หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร

แก้ให้ตกเด้อ แก้บ่ตกคาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิด ในภพทั้งสามภพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อจันทร์ เพียแก่นท้าวเป็นปู่ นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดีเดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวขาวแดง แข็งแรงว่องไวสติปัญญาดีมาตั้งแต่กำเนิด ฉลาด เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้เรียนอักขรสมัยในสำนักของอา คือเรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอมอ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะมีความทรงจำดี และมีความขยันหมั่นเพียรชอบการเล่าเรียนศึกษา

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนามีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนัก บรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปรานีมากเพราะเอาใจใส่ในการเล่าเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อยเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้

เมื่ออายุท่านได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อ ช่วยการงานทางบ้าน ท่านก็ได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานของบิดามารดาเต็มความสามารถ ท่านเล่าว่าเมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่ลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก” คำสั่งของยายนี้คอยสะกิดใจอยู่เสมอ

ครั้นอายุท่านได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่ามีความอยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดามารดาบวชท่านทั้งสองก็อนุญาตตามประสงค์ ท่านได้เข้าศึกษาในสำนักท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอุปสมบทกรรมเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปฌายะ พระครูสีทา ชยเสโนเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะขนานนามมคธ ให้ว่า ภูริทัตโต เสร็จอุปสมบทกรรมแล้วได้กลับมาสำนักศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์เสาร์ กันตศีลเถระ ณ วัดเลียบต่อไป

เมื่อแรกอุปสมบท ท่านพำนักอยู่วัดเลียบ เมื่ออุบลเป็นปกติออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลเป็นครั้งคราว ในระหว่างนั้นได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัยคืออาจาระ ความประพฤติ มารยาท อาจริยวัตร และอุปัชฌายวัตรปฏิบัติได้เรียบร้อยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือเดินจงกรมนั่งสมาธิกับสมาทานธุดงควัตรต่างๆ

ในสมัยต่อไปได้แสวหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง หุบเขา ซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ทางกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนากับเจ้าพระคุณพระอุบาลี (สิริจันทเถระ จันทร์) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม และถ้ำสิงห์โตลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัยสิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสานทำการอบรมสั่งสอนสมถวิปัสสนาแก่สหธรรมิก และอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสปฏิบัติตามมากขึ้นโดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายกระจายทั่วภาคอีสาน

ในกาลต่อมาได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับเจ้าพระคุณอุบาลี (สิริจันทเถระ จันทร์) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง ๑๑ปีจึงได้กลับมาจังหวัดอุบลราชธานี พักจำพรรษาอยู่ที่วัดโนนนิเวศน์เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองสกลนคร (ปัจจุบันคือ อำเภอโคกศรีสุพรรณ) ๓ พรรษา จำพรรษาที่วัดป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม ๕ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติได้ติดตามศึกษาอบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่านได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่านให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป

ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ
๑. บังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบจนกระทั่งถึงวัยชรา จึงได้พักผ่อนให้คหบดีจีวรบ้างเพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
๒. บิณฑบาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารวัตรเที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธไปในละแวก บ้านไม่ได้ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉันจนกระทั่งอาพาธ ลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัยจึงงดบิณฑบาต
๓. เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตรใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธหนักจึงงด
๔. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ตลอดมา แม้ถึงอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยก็มิได้เลิกละ ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราวที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ ถืออยู่ เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัยเมื่อถึงวัยชราจึงอยู่ในเสนาสนะ ป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะภิกขาจารบิณฑบาตเป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนยำเกรงไม่รบกวน นัยว่าในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยวแสวงวิเวกไปในดงพงลึกจนสุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์ จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่นในคราวไปอยู่ทางภาคเหนือเป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูง อันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอร์ ยังชาวมูเซอร์ซึ่งพูดไม่รู้เรื่องกันให้บังเกิดศรัทธาในพระศาสนาได้

ธรรมโอวาท คำที่เป็นคติอันท่านอาจารย์กล่าวอยู่บ่อยๆ เพื่อเป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำด้วยกาย วาจา ใจ แก่ศิษยานุศิษย์ดังนี้
๑. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ
๒. ได้สมบัติทั้งปวงไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง เมื่อท่านอธิบายตจปัญจกกรรมฐานจบลงมักจะกล่าวเตือนขึ้นเป็นคำกลอนว่า แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตก คาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิด ในภพทั้งสาม ภพทั้งสามเป็นเฮือน เจ้าอยู่ ดังนี้

เมื่อคราวท่านเทศนาสั่งสอนพระภิกษุผู้เป็นสานุศิษย์ถือลัทธิฉันเจ ให้เข้าใจถูกและละเลิกลัทธินั้น ครั้นจบลงแล้วได้กล่าวคำเป็นคติขึ้นว่า “เหลือแต่เว้าบ่เห็นบ่อนเบาหนักเดินบ่ไป ตามทางสิถึกดงเสือฮ้าย” ดังนี้แลการบำเพ็ญสมาธิเอาแต่เพียงเป็นบาทของวิปัสสนา คือ การพิจารณาก็พอแล้วส่วนการจะอยู่ในวิหารธรรมนั้น ก็ให้กำหนดรู้ถ้าใครกลัวตายเพราะเด็ดเดี่ยวทางความเพียร ผู้นั้นจะกลับมาตายอีกหลายภพ หลายชาติไม่อาจนับได้ ส่วนผู้ใดไม่กลัวตายผู้นั้นจะตัดภพชาติให้น้อยลงถึงกับไม่มีภพชาติเหลืออยู่ และผู้นั้น แลจะเป็นผู้ไม่กลับหลังมาหาบทุกข์อีก

ธรรมะเรียนมาจากธรรมชาติ เห็นความเกิดความแปรปรวนของสังขารประกอบด้วยไตรลักษณ์ ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้าแท้ๆ ถ้าเข้าใจในโอวาทปาฏิโมกข์ท่านพระอาจารย์มั่นแสดง โดยยึดหลักธรรมชาติของศีลธรรมทางด้านปฏิบัติเพื่อตักเตือนนักปฏิบัติทั้งหลาย ท่านแสดงเอาแต่ใจความว่า… การไม่ทำบาปทั้งปวงหนึ่ง การยังกุศลคือ ความฉลาดให้ถึงพร้อมหนึ่ง การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้วหนึ่ง.. นี้แลคือคำสอนทั้งหลายของพระพุทธเจ้า การไม่ทำบาป..ถ้าทางกายไม่ทำแต่ทางวาจาก็ทำอยู่ ถ้าทางวาจาไม่ทำ แต่ทางใจก็ทำสั่งสมบาปตลอดวัน จนถึงเวลาหลับ พอตื่นจากหลับก็เริ่มสั่งสมบาป ต่อไปจนถึงขณะหลับอีก เป็นทำนองนี้โดยมิได้สนใจว่าตัวทำบาปหรือสั่งสมบาปเลยแม้กระนั้นยังหวังใจอยู่ว่าตนมีศีลธรรม และคอยแต่เอาความบริสุทธิ์จากความมีศีลรรมที่ยังเหลืออยู่แต่ชื่อเท่านั้น ฉะนั้นจึงไม่เจอความบริสุทธิ์ กลับเจอแต่ความเศร้าหมอง ความวุ่นวายภายในใจตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะตนแสวงหาสิ่งนั้นก็ต้องเจอสิ่งนั้น ถ้าไม่เจอสิ่งนั้นจะให้เจออะไรเล่าเพราะเป็นของที่มีอยู่ในโลกสมมุติอย่างสมบูรณ์

ไปหน้า 2 / 3 / 4

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://goldfish.wimutti.net/a_mun/kaew04.htm

. . . . . . .