจีวรสวย ๆ งาม ๆ ที่ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายถวายด้วยมืออย่างเด็ดขาด
2. ออก บิณฑบาตรทุกวันเป็นประจำ แม้จะป่วยไข้ก็ต้องพยายามพยุงกายออกบิณฑบาต ยกเว้นเฉพาะวันที่ไม่ขบฉันอาหารเพราะเร่งบำเพ็ญเพียร ภาวนากรรมฐานด้วยความเพลิดเพลินอาจหาญร่าเริงในธรรม ซึ่งมีอยู่บ่อย ๆ ที่ท่านเดินจงกรมและนั่งสมาธิ ภาวนาติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันโดยไม่ขบฉันอาหารเลย
3. ไม่ยอมรับอาหาร ที่ญาติโยมพุทธบริษัทตามส่งทีหลัง รับเฉพาะที่ใส่บาตร
4. ฉันมื้อเดียว คือฉันวันละหน ไม่ยอมฉันอาหารว่างใด ๆ ทั้งสิ้น ที่มีอามิสเข้าปะปน
5. ฉันอาหารในบาตร คือมีภาชนะใบเดียว ไม่ยอมฉันในสำรับกับข้าวที่มีอาหารต่าง ๆ อาหารคาวหวานทั้งหลายคลุกเคล้าฉันรวมแต่ในบาตร ไม่ติดใจในรสชาติอาหาร ฉันเพียงเพื่อยังสังขารให้พออยู่ได้ เพื่อเพียงจะได้บำเพ็ญเพียรภาวนาสร้างบารมีธรรม
6. อยู่ในป่าเป็นวัตร ปฏิบัติคือท่องเที่ยวเจริญสมณะธรรมกรรมฐานอยู่ตามร่ม ไม้บ้าง ในภูเขาบ้าง ในหุบเขาบ้าง ในถ้ำ ในเงื้อมผาอันเป็นที่สงัดวิเวกห่างไกลจากชุมชน
7. ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร คือมีผ้า 3 ผืน ได้แก่ สังฆาฏิ จีวร และสบง (เว้นผ้าอาบน้ำฝนซึ่งจำเป็นต้องมีเป็นธรรมดาในสมัยนี้)
สำหรับธุดงควัตรข้ออื่น ๆ นอกจากที่กล่าวนี้แล้ว ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต สมาทานและปฏิบัติเป็นบางสมัย แต่เฉพาะ 7 ข้อข้างต้นนี้ท่านปฏิบัติเป็นประจำจนกลายเป็นนิสัย ซึ่งจะหาผู้เสมอเหมือนได้ยากในปัจจุบัน
ท่านมีนิสัยพูดจริงทำจริง ซึ่อสัตย์ต่อตัวเองและผู้อื่น เมื่อตั้งใจจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้ เรียกว่าถือสัจจะเป็นบารมี แม้จะเอาชีวิตเข้าแลกก็ยอม มีความพากเพียรอย่างแรงกล้า มุ่งหวังต่อแดนหลุดพ้นพระนิพพานอย่างจริงใจ รู้ซึ้งถึงภัยอันน่ากลัวของการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสารอย่างถึงใจ ไม่ใช่สักแต่ว่ารู้เฉย ๆ
ท่านรู้จริงเห็นจริงว่า การต้องเกิดแล้วตาย…ตายแล้วเกิด… วนเวียนไปมาเป็นวงจักรไม่มีสิ้นสุดนี้เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องน่าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าหามบาปหาบทุกข์เปี่ยมแปล้อยู่นั่นแล้วไม่มีที่สิ้นสุด
ยิ่งคิดยิ่งพิจารณาไปก็ยิ่งเห็นเป็นเรื่องน่ากลัวน่า เบื่อหน่ายเหลือประมาณ ชาตินี้เกิดเป็นมนุษย์ ชาติหน้าเกิดเป็นเทวดาเกิดเป็นพรหม พอหมดจากพรหมก็ลงมาเกิดในนรก จากนรกมาเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ ดิรัจฉาน วนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้ไม่รู้กี่ภพกี่ชาตินับเป็นอสงไขยหรือหลายแสนหลายพันล้าน ๆ ปี เมื่อเกิดแต่ละภพแต่ละชาติก็ต้องใช้บาปกรรมของภพชาติ นั้นอย่างถึงพริกถึงขิง ทั้งทุกข์ทั้งสุขอันไร้แก่นสารสาระน่าเบื่อหน่ายจริง ๆ จะมีก็แค่แดนหลุดพ้นคือ พระนิพพานเท่านั้น เป็นแดนสุขเกษมอย่างแท้จริง นิพพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นแดนสุขอย่างยิ่ง เป็นแดนรอดปลอดจากทุกข์ เป็นแดนของพระวิสุทธิเทพ คือพระอรหันต์ผู้เสวยความสุขที่ยอดเยี่ยมและสูงสง่า เป็นความสุขสำราญทั้งกาย และใจ ที่สุขล้นพ้นเหนือมหาเศรษฐี เหนือพระราชามหากษัตริย์ เหนือเทวดาและพรหมที่พึงได้รับ เมื่อพระอรหันต์ทิ้งร่างมนุษย์ไปแล้ว รูปก็สูญ เวทนาก็สูญ สัญญาสูญ สังขารสูญ วิญญาณสูญ แต่จิตยังคงอยู่ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ผ่องแผ้วปราศจากอาสวะกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เป็นจิตที่มีดวงสุกใสประดุจดาวประกายพรึก จิตดวงนี้จะพุ่งไปสถิตย์อยู่ ณ แดนพระนิพพาน
เมื่ออยากจะครองร่างสมบัติใดๆ เช่น กายทิพย์ ก็พร้อมที่จะนฤมิตได้เพื่อเสวยความสุขสุดยอดนานานัปการ ถ้าไม่อยากจะเสวยสุขในร่างสมมติหรือธรรมกายจะอยู่เฉยๆ เหมือนเข้านิโรธสมาบัติ ทรงอยู่แต่จิตสุกใสดวงเดียวก็ได้ เป็นแดนที่ไม่ต้องตายอีกต่อไป ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป
หากมีความทรงตัวอยู่เสวยความสุขอันยอดเยี่ยมที่เทวดา และพรหมทั้งหลายมีความใฝ่ฝันปรารถนาถึงยิ่งนัก

การทำดี ถูกดี นั้นมีค่า

การทำดี ถูกเวลา ค่ามหันต์

การทำดี ถูกบุคคล ผลอนันต์

การทำดี ด้วยความมั่น นั้นหละดี

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.suntiworrayan.com/P1.1.htm

. . . . . . .